วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

1.การสอบซ่อม, 2.นโยบายปี 58/การปฏิบัติไม่ถูกต้องที่ผ่านมา, 3.นายทะเบียนเคร่งครัดไปไหม (หลักฐานการสมัคร), 4.การแยกเครื่องคอมฯ (โปรแกรม ITw ), 5.การเรียนแบบทางไกล, 6.ทำรายงานผู้สำเร็จการศึกษา 2 ชุด, 7.ห้ามซื้อ/จ้างวิธีพิเศษก่อนดำเนินการวิธีอื่น



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันอาทิตย์ที่ 12 ต.ค.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่อง ระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการสอบซ่อม เช่น สอบซ่อมได้แค่ 3 คะแนน ทำไมเกรดยังขึ้นเป็น 1  ดังนี้

             ก.  หนังสือ คู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2555)ปกสีเลือดหมู  ที่ส่งให้ กศน.อำเภอทุกแห่ง เมื่อต้นเดือน ธ.ค.55
                  - หน้า 37 ข้อ 1.4  กำหนดว่า 
การประเมินซ่อม สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนที่
ไม่ผ่านการประเมินรายวิชา เข้ารับการประเมินซ่อม ด้วยวิธีการที่หลากหลาย  ( หมายถึงประเมินซ่อมได้หลายวิธี )  เช่น การทดสอบ หรือการมอบหมายให้ทำรายงานเพิ่มเติม หรือการจัดทำแฟ้มสะสมงาน หรือการเข้าร่วมกิจกรรม หรืออื่น ๆ  ตามที่สถานศึกษากำหนด  โดยให้ค่าระดับผลการเรียนไม่เกิน 1
                  - หน้า 44 ข้อ 6)  กำหนดว่า 
การประเมินซ่อม ผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินซ่อมคือ ผู้เรียนที่เข้าสอบปลายภาคเรียนแต่ผลการประเมิน
ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลรายวิชา  โดยให้ผู้เรียนเข้ารับการประเมินซ่อมตามวัน เวลา สถานที่ และวิธี ที่สถานศึกษาหรือต้นสังกัดกำหนด

             ข.  หนังสือราชการ สำนักงาน กศน. แจ้งเมื่อ ม.ค.52 กำหนดในข้อ 3 ว่า  การสอบซ่อม  ให้สถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ แต่จะต้องมีกระบวนการและการดำเนินงานให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งจังหวัด โดยให้ดำเนินการซ่อมให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์

             สรุปคือ
             1)  สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนที่ไม่ผ่านการประเมินรายวิชา เข้ารับการประเมินซ่อม   การไม่ผ่านการประเมินรายวิชา ปัจจุบันมี 2 กรณี ได้แก่

                  - คะแนนรวมระหว่างภาคกับปลายภาคไม่ถึง 50 คะแนน  หรือ

                  - คะแนนปลายภาคไม่ถึง 12 คะแนน ( เฉพาะวิชาบังคับ  ส่วนวิชาเลือกสถานศึกษาจะกำหนดอย่างไรหรือไม่ก็ได้ )
                 
ให้ประเมินซ่อมเหมือนกันทั้ง 2 กรณีนี้  ( นศ.ที่ไม่เข้าสอบปลายภาค ต้องได้เกรด 0 ไม่มีสิทธิประเมินซ่อม )

             2)  การประเมินซ่อม ( ทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก ) ทำได้หลายวิธี เช่น การสอบซ่อม หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ ก็ได้ แต่ให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งจังหวัด คือ ถ้าเป็นรายวิชาเดียวกัน ให้ประเมินซ่อมด้วยวิธีเดียวกันทั้งจังหวัด ถ้าจะใช้วิธีสอบซ่อม ก็ใช้ข้อสอบฉบับเดียวกัน จะเป็นข้อสอบปรนัย หรืออัตนัย หรือผสม ก็ได้

             3)  การประเมินซ่อม เป็นการเปลี่ยนคะแนนปลายภาค  ( คะแนนปลายภาคเดิม ไม่ว่าจะได้เท่าไรก็ตัดทิ้งไปเลย ใช้คะแนนการประเมินซ่อมแทน )  ส่วนคะแนนระหว่างภาคจะเป็นไปตามเดิม การประเมินซ่อมจะมีคะแนนเต็ม 40 คะแนน ไม่จำเป็นต้องได้ 12 คะแนนอีกแล้ว แต่ต้องรวมกับคะแนนระหว่างภาคเดิมแล้วได้ 50 คะแนนขึ้นไป จึงจะได้เกรด 1  ถ้ารวมกับคะแนนระหว่างภาคเดิมแล้วได้ไม่ถึง 50 คะแนน ก็ได้เกรด 0
                  ( เมื่อไม่จำเป็นต้องได้ถึง 12 คะแนน อาจทำให้ นศ.ที่มีคะแนนระหว่างภาคถึง 50 คะแนนอยู่แล้ว ไม่ตั้งใจทำข้อสอบประเมินซ่อม เพราะได้ 0 คะแนนก็ผ่าน บางสถานศึกษาจึงกำหนดว่า การประเมินซ่อมต้องได้อย่างน้อย 5 คะแนน ซึ่งก็สามารถกำหนดได้ )   ถ้าได้คะแนนระหว่างภาค 30 คะแนน การประเมินซ่อมต้องได้อย่างน้อย 20 คะแนนจากคะแนนเต็ม 40 จึงจะได้เกรด 1 ถ้าได้ต่ำกว่า 20 คะแนนก็ได้เกรด 0

