วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2557

ผลของเทียบระดับฯไม่มีเกรด, ค่าคุมสอบ, การให้ ขรก.ครูสอนสัปดาห์ละ 6 ชม., จ่ายครูที่ปรึกษาเท่าไร, กพช.200 ชม. ขึ้นทะเบียนเรียน, เครื่องราชฯสายสะพาย, เตรียมตัวสอบสัมภาษณ์



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 12 มี.ค.57 คุณยุทธนา ถาวร ครู กศน.ตำบล ที่ กศน.อ.บ้านม่วง ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  การเทียบระดับฯ ให้ผลการเรียนเป็น ผ่าน หรือไม่ผ่าน  แล้วกรณีไปศึกษาต่อหรือสมัครสอบแข่งขันสถานศึกษาหรือที่ต่างๆ ที่เขากำหนดผลการเรียนเฉลี่ยไม่น้อยกว่าหรือตั้งแต่...ขึ้นไป แล้วจะมีผลเสียต่อนักศึกษาเทียบระดับฯที่จบจากเราไปไหม
             ผมตอบว่า   ที่ไหนเขากำหนดผลการเรียนเฉลี่ย ก็เรียนต่อที่นั่นไม่ได้   อ่านข้อมูลในข้อ 8 (1) ที่ http://www.gotoknow.org/posts/531744   ( ควรบอกข้อมูลนี้ให้ผู้มาสมัครเทียบระดับฯรู้ตั้งแต่วันที่เขาสมัคร )

         2. วันเดียวกัน ( 12 มี.ค.) คุณสนธยา กศน.อ.ท่าตะเกียบ ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  การเบิกค่าตอบแทนคณะกรรมการดำเนินการสอบ เอกสารเบิกเงินที่เป็นใบขวาง ข้างบนหัวกระดาษใช้คำว่า "หลักฐานการจ่ายเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ" ถูกรึเปล่า รึว่าใช้เป็นอย่างอื่น  ส่วนค่าตอบแทนกรรมการคุมสอบ ตามระเบียบ ถ้าเกิน 6 ชั่วโมง เบิก 600 ถ้าครึ่งวัน 3 ชั่วโมง เบิก 300 ถูกต้องไหม  ผู้บริหารให้หาข้อมูล ใครมีระเบียบกรุณาโพสต์ลงด้วย
             ผมร่วมตอบว่า
             1)  ใช้คำว่า "ค่าตอบแทนกรรมการ เจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบ" ไม่ใช่ "ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ"
             2)  ดูระเบียบเบิกค่าดำเนินการสอบในข้อ 1 ที่  http://www.gotoknow.org/posts/481090

         3. วันที่ 13 มี.ค.57 ผอ.ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง ถามผมทางอีเมล์ ว่า  การสอนของข้าราชการครู ที่เลขา กศน.เคยสั่งว่า ให้สอนเสริมสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง อยากทราบว่ามีหน้งสือสั่งการหรือไม่
             ผมตอบว่า   อยู่ในข้อ 2.6 ของแนวนโยบายฯแนบหนังสือสั่งการ ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/Practice10Dec57.pdf  ( และอาจจะอยู่ในหนังสือฉบับอื่นด้วย )

         4. คืนวันเดียวกัน ( 13 มี.ค.) คุณ “Phantharabkhwa Joyyee” ถามผ่านเฟซบุ๊คผม ว่า  ค่าตอบแทนครูที่ปรึกษา ม.6 8 เดือน จะจ่ายให้เฉพาะคนที่มาเข้าสอบใช่หรือเปล่า แล้วอย่างนี้รับผิดชอบนักศึกษา 25 คน สอบรอบ 2 มาสอบ 13 คน ก็ได้ค่าตอบแทนแค่ 13 คนเหรอ
             ผมตอบว่า   จ่ายให้ตามจำนวนผู้สมัครเรียนทุกคน ไม่ว่าจะจบหรือไม่จบ  ถ้าอำเภอใดจ่ายตามจำนวนผู้มาสอบก็แสดงว่าอำเภอนั้นดัดแปลงเองเฉพาะอำเภอนั้น
             ปกติ ผู้สมัครต้องจ่ายเงิน 1,500 หรือ 750 บาท  เงินที่เก็บจากผู้สมัครทุกบาทต้องจ่ายให้ครูที่ปรึกษา  แต่ถ้าอำเภอใดดัดแปลงให้เทียบระดับฟรี เพื่อให้ได้ยอดผู้สมัคร และได้ค่ารายหัวจากส่วนกลาง ก็จะไม่มีเงินมาจ่ายครูที่ปรึกษา เพราะเงินที่จ่ายครูที่ปรึกษาคือเงินที่เก็บจากผู้สมัคร

