วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พนักงานราชการกี่ปีย้ายได้, ค่าที่พัก+รถส่วนตัวพนักงานราชการ, ขรก.ครูจะทำ คศ.2, ครูเป็นรอง ผอ. กี่ปีทำ คศ.2 ได้, ขรก.ครูที่เคยเป็นพนักงานราชการมาก่อน กี่ปีทำ คศ.2, ผู้ช่วยรักษาการ?, หลักสูตรการรู้หนังสือ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 18 มิ.ย.57 I'am Patcha ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า กรณีย้ายของพนักงานราช ต้องรอครบ 2 ปีไหม
             ผมตอบว่า   เรื่องการย้ายพนักงานราชการ ( ไปปฏิบัติงานนอกพื้นที่กำหนดในสัญญาจ้าง ) ไม่ได้กำหนดอายุงานไว้ จึงไม่ต้องรอให้ครบ 2 ปี

         2. เย็นวันเดียวกัน ( 18 มิ.ย.) ผมตอบคำถามผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ที่ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า
             1)  การใช้รถยนต์ส่วนตัว เบิกได้เฉพาะ ผอ.หรือ ส่วนครู พนักงานราชการ ไม่มีสิทธิหรือ  เพราะตามความจริงสมัยนี้ครูใช้รถส่วนตัวไปราชการหมด และรถสองแถวก็ไม่ค่อยมี ไปประชุม เบิกค่ารถโดยสารยังไม่พอค่าน้ำมันรถเลย
             2)  ค่าห้องพัก เมื่อก่อน 800 เดี๋ยวนี้ 900 เบิกได้ไหม
             ผมตอบว่า
             1)  พนักงานราชการก็ขอใช้รถส่วนตัวได้  ดูคำตอบเก่าในข้อ 4 ที่  http://www.gotoknow.org/posts/544585
             2)  ค่าที่พัก  ถ้าเป็นการเดินทางไปราชการ ( ไม่ใช่การฝึกอบรม ) เบิกในลักษณะจ่ายจริงมีใบเสร็จ พักคู่เบิกได้ไม่เกิน 850 บาท  พักคนเดียวเบิกได้ไม่เกิน 1,500 บาท  ดูในข้อ 4 ที่ http://www.gotoknow.org/posts/426724

         3. คืนวันที่ 19 มิ.ย.57 คุณ อภิชาต อามีน ขันธชัย ขรก.ครู กศน.อ.ลาดบัวหลวง ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ตอนนี้อายุราชการ 7 ปี นับรวม กทม. สามารถทำ คศ.2 ได้แล้วใช่ไหม ถ้าสอนไม่ถึง 18 คาบ แต่มีงานในหน้าที่เช่น นิเทศ ฯลฯ ครบ 18 คาบ   อยากดูตัวอย่างหน่อยว่าท่านอื่นๆ ทำกันยังไง (ไม่มีประสบการณ์)  แล้วถ้ากรณีขอย้ายอำเภอ จะทำต่อเนื่องไปเลยหรือว่านับอายุงานใหม่
             ผมตอบว่า
             ( การทำวิทยฐานะครูชำนาญการ ก.ค.ศ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยาฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ด่วนที่สุดที่ ศธ. 0206.4/ว.17 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552 )
             1)  นับอายุราชการ ( ที่ดำรงตำแหน่งครู ) รวมกันได้
             2)  นำภาระงานสอนอื่น มารวมให้ครบ 18 ชั่วโมงตามเกณฑ์ได้
             3)  ถ้ามีการย้าย แต่เป็นครูมีภาระงานสอนตลอด 2 ปีย้อนหลังติดต่อกัน ก็ไม่ต้องนับอายุงานใหม่
             4)  ดูคำตอบเดิมที่
                  - ข้อ 3.1 ที่  http://www.gotoknow.org/posts/476995
                  - ข้อ 3. ที่  http://www.gotoknow.org/posts/543949
                  - ข้อ 1. ที่  http://www.gotoknow.org/posts/493732