             4)  เคยมีผู้เสนอว่า ถ้าคะแนนระหว่างภาคต่ำ โอกาสที่ประเมินซ่อมแล้วผ่านจะมีน้อย ควรให้ทำโครงงานเพิ่มคะแนนระหว่างภาค โดยแก้คะแนนเก็บที่โปรแกรม IT ด้วย เพื่อให้รวมกับคะแนนซ่อมแล้วได้ 50 เป็นการช่วย นศ.อีกทางหนึ่ง   เรื่องนี้ ไม่มีระเบียบให้ซ่อมคะแนนระหว่างภาค ถ้าจะเพิ่มคะแนนระหว่างภาคก็เป็นเรื่องภายในสถานศึกษา ซึ่งที่ถูกที่ควรการให้ทำโครงงานหรือทำอะไรเพื่อจะได้เพิ่มคะแนนระหว่างภาค ต้องดำเนินการก่อนที่จะบันทึกคะแนนระหว่างภาค

             5)  มีผู้ถามว่า จะกำหนดให้ครู ให้คะแนนระหว่างภาคไม่ต่ำกว่า 38 คะแนน ได้หรือไม่   เรื่องนี้ คะแนนไม่ได้เป็นไปตามที่ครูให้ แต่คะแนนต้องเป็นไปตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน  ถ้าเรากำหนดเพื่อช่วยมากไป นศ.จะเห็นว่า ยังไง ๆ ก็จบทุกคนพร้อมกันหมด ส่งผลให้ มีนักศึกษามาพบกลุ่ม/ตั้งใจเรียนรู้ จำนวนลดลงทุกปี

             กรณีการคีย์คะแนนประเมินซ่อมในโปรแกรม
ITw
ถ้าคีย์คะแนนประเมินซ่อมแล้วไม่มีเกรดขึ้นมา ก็คือ เกรดเป็น 0 ( จะไม่ปรากฏในใบ รบ. ) โดยถ้าคะแนนระหว่างภาค รวมกับคะแนนสอบซ่อม ไม่ถึง 50 จะไม่มีเกรดขึ้นมา ( เกรดเป็น 0 ) ถ้าขาดสอบซ่อม ก็ไม่ต้องคีย์ข้อมูลใดลงไป ปล่อยว่างไว้ ซึ่งก็จะไม่มีเกรดขึ้นมา 

         2. วันเสาร์ที่ 18 ต.ค.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องนโยบายและข้อตกลงเบื้องต้นในการดำเนินงานปี 2558 ( บรรยายโดย ท่านสุรพงษ์ จำจด รองเลขาธิการ ) และ เรื่องการปฏิบัติไม่ถูกต้องที่ผ่านมา ( บรรยายโดย นายสัจจา วงศาโรจน์ ผอ.กลุ่มการเจ้าหน้าที่ )  ซึ่ง สรุปโดยท่านรองฯ สุพรพรรณ นาคปานเอี่ยม  ดังนี้

             1)  จะทำงานภายใต้กิจกรรม/งานเดิม แต่จะใช้โครงสร้างของ กศน.เป็นตัวนำ ( ทุกหน่วยงานของ กศน.บูรณาการร่วมกัน กลุ่มศูนย์ฯจังหวัดมีบทบาท กศน.ตำบลเป็นฐานการจัดกิจกรรม )
             2)  ค่านิยม 12 ประการ สิ่งที่ต้องดำเนินงานต่อคือ
                  2.1  การจัดค่าย เพื่อปลูกฝังค่านิยมให้เป็นวิถีชีวิต อย่างน้อยอำเภอละ 1 ค่าย โดยใช้ งปม.อุดหนุน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
                  2.2  สอดแทรกค่านิยม 12 ประการในหลักสูตร กศ.ขั้นพื้นฐาน

                  2.3  ประกวดคำขวัญเรื่องค่านิยม
             3)  การพัฒนาคุณภาพในค่ายทหาร  กศน.จะจับมือกับหน่วยทหาร จัดสอน 1 ระดับ + 1 อาชีพ  จังหวัด/อำเภอ เติมสื่อการเรียนรู้ให้มากขึ้น
             4)  ส่งเสริมกิจกรรมรักการอ่าน สร้างกิจกรรมให้มีสีสัน  ( นายกรัฐมนตรีอยากเห็นคนรักการอ่าน  กศน.จึงสานต่อแนวทางการสร้างสังคมแห่งการอ่าน  ส่งเสริม "บ้านหนังสืออัจฉริยะ" ให้เป็น "บ้านหนังสือของชุมชน" )
             5)  กศน.จังหวัดในเขตลุ่มเจ้าพระยา/ลุ่มน้ำแม่กลอง ต้องวางแผน/จัดกิจกรรมรองรับสถานการณ์เกี่ยวกับการปลูกพืชฤดูแล้ง
             6)  ใช้
ETV
ช่วยสอน  เน้นวิชายาก 3 วิชา คือภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์  ออกแบบการสอนให้ง่าย และถ่ายทอดให้ครูนำมาช่วยสอน โดยจะออกอากาศครั้งแรก วันที่ 9 พย.57 ( ประชุมชี้แจงสถานศึกษา/ผู้เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมก่อนออกอากาศ )
             7)  จะนำคูปองการศึกษา มาใช้ในการจัดการศึกษา กศน.ร่วมกับสถานประกอบการ
             8)  การจัดสรรเงินรายหัวที่เป็นงบปกติ  งบที่สถานศึกษาได้รับจัดสรรได้น้อยกว่ายอดรายหัวจริง เพราะต้องถูกแบ่งไปจัดสรรเป็นงบสำหรับผู้พิการ
             9)  การทำแผนปฎิบัติงาน ต้องมีข้อมูล และทำในลักษณะของแผนจุลภาคตั้งแต่ระดับตำบล/อำเภอ/จังหวัด
             10)  ศูนย์อาเซียนศึกษา ต้องทำแผนการจัด  หากเตรียมคนให้สามารถสื่อสารได้ในอาเซียนถือว่าประสบความสำเร็จ  จัดอาชีพที่รองรับการนำประชาชนเข้าสู่สังคมอาเซียน
             11)  การศึกษาทางไกล  ขอให้ช่วยกันรับนักศึกษาให้ได้ 100 คนต่อจังหวัด ทั่วประเทศ
             12)  การสร้างอุดมการณ์รักชาติ  จัดเวทีในเรื่องของอุดมการณ์รักชาติ ควบคู่ไปกับค่านิยม 12 ประการ
                   ( สำนักงาน กศน.จะจัดโครงการเสริมสร้างอุดมการณ์รักชาติศาสนาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
                     ในส่วนของกลุ่มภาคกลาง/ตะวันออก/กทม. จะจัดในวันที่ 24 พย.2557 ผู้เข้าประชุมได้แก่ ผอ.จังหวัด/ผอ.อำเภอ ในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออกและ กทม. โดยมอบหมายให้สำนักงาน กศน.กทม. รับผิดชอบในการจัดหาและเตรียมสถานที่ ขอให้เป็นสถานที่ในหน่วยงานราชการเพื่อความประหยัดและเป็นไปตามนโยบายของ รมต.ศธ. )
             13)  งบประมาณจัดสรรไป 2 ไตรมาส  เน้นย้ำเรื่องการเบิกจ่าย โดยไตรมาส 1 ต้องได้ 35 % ไตรมาส 2 ต้องได้ 23 % รวมแล้ว 2 ไตรมาส ต้องเบิกจ่ายได้ไม่น้อยกว่า 58% ของ งปม.ที่ได้รับจัดสรร
             14)  กลุ่มแผนงานจะทำแบบฟอร์มแผนฯให้ แผนต้องลงสู่ตำบล กศน.ตำบล ต้องมีแผนฯ


