วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

1.เป็น ขรก.ต่อจากเป็นพนักงานราชการ ไม่ให้นับอายุราชการรวมเพื่อการขอเครื่องราชฯ, 2.เรียน ETV ทาง YouTube-DVD, 3.ค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้, 4.แพทย์ประจำตำบล+อื่นๆ เป็นครู ศรช.?, 5.ชื่อหน่วยงาน กศน.ภาษาอังกฤษ, .ไม่ต้องมีคณะกรรมการห้องสมุด, 7.ตรงไหนบอกว่าเรียน กศน.ต้องอายุ 15 ปี, เด็กวัยเรียนไม่ต้องใช้เวลาเรียน 3 ปี 6 ปี



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันอาทิตย์ที่ 16 พ.ย.57 Yotin Cheameungpan ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  การขอเครื่องราช.. เป็น พรก.แล้วสอบเป็นข้าราชการจะขอเครื่องราช.. นับเวลารวมกันได้หรือไม่.. เช่นเป็น พรก. 3 ปีสอบได้ข้าราชครูผู้ช่วยทำงานได้ 2 ปีจะต่อเนื่องได้หรือไม่

             ผมตอบว่า  เรื่องการขอเครื่องราชฯนับเวลารวมกันไม่ได้ ต้องเริ่มนับใหม่  แต่ เครื่องราชฯที่เคยได้รับพระราชทานตอนเป็นพนักงานราชการแล้ว ไม่ต้องขอซ้ำอีก  ดูรายละเอียดที่เคยตอบแล้ว ในข้อ 2.4 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/472755  ซึ่งตอบว่า การนับเวลาทำงานให้ครบ 5 ปี เพื่อขอครื่องราชอิสริยาภรณ์ จะนำเวลาช่วงที่เคยเป็นพนักงานราชการมารวมกับช่วงที่เป็นข้าราชการด้วยไม่ได้ เพราะเป็นคนละประเภทกัน ต้องเริ่มนับใหม่   แต่ผู้ที่เคยเป็นพนักงานราชการนานจนได้เครื่องราชฯแล้ว เมื่อลาออกมาเป็นข้าราชการ ไม่ต้องคืนเหรียญเครื่องราชฯ ( การลาออก การเกษียณ ยังไม่ต้องคืนเหรียญเครื่องราชฯ แต่ให้ญาติคืนเมื่อเสียชีวิต ) ถ้าไม่ใช่การเรียกคืนเพราะมีความผิด จะคืนเหรียญเครื่องราชฯที่ได้จัดสรร ( ไม่ได้ซื้อเอง ) ใน 2 กรณี ได้แก่ กรณีได้เครื่องราชฯชั้นสูงขึ้นในตระกูลเดียวกัน คือตระกูลช้างเผือกหรือตระกูลมงกุฎ ไทย ให้คืนเหรียญชั้นรอง เก็บไว้ได้เพียง 2 เหรียญ ( ตระกูลละ 1 เหรียญ ) และ กรณีเสียชีวิต ( อาจนำไปประดับในพิธีศพ เสร็จแล้วญาติต้องส่งคืนหรือซื้อไว้ )
             ผู้ที่เคยเป็นพนักงานราชการนานจนได้เครื่องราชฯแล้ว เมื่อลาออกมาเป็นข้าราชการ ถ้าถึงเวลาที่มีสิทธิเสนอขอเครื่องราชฯที่เคยได้รับตอนเป็นพนักงานราชการแล้ว ไม่ให้ขอซ้ำใหม่อีก ( ฝ่ายการเจ้าหน้าที่คงต้องสำรวจประวัติเดิมไว้ เจ้าตัวก็คงต้องบอกฝ่ายการเจ้าหน้าที่ว่าเคยได้รับเหรียญใดแล้ว ไม่ต้องขอให้ซ้ำอีก )

         2. วันเดียวกัน ( อาทิตย์ที่ 16 พ.ย.) “ETV CET” บอกผมว่า   ทางสถานี ETV จะจัดทำสำเนา DVD รายการสอนวิทย์-คณิต-อังกฤษ ส่งให้ภายหลังจากการออกอากาศครบ 10 ตอนแรกของแต่ละวิชา

             ช่วงนี้รับชมย้อนหลังได้ที่
             - youtube :  https://www.youtube.com/channel/UCRmx397mqTaGfXMZxuKf3SA หรือ
             - เว็บไซต์ ETV :  http://www.etvthai.tv/OndeMAnd/Ondemand.aspx หรือ
             - เฟซบุ๊ค ETV :  https://www.facebook.com/pages/ETV-Thailand/542374389222444

         3. คืนวันที่ 19 พ.ย.57 ผมเผยแพร่เรื่องค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ ในเฟซบุ๊ค ว่า
             ช่วยกันหาข้อสรุป เพื่อพี่น้องอัตราจ้าง ชายแดนใต้..

             เมื่อประมาณ 1 เดือนมาแล้ว มีผู้ถามผมจากชายแดนใต้ 3 คน ถามเกี่ยวกับค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ เช่น ปีนี้จะได้เมื่อไร ลูกจ้างจะได้ทุกคนไหม ไม่เห็นสำรวจข้อมูลลูกจ้างที่ไม่เคยได้ ....
             ไม่รู้ว่าถึงวันนี้ ข้อสงสัยเหล่านี้จะคลี่คลายไปหรือยัง  ผมเพิ่งจะถามข้อมูลจากหัวหน้ากลุ่มงานงบประมาณ กลุ่มแผนงาน กศน. เมื่อวันที่ 18 พ.ย.57
             หัวหน้ากลุ่มงานงบประมาณเล่าให้ฟังว่า   คน กศน.เราแจ้งว่า ครม.อนุมัติให้ลูกจ้างทุกประเภท รวมทั้งจ้างเหมาบริการ ในจังหวัดชายแดนใต้ ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มค่าใช้จ่ายการพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2,500 บาท/เดือน ( เบี้ยเสี่ยงภัย )   กลุ่มแผนงานฯจึงได้จัดสรรเงินดังกล่าวโอนไปให้ที่ สนง.กศน.จังหวัดชายแดนใต้แล้ว โดยมีการสำรวจก่อนหน้านั้นแล้วว่ามี 600 กว่าคน โอนเงินไปแล้ว 6 เดือน ( ต.ค.57 – มี.ค.58 ) คนละ 2,500 บาท/เดือน รวมทั้งเงินเพิ่มคนละ 1,000 บาท สำหรับข้าราชการ+ลูกจ้างประจำ+พนักงานราชการ ที่เคยได้รับ 2,500 บาท ให้ได้รับเป็น 3,500 บาท ก็โอนไปแล้วเช่นเดียวกัน

             แต่หลังจากโอนเงินไปแล้ว ได้อ่านมติ ครม. พบว่า ไม่ได้ใช้คำว่า ลูกจ้างทุกประเภทรวมทั้งการจ้างเหมาบริการแต่ใช้คำว่า ลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทซึ่ง ตามความหมายของกระทรวงการคลัง คำว่าลูกจ้าง ไม่ใช่อย่างที่พวกเราเข้าใจกัน ( แม้แต่ ครู ศรช. กรมบัญชีกลางก็เคยตอบข้อหารือของ กศน. มาว่า ครู ศรช.ไม่ใช่ลูกจ้าง )   กลุ่มแผนงานฯจึงแจ้ง สนง.กศน.จังหวัดชายแดนใต้ว่า ให้ชลอการจ่ายเงินในส่วนนี้ไว้ก่อน ถึงแม้จัดสรรเงินไปแล้ว ถ้าจ่ายให้ผู้ไม่มีสิทธิ์ได้รับ ก็จะต้องส่งคืนในภายหลัง  จึงให้หาข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า สามารถจ่ายให้ ลูกจ้างทุกประเภทรวมทั้งการจ้างเหมาบริการส่งไปให้กลุ่มแผนงานก่อน  แต่จนขณะนี้ก็ยังเงียบไป