         4. คืนวันที่ 20 มิ.ย.57 คุณ กิ่งดาว นิตย ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ผู้ที่เป็น ขรก.ครู จะสอบเป็นรอง ผอ.สถานศึกษา การนับอายุราชการ เพื่อประเมินวิทยฐานะชำนาญการในขณะดำรงตำแหน่งรองผู้อำนายการสถานศึกษา สามารถนับรวมกับตำแแหน่งครูได้ไหม หรือต้องเริ่มนับใหม่เป็นรอง ผอ.สถานศึกษา 2 ปี ถึงจะทำชำนาญการได้
             ผมตอบว่า  เป็นคนละประเภทกัน นำช่วงเวลาที่เคยเป็นครูมารวมด้วยไม่ได้ ต้องเริ่มนับใหม่ เป็นรอง ผอ.สถานศึกษา 2 ปี ถึงจะทำชำนาญการได้

         5. มีผู้ถามผมว่า  ตามที่กำหนดให้ข้าราชการครูที่จะยื่นขอรับการประเมินเพื่อรับวิทยฐานะชำนาญการ ( คศ.2 ) ถ้าวุฒิ ป.ตรี ต้องเป็นครูครบ 6 ปีก่อน แต่ สพฐ.ให้นำช่วงที่เป็นครูจ้างสอน ช่วงที่เป็นพนักงานราชการ มารวมด้วยให้ครบ 6 ปีได้  แล้ว กศน.จะนำช่วงที่เป็นพนักงานราชการตำแหน่งครูอาสาฯหรือครู กศน.ตำบล มารวมด้วยได้ไหม
             เรื่องนี้  ผมถาม จนท.กจ.กศน.เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.56 คำตอบคือ ไม่ได้  โดย ประสบการณ์สอนที่จะนำมาใช้รวมได้นั้น ต้องเป็นประสบการณ์สอนในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าไม่ต่ำกว่าระดับ 3 เช่นเคยเป็น ขรก.ตำแหน่งบรรณารักษ์ปฏิบัติการและทำหน้าที่สอนด้วย ต่อมาโอนเป็นครู สามารถนำช่วงที่สอนตอนเป็นบรรณารักษ์มารวมด้วยได้  แต่ถ้าสอนในช่วงที่ไม่ได้เป็นข้าราชการจะนำมารวมไม่ได้
             ( สำหรับผู้ที่บรรจุหลังวันที่ 20 ก.พ.51 จะแต่งตั้งให้เป็นตำแหน่งครูเมื่อผ่านการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม 2 ปี ไม่แต่งตั้งย้อนหลังตั้งแต่วันบรรจุ  ซึ่ง ก.ค.ศ.แจ้งเมื่อเดือน ส.ค.53 ว่า การนับช่วงเวลาให้นับเฉพาะช่วงที่เป็นครู ไม่นับช่วงที่เป็นครูผู้ช่วย ฉะนั้น แม้แต่การสอนในช่วงที่เป็นครูผู้ช่วยยังนำมารวมด้วยไม่ได้เลย  ปัจจุบันถ้าวุฒิ ป.ตรี ต้องบรรจุครบ 8 ปี จึงจะทำชำนาญการได้ เพราะรวมตอนเป็นครูผู้ช่วยอีก 2 ปี  ที่ว่า สพฐ.ให้นำมารวมด้วยได้นั้น คงเป็นข้อมูลเก่าก่อน ส.ค.53 )

         6. เย็นวันที่ 23 มิ.ย.57 ผมตอบคำถามที่ ครูเด่น สบเมย ขรก.ครู กศน.เขตพระโขนง ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า
             1)  ในกรณีที่ รักษาการ ผอ.กศน.ไม่อยู่ เหลือข้าราชการครู คศ.1 คนเดียว สามารถเซนต์หนังสือราชการบางเรื่องได้หรือไม่เช่น อนุมัติแผน หนังสือโต้ตอบราชการทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน บุคลากร
             2)  มี ผอ.รักษาการจำนวน 1 คน ซึ่งอยู่อำเภอข้างเคียง สามารถแต่งตั้งข้าราชการอีก 1 คน เป็นผู้ช่วยรักษาการได้หรือไม่ (เพื่อลดภาระและขั้นตอนการเดินทางนำหนังสือราชการทั่วไปให้ ผอ.รักษาการที่อยู่ต่างอำเภอช่วยเซนต์เอกสาร)
             ผมตอบว่า   1) ไม่ได้,  2) ไม่ได้
             ถ้าแต่งตั้งผู้รักษาการไว้มากกว่า 1 คน คนที่รักษาการต้องเป็นคนที่ 1 เท่านั้น ไม่ใช่ใครลงนามก็ได้ และไม่ใช่ให้สลับกันรักษาการคนละครั้ง  ส่วนคนที่ 2 จะรักษาการได้ก็ต่อเมื่อคนที่ 1 ไม่สามารถรักษาการได้ เช่นไปราชการต่างจังหวัด  แต่การอยู่อำเภออื่นไม่ใช่รักษาการไม่ได้ เพราะถ้าอยู่อำเภออื่นแล้วรักษาการไม่ได้ จะแต่งตั้งเขาทำไม  ( ดูคำตอบเดิมที่เกี่ยวข้องในย่อหน้าสุดท้ายของข้อ 1. ที่  http://www.gotoknow.org/posts/517947   ผอ.คนเก่าที่ กศน.อ.ผักไห่ ก็เคยทำไม่ถูก แต่ผมไม่กล้าบอก เกรงจะคิดว่าผมอยากรักษาการ )

