วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558

1.ผอ.ทำเรื่องย้าย ขรก.ครูโดยเจ้าตัวไม่ได้ขอย้ายได้ไหม, 2.มีตัวอย่าง SAR ของ กศน.ตำบลไหม, 3.ยกเลิกการให้พนักงานราชการปฏิบัติงานนอกพื้นที่กำหนดในสัญญา(ย้าย), 4.ทำสัญญาจ้างเหมาบริการย้อนหลังได้กรณีไหน-ทำสัญญาจ้างครู ศรช.เมื่อไร, 5.พนักงานจ้างเหมาข้องใจ, 6.จะทำสัญญาจ้างครู ศรช. ครู ปวช. ครูผู้สอนคนพิการ ครูประจำกลุ่ม ทั้งปี หรือครึ่งปี ?, 7.การทำลายข้อสอบ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันเดียวกัน ( 21 ก.ย.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า
             1)  ในกรณีที่เป็นข้าราชการครู กศน.อำเภอ ถ้าเจ้าตัวไม่ได้ทำเรื่องขอย้าย ผอ.กศน.อำเภอมีสิทธิ์ทำเรื่องย้าย ขรก.คนนั้นไหม
             2)  ถ้าได้ ในกรณีใด และ ขรก.ครู คนนั้น เมื่อโดนสั่งย้ายไปอำเภออื่น มีสิทธิ์เบิกค่าเช่าบ้านได้ไหม
             3)  ถ้าไม่ได้ ข้าราชการคนนั้น ควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง

             ผมตอบว่า
             1)  ถ้าไม่ได้ยื่นขอย้ายตามความประสงค์ของตนเอง และไม่ได้ย้ายไปยังเขตที่บรรจุครั้งแรก ก็เบิกค่าเช่าบ้านได้
             2)  ไม่ได้ยื่นขอย้าย ผู้มีอำนาจในการสั่งบรรจุแต่งตั้ง ( ของเราปัจจุบันหมายถึงปลัดกระทรวง ศธ.) จึงจะมีอำนาจสั่งย้ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการได้ แต่ ผอ.กศน.อำเภอ มีสิทธิ์เสนอเหตุผลพร้อมหลักฐานไปตามลำดับเพื่อให้ปลัดกระทรวงฯพิจารณาย้ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการ แต่โดยปกติถ้าเจ้าตัวไม่ประสงค์จะย้าย จะต้องเป็นผู้มีความผิดหรือมีปัญหาโดยมีหลักฐานชัด มิฉะนั้นเจ้าตัวจะฟ้องศาลปกครองได้

         2. วันเดียวกัน ( 21 ก.ย.58 ) กศน.ตำบลท่าไม้ อำเภอพรานกระต่าย ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  SAR ของ กศน.ตำบล จะต้องทำงัย มีแบบตัวอย่างมั้ย

             ผมตอบว่า   ไม่มีตัวอย่าง เพราะส่วนกลางไม่ได้ให้ทำ SAR ของ กศน.ตำบล ( ให้ทำ SAR เฉพาะ "สถานศึกษา" ซึ่ง กศน.ตำบลไม่ใช่สถานศึกษา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถานศึกษา/กศน.อำเภอ ข้อมูลของ กศน.ตำบลจะเป็นส่วนประกอบใน SAR ของ กศน.อำเภอ )  ใครกำหนดให้ทำก็ถามคนนั้นจึงจะตรงใจ
              ( โดยปกติการประเมิน ต้องยึดประเมินตาม มาตรฐาน/ตัวบ่งชี้ หรือจุดประสงค์/วัตถุประสงค์ ของสิ่งที่จะประเมิน คือต้องมีการกำหนดมาตรฐาน/ตัวบ่งชี้ หรือจุดประสงค์/วัตถุประสงค์ ของบทบาทภาระหน้าที่ไว้ก่อน แล้วประเมินตามนั้น )