             ผมไม่ทราบว่า สนง.กศน.จังหวัดชายแดนใต้ดำเนินการไปอย่างไรแล้ว
             เรื่องนี้ ผมค้นข้อมูลพบว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.56 ครม.มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( กพต.) เสนอ ดังนี้
             ให้จ่ายเงินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาใน 2 กลุ่ม คือ
             1)  ข้าราชการครู พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ สังกัด ศธ. เดิมเคยได้รับคนละ 2,500 บาทต่อเดือน ให้ได้รับเพิ่มเป็น 3,500 บาทต่อเดือน และ
             2)  ครูโรงเรียนเอกชนในระบบอาจารย์  พนักงานในมหาวิทยาลัยเอกชน  ลูกจ้างชั่วคราว  ครูอัตราจ้าง  วิทยากรสอนศาสนาอิสลาม  ในสังกัดหน่วยงานของ ศธ. ที่ไม่เคยได้รับค่าเสี่ยงภัยมาก่อน ให้ได้รับเงินพัฒนาคุณภาพการศึกษาคนละ 2,500 บาทต่อเดือน

             ทำอย่างไรจึงจะได้ข้อสรุปที่เชื่อถือได้ว่า ข้อ 2) ครอบคลุม ลูกจ้างทุกประเภทรวมทั้งจ้างเหมาบริการของ กศน.หรือไม่
             จะถาม สพฐ.ว่าเขาจ่ายเงินค่าเสี่ยงภัยให้ลูกจ้างลักษณะใดบ้าง รวมผู้รับจ้างเหมาบริการด้วยไหม   หรือ สนง.กศน.จังหวัดชายแดนใต้จะทำหนังสือหารือ กพต. แล้วส่งหนังสือตอบของ กพต.ให้สำนักงาน กศน. ดีไหม ... หรือควรทำอย่างไรครับ ...

         4. วันที่ 20 พ.ย.57 Pattanan Dondee ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  แพทย์ประจำตำบลหรือตำแหน่งต่างๆ ในชุมชน โดยรับค่าตอบแทนแล้ว สอบเป็นครู ศรช.ได้ แต่ยังไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งเดิม สามารถปฏิบัติงานได้ทั้งสองอย่างหรือไม่

             ผมตอบว่า  เรื่องนี้  อ.ชลดา นักวิชาการตรวจสอบภายในชํานาญการ สํานักงาน กศน. บอกว่า  ตามหลักการคือ เวลาทำงานของสองตำแหน่งนี้จะซ้ำซ้อนหรือเหลื่อมซ้อนกันไม่ได้  โดยเวลาทำงานของครู ศรช. ต้องทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน ๆ ละ 8 ชั่วโมง  แต่ไม่ทราบว่าเวลาทำงานของแพทย์ประจำตำบลหรือตำแหน่งอื่น ๆ ในชุมชน นั้น เป็นอย่างไร  ถ้าเป็นตำแหน่งที่มีเงินเดือน/ค่าตอบแทน แม้เวลาทำงานของเขาไม่แน่นอน  การที่ไม่แน่นอนนี้ก็อาจมีเวลาซ้ำซ้อนกันในบางช่วงเวลา ลักษณะนี้ก็ไม่ได้ ต้องเลือกลาออกจากตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง

         5. เช้าวันที่ 21 พ.ย.57 ผมเผยแพร่เรื่องชื่อภาษาอังกฤษของหน่วยงาน กศน.ต่าง ๆ ในเฟซบุ๊ค ว่า  ควรจะศึกษาไว้ อย่างน้อยก็รู้ภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นอีก 4-5 คำ
             ชื่อ กศน.ตำบล คำเต็มภาษาไทย คือ "ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบล...." หรือ
"ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยแขวง...." ( อ้างอิงตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยแหล่งเรียนรู้ราคาถูก : กศน. ตำบลหรือแขวง พ.ศ. 2553 ข้อ 3   ดูได้ที่  http://www.nfe5110.com/acc/a2945142gorsornortambol.pdf )

             ส่วนชื่อภาษาอังกฤษนั้น สำนักงาน กศน.กำหนดไว้ในหนังสือ นามสงเคราะห์ซึ่ง อ.ปาริชาติ เย็นใจ กลุ่มงานความสัมพันธ์ต่างประเทศ กลุ่มแผนงาน กศน. เป็นผู้ที่กำหนดชื่อทุกหน่วยงาน/สถานศึกษาในสังกัด กศน. เป็นภาษาอังกฤษ ไว้ในหนังสือเล่มนี้ ดูหนังสือเล่มนี้ได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/stk.pdf
             โดยในส่วนของชื่อ กศน.ตำบลหรือแขวง ให้เขียนว่า "..(ชื่อตำบลหรือแขวงภาษาอังกฤษ).. Sub-District Non-formal and Informal Education Centre"
             ในเล่มนี้ ระบุไว้ว่า ชื่อตำบลเป็นภาษาอังกฤษ ให้เขียนตามที่ราชบัณฑิตยสถานกำหนด ซึ่งดูได้ที่
             - ชื่ออำเภอ/ตำบล ที่  https://dl.dropbox.com/u/109014048/Tambol.xls
             - ชื่อจังหวัด/อำเภอ/เขต ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/nameprovincedistrict.pdf

             ตัวอย่าง กศน.ตำบลผักไห่ เขียนว่า “Phak Hai Sub-District Non-formal and Informal Education Centre"

             ( การเขียนชื่อภาษาอังกฤษของหน่วย งาน กศน.อื่น ก็ลักษณะเดียวกัน ดูได้ในหนังสือเล่มนี้  เช่น กศน.อ.นครหลวง เขียนว่า Nakhon Luang District Non-Formal and Informal Education Centre. )

         6. เย็นวันที่ 25 พ.ย.57 ท่าน ผอ. Pravit Thapthiang ถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  มีระเบียบยกเลิกห้องสมุดประชาชนและประกาศให้ห้องสมุดประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษา ของ สป.ศธ. สมัยท่านปลัดชินภัทร ไหม