         7. วันที่ 25 มิ.ย.27 คุณ อรัญญา จิตมะโน ถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  หลักสูตรผู้ไม่รู้หนังสือจำนวนที่จัดกี่ชั่วโมง  ต้องทำแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยหรือปล่าว
             เรื่องนี้  ดร.รุ่งอรุณ กลุ่มพัฒนา กศน.บอกว่า  หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นใหม่ ก็ยังเป็นหลักสูตร 200 ชั่วโมงเหมือนเดิม  ( หลักสูตรใหม่นี้ได้รับอนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ค.57 จะนำขึ้นเว็บต่อไป )   ส่วนเรื่องการประเมินฯ แล้วแต่สถานศึกษา  จะให้มีการทดสอบก่อนเรียนหลังเรียนหรือไม่ก็แล้วแต่แต่ละสถานศึกษา

วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา, ซื้อวัสดุฝึกเป็นสิ่งมีชีวิตเช่นลูกสัตว์ไม่ได้?, เตรียมประเมินตัวบ่งชี้ที่ 5.1 อย่างไร, จะตั้งแหล่งเรียนรู้(ชุมชนอ่านสร้างสุข), อายุราชการ ขรก.ครูที่เคยเป็นพนักงานราชการ, โปรแกรมคำนวณบำเหน็จบำนาญ, ผอ.กศน.อ. ออกใบรับรองเงินเดือน?



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 9 มิ.ย.57 คุณ ยุทธนา ถาวร ครู กศน.ตำบล กศน.อ.บ้านม่วง ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาประจำปี ใช้ประโยคไหนถูกครับ
             - แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาประจำปี 2555
             - แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาประจำปีการศึกษา 2555
             - แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาประจำปีงบประมาณ 2555

             ผมตอบว่า   หมายถึงแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั่วไป ที่ทุกสถานศึกษาต้องทำใช่ไหม   การทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษานี้ ปกติจะทำเป็นปีงบประมาณหรือปีการศึกษาก็ได้ แต่ของ กศน.เรา ทำเป็นปีงบประมาณนะ ( โรงเรียนในระบบทำเป็นปีการศึกษา )
             แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษานี้ เป็นแผนระยะกลาง ( 3-5 ปั ) ไม่ใช่แผนปีเดียวนะ
             แผนปฏิบัติการประจำปี ( ทำครั้งละปีเดียว ) ต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาก่อน จากนั้นจึงดึงข้อมูลในแผนพัฒนาฯนี้ ไปทำแผนปฏิบัติการแต่ละปี  ซึ่ง กศน.เราทำแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ ฉะนั้นเราจึงต้องทำแผนพัฒนาฯเป็นประจำปีงบประมาณด้วย จึงจะสอดคล้องกัน  และสอดคล้องกับนโยบายจุดเน้นเป้าหมายต่าง ๆ ที่ กศน.เรากำหนดนโยบายจุดเน้นเป้าหมายต่าง ๆ เป็นปีงบประมาณ
             ในชื่อแผนฯ จะมีคำว่า "ประจำปีงบประมาณ" ด้วยหรือไม่ก็ได้
             กลุ่มพัฒนา กศน. เคยทำหนังสือ "เค้าโครงแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา และรายงานการประเมินตนเอง" ไว้  มีตั้งแต่ชื่อแผนฯ  ดาวน์โหลดได้ที่ http://202.143.137.99/ebookzzzzz/planandsar/files/planandsar.pdf  หรือที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/planandsar.pdf   ( ในเล่มนี้มีเค้าโครง 2 เรื่องต่อกัน แต่เวลาทำจริง ๆ ต้องแยกทำคนละเล่มนะ  โดยเฉพาะในส่วนของเค้าโครงรายงานการประมาณตนเองนั้น ไม่ต้องดูในเล่มนี้แล้ว ส่วนนี้ล้าสมัยแล้ว )


