วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

กศน.ตำบลออกเกียรติบัตรอย่างไร, ตำแหน่งพนักงานราชการระดับอำเภอแทนครูอาสาฯลาออก, เหลือเศษ นศ.70 คน ครู ศรช. 2 คน ตั้งกลุ่มอย่างไร, ปรับเงินเดือน ขรก.ครูใหม่ก่อนครูเก่า, ทำไมต้องใช้เงินค้ำประกันสัญญา, เทียบระดับฯไม่มาสอบ 26-27 เม.ย. จะสอบ 7-8 มิ.ย.ได้ไหม, การขอใช้ที่ดินสร้าง กศน.ตำบล



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 9 พ.ค.57 ( วันพืชมงคล ) นางวิไลพร หวังดีกลาง กศน.อ.บ้านเขว้า ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การออกเกียรติบัตร ที่ กศน.ตำบลจัดขึ้น ( โครงการพัฒนาครู กศน.ตำบล และครู ศรช. ขออนุมัติโครงการจาก ผอ.กศน.อำเภอ ไม่ได้ใช้งบประมาณ )  โดยมี ผอ.กศน.อำเภอเซ็นกับหัวหน้า กศน.ตำบลได้มั้ย รวมถึงต้องใส่เลขที่ออกเกียรติบัตรด้วยมั้ย
             ผมตอบว่า   ที่จริงจะลงนามแบบที่ถามก็ได้ แต่โดยปกติเกียรติบัตรจะลงนามโดยผู้บริหารคือ ผอ.กศน.อำเภอ กับนายทะเบียนเกียรติบัตร ( ผูดูแลทะเบียน ออกเลขเกียรติบัตร )
             ถ้าเป็นโครงการร่วมหลายองค์กร อาจลงนามโดยผู้บริหารหลายองค์กร   ส่วนนายทะเบียนเกียติบัตร ปกติทะเบียนและนายทะเบียนจะอยู่ที่ กศน.อำเภอ เพราะปัจจุบัน กศน.ตำบลยังไม่เป็นหน่วยงานสถานศึกษาเอกเทศ
             สำหรับการออกเลขที่เกียรติบัตรนั้น เอกสารหลักฐานของทางราชการที่ถูกแล้ว ให้มีเลขที่ไว้ เพื่อเป็นทะเบียนให้สามารถตรวจสอบในภายหลังได้

         2. วันอาทิตย์ที่ 11 พ.ค.57 คุณ Nicky Kongkiat ครู กศน.ตำบล ที่ กศน.อำเภอหว้านใหญ่ ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ตำแหน่งครูอาสาสมัครฯ ที่มีการลาออก จะถูกตัดเป็นตำแหน่งนักวิชาการ ทำงานที่จังหวัดใช่ไหม แล้วใช้เวลานานเท่าไหร่ที่กรมจะระบุตำแหน่งนักวิชาการคืนให้ กศน.จังหวัด ที่ยื่นเรื่องขอ
             ผมตอบว่า   ไม่ได้ถูกเปลี่ยนตำแหน่งโดยอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับจังหวัดจะพิจารณา ( โดยปรึกษาหารือกับอำเภอ ) ว่า จะคงตำแหน่งเดิมไว้ที่เดิม หรือจะเปลี่ยนเป็นตำแหน่งอะไร ไว้ที่ไหน ( ไม่จำเป็นต้องเป็นตำแหน่งนักวิชาการศึกษา แต่ถ้าอยู่ระดับอำเภอ ตำแหน่งอื่นที่จะเปลี่ยนไปได้คือตำแหน่งนักวิชาการศึกษา กับตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไป )   ถ้าจะคงตำแหน่งเดิมคือตำแหน่งครูอาสาฯไว้ที่เดิม จังหวัดก็บรรจุคนใหม่แทนได้เลย ไม่ต้องแจ้งส่วนกลาง ( ถ้าไม่มีผู้สอบขึ้นบัญชีค้างอยู่ จังหวัดก็ดำเนินการรับสมัครใหม่ได้เลย  แต่ถ้าเป็นตำแหน่งครู กศน.ตำบลลาออก และจังหวัดนั้นมีครู กศน.ตำบลเกินจำนวนตำบลทั้งจังหวัดอยู่ ต้องแจ้งส่วนกลางเพื่อย้ายอัตราว่างไปจังหวัดอื่น )   ถ้าจะเปลี่ยนเป็นตำแหน่งอื่น และหรือ นำไปไว้ที่อื่น จังหวัดต้องขออนุมัติส่วนกลางก่อน  จะใช้เวลาเท่าไรนั้นไม่แน่นอน แล้วแต่ว่าจะส่งเรื่องโดยวิธีที่เร็วแค่ไหน ติดตามเรื่องแค่ไหน น่าจะประมาณ 1 เดือนมั้ง

