วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

1.ลดการมอบอำนาจจัดซื้อจัดจ้างให้ ผอ.กศน.อำเภอ จากวงเงิน 2 ล้าน เหลือ 5 แสนบาท, 2.วิธีลงข่าวประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์สำนักงาน กศน., 3.การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา, 4.การลดธงชาติครึ่งเสา, 5.การทำบัตรและรูปติดบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ( เดือน ต.ค.59 พนักงานราชการทุกตำแหน่งของ กศน. ต้องต่อสัญญาใหม่ ต้องทำบัตรใหม่ ), 6.การพิมพ์ตำแหน่งในบัตรประจำตัวฯกับในป้ายชื่อติดเครื่องแบบ, 7.มีความผิดทั้งครู และสถานศึกษา


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 22 ม.ค.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องลดการมอบอำนาจ ว่า
             สป.ศธ.ออกคำสั่งที่ 111/58 ลงวันที่ 19 ม.ค.58 ยกเลิกคำสั่งที่ 1997/55 ลงวันที่ 11 ธ.ค.55 ที่มอบอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างให้ ผอ.สถานศึกษา 2,000,000 บาท  และมอบอำนาจใหม่ในวงเงิน 500,000 บาท
            
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/CM111-58.pdf

        
2. วันที่ 23 ม.ค.58 คุณ ณัฐพงศ์ โสภิณ ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ถ้าจะประชาสัมพันธ์ผ่านหน้าเว็บสำนักต้องทำไง


             ผมตอบว่า
            
1)  ผู้ที่จะขึ้นข่าวประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ สนง.กศน. จะต้องมี ชื่อสมาชิกและ รหัสผ่านโดยผู้ที่จะขึ้นข่าวประชาสัมพันธ์ไมใช่เป็นบุคคล แต่ให้ขึ้นข่าวประชาสัมพันธ์ในนามหน่วยงาน คือ กศน.จังหวัด อำเภอ หรือตำบล  ฉะนั้นในแต่ละหน่วยงาน จึงให้มี ชื่อสมาชิก/รหัสผ่าน ชุดเดียว
             2)  ลองถามกันดูว่า หน่วยงานนี้ ชื่อสมาชิก/รหัสผ่าน คืออะไร อยู่กับใคร ถ้าหาไม่ได้จริง ๆ ให้โทร.02-2820750, 2802924 ติดต่อขอกับผู้ดูแลเว็บไซต์สำนักงาน กศน. หรือคุณอุดมศักดิ์ บุญก่อ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ กลุ่มแผนงาน กศน.
             3)  เมื่อมี ชื่อสมาชิก/รหัสผ่าน แล้ว ให้คีย์ลงในหน้าโฮมเพจเว็บไซต์ สนง.กศน. แล้วคลิกที่ เข้าสู่ระบบ
             4)  จากนั้นคลิกที่ "เพิ่มบทความ"
             5)  เข้าไปกรอกข้อมูลข่าวประชาสัมพันธ์ ต่าง ๆ เสร็จแล้วคลิกที่ปุ่ม "บันทึก"
              ( ถ้าจำไม่ผิด เมื่อบันทึกข่าวประชาสัมพันธ์ไปแล้ว ข่าวจะยังไม่ขึ้นประชาสัมพันธ์ออกหน้าเว็บในทันที ต้องคอยให้กลุ่มแผนงานตรวจสอบก่อน แล้วจึงจะปล่อยข่าวขึ้นประชาสัมพันธ์ในหน้าเว็บ สนง.กศน.ภายหลัง )







         3. วันเสาร์ที่ 24 ม.ค.58 มีผู้ถามในไทม์ไลน์ผม ว่า  มีเกณฑ์การย้าย ผอ.อำเภอ ไหม

             ผมตอบว่า   อยู่ในเรื่องเดียวกับที่แจ้งตำแหน่งว่างให้ ผอ.อำเภอ ขอย้ายครั้งก่อน ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/chengeBoss.PDF

         4. วันที่ 26 ม.ค.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องการลดธงชาติครึ่งเสา ว่า
             ให้ปฏิบัติการเหมือนการชักธงขึ้นตามปกติ แต่เมื่อธงถึงยอดเสาแล้วจึงลดลงให้อยู่ในระดับความสูงประมาณ
2 ใน 3 ส่วน ของความสูงของเสาธงนั้น คือลดลงเพียง 1 ใน 3 ของเสา ไม่ใช่ครึ่งเสา
             และเมื่อจะชักธงลงในตอนเย็น ก็ให้ชักธงขึ้นจนถึงยอดเสาก่อน แล้วจึงชักธงลง
             จะลดธงชาติครึ่งเสากรณีใด เป็นเวลาเท่าใด ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาการลดธงชาติครึ่งเสาจะกระทำในกรณีที่ประมุขหรือบุคคลสำคัญของประเทศต่างๆ เสียชีวิต โดยปกติทางราชการจะประกาศให้ลดธงชาติครึ่งเสาทั่วราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 วัน








         5. วันเดียวกัน ( 26 ม.ค.) พรณรงค์ ผ่องไสววงศ์ ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  รูปติดบัตรประจำตัวข้าราชการบำนาญ ที่เขาได้สายสะพาย ใช้รูปแบบเต็มยศมีสายสะพาย หรือแบบแพรย่อ