             ผมตอบว่า   ดูคำสั่งท้ายข้อ 4 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/418779
             เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งคณะกรรมการห้องสมุดฯ ที่ผมเคยตอบในเว็บบอร์ด สพร.กศน. ตั้งแต่ปี 2551 ว่า
             - เดิม เราแต่งตั้งคณะกรรมการห้องสมุดประชาชนฯ โดยอาศัย ระเบียบกรมการศึกษานอกโรงเรียนว่าด้วยห้องสมุดประชาชน พ.ศ. 2535  แต่ต่อมาได้มีประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการจัดส่วนงานของสถานศึกษา ลงวันที่ 10 เม.ย.51 กำหนดให้ห้องสมุดประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษา   และมีคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ 1611/2551 ลงวันที่ 26 พ.ย.51 เรื่องยกเลิกระเบียบกรมการศึกษานอกโรงเรียน กำหนดให้ยกเลิกระเบียบกรมการศึกษานอกโรงเรียนว่าด้วยห้องสมุดประชาชน พ.ศ. 2535 ด้วย
             - เมื่อประกาศยกเลิกระเบียบกรมการศึกษานอกโรงเรียนว่าด้วยห้องสมุดประชาชน พ.ศ. 2535 ไปแล้ว เราจะอาศัยระเบียบดังกล่าวมาแต่งตั้งคณะกรรมการห้องสมุดประชาชน ไม่ได้
             - เมื่อห้องสมุดฯเป็นส่วนหนึ่งของ กศน.อ.  และ กศน. อ. มีกรรมการสถานศึกษาอยู่ กรรมการสถานศึกษาก็ดูแลสถานศึกษาทุกฝ่ายทุกงาน ห้องสมุดเป็นห้องหนึ่งหรืออาคารหลังหนึ่งของสถานศึกษา เช่นเดียวกับห้องสมุดในโรงเรียนต่าง ๆ ห้องสมุดจึงไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการห้องสมุดขึ้นมาต่างหากอีก  มีคณะกรรมการสถานศึกษาชุดเดียว ไม่ต้องมีคณะกรรมการห้องสมุดฯ ไม่ต้องมีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ต้องมีคณะกรรมการการศึกษาต่อเนื่อง ฯลฯ
             - เคยมีการคิดจะออกระเบียบห้องสมุดฯมาใหม่อีก แต่ก็ไม่มีออกมา  เมื่อไม่ออกระเบียบห้องสมุดใหม่ ก็ใช้กรรมการสถานศึกษาชุดเดียวคลุมงานห้องสมุดด้วย

             ต่อมาวันที่ 6 ม.ค.54 ผมได้ถาม สพร.กศน. ในเรื่องนี้อีก ได้คำตอบว่า ตอนนี้ต้องใช้กรรมการสถานศึกษา เพราะไม่มีระเบียบให้แต่งตั้งกรรมการห้องสมุดฯ  แต่กลางเดือนมกราคม 2554 จะมีการประชุมกันว่าควรจะออกระเบียบ หรือออกเป็นหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการจัดตั้งห้องสมุดฯและการแต่งตั้งคณะกรรมการห้องสมุดฯ ขึ้นมาอีกหรือไม่ หรือจะให้ใช้กรรมการสถานศึกษาต่อไป

             ผลการประชุมคือ สำนักงาน กศน. กำหนดเป็น แนวทางการดำเนินงานห้องสมุดของสถานศึกษา กศน.โดยกำหนดในเรื่องนี้ว่า3.การบริหาร ห้องสมุดของสถานศึกษา กศน. อยู่ในความควบคุมดูแลของสถานศึกษา กศน. โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษา กศน.ให้คำปรึกษาแนะนำการดำเนินงาน”  ( ดูหนังสือ แนวทางการดำเนินงานห้องสมุดของสถานศึกษา กศน. ได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/lib.pdf )

         7. วันที่ 26 พ.ย.57 เหนื่อยก้อพัก เค้าไม่รักก้อพอ ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  มี NGO ทำวิจัยเกี่ยวกับการจัดหลักสูตร กศน.สำหรับผู้พลาดโอกาสบนดอย ถามหาเอกสารที่ระบุว่า นศ.นอกระบบระดับขั้นพื้นฐาน ต้องอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์  ถ้าต้องการข้อมูลอ้างอิง หาจากไหน

             ผมตอบว่า
             1)  ตาม พรบ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 มาตรา 6 กำหนดให้ผู้ปกครองส่งเด็ก ( ความหมายของคำว่าเด็ก บอกไว้ในมาตรา 4 คือ อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก ยกเว้นเด็กที่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับแล้ว ) เข้าเรียนในสถานศึกษา ( ความหมายของคำว่าสถานศึกษา บอกไว้ในมาตรา 4 คือ สถานศึกษาที่จัดการศึกษาภาคบังคับ )
             2)  หนังสือสำนักงาน กศน. ที่ ศธ 0210.04/5719 เรื่องการรับนักเรียนในระบบเข้าศึกษาในสถานศึกษา กศน. ลงวันที่ 11 ธ.ค.51 ระบุว่า  กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ เข้าเรียนภาคบังคับในสถานศึกษา กศน. ให้ สนง.เขตพื้นที่การศึกษาทำหนังสือส่งตัวมา และต้องมาใช้เวลาเรียน กศน.ไม่น้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่เรียนอยู่ในโรงเรียนปกติ
              ( แต่ถ้าจบภาคบังคับแล้ว มาสมัครเรียน กศน.ม.ปลาย อายุเท่าไหร่ก็มาสมัครได้ และใช้เวลาเรียนตามระเบียบเรา )   ถ้าเป็นเด็กไร้สัญชาติ/ไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่ต้องไปผ่าน สพฐ.  มาเรียนกับ กศน.ได้ ( สพฐ.ดูแลเฉพาะเด็กตามทะเบียนบ้านในเขตเขา )   ตอนนี้เด็กในวัยเรียนที่ไม่สามารถเรียนในระบบได้ เช่น บุตรแรงงานต่างด้าว มาเข้าเรียน กศน.มากแล้ว  โปรแกรม ITw ก็เปิดเมนูนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนเท่าในระบบ
             คำว่า ต้องมาใช้เวลาเรียน กศน.ไม่น้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่เรียนอยู่ในโรงเรียนปกตินั้น กลุ่มพัฒนา กศน. โดยคุณกิตติพงษ์ บอกผมเมื่อวันที่ 28 พ.ย.57 ว่า ให้ยึดอายุเป็นหลัก ไม่ยึดจำนวนปีที่เรียน โดยหลักสำคัญในการจบ คือ
             ก. ต้องเรียนครบตามโครงสร้างและเงื่อนไขการจบหลักสูตร  และ
             ข. จะจบประถมต้องอายุ 12 ปี จะจบ ม.ต้น ต้องอายุ 15 ปี ไม่ว่าจะมีการเทียบโอนหรือไม่ก็ตาม ส่วนเวลาเรียนจะเป็นกี่ปีไม่สำคัญ อาจน้อยกว่า 3 ปี หรือมากกว่า 6 ปีก็ได้ ให้ยึดอายุเป็นหลัก
              ( โดยถ้าเขายังอายุน้อย เหลือเวลาอีกมากกว่า 6 ปี หรือ 3 ปี จึงจะอายุครบ 12 ปี หรือ 15 ปี ควรจัดทำแผนการสอนตามเวลาที่เหลือ เช่น มาเริ่มเรียน ม.ต้น ตอนอายุ 11 ปี ซึ่งเหลือเวลา 4 ปีจึงจะอายุครบ 15 ปี ก็ควรทำแผนการสอนให้เขาใช้เวลาเรียน 4 ปี เพราะถ้าให้เขาเรียน 2 ปีจบแล้วไม่ออกใบวุฒิให้เขา เขาจะไม่เข้าใจ เป็นปัญหาได้ )







วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

1.ผอ.กศน.จังหวัด/อำเภอ ไม่มีอำนาจย้าย แม้แต่ย้ายครู กศน.ตำบลเปลี่ยนตำบลภายในอำเภอ, 2.ขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารให้ นศ., เทียบระดับฯผ่อนผันได้ไหม, 3.ราคากลางหนังสือเรียน, 4.ลำดับรูปลูกจ้างประจำกับพนักงานราชการใครควรอยู่บนล่าง, 5.ผลกระทบจาก ETV ต่อการทำแผนการสอนของครู กศน., 6.วุฒิปลอม ใครต้องแจ้งความ, ไม่อยากยุ่งยาก ไม่แจ้งได้ไหม ?, 7.การรับนักเรียนที่จบจาก ร.ร.หนองชุมแสงวิทยา



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ดึกวันที่ 7 พ.ย.57 นู๋นุ้ย ไตรมลตรี ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ครู กศน.ตำบล ที่เป็นพนักงานราชการ สามารถทำเรื่องขอย้ายไปลงยังตำบลที่ไม่มีเลขพนักงานราชการในอำเภอเดียวกัน ได้ไหม

             เรื่องนี้  ผมถาม กจ.กศน. เมื่อ 10 พ.ย.57 ได้รับข้อมูลว่า  ไม่ได้  แต่ถ้าตำบลเดิม มีเลขที่ตำแหน่งครู กศน.ตำบล มากกว่า 1 คน ก็ให้ส่งเรื่องไปให้ส่วนกลางเกลี่ยเลขที่ตำแหน่งพร้อมขอย้ายไป ไว้ที่อำเภอที่ ไม่มีเลขที่ตำแหน่งนั้น  ( การย้ายครู กศน.ตำบล แม้จะสลับตำแหน่งที่มีเลขที่ตำแหน่ง และอยู่ในอำเภอเดียวกัน ก็ต้องส่งเรื่องไปส่วนกลาง )

             ทุกตำแหน่งที่มีเลขที่ตำแหน่งกำหนดว่า เลขที่ตำแหน่งนั้นอยู่ที่อำเภอใด การย้ายต้องส่งเรื่องให้ส่วนกลางดำเนินการ เช่นเดียวกับข้าราชการ   ผอ.กศน.จังหวัด/อำเภอ จะสั่งย้ายข้าราชการข้ามอำเภอไม่ได้ แม้จะย้ายภายในจังหวัดเดียวกัน  การย้ายพนักงานราชการก็เช่นกัน

             ปัจจุบันมีบางจังหวัดย้ายเปลี่ยนพื้นที่พนักงานราชการภายในจังหวัด จนเลขที่ตำแหน่งสับสนอลหม่าน บางจังหวัดบรรจุพนักงานราชการใหม่ จากครู ศรช.ที่สอบเป็นพนักงานราชการได้ โดยครู ศรช.คนนั้นอยู่อำเภอใดก็ย้ายตำแหน่งพนักงานราชการไปไว้อำเภอนั้นเลย ครู ศรช.จะได้ไม่ต้องย้ายพื้นที่  บางแห่งย้ายสองทอดแล้ว สับสนจนปัจจุบันไม่สามารถบอกได้แล้วว่าพนักงานราชการคนนั้นเลขที่ตำแหน่งใด และเลขที่ตำแหน่งนั้นเป็นเลขที่ตำแหน่งของอำเภอใด

             การย้ายพนักงานราชการ ( ก.พ.ร.ไม่กำหนดระเบียบให้พนักงานราชการย้ายได้ การย้ายพนักงานราชการนี้เป็นเพียงการมอบหมายให้พนักงานราชการปฏิบัติงานนอกพื้นที่กำหนดในสัญญา )  ดูขั้นตอนวิธีการย้ายได้ในข้อ 4 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/463102  ซึ่งไม่มีการกำหนดว่าพนักงานราชการจะต้องมีอายุงานเท่าไร อายุงานเท่าไรก็ยื่นขอย้ายได้

             ถ้าเป็นพนักงานราชการตำแหน่งครู กศน.ตำบล จะย้ายยากกว่าตำแหน่งอื่น เพราะ เลขที่ตำแหน่งของครู กศน.ตำบล ระบุลึกถึงว่าเป็นเลขที่ตำแหน่งของตำบลใด
             การย้ายพนักงานราชการทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะย้ายอยู่ภายในจังหวัดเดียวกัน หรือข้ามจังหวัด ( ถ้าเป็นครู กศน.ตำบล รวมการย้ายอยู่ภายในอำเภอเดียวกันด้วย ) ก็ต้องส่งเรื่องไปยังส่วนกลาง ด้วยขั้นตอนวิธีการเดียวกัน

              ( ตำแหน่ง ครู กศน.ตำบลกับ หัวหน้า กศน.ตำบลแตกต่างกัน ถ้าเป็นการแต่งตั้งให้ใครเป็น หัวหน้า กศน.ตำบลเป็นอำนาจของ ผอ.กศน.จังหวัด ซึ่งจะแต่งตั้งให้ตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ครู กศน.ตำบล มาเป็นหัวหน้า กศน.ตำบล ก็ได้ ดูเรื่องการแต่งตั้งหัวหน้า กศน.ตำบลได้ในข้อ 4 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/01/n-net.html )

             กจ.กศน. บอกว่า ถ้าครู กศน.ตำบล ขอย้ายจากตำบลที่มีครู กศน.ตำบลเพียงคนเดียว ไปยังตำบลที่มีครู กศน.ตำบลอยู่แล้ว ถึงจะส่งเรื่องไปส่วนกลาง ก็ไม่ให้ย้าย เพราะจะพยายามเกลี่ยให้ทุกตำบลมีครู กศน.ตำบล  ( ปัจจุบันมีหลายตำบลที่ยังไม่มีครู กศน.ตำบลเลย ในขณะที่หลายตำบลมีครู กศน.ตำบลมากกว่า 1 คน )

         2. วันเสาร์ที่ 8 พ.ย.57 คุณนวพร คุณีพงษ์ ครูอาสาฯ กศน.อ.พระนครศรีอยุธยา โทร.มาถามผมว่า ผู้เข้ารับการเทียบระดับการศึกษา ขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารได้ไหม

             ผมตอบว่า   ตามกฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ฉบับที่ 73 ( พ.ศ.2536 ) กำหนดบุคคลผู้จะได้รับการผ่อนผันฯ ในข้อ 2 (ง) ว่านักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ... ให้ได้รับการผ่อนผันจนสำเร็จระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งนี้ไม่เกินอายุ 22 ปีบริบูรณ์
             ผู้เข้ารับการเทียบระดับการศึกษา ไม่ใช่ นักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจึงขอรับการผ่อนผันฯไม่ได้

             อนึ่ง ขอประชาสัมพันธ์ ให้สถานศึกษา กศน. สำรวจนักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐาน ระดับ ม.ปลาย อายุ 20-22 ปี ( ถ้าเกิดในปี พ.ศ.2535-2537 ยื่นขอผ่อนผันต่อสถานศึกษาในช่วงปลายปี พ.ศ.2557 ) ที่ยังไม่เคยเข้ารับการ "ตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ" และประสงค์จะขอผ่อนผันการตรวจเลือก ให้ทำเรื่องขอผ่อนผัน โดยให้ กศน.อำเภอ/เขต รวบรวมส่ง สนง.กศน.จังหวัด/กทม ภายในเดือนธันวาคม และ สนง.กศน.จังหวัด/กทม. ส่งผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของ นศ.รายนั้น ๆ ภายในเดือนกุมภาพันธ์
             ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการมอบอำนาจให้ ผอ.สนง.กศน.จ./กทม. เป็นผู้ดำเนินการ ตามคำสั่งที่ 270/2551 ลงวันที่ 5 มี.ค.2551 ข้อ 10   กศน.อำเภอ/เขต จึงต้องรวบรวมเรื่องส่งไปที่ สนง.กศน.จังหวัด/กทม.