         3. ตามที่มีหนังสือแจ้งเรื่องซักซ้อมความเข้าใจมาจาก กพร. ให้พนักงานราชการปฏิบัติงานนอกพื้นที่กำหนดในสัญญาเป็นครั้งคราว นั้น
             1)  วันที่ 22 ก.ย.58 ภาคิณ วัชรานันทกุล เขียนต่อท้ายที่ผมโพสต์ในเฟซบุ๊ค ว่า  แล้วพอพนักงานราชการลาออก ทำไมเอาตำแหน่งไปยัดลงจังหวัดหมดเลย อำเภอเจ้าอัตราขาดคนทำงาน รู้ยัง
                  ผมตอบว่า  ปัจจุบัน "จังหวัด" ต้องเป็นผู้เสนอเข้าไปส่วนกลาง ขอเปลี่ยนตำแหน่งไปไว้ที่จังหวัดเพื่อให้ส่วนกลางเห็นชอบ  ฉะนั้นเรื่องนี้ จังหวัดไหนทำ ก็ถามเหตุผลที่จังหวัดนั้น ( ถ้าจังหวัดบอกว่าส่วนกลางเปลี่ยนเองโดยที่จังหวัดไม่ได้ขอ ก็ลองโทร.ถามข้อเท็จจริงจาก กจ.กศน. )

             2)  ดึกวันที่ 22 ก.ย.58 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ตามสัญญาจ้างฉันเป็นครูตำบล..... หลังจากมาตำบลตามตำแหน่งได้ระยะหนึ่ง มีคำสั่งจาก ผอ.อำเภอ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่อีกตำบลหนึ่ง  แบบนี้ต้องย้ายกลับตำบลตามตำแหน่งใช่ไหม
                  ผมตอบว่า  เฉพาะตำแหน่งครู กศน.ตำบล เลขที่ตำแหน่งจะระบุพื้นที่เจาะจงตำบลเลย ตำแหน่งเราจะยังอยู่ที่ตำบลเดิม ผอ.อำเภอไม่มีสิทธิ์ย้ายอย่างเป็นทางการ แต่ย้ายเป็นการภายในเท่านั้น ที่ถูกต้องจะต้องย้ายกลับ แต่ตอนที่ ผอ.ให้ย้ายนั้นไม่ถูกต้องได้ ผอ.ก็อาจให้ทำไม่ถูกต้องต่อไปอีกโดยไม่ให้ย้ายกลับก็อาจเป็นได้

                  เช่นเดียวกับ ยังเหลือบางจังหวัดให้ครูอาสาฯไปทำงานอยู่ที่จังหวัดโดยไม่สนใจระเบียบหลักเกณฑ์อยู่เลย

                  กรณีที่มีคำสั่งส่วนกลาง ( สป.ศธ.) ออกมาแล้ว ให้ไปปฏิบัติงานนอกพื้นที่กำหนดในสัญญา ( ในคำสั่งจะไม่มีคำว่า ย้าย และไม่ได้แปลว่า ถาวร )  ก็ยังไม่ต้องกลับ
                  ส่วนถ้าอำเภอหรือจังหวัดให้ไป ซึ่งไม่มีอำนาจ นั้น ถ้ามีผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ให้แจ้งไปที่ผู้บริหารเหนือขึ้นไปตามลำดับ ส่วนกลางจึงจะทราบและดำเนินการตามขั้นตอน