             ผมตอบว่า   ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวฯ จะใช้ได้ทั้ง 2 อย่าง เพราะเป็นเครื่องแบบพิธีการทั้งคู่ ( เครื่องหมายที่ติดปกคอเสื้อ จะต่างจากตอนเป็นข้าราชการประจำ )
             รูปถ่ายติดบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ( รวมทั้งพนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับบำเหน็จบำนาญ ) นั้น ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2542 ข้อ 4 (1) กำหนดให้เลือกแต่งเครื่องแบบได้หลายแบบคือ
             - เครื่องแบบปฏิบัติราชการ/เครื่องแบบพิธีการ เครื่องแบบเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งตนสังกัด หรือ
             - ชุดสากล หรือ
             - ชุดไทยพระราชทาน
              ( ดูกฎกระทรวงฯนี้ได้ที่ http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/830/787/original_role2542.pdf )
             รูปถ่ายสำหรับติดบัตรนี้ ขนาด
2.5 X 3.0 ซ.ม. ถ่ายครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวกและแว่นตาสีเข้ม ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือนก่อนวันยื่นคำขอมีบัตร
             กรณีข้าราชการสตรีไทยมุสลิม สามารถถ่ายรูปที่มีผ้าคลุมศีรษะได้ แต่ต้องเห็นหน้า ( เห็น หน้าผาก คิ้ว ตา จมูก ปาก และคาง ) ( ตามหนังสือที่ นร 1304/1074/ 4 ก.พ.40 )

             สำหรับข้าราชการบำนาญ ( เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับบำเหน็จบำนาญ ) ก็ใช้เครื่องแบบปฏิบัติราชการ ( ชุดกากี ) และเครื่องแบบพิธีการ ( ชุดขาว ) เหมือนเดิมเกือบทุกอย่าง เปลี่ยนแค่ ติดเครื่องหมายสังกัดข้างเดียว ( ถ้าเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เครื่องหมายสังกัดคือ เสมา ) ที่ปกคอเสื้อด้านหน้าข้างซ้าย  ส่วนข้างขวาให้เปลี่ยนเป็นเครื่องหมายอักษร นก ( นอกราชการ ) เท่านั้นเอง
             สำหรับพนักงานราชการ บัตรจะมีอายุครบกำหนดตามสัญญาจ้าง และจะทำบัตรได้เมื่อมีวาระการจ้าง
1 ปี ขึ้นไปเท่านั้น ( พนักงานราชการที่บรรจุใหม่ถ้าในช่วงแรกทำสัญญาจ้างไม่ถึง 1 ปี จะยังไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ )   เดือน ต.ค.59 พนักงานราชการทุกตำแหน่งของ กศน. ต้องต่อสัญญาใหม่ ก็ต้องทำบัตรใหม่








         6. คืนวันเดียวกัน ( 26 ม.ค.) แดง พัฒนสิน กศน.พิชัย ถามบนไทม์ไลน์ผม ว่า  บัตรประจำตัว ระบุตำแหน่งว่า ครูชำนาญการพิเศษ ป้ายชื่อเครื่องแบบข้าราชการต้องเปลี่ยนตามหรือไม่
             ผมตอบว่า   พ.ร.บ.บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับ พ.ร.บ.เครื่องแบบข้าราชการฯ เป็นคนละฉบับกัน โดยป้ายชื่อตาม พ.ร.บ.เครื่องแบบข้าราชการฯ กำหนดให้มี
2 บรรทัด บรรทัดแรกระบุชื่อ-สกุลไม่ต้องมีคำนำหน้า บรรทัดที่ 2 ระบุตำแหน่งปัจจุบัน  ต่างจากบัตรประจำตัวฯในช่องตำแหน่ง ให้ระบุตำแหน่ง/ระดับ/ยศ จึงไม่ต้องเปลี่ยนป้ายชื่อตามบัตรประจำตัว ( ถ้าจะเปลี่ยนตามก็คงไม่เป็นไร เพราะปัจจุบันหลายคนก็ใส่รูปเครื่องหมายสังกัดเช่นเสมาลงไปในป้ายชื่อด้วย ทั้งๆที่ไม่มีกำหนดให้ใส่ )

             ในส่วนของการพิมพ์ “ตำแหน่งในบัตรประจำตัวข้าราชการครูนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีตอบข้อหารือสำนักงาน ก.ค.ศ. ว่า
             1)  ครู ที่ไม่มีวิทยาฐานะ ให้ลงชื่อตำแหน่ง ( ชื่อตำแหน่งตาม ม.38 พรบ.ระเบียบข้าราชการครู 2547 ) เช่น ลงว่า ครู ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นต้น
             2)  ครู ที่มีวิทยฐานะให้ลงชื่อวิทยฐานะ ( ชื่อวิทยฐานะตาม ม.39 พรบ.ระเบียบข้าราชการครู 2547 ) เช่น ลงว่า ครูชำนาญการพิเศษ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการชำนาญการ เป็นต้น
              ( ดูหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ ได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/cardteacher.pdf )

         7. วันที่ 28 ม.ค.58 มนูญ ฮับ ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  พนักงานราชการ ครู กศน.ตำบล ไม่มีใบประกอบฯ และไม่ได้เรียน ป.บัณฑิต ในขณะนี้ผ่านล่วงเลยมา 4 ปี จะมีผลอย่างไร จะต่อสัญญาได้อีกหรือไม่ คนที่ต่อสัญญามีความผิดหรือไม่

