วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558

1.“วันรักการอ่าน” เขียนเป็นภาษาอังกฤษอย่างไร, 2.ภาค 1/58 ดู ETV 3 วิชาเหมือนเดิม, 3.ทำโครงการเดียว เป็นทั้งกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต(กพช.) และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน(กพผ.) ไม่ได้ !, 4.ให้ หาระเบียบว่า นศ.เทียบโอน ก็ต้องทำ กพช. 200 ชม. – สอบ N-NET วิชาเดียว ทำไมโปรแกรมให้จบ, 5.ต้องการให้ผู้สอบซ่อม จบ พร้อม/ไม่พร้อม รุ่น, 6.สอบซ่อมได้ 0 ก็ผ่าน !?, 7.คุณสมบัติสอบครูผู้ช่วย กศน.



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 30 มี.ค.58 Prachit Wisoungrea ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  คำแปลของ "วันรักการอ่าน" เป็นภาษาอังกฤษที่ใช้เป็นทางการ คืออะไร

             เรื่องนี้  อ.ต้อม รุ่งอรุณ กลุ่มงานวิเทศสัมพันธ์ กลุ่มแผนงาน กศน. บอกว่า  โดยทั่วไป-โดยสากล จะใช้คำว่า Reading Day ก็ได้  แต่ถ้าต้องการระบุเฉพาะเจาะจงว่าวันที่ 2 เม.ย. เป็นวันรักการอ่าน ให้ใช้คำว่า The Love of Reading Day
             เช่น  2,April: The Love of Reading Day


         2. วันที่ 31 มี.ค.58 Etv Channel ตอบในเฟซบุ๊ค Etv Channel ว่า  ในภาคเรียนหน้า ( 1/58 ) จะมีการให้เรียน กศ.ขั้นพื้นฐาน ทาง ETV  3 วิชาเหมือนเดิม ( สำหรับ นศ.ที่ลงทะเบียนเรียน คณิต-วิทย์-อังกฤษ ม.ปลาย ในภาคเรียนที่ 1/58 )

             ครู กศน.ต้องทำแผนการสอนระดับ ม.ปลาย ใน 3 วิชานี้ ( ถ้าวิชาใด กศน.ตำบลนั้นไม่มี นศ.ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนนั้น ก็ไม่ต้องทำแผนฯวิชานั้น ไม่ต้องดู ETV ในช่วงเวลานั้น ใช้ช่วงเวลานั้นเรียนเรื่องอื่น ) วิชาละประมาณ 1 ชั่วโมง ให้สอดคล้องกับ ETV  คือ เป็นแผนการสอนรายวิชา ไม่ใช่แผนการสอนแบบบูรณาการ  และไม่ใช่สอนด้วยวิธีอื่น แต่เป็นการสอนด้วย วิธีสอนแบบใช้สื่อโทรทัศน์ ซึ่งมีขั้นตอนการสอนใหญ่ ๆ 3 ขั้นตอน คือ
             ขั้นที่ 1  นำเข้าสู่บทเรียน ดึงความสนใจ เตรียมผู้เรียนก่อนการรับชมสื่อโทรทัศน์ ( 7-15 นาที )
             ขั้นที่ 2  ชมสื่อโทรทัศน์ ( 30 นาที )
             ขั้นที่ 3  อธิบายเพิ่มในส่วนที่สังเกตเห็นว่านักศึกษาไม่เข้าใจ-ทำกิจกรรม-และวัดผลประเมินผลหลังการรับชมสื่อโทรทัศน์ ( 7-15 นาที )
             ดูรายละเอียดแต่ละขั้นที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/ETVteacherRole.pdf

             การจะทำแผนการสอนนี้ได้ ต้องรู้เนื้อหา ซึ่งเนื้อหาแต่ละครั้งจะเหมือนกับภาคเรียนที่ผ่านมา  ดูได้ที่
             https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/Compressrd/ETVmanual.rar

         3. เช้าวันที่ 3 เม.ย.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค ว่า  กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต(กพช.) กับ กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน(กพผ.) เป็นคนละอย่างกัน  สำนักงาน กศน. ( โดย กป. ) กำหนดกรอบการจัดกิจกรรมคนละกรอบ
             กรอบการจัด กพช. ฉบับล่าสุดเป็นปี
2555 ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดใหม่ ดูข้อมูลได้ในข้อ 7 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/550293  ในกรอบนี้ยังให้ทำ กพช. 100 ชั่วโมง ยังไม่ได้แก้กรอบตามหนังสือแจ้งที่ให้เพิ่มเป็น 200 ชั่วโมง   ส่วนกรอบการจัด กพผ. เดิมเป็นฉบับปี 2556 ตอนนี้กำหนดใหม่เป็นฉบับปี 2558 ดูได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/DOC/fameqoalitystudent58.doc