             3)  เรื่องที่ว่า ไปแล้วต้องกลับไหม ? ต่อไปย้ายไม่ได้แม้แต่การสับเปลี่ยนภายในจังหวัด/ภายในอำเภอ ใช่ไหม นั้น  ถ้าเป็นคำสั่ง สป.ศธ. ยังไม่ต้องกลับ, สับเปลี่ยนภายในจังหวัดก็ไม่ได้ ถ้าเป็นตำแหน่งครู กศน.ตำบลซึ่งเลขที่ตำแหน่งระบุพื้นที่เป็นตำบล ก็สับเปลี่ยนไม่ได้แม้ภายในอำเภอ
                  ( วันที่ 23 ก.ย. ผมเรียนถามท่าน ผอ.กจ.กศน.ในเรื่องนี้ ท่านก็บอกอย่างนี้เข่นกันว่า ย้ายไม่ได้ สับเปลี่ยนเลขตำแหน่งภายในจังหวัดก็ไม่ได้ จังหวัดให้ย้ายสับเปลี่ยนเป็นการภายในก็ไม่ถูกต้อง/ไม่ได้ )

         4. วันที่ 25 ก.ย.58 Kainoi Jansuda ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  สัญญาจ้างครู ศรช. เริ่มทำเดือนไหน

             ผมตอบว่า   แล้วแต่จังหวัด  บางจังหวัดอาจคอยดูจำนวนนักศึกษาภาค 2/58 ก่อน ว่าหลังจากมีจบออกไปและสมัครใหม่จะเหลือครบ 60 คนหรือไม่ และคอยให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณก่อน
             ถ้าเป็นการจ้างรายเดิมต่อเนื่องจากปีงบประมาณก่อน สามารถรอไปทำสัญญาจ้างภายหลัง โดยทำสัญญาจ้างให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ต.ค.ได้
             แต่ถ้ายังไม่ทำสัญญา โดยจะไปทำสัญญาในเดือน พ.ย.-ธ.ค. จะทำให้ในเดือน ต.ค.-พ.ย. ยังเบิกจ่ายค่าตอบแทน/ค่าจ้างให้ครู ศรช.ไม่ได้ ครู ศรช.จะไม่มีเงินใช้ ต้องคอยไปได้รับตกเบิกย้อนหลังในเดือนพ.ย.-ธ.ค.

             ในส่วนของการจ้างเหมาบริการ ถ้าจะจ้างอัตราเก่าต่อเนื่องจากปีงบประมาณก่อน ก็ยังไม่จำเป็นต้องทำสัญญาจ้างหรือใบสั่งจ้าง สามารถรอให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณก่อนแล้วค่อยทำสัญญาหรือใบสั่งจ้างให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ต.ค. ได้ เป็นไปตามข้อ 1-2 ในหนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0408.4/351 ลงวันที่ 9 ก.ย.48 ( ดูหนังสือฉบับนี้ได้ที่  https://db.tt/sVLyUOSk )  แต่ต้องให้ผู้มีอำนาจอนุมัติให้จ้างไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 30 ก.ย. ( จัดทำเรื่องจัดจ้างไว้ให้พร้อมที่จะลงนามในสัญญาหรือใบสั่งจ้าง แต่ยังไม่ต้องลงนามในสัญญาหรือใบสั่งจ้าง )
             ถ้าจะลงนามในสัญญา/ใบสั่งจ้างเลยก็ได้ โดยถ้าจะทำสัญญา/ใบสั่งจ้างก่อนได้รับการจัดสรรงบประมาณ ให้ระบุในสัญญา/ใบสั่งจ้างว่า สัญญา/ใบสั่งจ้างฉบับนี้จะมีผลเมื่อได้รับอนุมัติเงินประจำงวดจากสำนักงบประมาณแล้ว

             แต่ถ้าจ้างอัตราตั้งใหม่ที่ยังไม่เคยจ้าง จะทำสัญญา/ใบสั่งจ้างให้มีผลย้อนหลังไปก่อนวันลงนามในสัญญา/ใบสั่งจ้างไม่ได้

         5. ตั้งแต่เย็นถึงคืนวันที่ 28 ก.ย.58 มีพนักงานจ้างเหมาคนหนึ่ง ถามตอบกับผมในแฟนเพจเฟซบุ๊คผมหลายข้อ เช่น