             ผมตอบว่า   ถ้าสถานศึกษา ให้ ผู้ที่ไม่มี "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" ไม่มี "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" และไม่สามารถขออนุญาตต่อได้อีกแล้ว มาสอน "การศึกษาขั้นพื้นฐาน" จะมีความผิดทั้งสถานศึกษาและผู้สอนนั้น ( ถ้ามีผู้ร้องเรียนไปคุรุสภา )  ตอนที่ต่อสัญญายังไม่มีความผิดในเรื่องนี้ถ้าในสัญญาไม่ได้ระบุให้สอน กศ.ขั้นพื้นฐาน แต่ถ้าให้สอน "การศึกษาขั้นพื้นฐาน" จึงจะมีความผิด  ไม่เกี่ยวกับการสอนการศึกษาต่อเนื่องและการศึกษาตามอัธยาศัย
             ( ปัจจุบันให้สถานศึกษาขออนุญาตให้บุคคลปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ถึง 3 ครั้ง ๆ ละ 2 ปี )


วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

1.วันหยุดของครู กศน., 2.พนักงานราชการบนจังหวัด ย้าย/เปลี่ยนตำแหน่ง, 3.สมุดหมายเหตุรายวัน เริ่มเล่มใหม่เมื่อไร, 4.สอบปลายภาคถึงสามทุ่ม ค่าคุมสอบเท่าไร, 5.เรียน ป.ตรี ออนไลน์ ม.เวสเทิร์น เชื่อได้ไหม, 6.แต่งตั้งใครเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุได้บ้าง, 7.การขอย้าย



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันที่ 7 ม.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ฉันมีเรื่องสอบถามเพื่อจะเป็นแนวทางในการทำงานให้ถูกต้อง คือเมื่อวันหยุดที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศให้วันที่ 31-4 เป็นวันหยุดยาว ซึ่งตรงกับวันที่เราต้องมาปฏิบัติการสอนในวันเสาร์  ฉันไม่ได้มาปฏิบัติการสอน และได้แจ้งนักศึกษาแล้ว  แบบนี้ถือว่ามีความผิดไหม ตามที่ฉันเข้าใจก็คือรัฐบาลประกาศให้หยุดจึงได้หยุด แต่ผู้บังคับบัญชามองว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่   อยากให้ช่วยอธิบาย
             ผมตอบว่า   ไม่มีประกาศฉบับใดที่ว่ารัฐบาลประกาศให้วันที่ 31-4 เป็นวันหยุด  มีแต่มติ ครม.กำหนดให้วันที่ 2 ม.ค.58 เป็นวันหยุดเพิ่มเติมพิเศษเพียงวันเดียว  ส่วนวันที่ 31 ธ.ค. – 1 ม.ค. เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์อยู่แล้ว รัฐบาลไม่ได้ประกาศใหม่  และวันที่ 3-4 ม.ค.58 ก็เป็นวันเสาร์อาทิตย์เหมือนวันเสาร์อาทิตย์ทั่วไป  เพียงแต่เวลาออกข่าวในสื่อจะบอกว่าหยุดยาว 5 วัน เป็นการสรุปสำหรับส่วนราชการทั่วไป
             ฉะนั้น  ผู้ที่โดยปกติหยุดวันอื่นและสอนวันเสาร์หรือวันอาทิตย์  ที่ถูกต้องก็ยังต้องมาสอนในวันที่ 3 หรือ 4 ม.ค.58 เช่นเดิม   อย่างไรก็ตาม ถ้าปกติคนนั้นจะหยุดวันศุกร์และสอนวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ แต่เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ม.ค.58 รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุด จึงเป็นวันหยุดซ้อนวันหยุดของคนที่ปกติจะหยุดวันศุกร์ ( รวมทั้งคนที่ปกติจะหยุดในวันที่ 31 ธ.ค. หรือ 1 ม.ค.อยู่แล้ว )  เพื่อความยุติธรรม บุคคลนี้ก็ควรได้หยุดชดเชยในวันอื่น เพราะวันที่ 2 เป็นวันหยุดซ้อนวันหยุด   แต่จะหยุดชดเชยในวันที่ 3 หรือ 4 ก็ต้องขอความเห็นชอบ ผอ.ก่อน
             ที่ถูกต้องคือ ถ้าโดยปกติต้องมาสอนในวันที่ 3 หรือ 4 ม.ค.58 แต่จะหยุด 5 วัน ต้องขอความเห็นชอบจาก ผอ.ก่อน แล้วแจ้ง นศ.

