วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557

สงสัยเรื่องหนังสืออนุญาตกับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน, ค้านนายทะเบียน/ผลจากการดูหนังสือสอบ/เรียนได้เทอมละกี่หน่วยกิต, ประถม(เด็กวัยเรียน) ในโปรแกรม IT คืออะไร, ผลสุดยอด กศน.รอบคัดเลือก, จ้างครู ศรช.แบบไหน, ทำสัญญาจ้าง, โปรแกรม KSM 25 เม.ย.57



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 21 เม.ย.57 คุณยศพร ครู ศรช. ที่ กศน.อ.สุวรรณคูหา ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ใบขออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เหมือนกันกับใบขออนุญาตปฏิบัติการสอนไหม ใช้แทนกันได้ไหม แล้วเวลาสมัครเรียน ป.บัณฑิตวิชาชีพครูใช้เอกสารตัวไหน  ตอนนี้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแล้ว หมดอายุ วันที่ 2 ต.ค. 57 นี้ ต้องขอต่ออีกรอบสองหรือเปล่า
             ผมตอบว่า   ไม่เหมือนกัน
             1)  "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" นั้น สถานศึกษาเป็นผู้ขอ ( ผอ.ลงนามในหนังสือราชการถึงคุรุสภา )  ขอในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจ้างคนที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มาเป็นครู   หนังสืออนุญาตนี้ใช้สมัครเรียน ป.บัณฑิตได้ แต่ใช้สมัครสอบครูผู้ช่วยไม่ได้  ถ้าหนังสืออนุญาตนี้หมดอายุ ก็ต้องขออีกรอบสอง - สาม ( ขอได้สามรอบรวม 6 ปีเท่านั้น ต้องรีบเรียน ป.บัณฑิต หรือสอบ หรือเทียบโอน หรืออบรม ให้ผ่านก่อนหนังสือจะหมดอายุรอบสาม )
             2)  ถ้าสอบหรืออบรมหรือเทียบโอนผ่าน 9 มาตรฐาน หรือเรียนจบ ป.บัณฑิตหลักสูตรที่ไม่มีการฝึกสอน แล้ว จึงจะขอ "ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน" ได้ ( เจ้าตัวเป็นผู้ขอเอง )  ใบนี้ใช้สมัครสอบครูผู้ช่วยได้  ( เมื่อได้ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน และสอนครบ 1 ปี จึงจะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู )

         2. วันเดียวกัน ( 21 เม.ย.) คุณ “Born To Ksn” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  อ่านหนังสือสอบครูผู้ช่วย เจอว่า ม.ปลาย สามารถลงทะเบียนได้ภาคเรียนละ 23 หน่วย แต่พอมาสอบถามนายทะเบียน เค้าบอก 20 แต่พอนู๋บอก 23 เค้าบอกให้หาเอกสารทางราชการมา เพราะเค้าจะทำโดยพลการไม่ได้หรอก นู๋จะไปหาเอกสารได้จากไหนเหรอ
             ผมตอบว่า   ปัจจุบัน ม.ปลาย เรียนได้ภาคเรียนละ 23 หน่วยกิต  ดูที่ในหนังสือ "คู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2555)" หน้า 7 ปกสีเลือดหมู ที่ส่งให้ กศน.อำเภอทุกแห่ง เมื่อ ธ.ค.55
             หรือดูที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/Compressrd/editGuide.zip

         3. วันที่ 23 เม.ย.57 คุณ “Farng Wasita” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  โปรมแกรมไอทีตัวไหม่ มี ประถม(เด็กวัยเรียน)  คืออะไร
             ผมตอบว่า   เด็กวัยเรียนในโปรแกรม ITw คือ เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ ที่มาเรียนระดับประถม โดยไม่สามารถเรียนในระบบโรงเรียนได้ เช่น เด็กเร่ร่อน บุตรคนต่างด้าวที่อพยพมากับผู้ปกครอง หรือบุตรแรงงานต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย เป็นต้น  ซึ่งจะต้องใช้เวลาเรียน กศน. ไม่น้อยกว่าการเรียนในระบบโรงเรียน ( ระดับประถม ไม่จบก่อนอายุ 12 ปี )