         3. เช้าวันที่ 22 พ.ค.57 คุณ Leelawadee Kaewthong ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  มีครู กศน.ตำบล 10 คน ครูอาสาฯ 3 คน ครูศรช.ที่จ้างเพิ่มภาคเรียนที่ 2/56 จำนวน 2 คน  แล้วภาคเรียนนี้ 1/57 หา นศ.ได้ทั้งหมด 850 คน จะจัดตั้งกลุ่มอย่างไร เพราะเฉลี่ย ครู กศน.ตำบลกับครูอาสาฯ ทั้งหมด 13 คน X 60 =780  คงเหลือ นศ.อีก 70 คน แต่ยังเหลือครู ศรช.อีก 2 คน จะทำอย่างไร
             ผมตอบว่า   ควรจัดตั้งกลุ่มให้ครู ศรช.แต่ละคนมีนักศึกษาครบ 60 คนไว้ก่อน จะได้ไม่มีปัญหาการเบิกค่าตอบแทนรายเดือนตามวุฒิ 15,000 บาท ( ถ้า นศ.ไม่ครบ 60 คน ตามระเบียบให้เบิกค่าตอบแทนเป็นรายหัว ๆ ละไม่เกิน 150 บาท/เดือน )  ส่วนครูอาสาฯ กับครู กศน.ตำบล ไม่ได้เบิกตามจำนวน นศ. จึงมี นศ.ไม่ครบ 60 คน ก็ได้   หรือจะจัดตั้งอย่างไรก็แล้วแต่บริบทและการบริหารจัดการของอำเภอ ถ้าจะจัดตั้งตามจำนวนที่ครูแต่ละคนหา นศ.ได้จริง เพื่อให้ครูมีความพยายามหา นศ.  หรือตั้งกลุ่มตามที่ตั้งบ้าน นศ.แต่ละตำบลจริงเพื่อความสะดวกในการไปเรียนไปสอนจริง  หรือให้ครู กศน.ตำบลกับครูอาสาฯมี นศ.ครบ และให้ครู ศรช.คนหนึ่งรับผิดชอบนักศึกษา 60 คน อีกคนหนึ่งรับผิดชอบ 10 คน ก็ต้องเบิกตามวุฒิ 1 คน อีกคนหนึ่งเบิกตามจำนวนนักศึกษา 10 คน ได้เดือนละไม่เกิน 1,500 บาท  หรือถ้าเงินอุดหนุนไม่พอ จะให้ครู ศรช. ดูแลรับผิดชอบ นศ.คนละ 35 คน ก็เบิกตามจำนวน นศ.ทั้งคู่

         4. วันที่ 27 พ.ค.57 คุณ Somchid Buaphan ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  เงินเดือนครูผู้ช่วยที่ปรับเป็นครู คศ.1 รุ่นแรก ( บรรจุ 12 ก.ย.54 เงินเดือน พ.ค.57 ได้ 15,020 บาท )  ทำไมได้น้อยกว่าเงินเดือนครูผู้ช่วยที่ปรับเป็นครู คศ.1 รุ่นหลัง ( บรรจุ 15 ก.พ.55 เงินเดือน พ.ค.57 ได้ 17,490 บาท )
             เรื่องนี้  กจ.กศน.บอกว่า ที่ต้องรีบปรับเงินเดือนให้กลุ่มที่บรรจุเมื่อ 15 ก.พ.55 จำนวน 90 กว่าคนก่อน เพราะมีผลกระทบกับการออกคำสั่งให้กลุ่มนี้เป็นครู คศ.1
             ส่วนผู้ที่มีคำสั่งให้เป็นครู คศ.1 อยู่ก่อนแล้ว 400 กว่าคน จะทยอยปรับเงินเดือนตาม โดยจะพยายามปรับให้เสร็จก่อนออกคำสั่งเลื่อนขั้น 1 ต.ค.57  ( ยังไงๆก็จะได้ตกเบิกย้อนหลัง )


         5. เช้าวันที่ 28 พ.ค.57 ผมตอบคำถามคุณ Beeza Rukbumrung ครู ปวช. กศน.อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ที่ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ในการต่อสัญญาจ้าง (ครูพิการ ครูปวช ครูเร่ร่อน) รอบใหม่นี้มีการเก็บเงินค้ำประกันสัญญา 5 เปอร์เซ็นด้วยหรอ ปกติที่เคยต่อสัญญาไม่เคยเก็บ พอเงินเดือน 15,000 บาทเก็บเงินค้ำ 3,750 บาท
             ผมตอบว่า   ที่ผ่านมาอาจทำไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือการจ้างตามระเบียบพัสดุที่มีการทำสัญญาจ้าง ต้องมีหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา 5 % ( ตามระเบียบพัสดุ กำหนดให้ใช้หลักทรัพย์เป็น "หลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา" ไม่มีระเบียบให้ใช้บุคคลเป็นหลักประกัน )
             ผมเคยถาม กจ.กศน.ว่า การจ้างครูผู้สอนคนพิการ ครู ปวช. ครูสอนเด็กเร่ร่อน ครูสอนภาษาต่างประเทศ  เป็นการจ้างเหมาบริการบุคคลภายนอกตามระเบียบพัสดุด้วยหรือไม่ นิติกร กจ.ตอบว่าใช่ ถ้าจ้างพนักงานราชการและครู ศรช. จึงจะเป็นการจ้างบุคลากรของส่วนราชการ ไม่ใช่จ้างเหมาบริการบุคคลภายนอกตามระเบียบพัสดุ
             ( สัญญาจ้างพนักงานราชการไม่ต้องติดอากรแสตมป์ ไม่ต้องมีการค้ำประกัน,  สัญญาจ้างครู ศรช. ไม่ต้องติดอาการแสตมป์ แต่มีการ "ค้ำประกันการกระทำให้เกิดความเสียหาย" โดยจะใช้บุคคล(ตำแหน่ง) หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้ )   สัญญาจ้างตามระเบียบพัสดุต้องติดอากรแสตมป์และต้องใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันตามสัญญา
             ผมเคยตอบเรื่องนี้ไว้ใน
             - ข้อ 1 ที่ http://www.gotoknow.org/posts/504565
             - ข้อ 2 ที่ http://www.gotoknow.org/posts/406637

         6. วันที่ 29 พ.ค.57 ผมถาม อ.หน่อย กลุ่มพัฒนา กศน. ว่า ผู้ที่ไม่มาสอบเทียบระดับฯสูงสุดฯในวันที่ 26-27 เม.ย.57 จะมาสอบในวันที่ 7-8 มิ.ย.57 ได้หรือไม่
             อ.หน่อยตอบว่า  ภาคทฤษฎีต้องสอบทั้ง 2 ส่วน คือส่วนของ กศน. กับส่วนของ สทศ. ถ้าสอบส่วนเดียวจะไม่ผ่าน ผู้ที่ไม่มาสอบในวันที่ 26-27 เม.ย.57 จะไม่ผ่านการสอบรอบแรกแน่นอนแล้ว  แต่ก็สามารถเข้าสอบในวันที่ 7-8 มิ.ย.57 ได้ถ้าคิดว่าเข้าสอบเพื่อจะดูหรือศึกษาข้อสอบของ สทศ.