             1)  ทำสัญญาจะระบุวันจ่ายเงิน ปกติคือสิ้นเดือน ในระเบียบไม่มีแจ้งไว้เลยว่าการที่รัฐไม่สามารถจ่ายได้ในเวลาที่กำหนดจะต้องจ่ายดอกเบี้ยหรือถูกปรับเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ มีแต่การปรับผู้รับจ้างในกรณีที่ส่งมอบงานล่าช้าหรือไม่ตรงตามสัญญา  ไม่ยุติธรรม
             2)  ผู้รับจ้างถือเป็นบุคคลภายนอกรับจ้างทำงานตามภารกิจ การว่าจ้างนั้นดูตามผลของงานที่มีขอบเขตของระยะเวลาการส่งมอบ  แล้วเพราะอะไรถึงต้องบังคับให้มาทำงานตามเวลาราชการ
                  ผู้ใช้บริการห้องสมุดจะใช้มากช่วงเย็นและสุดสัปดาห์ เวลาราชการมีเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ทำไมถึงให้ผู้รับจ้างเหมามาทำงานในเวลาที่ซ้อนกัน เจ้าหน้าที่ให้ผู้รับจ้างเหมาทำงานมากกว่าตนเอง แทนที่จะให้จ้างเหมาเข้าทำงานเวลา 12.00-20.00 น. จะได้มีคนสับเปลี่ยน ดีกว่าเอาเปรียบให้เจ้าหน้าที่เบิกเงินล่วงเวลา
             3)  เพราะอะไรถึงไม่ใช้เงินตัวอื่น เปลี่ยนการจ้างจากผู้รับจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำไมไม่คุ้มครองแรงงานของตัวเองให้ดีเพราะถือว่าทำงานให้หลวงโดยตรง
                  สิ้นปีงบประมาณมาจะต้องคิดหาโครงการมาใช้เงินส่วนที่เหลือ หลวงมีระเบียบว่าขอเงินมาแล้ว ให้มาแล้วต้องใช้ให้หมด ซึ่งก็รู้ว่ากี่โครงการทำจริง กี่โครงการจัดขึ้นเพื่อใช้ให้เงินหมดๆไป การศึกษาดูงานบางอย่างเป็นแค่โครงการในกระดาษเท่านั้น
             4)  ตีค่าคนเป็นวัสดุ มองค่าคนต่ำไป