            
การปฏิบัติไม่ถูกต้องที่ผ่านมา ( บรรยายโดย นายสัจจา วงศาโรจน์ ผอ.กลุ่มการเจ้าหน้าที่ )

             1)  เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง
                  1.1  จัดซื้อในลักษณะ แบ่งซื้อ/แบ่งจ้าง
                  1.2  ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ / เอกสารไม่ครบ / ไม่มีแผนการจัดซื้อจัดจ้าง
                  1.3  ตรวจรับงาน แต่งานไม่เป็นไปตามรายการ
                  1.4  การจัดซื้อจัดจ้างหากเกิน 5,000 บาท ต้องทำในระบบ
PO และหากทดรองจ่ายต้องยืมเงินของทางราชการไม่ควรใช้เงินส่วนตัวทดรองจ่าย
                  1.5  กำหนดราคากลางสูงกว่าราคาท้องตลาด หรือไม่มีการกำหนดราคากลาง  ( รมต.ศธ เน้นย้ำเรื่องความสุจริตโปร่งใส การจัดจ้างวิธีพิเศษไม่เหมาะสม ขอให้ดำเนินการตามระเบียบวิธีการทางพัสดุ  รถยนต์ของทางราชการต้องเก็บในสถานที่ของทางราชการ  การจัดหาสื่อให้มีราคากลาง ให้ยืมเรียนมิให้แจกฟรี  สื่อที่ใช้จัดการเรียนในกศน.ตำบล ขอให้หลากหลาย เหมาะสม )
                  1.6  ไม่ลงทะเบียนควบคุมทรัพย์สิน  หากไม่ลงทะเบียนแล้วทรัพย์สินสูญหายต้องหาผู้ชดใช้

             2. เบิกเงินโดยมิชอบ
                  2.1  เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการไม่ถูกต้อง
                  2.2  ฝึกอบรม  คนมาไม่ครบ แต่เบิกเงิน

             ขอให้หน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัด ดำเนินการด้วยความถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ


             เรื่องเกี่ยวกับการย้าย
             1)  ผอ./รอง ผอ.กศน.จังหวัด  คำสั่งย้ายจะออกภายในสัปดาห์หน้า จึงขอให้เตรียมมอบหมายงาน

             2)  ผอ.กศน.อำเภอ ย้ายภายในจังหวัดก่อน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการและพิจารณาการย้ายให้เป็นธรรมตามหลักเกณฑ์ และดูเรื่องขนาดของสถานศึกษาด้วย

             3)  ขรก.ครูและบรรณารักษ์ จะพิจารณาดำเนินการต่อไป

             4)  จะสอบ บรรณารักษ์ และสอบ รอง ผอ.จังหวัด / ผอ.สถานศึกษา / รอง ผอ.สถานศึกษา อีก







         3. คืนวันอาทิตย์ที่ 19 ต.ค.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่อง กศน.อ.โชคชัย เด่นไม่ค่อยเหมือนใคร แต่นายทะเบียนเคร่งครัดไปไหม ( ..ไม่หรอก )  ว่า

             กศน.อ.โชคชัย บรรยายการไปรับสมัคร นศ.ถึงบ้าน ว่า มาแล้ว ฤดูกาลลงพื้นที่รับสมัครนักศึกษา ทุกประเภท  10 ตำบล 128 หมู่บ้าน หมื่นหลังคาเรือน ใกล้-ไกล ทุรกันดาล เราไปหมดครับ  กระท่อมทุกหลัง บ้านทุกหลังคา  ทุกภาคเรียน ทุกปี เสาร์อาทิตย์ เราไม่หยุด
             จำได้ว่าปีก่อน จัดทีมออกไปกับรถประชาสัมพันธ์รับสมัครถึงบ้าน 3 สาย ลักษณะเดียวกับเซลขายประกันหรือเซลตัดแว่น ทุกสายมีเครื่องถ่ายเอกสารไปด้วย พร้อมที่จะถ่ายเอกสารประกอบใบสมัคร เพราะนายทะเบียนเคร่งครัดเรื่องหลักฐาน
             ปรากฏว่า มีสมาชิกกลุ่มครูนอกระบบบางคนวิจารณ์ว่า นายทะเบียนเคร่งครัดไปไหม เหมาะกับ กศน.ไหม...