         7. เย็นวันเดียวกัน ( 29 พ.ค.) ชัชรินทร์ สินประมวญ ผอ.กศน.อ.มหาราช ถามผมในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  มีแบบขอใช้ที่ดินของวัดเพื่อสร้าง กศน.ตำบลมั้ย  ที่มหาราช วัดหลายตำบลท่านให้ จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
             ผมตอบว่า   ถ้าเป็นที่ดินที่ตั้งวัด ที่ธรณีสงฆ์ ที่มัสยิด หรือที่ดินที่เป็นที่ตั้งศาสนสถานของศาสนาอื่น หลักฐานในเบื้องต้นคือ "หนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินวัดหรือมัสยิดหรือศาสนสถานอื่น ที่ระบุการให้ใช้ไม่น้อยกว่า 30 ปี"
             ผู้ลงนามอนุญาตในหนังสือนี้ อาจเป็น
             - คณะกรรมการวัด หรือ
             - เจ้าอาวาสวัด หรือ
             - ผู้มีอำนาจอื่น (กรณีมัสยิดหรือศาสนสถานอื่น ) ก็ได้
             โดย ผอ.กศน.อ.ทำหนังสือราชการธรรมดา ถึงวัด ระบุว่าขอความเมตตาอนุเคราะห์อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินวัดจำนวน 1 แปลง เนื่อที่ ... ( ไม่น้อยกว่า 2 งาน กลุ่มงานออกแบบและก่อสร้าง สำนักงานเลขาธิการ กศน.บอกว่าเฉพาะตัวอาคารรวมชายคากว้างประมาณ 12.4 ม. ยาวประมาณ 17.7 ม. ) เพื่อ กศน.ตำบล ... เป็นเวลา ... ปี ( ไม่น้อยกว่า 30 ปี )
             ที่จริงเรื่องนี้ กลุ่มแผนงาน กศน.บอกว่า เป็นการตรวจสอบยืนยัน 700 แห่งเดิมที่เคยขอไว้แล้วปี 57 ยังไม่ได้สร้าง   แต่จังหวัดก็สามารถเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมได้   ( กลุ่มแผนงานเคยทำกรอบแนวทางในการขอใช้ที่ดินประเภทต่าง ๆ ที่จะใช้สร้าง กศน.ตำบล ไว้เมื่อปี 54 ดูได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/LandNFEdistrict.pdf )

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

1.เทอมสุดท้ายเรียนเพิ่มได้อีก 3 หน่วยกิต, 2.ทำ กพช.ในช่วงปิดเทอม, 3.อายุวิชา+รักษาสภาพ, 4.พนักงานราชการเป็นประธาน ตรวจรับพัสดุได้ไหม, 5.พนักงานราชการรับรางวัลหนึ่งแสนครูดีได้ไหม, 6.เทียบโอนจากหลักสูตรแกนกลางในระบบ, 7.เทียบประสบการณ์ทำชำนาญการ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันเสาร์ที่ 10 พ.ค.57 คุณ “Kungking Woraweerin” กศน.อ.พาน ( แผ่นดินไหว 5 พ.ค.57  กศน.อ.พาน ปลอดภัยดี แต่ กศน.ตำบลมีร้าวบ้าง ข้าวของเสียหายเล็กน้อย )  ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  นักศึกษาระดับ ม.ปลายเหลือหน่วยกิตที่จะต้องลงทะเบียน 26 หน่วยกิต ก็จะสำเร็จการศึกษา สามารถลงเต็มทั้ง 26 หน่วยในภาคเรียนนี้ได้หรือไม่ ซึ่งตามระเบียบให้ลงได้คือ ประถมไม่เกิน 14 หน่วยกิต ม.ต้น 17 หน่วยกิต และม.ปลาย 23 หน่วยกิต   ที่นี่ถกเถียงกันมาเป็นสัปดาห์แล้ว
             ผมตอบว่า   ถ้าเป็นนักศึกษาที่มีการเทียบโอนผลการเรียน หรือเคยสอบไม่ผ่าน ได้เกรด 0   นักศึกษารายนั้น เฉพาะภาคเรียนสุดท้ายก็ยังสามารถเรียนมากกว่าที่กำหนดได้อีก 3 หน่วยกิต  เพื่อให้จบพร้อมเพื่อนรุ่นเดียวกันได้   เป็นไปตามข้อ 2. ในหนังสือสำนักงาน กศน. ด่วนมาก ที่ ศธ 0210.03/3805 ลงวันที่ 26 ต.ค.53 
             ถึงแม้หนังสือนี้จะเก่าแล้ว ตั้งแต่ปี 53 แต่ในข้อ 2. ของหนังสือฉบับนี้ ไม่ได้ระบุว่าใช้เฉพาะภาคใดภาคเดียว  ฉะนั้น ถ้ายังไม่มีหนังสือระเบียบหลักเกณฑ์ฉบับใหม่กว่า ที่กำหนดเป็นอย่างอื่น ข้อกำหนดนี้ก็ยังมีผลใช้ได้อยู่ต่อไป
             เมื่อวันที่ 26 ต.ค.55 ผมถามเรื่องนี้กับกลุ่มพัฒนา กศน.อีกครั้ง ( ถามหลังจากที่สำนักงาน กศน.แจ้งเมื่อ 12 เม.ย.55 ให้เพิ่มการลงทะเบียน ม.ปลายเป็น 23 หน่วยกิตแล้ว )   กลุ่มพัฒนาฯโดยคุณกิตติพงษ์ ตอบว่า  เรื่องเรียนมากกว่าที่กำหนดในภาคเรียนสุดท้ายของบางคน ได้อีก 3 หน่วยกิตนี้ ยังมีผลใช้อยู่
  