         2. วันเดียวกัน ( 9 มิ.ย.) มีครู กศน.ตำบล โทร.มาถามผมว่า  จะเปิดสอนวิชาชีพระยะสั้น วิชาการเลี้ยงปลาดุก ( ใช้หลักสูตรของศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ) โดยจะซื้อวัสดุฝึกเป็นลูกปลาดุก แต่ จนท.การเงิน สนง.กศน.จ.กำแพงเพชร บอกว่า ซื้อสิ่งมีชีวิตไม่ได้ เพราะเมื่อเลี้ยงโตแล้วจะต้องมีที่ไป เช่นจำหน่ายนำเงินเข้ารายได้แผ่นดิน ... ถามว่า ระเบียบเป็นอย่างไร

             เรื่องนี้  ผู้ตรวจสอบภายใน กศน. บอกว่า
              “ถ้ามีหลักสูตร มีโครงการที่ได้รับอนุมัติ ก็ซื้อสิ่งมีชีวิตได้ แต่ เมื่อเลี้ยงโตแล้วจะมีปัญหาตามที่ จนท.การเงิน สนง.กศน.จ.กำแพงเพชรบอก คือต้องมีที่ไปที่ถูกระเบียบ ( จะบอกว่าเลี้ยงไม่รอด ตายหมดเลย ก็คงไม่ใช่ ) เช่น ถ้าสามารถจำหน่ายผลผลิตนำเงินเข้าเป็นรายได้แผ่นดินได้ ก็ไม่มีปัญหา  แต่ถ้าจะทำไม่ได้ก็อาจมีปัญหา
             ในทางปฏิบัติ บางแห่งจะยกผลผลิตให้ผู้เรียน แต่สิ่งที่ปฏิบัติกันนั้นไม่ถูกระเบียบ  ( ที่เคยมีโครงการจะให้อุปกรณ์การประกอบอาชีพแก่ผู้เรียนนั้น ไม่ได้รับอนุมัติจาก ครม.)  โดยเฉพาะถ้าทั้งลูกปลาและอาหารปลา ซื้อด้วยเงินราชการ จะยกผลผลิตให้ผู้เรียนไม่ได้  เมื่อมีผู้ทักท้วงก็ต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไร
             บางแห่งใช้วิธีทำหลักฐานเป็นซื้อวัสดุสิ้นเปลืองอื่น ( ก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกระเบียบนะ )


         3. วันที่ 11 มิ.ย.57 คุณ อภิชญาลักษณ์ ตันชูชีพ กศน.เฉลิมพระเกียรติ ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ขอแนวทางในการเตรียมประเมินภายนอกของตัวบ่งชี้ที่ 5.1
             ผมตอบว่า   ตัวบ่งชี้ที่ 5.1 "ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานคณะกรรมการจะได้ข้อมูลมาจาก สมศ. ( สมศ.ได้ข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของแต่ละสถานศึกษามาจาก สทศ.)  ที่จริงมีวิธีที่เราสามารถคำนวณข้อมูลเองได้แต่ค่อนข้างยุ่งยากและไม่จำเป็น
             สิ่งที่ควรเตรียมไว้คือ
             1) ผลการสอบ N-NET ทั้ง 3 ระดับ
             2) งาน/โครงการ/กิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น
                 - การปรับพื้นฐานก่อนเรียน
                 - การสอนเสริม
                 - การจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
                 - โครงการพัฒนาศูนย์การเรียนชุมชนให้มีชีวิต
                 - กิจกรรมวิเคราะห์ศักยภาพของผู้เรียนเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ของผู้เรียน
                 - กิจกรรมแนะแนวการเรียนรู้
                 - การนำเสนอผลงานของผู้เรียน การประกวดโครงงาน
                 - กิจกรรมส่งเสริมและตอบสนองความสามารถพิเศษ ความคิดสร้างสรรค์ และความถนัดของผู้เรียน
                 - การจัดและใช้แหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกสถานศึกษา
                 - การนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผล สรุปและรายงานผล ตามวงจร PDCA
                 เป็นต้น
             คะแนนตัวบ่งชี้ที่ 5.1 นี้ จะได้จากโปรแกรมการคำนวณของ สมศ.   การเตรียม งาน/โครงการ/กิจกรรม ตามข้อ 2) ไว้ เป็นเพียงส่วนประกอบสำหรับโชว์กรรมการ