         2. คืนวันเสาร์ที่ 3 ม.ค.58 อ้อยควั่น เพชร์รื่น นักวิชาการเงินและบัญชี กศน.จ.ฉะเชิงเทรา ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  พนักงานราชการตำแหน่งบนจังหวัด ย้ายหรือเปลี่ยนตำแหน่งโดยไม่ต้องสอบใหม่ได้หรือไม่ หรือขอย้ายไป กศน.อำเภอได้หรือไม่
             ผมตอบว่า   เขียนเรื่องนี้บ่อยแล้ว "พนักงานราชการ" ไม่ว่าตำแหน่งใด ๆ ก็เหมือนกัน คือ การเปลี่ยนตำแหน่งต้องสอบใหม่ การย้ายต้องย้ายสับเปลี่ยนกับอัตราตำแหน่งเดียวกัน

         3. วันที่ 8 ม.ค.58 Maythaporn Foytong ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  การเขียนสมุดหมายเหตุรายวัน จะเริ่มเล่มใหม่นับจากปี พ.ศ. หรือ ปีงบประมาณ
             ผมตอบว่า   หมายถึงสมุดหมายเหตุรายวันที่หัวหน้าสถานศึกษามีหน้าที่จดบันทึกเหตุการณ์ลงในสมุดทุกวันใช่ไหม  ไม่กี่ยวกับปี พ.ศ. หรือปีงบประมาณเลย ต้องใช้ไปจนกว่าจะหมดเล่ม แล้วจึงจะเริ่มเล่มใหม่

         4. วันเสาร์ที่ 10 ม.ค.58 เพ็ญศรี ใจหลัก ถามในไทม์ไลน์ผม ว่า  ในวันที่ 7-8 มี.ค.58 นี้ จะมีการสอบปลายภาคในรายวิชาบังคับของ กศน. ส่วนในรายวิชาเลือกนั้น ปกติจะจัดสอบในอาทิตย์ถัดไปทุกภาคเรียน ตามนโยบายของ กศน.จังหวัด  แต่ในภาคเรียน 2/57 นี้ กศน.จังหวัดได้เปลี่ยนผู้บริหาร จึงเปลียนแปลงนโยบายโดยสั่งการให้นำรายวิชาเลือกมาสอบในวันที่ 7-8 มี.ค. ซึ่งรายวิชาเลือกมีจำนวนหลากหลายวิชา ปกติที่มีการจัดสอบในอาทิตย์ถัดไปเพียง 1 วัน การรับและส่งข้อสอบของครูคุมสอบก็แทบจะไม่ทันกันอยู่แล้ว แต่ในเมื่อเป็นนโยบายของผู้บริหาร ทางผู้ปฏิบัติระดับอำเภอจึงต้องปฏิบัติ  เมื่อจัดแทรกรายวิชาเลือกลงในระหว่างรายวิชาบังคับแล้ว เวลาในการสอบในแต่ละวันน่าจะล่วงเลยถึง 2-3 ทุ่ม
             ค่าตอบแทนสำหรับคณะกรรมการดำเนินการสอบ หากเวลาเกินช่วงปกติจากเดิมถึงห้าโมงเย็น อาจจะถึงสามทุ่ม ถามว่า ปกติหากช่วงเช้าได้รับค่าตอบแทน 300 บาท ช่วงบ่าย 300 บาท กรรมการท่านใดคุมทั้งเช้าและบ่ายจะได้รับค่าตอบแทน 600 บาท แล้วในกรณีที่คุมสอบเกินจากช่วงห้าโมงเย็น ล่วงเลยจนถึงค่ำ สามารถเบิกจ่ายเพิ่มให้คณะกรรมการได้หรือไม่ เบิกจ่ายได้จำนวนเท่าไหร่ และมีระเบียบกำหนดไว้หรือไม่ ( รายวิชาเลือกมีหลากหลาย จำนวนวิชาที่ นศ.สอบมากมาย จังหวัดและอำเภออื่นๆอาจจะมีจำนวนน้อยวิชา ก็สามารถจัดได้ภายใน 2 วัน )
             ผมตอบว่า   ที่ว่าค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบช่วงเช้า 300 บาท ช่วงบ่าย 300 บาทนั้น ในระเบียบไม่ได้ว่าอย่างนี้ ดูระเบียบในข้อ 1 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/481090   ระเบียบกำหนดว่า ไม่เกิน 300 บาทต่อครึ่งวัน, ไม่เกิน 600 บาทต่อวัน  คำว่า วัน ต่างจากคำว่า ช่วงเช้าช่วงบ่าย คือ ช่วงเย็นก็ยังอยู่ใน "วัน" ฉะนั้นจ่ายได้ไม่เกิน "วัน" ละ 600 บาท ถึงแม้จะเกินห้าโมงเย็นก็ตาม

         5. วันเดียวกัน ( วันเสาร์ที่ 10 ม.ค.) ครูปู ภัทรนันท์ สว่างวิจิตรา ถามในอินบ็อกซ์ผมว่า  ลูกศิษย์ถามมาแล้วหนูไม่รู้จะไปตรวจสอบให้ได้ที่ไหนว่าจริงหรือเท็จเรื่องเรียนปริญญาตรีออนไลน์ในเพจมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น  เพจนี้เชื่อถือได้ไหม
             ผมตอบว่า   เป็นเพจของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทย  หลักสูตรบางสาขาของเขาได้รับการรับรอง/รับทราบจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสภาวิชาชีพแล้ว  แต่บางสาขาก็ยังไม่ได้รับการรับรอง  จะเรียนสาขาใดควรตรวจสอบก่อนว่าสาขานั้นได้รับการรับรอง/รับทราบจาก สกอ.และสภาวิชาชีพหรือยัง  โดยตรวจสอบได้ที่เว็บ http://www.mua.go.th/users/bhes/front_home/Go%20U/index.html