         4. วันที่ 24 เม.ย.57 ภาคใต้จัดการแข่งขันสุดยอด กศน. รอบคัดเลือก ( Audition )
             คุณสุรเชษฐ์ สุนทรากร นำผลการแข่งขันมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค จังหวัดที่ได้เข้ารอบเรียงตามลำดับคะแนน คือ ที่ 1 พังงา NF18, ที่ 2 ตรัง NF13, ที่ 3 ปัตตานี NF16, ที่ 4 ภูเก็ต NF15, ที่ 5 ระนอง NF14, ที่ 6 สงขลา NF17
             สำหรับผลการแข่งขันรอบคัดเลือก ในภาคอื่น คือ
            
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ได้แก่ มุกดาหาร Nf1, อุบลฯ Nf2, สกลนคร Nf3, หนองบัวลำภู Nf4, ยโสธร Nf5, ชัยภูมิ Nf6

             - ภาคตะวันออก  ได้แก่ นครนายก Nf25, สมุทปราการ Nf26, ระยอง Nf27, ตราด Nf28, ฉะเชิงเทรา Nf29, ชลบุรี Nf30
             - ภาคเหนือ  ได้แก่ เชียงราย NF7, แพร่ NF8, สุโขทัย NF9, เชียงใหม่ NF10, อุทัยธานี NF11, พิษณุโลก NF12
                - ภาคกลาง  ได้แก่ ลพบุรี NF19, สิงห์บุรี NF20, พระนครศรีอยุธยา NF21, กรุงเทพมหานคร NF22, กาญจนบุรี NF23, สมุทรสงคราม NF24


         5. เช้าวันที่ 25 เม.ย.57 ผมโพสต์ในเฟซบุ๊ค ว่า  การจ้างครู ศรช. ไม่ใช่การ จ้างเหมาบริการ
             คุณ “Ying Juthathip” ถามผม ว่า  แล้วจ้าง ครู ศรช. แบบไหน
             ผมตอบว่า   ครู ศรช. กับ พนักงานราชการ เป็นการจ้าง "บุคลากรของส่วนราชการ" ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ เป็นการจ้างเหมาบริการ "บุคคลภายนอก"  ( การจ้างเหมาบริการ ไม่จำเป็นต้องมีการสอบ/คัดเลือก แต่ใช้วิธีจ้างตามระเบียบพัสดุ )
             ( ที่จริงสัญญาจ้าง ที่ต้องติดอากรแสตมป์ จะติดเฉพาะสัญญาจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุเท่านั้น ส่วนสัญญาจ้างครู ศรช. และพนักงานราชการ ไม่ต้องติดอากรแสตมป์  และเฉพาะพนักงานราชการนอกจากไม่ต้องติดอากรแสตมป์แล้ว ยังไม่ต้องมีการค้ำประกันด้วย เพราะมี "วินัย" ควบคุม ลักษณะเดียวกับข้าราชการ/ลูกจ้างประจำที่ไม่ต้องมีการค้ำประกัน )   ดูในข้อ 1 ที่  http://www.gotoknow.org/posts/504565 )

         6. วันเดียวกัน ( 25 เม.ย.) ผมถามกลุ่มแผนงาน กศน. ว่า  ปกติการจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ จะจ้างย้อนหลังไม่ได้ ถ้าจะจ้างวันที่ 1 พ.ค. ต้องลงวันที่ในสัญญาจ้างไม่เกินวันที่ 30 เม.ย.  แล้วหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจะส่งมาทันไหม  กลุ่มแผนงานตอบว่า หนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจะนำขึ้นเว็บไซต์สำนักงาน กศน.ประมาณบ่ายวันที่ 25 เม.ย.นี้   นอกจากนี้กลุ่มแผนงานฯยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจอีก เช่น
             1)  ถ้าชื่อตำแหน่งเดียวกัน แต่บางจังหวัดจ้างวุฒิต่างกัน ให้จ่ายค่าจ้างตามที่กำหนด เช่น ภาระงานของตำแหน่ง จนท.บันทึกข้อมูล ให้จ้างวุฒิ ปวช. ค่าจ้าง 11,680 บาท ถ้าจังหวัดไหนจ้างตำแหน่งนี้ แต่จ้างวุฒิ ป.ตรี ก็จ่ายค่าจ้างได้เพียง 11,680 บาท
             2)  ถ้าจังหวัดใดจ้างตำแหน่งอื่นที่ไม่มีใน 39 ตำแหน่งนี้ ให้เปลี่ยนมาจ้างใน 39 ตำแหน่งนี้ ที่ภาระงานคล้ายกัน เช่น ตำแหน่งแม่บ้าน ให้เปลี่ยนมาจ้างเป็นตำแหน่งพนักงานบริการ ( 9,000 บาท ) เป็นต้น