         4. เย็นวันที่ 13 มิ.ย.57 คุณ Nok Nong ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า กศน.อำเภอ สามารถออกคำสั่ง/ประกาศ แต่งตั้งแหล่งเรียนรู้ในชุมชนได้หรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะสถานที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอยู่ก่อนแล้วแต่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น

             ผมตอบว่า   ทำไมต้องประกาศจัดตั้งด้วยล่ะ ปกติก็แค่สำรวจรวบรวมไว้ในทำเนียบ/ทะเบียน   ถ้าจะจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนชุมชน กศน.อำเภอสามารถจัดตั้งได้  ( คำว่า แต่งตั้ง ใช้กับคน ไม่ใช้กับหน่วยงาน/อาคารสถานที่ )
             คุณ Nok Nong บอกต่อ ว่า  กำลังสับสนกับการสำรวจข้อมูลชุมชนอ่านสร้างสุข ในส่วนของการสำรวจข้อมูลของแหล่งเรียนรู้พร้อมคำสั่งแต่งตั้งอ้างอิง  ก้อเลยสงสัยการดำเนินการว่าจะทำอย่างไร เพราะแหล่งเรียนรู้นี้เป็นของมูลนิธิในชุมชน
             ผมตอบว่า  เรื่องชุมชนอ่านสร้างสุข เขาหมายถึง สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้เอง โดยเปิดให้ ผู้เรียน/ชุมชน/เครือข่าย เข้ามาเรียนรู้ภายในสถานศึกษา  อาจจะออกประกาศประชาสัมพันธ์ให้ ผู้เรียน/ชุมชน/เครือข่าย ทราบและเข้ามาเรียนรู้ และออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการบริหารจัดการในส่วนนี้


         5. คืนวันเดียวกัน ( 13 มิ.ย.) คุณ ยุทธนา ถาวร ครู กศน.ตำบล กศน.อ.บ้านม่วง ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  คนที่เป็นพนักงานราชตั้งแต่อายุ 30 ปี ถึงอายุ 37 ปี แล้วมาบรรจุตำแหน่งครูผู้ช่วย อายุ 38 ปี จนถึงอายุ 60 ปี  อายุราชการจะกี่ปี นับรวมกันไหม แล้วจะมีผลกับบำเหน็จบำนาญอย่างไร

             ผมตอบว่า   ไม่นับรวม แต่เริ่มนับหนึ่งใหม่เมื่อบรรจุตำแหน่งครูผู้ช่วย  ถ้าบรรจุตำแหน่งครูผู้ช่วยเมื่ออายุ 38 ปี จนถึงอายุ 60 ปี ปกติก็จะมีอายุราชการ 22 ปี รับบำเหน็จ  ถ้าอายุราชการ 25 ปีขึ้นไปจึงจะเลือกได้ว่าจะรับบำเหน็จหรือบำนาญ  ส่วนบำนาญในช่วงที่เป็นพนักงานราชการแยกรับต่างหาก
             ( ข้าราชการไม่ต้องคอยต่อสัญญาทุก 4 ปี เงินเดือนขึ้นปีละ 2 ครั้ง  ไม่ถึง 10 ปีก็จะเริ่มแซงพนักงานราชการ  และอัตราบำเหน็จบำนาญของพนักงานราชการก็ไม่มาก )


         6. คืนวันเสาร์ที่ 14 มิ.ย.57  ผมนำโปรแกรมคำนวณบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ไปเผยแพร่ต่อ ในเฟซบุ๊ค ดังนี้

             โปรแกรมคำนวณบำเหน็จบำนาญข้าราชการปกติ อย่างง่าย ๆ  ที่  http://www.fpo.go.th/S-I/Source/GPCalculate/GPCalculate.php 
             เพียงกรอกข้อมูลไม่กี่ช่อง
             1. ชื่อ  กรอกอย่างไรก็ได้
             2. เลือก เป็นสมาชิก กบข.” (ถ้าจะไม่ลาออก) หรือ ไม่เป็นสมาชิก กบข.” (ถ้าจะลาออก)
             3. กรอกวันเกิด และวันบรรจุราชการ ในลักษณะ วว/ดด/ปปปป  เช่น 14/09/2515
             4. เลือกว่า จะอยู่ถึงเกษียณ หรือ เออร์ลี่ (จะเออร์ลี่เมื่อไร)
             5. เลือกให้คำนวณ บำเหน็จ หรือ บำนาญ
             6. กรอกเงินเดือนสุดท้าย ( ประมาณ )
             7. คลิกที่ คำนวณ
              ( ลองคำนวณบำเหน็จ บำนาญ แบบต่าง ๆ เปรียบเทียบกันดู เช่น แบบลาออก กับไม่ลาออกจาก กบข. ส่วนต่างบำนาญเดือนละเท่าไร รวมปีละเท่าไร ถ้าอายุยืนถึง 65-70 ปี ส่วนต่างเป็นเท่าไร เกินส่วนที่จะได้จาก กบข.เท่าไร )