             ผมเขียนว่า  มีบางแห่ง ไม่ขอดูใบวุฒิฉบับจริง อีกทั้งยังไม่ส่งสำเนาไปตรวจสอบวุฒิกับสถานศึกษาเดิมด้วย จึงเป็นแหล่งฟอกวุฒิ ( นำใบวุฒิ ม.ต้นปลอม มาเรียน 2 ปี ได้ใบวุฒิ ม.ปลายจริง  ปัจจุบันนี้ใบวุฒิปลอมมีมาก )

             แม้แต่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในหน่วยงานทหาร . กศน.ก็ยังแจ้งเรื่องหลักฐาน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.57  ( ดูหนังสือแจ้งได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/timeout.pdf )  ว่า  ให้ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของหลักฐานก่อนรับสมัคร  แต่สำหรับทหารกองประจำการ ให้สถานศึกษาขยายเวลาในการส่งหลักฐาน ได้ถึง ก่อนประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบปลายภาค 30 วัน แต่ต้องมีผู้บังคับหน่วยหรือผู้บังคับกองพันทำหนังสือขอผ่อนผัน  หากไม่สามารถนำหลักฐานมาส่งตามเวลาที่กำหนด ให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา  ( เพราะทหารเกณฑ์ต้องใช้เวลาติดต่อขอหลักฐานจากทางบ้านที่อยู่ไกล )

         4. ดึกวันเดียวกัน ( 19 ต.ค.57 ) ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องการแยกเครื่องคอมฯ ( โปรแกรม ITw ) ว่า  ทำได้ ถ้าทำเป็น ไม่มีปัญหา..

             การแยกคอมพิวเตอร์ให้ครู กศน.ตำบล ต่างคนต่างบันทึกข้อมูลโปรแกรม ITw ตำบลละเครื่อง ต้อง กำหนดสิทธิในการใช้ระบบงานให้ กศน.ตำบล เข้าบางเมนูไม่ได้ เช่น แก้ไขคะแนนสอบไม่ได้
             มีขั้นตอนดังนี้
             1)  ควร
BACKUP ข้อมูลจากเครื่องอำเภอ ไป RESTORE ในเครื่องตำบล เพื่อจะได้ไม่ต้องไปกำหนดในตารางรหัสใหม่ ซึ่งจะมีปัญหาถ้ากำหนดไม่ตรงกันเช่น กลุ่มเดียวกันแต่กำหนดรหัสกลุ่มหรือชื่อกลุ่มต่างกัน
                  ก่อน
BACKUP ควรเปลี่ยนรหัสผ่านของเครื่องแม่ที่อำเภอ ( เครื่องที่นายทะเบียนมีสิทธิ์แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลได้ทุกเรื่อง ) เป็นรหัสผ่านที่ไม่มีใครรู้ แล้วกำหนดรหัสผู้ใช้-รหัสผ่านของครู กศน.ตำบล ให้แตกต่างจากรหัสผู้ใช้-รหัสผ่านของนายทะเบียน ซึ่งเราสามารถกำหนดรหัสผู้ใช้-รหัสผ่านให้กี่คนก็ได้ อาจจะให้รหัสต่างกันทุกตำบล หรือทุกตำบลใช้รหัสเดียวกันก็ได้ โดยกำหนดสิทธิ์ให้ครู กศน.ตำบลสามารถเข้าเมนูแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลได้เพียงบางอย่าง เช่น เพิ่มประวัติ ลงทะเบียนเรียน

                  - กำหนดรหัสผู้ใช้-รหัสผ่าน ได้ที่เมนู 4 – A – 1 ( บำรุงรักษาระบบ ความปลอดภัยของระบบ กำหนดผู้ใช้งานระบบ )

                  - เมื่อกำหนดรหัสผู้ใช้-รหัสผ่านแล้ว  กำหนดสิทธิในการใช้ระบบงานของแต่รหัส ได้ที่เมนู 4 – A – 3 ( บำรุงรักษาระบบ ความปลอดภัยของระบบ กำหนดสิทธิในการใช้งานระบบ )

                  ตอนที่ BACKUP ข้อมูล ให้ติ๊กให้มีเครื่องหมายถูกหน้า "ข้อมูลผู้ใช้และสิทธิการใช้งาน" (ในหัวข้อ "ประเภทข้อมูล") ด้วย เมื่อ RESTORE ลงเครื่องตำบลก็จะได้ user และ password ทั้งหมดมาด้วย

                  2)  การคีย์ข้อมูลในเครื่องแต่ละตำบล  ถ้าเป็นนักศึกษาเก่าที่มีชื่ออยู่ในโปรแกรมแล้ว แต่ละตำบลก็คีย์ข้อมูลในเครื่องตำบลตามปกติ เพียงแต่ ตอนที่นำข้อมูลออกจากเครื่องฯตำบล ไปรวมที่เครื่องฯอำเภอ ต้อง EXPORT ออกจากแต่ละเครื่อง ทางเมนู 4-3 ( บำรุงรักษาระบบ - นำข้อมูลออก ) แล้วนำข้อมูลไป IMPORT รวมในเครื่องของอำเภอ ทางเมนู 4-7 ( บำรุงรักษาระบบ - นำเข้าข้อมูล ) เท่านั้นเอง  ( ไม่ใช่ BACKUP ไป RESTORE )  การ IMPORT สามารถเลือกได้ว่าจะนำข้อมูลเข้าเครื่องอำเภอเฉพาะข้อมูลใด