             กพช. กับ กพผ. มีข้อแตกต่างกันดังนี้

             1)  กพช. ให้เสนอโครงการโดย นศ. แต่ กพผ. สถานศึกษาเป็นผู้จัดทำแผน

             2)  กรอบกิจกรรมที่ให้ทำได้ ของ กพช. กับ กพผ. เป็นคนละกรอบกัน  ( แต่กิจกรรมต่าง ๆ นี้ ก็มีบางกิจกรรมที่เป็นได้ทั้ง กพช. และ กพผ. )

             3)  กพช. กำหนดเป้าหมายเป็นจำนวนชั่วโมงของ นศ.แต่ละคน ๆ ละ 200 ชั่วโมง ( มีนโยบายให้ นศ.ทยอยทำ กพช.ภาคเรียนละ 50 ชั่วโมง แต่ไม่บังคับว่าต้อง 50 ชั่วโมงพอดี )  แต่ กพผ. กำหนดเป้าหมายเป็นจำนวนเงินจัดสรร เงินอุดหนุนงบพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามจำนวน นศ.ที่ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนนั้น โดยให้จัดแล้วเสร็จภายในแต่ละภาคเรียน

             4)  กพช. ใช้งบเงินอุดหนุนรายหัว(ที่ไม่ใช่งบพัฒนาผู้เรียน)ได้ โดยในกรณีเข้าค่ายคุณธรรม ถ้าเงินอุดหนุนรายหัวไม่เพียงพอ ให้เก็บจากนักศึกษาที่สมัครใจเข้าค่ายได้อย่างประหยัด  ถ้านักศึกษารายใดไม่สมัครใจ ให้นักศึกษารายนั้นทำกิจกรรมแบบศึกษาด้วยตนเอง  แต่ กพผ. ไม่ให้เก็บเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้เรียนอีก ให้ใช้เฉพาะงบ กพผ.

             วันที่ 18 มี.ค.58 ผมถาม กป.กศน. ว่า จัดโครงการ ( เลือกกิจกรรมที่มีทั้งในกรอบ กพช. และกรอบ กพผ. ) โดยให้โครงการเดียวเป็นทั้ง กพช. และ กพผ. ได้หรือไม่  อ.เอื้อมพร กป.ตอบว่า คงจะไม่ได้ เพราะ กพช.กับ กพผ.แตกต่างกัน  ผมบอกว่า ในทางปฏิบัติ แค่ กพช. 200 ชม.ก็ทำกันไม่ค่อยได้อยู่แล้ว ถ้าต้องทำ กพผ.ต่างหากอีก ในทางปฏิบัติจะทำจริงไม่ได้  อ.เอื้อมพรบอกว่า จะหารือกลุ่มงานคลังอีกครั้ง

             วันที่ 2 เม.ย.58 ผมติดตามถาม กป.กศน.อีกครั้ง  อ.วรัตน์ กป. ยืนยันว่า ทำโครงการเดียวจะให้เป็นทั้ง กพผ.และ กพช.ด้วย ไม่ได้ เพราะ กพช.กับ กพผ.เป็นคนละอย่างกัน

             นอกจากนี้ อ.วรัตน์ ยังบอกว่า ที่ กพช.ให้เก็บเงินสมทบจากนักศึกษาสมัครใจได้อย่างประหยัดนั้น เก็บได้เฉพาะกรณีเข้าค่ายคุณธรรมเท่านั้น ( เจตนาหมายถึงเข้าค่ายคุณธรรมร่วมกับเครือข่ายวัดพระธรรมกาย )  ถ้าเป็นโครงการอื่นจะเก็บเงินจากนักศึกษาไม่ได้