         5. เย็นวันที่ 25 มี.ค.57 ผมเห็นประกาศที่ให้การทำ กพช. 200 ชม. ใช้กับนักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเรียนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 เป็นต้นไป แต่ผมยังไม่นำมาเผยแพร่ต่อ เพราะ งง กับคำว่า ขึ้นทะเบียนเรียน

             วันที่ 26 มี.ค. ผมถามกลุ่มพัฒนา กศน. ว่า เคยเห็นแต่ ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา ( ขึ้นทะเบียนครั้งเดียว ได้รหัสประจำตัวนักศึกษา ) กับคำว่า ลงทะเบียนเรียน ( ลงทะเบียนเรียนรายวิชาต่าง ๆ ในแต่ละภาคเรียน )  แต่คำนี้ผสมกันเป็น ขึ้นทะเบียนเรียนแปลว่าอะไร
             กลุ่มพัฒนา กศน. ตอบว่า อย่าสนใจกับคำเล็ก ๆ น้อย ๆ   ในที่นี้หมายความว่าใช้เฉพาะกับนักศึกษาใหม่ตั้งแต่ภาค 2/56 เป็นต้นไป ไม่รวมนักศึกษาเก่าที่ยังไม่จบ เพราะท่านปลัดกระทรวงฯเกรงว่าจะมีผู้ฟ้องร้อง
             เมื่อทราบแล้ว ผมจึงนำมาเผยแพร่ต่อในเฟซบุ๊ค  ปรากฏว่า เย็นวันที่ 26 มี.ค. มีคนหนึ่ง ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า เรื่อง กพช. จะมีหนังสือสั่งการมาจากสำนักงาน กศน อีกหรือเปล่า เพราะ คำว่าขึ้นทะเบียน นศ 2/2556 ผอ.บางท่านตีความหมดทั้งเก่าและใหม่ น่าจะระบุเลยว่าใช้กับรหัสใดบ้างที่ เป็น 100 ชม.
             ผมตอบว่า   จะมีหนังสือนำส่งประกาศไปอีก แต่ผมไม่แน่ใจว่าหนังสือนำส่งจะชัดแค่ไหน ถ้าไม่ชัดอีก ก็ขอให้ ผอ.โทร.ไปถามกลุ่มพัฒนา กศน.
             ( วันที่ 27 มี.ค. อ.เยาวลักษณ์ กลุ่มพัฒนา กศน. บอกว่า หนังสือนำส่งจะใช้คำว่า "ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา" แทนคำว่า "ขึ้นทะเบียนเรียน" )

             เรื่องคำที่ทำให้สับสนนี้ มีอีกหลายคำ เช่น
             - โครงการเพชรน้ำหนึ่ง กำหนดให้ผู้ที่ไปต่างประเทศ ต้องเป็นข้าราชการครูหรือ บุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งใดก็ได้ คำว่า "บุคลากรทางการศึกษา" ในที่นี้หมายถึง ข้าราชการ ก.ค.ศ.คือ ศึกษานิเทศน์ หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. ( 2 ) เช่น บรรณารักษ์ที่เป็นข้าราชการ หรือข้าราชการใน สนง.กศน.จังหวัด ตำแหน่งต่าง ๆ
                คำว่า "บุคลากรทางการศึกษา" นี้ มักจะทำให้ชาว กศน.สับสน หลายคนรวมทั้งผู้บริหาร คิดว่าหมายถึง บุคลากรทั้งหมด
             - อีกคำหนึ่งที่มักจะสื่อสารกันแล้วเข้าใจไม่ตรงกัน คือคำว่า บรรณารักษ์ บางคนคิดไปถึงบรรณารักษ์ที่เป็นข้าราชการ แต่บางคนหมายถึงบรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ



         6. เย็นวันที่ 26 มี.ค.57 ผมเผยแพร่เรื่องการขอพระราชทานเครื่องราชฯชั้นสายสะพาย ลงในเฟซบุ๊ค ว่า  ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0508/1330 ลงวันที่ 3 มี.ค.57 ( ลงในเว็บไซต์สำนักงาน กศน. ) แจ้งว่า  คศ.3 ขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ได้เฉพาะ ผอ.ที่จะเกษียณเท่านั้น  ฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ คศ.4 และไม่ใช่ ผอ.ที่จะเกษียณ ก็ไม่ต้องขอเครื่องราชฯชั้นสายสะพายไปอีกแล้ว