         7. วันที่ 18 มิ.ย.57 คุณ Jintana Usin จาก กทม. ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การขอใบรับรองเงินเดือนของพนักงานราชการ เคยเห็นหนังสือมอบอำนาจว่า ผอ.อำเภอ/ผอ.เขต สามารถลงนามให้กับครู กศน.ตำบล ได้เลยใช่ไหม  ถ้ามีหนังสือฉบับการมอบอำนาจ ขอดูเป็นตัวอย่างได้ไหม  มีการถกเถียงของ รก. ว่า ผอ.อำเภอ ลงนามไม่ได้ อ้างว่า นิติกรกรมบอกว่าผิดถ้า ผอ.อำเภอลงนาม

             ผมตอบว่า

             ดูคำตอบเก่า ในข้อ 5.3 ที่  http://www.gotoknow.org/posts/535023
             และดูข้อ 2 ในคำสั่งมอบอำนาจ ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/guarantee.pdf


วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

1.ใบ รบ.หลักสูตร EP, 2.กำหนดภาระงานสอนขั้นต่ำของ ขรก.ครู กศน., 3.ท่านเลขาฯห้ามสอนทำน้ำยาเอนกประสงค์?, 4.เทียบระดับฯสัมมนาวิชาการแพง, 5.กศน.จังหวัด/อำเภอใด ขนาดใด, 6.คำย่อต่างๆของ กศน., 7.ไม่อบรม จะต่ออายุใบครูได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 4 มิ.ย.57 คุณ ตะวัน ยอแสง ถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  เทอม 1/2557 หลักสูตร English Program จะจบหลักสูตรแล้ว  ใบ รบ.ใช้แบบไหน (มีเฉพาะ) และออกเป็น 2 ภาษา คือ ไทยและอังกฤษหรือไม่
             ผมตอบว่า   ใบ รบ. หลักสูตร EP เหมือนกันกับหลักสูตรปกติ สามารถออกได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษเช่นเดียวกัน  ( มีแนวคิดให้ประทับคำว่า “English Program” ลงไปในใบ รบ. แต่ตอนนี้ยังไม่มีแนวปฏิบัติแจ้งออกมา )

         2. ท่านหัวหน้าหน่วย ศน. Pong Angkana บอกว่า ที่นิเทศมาพบว่าส่วนใหญ่ ขรก.ครูไม่เคยทราบเรื่องการเทียบเคียงการสอนที่ไม่ใช่การสอนในห้องเรียน ไม่เข้าใจและกังวล   ให้ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค   ผมจึงเผยแพร่เรื่องกำหนดภาระงานสอนขั้นต่ำของข้าราชการครู กศน. ในเฟซบุ๊ค เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.57 ดังนี้
             ก.ค.ศ. ได้กำหนดภาระงานสอนขั้นต่ำของ ขรก.ครู กศน. ไว้เมื่อปี 2553 โดยกำหนดจำนวนชั่วโมง ภาระงานสอนไว้ว่า ไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมง/สัปดาห์
             ( ผู้ที่ทำผลงานวิชาการขอเลื่อนวิทยฐานะ ถ้าระบุภาระงานสอนต่ำกว่า 18 ชั่วโมง/สัปดาห์ จะไม่ผ่าน )
             แต่ภาะงานสอนนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็น การสอนอย่างเดียว แต่แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
             1)  ชั่วโมงสอนตามตารางสอน  ไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง/สัปดาห์
             2)  ภาระงานที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการเรียนการสอน
             3) ภาระงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา
             โดย 2) กับ 3) จะเป็นกี่ชั่วโมงก็ได้ แต่เมื่อรวมกับ 1) แล้ว ต้องไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมง/สัปดาห์
             ซึ่ง แม้แต่ข้อ 1) ชั่วโมงสอนตามตารางสอน ก็ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการสอนในห้องเรียนเท่านั้น แต่หมายถึงการสอนทั้งหมดที่มีตารางกำหนดเวลา เช่น การสอน การฝึกอบรม การสาธิต การเป็นวิทยากรในการจัดประชุมสัมมนาที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การจัดนิทรรศการ การจัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์ การเผยแพร่ความรู้ การแนะแนว การพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ การส่งเสริมสนับสนุนเพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในศูนย์การเรียนและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ และการนิเทศติดตามผลการปฏิบัติงาน
             ทั้งหมดนี้คือชั่วโมงสอนตามตารางสอน ซึ่งต้องรวมไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง/สัปดาห์
             ส่วนข้อ 2) กับ 3) คืออะไร  ดูรายละเอียดพร้อมหนังสือแจ้ง ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/teachwork.pdf