         2. วันวิสาขบูชา 13 พ.ค.57 คุณ “Khanom Pang” กศน.อ.พาน ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค 3 ข้อ เช่น  การทำ กพช.ทำได้ตลอดเวลา หลังจากสอบปลายภาคเสร็จก็สามารถทำได้ แต่ให้ไปบันทึก กพช.ใน ITW ภาคเรียนต่อไปใช่ไหม  ( คุยกับนายทะเบียนคนเก่า ให้ทำ กพช.ได้แค่ก่อนสอบปลายภาคเท่านั้น )
             ผมตอบว่า   การทำ กพช. ไม่มีข้อกำหนดห้ามทำในช่วงปิดภาคเรียน โดยเฉพาะถ้า นศ.จะจบ ขาดแต่ กพช.อย่างเดียว ก็ให้ทำในช่วงปิดภาคเรียน   การทำในช่วงปิดภาคเรียนนี้ ถือว่าเป็นการทำของภาคเรียนที่ผ่านมานะ ไม่ใช่ไปลงทะเบียนในภาคเรียนต่อไป  ถ้าทำในวันที่เปิดภาคเรียนใหม่แล้วจึงจะถือว่าทำในภาคเรียนใหม่  ( ถ้าโครงการทำ กพช.นั้นมากกว่า 1 วัน ตั้งแต่วันที่ยังไม่เปิดภาคเรียน ถึงวันที่เปิดภาคเรียนใหม่แล้ว ให้ถือว่าทำในภาคเรียนใหม่ เพราะ ผอ.จะต้องอนุมัติผลหลังวันเปิดภาคเรียน )   การทำ กพช. หรือสอบ e-Exam ช่วงปิดภาคเรียนแล้วจบ จะถือว่าจบในภาคเรียนที่ผ่านมาเลย โดยถ้าจบหลังรายงาน GPA ไปแล้ว ก็เป็นการจบไม่พร้อมรุ่น
             ดูคำตอบเก่า ๆ เรื่องนี้ เช่น
             - ข้อ 13.1 (2) ที่
http://www.gotoknow.org/posts/506950
             - ข้อ 1 ที่
http://www.gotoknow.org/posts/485388
             - ข้อ 1 ที่
http://nfeph.blogspot.com/2014/01/itw-2.html


         3. วันเดียวกัน ( วิสาขบูชา ) คุณ “พิ้งกี้ สวยดี” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  กลุ้มใจมาก นักศึกษาหลักสูตร 44 ไม่มีกิจกรรม กพช. เรียนครบ 8 หมวดวิชา ปัจจุบันไม่มีหลักสูตรเก่าแล้ว และเกรดที่เรียนได้คลุมขาวเหมือนหมดสภาพแล้ว ตั้งแต่ 2547 ไม่ได้รักษาสภาพ ผ่านมาเกือบ 10 ปี แบบนี้สามารถออกใบรับรองว่าจบหรือหลักฐานอื่นได้ไหม ในเมื่อไม่มีรายชื่อในใบรายงานจบ   เคยได้ยินมาว่าถ้าถึง 5 ปีแล้ว ผลการเรียนที่เรียนได้ จะไม่สามารถนำมาใช้ได้ แต่ไม่เคยเห็นระเบียบ นอนไม่หลับ คิดมาก
             ผมตอบว่า 
             1)  แต่ละวิชามีอายุ 5 ปี ถ้าเกินแล้วยังไม่ออกใบ รบ. ต้องเรียนเฉพาะวิชานั้นใหม่   และถ้าขาดการรักษาสภาพเกิน 6 ภาคเรียน จะพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา
             2)  ถ้าออกใบ รบ.ไว้ตั้งแต่ตอนยังขาดการรักษาสภาพไม่เกิน 6 ภาคเรียน ( ออกใบ รบ.ว่า "ศึกษาต่อที่อื่น" โดยในใบ รบ. จะปรากฏเฉพาะวิชาที่ยังไม่หมดอายุ ) จะหยุดนับอายุวิชาตั้งแต่วันออกใบ รบ. สามารถนำใบ รบ.นั้นมาเทียบโอนเข้าเรียนหลักสูตรใหม่ในอีกกี่ปีก็ได้
             3)  ถ้าขาดการรักษาสภาพเกิน 6 ภาคเรียนไปแล้ว ถือว่าหมดสภาพการเป็นนักศึกษาแล้ว คือ ออกใบ รบ.หรือใบรับรองไม่ได้แล้ว  ถ้าจะออกหลักฐานอื่นก็อาจออกหนังสือรับรองตามระเบียบสารบรรณว่าเคยสมัครขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา   ดูข้อมูลเอกสารอ้างอิงได้จากคำตอบเก่า ๆ เช่น ที่
                  - ข้อ 7 ที่
http://www.gotoknow.org/posts/505575
                  - ข้อ 2 ที่
http://www.gotoknow.org/posts/426724
                  - ข้อ 9 ที่
http://www.gotoknow.org/posts/506950
                  - ข้อ 1 (1) และข้อ 3.2 ที่
http://www.gotoknow.org/posts/484617

         4. วันที่ 19 พ.ค.57 คุณ “Kammee Wongkaso” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  เรื่องการตรวจรับพัสดุ พนักงานราชการสามารถเป็นประธานตรวจรับได้ไหม ดูตามระเบียบแล้วน่าจะได้ แต่รอง ผอ.จังหวัดบอกว่าไม่ได้ต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น
             เรื่องนี้  ผมถามสำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ( 02-1277000 ต่อ 4551 ) เมื่อวันที่ 21 พ.ค.57 ได้รับคำตอบว่า  พนักงานราชการเป็นประธานกรรมการตรวจรับพัสดุ ได้โดยไม่จำกัดวงเงิน  อ้างอิงจาก ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 7 พ.ศ.2552 ข้อ 35  ( ดูได้ที่  home.kku.ac.th/praudit/law/01_assets/07_2552_assets_edit7.pdf )
              ( กลุ่มงานพัสดุ กลุ่มการคลัง กศน. บอกว่า
ถ้าหน่วยงาน/สถานศึกษานั้นมีข้าราชการ ต้องให้ข้าราชการเป็นประธาน )