         7. เย็นวันเดียวกัน ( 25 เม.ย.) ผมนำลิ้งค์สำหรับดาวน์โหลด โปรแกรมเทียบระดับสูงสุดฯ (KSM) รุ่น 1.3 วันที่ 25 เม.ย. 57 ที่คุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ส่งให้ผมทางอีเมล์  มาเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค
             โปรแกรมรุ่น 1.3 นี้ มีการปรับแก้ไขเพิ่มจากรุ่น 1.2 ดังนี้
             1)  ปรับแก้ไขตัวเลขในใบระเบียนฯ จากเลขอารบิค ให้เป็นเลขไทยทั้งหมด ตามประกาศของกระทรวง
             2)  เก็บรายละเอียดเพิ่มเติมในประวัติการใช้งานโปรแกรม เช่น วิชาที่ลงทะเบียน รายละเอียดไฟล์ที่ backup/restore
             link สำหรับ download ไฟล์ติดตั้งโปรแกรมเทียบระดับสูงสุดฯ รุ่น 1.3 วันที่ 25 เม.ย. 57
             - https://dl.dropboxusercontent.com/u/15540884/KSM_25042014_Setup.zip   หรือ
             - https://drive.google.com/file/d/0B6tQobXfGWLES0RDeUFOTUt6SG8/edit?usp=sharing

วันเสาร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2557

อบรมมาตรฐานวิชาชีพครูแล้วต้องมีการสอบมั้ย, ผ่านอบรม 9 มาตรฐาน ได้ใบประกอบวิชาชีพไหม?, นศ.เก่า ย้าย ต้องทำ กพช. 200 ชม., ให้ชะลอการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการสถานศึกษา, ศึกษาต่อภาคนอกเวลา ใช้เวลาราชการไม่เกินวันละกี่ ชม., ประกาศนียบัตรเทียบระดับฯสูงสุด, ประเมินภายนอก ตบช.ที่ 11



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 17 เม.ย.57 คุณ “แอม แอม” ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  การอบรมมาตรฐานสิชาชีพครู เมื่ออบรมจบหลักสูตรแล้วต้องมีการสอบมั๊ย
             ผมตอบว่า   มีการ Posttest ในวันสุดท้ายของการอบรม

         2. วันเดียวกัน ( 17 เม.ย.) คุณ “Prapatsee Piku” ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ผ่านการอบรม ( 9 มาตรฐานของคุรุสภา ) แล้วได้ใบประกอบวิชาชีพเลยไหม
             ผมตอบว่า   ถ้าผ่านครบ 9 มาตรฐาน ก็เหมือนจบ ป.บัณฑิตหลักสูตรที่ไม่มีฝึกสอน คือ ยังไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพ ได้แต่ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ( ใช้สมัครสอบครูผู้ช่วยได้ )  จากนั้นเมื่อสอนครบ 1 ปี จึงจะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