         3. เย็นวันที่ 6 มิ.ย.57 คุณ Mickeymouse FC ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ตามนโยบายที่ท่านเลขาสั่งห้ามทำน้ำยาเอนกประสงค์ต่างๆ  แต่อนามัยในตำบลทำหนังสือขอความอนุเคราะห์วิทยากรและวัสดุอุปกรณ์มาถึง กศน.ให้ไปสอนการทำน้ำยาล้างจานให้กับผู้สูงอายุในชุมชน .. สงสัยว่าถ้าเป็นแบบนี้ กศน.จะจัดให้บริการตามคำขอของหน่วยงานนั้นๆได้ไหม
             ผมตอบว่า   เมื่อวันที่ 8 ก.ย.56 ท่านเลขานุการ กศน. มอบนโยบายปี 57 แก่ผู้บริหาร กศน. ที่หอประชุมประจักษ์วิทยาคม ศาลากลาง จ.หนองคาย หลายเรื่อง เช่น .. งบ ส.ส. ให้โทรหา ส.ส.ด่วน ศูนย์อาชีพชุมชนให้สอนสายอาชีพร่วมกับอาชีวศึกษา เปิดสอนพวกช่างยนต์ ซ่อมคอมฯ ให้มีงานทำมีรายได้ ให้หยุดสอนวิชาต้องห้าม ( น้ำยาล้างจาน ยาสระผม ทำดอกไม้จันทน์ ยาดม ฯลฯ )
             ท่านหมายถึงศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนให้สอนวิชาชีพที่เรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพได้ ส่วนวิชาการทำน้ำยาพวกนี้ถ้ากลุ่มเป้าหมายต้องการจริง ๆ และ กศน.อำเภอจะจัดให้ ก็จัดในหลักสูตรอื่นที่ไม่ใช่การฝึกอาชีพชุมชน เช่น จัดเป็นทักษะชีวิต


         4. คืนวันเสาร์ที่ 7 มิ.ย.57 คุณ เจ๊น้อง อิ๋ง อิ๋ง ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  นักศึกษาเทียบระดับสอบผ่านทั้ง 9 วิชา ต้องผ่านการเข้าอบรม ทำไมต้องออกค่าไช้จ่ายเองทั้งหมดซึ่งมันไม่น้อยเลย อย่างรอบที่ผ่านมาอบรมสามวันสองคืนออกค่าไช้จ่ายไป 2500 บาท ยังไม่รวมค่าเดินทางนะ
             ผมตอบว่า   ที่จริงเขาให้สถานศึกษากับผู้ที่ผ่านทั้ง 9 วิชา ตกลงร่วมกันว่าจะสัมมนาวิชาการเรื่องอะไรที่ไหนค่าใช้จ่ายเท่าไร แล้วผู้จะเข้าสัมมนาทุกคนเฉลี่ยกันออก  ถ้าเราเห็นว่ามากไปก็เสนอในช่วงที่ตกลงกัน   ถ้าจัดในโรงแรมก็แพงหน่อยเป็นธรรมดา อาจลงมติตามเสียงส่วนใหญ่  ( ถ้าสถานศึกษากำหนดเองเลย ก็ไม่ค่อยเป็นไปตามหลักการ )   แต่ถ้าบางสถานศึกษามีผู้ผ่าน 9 วิชาจำนวนน้อย จัดสัมมนาวิชาการเองยิ่งจะสิ้นเปลืองมาก จะส่งไปรวมสัมมนากับสถานศึกษาอื่น ก็ต้องเป็นไปตามที่สถานศึกษาอื่นนั้นเขากำหนดกัน