         4. เย็นวันที่ 10 เม.ย.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  เรื่อง กพช 200 ชม. ใช้กับ นศ. ที่สมัครเรียนตั้งแต่ภาค 2/56 ซึ่งบังคับใช้กับ นศ.ทุกคนไม่ว่าจะเป็น นศ.ปกติหรือเทียบโอนใช่ไหม .. ครูไม่ยอม เถียงฉันซึ่งเป็นนายทะเบียน หัวชนฝา อยากจะให้เด็กจบอย่างเดียว อยากได้แต่ นศ. อ้างว่าเทียบโอนแล้ว ท้าให้ฉันหาระเบียบมาให้ดู  ฉันค้นไม่เจอ เจอแต่ประกาศที่ให้เริ่ม กพช. 200 และฉันเอาคู่มือหลักสูตร 51 ให้ดูเรื่องการทำ กพช. ในคู่มือบอกว่า กพช.ไม่สามารถเทียบโอนได้ แต่มันไม่ชัดเจนว่าครอบคลุม นศ.เทียบโอนหรือไม่  ทำอย่างไรดี จะอ้างระเบียบหรือคำสั่งอะไร

             ผมตอบว่า
             1)  ประเด็นที่ ในคู่มือบอกว่า กพช.ไม่สามารถเทียบโอนได้ นั้น คือ กพช.เทียบโอนต่างหลักสูตรไม่ได้ ต้องมาทำ กพช.ใหม่ทั้งหมด แม้แต่หลักสูตร กศน.ด้วยกัน เช่น ทำ กพช.ตอนเรียนหลักสูตร กศน.ปี 44 ถ้าเรียนไม่จบ เมื่อเทียบโอนมาเรียนต่อในหลักสูตร กศน.ปี 51 ต้องมาทำ กพช.ใหม่ทั้งหมด เพราะถือเป็นคนละหลักสูตร  แต่ถ้าเป็นหลักสูตรเดียวกัน เช่น ทำ กพช.ในหลักสูตร กศน.ปี 51 แล้วย้ายไปเรียนที่ กศน.อำเภออื่นในหลักสูตร 51 เช่นกัน อย่างนี้โอน กพช.ไปได้ ( หลักสูตรเดียวกัน จะเป็นการ โอนไม่ใช่ เทียบโอน” )
             2)  ประเด็น นศ.เทียบโอน ถึงจะเทียบโอนแล้วเรียนภาคเรี ยนเดียวจบ ก็ต้องทำ กพช. 200 ชั่วโมง  ถ้าไม่สามารถทำ กพช.ได้ครบ 200 ชั่วโมง ก็เรียนภาคเรียนเดียวไม่จบ ภาคเรียนต่อไปทำแต่ กพช.อย่างเดียว
                   ที่ให้หาระเบียบว่า กพช. 200 ชม. ครอบคลุม นศ.เทียบโอนด้วย นั้น  ตามหลักสูตร กำหนดเงื่อนไขการจบหลักสูตรไว้ 4 ข้อ โดยข้อ 2 คือ ผ่าน กพช. ไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง โดยไม่ได้ระบุว่ายกเว้นเทียบโอนหรือยกเว้นใคร  ซึ่ง นศ.ทุกคนต้องผ่านเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อนี้จึงจะจบ  ต้องบอกให้เขาเป็นฝ่ายหาระเบียบว่า เทียบโอนแล้วไม่ต้องทำ กพช. หรือเทียบโอนแล้วให้ทำ กพช.กี่ชั่วโมง มีระเบียบอะไรตรงไหนที่บอกว่าเงื่อนไขการจบยกเว้นกรณีเทียบโอน
                   ( ถ้าเขาบอกให้หาระเบียบว่า ผู้หญิงต้องทำ กพช. เท่ากับผู้ชาย เราต้องบอกให้เขาเป็นฝ่ายหาระเบียบว่าผู้หญิงไม่ต้องทำ กพช.เท่ากับผู้ชาย เพราะ เงื่อนไขในหลักสูตรไม่ได้ยกเว้นผู้หญิงไว้  ไม่ใช่ให้เราเป็นฝ่ายหาระเบียบที่ระบุว่าผู้หญิงต้องทำ กพช.เท่ากับผู้ชาย )
                   โปรแกรม ITw จะไม่รับรู้การพูด/การเถียง ถ้าระบุเงื่อนไขในตารางระบบว่า กพช. 200 ชั่วโมง แล้วถ้า นศ.รายใดยังมี กพช.ไม่ครบ 200 ชั่วโมง โปรแกรมก็ไม่สามารถออกใบ รบ.ว่าจบ ให้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเทียบโอนมากแค่ไหน ไม่ต้องเถียงกันให้เสียเวลาหรอก