         3. คืนวันเดียวกัน ( 17 เม.ย.) กศน.ตำบลดอนยาง ณัฐกฤตา ไชยชนะ ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ผู้เรียนที่รหัสเดิม 551 แต่ย้ายสถานศึกษาใหม่ โดยรหัสผู้เรียนใหม่เป็น 562 แล้วผู้เรียนจบในเทอมนี้ แต่โปรแกรมไม่ยอมให้จบเนื่องจาก กพช.ไม่ครบ 200 ชั่วโมง แต่ผู้เรียนเดิมใช้เกณฑ์ กพช. 100 ชั่วโมง พอย้ายที่ รหัสเปลี่ยน จะแก้ไขให้ผู้เรียนไดอย่างไร
             ผมตอบว่า   กรณีนี้ อ.เยาวลักษณ์ กลุ่มพัฒนา กศน. ตอบว่า ถึงแม้จะเป็นนักศึกษาเก่า ยังไม่จบ แต่ถ้าย้ายไปขึ้นทะเบียนในสถานศึกษาใหม่ ได้รหัสประจำตัวใหม่เป็น 562...... ต้องทำ กพช. 200 ชั่วโมงนะ

         4. วันที่ 18 เม.ย.57 รอง ผอ.พัฒน์ กศน.จ.ชัยนาท เขียนในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  ช่วยดูเรื่องการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการที่ สนง.กศน.แจ้งมาเมื่อเร็วๆนี้ ให้เพิ่มเบี้ยประชุม จาก 1200 บาท เป็น 1600 บาท  ขอถามว่าหนังสือดังกล่าวให้ใช้กับการจ่ายเบี้ยประชุม คณะกรรมการ สำนักงาน กศน.จังหวัด และ คณะกรรมการ กศน.อำเภอ หรือไม่
             ผมตอบว่า   ให้ดูจากหนังสือฉบับที่เก่ากว่านี้อีก คือ หนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0210.117/11047 ลงวันที่ 24 ต.ค.56 ซึ่งสรุปได้ว่า
             1)  คณะกรรมการและอนุกรรมการ ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม ของเรา มีเพียง 2 คณะ คือ
                  - “คณะกรรมการส่งเสริมและประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดหมายถึง คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด” ( เดิม 1,200 เปลี่ยนเป็น 1,600 บาท )
                  - “คณะอนุกรรมการภาคีเครือข่ายแต่งตั้งโดยคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนและประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยส่วนกลาง ( เดิม 800 เปลี่ยนเป็น 1,000 บาท )
             2)  สำหรับคณะกรรมการสถานศึกษา  กรมบัญชีกลางแจ้งว่า ไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม  จึงขอให้ชะลอการเบิกจ่ายไปก่อน จนกว่าจะได้รับแจ้งจากกรมบัญชีกลางต่อไป
             ดูหนังสือฉบับนี้ได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/meettingmoney.pdf
             วันที่ 18 เม.ย. ผมถามกลุ่มงานคลัง ( อ.ปนัดดา ) กับ กป. ( อ.สร้อยทิพย์ )  ได้รับคำตอบว่ายังเบิกจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการสถานศึกษาไม่ได้  ส่งบทบาทหน้าที่ไปให้กรมบัญชีกลางพิจารณาอยู่

         5. วันเดียวกัน ( 18 เม.ย.) คุณสืบพงษ์ กศน.หนองฉาง ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การลาเพื่อศึกษาต่อภายในประเทศ ภาคนอกเวลาราชการ หากมีความจำเป้นต้องใช้เวลาราชการ จะใช้เวลาราชการได้ไม่เกินวันละกี่ชั่วโมง ( เตรียมสอบครู ผช. ของ สพฐ. เจอคำถามข้อนี้ คำตอบมีให้เลือก ครึ่งชั่วโมง 1 ชั่วโมง 1 ชั่วโมงครึ่ง 2 ชั่วโมง )
             ผมตอบว่า   การลาศึกษาต่อภาคนอกเวลา มี 2 กรณีคือ กรณีไม่ใช้เวลาราชการไปศึกษา กับกรณีใช้เวลาราชการบางส่วนไปศึกษา  ข้อนี้คงหมายถึงกรณีใช้เวลาราชการบางส่วนไปศึกษา ซึ่งกรณีนี้ต้องเป็นผู้พ้นจากการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มหรือการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการแล้ว และ ต้องมีเวลากลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ได้ครบก่อนเกษียณ
             การใช้เวลาราชการบางส่วนนี้ ตามระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไปศึกษาฝึกอบรมดูงานหรือปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนา พ.ศ.2552 ข้อ 22 (2) กำหนดว่า  ใช้เวลาราชการไปศึกษาต่อเฉลี่ยไม่เกินวันละ 1 ชม. 30 นาที รวมแล้วไม่เกิน 7 ชม. 30 นาที/สัปดาห์ หรือไม่เกิน 1 วันทำการ/สัปดาห์