                  3)  แต่ถ้าเป็นนักศึกษาใหม่  เมื่อบันทึกข้อมูลเพิ่มประวัติแล้ว ต้องเปลี่ยนรหัสนักศึกษาในแต่ละเครื่องก่อนจะ EXPORT มิฉะนั้นรหัสนักศึกษาของแต่ละตำบลจะซ้ำกัน เพราะแต่ละตำบล รหัสนักศึกษาใหม่จะเริ่มที่รหัส 1 ทุกตำบล   วิธีเปลี่ยนก็ไม่ยาก สั่งเปลี่ยนที่เดียวเป็นช่วงเลย โดยใช้เมนู 1-1-6 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน -บันทึกประวัตินักศึกษา - เปลี่ยนรหัสนักศึกษา ) เช่น ตำบลที่ 1 มี 18 คน (ตำบลที่ 1 ไม่ต้องเปลี่ยน ) ก็เปลี่ยนรหัสนักศึกษาตำบลที่ 2 ให้เริ่มต้นที่รหัส 19 และเปลี่ยนตำบลที่ 3, 4, 5, ... ไปตามลำดับ ( เปลี่ยนรหัสได้เฉพาะคนที่ยังไม่ได้สั่งให้โปรแกรมพิมพ์บัตรนักศึกษานะ ฉะนั้นต้องระวังอย่าพิมพ์บัตรฯก่อนเปลี่ยน )  เสร็จแล้วก็ EXPORT ไป IMPORT เช่นเดียวกัน ( ไม่ใช่ BACKUP ไป RESTORE )

                  ( การแยกคอมพิวเตอร์นี้ ใช้ในกรณีที่นักศึกษาทั้งอำเภอมีมาก คอมฯเครื่องเดียวทำไม่ทัน ส่วนจะกำหนดให้ กศน.ตำบลคีย์ข้อมูลอะไรได้บ้าง ก็แล้วแต่นายทะเบียนและ ผอ. จะกำหนดสิทธิ์ในการใช้ระบบงาน )

         5. ดึกวันที่ 21 ต.ค.57 Sirin Sue ถามผ่านอินบ็อกซ์ผม ว่า  การเรียนแบบทางไกล เวลาที่จะปฐมนิเทศ-ปัจฉิม เวลาสอบ การทำกิจกรรม กพช. สถานที่ทำกิจกรรมต่างๆ คือที่ไหน

             ผมตอบในเบื้องต้นว่า
             - การปฐมนิเทศ  ที่ผ่านมา เขาจะส่งแผ่น CD ปฐมนิเทศไปให้ดูที่บ้าน แต่ส่วนกลางก็จัดปฐมมนิเทศ ใครจะเข้าไปหรือไม่ก็ได้
             - การประเมินผลระหว่างภาค  สอบด้วยข้อสอบอัตนัย ทำที่บ้าน ด้วยลายมือ ส่งทางไปรษณีย์
             - กพช.+ปัจฉิมนิเทศ  ในส่วนของ กพช.นั้น ต่างคนทำกันเอง หรือใครจะทำร่วมกันก็ได้ แล้วรายงานทางไปรษณีย์  80 ชม. และมีการสัมมนาก่อนจบซึ่งเป็นทั้งการปัจฉิมนิเทศและการทำ กพช.อีก 20 ชั่วโมง การสัมมนานี้เพื่อการประเมินคุณธรรมด้วย  โดย 20 ชม.นี้ทุกคนต้องเข้าร่วม แต่จะจัดที่ใดคงต้องดูจำนวน นศ.อีกครั้ง  ส่วน กพช.อีก 100 ชม.นั้น จะให้กับผู้ที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดหลักสูตรครบถ้วนทุกขั้นตอน
             - การสอบปลายภาค  จังหวัดเป็นผู้จัดสอบ
             - ปฏิทินการเรียนแบบทางไกล  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/calenderfared.pdf
             - คู่มือนักศึกษา กศน.แบบทางไกล 
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/faredSTmanual.pdf
             - ไฟล์ป้ายประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่ 
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/JPG/faredPBB.jpg

             สอบถามข้อมูลรายละเอียด ได้ที่เฟซบุ๊ค สถาบัน การศึกษาทางไกล

         6. คืนวันที่ 22 ต.ค.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องการทำรายงานผู้สำเร็จการศึกษา (กศน.3) ซึ่งต้องใช้แบบฟอร์มควบคุมและบังคับแบบ ( ซื้อจากองค์การค้าของคุรุสภา ) ว่า 
             ต้องจัดทำ 2 ชุด ใช้แบบฟอร์มที่ซื้อจากองค์การค้าของคุรุสภาทั้ง 2 ชุด เพื่อเก็บไว้ที่สถานศึกษา 1 ชุด ส่ง สนง.กศน.จ./กทม. 1 ชุด


         7. วันปิยะ 23 ต.ค.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องห้ามซื้อ/จ้างโดยวิธีพิเศษก่อนดำเนินการด้วยวิธีอื่นๆ ว่า
             การจัดหาแบบเรียนและสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ  ห้าม ซื้อ/จ้างโดยวิธีพิเศษก่อนดำเนินการด้วยวิธีอื่นๆ   และถ้ามีแบบเรียน/สื่อมากพอแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องจัดหามาเพิ่มอีก

วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557

1.คุณสมบัติของผู้สมัครสอบเป็นข้าราชการครู กับข้าราชการบรรณารักษ์, 2.การทำ SAR กับค่าขีดจำกัดล่าง, 3.กรอบโครงสร้างการบริหารงาน กศน.อ., 4.การทำสัญญาจ้าง-การค้ำประกัน-การติดอากรแสตมป์, 5.วิธีแก้ปัญหาการจ้างทำการบ้าน, 6.ครู คศ.1 ค้ำประกันครู ศรช.ได้ไหม, 7.ครู ศรช.มี นศ.ไม่ถึง 60 คน เบิกจ่ายอย่างไร



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันอาทิตย์ที่ 28 ก.ย.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่อง คุณสมบัติของผู้สมัครสอบเป็นข้าราชการครู กับ ข้าราชการบรรณารักษ์  ดังนี้

             ถ้าจะสอบเป็นข้าราชการครูต้องมีคุณสมบัติหลัก 2 ข้อ คือ
             1)  มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาที่ ก.ค.ศ.รับรองแล้ว
             2)  มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือ ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน(ไม่ใช่หนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู)
                  เชื่อหรือไม่ คุณวุฒิทางการศึกษาที่ ก.ค.ศ.รับรองแล้ว ปัจจุบันมีมากกว่า 19,000 คุณวุฒิ !