         5. วันเดียวกัน ( 19 พ.ค.) “รากฐานชีวิต คือการศึกษา” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  พนักงานราชการสังกัด กศน. สามารถเสนอชื่อเข้ารับรางวัลหนึ่งแสนครูดีของคุรุสภาได้มั้ย ถ้าหากพนักงานราชการผู้นั้นมีใบประกอบวิชาชีพตามเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนด   เจ้าหน้าที่งานบุคลากร กศน. จังหวัด แจ้งว่าพนักงานราชการเสนอชื่อรับรางวัลไม่ได้
             เรื่องนี้   ตาม “หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษารับรางวัลหนึ่งแสนครูดี ประจำปี พ.ศ.2557” ที่สำนักงาน กศน.ส่งให้จังหวัด ระบุว่า ให้ กศน.อำเภอ/เขต พิจารณาเสนอชื่อ “ข้าราชการครู”  ฉะนั้น จึงเสนอชื่อพนักงานราชการเข้ารับรางวัลหนึ่งแสนครูดีไม่ได้
             ( เป็นนโยบายให้ปีแรก ๆ เสนอให้ “ข้าราชการ” รับรางวัล “หนึ่งแสนครูดี” ของคุรุสภา  ซึ่งต่างจากรางวัล “ครูสอนดี” ของ สสค. ที่เขาคัดเลือกจากครูหลายประเภท )

         6. วันเสาร์ที่ 24 พ.ค.57 ผมตอบคำถามคุณ Saifon Inplang ครู กศน.ตำบล กศน.อ.แม่สาย  ที่ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การเทียบโอนผลการเรียนจากในระบบ หลักสูตรปัจจุบัน (หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ระดับประถมศึกษา  ในเกณฑ์การเทียบโอนของกรม ได้แจ้งไว้ว่า สามารถเทียบโอนได้ไม่เกิน 36 หน่วยกิต ผลการเรียนที่เทียบโอน ให้ใช้ค่าระดับผลการเรียนตามที่ปรากฎ นอกจากนี้และกรณีหากจบในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ได้ใบสุทธิที่มีผลการเรียนรวม สามารถเทีียบโอนผลการเรียนได้จำนวน 24 หน่วยกิต ให้ผลการเรียนเป็นผ่าน
             ปัญหามีอยู่ว่า ใบ รบ.ประถมศึกษา ในระบบ ไม่มีจำนวนหน่วยกิต มีแต่จำนวนชั่วโมงและเกรดบอกไว้แต่ละรายวิชา จึงอยากทราบแนวทางการเทียบโอนว่านักศึกษาคนนี้สามารถเทียบโอนได้ทั้งหมด 36 หน่วยกิตหรือไม่ และปรากฎเป็นระดับผลการเรียนได้หรือไม่ นอกจากนี้เราจะสาามารถเทียบจำนวนชั่วโมงเป็นหน่วยกิตได้อย่างไร ในคู่มือไม่ระบุชัดเจน
             ผมตอบว่า
             1)  การเทียบโอน เป็นอำนาจหน้าที่ของสถานศึกษา ส่วนกลางช่วยทำ “แนวทาง” ไว้เพียงบางหลักสูตร  มีอีกหลายหลักสูตรที่ส่วนกลางไม่ได้ทำแนวทางไว้ เช่น หลักสูตรของวิทยาลัยนาฏศิลป์ หรือแม้แต่ของโรงเรียนในระบบหลักสูตรปัจจุบันทั้งระดับประถม-ม.ต้น-ม.ปลาย ก็ไม่ได้ช่วยทำแนวทางไว้  สถานศึกษาต้องดำเนินการเอง หลักการที่สำคัญคือ ถ้าเนื้อหารายวิชาใดตรงกัน 60 % ขึ้นไป ก็เทียบโอนได้ ไม่ว่าจะเป็นจากหลักสูตรใด ๆ ก็ตาม   แต่ปัญหาคือ เรารู้แต่เนื้อหาของรายวิชาเรา ไม่รู้เนื้อหาของรายวิชาเขา แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า รายวิชาใดตรงกับรายวิชาของเราถึง 60 %   ถ้าจะให้ดีก็หาเอกสารคำอธิบายรายวิชาของเขามาดู  ในทางปฏิบัติบางครั้งจะไม่สามารถหาคำอธิบายรายวิชาของเขามาดูเนื้อหาวิชาได้ อาจพิจารณาจากชื่อรายวิชานั้นว่าน่าจะมีเนื้อหาเรื่องใด สอดคล้องกันหรือไม่ ถ้าสอดคล้องกับเนื้อหารายวิชาเลือกในหลักสูตรสถานศึกษาเรา ก็เทียบโอนเป็นผลการเรียนรายวิชาเลือก ไม่ใช่เน้นให้เทียบโอนแต่รายวิชาบังคับ  ( ดูคำตอบเก่าในเรื่องนี้ ในข้อ 3 ที่ 
http://www.gotoknow.org/posts/417195 )
                  จะเทียบโอนได้ 36 หน่วยกิตหรือไม่ ก็ให้เป็นไปตามหลักการนี้
             2)  ถ้ามีแต่จำนวนชั่วโมง ไม่มีจำนวนหน่วยกิต ให้เทียบ 40 ชั่วโมง เท่ากับ 1 หน่วยกิต
             3)  กรณีนี้ ต้องเทียบโอนเป็นเกรด  ( กรณีใดจะเทียบโอนเป็นเกรด หรือเป็นผ่าน ดูในข้อ 1 ที่
http://www.gotoknow.org/posts/507502 )
             4)  วิธีคำนวณเกรดที่เทียบโอนได้
                  - ถ้าเทียบโอนจากหลายวิชา มาเป็นวิชาเดียว เช่นเทียบโอนจากวิชาในระบบ 2 วิชาคือ วิชา
A จำนวน 1 หน่วยกิต กับวิชา B จำนวน 3 หน่วยกิต มาเป็นวิชา C ของ กศน.จำนวน 4 หน่วยกิต  ให้นำจำนวนหน่วยกิตคูณระดับผลการเรียนของรายวิชาทั้งสอง มาบวกกัน แล้วหารด้วยจำนวนหน่วยกิตทั้งหมด และปัดเศษ   สมมุติว่า วิชา A จำนวน 1 หน่วยกิต ได้เกรด 2  ส่วนวิชา B จำนวน 3 หน่วยกิต ได้เกรด 4  วิชา C ที่เทียบโอนได้จะได้เกรด = (1 x 2) + (3 x 4) แล้วหารด้วย 4 = เกรด 3.5
                  - ถ้าเทียบโอนจาก 1 หรือหลายวิชา มาเป็น หลายวิชา  เกรดของวิชาที่เทียบโอนได้ ให้เท่ากันทุกวิชา  เช่น จากตัวอย่างแรก วิชา
A จำนวน 1 หน่วยกิต ได้เกรด 2 กับวิชา B จำนวน 3 หน่วยกิต ได้เกรด 4  ถ้าเทียบโอนเป็นวิชาของ กศน. คือวิชา C จำนวน 2 หน่วยกิต กับวิชา D จำนวน 1 หน่วยกิต ( หน่วยกิตที่เทียบโอนได้ จะมากกว่าหน่วยกิตที่นำมาเทียบโอนไม่ได้ แต่น้อยกว่าได้ )  ทั้งวิชา C และ D จะได้เกรด 3.5 เท่ากัน