         6. วันเสาร์ที่ 19 เม.ย.57 หลังจากผมโพสต์หนังสือแจ้งเกี่ยวกับเรื่องให้ผู้จบเทียบระดับฯสูงสุดฯรุ่นที่ 1 ไปรับประกาศนียบัตรกับ รมต. ลงในเฟซบุ๊ค ปรากฏว่ามี 2-3 คน โพสต์ว่า  ให้ส่วนกลางส่งใบประกาศฯไปให้ในพื้นที่โดยให้ ผอ.เป็นผู้มอบได้ไหม จะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่เปลืองงบประมาณ
             ผมตอบว่า   ใบประกาศนียบัตรไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลาง แต่ กศน.อำเภอ เป็นผู้ออกประกาศฯ เราต้องออกแล้วถือไปให้ รมต.เป็นผู้มอบ  เป็นนโยบายผู้บริหารระดับสูง ( เฉพาะรุ่นที่ 1 )  ผอ.อำเภอเซ็นใบประกาศฯ แล้วเอาไปให้ รมต.มอบ
             คุณ “ฮาลอง เบW ถามต่อ ว่า  แล้วใบประกาศฯจะเหมือนกันหรือ
             ผมตอบว่า  ทำไมจะไม่เหมือนกันล่ะ ประกาศนียบัตรนี้เป็นเอกสารหลักฐานบังคับแบบ ต้องซื้อจากองค์การค้าคุรุสภา ทำหนังสือขอซื้อโดยจังหวัด แจ้งชื่อผู้ไปซื้อ นำบัตรข้าราชการไปด้วย ผู้ไปซื้อต้องเป็นข้าราชการ  และพิมพ์ใบประกาศนียบัตรด้วยโปรแกรม KSM
             ( เวลาไปซื้อควรซื้อ 4 อย่างเลยคือ ใบ รบ. ใบประกาศฯ รายงานผู้จบ และใบแทนใบ รบ.  หรืออาจยังไม่ซื้อใบแทนใบ รบ.ก็ได้ เพราะคงยังไม่มีใครทำหายแล้วมาขอใหม่ )

         7. วันที่ 21 เม.ย.57 คุณยศพร ครู ศรช. ที่ กศน.อ.สุวรรณคูหา ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ตัวบ่งชี้ที่ 11 (ผลการดำเนินงานโครงการพิเศษเพื่อส่งเสริมบทบาทของสถานศึกษา)  ตัวบ่งชี้นี้ให้ทำเอกสารทั้งหมดที่ กศน.อ.ได้จัดทำโครงการหรือเปล่า หรือว่ายกมาเฉพาะโครงการที่ออกไปจัดทำนอกพื้นที่เท่านั้น ต้องยกมาให้ท่านกรรมการดูกี่โครงการแต่ละปีงบประมาณ
             ผมตอบว่า   ตัวบ่งชี้ที่ 11 ของ สมศ. เน้นที่ การพัฒนา "ชุมชน" โดยเราต้องเลือกมา 1 ชุมชน หรือหลายชุมชนก็ได้   คำว่าชุมชนโดยปกติจะหมายถึง "หมู่บ้าน" แต่บางอำเภออาจจะพัฒนาทั้ง "ตำบล" เพราะหมู่บ้านเดียวจะมีคนเข้าร่วมโครงการน้อย
             ควรเลือกชุมชนที่
             1)  ที่ผ่านมา กศน.อำเภอมี โครงการ/งาน/กิจกรรม ลงไปพัฒนาชุมชนนั้นอย่างต่อเนื่อง
             2)  ผลจากการพัฒนา ทำให้ชุมชนนั้นสามารถเป็นตัวอย่างหรือเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นได้ โครงการที่ลงไปยังยั่งยืนอยู่จนถึงปัจจุบัน  มีผู้ไปศึกษาดูงาน  เช่น หมู่บ้าน OTOP ที่ กศน.สอนวิชาชีพไว้ หรือหมู่บ้านที่มีแหล่งสาธิตเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
             สรุปว่า ต้องเลือกชุมชนก่อน จากนั้นนำเสนอทุกโครงการ/งาน/กิจกรรม ที่ทำในชุมชนนั้น ที่เกี่ยวข้อง/ส่งผลให้ชุมชนนั้นพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นตัวอย่างในเรื่องนั้นได้