             ในขณะที่ ถ้าจะสอบเป็นข้าราชการบรรณารักษ์ ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทาง บรรณารักษศาสตร์ สารนิเทศศาสตร์ หรือสารสนเทศศาสตร์ เท่านั้น
             ที่ผ่านมา ผู้จะสอบเป็นข้าราชการบรรณารักษ์ มีเพียงวิธีเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยให้จบหลักสูตรปริญญาตรีทางบรรณารักษศาสตร์ สารนิเทศศาสตร์ หรือสารสนเทศศาสตร์ หรือ ให้ได้หน่วยกิตวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ตามที่กำหนด เท่านั้น

             แต่.. ตอนนี้ เรากำลังหาวิธีอื่น แทนการต้องเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยหลักสูตรทางบรรณารักษศาสตร์สารนิเทศศาสตร์หรือสารสนเทศศาสตร์
             คือ สพร.กศน.จะทำหลักสูตรให้บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการที่ไม่จบวุฒิบรรณรักษศาสตรฯ และมีอายุงานครบ 3 ปี เข้าอบรม 300 ชัวโมง และฝึกงาน 100 ชัวโมง เสนอให้ ก.พ.พิจารณา
             ถ้า ก.พ.อนุมัติ ก็จะง่ายกว่าเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยให้จบหลักสูตรปริญญาตรีทางบรรณารักษศาสตร์ฯ

            
( สำหรับคุณวุฒิทางการศึกษาซึ่งเป็นคุณสมบัติการสอบเป็นข้าราชการครู ที่ ก.ค.ศ.รับรองแล้วมากกว่า 19,000 คุณวุฒินั้น มีวุฒิอะไรบ้าง ตรวจสอบได้ในเว็บ ก.ค.ศ. ที่ http://qualification.otepc.go.th/menu.php โดย
             - ชี้ที่ "คุณวุฒิ คลิกที่ รับรองก่อน 6 ก.ย.54"
             - ใส่ชื่อมหาวิทยาลัยในช่อง ค้นหา
             - คลิกที่ปุ่มค้นหา (รูปแว่นขยาย)  ก็จะโชว์วุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง ( อาจมีหลายหน้า ให้คลิกดูทีละหน้า )  ถ้าดูทุกหน้าแล้วไม่มีวุฒิที่หา ให้กลับออกมาแล้วคลิกเข้าไปหาที่ "คุณวุฒิ รับรองหลัง 6 ก.ย.54" ด้วย  ถ้าไม่มีอีก แสดงว่าวุฒินั้นไม่ได้รับการรับรอง  ถ้าไม่แน่ใจให้ติดต่อสอบถาม ก.ค.ศ.


         2. เช้าวันที่ 30 ก.ย.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องการทำ SAR กับค่าขีดจำกัดล่าง ว่า
             ทุก กศน.อำเภอ/เขต ต้องทำ SAR ( รายงานการประเมินตนเอง ) ทุกปี  ตอนนี้ถึงเวลาส่ง SAR ปี งปม.57 แล้ว
             วิธีการคำนวณ ตัวบ่งชี้ที่ 1.5 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพื่อทำ SAR
             - ให้โปรแกรม ITw คำนวณให้ ง่ายนิดเดียว
             - SAR เป็นการประเมินภายใน ใช้ค่าขีดจำกัดล่างของการสอบปลายภาค และเปรียบเทียบ 2 ปีงบประมาณ ( ถ้าเป็นการประเมินภายนอกโดย สมศ. จะใช้ค่าขีดจำกัดล่างของ N-NET และเปรียบเทียบ 2 ปีการศึกษา )
             - ทำ SAR ปีงบประมาณ 2557 ต้องเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างปีงบประมาณ 2557 (ภาค 2/56 และ 1/57 ) กับ ปีงบประมาณ 2556 ( ภาค 2/55 และ 1/56 )
             - เข้าโปรแกรม ITw ไปที่เมนู 1 - A - 1 - 4 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน - รายงาน - รายงานผลการเรียน... - รายงานผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน )

             - จะเห็นว่าโปรแกรมกรอกค่าขีดจำกีดล่างของภาค 2/55 กับ 1/56 ไว้ให้แล้ว ให้เราเลือกปีงบประมาณ 2557 แล้วกรอกค่าขีดจำกัดล่างภาค 2/56, 1/57 เอง โดยใช้ข้อมูลที่ http://www.pattanadownload.com/download/g.2/g2.23.rar
              (ค่าขีดจำกัดล่างคือค่า Y ใน Sheet1 ทศนิยมกรอกเพียง 2 ตำแหน่ง ตัดตำแหน่งที่ 3 ทิ้งไป ไม่ต้องปัด  กรอกเสร็จแล้วอย่าลืมคลิกที่ "บันทึกค่าขีดจำกัดล่าง")
             แค่ เพียงเราคลิกที่ "ตัวอย่างก่อนพิมพ์" หรือ "พิมพ์" เท่านั้น โปรแกรมก็จะคำนวณให้เสร็จเรียบร้อยเลย ในชั่วพริบตา ( ถ้าลงคะแนนสอบปลายภาคไว้ครบถ้วนแล้ว โปรแกรมบวกลบคูณหารให้เอง )
             - ในกรณีที่ค่าขีดจำกัดล่างบางภาคเรียนยังไม่ออก ( เช่น ของภาค 1/57 คงจะออกภายในเดือน ต.ค.57 ) ถ้าต้องรีบส่ง SAR ให้ปล่อยว่างภาคเรียนนี้ไว้ก่อน คำนวณเท่าที่มีไปก่อน แต่เมื่อภายหลังได้ค่าขีดจำกัดล่างแล้ว ต้องเข้ามากรอกในโปรแกรม คำนวณใหม่ ปรับแก้ SAR ในส่วนนี้ใหม่