         6. วันที่ 14 ม.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  การแต่งตั้ง "กรรมการตรวจรับพัสดุ" สามารถแต่งตั้งบุคคลภายนอกได้หรือไม่ เช่น บรรณารักษ์อัตราจ้าง หรือจ้างเหมาบริการ เป็นต้น
             ผมตอบว่า   คณะกรรมการในการดำเนินการซื้อหรือจ้าง และรวมทั้งคณะกรรมการเพิ่มเติม ( คณะกรรมการเพิ่มเติมคือ คณะกรรมการกำหนดราคากลาง, คณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ ) ให้แต่งตั้งตามระเบียบพัสดุ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2552 ข้อ 35 และตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 417 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2553 คือ
             1)  แต่งตั้งจาก ข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างประจำ ตามจำนวนที่กำหนด โดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ลักษณะงาน หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสำคัญ
             2)  กรณีวงเงินเกินหนึ่งหมื่นบาท แต่งตั้ง ประธานรวมกับกรรมการ จำนวนอย่างน้อย 3 คน  และถ้าจำเป็นหรือเพื่อประโยชน์ทางราชการ อาจตั้งบุคคลอื่นอีกไม่เกิน 2 คนร่วมเป็นกรรมการด้วยก็ได้  รวมเป็นจำนวน 3-5 คน  ซึ่งต้องเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำหรือพนักงานราชการ อย่างน้อย 3 คน ส่วนอีก 1-2 คน เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในพัสดุนั้น ซึ่งจะมี 1-2 คนนี้หรือไม่ก็ได้ โดย 1-2 คนนี้จะเป็นข้าราชการ/ลูกจ้างประจำ/พนักงานราชการหรือไม่ก็ได้
             3)  ต้องแต่งตั้งเป็นครั้ง ๆ ไป
             กลุ่มงานพัสดุ กลุ่มงานคลัง กศน. บอกว่า ถ้ามีข้าราชการ ประธานกรรมการต้องเป็นข้าราชการ
             ( เคยตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในข้อ 1 ที่
https://www.gotoknow.org/posts/521501 )

         7. คืนวันที่ 20 ม.ค.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องการขอย้าย ว่า
             ตามระเบียบ ก.ค.ศ.  การขอย้ายกรณีปกติ ( กลับภูมิลำเนา
, อยู่ร่วมกับคู่สมรส, ดูแลบิดามารดา ) ให้ยื่นขอย้ายได้ปีละ 2 ช่วง คือ 1-15 ก.พ. กับ 1-15 ส.ค.  ( ก.ค.ศ.ส่งระเบียบนี้ให้ส่วนราชการต่าง ๆ ครั้งเดียว แล้วไม่ได้แจ้งใหม่อีก แต่ถือเป็นกำหนดการที่เป็นที่รู้กันแล้ว เมื่อถึงเวลา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ยื่นขอย้ายโดยไม่จำเป็นต้องมีหนังสือแจ้ง รวมทั้งขอโอนเปลี่ยนตำแหน่งด้วย   แต่ถ้ารอบไหนมีอัตราว่างหลายอัตรา กจ.กศน.ก็จะมีหนังสือแจ้งมาพร้อมแจ้งอัตราว่าง  รอบไหนมีอัตราว่างน้อยก็จะไม่แจ้งมา  แต่ถึงไม่แจ้งก็ยื่นขอย้ายได้ โดยเฉพาะการขอย้ายสับเปลี่ยนไม่ต้องมีอัตราว่างอยู่ก่อน
             คำร้องขอย้ายใช้ได้รอบเดียว ถ้ายังไม่ได้ย้ายตามคำขอ เมื่อถึงช่วงขอย้ายใหม่ต้องยื่นใหม่
             คำสั่งย้ายจะออกเมื่อไร ไม่แน่  ปกติ ยื่นขอย้ายในช่วง 1-15 ก.พ. ถ้าได้ย้าย คำสั่งย้ายจะออกประมาณ เม.ย.-พ.ค.  

วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2558

1.การประเมินฯภายนอกรอบนี้ ยังไม่ใช้คะแนน N-NET ภาค 1-2/57, 2.การออกรหัสประจำตัวผู้เทียบระดับ กศ., 3.คลังหลักสูตรวิชาอาชีพ, 4.ตั้งพนักงานราชการเป็นประธานกรรมการตรวจรับพัสดุ-ราคากลาง, 5.การเช่า, 6.อำเภอ/จังหวัด ไม่มีอำนาจสั่งย้าย, 7.ยกเลิกค่าตอบแทนวิทยากรหลักสูตรระยะสั้น



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 11 ธ.ค.57 Jongluk Budsadee ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  พอจะแนะนำไฟล์จำนวนผู้เรียนที่ได้คะแนนผลการทดสอบ (N-Net) มากกว่าขีดจำกัดล่างของค่าเฉลี่ย ปี 56-57 ได้ไหม

             ผมตอบว่า   การประเมินฯภายนอกรอบนี้ ยังไม่ใช้คะแนน N-NET ภาค 1-2/57
             ใครอยากรู้คะแนนตัวบ่งชี้ที่ 5.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนการศึกษาพื้นฐาน ( ประเมินภายนอก ) เดี๋ยวนี้คำนวณง่าย ได้ผลคะแนนตรงกับการประเมินของ สมศ.