             ผู้ถาม ถามต่ออีกเรื่อง ว่า  นศ. สอบ n net เพียง 1 สาระ เมื่อเราเอาคะแนนเข้าเครื่อง IT และประมวลผลผู้จบหลักสูตรทำไมมีรายชื่อจบทั้งๆที่สอบไม่ครบ 2 สาระ  เคยได้ยินว่าต้องสอบครบทั้ง 2 สาระ
             ผมตอบว่า  การสอบ N-NET มี 2 วิชา หรือ 2 ฉบับ เมื่อสอบครบ 2 วิชา/ฉบับ ในภาคเรียนใด จึงจะบันทึกในโปรแกรม ITw ที่เมนู 1-5-1 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน - บันทึกการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ - บันทึกการประเมิน ) ว่า "เข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติในภาคเรียน .../..." ( ที่บรรทัดสุดท้าย )
             ถ้ายังสอบไม่ครบ 2 วิชา หรือ 2 ฉบับ ก็ยังไม่ต้องระบุภาคเรียนตรงบรรทัดสุดท้ายนี้
             ถ้าระบุภาคเรียนตรงบรรทัดสุดท้ายนี้ โปรแกรม ITw จะถือว่าผ่านเงื่อนไขการเข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติแล้ว  ส่วนคะแนนแต่ละวิชา/ฉบับ แม้ยังไม่ใส่คะแนนเลยซักวิชา โปรแกรมก็ให้จบ เพราะเงื่อนไขอยู่ตรงที่ว่าเข้าสอบแล้วในภาคเรียนใด คะแนนจะได้ 0 หรือได้เท่าไรก็ไม่เกี่ยว
             เช่น ภาคเรียนที่ 57/1 เข้าสอบวิชาเดียว ยังไม่ครบ 2 วิชา ก็ยังไม่ต้องระบุภาคเรียนในช่องบรรทัดสุดท้ายนี้ ส่วนคะแนน 1 วิชานั้น จะกรอกไว้เลยก็ได้  ต่อมาภาคเรียนที่ 57/2 มาสอบเพิ่มอีก 1 วิชา ทำให้ครบ 2 วิชาในภาคเรียนที่ 57/2 ก็ระบุในช่องบรรทัดสุดท้ายนี้ว่า 57/2 โปรแกรมก็จะไม่ยอมให้จบก่อนภาค 57/2
             โปรแกรมจะดูที่ตรงนี้ที่เดียว ไม่ได้สนใจตรงคะแนนแต่ละวิชาเลย ไม่กรอกคะแนน N-NET เลยก็จบถ้ากรอกภาคเรียนในช่องบรรทัดสุดท้ายนี้ช่องเดียว ( ถ้าต้องกรอกคะแนนจึงจะจบ จะออกใบ รบ.ให้ นศ.ล่าช้า เพราะสอบ N-NET ไปแล้ว กว่าจะรู้คะแนนก็เป็นเดือน ประเด็นนี้เคยตอบแล้ว เช่นในข้อ 1 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/481848 )


         5. วันอาทิตย์ที่ 12 เม.ย.58 Hataigan Chumpram กศน.อ.โคกโพธิ์ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การอนุมัติผู้จบหลักสูตร หลักสูตร 51 จำเป็นไหมที่นักศึกษาจะต้องจบ 2 ครั้ง ครั้งแรกจบก่อนสอบซ่อม ครั้งที่ 2 จบหลังสอบซ่อม ของปัตตานี ส่งรายงานวันที่ 20 เมษายน 58 แต่สอบซ่อมเสร็จไปแล้วเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ประมวลผลจบรอบแรกแต่คนที่สอบซ่อมก็มีชื่อมาปะปนด้วย