         5. ดึกวันเดียวกัน ( 7 มิ.ย.) คุณ ช. เมืองใจ (น้อย) กศน.จ.นครราชสีมา ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  ขนาดของ กศน.ใช้เกณฑ์กำหนดอย่างไร ใช้ตำบลเป็นเกณฑ์หรือเปล่า แล้วจะหาเอกสารการกำหนดขนาดได้ที่ไหน
             ผมตอบว่า   หมายถึงขนาด กศน.จังหวัด, กศน.อำเภอ ที่กำหนดโดย ก.ค.ศ.เพื่อเป็นกรอบโครงสร้างจำนวนบุคลากรใช่ไหม   เกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งไม่ได้ใช้จำนวนตำบล จำนวนอำเภอ อย่างเดียว  แต่ใช้ข้อมูลอื่น เช่น จำนวนประชากร ขนาดพื้นที่ ด้วย  โดยให้คะแนนแต่ละข้อมูลแล้วนำคะแนนมารวมกัน จากนั้นแบ่งขนาดตามคะแนนรวมว่า ช่วงคะแนนรวมเท่าไรเป็นขนาดใด
             สรุปออกมาเป็นเอกสาร ระบุแต่ละแห่งเลยว่า ที่ไหนเป็นขนาดไหน
             ดูเรื่องการกำหนดขนาดนี้ได้ ในข้อ 1 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/03/40.html
             ( ถ้าหมายถึงขนาดที่กำหนดโดย สมศ. เพื่อการพิจารณาจำนวนกรรมการประเมิน  จะแบ่งขนาดตามจำนวนตำบล แต่ตอนหลังไม่ว่าจะขนาดใดก็ใช้กรรมการประเมิน 3 คน )

         6. วันอาทิตย์ที่ 8 มิ.ย.57 ผมเผยแพร่เรื่องคำย่อต่าง ๆ ของ กศน. ในเฟซบุ๊ค ว่า
             คำย่อเหล่านี้ ใช้ใน หนังสือราชการ/เอกสารราชการ ต่าง ๆ ได้ เพราะ มีกฎหมายรองรับ คือ
             - ข้อ 1-4 กำหนดโดย พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551  ที่
                https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/prbNFE51.pdf
             - ข้อ 5- 20 กำหนดโดย ประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของสถานศึกษา  ที่
                https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/EducationAuthority.pdf


 

         7. วันที่ 9 มิ.ย.57 คุณ Nok Nong ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การอบรมคุณธรรมจริยธรรมของคุรุสภาที่ผ่าน สพท. บังคับทุกคนหรือเปล่า  บางคนพูดว่าต้องผ่านการอบรมและได้รับวุฒิบัตรของคุรุสภาเท่านั้น จึงจะเอาไปแนบขอต่ออายุใบประกอบวิชาชีพได้  สามารถใช้วุฒิบัตรอื่นแทนได้ไหม
             ผมตอบว่า   ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู กรณีที่เป็นครูอยู่ ต้องมีคุณสมบัติครบ 3 ด้าน คือ
             ก. วุฒิ
             ข. การพัฒนาตนเองใน 5 ปีที่ผ่านมา
             ค. การประพฤติตนตามจรรยาบรณ
             ดูรายละเอียดในข้อ 7 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/01/ksm.html
             สำหรับข้อ ข.การพัฒนาตนเอง  ต้องพัฒนาตนเองอย่างน้อย 3 กิจกรรม จากทั้งหมด 12 กิจกรรม  ซึ่งการอบรมที่ได้รับวุฒิบัตรของคุรุสภา เป็นกิจกรรม 1 ใน 12 กิจกรรม ( อยู่ในกิจกรรมที่ 2 "เข้ารับการอบรมและได้รับวุฒิบัตรแสดงความชำนาญในการประกอบวิชาชีพของคุรุสภา" )
             ถ้าเราพัฒนาตนเองในกิจกรรมอื่นครบ 3 กิจกรรมแล้วก็ไม่ต้องทำกิจกรรมที่ 2 นี้
              ( เฉพาะกิจกรรมที่ 2 นี้ ก็มีให้เลือกหลายหลักสูตร เช่นหลักสูตร "การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้" ที่สถาบันการศึกษาทางไกล กศน.จัดร่วมกับคุรุสภาอยู่ )