             เฉพาะตัวบ่งชี้ที่ 5.1 นี้ สมศ.ใช้คะแนน N-NET เพียง 2 ปีการศึกษาเท่านั้น ถ้าเข้าประเมินในปี กศ.57 ( ยังไม่สิ้นสุดภาคเรียนที่ 2/57 เช่นเข้าประเมินในเดือน ม.ค.58 ) จะใช้คะแนน N-NET ของปีการศึกษา 55 กับ 56

             คำนวณโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/OTHER/indicator5-1.xls
             โปรแกรมนี้ใช้ไม่ยาก เพียงแค่นำตัวเลข จำนวนผู้เข้าสอบกับ จำนวนผู้ที่ได้คะแนนมากกว่าขีดจำกัดล่างระดับละ 4 ตัว/สาระ ( ปีละ 2 ตัว ) ไปใส่ในช่องสีเขียวเท่านั้น ค่าคะแนนต่าง ๆ ของ ตบช.ที่ 5.1 ก็จะปรากฏขึ้นมา   โดย
             1)  “จำนวนที่จะกรอกในช่อง ข้อมูลปีปัจจุบันให้นำจำนวนในปี กศ.2556 มากรอกในช่องจำนวนผู้เข้าสอบ ปีปัจจุบัน  ( จำนวนผู้เข้าสอบนี้ เป็นจำนวนเฉพาะอำเภอ ไม่ใช่จำนวนทั้งประเทศ )
             2)  “จำนวนที่จะกรอกในช่อง ข้อมูล 1 ปีย้อนหลังให้นำจำนวนในปี กศ.2555 มากรอก
             3)  “จำนวนผู้เรียนที่มีผลการทดสอบระดับดีหมายถึง จำนวนผู้เรียนที่มีคะแนนมากกว่าขีดจำกัดล่าง
             เดี๋ยวนี้ มีตัวเลขที่ว่านี้ไว้ให้แล้วทุกอำเภอ ไม่ต้องนับเองไม่ต้องรวมเอง ทุกอำเภอดูตัวเลขเหล่านี้ได้ที่
             - ปี กศ.56 ระดับ ม.ปลาย ดูที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/N-NETsms56-1.pdf
             - ปี กศ.56 ระดับ ม.ต้น ดูที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/N-NETsms56-2.pdf
             - ปี กศ.56 ระดับ ประถม ดูที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/N-NETsms56-3.pdf
             - ปี กศ.55 ระดับ ม.ปลาย ดูที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/55M-plai.pdf
             - ปี กศ.55 ระดับ ม.ต้น ดูที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/55M-ton.pdf
             - ปี กศ.55 ระดับ ประถม ดูที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/55Pratom.pdf
             ลองทำดูครับ ... จะเห็นว่าง่าย..

 
         2. วันเสาร์ที่ 13 ธ.ค.57 ผมเผยแพร่เรื่องรหัสประจำตัวผู้เข้ารับการเทียบระดับการศึกษาฯ  ( ถ้าสมัครในช่วงที่วันปฐมนิเทศอยู่ในช่วงปีการศึกษา/ภาคเรียนใดของ กศ.ขั้นพื้นฐาน ให้ใช้ปีการศึกษา/ภาคเรียนนั้นเป็นรหัสประจำตัว  เช่น สมัครในช่วง ต.ค.-พ.ย.57 ปฐมนิเทศ ธ.ค.57 รหัสประจำตัวคือ 572... ถึงแม้จะเป็นปีงบประมาณ 58 แล้วก็ตาม )  ว่า
             ด่วน..
ฝนทอง ทอสายศิลป์ ( อ.ณัฐมน ไทยประสิทธิ์เจริญ กลุ่มพัฒนา กศน. ) บอกว่า  ผู้เข้าเทียบระดับฯสูงสุดฯ รุ่น 4 ที่เพิ่งปิดรับสมัครไปนี้ ให้ออกรหัสประจำตัวเป็น 572...... ( ครั้งที่ 2 ปีการศึกษา 2557 )  ไม่ใช่ 581......

             ถ้าอำเภอไหนขึ้นทะเบียน/ลงทะเบียนในโปรแกรม KSM ผิดไปแล้ว วิธีแก้ไข ต้องลงทะเบียนรายวิชาใหม่หมด
             แต่ ข้อมูลขึ้นทะเบียนประวัตินักศึกษาไม่ต้องลงใหม่ ให้ใช้เมนูเปลี่ยนรหัสประจำตัวผู้เข้าเทียบระดับทุกคน จาก 581...... เป็น 572......
             แล้วถอนการลงทะเบียนรายวิชาในภาค 1/58 ออก
             จากนั้นลงทะเบียนรายวิชาใหม่ในภาค 2/57

             ( เมื่อเราเพิ่ม "ครั้งที่" ใหม่ โปรแกรมจะขึ้นครั้งที่ 1 ไว้เป็นค่าเริ่มต้น เราแก้ให้เป็น 2 ปี 2557 ได้ ลักษณะเดียวกับการบันทึกประวัติ โปรแกรมจะขึ้นว่านับถือศาสนาพุทธไว้เป็นค่าเริ่มต้น ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนได้ )