             เอกสารที่ต้องใช้ คือ
             1)  ให้นักศึกษาเขียนคำร้องขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร ( ดูตัวอย่างแบบคำร้องได้ที่
https://www.dropbox.com/s/grmm324qgywpmjr/requestSoldier.doc?dl=1 )
             2)  ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9) พร้อมสำเนาหน้า-หลัง จำนวน 2 ฉบับ ยื่นพร้อมให้ตรวจสอบกับฉบับจริง
             3)  หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35) พร้อมสำเนา หน้า-หลัง จำนวน 2 ฉบับ
             4)  สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 2 ฉบับ
             5)  หลักฐานสำคัญกรณีเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี) พร้อมสำเนา จำนวน 2 ฉบับ
             6)  หนังสือรับรองสถานภาพนักศึกษา ฉบับจริง ( กศน.อำเภอเป็นผู้ออกให้ โดยนักศึกษาส่งรูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป )

         3. คืนวันเดียวกัน ( เสาร์ที่ 8 พ.ย.) คนเลี้ยงหมู สุกรไทย ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  หาราคากลางหนังสือเรียน ปีงบ 58 ที่กำหนดโดยสำนัก กศน.ไม่เจอ ใครรู้บอกมั่ง มีความรูสึกว่าเมื่อปีก่อนๆ มีนะ
             ผมตอบว่า   ราคากลาง ( ราคาอ้างอิง ) วิชาบังคับ ส่วนกลางเพิ่งกำหนดเมื่อวันที่
9 ก.ค.57 นี้เอง ยังไม่มีการปรับใหม่ และไม่จำเป็นต้องปรับราคาใหม่ทุกปี ถ้ายังไม่มีฉบับใหม่ก็ใช้ฉบับเก่าไปเรื่อย ๆ
             ดูที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/bookprice.PDF


         4. เช้าวันที่ 11 พ.ย.57  ผมได้รับคำถามแปลกมาก ว่า  จะทำป้ายบุคลากร ติดรูปบุคลากรทุกคน  คนบนสุดคือ ผอ.  ต่ำลงมาคือ ข้าราชการ ( ครูผู้ช่วย )  ถามว่า ถัดลงมาจากข้าราชการ ควรเป็นลูกจ้างประจำ ( มี 1 คน ตำแหน่งพนักงานบริการ ) ก่อน หรือว่า ครูอาสา และครู กศน.ตำบล ก่อนลูกจ้างประจำ ?!

             คำถามนี้ บางคนอาจจะบอกว่า ไร้สาระ ทำให้สะเทือนใจกันเปล่า ๆ แต่บางคนอาจจะบอกว่า ก็น่าคิด
             ที่จริง ลูกจ้างประจำ มั่นคงกว่าพนักงานราชการ เพราะมีบำเหน็จบำนาญ เลื่อนขั้นปีละ 2 ครั้ง และไม่ต้องต่อสัญญาทุก 4 ปี    ส่วนพนักงานราชการก็มีศักดิ์ศรีตรงที่ ถ้าเป็นกลุ่มบริหารทั่วไปจะมีวุฒิ ป.ตรีขึ้นไป และตำแหน่งชื่อว่า ครู

             ผมตอบว่า   เรื่องทำป้ายบุคลากร ไม่มีข้อกำหนดในเรื่องนี้
            
- อาจดูที่อาวุโส ถ้าลูกจ้างประจำคนนั้นอายุมากกว่าพนักงานราชการ ก็ติดรูปเขาไว้ข้างบน แต่ถ้ามีพนักงานราชการอายุมากกว่าลูกจ้างประจำคนนั้น ก็ติดรูปลูกจ้างประจำไว้ข้างล่าง  หรือ
            
- ติดรูปตามสายงาน-โครงสร้างการบริหาร  ใครเป็นหัวหน้าก็อยู่ข้างบน ส่วนคนอื่นในกลุ่ม/ฝ่ายนั้น ก็รวมกันอยู่ข้างล่างในสายงานนั้น ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไร

         5. วันที่ 12 พ.ย.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องผลกระทบจาก ETV ต่อการทำแผนการสอนของครู กศน. ( สรุปเรียบเรียงจากเอกสารต่างๆที่ลงในเว็บไซต์ สนง.กศน. ทั้งที่มีและไม่มีหนังสือนำส่ง )  ว่า

             1)  ถ้าแบ่งเนื้อหาแต่ละวิชาออกเป็น 3 ส่วนคือ
                  - ง่าย ( เรียนด้วยตนเอง )
                  - ยากปากลาง ( เรียนกับครู กศน.ประจำตำบล/ครูประจำกลุ่ม )
                  - ยากมาก ( เรียนกับครูสอนเสริม/ครู กศน.ประจำวิชา )
                  เนื้อหาที่นำไปสอนทาง ETV คือเนื้อหาสำหรับเรียนกับครูทั้งหมด ( ยากปานกลาง ) แต่เลือกเฉพาะวิชายาก 3 วิชาในระดับ ม.ปลาย ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ  ส่วนเนื้อหาที่ไม่มีสอนทาง ETV ของ 3 วิชานี้ คือเนื้อหาที่ง่าย กับยากมาก

             2)  ครู กศน.ต้องทำแผนการสอนระดับ ม.ปลาย ใน 3 วิชานี้ ทุกสัปดาห์ ( ถ้าวิชาใด กศน.ตำบลนั้นไม่มี นศ.ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนนี้ ก็ไม่ต้องทำแผนวิชานั้น ไม่ต้องดู ETV ในช่วงเวลานั้น ใช้ช่วงเวลานั้นเรียนเรื่องอื่น )  วิชาละประมาณ 1 ชั่วโมง ให้สอดคล้องกับ ETV คือ เป็นแผนการสอนรายวิชา ไม่ใช่แผนการสอนแบบบูรณาการ และไม่ใช่สอนด้วยวิธีอื่น แต่เป็นการสอนด้วย วิธีสอนแบบใช้สื่อโทรทัศน์ซึ่งมีขั้นตอนการสอนใหญ่ ๆ 3 ขั้นตอน คือ
                  ขั้นที่ 1  นำเข้าสู่บทเรียน ดึงความสนใจ เตรียมผู้เรียนก่อนการรับชมสื่อโทรทัศน์ ( 7-15 นาที )
                  ขั้นที่ 2  ชมสื่อโทรทัศน์ ( 30 นาที )
                  ขั้นที่ 3  อธิบายเพิ่มในส่วนที่สังเกตเห็นว่านักศึกษาไม่เข้าใจ ทำกิจกรรม และวัดผลประเมินผลหลังการรับชมสื่อโทรทัศน์ ( 7-15 นาที )
                  ดูรายละเอียดแต่ละขั้นตอนที่ 
http://www.nfe.go.th/onie2014/index.php?option=com_attachments&task=download&id=293 

