วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

1.วิธีทำแฟนเพจ กศน.ตำบล, 2.สมยอมกันทุกฝ่าย ( ผู้เรียนก็อยากได้ใบประกอบวิชาชีพ มหาวิทยาลัยก็อยากได้ค่าลงทะเบียน ), 3.เทียบโอนแล้วถ้าเหลือ 26 หน่วยกิต จะเรียนให้จบในเทอมเดียวได้ไหม, 4.การแก้ไข/อัพ ข้อมูล นศ., 5.ใน 1 กลุ่มมี นศ. 2 ระดับชั้นได้ไหม, 6.ข้าราชการครูไม่มี นศ.เป็นของตนเองได้ไหม, 7.ใครจะลงคำรับรองฯถ้าข้าราชการครูเป็นครูประจำกลุ่ม นศ.ของ กศน.ตำบล



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันเสาร์ที่ 7 พ.ย.58 ผมเผยแพร่คู่มือการสร้างแฟนเพจเฟซบุ๊ค จาก 2 แหล่ง คือ
             1) 
https://db.tt/fumZpWaA  ( จาก สนง.กศน.จ.กระบี่ โดย น้องเอก สามารถ จงนอก นักวิชาการคอมฯ )
             2) 
http://koratsite.nfe.go.th/UserFiles/File/koratsite/How2Facebook%20Page_KSN.pdf  ( จาก สนง.กศน.จ.สระบุรี โดย ดํารงชัย ทรัพยกุญชร นักวิชาการคอมฯ )

             จะทำแฟนเพจได้ ต้องมีบัญชีเฟซบุ๊คแล้ว
             ข้อแตกต่างของหน้าหลักเฟซบุ๊ค กับหน้าแฟนเพจ คือ
             - หน้าหลักเฟซบุ๊ค  คนหนึ่งให้มีบัญชีเดียว เหมาะสำหรับการสื่อสารกับ "เพื่อน" มีข้อจำกัดว่าเพิ่มเพื่อนได้ไม่เกิน 5,000 คน ปกติต้องใช้ชื่อ-สกุลจริงเป็นชื่อหน้าหลักเฟซบุ๊ค โพสต์ของเพื่อนในหน้าหลักเฟซบุ๊คอาจดันให้โพสต์ของเราตกลงไปเร็วจนหายาก
             - หน้าแฟนเพจ  คนหนึ่งทำได้หลายเพจ เหมาะสำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ สื่อสารกับคนทั่วไป ไม่ต้องเพิ่มเป็นเพื่อน จึงไม่มีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนเพื่อน สามารถตั้งชื่อหน้าแฟนเพจว่า "กศน.ตำบล ....." ได้ โพสต์ของคนอื่นจะถูกแยกไว้คนละส่วน ไม่ดันให้โพสต์ของเราตกลงไปเร็ว

         2. วันเสาร์ที่ 7 พ.ย.58 @Senora Manussa ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การเรียน ป.บัณฑิต ถ้าไม่ได้สอน สามารถสมัครเรียนได้ไหม
             ผมตอบว่า  ปัจจุบันนี้ คนทั่วไปเรียน ป.บัณฑิตไม่ได้แล้ว ต้องสอนอยู่

             ผู้ถาม ถามต่อ ว่า  มีเพื่อนที่ไม่ได้ทำการสอน แต่สามารถเรียนได้ แล้วตอนนี้เพื่อนคนนี้ก็เรียนจบเมื่อต้นปีแล้ว
             ผมตอบว่า  ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ตรวจสอบ แม้จะเรียนได้ แต่เมื่อเรียนจบแล้วก็ไปขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกับคุรุสภาไม่ได้
             อ.สมกมล ( คุรุสภา ) โพสต์ที่  https://www.facebook.com/groups/1546769758922608  เมื่อวันที่ 4 พ.ย.58 ว่า
             "ยังจำได้ไหม ผู้เข้าเรียนหลักสูตร ป.บัณฑิต ปีการศึกษา 2557 คุณต้องมี หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ "ก่อน" วันที่ 19 กันยายน 2556
             มีใครที่ฝ่าฝืนกฎนี้มั๊ยคะ?
             บอกเลยนะคะ ใครที่คิดว่า มหาวิทยาลัยรับคุณเข้าเรียนแล้วนี่ ไม่เห็นมีอะไร
             ทราบข่าวล่าสุด เริ่มทยอยจบกันแล้ว ส่งข้อมูลเข้า kspbundit แล้วโดนตีกลับ เหตุผลเพราะ หนังสืออนุญาตฯ ของคุณออก "หลัง" 19 กันยายน 2556
             ใครที่โดนตีกลับเคสนี้ ถ้าจะฟ้องร้อง หรือด่าว่าคุรุสภา โปรดสำรวจตัวเองก่อนนะคะ ว่าคุณสมยอมกันทั้งสองฝ่ายหรือเปล่า
             อย่าให้เห็นนะคะว่า ไปโพสที่ไหนด่าว่าคุรุสภาเคสนี้ แอดมินจะตามไปตำหนิ และให้ข้อเท็จจริงกลางวงเลยค่ะ"