             ผมตอบว่า   ไม่จำเป็นต้องแยกจบ 2 ครั้ง โดยในแต่ละภาคเรียน จะจบ 1 ครั้ง 2 ครั้ง 8 ครั้ง ก็ได้ ( นศ.บางคนภาคเรียนก่อนไม่จบ เพราะขาด กพช.อย่างเดียว ภาคเรียนนี้ เปิดภาคเรียนมาทำ กพช.ครบภายในเดือนแรก ก็จบเป็นพิเศษคนเดียวในครั้งนั้นตั้งแต่เดือนแรกก็ได้ คือใครครบเงื่อนไขการจบหลักสูตร 4 เงื่อนไขเมื่อใด ก็อนุมัติให้จบได้ตลอดเวลา )
             ถึงแม้จะมีการสอบซ่อม ถ้าสามารถจัดสอบซ่อม ( หรือจัดให้สอบ e-Exam หรือทำ กพช.ครบ ) ก่อนที่จะประมวลผลผู้จบหลักสูตรเพื่อรายงาน GPA ส่งกลุ่มแผนงาน ก็รวมเป็นจบพร้อมกันได้
             แต่ถ้าหลังจากประมวลผลส่งผู้จบหลักสูตรให้กลุ่มแผนงานไปแล้ว ยังมีผู้จบหลังจากนั้น ( ก่อนเปิดภาคเรียนถัดไป ) เพิ่มเติมอีก เช่นบางแห่งจัดสอบซ่อมช้า บางคนเพิ่งสอบ e-Exam ในเดือน เม.ย. คนกลุ่มนี้ก็จะ "จบไม่พร้อมรุ่น"

             ผู้ถาม ถามต่อ ว่า  ผอ.จะให้จบ 2 ครั้ง แต่พอประมวลผล คนที่สอบซ่อมก้อจบด้วย
              ผมตอบว่า  ทำไมต้องแยกให้จบ 2 ครั้งด้วย  แต่ถ้าจะแยก ก็ต้องประมวลผลครั้งแรกโดยยังไม่ลงคะแนนการสอบซ่อม เมื่อประมวลผลเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงบันทึกคะแนนผลการสอบซ่อม แล้วประมวลผลอีกครั้ง จึงจะทำให้ผู้ที่สอบซ่อม จบไม่พร้อมรุ่น
             ผู้ถาม บอกต่อ ว่า  เข้าใจแล้ว เป็นเพราะลงทะเบียนสอบซ่อมก่อนประมวลผล
              ผมตอบว่า  ลงทะเบียนสอบซ่อม กับ บันทึกคะแนนสอบซ่อม คนละอย่างกันนะ แค่ลงทะเบียนสอบซ่อม ยังไม่ทำให้จบ  แต่ถ้าลงคะแนนสอบซ่อมไปแล้ว และมาประมวลผลภายหลังไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้เป็นจบ 2 ครั้ง  แต่ถ้าจะแก้เป็นจบ 2 ครั้งก็ทำได้ โดยต้องแก้วันจบของผู้สอบซ่อมเป็นราย ๆ ไป ดูวิธีแก้ในข้อ 1 (1) ที่ https://www.gotoknow.org/posts/484069

         6. วันที่ 17 เม.ย.58 อ.เอมอร นายทะเบียน กศน.อ.พระนครศรีอยุธยา ถามผมทางโทรศัพท์ ว่า  ภาคเรียนนี้พบว่า นักศึกษาไม่ตั้งใจสอบซ่อม คงเพราะรู้แล้วว่า สอบซ่อมได้ 0 ก็ผ่านถ้าคะแนนระหว่างภาคได้ถึง 50 จากคะแนนเต็ม 60 แล้ว  ( เกณฑ์การตัดสินคะแนนปลายภาค 30 % นั้น ใช้กับคะแนนปลายภาควิชาบังคับเท่านั้น  เมื่อคะแนนปลายภาครวมกับคะแนนระหว่างภาคไม่ถึง 50 จากคะแนนรวม 100 หรือ คะแนนปลายภาควิชาบังคับไม่ถึง 12 คะแนน ก็จะตัดคะแนนปลายภาคทิ้งไปเลย ใช้คะแนนการประเมินซ่อมแทนคะแนนปลายภาค ซึ่งส่วนกลางไม่กำหนดเกณฑ์การตัดสินคะแนนการประเมินซ่อมไว้ )

             อ.เอมอร ถามว่า ถ้าจะกำหนดเกณฑ์การตัดสินคะแนนการประเมินซ่อม ลักษณะเดียวกับการกำหนดเกณฑ์การตัดสินคะแนนปลายภาควิชาบังคับ 30 % จะกำหนดในโปรแกรม ITw อย่างไร ?