         3. คืนวันเดียวกัน ( 30 ก.ย.) Yangpara Nara ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ถามอาจารย์เรื่องกรอบโครงสร้างการบริหารงานของ กศน.อำเภอที่ถูกต้อง  พอดีโครงสร้างฯที่ทำและแนบไว้ในแผนปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณนั้น หลายคนที่ทำงานบอกว่ายังไม่ถูกต้อง

         ผมตอบว่า   มีแต่การกำหนด “กรอบอัตรากำลัง” ขรก.ครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ซึ่ง กำหนดเพียงว่า อัตรากำลังแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอำนวยการ กลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ และ กลุ่มภาคีเครือข่ายและกิจการพิเศษ  ( บรรณารักษ์อยู่ในกลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ )  ดูได้ที่

             - จังหวัด-อำเภอเล็กมาก-เล็ก  ( แผนภูมิกรอบทุกขนาดอยู่ในไฟล์แรกนี้ )  http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/815/502/original_framework1.PDF

             - อำเภอกลาง-ใหญ่-ใหญ่พิเศษ  http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/815/503/original_framework2.PDF

             ส่วน “กรอบโครงสร้างการบริหาร” ที่ว่าแต่ละกลุ่มมีภาระงานและบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง นั้น สามารถปรับโครงสร้างได้ตามบริบทของแต่ละแห่งและปรับตามบทบาทภาระหน้าที่ที่เปลี่ยนแปลงตามนโยบาย

         4. วันที่ 2 ต.ค.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่อง การทำสัญญาจ้าง-การค้ำประกัน-การติดอากรแสตมป์ ว่า
            
( สำนักงาน กพ. ตอบว่า ถ้าส่วนราชการทำสัญญาจ้างกรณีไม่ต้องติดอากรแสตมป์ หากให้ปิดอากรแสตมป์ไปแล้ว ส่วนราชการจะต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์คืนให้ )

             การจ้างแต่ละประเภท มีระเบียบต่างกันในเรื่องการทำสัญญา-การค้ำประกัน-การติดอากรแสตมป์ ต้องรู้ก่อนว่า การจ้างนั้นเป็นประเภทใด เช่น
             ก.  การจ้างบุคลากรของส่วนราชการ เช่น ครู ศรช., พนักงานราชการ
             ข.  การจ้างเหมาบริการบุคคลภายนอกตามระเบียบพัสดุ เช่น บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ และอื่น ๆ อีกมากมาย

             1)  การจ้างพนักงานราชการ ไม่ต้องมีการค้ำประกัน เพราะมี "วินัย" ควบคุม ลักษณะเดียวกับข้าราชการ/ลูกจ้างประจำที่ไม่ต้องมีการค้ำประกัน
                  - การจ้างครู ศรช. มีการ "ค้ำประกันการกระทำให้เกิดความเสียหาย" โดยจะใช้บุคคล(ตำแหน่ง) หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้
                  - การจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ เช่น บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ และอื่น ๆ อีกมากมาย ถ้ามีการทำสัญญาจ้าง ต้องมีหลักประกันสัญญา 5 % ตามระเบียบพัสดุกำหนดให้ใช้หลักทรัพย์เป็น "หลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา" ไม่มีระเบียบให้ใช้บุคคลเป็นหลักประกัน

             2)  การจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ เช่น บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ และอื่น ๆ อีกมากมาย  ถ้าวงเงินเกิน 100,000 บาท ต้องใช้วิธีสอบราคา หรือวิธีพิเศษ ตามแต่เหตุผล   ถ้าใช้วิธีสอบราคาต้องทำสัญญาจ้าง  แต่ถ้าใช้วิธีพิเศษจะทำสัญญาหรือใช้ใบสั่งจ้าง ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้จ้าง ( ถ้าเป็นการจ้างที่อาจเกิดความเสียหาย เช่นจ้างพนักงานขับรถ พนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับการเงิน ควรทำสัญญาเพื่อให้มีหลักประกัน  ถ้าไม่ทำสัญญาและเกิดความเสียหายขึ้น หักเงินประกันไม่ได้และถ้าไม่สามารถเรียกชดใช้ค่าเสียหายได้สำเร็จ  ผู้จ้างต้องรับผิดชอบความเสียหายนั้นเอง )   ถ้าทำสัญญาต้องมีหลักประกันสัญญา ถ้าใช้ใบสั่งจ้างก็ไม่ต้องมีหลักประกันสัญญา แต่ก็ยังต้องติดอากรแสตมป์  สามารถทำสัญญา 12 เดือนเลยเพราะปีนี้คงไม่ได้ปรับเปลี่ยนค่าจ้างอีก

             3)  กรณีที่มีการประกันสัญญา เช่น ครู ศรช. และการจ้างตามระเบียบพัสดุ ต้องระบุเรื่องการประกันนั้นไว้ในตัวสัญญาด้วย การประกันจึงจะมีผล ( ทุกอย่างที่แนบท้ายสัญญาต้องระบุไว้ในตัวสัญญา ) เช่น สัญญาจ้างครู ศรช. ระบุไว้ในตัวสัญญาว่า
                  "ข้อ 10 เพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญานี้ ลูกจ้างได้จัดให้มีผู้ค้ำประกันการชดใช้ค่าเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างตามที่ระบุไว้ในข้อ 4. และ ข้อ 9. ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่แนบท้ายสัญญานี้"
                   ( สัญญาพนักงานราชการที่คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการกำหนดตามประกาศที่ https://dl.dropbox.com/u/109014048/Contract.pdf ไม่มีข้อนี้  ซึ่งส่วนราชการต่าง ๆ ต้องใช้แบบสัญญาตามที่คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการกำหนด  นั่นคือ พนักงานราชการไม่ต้องมีการค้ำประกันสัญญา )