             ผมตอบว่า
             1)  ถ้าทำงานไป 2-3 เดือนแล้วราชการยังไม่จ่ายเงิน ไม่มีระเบียบราชการกำหนดให้ราชการจ่ายดอกเบี้ย จะมองว่าราชการเอาเปรียบก็อาจได้ กรณีนี้ผู้รับจ้างคงจะมีสิทธิฟ้องศาลปกครอง
                   ( ในสัญญาไม่น่าจะกำหนดว่าจ่ายเงินในวันสิ้นเดือน เพราะวันสิ้นเดือนต้องตรวจรับการจ้างก่อนแล้วจึงทำเรื่องไปเบิกจ่ายเงิน )
             2)  ผู้รับจ้างถือเป็นบุคคลภายนอก รับจ้างผลิตผลงานตามภารกิจ ตามปกติไม่ได้บังคับให้มาทำงานตามเวลาราชการ แต่เนื่องจากบางตำแหน่งบางภารกิจเป็นการทำงาน/ให้บริการแก่ผู้รับบริการหรือต้องประสานงานกับผู้ร่วมงานหรือหน่วยงานต่างๆ ถ้าไปทำเวลาอื่นก็จะไม่ได้พบเจอกับผู้รับบริการและผู้เกี่ยวข้อง จึงอาจจะมีการตกลงกันได้ว่าภารกิจนั้นให้มาทำงานตามเวลาราชการ  บางตำแหน่งเราอาจคิดเรื่องเวลาทำงานไม่ตรงกับผู้จ้าง ต้องตกลงกับผู้จ้างให้ได้
                  สามารถกำหนดให้ผู้รับจ้างเหมามาทำงานตั้งแต่เที่ยงถึงเย็นได้ แม้แต่เป็นข้าราชการก็ให้ทำอย่างนี้ได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ( ใช้แนวทางการทำงานให้ครบวันละ 7 ชั่วโมงไม่นับรวมเวลาพักทานอาหารมื้อหลักมื้อละ 1 ชั่วโมง ) แล้วแต่จะเห็นสมควรและตกลงกันในแต่ละแห่ง
                   ( ข้าราชการที่ไม่ได้เริ่มทำงานตั้งแต่เช้า ถึงแม้จะทำงานถึงเย็นก็เบิกค่าทำงานนอกเวลาไม่ได้ ต้องทำงานเกิน 7 ชั่วโมงในวันปกติ/สัปดาห์ละ 5 วัน จึงจะเบิกค่าทำงานนอกเวลาได้ )
             3)  "ผู้รับจ้าง" ตามระเบียบพัสดุ ถือเป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่ "ลูกจ้าง" ไม่ไช่แรงงาน จึงไม่ใช้กฎหมายแรงงาน ใช้กฎหมายแรงงานเป็นเพียงแนวทางการพิจารณาบางประการ  ( ลักษณะเดียวกับการจ้างพิมพ์หนังสือเรียน หรือจ้างบริษัททำความสะอาด ผู้รับจ้างเขาไม่ได้เป็นลูกจ้างส่วนราชการ แต่เขามีลูกจ้างของเขา เขากับลูกจ้างเขาทำประกันสังคมกันเองไม่เกี่ยวกับส่วนราชการที่จ้าง  เพียงแต่กรณีนี้จ้างบุคคล ไม่ใช่จ้างบริษัท )
                  เราไม่ได้รับอัตราลูกจ้างชั่วคราว ( อัตราลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานราชการ ต้องขอไปที่กรมบัญชีกลางและ กพร.) แต่บุคลากรของเราไม่พอ จึงต้องหาทางออกโดยนำงบดำเนินงาน ( งบดำเนินงาน เป็นงบค่าตอบแทนใช้สอยวัสดุ ไม่ใช่ค่าจ้างชั่วคราว ) มาจ้างตามระเบียบพัสดุ
                  เราอยากได้งบอื่นมาจ้าง ขออัตราพนักงานราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ทุกรอบ 4 ปี แต่เขาไม่ให้อัตราค่าตอบแทนมาเพิ่ม คงจะใช้วิธีเอาอัตราค่าตอบแทนของพนักงานราชการตำแหน่งครูอาสาฯที่ลาออก-เกษียณ-ตาย-เลิกจ้าง เปลี่ยนเป็นพนักงานราชการตำแหน่งบรรณารักษ์และตำแหน่งอื่น
                  เรื่องการศึกษาดูงานที่ว่าบางอย่างเป็นแค่โครงการในกระดาษนั้น โครงการส่วนใหญ่ของหลายแห่งเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ เราไม่นำสิ่งที่ทำผิด/ทุจริตมาเป็นหลัก
             4)  เราพูดและคิดกันไปเองว่า "ตีค่าคนเป็นวัสดุ" เป็นการใช้วาทกรรมแบบนักการเมือง ผมรำคาญคำนี้มานาน ที่จริงการจ้าง "ตามระเบียบพัสดุ" หมายถึงการจ้างโดย "ตีค่าตามภารกิจ/ชิ้นงาน/ผลงาน" ไม่ใช่ผู้รับจ้างเป็นวัสดุ แต่ผู้รับจ้างเป็นผู้ผลิตผลงานตามภารกิจ ลักษณะเดียวกับการจ้างพิมพ์หนังสือเรียนก็เป็นการจ้างเหมาบริการเช่นกัน ผู้รับจ้างไม่ใช่วัสดุ แต่หนังสือเรียนเป็นผลงาน/ชิ้นงาน/วัสดุตามภารกิจ