                  - ถ้าเทียบโอนจากวิชาเดียว มาเป็นวิชาเดียว  เกรดของวิชาที่เทียบโอนได้จะเท่ากับเกรดของวิชาที่นำมาเทียบโอน
                  ดูตัวอย่างการคำนวณเกรดที่เทียบโอนได้ ในตอนท้ายที่  http://www.gotoknow.org/posts/365824
             5)  ถ้าเขาเรียนเกิน ป.4 แล้ว แต่เราพิจารณาเทียบโอนให้เขาได้ไม่ถึง 24 หน่วยกิต ให้อนุโลมเทียบโอนให้ 24 หน่วยกิตเลย

         7. วันอาทิตย์ที่ 25 พ.ค.57 ผมตอบคำถามคุณ “Thanasan Sriplang” ที่ถมผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  กรณีเป็นข้าราชการพลเรือนในสังกัดสำนักงาน กศน. มีใบประกอบวิชาชีพครู มีวุฒิศึกษาศาสตร์ (เอกเทคโนโลยีทางการศึกษา) รับราชการรวมแล้ว 16 ปี มาสิ้นสุดอยู่ที่ระดับชำนาญงานในแท่งทั่วไป เป็นเวลา 8 ปีแล้ว ต้องการเปลี่ยนสายงานมาเป็นครู กศน. ซึ่งขณะนี้กำลังเก็บชั่วโมงการสอนไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยมีคำสั่งจากสถานศึกษาแต่งตั้งให้เป็นครูประจำกลุ่ม เพื่อเป็นหลักฐานให้กับ กคศ.ต่อไป  อยากทราบว่า ถ้าไปเป็นครู จะลงอยู่ที่ คศ.อะไร   ปกติถ้าจบปริญญาตรีก็ 6 ปีถึงจะทำ คศ.2 หรือว่าจะสามารถมาลง คศ.2 ได้เลย แต่ยังไม่สามารถทำวิทยฐานะได้ต้องรอระยะเวลาอีก 6 เดือน หรือมีผลงานเทียบประสบการณ์ย้อนหลัง 6 ปีใช่หรือไม่
         ผมตอบว่า
         1)  ถ้าอยู่ในแท่งทั่วไป ระดับชำนาญ
งาน อย่างนี้ ไม่ใช่แท่งวิชาการ ระดับชำนาญการ  จะขอโอนเป็น ขรก.ครูยากมาก ต้องได้รับอนุมัติจาก ก.ค.ศ.เป็นราย ๆ ไป เดิมแท่งทั่วไปจะโอนเป็นครูไม่ได้ ต้องสอบโอน  เพิ่งจะมีระเบียบเปิดให้โอน และ กศน.เพิ่งขออนุมัติ ก.ค.ศ.ไปบางรายในปีนี้ เข้าใจว่า ณ วันนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติ
         2)  ถ้าได้โอน ก็ลงแท่งเงินเดือนที่ตรงกับเดิม เช่นเดิมเป็นชำนาญการ ก็ลงแท่ง คศ.2 เลย  แต่ไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ  ต้องทำวิทยฐานะใหม่ตามลำดับ ตั้งแต่วิทยฐานะครูชำนาญการ  ถ้าทำครูชำนาญการผ่านก็ได้เงินวิทยฐานะ 3
,500 บาท   ( ลองอ่านคำตอบเก่าในข้อ 4 ที่ http://www.gotoknow.org/posts/533649 )
         3)  ถ้าได้โอนแล้ว  สำหรับการเทียบประสบการณ์ในการสอนเพื่อทำวิทยฐานะครูชำนาญการ ของผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่นหรือข้าราชการประเภทอื่นและบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) นั้น  ในเดือน ธ.ค.53 ก.ค.ศ.กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ว่า ถึงจะมีการเทียบประสบการณ์ฯ ก็ต้องโอนมาเป็นครูในสถานศึกษาครบ 2 ปีเต็มก่อน ( ต้องแสดงชั่วโมงสอนแยกแต่ละภาคเรียน ไม่น้อยกว่า 10-12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ) จึงจะทำวิทยฐานะชำนาญการได้  โดยการเทียบประสบการณ์ให้ทำรายงานประสบการณ์ในการสอนเมื่อครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งเดิมก่อนโอนมาเป็นครู  ชี้แจงให้ละเอียด เพื่อนำเสนอ อ.ก.ค.ศ. พิจารณาเป็นราย ๆ ไป  ทำเป็นรูปเล่มให้สวยงามเรียบร้อย แล้วส่งไปพร้อมกับแบบเสนอขอมีวิทยฐานะชำนาญการ คือแบบ ก.ค.ศ.1,2,3  ( แบบ ก.ค.ศ.1 ในส่วนที่ลงชื่อผู้ตรวจคุณสมบัติกับหัวหน้าส่วนราชการต้นสังกัด ให้เว้นไว้ กจ.กศน.จะเป็นผู้ดำเนินการเอง )  เมื่อ กจ. ตรวจเสร็จแล้วจีงจะแจ้งให้แต่งตั้งกรรมการประเมินต่อไป
              ดูรายละเอียดหลักเกณฑ์ ก.ค.ศ.เรื่องการพิจารณาประสบการณ์เพื่อขอมีวิทยฐานะครูชำนาญการ ที่ 
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/experience.pdf  


วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ลงโปรแกรม ITw ไม่ได้, ค่าสอนภาษาอาเซี่ยน, คะแนนในใบ รบ.โปรแกรมเทียบระดับฯสูงสุดฯ, วิชาในระบบ 1 วิชา เทียบโอนเป็นวิชา กศน.มากกว่า 1 วิชา, กำหนดใหม่ สอบเทียบระดับรุ่น 2-3, หลักฐานการเบิกเงินครูที่ปรึกษาเทียบระดับ, เป็นครูที่ปรึกษาทั้ง 2 รุ่น ( รุ่น 2 และ 3 ) ซ้อนกันได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดั งนี้

         1. วันที่ 1 พ.ค.57 ครูเอ๊าะ กศน.อ.รัตนบุรี ถามผมทางอีเมล์ ว่า  ลงโปรแกรม IT แล้วเกิดปัญหา คือ ลงโปรแกรมเสร็จแล้ว พอรีสโต ก็โอนย้ายข้อมูลสถานศึกษาไม่เสร็จสักที จะแก้ไขอย่างไร
             ผมตอบว่า   กรณีนี้ คุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ บอกว่า  อาจเกิดจาก ข้อมูลที่ Backup มาจากโปรแกรมรุ่นเดิม มีบางอย่างไม่ถูกต้อง คือ ข้อมูลบางอย่างไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ในโปรแกรมเดิม
             ลองแก้โดย
             - ลงโปรแกรมเดิมก่อน แล้วเข้าเมนู 4 - 5 - 1 ( บำรุงรักษาระบบ - ตรวจสอบข้อมูล - ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล )  ทำทั้ง 3 ระดับ
             - เสร็จแล้วเข้าเมนู 4 - 1 ( บำรุงรักษาระบบ - ซ่อมแฟ้มดัชนี )
             - จากนั้น กลับไปที่เมนู 4 - 5 - 1 อีกรอบ  ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องบางส่วนจะได้รับการแก้ไขไปเองโดยอัตโนมัติ ส่วนข้อมูลที่โปรแกรมแก้ไขอัตโนมัติไม่ได้ จะแจ้งไว้ เราก็จดออกมาดำเนินการแก้ไขเอง
             - เมื่อแก้ไขเสร็จแล้วจึง
Backup ใหม่
             - ลงโปรแกรมรุ่นใหม่  แล้วจึงนำข้อมูลที่
Backup ไว้ใหม่ มา Restore

         2. วันอาทิตย์ที่ 4 พ.ค.57 ผมตอบคำถามคุณ เอมอร แก้วกล่ำศรี กศน.อ.เมืองชลบุรี ที่ถามผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  กรณีการเปิดสอนภาษาจีน อังกฤษ ในศูนย์อาเซียนศึกษา ตามโครงการอาเชียนศึกษา กศน.อำเภอนั้น  ค่าตอบแทนวิทยากร ระเบียบให้ค่าตอบแทนเช่นเดียวกับการเปิดสอนการศึกษาต่อ เนื่อง (การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ) คือชั่วโมงละ 200 บาท หรือมากกว่านั้น  เพราะค่าตอบแทนน้อย วิทยากรจะหายาก
             ตอบว่า   ให้ค่าตอบแทนเช่นเดียวกับการเปิดสอนการศึกษาต่อเนื่อง ( หลักสูตรระยะสั้น เช่น วิชาชีพ ) คือชั่วโมงละไม่เกิน 200 บาท

         3. วันเดียวกัน ( อาทิตย์ที่ 4 พ.ค.) ผมถามคุณสุขุม ผู้พัฒนาโปรแกรม KSM ว่า   ใบ รบ. ที่ออกโดยโปรแกรมเทียบระดับฯสูงสุดฯ ซึ่งตัวเลขทั้งหมดเป็นเลขไทยนั้น  บางวิชาไม่มี “ร้อยละของคะแนนที่ได้” มีเพียง “...” ( จุด 3 จุด )  จะแก้ไขอย่างไร
             คุณสุขุม บอกว่า  เกิดจากตัวเลขร้อยละของคะแนน ทั้ง 4 ตัวนั้น มีแต่ตัวใหญ่ ๆ หมด เช่น ๗๒.๓๓  ไม่มีตัวเลขเล็ก ๆ เช่นเลข ๐, ๖  ทำให้ล้นช่องสำหรับพิมพ์ตัวเลข จึงเกิดปัญหาขึ้น   วิธีแก้ไข ให้ขยายช่องสำหรับพิมพ์ตัวเลขนั้น โดย
             - เข้าเมนู 8 – 9 ( จัดการระบบ – จัดการแบบฟอร์ม )
             - คลิกที่ปุ่มแก้ไขแบบฟอร์ม ( รูปแฟ้ม ) ด้านขวาของ “แบบฟอร์มใบระเบียนภาษาไทย”
             - คลิกที่ช่องคะแนนที่มีปัญหา แล้วลากขยายขอบซ้าย-ขวา ให้ช่องคะแนนนั้นกว้างขึ้น
             - คลิกปิดหน้านี้ แล้วคลิก
yes เพื่อ save ไว้
             - ทดลองพิมพ์ ใบ รบ.  ถ้าตัวเลขยังไม่ขึ้น ให้เข้าไปขยายช่องให้กว้างขึ้นอีก   ถ้าคะแนนไม่อยู่ตรงกลาง ให้เข้าไปคลิกเลื่อนช่องคะแนนนั้น