         7. เย็นวันที่ 1 เม.ย.57 ผมนำคำแนะนำ ข้อควรปฏิบัติ และ ข้อที่ไม่ควรปฏิบัติ ในการเข้าสอบสัมภาษณ์ ภาค ค (ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ) ครูผู้ช่วย กศน. ที่แนะนำโดยท่าน อ.จักราวุธ ผู้แทน ขรก.ครูใน อ.ก.ค.ศ. สป.  มาเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค  ดังนี้
             ก. ข้อควรปฏิบัติ
                 1)  ตัดแต่งทรงผม ให้ดูดีที่สุด เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด

                 2)  หาชุด-เสื้อผ้า-การแต่งกายที่เรียบร้อย สุภาพ ผู้ชายควรสวมเสื้อสีขาว หรือสีอ่อน ๆ ช่วงนี้หลบสีแดงหรือสีเหลืองไปก่อนก็จะดี จะมีเนคไทหรือไม่ก็ดูความเหมาะสมคือใส่แล้วดูดีในสายตาคนอื่นหรือกรรมการ ก็ใส่เถอะ บางคนบุคลิกภาพดีผ่านการเป็นพิธีกรมามากจะใส่สูทก็ไม่ว่ากัน(ชุดสากลนิยม) (...เคยเห็นบางคนไปสอบสัมภาษณ์สวมสูทแต่สวมรองเท้าผ้าใบสีดำ..ไม่มีเนคไทน์)
                      สุภาพสตรี ควรละเอียด พิถีพิถันมากกว่า(อยู่แล้ว) แต่อย่าให้ออกแนวหวือหวามาก
                 3)  ควรหาเวลาอ่านข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในกระแสบ้าง ประมาณว่าพูดคุยกับกรรมการให้รู้เรื่อง (กรรมการบางท่านชอบถามความคิดเห็นเราในกระแสต่างๆที่เป็นปัจจุบัน ละครที่ชาวบ้านชอบดู กีฬา ข่าวเศรษฐกิจ สังคมการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการศึกษาห้ามพลาดที่เป็นประเด็นเด่นประเด็นดังผู้คนสนใจหรือขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวัน เป็นต้น)---เขาดูไหวพริบ
                 4)  มีเอกสารแนะนำตัว 2-3 ชุดหรือจัดทำเป็นแฟ้มประกอบการแนะนำตัวสักชุด ทำเอกสารให้สวยงาม น่าอ่าน และให้แนะนำตนเอง  (ชื่อเสียงเรียงนามเป็นใคร มาจากไหน  ผู้ที่ทำงานกับ กศน.มานานเน้นประสบการณ์ ความสำเร็จ มีคุณงานความดีได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติเด่นๆจริง ๆ อะไร ฯลฯ  ควรสั้นกระชับได้ใจความ ไม่ควรเกินหนึ่งนาทีครึ่ง)
                       ทำไมอยากเป็นครูผู้ช่วย เป็นพนักงาราชการไม่ดีตรงไหน มุ่งหวังอนาคตสูงสุดอยากเป็นอะไร  (มาสอบครูก็ควรพูดอยู่ในกรอบทางเดินของวิชาชีพครู เช่นเริ่มต้นด้วยครูมีโอกาสพัฒนาเป็นผู้บริหาร เป็นครูตลอดทั้งชีวิตเพราะอะไร กรรมการที่นั่งอยู่นี้รู้จักใครไหม รู้จักใครบ้างในสำนักงาน กศน. รมต.ศธ. ชื่ออะไร รมต.ศธ. มอบหมายให้ใครคุมสำนักงาน กศน. นโยบายปัจจุบันของ กศน.ที่เด่น ๆ คืออะไร ท่านเกี่ยวข้องนโยบายเด่นๆ นั้นอย่างไร ทำอะไร ได้ผลเป็นประการใด
                       คิดว่าเมื่อได้บรรจุเป็นครูผู้ช่วยอยากไปบรรจุที่ไหนเพราะอะไร สอบได้อยากพัฒนาหรือทำอะไรก่อนหลังเพราะผลอะไร
                       มีความเห็นอย่างไรกับการจัดซื้อหนังสือเรียนในแต่ละภาคเรียน เคยเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้างใน กศน.อำเภอหรือไม่ เคยเป็นกรรมการอะไร เป็นแล้วทำหน้าที่อย่างไรบ้าง ครู กศน.ในอุดมคติเป็นอย่างไร
                       ความรอบรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการจัดการศึกษาตามหลักสูตรต่าง ๆ ที่ปัจจุบัน กศน.จัดให้บริการประชาชน
                       มีความคิดเห็นอย่างไรต่อการจัดการศึกษาเกี่ยวกับ ... ...  เช่น ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน บ้านหนังสืออัจฉริยะ ศูนย์อาเซียนศึกษา จบ ม.๖ ใน ๘ เดือน (เรียกชื่อเต็มๆว่าอย่างไร)  ปีนี้ทราบไหมว่าสำนักงาน กศน.ของเราได้รับรางวัลด้านใดจากยูเนสโกเนื่องในวันรู้หนังสือสากลหรือ ๘ กันยายน ของปี ๒๕๕๖
                       ปลัดกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบันชื่ออะไร รองเลขาธิการ กศน. มีกี่คน ใครบ้าง แต่ละคนดูแลด้านใดบ้าง  จัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง รอง 1 รอง 2 รอง 3
                       หน่วยงาน ....... ...... รู้จักไหม สังกัด กศน.หรือเปล่า ฯลฯ
                       วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ จุดเน้น กศน. นโยบาย รมต. .......เป็นต้น
                 5)  ตอบคำถามให้อยู่ในประเด็น...ชัดเจน เด็ดขาด (แต่....นุ่มนวลชวนฟัง) ถ้าตอบแบบอึกอัก เอ่อ...อ่า....เสียคะแนนแน่นอน
                 6)  ผู้ที่สูบบุหรี่ ตอนเข้าสัมภาษณ์..หาโอกาสดับกลิ่นบุหรี่ก่อน
                 7สีหน้าท่าทางไม่ควรเคร่งเครียดมาก ตอบคำถามตามธรรมชาติของตนเอง
                 8)  บุคลิกลักษณะท่าทาง เป็นสิ่งสำคัญที่จะ ต้องตาต้องใจกรรมการ
             ข. ข้อที่ไม่ควรปฏิบัติ
                 1)  ไม่ควรสวมเสื้อยืดทับด้วยเสื้อสูท สุภาพสตรีหลีกเลี่ยงสวมกางเกงไม่ว่ากรณีใดๆ