         3. วันที่ 15 ธ.ค.57 กศน.ตำบลวังไทร อำเภอคลองขลุง กำแพงเพชร ถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  อยากได้หลักสูตรช่างอิเล็กทรอนิกเบื้องต้น พอจะมีบ้างไหม
             ผมตอบว่า   ผมไม่มีเวลาหาให้ โปรดหาเอง เช่น ในคลังหลักสูตรวิชาอาชีพ ที่
http://www.4shared.com/rar/6AzIdRVIce/Jobcourses.html
             ( ใช้เวลาดาวน์โหลดนาน เพราะไฟล์ขนาดใหญ่ 32 MB )

         4. วันที่ 18 ธ.ค.57 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  กรณี กศน.อำเภอที่มีข้าราชการเพียงคนเดียวคือ ผอ.กศน.อำเภอ ถ้าจะแต่งตั้ง จนท.สำหรับตรวจรับพัสดุ ประธานกรรมการตรวจรับพัสดุ เป็นพนักงานราชการได้มั้ย หรือว่าต้องยืมข้าราชการจากอำเภอใกล้เคียง
             ผมตอบว่า   ดูในคำตอบที่เคยตอบ เช่น ในข้อ
4 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/05/26.html

             ผู้ถาม ถามต่ออีกว่า  ทำไม จนท.พัสดุของสำนักงาน กศน.จังหวัดบอกว่า ไม่ได้ ต้องเป็นข้าราชการเท่านั้นเป็นประธานกรรมการตรวจรับ
             อีกคำถามหนึ่ง ปัจจุบันการซื้อกระดาษถ่ายเอกสารยังต้องยึดราคากลางของกรมบัญชีกลางหรือป่าว เพราะแต่ก่อนเคยเบิกรีมละ 108 บาท ปัจจุบัน จนท.พัสดุของจังหวัดบอกว่าเบิกได้ตามที่ซื้อจริงในร้านค้า

             ผมตอบว่า
             1)  ลองปริ้นท์เอกสารที่ผมตอบ ให้เขาศึกษาดู ถ้าเขายังไม่เชื่อยังไม่ยอม และเราก็จำเป็นต้องให้เขายอมด้วย ก็ปรึกษาผู้บริหาร ให้ผู้บริหารหารือกลุ่มงานพัสดุ กลุ่มงานคลัง กศน. ดู
             2)  การกำหนดราคากลางกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ กำหนดขึ้นมาเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กย. 2530 ที่ให้สิทธิพิเศษในการจำหน่ายกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษแก่บริษัทโรงงานอุตสาหกรรมกระดาษบางปะอินจำกัด   แต่เนื่องจากปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกการให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทฯไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 เมย.2550 ตามนัยมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อ 29 พค.2550  ดังนั้นราคากลางกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษจึงถูกยกเลิกไปโดยปริยาย   ในการจัดหาพัสดุของส่วนราชการให้ถือปฏิบัติตามนัยระเบียบสำนักยกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ คือ การซื้อจำนวนน้อยจะกำหนดราคากลางหรือไม่ก็ได้
             ( ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2556 เป็นต้นมา การจัดซื้อจัดจ้างซึ่งมีวงเงินเกินกว่า 100,000 บาท ให้หน่วยงานของรัฐประกาศการเปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลาง และการคำนวณราคากลาง )

         5. วันที่ 19 ธ.ค.57 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ถ้าศูนย์อำเภอเช่าเครื่องถ่ายเอกสารไว้ใช้ในสำนักงาน สามารถทำได้หรือปล่าว เพราะดำเนินการมาแล้ว 2 ปี แต่เปลี่ยนผู้บริหารจังหวัดใหม่ แล้วบอกว่าศูนย์อำเภอไม่มีอำนาจในการเช่า ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
             ผมตอบเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่
21 ธ.ค. ว่า   ตามคำสั่ง สป.ศธ. ที่ 489/51 เรื่องมอบอำนาจให้ ผอ.กศน.อำเภอ/เขต ปฏิบัติราชการแทน ลงวันที่ 21 เม.ย.51  ระบุการมอบอำนาจการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการดำเนินการที่เกี่ยวกับการเช่าทั้งหมด ซึ่งมีอัตราค่าเช่ารวมทั้งค่าบริการอื่นๆที่เกี่ยวกับการเช่า ครั้งหนึ่งไม่เกิน 100,000 บาท หรือไม่เกินเดือนละ 10,000 บาทไว้ในข้อ 4.2

         6. วันที่ 26 ธ.ค.57 มีผู้แจ้งในอินบ็อกซ์ผมว่า “... โดน ผอ.กศน.อำเภอ สั่งย้าย ให้เดินทาง 30 ธันวาคม 2557 นี้ โดยไม่เคยแจ้งหรือพูดจากับ...เลย ...ไม่เห็นด้วยกับการทุจริตคอร์รัปชั่น เขาเรียกกรรมการตรวจรับพัสดุคนหนึ่งเข้าไปคุยในห้องทำงาน บอกว่าให้เซ็นตรวจรับพัสดุ บอกว่าเบื้องบนสั่งมา กรรมการคนนั้นถามกลับไปว่า เบื้องบนไหน..? ... ... ( ผอ.คนนี้คือคนที่เคยพูดว่า ใครจะกล้ามาตรวจสอบกู อยู่จังหวัดที่มีการซื้อหนังสือแบบเรียน แต่ยังไม่ทันได้เปิดซองสอบราคากันเลย แต่หนังสือแบบเรียนของบริษัทที่มายื่นซอง 1 บริษัท มาถึงเรียบร้อยแล้ว )