         4. วันที่ 6 พ.ค.57 คุณอภิชาต ขรก.ครู กศน.อ.ลาดบัวหลวง โทร.มาถามผมว่า  นศ.ลาออกจาก ร.ร.ในระบบ มาเทียบโอนฯ  วิชาภาษาไทยที่เรียนมา วิชาเดียว 6 หน่วยกิต มาเทียบโอนเป็นวิชาภาษาไทย กศน. 5 หน่วยกิต  เหลือ 1 หน่วยกิต จะเทียบโอนเป็นวิชาเลือก 1 หน่วยกิต อีกได้หรือไม่
             ผมตอบว่า   ได้  ถ้า เนื้อหาวิชาเลือกในหลักสูตรสถานศึกษาของเรานั้น สอดคล้องกับเนื้อหาของวิชาที่นำมาเทียบโอนไม่น้อยกว่า 60 ( เกรดที่เทียบโอนได้มากกว่า 1 วิชา จะได้เกรดเท่ากันทุกวิชา )    คำถามเรื่องนี้เคยตอบแล้วที่  http://www.gotoknow.org/posts/358616  ( ดูตรงที่ตอบ อ.พิมพิกุล )   และมีตัวอย่าง ( ตัวอย่างแรก ) อยู่ท้ายบันทึกที่  http://www.gotoknow.org/posts/365824 

         5. วันที่ 8 พ.ค.57 สำนักงาน กศน.แจ้งเปลี่ยนแปลงกำหนดการสอบเทียบระดับฯสูงสุดฯ ครั้งที่ 2/57  ที่  www.pattanadownload.com/download/g.5/g5.25.PDF   เป็นดังนี้
             การสอบภาคทฤษฎีในส่วนของ สทศ. ยังให้สอบรุ่นละ 2 ครั้งเหมือนเดิม โดย
             1)  ส่วนของ กศน.
                  - ครั้งที่ 1  สอบวันที่ 26-27 เม.ย.57  ( เป็นครั้งที่ 1 ของรุ่นที่ 2 )
                  - ครั้งที่ 2  เปลี่ยนจากวันที่ 5-6 ก.ค. เป็นสอบวันที่ 9-10 ส.ค.57  ( เป็นครั้งที่ 2 ของรุ่นที่ 2 และครั้งที่ 1 ของรุ่นที่ 3 โดยรุ่นที่ 2 กับรุ่นที่ 3 สอบด้วยกัน )
             2)  ส่วนของ สทศ.
                  - ครั้งที่ 1  เปลี่ยนจากวันที่ 10-11 พ.ค. เป็น 7-8 มิ.ย.57  ( เป็นครั้งที่ 1 ของรุ่นที่ 2 )
                  - ครั้งที่ 2  สอบวันที่ 26-27 ก.ค.57  ( เป็นครั้งที่ 2 ของรุ่นที่ 2 และครั้งที่ 1 ของรุ่นที่ 3 โดยรุ่นที่ 2 กับรุ่นที่ 3 สอบด้วยกัน )
             3)  สำหรับการสอบของรุ่นที่ 3 ครั้งที่ 2  ทั้งส่วนของ สทศ. และ กศน. ยังไม่ได้กำหนดวันสอบ




         6.
เย็นวันที่ 8 พ.ค.57 ตอบคำถามคุณ “Phantharabkhwa Joyyee” และคุณ  “Auang Nirakhom” ที่ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การเบิกจ่ายค่าตอบแทนครูสอน ม.6 8 เดือน สามารถเบิกจ่ายได้หรือยัง
             ผมตอบว่า   ค่าตอบแทนครูที่ปรึกษา เทียบระดับฯสูงสุดฯ เบิกจ่ายได้แล้ว   เอกสารหลักฐานที่ใช้ในการเบิกจ่าย ควรประกอบด้วย
             1)  บันทึกขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน
             2)  ใบสำคัญรับเงิน  ( ตัวอย่าง
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/JPG/moneyCT.jpg )
             3)  บัญชีรายชื่อผู้เข้าเทียบระดับฯ ปริ้นท์จากโปรแกรม
KSM เมนู 2 5 ( ลงทะเบียน รายงานสรุปการลงทะเบียนตามกลุ่ม ) ภาคทฤษฎี
             4)  คำสั่งแต่งตั้งครูที่ปรึกษา
             5)  บัญชีลงเวลาการเป็นครูที่ปรึกษา  ( ตัวอย่าง  https://db.tt/XiDpTqeG )
             6)  สำหรับการเบิกจ่ายครั้งแรกให้แนบประกาศกระทรวงฯฉบับวันที่ 8 พ.ค.57 ด้วย  ดาวน์โหลดได้ที่
http://www.pattanadownload.com/download/g.7command/g7.1.pdf หรือที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/JPG/teacherCM.jpg

         7. คืนวันเดียวกัน ( 8 พ.ค.) คุณเอมอร แก้วกล่ำศรี
กศน.อ.เมืองชลบุรี ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การแต่งตั้งครูที่ปรึกษารุ่นที่ 3 (1/2557) จะแต่งตั้งครูคนเดียวกับรุ่นที่ 2 (2/56) ได้หรือไม่ ถ้าแต่งต้งได้ จะเบิกค่าตอบแทนได้หรือไม่
             เรื่องนี้   ผมถามท่าน ผอ.กลุ่มพัฒนา กศน. เมื่อวันพืชมงคล 9 พ.ค.  ท่านบอกว่า  แต่งตั้งครูที่ปรึกษาคนเดียวกันทั้งรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 ได้ และเบิกค่าตอบแทนได้  แต่รวมผู้เข้าเทียบระดับทั้งสองรุ่นต้องไม่เกิน 25 คน เนื่องจากรุ่นที่ 2 กับรุ่นที่ 3 ช่วงเวลาซ้อนกัน