             3)  การที่ครู กศน.จะทำแผนการสอนโดยวิธีสอนแบบใช้สื่อโทรทัศน์ ล่วงหน้าตลอดภาคเรียน 18 ครั้ง นี้ได้ นั้น ETV จะต้องแจ้งล่วงหน้าว่าทั้ง 18 ตอน จะสอนเรื่องใดในแต่ละตอน ซึ่ง ETV แจ้งแล้ว ดูได้ที่
                  https://dl.dropboxusercontent.com/u/1090…/Compressrd/ETV.rar
             โดยมีกำหนดการสอนในทุกสัปดาห์ ดังนี้
             1) วิทยาศาสตร์
                  - วันอาทิตย์ 09:45-10:15 น.
                  - วันพุธ 12:05-12:30 น. ( ออกอากาศซ้ำ )
             2) ภาษาอังกฤษ
                  - วันอาทิตย์ 10:30-11:00 น.
                  - วันพฤหัสบดี 12:05-12:30 น. ( ออกอากาศซ้ำ )
             3) คณิตศาสตร์
                  - วันอาทิตย์ 11:15-11:45 น.
                  - วันศุกร์ 12:05-12:30น. ( ออกอากาศซ้ำ )

             ข้อสังเกต :  กศน.ตำบลจำนวนไม่น้อย มีครูเพียงคนเดียว ถ้ามีผู้ลงทะเบียนเรียนทั้ง 3 วิชานี้ ต้องสอนเฉพาะ 3 วิชานี้ในระดับ ม.ปลาย สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง จะเหลือเวลาสำหรับสอนเนื้อหาอื่นในวิชานี้+วิชาอื่น+ระดับอื่น อีกเพียงสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง แต่ เนื้อหาอื่น+วิชาอื่น+ระดับอื่น มีอีกมากมาย จะบริหารจัดการอย่างไร

         6. ดึกวันที่ 11 พ.ย.57 ท่าน ผอ. นายจำรัส สุขประเสริฐ ลงเรื่องวุฒิปลอมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ บอกว่า  ต้องระมัดระวัง-ตรวจสอบทุกครั้ง-ให้สถานศึกษานั้นๆแจ้งความ

             ผมสนใจเรื่องนี้ จึงถามวิธีการจากท่าน ผอ.เพิ่มเติม รวมทั้งถามกลุ่มวินัยและนิติการ กจ.กศน.ในวันที่ 13 พ.ย. ด้วย  ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

             สมมุติว่ามีผู้นำใบวุฒิที่ระบุว่าจบ ม.ต้น จาก กศน.อ.วังใหญ่ ไปใช้สมัครเรียน ม.ปลาย ที่ กศน.อ.บางหุบ
             แล้ว กศน.อ.บางหุบ ส่งใบวุฒินั้นไปให้ กศน.อ.วังใหญ่ตรวจสอบ
             กศน.อ.วังใหญ่ตรวจสอบพบว่าเป็นวุฒิปลอม จึงตอบกลับไปยัง กศน.บางหุบว่า ใบวุฒินั้นไม่ได้ออกโดย กศน.อ.วังใหญ่

             1)  ใครจะเป็นผู้แจ้งความ ระหว่าง กศน.อ.วังใหญ่ กับ กศน.อ.บางหุบ
             2)  ผอ.จะมอบหมายให้นายทะเบียนหรือคนอื่น เป็นผู้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจได้ไหม

             3)  ถ้าไม่อยากยุ่งยาก ไม่แจ้งได้ไหม

             กลุ่มวินัยและนิติกรตอบว่า
             1)  ผู้มีสิทธิแจ้งความคือ ผู้เสียหาย
                  ผู้เสียหายคือ สถานศึกษาที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ออกใบวุฒิปลอมนั้น ( ถูกปลอมแปลงเอกสาร )
                  ฉะนั้น ผู้ต้องแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดตามกฏหมายอาญา ข้อหาปลอมแปลงเอกสาร คือ กศน.อ.วังใหญ่ หากไม่ดำเนินการแจ้งความและรายงานให้สำนักงาน กศน.ทราบโดยด่วน ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความผิด
                  ส่วน กศน.อ.บางหุบ
จะแจ้งความดำเนินคดี ข้อหาใช้ข้อความเท็จ ( ยังไม่จบแต่มาแจ้งเท็จว่าเรียนจบมาแล้ว ) หรือไม่ อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา
อาจแค่ไม่รับสมัครคนนั้นเข้าเป็น นศ.ม.ปลาย เท่านั้น ( ถ้าเป็น มสธ. เขาจะแจ้งความดำเนินคดีทุกราย )

             2)  ถ้าเป็นคดีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คดีอาญาแผ่นดิน สถานศึกษาจะแจ้งความเองไม่ได้ ต้องเสนอเรื่องผ่านจังหวัดให้ปลัดกระทรวงฯมอบอำนาจให้ ผอ.สถานศึกษาไปแจ้งความ   แต่ถ้าเป็นคดีอาญาแผ่นดิน เช่นการปลอมแปลงเอกสารของทางราชการนี้ ให้สถานศึกษาไปแจ้งความเองเลย แต่เนื่องจากโดยทั่วไปการแจ้งความเป็นอำนาจของปลัดกระทรวง ถ้า ผอ.มอบอำนาจให้คนอื่นไปแจ้งความ จะเป็นการมอบต่อช่วง ฉะนั้น ให้ ผอ.ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจด้วยตนเอง

             3)  ถ้าไม่แจ้งความ จะเป็นความผิดฐาน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
                  นอกจากแจ้งความแล้ว กศน.อ.วังใหญ่ ยังต้องทำประกาศว่า ใบวุฒิฉบับนั้นไม่ได้ออกโดย กศน.อ.วังใหญ่ อีกด้วย

         7. มีผู้ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ 2 หรือ 3 ครั้งแล้ว ตอนดึกวันที่ 13 พ.ย.57 ก็มีอีก “Wichan Intarapalad” เขียนว่า สรุปแล้ว วุฒิปลอมหรือไม่อย่างไร จะรับสมัครผู้ที่มีวุฒิมาจาก รร.หนองชุมแสงหรือไม่อย่างไร กระทรวง ศธ. รับรองหรือไม่ ขอทราบอย่างชัดเจน

             ผมเสนอความเห็น ว่า
             ใบวุฒิเขาเป็นใบวุฒิของโรงเรียนหนองชุมแสงวิทยา ใบเดียวกับที่ให้นักเรียนปกติของเขาเลย โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนรัฐบาลสังกัด สพฐ. ปกติถ้าเราส่งกลับไปตรวจสอบที่โรงเรียนแล้วเขาตอบกลับมาว่าถูกต้อง ก็รับเข้าเรียน
             แต่ มีบางมหาวิทยาลัยเขาเห็นว่าใช้เวลาเรียนสั้นผิดปกติ เขาไม่รับสมัคร  ( ระเบียบของประเทศไทยตอนนี้ ยังไม่มีแบบที่ใช้เวลาเรียนต่ำกว่า 1 ภาคเรียน )
             ถ้าเราจะไม่รับในตอนนี้ ก็ต้องมีเหตุผล เช่นใช้เหตุผลเดียวกับมหาวิทยาลัยบางแห่งที่เขาไม่รับ ว่า ประเทศไทยยังไม่มีระเบียบให้ใช้เวลาเรียนต่ำกว่า 1 ภาคเรียน ( ดูจากวันเข้าเรียน กับวันอนุมัติจบหลักสูตร )  ไม่รับก็ดีเหมือนกัน จะได้เป็นการเตือน/ติงคนที่คิดจะไปเรียนแบบนี้อีก ให้เขาคิดว่าจบมาก็อาจเรียนต่อไม่ได้ การไม่รับอาจเป็นการช่วยจรรโลงสังคม
             ( แต่ ระยะหลัง ถ้าผู้เรียนคนใดต้องการ เขาก็ออกใบวุฒิแบบมีคะแนน
5
ภาคเรียนให้ได้ ถ้าใบวุฒิเป็นแบบถูกต้อง เราก็คงไม่มีเหตุผลที่จะไม่รับ )

วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

1.การเบิกจ่ายเงินพัฒนาคุณภาพผู้เรียน, 2.พนักงานราชการติด 2 หรือ 3 ขีด ?, 3.ใบ รบ.หมด ยืมจากอำเภออื่น ?, 4.ค่าออกใบ รบ.ใบที่สอง, 5.ครูอาสาฯลาออกจะเรียกบรรจุตำแหน่งครูอาสาฯได้ไหม, 6.นศ.ไม่มีนามสกุล, 7.การโอนเปลี่ยนตำแหน่งใน กศน. และการโอนจากต่างสังกัด มา กศน.



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 31 ต.ค.57 บทเรียนชีวิต ที่แลกมาด้วยอนาคต กศน.ดอยสะเก็ด เขียนในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  อยากได้ระเบียบเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

             ผมตอบว่า   ไม่มีระเบียบโดยเฉพาะ โดยท้ายข้อ 4 ในกรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน กำหนดว่า "ให้การเบิกจ่ายเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ภายในวงเงินรายหัวผู้เรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมในภาคเรียนนั้นๆ โดยยึดหลักประหยัด ถูกต้อง โปร่งใส พร้อมรับการตรวจสอบ และไม่ให้สถานศึกษาเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้เรียนอีก" ลองดูในคำตอบเก่า ๆ เช่นใน
             - ข้อ 3 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/491341
             - ข้อ 7 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/02/mba.html
             - ข้อ 3 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/536565
             - ข้อ 7 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/517947
             - ข้อ 7 (2) ที่ https://www.gotoknow.org/posts/539646

             บทเรียนชีวิต ที่แลกมาด้วยอนาคตถามต่อว่า ถ้าจัดค่ายพัฒนาผู้เรียน เชิญวิทยากรภายนอกมาบรรยายสามาถเบิกจ่ายต่าตอบแทนสูงสุดกี่บาทต่อชั่วโมง..ใช้ระเบียบการเบิกจ่ายการอบรมได้หรือไม่
             ผมตอบว่า  เงินอุดหนุนฯใช้ระเบียบเบิกจ่ายการอบรมไม่ได้ ให้จ่ายเป็นค่าตอบแทนวิทยากรสอนเสริม


         2. คืนวันที่ 3 พ.ย.57 Busatak AT Love ครู กศน.ตำบล อ.ละอุ่น ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  เครื่องหมายแต่งชุดกากีพนักงานราชการ ตำแหน่งครู กศน.ตำบล เขาใช้อินทนู 3 ขีด หรือว่า 2 ขีดคะ เขาถกเถียงกัน สรุปที่ถูกต้อง ต้องใช้กี่ขีด ถ้ามีหนังสือประกอบคำยืนยันได้ จักขอบคุณยิ่ง

             ผมตอบว่า   ตามระเบียบน่ะ 2 ขีด แต่ท่านอดีตเลขาฯประเสริฐ ท่านจะให้เปลี่ยนเป็น 3 ขีด และท่านก็พูดให้ได้ยินกันทั่วแล้ว คนก็ติดกันไปไม่น้อยแล้ว  แต่พอเสนอแก้ระเบียบไป ท่านปลัดกระทรวงไม่ยอมเซ็น เปลี่ยนปลัดฯแล้ว ปลัดกระทรวงคนใหม่ก็ไม่ยอมเซ็นอีก  แต่ท่านเลขาฯประเสริฐท่านพูดไปแล้วจึงต้องพยายามเสนออีก ท่านปลัดฯเลยให้ประชุมหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด สป.ศธ. ปรากฏว่าผลการประชุมเห็นด้วยที่จะให้เปลี่ยนระเบียบ  ท่านปลัดฯให้ทำหนังสือหารือไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีว่าพนักงานราชการใส่ 3 ขีดได้ไหม สำนักนายกรัฐมนตรีตอบกลับมาว่า พนักงานราชการจะใช้อินทรธนูคล้ายอินทรธนูของข้าราชการ/ลูกจ้างประจำไม่ได้ ( เครื่องหมายของเครื่องแบบเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละประเภท ต้องไม่เหมือนหรือคล้ายกัน )
             เราเลยต้องหยุด เพราะถ้าเสนอต่อไป แทนที่จะได้ 3 ขีด แม้แต่ 2 ขีดก็อาจจะต้องถอด
             ปัจจุบันระเบียบจึงยังเป็น 2 ขีด ไม่ได้ปรับเปลี่ยน
             ดูระเบียบได้ที่  https://db.tt/N35fjc6h   ซึ่งมีข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น
             เสื้อคอพับสีกากี แขนยาวหรือแขนสั้น มีอินทรธนูอ่อน

             (1) = ประดับแพรแถบเหรียญที่ระลึก หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหนือกระเป๋าซ้าย   ขณะนี้ยังไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้ประดับแพรแถบเหรียญที่ระลึก (ไม่มีมงกุฏ ไม่มีช้าง)

             (2) = ป้ายชื่อและตำแหน่ง ป้ายชื่อ ขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 7.5 เซนติเมตร ตัวหนังสือสีขาว พื้นสีดำ ระบุชื่อตัว ชื่อสกุล และตำแหน่ง ติดเหนือกระเป๋าด้านขวา

             (3) = เครื่องหมายแสดงสังกัด ติดที่ปกคอเสื้อทั้งสองข้าง เป็นโลหะโปร่งสีทองรูปเสมาธรรมจักร

             (4) = เข็มขัดทำด้วยหนังหรือหนังเทียมหรือด้ายถัก สีดำ

                    หัวเข็มขัด ชาย กว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 5 เซนติเมตร, หญิง กว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร ทำด้วยโลหะสีทองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทางนอน มีครุฑอยู่กึ่งกลางหัวเข็มขัด

             (5) = กางเกง/กระโปรง สีกากี

             (6) = ปีกโดดร่ม ติดเฉพาะผู้ที่เคยโดดหอ/โดดร่ม (ได้ประกาศนียบัตร)

             รองเท้าและถุงเท้า
             - พนักงานราชการชาย ให้ใช้รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อ ทำด้วยหนังหรือหนังเทียม สีดำ แบบเรียบ ไม่มีลวดลายถุงเท้าสีดำ

             - พนักงานราชการหญิง ให้ใช้รองเท้าหุ้มส้นหรือรัดข้อ ทำด้วยหนังหรือหนังเทียม สีดำ ไม่มีลวดลาย ส้นสูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร





กระทรวงสาธารณสุข แต่งเหมือนกระทรวงเกษตรฯ  ในรูปด้านขวาคือ "พกส." ( พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ) ซึ่งจะมีตรา พกส.อยู่เหนือกระเป๋าด้านซ้าย