วันอังคารที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2557

เทียบระดับฯไม่ผ่านรุ่น 1 ข้ามไปเรียนรุ่น 3, นักศึกษาขอเปลี่ยนชื่อในใบ รบ., ผอ.ไม่ให้มี นศ.ครบ 60 คน, สมัคร GAT PAT ได้ไหม, จังหวัดไม่ให้บรรณารักษ์จ้างเหมาเบิกค่าทำงานนอกเวลาเกิน 500 บ., ประเมินภายนอก, ทำไมคุณธรรมในโปรแกรม ITw ยังเป็น 9 ข้อ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 3 เม.ย.57 คุณเอมอร กศน.อ.เมืองชลบุรี ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  กรณีผู้เข้าประเมินเทียบระดับสูงสุด รุ่นที่ 1/2556 (ผู้เข้าประเมินเก่าที่สอบไม่ผ่าน) ลงทะเบียนไม่ทันในรุ่นที่ 2/2556 จะสามารถลงทะเบียนในรุ่นที่ 3 ได้หรือไม่
             ผมตอบว่า   ได้  จะเว้นแล้วไปลงทะเบียนรุ่นไหนก็ได้ ( แต่สะสมได้แค่ 5 ปี )

         2. วันที่ 4 เม.ย.57 คุณพิชญานิน ขรก.ครู กศน.อ.ระโนด ถามผมทางโทรศัพท์ ว่า นักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐาน ขอให้ใช้ชื่อใหม่ในใบ รบ. จะทำได้หรือไม่
             ผมตอบว่า   เมื่อนักศึกษาเปลี่ยนชื่อ ก็ต้องนำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ มายื่นขอเปลี่ยนชื่อ  นายทะเบียนฯก็ต้องตรวจสอบหลักฐานการเปลื่อนชื่อ ดูว่าเปลี่ยนวันที่เท่าไร  ถ้าเปลี่ยนชื่อหลังวันอนุมัติจบหลักสูตร เราจะเปลี่ยนชื่อให้ไม่ได้  แต่ถ้าเปลี่ยนชื่อก่อนวันจบ เราก็เปลี่ยนชื่อให้เขา

         3. คืนวันเดียวกัน ( 4 เม.ย.) มีผู้ถามต่อท้ายที่ผมโพสต์เรื่องเงิน 15,000 ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ครู ศรช.ที่ยกระดับมาจากครูประจำกลุ่ม มีสิทธิ์จะได้เงิน 15,000 ไหม   ผอ.ไม่ยอมให้มีเด็กครบ 60 คน กันไว้ บอกไม่มีเงิน ทั้งๆที่มีเด็กจะเรียนเกิน 60 คน แต่ให้จัดตั้งไม่ให้เกิน 50 คนเท่านั้น แล้วอย่างนี้หนูจะมีโอกาสได้รับเงินเดือน 1,5000 ไหม ทำงานเท่ากันกับครู กศน.ตำบล แต่ได้รับเงินเดือนยังไม่เท่าค่าแรงขั้นต่ำเลย
             ผมตอบว่า   ครู ศรช.ที่นักศึกษาไม่ครบ 60 คน ก็ต้องเบิกเป็นรายหัว ๆ ละ 150 บาท/เดือน ไม่ใช่เบิกตามวุฒิ ( 15,000 )   เป็นการบริหารจัดการของผู้บริหารที่ไม่ถึงกับผิดระเบียบ