                 2)  การแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดๆ ควรแสดงความคิดเห็น "กลางๆ" หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่นโดยเฉพาะในทางลบ

วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

จบเอกสาธารณสุขแต่มีใบอนุญาตการสอน สอบครูได้ไหม, สอนวิชาชีพเต็มวันได้ไหม, ครูที่ปรึกษาอยู่ในฐานะใด-ขอใบประกอบวิชาชีพได้ไหม, ผอ.ไม่ฟังและไม่ฟังเลย-ออกใบ รบ.หลักสูตร 44, เข้าสอบครูผู้ช่วย ใช้ใบขับขี่ได้ไหม, เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงวันเดียวกับค่าคุมสอบ, เข้าใจผิดเรื่องค่าสอนวิชาชีพ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 14 มี.ค.57 คุณ “กฐิน เสีอเขียว บุญเทียม” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ถ้าจบเอกสาธารณสุข แต่มีใบอนุญาตการสอน จะสมัครสอบครูผู้ช่วยของ สพฐ.ได้รึป่าว ตามคุณสมบัติที่ระบุว่า
             1)  มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาหรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนด
             2)  มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน
             ผมตอบว่า   ต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 2 ข้อ
             - ที่บอกว่า จบเอกสาธารณสุข เป็นเรื่องของคุณสมบัติข้อ 1)  ซึ่งต้องดูต่อไปว่า เป็นปริญญาทางการศึกษาหรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนดหรือเปล่า   ก.ค.ศ.กำหนดไว้หลายร้อยวุฒิ ( ที่เขียนคร่าว ๆ ว่า "เอกสาธารณสุข" นั้น พิจารณาไม่ได้ ต้องบอกชื่อคุณวุฒิ สาขาวิชาเอก และสถาบันที่จบ ให้ละเอียดชัดเจน จึงจะตรวจสอบได้ว่า ก.ค.ศ.กำหนดวุฒินี้ไว้หรือไม่ )
             - ในส่วนที่ว่ามี "ใบอนุญาตการสอน" เป็นเรื่องของคุณสมบัติข้อ 2  ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็น "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" การสอบครั้งที่ผ่านมาจะใช้ไม่ได้ การสอบครั้งต่อไปต้องดูประกาศอีกที  แต่ถ้าเป็น "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" หรือ "ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน" จะเป็นคุณสมบัติตามข้อ 2 แน่   ( ต้องดูสิ่งที่คุณใช้คำสั้น ๆ คร่าว ๆ ว่า "ใบอนุญาตการสอน" นั้น มันคืออะไรแน่   การจะได้ "ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน" นั้น ต้องเป็นผู้ผ่าน 9 มาตรฐานวิชาชีพครูหรือผ่าน ป.บัณฑิตหลักสูตรเก่าที่ไม่มีการฝึกสอน แล้ว  ลองอ่านในข้อ 6 ที่ http://www.gotoknow.org/posts/514112 ให้ละเอียด )
             ขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ก็สมัครไม่ได้