             ( สพฐ.ออกแบบอินทรธนูและเครื่องแบบปกติ สำหรับพนักงานราชการของ สพฐ. เองแล้ว แจ้งเมื่อ 11 ธ.ค.57 นี้เอง   ดูประกาศ สพฐ.ได้ที่  http://202.143.174.11/personnel/news2011/upfiles/1491.pdf  หรือที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/formPRGspt.pdf  )








         3. วันเดียวกัน ( 3 พ.ย.) Rommanee Thingpaktham ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  กรณีใบระเบียนแสดงผลการเรียนฯหลักสูตร กศน.2551 หมด ยังไม่ได้ซื้อ และต้องใช้เร่งด่วน สามารถยืมจากอำเภออื่นได้มั้ย

             ผมตอบว่า   ใบระเบียนฯนี้ จะต้องทำทะเบียน/บัญชีคุม ว่า ใบ รบ.เลขที่ใด อำเภอใดนำไปใช้ ( ภายหน้าถ้าใบ รบ.ฉบับนั้นมีปัญหา จะได้รู้ว่าอำเภอใดต้องรับผิดชอบ )  โดยต้องทำทะเบียนบัญชีคุมไว้ทั้งจังหวัด และอำเภอ   การยืมและคืน คงนำใบ รบ. เลขที่เดิมมาคืนไม่ได้  แต่ถ้าจำเป็นก็สามารถยืม ( คืนด้วยใบ รบ.เลขที่ใหม่เมื่อซื้อได้แล้ว ) หรือขอกันได้ ถ้าทั้งจังหวัด และอำเภอทั้งสอง รวมเป็น 3 แห่ง ยินดีที่จะบันทึกในทะเบียนบัญชีควบคุมการเบิกจ่ายให้ชัดเจน ว่าเลขที่ใด อำเภอใดนำไปใช้ โดยติดต่อขอหรือแลกเปลี่ยนด้วยหนังสือราชการผ่านจังหวัดและมีลายมือชื่อรับใบ รบ.เป็นหลักฐาน  ดูคำตอบเก่า ๆ เช่นในข้อ 6 (1) ที่ https://www.gotoknow.org/posts/534315

         4. วันที่ 4 พ.ย.57 TheJeab Ungkanawin ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  กรณีนักศึกษาได้รับระเบียนแสดงผลการเรียนไปแล้ว มาขอรับใหม่ ต้องชำระค่าธรรมเนียมการออกใบแทน/สำเนาหรือไม่

             ผมตอบว่า   ต้องชำระ 20 บาท ( อ่านคำตอบเก่าในข้อ 4 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/534315 )

         5. เช้าวันที่ 6 พ.ย.57 Yupa Kitti ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  ครูอาสาลาออก ตำแหน่งว่างจะเรียกบรรจุตำแหน่งครูอาสาได้ไหม

             ผมตอบไปตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.57  แต่เพื่อความมั่นใจ วันที่ 10 พ.ย.ผมถาม กจ.กศน.อีกครั้ง  ได้รับข้อมูลตรงกับที่ผมตอบไปแล้ว  ว่า   ได้  อยู่ที่จังหวัดกับอำเภอจะพิจารณา
             ถ้าจะบรรจุตำแหน่งครูอาสาฯตามเดิมที่เดิม จังหวัดดำเนินการเรียกบรรจุจากผู้สอบขึ้นบัญชีครูอาสาฯไว้ได้เลย ถ้าไม่มีผู้สอบขึ้นบัญชีครูอาสาฯอยู่ ก็รับสมัครใหม่ได้เลย
             ถ้าจะเปลี่ยนเป็นตำแหน่งอื่นคือ ครู กศน.ตำบล นักจัดการงานทั่วไป นักวิชาการศึกษา  หรือย้ายตำแหน่งนี้ไปไว้อำเภออื่น ต้องขอความเห็นชอบจากส่วนกลางก่อน จึงจะประกาศรับสมัครตำแหน่งใหม่ได้

         6. วันเดียวกัน ( 6 พ.ย.) วรวรรณ จิตรนิยม กศน.อ.สามร้อยยอด ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  นศ.ต่างด้าว มี บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีเลขประจำตัว 13 หลัก และมี แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษแต่ในเอกสารทั้งสองฉบับนี้ เขาไม่มีนามสกุล เราจะพิมพ์ว่าอย่างไรในโปรแกรม ITw

             เรื่องนี้  กลุ่มแผนงาน และกลุ่มพัฒนา กศน. ตอบว่า ถ้าเป็นชื่อบิดามารดา ให้พิมพ์เหมือนในเอกสารหลักฐาน เช่น ถ้าเขามีแต่ชื่อ เราก็พิมพ์แต่ชื่อ ถ้าเขาว่างไว้ เราก็ว่างไว้ตามเขา ถ้าเขาพิมพ์ว่า ไม่ปรากฏเราก็พิมพ์ว่า ไม่ปรากฏลงในช่องชื่อ ถ้าเขาพิมพ์ว่า "ไม่ระบุชื่อบิดา" เราก็พิมพ์ว่า "ไมะระบุชื่อบิดา" ลงในช่องชื่อบิดา ถ้าเขาพิมพ์ว่า ไม่ปรากฏชื่อบิดาเราก็พิมพ์ว่าไม่ปรากฏชื่อบิดาลงในช่องชื่อบิดาตามเขา
             ส่วนถ้าเป็น ชื่อสกุลของนักศึกษา ก็ลักษณะเดียวกัน แต่ในกรณีที่ชื่อสกุลของนักศึกษาในเอกสารหลักฐานเขาเว้นว่างไว้ เราจะเว้นว่างไม่ได้ ( โปรแกรม ITw ไม่ยอมให้เว้นว่างในส่วนของชื่อสกุลนักศึกษา ) ให้พิมพ์ขีด ลงไป

       7. วันที่ 7 พ.ย.57 ผมเผยแพร่เรื่อง การโอนเปลี่ยนตำแหน่งใน กศน. และการโอนจากต่างสังกัด มา กศน. ( ข้าราชการ ) ในเฟซบุ๊ค ว่า

         สำนักงาน กศน. ส่งหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติ เกี่ยวกับ การโอนเปลี่ยนตำแหน่งใน กศน. และการโอนจากต่างสังกัด มา กศน. มาเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกัน  โดยมีแนวปฏิบัติต่าง ๆ เช่น
         - ให้ สนง.กศน.ประกาศจำนวนตำแหน่งว่างของ หน่วยงาน/สถานศึกษา ที่มีความประสงค์จะรับโอน ( อาจจะประกาศเป็นคราว ๆ ไป หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้งก็ได้ )
         - รับโอนในตำแหน่งใด จะต้องไม่มีบัญชีรอการบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งที่จะขอโอนค้างอยู่
         - หน่วยงาน/สถานศึกษาที่ได้รับแบบคำร้องขอโอน จะต้องเร่งส่งแบบคำขอโอนไปยัง สนง.กศน.โดยไม่ชักช้า
         ฯลฯ

         ใครสนใจรายละเอียดหลักเกณฑ์แนวปฏิบัตินี้ ดูได้ที่
         - หนังสือแจ้ง/หลักเกณฑ์แนวปฏิบัติ/แบบคำร้องโอนย้ายจากส่วนราชการอื่น
            https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/…/OOn-Move.pdf

         - หลักเกณฑ์แนวปฏิบัติในลักษณะตาราง
            https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/…/transfer.pdf