         4. คืนวันที่ 8 เม.ย.57 คุณ “Tamtam Tiemsan” ถามในกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  นักศึกษา กศน.ที่เรียนในระดับ ม.ปลาย สามารถสอบ get pet ได้ไหม
             ผมตอบว่า   จบ กศน.มีศักดิ์และสิทธิ์เท่าจบในระบบโรงเรียน
             ผู้ที่มีสิทธิ์สมัครสอบ GAT PAT คือผู้ที่
             1)  จบ ม.6 ( ม.4-5 สมัครไม่ได้ )
             2)  เด็กซิ่ล สมัครได้
             3)  จบสายอาชีพ ปวช. ปวส. สมัครได้
             4)  จบ กศน.ม.ปลาย สมัครได้

         5. เย็นวันที่ 9 เม.ย.57 มีผู้ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า จ.หนองคาย ไม่ให้บรรณารักษ์จ้างเหมาฯ เบิกค่าปฏิบัติงานเปิดห้องสมุดฯนอกเวลาฯ เกินเดือนละ 500 บาท และไม่ให้เบิกค่าปฏิบัติงานนอกเวลาในงานอื่น ๆ  จึงขอถามว่า จะเบิกเกินเดือนละ 500 บาท และจะเบิกค่าปฏิบัติงานนอกเวลาในงานอื่น ๆ ได้หรือไม่
             เรื่องนี้  อ.สกุลนา หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. ตอบว่า  ที่ว่าเดือนละ 500 บาทนั้น เป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดสรรงบประมาณเมื่อ 2-3 ปีก่อน ซึ่งในการเบิกจ่าย ถ้าผู้บริหารเห็นว่ามีความจำเป็น และมีงบประมาณเพียงพอ ก็ให้เบิกจ่ายเกินเดือนละ 500 บาทได้ ( ปัจจุบันก็ไม่ได้กำหนดเรื่องเดือนละ 500 บาทแล้ว )   ส่วนเรื่องการทำงานนอกเวลาในงานอื่นที่ไม่ใช่งานห้องสมุด ก็ต้องดูความจำเป็นว่าทำไมต้องให้บรรณารักษ์จ้างเหมาฯไปช่วยทำงานอื่นนอกเวลา ซึ่งก็อาจจะมีความจำเป็นจริงก็ได้ เช่นต้องระดมคนช่วยกันทำงานอื่นในบางกรณี
             สรุปว่า  ขึ้นอยู่กับเหตุผลความจำเป็น และ งบประมาณมีเพียงพอหรือไม่ โดยอยู่ที่ดุลยพินิจของผู้บริหาร ถ้าผู้บริหารเห็นว่ามีความจำเป็น และมีเงินมากพอก็ให้เบิกจ่ายได้ รวมทั้งเบิกจ่ายงบอื่นในการทำงานอื่นได้ ( ทำงานใด ก็ให้เบิกงบงานนั้น ) ไม่มีระเบียบห้าม