             4)  การจ้างบุคลากรของส่วนราชการ เช่น ครู ศรช., พนักงานราชการ ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์  แต่การจ้างเหมาบริการบุคคลภายนอกตามระเบียบพัสดุ เช่น บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ และอื่น ๆ อีกมากมาย ต้องปิดอากรแสตมป์ในสัญญจ้างหรือใบสั่งจ้าง
                   ( การ ซื้อตามระเบียบพัสดุ ก็ไม่ต้องติดอากรแสตมป์  มีแต่การจ้างตามระเบียบพัสดุที่ต้องติดอากรแสตมป์ เช่นเรื่องหนังสือเรียน ต้องดูว่าเป็นการซื้อหนังสือเรียน หรือจ้างพิมพ์หนังสือเรียน  บางอำเภอทำสัญญาซื้อหนังสือที่เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์เอกชนก็ไม่ต้องติดอากรฯ บางอำเภอทำสัญญาจ้างพิมพ์ตามต้นฉบับของที่กำหนดก็ต้องติดอากรแสตมป์ )
                  ถ้าไม่เข้าตาม http://www.rd.go.th/publish/6162.0.html นี้ ไม่ต้องติดอากร  ( การจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ เข้าข้อ 4. จ้างทำของ )

             5)  ในกรณีที่ส่วนราชการทำสัญญาจ้างพนักงานราชการ โดยเรียกให้ปิดอากรแสตมป์ (ซึ่งไม่ต้องปิดอากรแสตมป์) ส่วนราชการจะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อเยียวยาและบรรเทาความเสียหาย ให้แก่พนักงานราชการผู้นั้น"   คำตอบจากสำนักงาน กพ. ที่ http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/index.php?option=com_kunena&func=view&catid=11&id=976&Itemid=228 คือ
                  "กรณีดังกล่าวไม่ต้องติดอากรแสตมป์ หากดำเนินการไปแล้ว ส่วนราชการจะต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์ดังกล่าวคืนให้"

             6)  การติดอากรแสตมป์ ติดเฉพาะการจ้างตามระเบียบพัสดุ โดย
                  - ต้นฉบับสัญญาจ้างหรือใบสั่งจ้าง ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้าง ให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ติดอากรแสตมป์ 1 บาท ( และให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ขีดฆ่า อากรแสตมป์ )   เช่น จ้างเดือนละ 10,000 บาท ถ้าทำสัญญาจ้างครั้งเดียวตลอดปี 12 เดือน สินจ้างก็คือ 120,000 บาท แต่ถ้าทำสัญญาแค่ 6 เดือน สินจ้างก็คือ 60,000 บาท  ( เช่น ค่าจ้าง 7,940 บาท ทำสัญญา 4 เดือน รวมค่าจ้าง 31,760 บาท ให้ติดอากร 32 บาท เป็นต้น )   ยกเว้นถ้าสินจ้างรวม 200,000 บาทขึ้นไป ให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดอากรแสตม์ป์
                  - คู่ฉบับสัญญาจ้างหรือคู่ฉบับใบสั่งจ้าง  ถ้าต้นฉบับติดอากรแสตมป์ไม่เกิน 5 บาท ให้ติดอากรแสตมป์ที่คู่ฉบับ 1 บาท  ถ้าต้นฉบับติดอากรแสตมป์เกิน 5 บาท ให้ติดอากรแสตมป์ที่คู่ฉบับ 5
บาท

         5. วันที่ 3 ต.ค.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องวิธีแก้ปัญหาการรับจ้างทำการบ้านผ่านเว็บไซต์  ( กศน. แจ้ง หน่วยงาน/สถานศึกษา สังกัด กศน.ทุกแห่ง ตั้งแต่ 3 ก.ย. ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/homeexercy.pdf )   ว่า

             1)  ให้การบ้านอย่างเหมาะสม และพิถีพิถันตรวจการบ้าน/รายงาน ว่า เป็นงานที่เกิดจากความรู้ความสามารถของผู้เรียนจริงหรือไม่ ( ครูต้องทราบความรู้ความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน )  อาจให้ใช้การเขียนด้วยลายมือแทนการพิมพ์
             2)  ประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ( ประชาชน ผู้ปกครอง ) ทราบถึงผลเสียของการจ้างทำการบ้าน อันส่งผลต่อ ผู้เรียน ครอบครัว สังคม และประเทศชาติในอนาคต


         6. วันที่ 9 ต.ค.57 สุวิจักขณ์ ใสศรัทธาวงษ์ ครู ศรช. กศน.อ.วังสามหมอ ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  สัญาจ้างครู ศรช. ให้ ครู คศ. 1 ค้ำประกันได้ไหม เป็นข้อกำหนดเหมือนกันหมดไหม หรือแล้วแต่ กศน.นั้นๆ

             ผมตอบว่า   ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็น ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการครู พนักงานเทศบาล พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่อยู่ในระดับปฏิบัติการหรือเทียบเท่าระดับปฏิบัติการ ขึ้นไป  ( ดูคำตอบเก่าในข้อ 5 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/538893 )  ครู คศ.1 ก็เป็นข้าราชการครูระดับปฏิบัติการ
             แต่บางจังหวัด อาจมีนโยบายกำหนดเป็นอย่างอื่น เช่น ให้ ผอ.อำเภอ เป็นผู้ค้ำประกัน หรือให้คนค้ำประกันคนหนึ่งสามารถค้ำประกันครู ศรช.ได้เพียงคนเดียว เป็นต้น   ผมคิดว่านโยบายการกำหนดเป็นอย่างอื่นนี้ น่าจะกำหนดได้ถ้ามีเหตุผลที่ดี และไม่กำหนดในลักษณะกลั่นแกล้งคนส่วนหนึ่งให้ยาก จนทำไม่ได้

         7. วันเดียวกัน ( 9 ต.ค.) Montian Nunin ถามในกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ถ้าครู ศรช.มีนักศึกษาไม่ถึง 60 คน ต้องเบิกจ่ายอย่างไร

             ผมตอบว่า   ตอบบ่อยแล้ว  ดูในหนังสือแจ้งที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/moneyteacher571.pdf  ( ดูที่ข้อ 1.3 ในหนังสือฉบับที่ 2 )