         6. เย็นวันที่ 30 ก.ย.58 มีผู้ถามผม ในเฟซบุ๊ค ทั้งในอินบ็อกซ์ และต่อท้ายโพสต์ในกลุ่มครูนอกระบบ ว่า ให้ทำสัญญาจ้างครู กศน.ทั้งปีหรือครึ่งปี

             เรื่องนี้  ทำได้ทั้ง 2 แบบ อยู่ในดุลยพินิจของแต่ละจังหวัด ( การจ้างครูทั้ง 4 ประเภทนี้ เป็นบทบาทหน้าที่ของจังหวัด ไม่ใช่อำเภอ )

             - บางจังหวัดทำสัญญาจ้างครั้งละครึ่งปี เพราะ
                1)  ส่วนกลางจัดสรรงบประมาณให้ครั้งละครึ่งปี จึงต้องทำสัญญาจ้างตามที่ได้รับงบประมาณ
                2)  กศน.มีหลักเกณฑ์กำหนดจำนวน นศ.ของครูแต่ละคนต้องครบตามเกณฑ์ จึงจะได้เงินเดือนเต็มตามวุฒิ ป.ตรี 15,000 บาท ซึ่งไม่แน่ว่าภาคเรียนต่อไปครูคนนั้นจะมีนักศึกษาครบหรือไม่ จึงทำสัญญาจ้างเพียงครึ่งปีก่อน
                 ( การจ้างเพียงครึ่งปี จะมีช่วงต่อระหว่างสิ้นสุดสัญญาเก่าและยังทำสัญญาใหม่ไม่เสร็จ ช่วงนี้จะสมัครเรียน ป.บัณฑิตไม่ได้ และถ้าจะขอหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกับคุรุสภา ต้องขอก่อนสิ้นสุดสัญญาไม่น้อยกว่า 4 เดือน )

             - บางจังหวัดทำสัญญาจ้างครั้งเดียวทั้งปี เพราะ
                1)  การทำสัญญแต่ละครั้งเสียเวลาทั้งสองฝ่าย จึงทำครั้งเดียวให้เสร็จไปเลย
                2)  การทำสัญญาครั้งเดียวทั้งปี ครูจะได้รับขวัญกำลังใจมากกว่าการทำสัญญาเพียงครึ่งปี ซึ่งจะส่งผลต่อการปฏิบัติงาน
                3)  สามารถแก้ปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณ และจำนวน นศ.ที่ไม่แน่นอน ได้โดย ระบุเงื่อนไขรายละอียดเพิ่มในสัญญา เช่น เพิ่มรายละเอียดในเรื่องค่าตอบแทน ว่า ถ้าภาคเรียนใด มีจำนวนนักศึกษาครบตามเกณฑ์ที่กำหนด อัตราค่าตอบแทนเป็นเดือนละ 15,000 บาท ถ้าภาคเรียนใด มีจำนวนนักศึกษาไม่ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด อัตราค่าตอบแทนเป็นตามจำนวนนักศึกษา คนละ .. .. .. บาทต่อเดือนเป็นต้น

             ผมเคยเขียนเรื่องนี้ในข้อ 1 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/12/nfe-mis.html


teacherPJGb.jpg



         7. วันที่ 5 ต.ค.58 Pornprasit Tae-mai ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  การทำลายแบบทดสอบ ใช้ระเบียบการทำลายหรือแนวทางอย่างไร

             ผมตอบว่า   ทำลายตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยงานสารบรรณ
             ( อ่านในข้อ 10 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/531213 )
             ที่ถูกต้อง ถ้าจังหวัดจะให้อำเภอทำลาย ต้องให้อำเภอส่งรายชื่อบุคลากรอำเภอไปให้จังหวัดเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งเป็นกรรมการทำลายฯ