         6. การประเมินภายนอก ปี 57 ระยะที่สอง ที่จะประเมินในช่วง พ.ค.-ก.ค.57 นี้  ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับนักศึกษา และครู กศ.ขั้นพื้นฐาน จะดูข้อมูล 3 ปีการศึกษาย้อนหลัง คือ ปีการศึกษา 2556 ( 1/56+2/56 ), 2555 (1/55+2/55) และ 2554 ( 1/54+2/54 )
             เฉพาะตัวบ่งชี้ที่ 5.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนการศึกษาพื้นฐาน  สมศ.จะใช้คะแนน N-NET ของภาคเรียนที่ 1/55, 2/55, 1/56 และ 2/56  โดย สมศ.จะรับข้อมูลตรงจาก สทศ.มาคำนวณเอง ไม่ได้ดูจากที่เราคำนวณ
             เราไม่จำเป็นต้องคำนวณไว้  แต่ถ้าเราอยากรู้ผลล่วงหน้า ก็คำนวณเองได้  คำนวณโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/OTHER/indicator5-1.xls
             โปรแกรมนี้ใช้ไม่ยาก  เพียงแค่หาตัวเลข จำนวนผู้เข้าสอบกับ จำนวนผู้ที่ได้คะแนนมากกว่าขีดจำกัดล่างไปใส่ในช่องสีเขียวเท่านั้น ค่าคะแนนต่าง ๆ ของ ตบช.ที่ 5.1 ก็จะปรากฏขึ้นมา   โดย
             1)  “จำนวนที่จะกรอกในช่อง ข้อมูลปีปัจจุบันให้นำจำนวนในภาคเรียนที่ 1 และ 2 ปี กศ.2556 รวมกัน เช่น สาระทักษะการเรียนรู้ ระดับประถม ถ้ามีจำนวนผู้เข้าสอบภาค 1/56 = 999 คน, ภาค 2/56 = 1,000 คน ให้นำตัวเลข 1,999 มากรอกในช่องจำนวนผู้เข้าสอบ ปีปัจจุบัน ( จำนวนผู้เข้าสอบนี้ เป็นจำนวนเฉพาะอำเภอ ไม่ใช่จำนวนทั้งประเทศ )
             2)  จำนวนที่จะกรอกในช่อง ข้อมูล 1 ปีย้อนหลังให้นำจำนวนในภาคเรียนที่ 1 และ 2 ปี กศ.2555 รวมกัน ( ยกเว้นระดับประถม ให้ใช้ข้อมูลภาค 2/55 เพียงภาคเดียว เพราะภาค 1/55 ยังไม่มีการสอบ N-NET ในระดับประถม )
             3)  จำนวนผู้เรียนที่มีผลการทดสอบระดับดีหมายถึง จำนวนผู้เรียนที่มีคะแนนมากกว่าขีดจำกัดล่าง
             4)  การนับจำนวนผู้ที่ได้คะแนนมากกว่าขีดจำกัดล่างของคะแนน N-NET ตามตัวบ่งชี้ที่ 5.1 นี้ ต้องรวมเฉลี่ยคะแนนหลายวิชาของแต่ละคนให้เป็นคะแนนแต่ละสาระก่อน
                  - สาระความรู้พื้นฐาน ต้องรวม 4 วิชา แล้วหารด้วย 4  เสร็จแล้วจึงนำไปเทียบกับค่าขีดจำกัดล่าง ว่ามากกว่าขีดจำกัดล่างหรือไม่
                  - สาระการประกอบอาชีพ สาระทักษะการดำเนินชีวิต และสาระการพัฒนาสังคม มีสาระละ 3 วิชา ต้องรวม 3 วิชา แล้วหารด้วย 3
                  - สาระทักษะการเรียนรู้ มีวิชาเดียว ไม่ต้องรวม ไม่ต้องหาร
                  ดูค่าขีดจำกัดล่างของคะแนน N-NET ภาคเรียนที่ 1/55, 2/55, 1/56 และ 2/56 ได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/DOC/lowerlimit1-55-2-56.docx  ( ขีดจำกัดล่างของคะแนน N-NET ที่ใช้ประเมินฯภายนอกนี้ คนละอย่างกับขีดจำกัดล่างของคะแนนปลายภาคที่ใช้ประเมินฯภายใน  จะนำขีดจำกัดล่างนี้ไปใช้ทำ SAR ไม่ได้ )
             อย่างไรก็ตาม  การหา จำนวนผู้เข้าสอบกับ จำนวนผู้เรียนที่มีคะแนนมากกว่าขีดจำกัดล่างนี้ ต้องใช้เวลามาก ถ้าไม่อยากรู้ผลล่วงหน้าก็ไม่ต้องเสียเวลาคำนวณ เพราะ สมศ.จะคำนวณเองโดยขอข้อมูลจาก สทศ.โดยตรง

         7. วันที่ 10 เม.ย.57 คุณ “Waritsara Nantakaiw” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การประเมินคุณธรรมผู้เรียน ในโปรแกรมยังมี 9 ข้ออยู่ แต่เราประกาศใช้ 11 ข้อไปแล้ว จะมีผลต่อการวัดผลประเมินผลหรือการประเมินภายนอกหรือเปล่า
             ผมตอบว่า   หลักสูตรกำหนดให้ต้องผ่านคุณธรรม 9 ประการ  ส่วนที่เกิน 9 ประการนั้น ไม่ใช่เงื่อนไขการจบหลักสูตร ลองอ่านคำตอบเก่าในข้อ 1 ที่  http://www.gotoknow.org/posts/543949