         3. ดึกวันอาทิตย์ที่ 15 พ.ย.58 Nutthicha Nakdee ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  หนูเริ่มเรียนที่ กศน. วิชาที่ต้องเรียนมี 9 วิชา รวม 23 หน่วยกิต และเทียบโอนได้ 4 วิชา รวม 10 หน่วยกิต สามารถจบในเทอมเดียวได้รึเปล่า เพราะเคยเห็นในเว็บของอาจารย์ที่ตอบคำถามบอกว่า ถ้าเป็น นศ.ที่เทียบโอนผลการเรียนหรือเคยสอบไม่ผ่าน ได้เกรด 0 นศ.รายนั้น "เฉพาะภาคเรียนสุดท้าย" สามารถเรียนมากกว่าที่กำหนดได้ 3 หน่วยกิต  ตรงนี้รวมกรณีของหนูด้วยมั้ยคะ?
             และวิชาที่เทียบโอนเเล้วเราต้องสอบด้วยมั้ย หรือเเค่เเจ้งให้ นศ. ทราบ

             ผมตอบว่า   ถ้าเทียบโอนแบบเคยเรียนวิชาที่สอดคล้องกันโดยได้เกรด 1 ขึ้นไปจากสถานศึกษาอื่นมาแล้ว ( ไม่ใช่เทียบโอนจากการประเมินความรู้และประสบการณ์ ) ก็ไม่ต้องสอบอีก แค่แจ้งผลการเทียบโอนให้ นศ.ทราบ
             ถ้าเป็น ม.ปลาย จะมี 76 หน่วยกิต หนูเทียบโอนได้แค่ 10 หน่วยกิต เหลืออีกตั้ง 66 หน่วยกิต เรียนได้ภาคเรียนละ 23 หน่วยกิต ฉะนั้นต้องเรียนอย่างน้อย 3 ภาคเรียน
             ถ้าเทียบโอนได้ 50 หน่วยกิต เหลือ 26 หน่วยกิต จึงจะสามารถเรียนภาคเรียนเดียวจบได้
             แต่ถ้าเหลือเกิน 26 หน่วยกิต ห้ามลงทะเบียนเรียนเกิน 23 หน่วยกิต ( ม.ปลาย )

         4. ให้แก้ไขข้อมูล นศ.ลงทะเบียน 2/58 และอัพข้อมูลใหม่
             ตรวจสอบความถูกต้องที่ http://203.172.142.230/NFE-MIS/student_itw_conclus_process.php

             ดูวิธีตรวจสอบความซ้ำซ้อนผิดพลาด และการแก้ไขข้อมูล นศ.ส่งขึ้น web ใหม่ ที่
            
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/new_verify.pdf  ( ให้ดูเฉพาะวิธีการในเพจนี้ ส่วนกำหนดเวลาในเพจนี้เป็นของปีก่อน )
             อย่าลืมตรวจสอบ ทั้ง
             - เลขบัตรประชาชนซ้ำซ้อน
             - เลขบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง
             - นศ.ที่ใช้เงินนอกงบประมาณ ( บางอำเภอคีย์ข้อมูลลงโปรแกรม ITw เข้ากลุ่มใช้เงินนอกงบประมาณนี้หลายคนโดยไม่ตั้งใจ  ถ้ามีจำนวนอยู่ในกลุ่มนี้ จะไม่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว )
             - รายงานสรุปจำนวนนักศึกษาพิการ
             - รายงานสรุปจำนวนนักศึกษา English Program

             เมื่ออัพโหลดข้อมูลขึ้นเว็บแล้ว ให้ตรวจสอบเป็นระยะ ๆ ( วันนี้อาจยังไม่ซ้ำซ้อน แต่วันต่อไปอำเภออื่นเพิ่งอัพโหลดขึ้น อาจมี นศ.ที่เพิ่งอัพโหลดมาซ้ำซ้อนกับเรา )
             นักศึกษาที่ซ้ำซ้อนกัน ให้ประสานงานกับอำเภอที่ซ้ำซ้อน ว่า นศ.เรียนที่ไหนแน่ อำเภอใดจะเป็นผู้ถอนการลงทะเบียนในโปรแกรม ITw แล้วดำเนินการอัพโหลดตามขั้นตอนใหม่
             ถ้านายทะเบียนไม่ยอมแก้ไข.. ให้ ผอ.กศน.อำเภอ ประสานงานพูดคุยกัน
             วันที่ 14 ธ.ค.58 จะปิดระบบ แก้ไขอีกไม่ได้แล้ว ถ้ายังซ้ำซ้อนอยู่ กลุ่มแผนงานฯจะไม่จัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับนักศึกษารายนั้นให้ทั้ง 2 อำเภอหรือทุกอำเภอที่ นศ.ลงทะเบียนเรียน 2 แห่งขึ้นไปในภาคเรียนเดียวกัน
              ( ข้อมูลจำนวนนักศึกษาที่ไม่ซ้ำซ้อนนี้ จะใช้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนในภาคเรียนต่อไป ส่วนภาคเรียนนี้จะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวตามจำนวน นศ.ในภาคเรียนก่อน เป็นลักษณะนี้ทุกภาคเรียน เพราะจะคอยจัดสรรเงินภาคเรียนนี้ตามจำนวน นศ.ภาคเรียนนี้ไม่ทัน )