             ( กลุ่มพัฒนา กศน. บอกว่า สถานศึกษามีอำนาจใช้ดุลยพินิจกำหนดระเบียบการวัดผลและประเมินผล โดยจะกำหนดเกณฑ์การตัดสินคะแนนปลายภาควิชาเลือก และคะแนนประเมินซ่อม เป็นเท่าไร หรือไม่ ก็ได้  ซึ่งก็มีบางอำเภอกำหนดแล้ว )

             เรื่องนี้  วันที่ 17 เม.ย.58 ผมแจ้งคุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw  คุณสุขุมได้เพิ่มให้สถานศึกษาสามารถกำหนดเกณฑ์การตัดสินคะแนนปลายภาควิชาเลือก และคะแนนการประเมินซ่อม ในตัวแปรระบบของโปรแกรมได้ตามระเบียบของสถานศึกษาแล้ว  ( จะกำหนดเท่าไร หรือไม่ ก็ได้ )

         7. คืนวันที่ 23 เม.ย.58 Noo-ning Chompoo ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ตำแหน่งครูผู้สอนคนพิการปฏิบัติการสอน 3 ปีขึ้นไป มีสิทธิสอบครูผู้ช่วย กศน.หรือเปล่า  มีใบประกอบวิชาชีพแล้ว  ต้องมีเอกด้วยเปล่า  จบสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคมมีสิทธิสอบมั๊ย

             ผมตอบว่า   เขียนเรื่องนี้บ่อยแล้ว เช่นในข้อ 1 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/03/44.html
             ถ้าคุณสมบัติครบก็มีสิทธิสมัครสอบ  คุณสมบัติมีหลายข้อ เช่น
             1)  เป็นบุคลากรในสังกัด กศน. ที่มีหน้าสอน กศ.ขั้นพื้นฐาน 3 ปีขึ้นไป  ( ครูผู้สอนคนพิการของ กศน.ที่สอน กศ.ขั้นพื้นฐาน 3 ปีขึ้นไป ก็ผ่านคุณสมบัติข้อนี้ )
             2)  มีปริญญาทางการศึกษาหรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนด
                  การจะตรวจสอบว่าปริญญาใด ก.ค.ศ.กำหนดนั้น ใคร ๆ ก็เข้าไปตรวจสอบที่เว็บไซต์ ก.ค.ศ.ได้  เคยอธิบายวิธีตรวจสอบ 3-4 ครั้งแล้ว  ซึ่งการจะตรวจสอบจะบอกแต่ชื่อสาขาวิชาเอกคร่าว ๆ อย่างนี้ไม่ได้ ต้องบอกชื่อสาขาวิชาเอกให้ถูกต้องตามคุณวุฒิทุกคำ และระบุสถาบันที่เรียนจบมาด้วย มิฉะนั้นโปรแกรมตรวจสอบของเว็บ ก.ค.ศ.อาจหาไม่พบ กลายเป็นไม่ใช่ปริญญาที่ ก.ค.ศ.กำหนด
             3)  มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน  ถ้าเป็นแค่ "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุ ญาตประกอบวิชาชีพ" จะใช้ไม่ได้  ( ต้องดูสิ่งที่ใช้คำสั้น ๆ คร่าว ๆ ว่า "ใบประกอบวิชาชีพ" นั้น มันคืออะไรแน่ )   การจะได้ "ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน" ที่ใช้ได้นั้น ต้องเป็นผู้ผ่าน 9 มาตรฐานวิชาชีพครูหรือผ่าน ป.บัณฑิตแล้ว  (ลองอ่านในข้อ 6 ที่  http://www.gotoknow.org/posts/514112  ให้ละเอียด )
             คน กศน.ชอบเขียนอะไรสั้นๆคร่าวๆ แล้วทำให้เข้าใจผิด เช่นเขียนชื่อสาขาวิชาเอกคร่าว ๆ เท่าที่ตนจำได้  เขียนคำว่า หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็น ใบอนุญาตปฏิบัติการสอนทั้งๆที่เป็นคนละใบกัน
             เวลาให้กรอกแบบสำรวจอะไร คน กศน.ก็กรอกไม่ครบทุกช่อง คิดว่าการกรอกครบทุกช่องเป็นเรื่องหยุมหยิม
             4)  ต้องดูว่าการสอบครูผู้ช่วย ของ กศน.ครั้งต่อไป กำหนดวิชาเอกหรือไม่ ถ้ากำหนดวิชาเอก ก็สมัครสอบได้เฉพาะผู้จบเอกตรงกับที่กำหนด