             ผมตอบว่า   ทั้ง ผอ.กศน.อำเภอ และ ผอ.กศน.จังหวัด ไม่มีอำนาจสั่งย้าย
             ผอ.กศน.อ.ไม่มีอำนาจส่งครูไปทำงานอำเภออื่น  ถ้าครูทำความผิดก็ต้องดำเนินการทางวินัยไปตามหลักเกณฑ์ ซึ่งก็ไม่มีหลักเกณฑ์ให้ส่งครูไปไว้ที่อื่น
             เดิมมีคำสั่ง สป.ศธ.ที่ 270/51 ข้อ 13 มอบอำนาจให้ ผอ.สนง.กศน.จังหวัด/กทม. ให้ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างในสังกัด ไปช่วยราชการภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เป็นการชั่วคราวครั้งละไม่เกิน 30 วัน
             แต่ต่อมา ก็มีคำสั่ง สป.ศธ.ที่ 582/52 ยกเลิกการมอบอำนาจข้อ 13 นี้แล้ว โดยให้เหตุผลในการยกเลิกว่า การมอบอำนาจกรณีดังกล่าวมีเจตนาจะให้การบริหารราชการเป็นไปอย่างรวดเร็วและสั่งการโดยให้ยึดผลประโยชน์ของทางราชการเป็นที่ตั้ง แต่ ผู้รับมอบอำนาจได้นำไปใช้โดยไม่ถูกต้อง จึงยกเลิก"
             ตอนนี้ทั้งอำเภอและจังหวัดไม่มีอำนาจส่งไปช่วยราชการแล้ว
             ( ผมเคยโพสต์เรื่องนี้ในข้อ 5 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/517220 )







         7. คืนวันที่ 5 ม.ค.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่อง ยกเลิกค่าตอบแทนวิทยากรหลักสูตรระยะสั้น ว่า
             ประกาศ สป.ศธ.เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนหลักสูตรระยะสั้น พ.ศ.
2554 เมื่อวันที่ 11 ม.ค.54 ที่กำหนดว่าผู้เรียนต่ำกว่า 6 คน ชม.ละ 50 บาท, 6-10 คน ชม.ละ 100 บาท, ผู้เรียน 11 คนขึ้นไป ชม.ละ 200 บาท นี้ ยกเลิกแล้ว  ( เรื่องนี้ อ.กฤติพัฒน์ กป.กศน.ทราบดี ) โดย

             1)  ในประกาศฉบับนี้ มีการอ้างอิงหนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ กค 0406.6/14726 ลงวันที่ 16 ก.ค.2552 ซึ่งให้จ่ายค่าตอบแทนชั่วโมงละไม่เกิน 200 บาท
             2)  ต่อมา ปี 2554  ศน.ต้องการจะจ้างวิทยากรที่มีชื่อเสียงมาสอนในศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน แบบให้เครื่องมือประกอบอาชีพแก่ผู้เรียนด้วย จึงทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง ระหว่างเดือน ก.พ.- ก.ค.54 หลายฉบับ ขอปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่าย เช่น ผู้เรียนต่ำกว่า 6 คน ชั่วโมงละ 200 บาท ผู้เรียน 11 คนขึ้นไป ชั่วโมงละ 800 บาท  ค่าวัสดุหัวละ 600-1,500 บาท เป็นต้น
                  ในที่สุดกรมบัญชีกลางตอบกลับมา ตามหนังสือที่ กค 0406.6/35474 ลงวันที่ 14 พ.ย.54 ว่า ให้ยกเลิกหนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ กค 0406.6/14726 ลงวันที่ 16 ก.ค.2552 ที่เราอ้างอิงในประกาศฉบับนี้  และให้จ่ายค่าตอบแทนชั่วโมงละไม่เกิน 200 บาทเท่านั้น โดยไม่กำหนดจำนวนผู้เรียน  ( ไม่ได้ให้ตามที่เราเสนอไป )   ดูหนังสือกรมบัญชีกลางฉบับหลังนี้ ได้ที่ไฟล์  expense_study.pdf
             3)  สำนักงาน กศน. ได้ส่งหนังสือกรมบัญชีกลางฉบับหลังนี้ มาให้ทุกจังหวัด ตามหนังสือสำนักงาน กศน.ที่ ศธ 0210.117/1255 ลงวันที่ 30 มี.ค.55  ( ดูหนังสือสำนักงาน กศน.ฉบับนี้ ได้ที่ไฟล์ costs_study.pdf )   หนังสือฉบับนี้แหละเป็นฉบับที่เราต้องยึดถือปฏิบัติในปัจจุบัน คือ ไม่ว่าผู้เรียนจะกี่คนก็ตาม สามารถจ่ายค่าตอบแทนวิทยากรได้ไม่เกินชั่วโมงละ 200 บาท ( ถ้ามีงบประมาณเพียงพอ และได้จำนวนกลุ่มเป้าหมายไม่ต่ำกว่าเป้า )
             4)  หนังสือที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มีอยู่ใน  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/Compressrd/ContinuingEducationGuide.rar