         2. คืนวันที่ 18 มี.ค.57 คุณปรัชญ์ชยา ครู กศน.ตำบล ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  หลักสูตรอาชีพสามารถเรียนได้เต็มวันรึเปล่า คือวันละ 6 ชั่วโมง มีพักกลางวัน จะผิดระเบียบรึเปล่า เบิกค่าวิทยากรแบบเหมาจ่าย
             ผมตอบว่า   ให้ดูคำตอบเก่าที่อ้างหลักเกณฑ์ ในข้อ 4.1 ที่  http://www.gotoknow.org/posts/511761   และขอเพิ่มเติมคำตอบว่า ทำได้ ถ้าผู้บริหารเห็นว่าเหมาะสม  อยู่ที่นโยบายผู้บริหารระดับจังหวัด/อำเภอด้วย ไม่ผิดระเบียบ  ผู้บริหารอาจเห็นว่าฝึกวันละ 6 ชั่วโมงหนักเกินไปสำหรับบางวิชา

        
3. เช้าวันที่ 19 มี.ค.57 คุณ "Fon Mamnack" ครูที่ปรึกษา ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า

             1)  ครูที่ปรึกษานักศึกษาเทียบระดับขั้นสูงสุดอยู่ในฐานะใดของ กศน.
             2)  คุรุสภาเปิดอบรมมาตรฐานวิชาชีพ  ครูที่ปรึกษานักศึกษาเทียบระดับขั้นสูงสุด สอบผ่านมาตรฐานวิชาชีพแต่ยังไมครบ ไม่สามารถสมัครได้เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หากจะสมัครอบรมต้องทำอย่างไร
             ผมตอบว่า   
             1)  ครูที่ปรึกษา คล้ายวิทยากรวิชาชีพ ( หลักสูตรระยะสั้น ) คืออยู่ในฐานะบุคคลภายนอก
             2)  คุณสมบัติผู้เข้าอบรมมาตรฐานวิชาชีพครู มีเพียง 2 ข้อ ถ้ามีครบก็สมัครได้ ถ้าไม่ครบก็สมัครไม่ได้ คือ
                  2.1  ได้รับหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากคุรุสภา  ( กศน.อำเภอจะขอหนังสือนี้ให้ครูที่ปรึกษาไม่ได้ เพราะครูที่ปรึกษาไม่มีตารางสอน กศ.ขั้นพื้นฐาน )
                  2.2  สอบหรือเทียบโอนผ่านแล้วอย่างน้อย 1 มาตรฐาน

         4. เช้าวันที่ 20 มี.ค.57 มีผู้ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า รบ.หลักสูตร 2544 ได้ถูกยกเลิกหรือยัง ผอ.อำเภอบอกว่ายกเลิกแล้ว(กองพัฒน์บอก)    เคยเห็นแต่ยกเลิก รบ.หลักสูตร 2530 แต่ไม่เคยเห็นหลักสูตร 2544 เผื่อจะตกข่าว ช่วยกรุณาตอบด้วย เพราะ นศ.รีบเอา รบ.
             ผมตอบว่า   ใบ รบ.หลักสูตร 2544 ยังไม่ยกเลิก  ( กลุ่มพัฒน์คนไหนหรือ ที่บอกว่ายกเลิกแล้ว ลองถาม อ.กิตติพงษ์ กลุ่มพัฒน์ฯดูใหม่ )   ถ้าเป็นหลักสูตร 2544 ยังใช้หนังสือรับรองแทนใบ รบ. ไม่ได้   อ่านคำตอบเก่าในข้อ 2 (1) ที่ http://www.gotoknow.org/posts/534315
             ผู้ถาม เขียนต่อ ว่า  ผอ.อ้างว่าคุยกับกองพัฒน์แล้วบอกว่ายกเลิก รบ.หลักสูตร 44   ไม่รู้จะชี้แจงอย่างไร เพราะ ผอ.ไม่ฟังและไม่ฟังเลย นักศึกษาก็รออยู่
             ผมตอบว่า  ลอง โทร.ถาม อ.กิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน.ไงครับ  แล้วนำข้อมูลที่ได้มาบันทึกแจ้ง ผอ.เป็นทางการ   ถ้า ผอ.ไม่เชื่อ จะให้ทำอย่างไรก็ให้เขียนสั่งต่อท้ายมาเป็นลายลักษณ์อักษร  เราก็ทำตามได้โดยที่เราไม่มีความผิด โดยเราเก็บเอกสารนี้ไว้เป็นหลักฐาน

         5. วันที่ 21 มี.ค.57 คุณ “Linlada Mali” กศน.กาบเชิง ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  สอบครูผู้ช่วย กศน.ใช้ใบขับขี่แทนบัตรประชาชนได้ไหม มาถึงขอนแก่นแล้วลืมเอามา
             เรื่องนี้  กจ.กศน.บอกว่า  ถ้าไม่ใช่บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบัตรประจำตัวประชาชน ต้องรีบติดต่อคณะกรรมการกลาง ทำเรื่องขอเข้าห้องสอบ  ( อยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการประจำสนามสอบ )  แต่คงจะได้รับอนุญาตให้เข้าห้องสอบ

         6. วันเสาร์ที่ 22 มี.ค.57 คุณ “Nat Tap” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  เดินทางไปคุมสอบ จะเบิกเบี้ยเลี้ยงในวันคุมสอบได้ไหม (วันคุมสอบได้รับค่าคุมสอบ)
             เรื่องนี้  อ.สุนีย์ หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. บอกว่า  ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนการสอบ พ.ศ.2549 ข้อ 7 ระบุว่า  ไม่ให้เบิกค่าตอบแทนการสอบซ้ำซ้อนกับค่าตอบแทนอื่น เช่นค่าปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ  แต่ไม่ได้ห้ามเบิกซ้ำซ้อนกับค่าเบี้ยเลี้ยง  ฉะนั้น เบิกเบี้ยเลี้ยงในวันคุมสอบได้

         7. คืนวันที่ 25 มี.ค.57 คุณ “David Chaisin” เขียนข้อมูลต่อท้ายที่ผมโพสต์ในเฟซบุ๊คกลุ่มสำนักงาน กศน.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรื่องข้อสอบครูผู้ช่วย กศน.พิมพ์ผิด ว่า  มีอีกข้อ ที่กล่าวถึงค่าตอบแทนวิทยากรศูนย์ฝึก ว่า ชม.ละเท่าไร
             ก ถึง ค ผู้เรียนตั้งแต่เท่านั้น ชม.ละ.......
             ลงมาเรื่อย แต่ข้อ ง. ผู้เรียนตั้งแต่อายุ 11-20 ชม. 150 บาท
             พูดถึงอายุ เสียงั้น
             ผมตอบว่า   ผมไม่พูดถึงเรื่องที่คนพิมพ์ ๆ คำว่า "อายุ" เกินมา ( เพราะข้อสอบที่ต้องออกใหม่ ๆ สด ใกล้วันสอบ กว่าจะได้เริ่มพิมพ์ก็ยิ่งใกล้วันสอบ ย่อมมีผิดบ้างเป็นธรรมดา )   แต่ที่บอกมานี้ แสดงว่ากรรมการที่ออกข้อสอบ ไม่ทราบว่า ประกาศเรื่องค่าตอบแทนวิทยากร หลักสูตรระยะสั้น ผู้เรียนต่ำกว่า 6 คน ชม.ละ 50 บาท, 6-10 คน ชม.ละ 100 บาท, ผู้เรียน 11 คนขึ้นไป ชม.ละ 200 บาท นี้  ยกเลิกแล้ว ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ กค 0406.6/35474 ลงวันที่ 14 พ.ย.54   ปัจจุบัน ชม.ละ 200 บาทหมด   เรื่องนี้ อ.กฤติพัฒน์ กป.กศน.ทราบดี

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2557

สมัครเรียน ป.บัณฑิต, เงินเพิ่ม(เสี่ยงภัย)ชายแดนใต้, แบบฟอร์มบันทึกความดี, ขาดสอบ N-NET เรียนต่อได้ไหม, กศน.สอนคนให้โกง!, ลาออกมาเทียบระดับฯ, ใครแต่งตั้งที่ปรึกษาสถานศึกษา



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 6 มี.ค.57 คุณ “โก โก้” กศน.จ.นครสวรรค์ ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  อยากเรียน ป.บัญฑิต เห็นสำรวจรายชื่อไปแล้วเมื่อปีที่แล้ว และประกาศรายชื่อสถาบันที่เปิดสอนมานั้น  ตอนนี้เราต้องรอต่อไปใช่ไหม ใบอนุญาตการสอนจะหมดอายุ
             เรื่องนี้ คุรุสภา บอกว่า จะเปิดให้เรียน ป.บัณฑิตอีกในปีการศึกษา 2557 ( สถาบันที่จะเปิดสอนคงจะประกาศรับสมัครประมาณเดือน เม.ย.- พ.ค.57 )  ตอนนี้อยู่ในระหว่างที่สถาบันฯเสนอให้คุรุสภารับรองหลักสูตร  ณ วันนี้ ( 6 มี.ค.57 ) คุรุสภายังไม่ได้รับรองที่ไหนเลย  แต่มีบางสถาบันรับสมัครแล้ว ( คุรุสภาบอกว่าไม่ควรไปสมัคร )  ส่วนประกาศรายชื่อสถาบันที่เปิดสอนครั้งที่แล้วนั้น ครั้งนี้ต้องประกาศใหม่นะ
             ผู้ที่มีสิทธิเรียน นอกจากจะมีรายชื่อที่สำรวจแล้ว จะต้องได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก่อนวันที่ 19 ก.ย.56 ด้วย   ( ส่วนการอบรมมาตรฐานวิชาชีพครูสำหรับผู้ที่ผ่านยังไม่ครบ 9 มาตรฐาน จะต้องได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก่อนวันเปิดรับสมัครอบรม )

         2. วันเดียวกัน ( 6 มี.ค.) คุณสุพรรณี ครูสอนคนพิการ กศน.อ.เมืองยะลา ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ลูกจ้างชั่วคราว กศน. จะได้เงินเพิ่ม ( เสี่ยงภัย ) บุคลากรชายแดนใต้ หรือเปล่า
             เรื่องนี้ กลุ่มแผนงาน กศน. บอกว่า  เนื่องจากมติที่ให้จ่ายเงินเพิ่ม ( เสี่ยงภัย ) บุคลากรชายแดนใต้นี้ ออกมาหลังจากการตั้งงบประมาณปี 57 ผ่านไปแล้ว จึงไม่ได้ของบประมาณเพื่อการนี้ และงบประมาณปี 57 ของ กศน. ก็ถูกตัดอีก ปีนี้จึงไม่รู้ว่าจะมีเงินจ่ายได้หรือไม่ โอกาสที่จะได้มีไม่เกิน 50 %
             แต่ปี งปม.58 ได้ขอตั้งงบประมาณนี้ไป คงจะได้ค่อนข้างแน่
             อัตราเงินเพิ่ม ( เสี่ยงภัย ) บุคลากรชายแดนใต้ คือ
             - ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ  เดิมได้คนละ 2,500 บาท/เดือน  ให้เพิ่มอีกเดือนละ 1,000 บาท  เป็นเดือนละ 3,500 บาท
             - ลูกจ้างอื่น ๆ รวมทั้งจ้างเหมาบริการ  เดิมไม่ได้  ให้ได้เดือนละ 2,500 บาท

         3. วันเดียวกัน ( 6 มี.ค.) ผอ.กศน.อ.ผักไห่ ให้ผมหาแบบฟอร์มบันทึกความดีให้ ( บันทึก ผลงานและคุณงามความดีฯ )
             ดาวน์โหลดได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/DOC/BookGoodNote.doc

         4. เย็นวันที่ 7 มี.ค.57 คุณ Ann Bongkochrat ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  กรณีที่ นศ.ขาดสอบ n-net แต่ผ่านเกณฑ์การจบทุกเงื่อนไข เค้าก็ไม่สามารถไปเรียนต่อที่อื่นได้ใช่มั้ย พอจะมีคำแนะนำการศึกษาต่ออะไรได้บ้าง เพราะเค้าไม่อยากเสียเวลา
             ผมตอบว่า   ถ้ายังไม่เข้าสอบ N-NET ก็ยังไม่จบ ( ยังใช้คำว่า จบทุกเงื่อนไข ไม่ได้  แค่ผ่านบางเงื่อนไข  โดย N-NET เป็นเงื่อนไขหนึ่งในสี่เงื่อนไข )
             เมื่อยังไม่จบ ก็เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไม่ได้
             ให้รีบไปขอสอบ e-Exam แทนการสอบ N-NET จะได้จบ  ( ส่งนักศึกษาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจบการศึกษาตามที่โครงสร้างหลักสูตรกำหนด ไปเข้าสอบ  โดยให้ กศน.อำเภอ/เขต ประสานงาน และทำหนังสือส่งตัวนักศึกษาพร้อมข้อมูล ไปยังจุดบริการสอบที่สะดวกที่สุดในจำนวน 17 จุดบริการ เพื่อขอให้นักศึกษาเข้ารับการประเมินฯแบบสอบหน้าจอคอมพิวเตอร์   ดูจุดบริการที่ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10200717824828391 )

         5. วันที่ 11 มี.ค.57 มีผู้โพสต์ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า
             ช่วยกันแก้คำกล่าวที่ว่า กทม.สอนเด็กให้โตไปไม่โกง แต่ กศน.สอนคนให้โกง โดยให้ลงชื่อว่ามาเรียนแต่ไม่ต้องมาเรียน ตอนสอบครูก็จัดให้ทุจริต บอกคำตอบ ให้ลอกกัน แก้คำตอบ แก้คะแนน
             ผมร่วมโพสต์แสดงความเห็นว่า
             คงเป็นบางแห่ง ( อาจหลายแห่ง )  สังคมไทยไม่เน้นคุณธรรมกันมานาน จนคนรุ่นใหม่ที่รำคาญคุณธรรมโตมาเป็นนักการเมือง เป็นผู้บริหาร เป็นครู แล้ว  จึงเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก ไม่จริงจังในการแก้ไข ( มีแต่จะด่าคนโพสต์ )

         6. เย็นวันเดียวกัน ( 11 มี.ค.) คุณ Wantanai Nantawan ครู กศน.ตำบล ที่ กศน.อ.เทิง ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า นักศึกษาพื้นฐานของ กศน.จะสามารถลาออกมาสมัครเป็นนักศึกษาเทียบระดับเลยได้หรือไม่ หรือต้องลาออกแล้วเว้นวรรคไป 1 ภาคเรียนจึงจะสมัครได้ เพราะทางพื้นฐานของอำเภอบอกว่ามันจะมีปัญหากับค่ารายหัวนักศึกษา แต่ผมคิดว่านักศึกษามีสิทธิ์ลาออกเมื่อไหร่ก็ได้ไม่ใช่เหรอ เพื่อเลือกทางเดินของตน ขอผู้รู้ไขข้อข้องใจด้วย ถ้าได้เอกสารประกอบ จะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาเป็นอย่างมาก
ผมร่วมตอบว่า นักศึกษามีสิทธิลาออกเมื่อไรก็ได้ ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ห้าม ( ต้องถามกลับว่า คุณสมบัติ/ระเบียบ/หลักเกณฑ์ข้อไหนห้ามลาออก และคุณสมบัติ/ระเบียบ/หลักเกณฑ์ข้อไหนห้ามสมัคร ถ้ายังไม่หมดเวลารับสมัคร ค่ารายหัวนักศึกษาไม่ใช่ประเด็นที่จะจำกัดสิทธิได้ ลองคุยกับผู้บริหาร ) แต่ควรให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ที่เป็นกลางแก่นักศึกษา และให้นักศึกษาตัดสินใจเอง ไม่ใช่ไปชักชวนให้นักศึกษาลาออก

         7. วันที่ 11 มี.ค.57 คุณ Tassung Ka ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หรือกรรมการที่ปรึกษาของสถานศึกษา กศน.อำเภอ สมศ.แนะนำให้แต่งตั้งโดยให้ประธานกรรมการสถานศึกษาลงนามแต่งตั้ง แต่บางแห่ง ผอ.กศน.จังหวัดลงนามแต่งตั้ง ที่ถูกต้องเป็นใครลงนาม
ผมตอบว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับคณะกรรมการสถานศึกษา หรือว่า องค์กรนักศึกษาครับ ( ตัวบ่งชี้ที่เท่าไร )
ถ้าเป็นเรื่องคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิก็คือกรรมการสถานศึกษานั่นเอง การแต่งตั้งคณะกรรมการสถานศึกษา ( ผู้ทรงคุณวุฒิ ) ต้องแต่งตั้งโดย ผอ.กศน.จังหวัด
ส่วนคำว่า ที่ปรึกษาของสถานศึกษาเพี้ยนมาจากคำว่า ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถานศึกษาใช่หรือไม่ ( โปรดอย่าใช้คำเพี้ยน ๆ ที่คิดขึ้นเอง มาถามคนอื่น ปวดหัว ) ถ้าใช่ การแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะอนุกรรมการสถานศึกษา ให้แต่งตั้งโดยประธานกรรมการสถานศึกษา