             ทุกแห่งต้องอัพโหลดข้อมูลภายในวันที่ 30 พ.ย.58 ส่วนวันที่ 2-13 ธ.ค.58 เป็นช่วงการแก้ไขลดข้อมูลซ้ำซ้อน  ไม่ให้เพิ่ม นศ.ใหม่มาแทนอีก เพราะถ้าเพิ่มก็อาจซ้ำซ้อนกับอำเภออื่นใหม่อีก อำเภอที่ซ้ำซ้อนใหม่จะเสียหายไปด้วย
 

         5. เรื่องใน 1 กลุ่ม ควรมี นศ.ระดับชั้นเดียว เช่น ม.ต้นทั้งหมด หรือ ม.ปลายทั้งกลุ่ม  เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการจัดการเรียนการสอนทุกหลักสูตร เพราะแต่ละระดับชั้นมีเนื้อหาวิชาต่างกัน ยากที่จะจะจัดการเรียนการสอนรวมกันให้มีคุณภาพ
             แต่ประเด็นนี้ก็เป็นปัญหา/ข้อจำกัดสำหรับครู กศน.มาตลอด จนถึงปัจจุบัน
             ท่านเลขาธิการ กศน.ให้นโยบาย โดยเน้นที่
              “1 กลุ่มไม่ให้เกิน 40 คน และ จัดการเรียนการสอน/จัดกิจกรรมการเรียนรู้ ครั้งละกลุ่มเดียว

             ในแต่ละกลุ่ม เราก็ต้องพยายามแยกให้มี นศ.เพียงระดับเดียว แต่ ในทางปฏิบัติอาจมีบางกลุ่มจำเป็นต้องมี 2 ระดับ ก็อนุโลมได้ เพราะปัญหา/ข้อจำกัดสำหรับครู กศน.ยังมีอยู่
             เช่น ถ้าตำบลใดมีครูคนเดียว มี นศ.ระดับประถม 44 คน ม.ต้น 50 คน ม.ปลาย 51 คน กรณีนี้ถ้าจะแบ่งกลุ่มให้ถูกทั้งนโยบายและหลักการ ครูคนนี้ต้องแบ่งถึง 6 กลุ่ม และตามนโยบายแม้ว่ากลุ่มจะมี นศ.น้อยคน ก็ต้องแยกสอนไม่พร้อมกัน  ( จะให้ นศ.บางคนไปอยู่กลุ่มตำบลอื่น เดินทางไปเรียนที่ตำบลอื่น ก็จะเป็นปัญหาอื่นอีก )
             โดยต้อง จัดตั้งกลุ่มก่อน ระบุว่าแต่ละกลุ่มอยู่ที่ไหน สอนวันเวลาใด ซึ่งวันเวลาต้องไม่ซ้ำซ้อนกันในครูประจำกลุ่มคนเดียวกัน  ดังนั้นครูคนนี้เฉพาะการสอนอย่างเดียวก็สัปดาห์ละ 6 X 6 ชั่วโมง  รวมเป็น 36 ชั่วโมง จะยากในทางปฏิบัติ ก็คงต้องอนุโลมให้ลดกลุ่มโดยบางกลุ่มมี นศ. 2 ระดับชั้นรวมกันได้

 

         6. เรื่องข้าราชการครูต้องมีภาระงานสอน  เป็นเรื่องบังคับตามกฎหมายของ ผู้ดำรงตำแหน่งครูทุกสังกัด โดยเฉพาะกับทุกคนที่จะมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และ/หรือ มีวิทยฐานะ
              ( ผู้ดำรงตำแหน่งครู จะปฏิบัติงานที่หน่วยงานทางการศึกษาที่ไม่ใช่สถานศึกษา เช่น สนง.กศน.จังหวัด ไม่ได้ เพราะ สนง.กศน.จังหวัดจะไม่มีการจัดการเรียนการสอนเอง ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งครูปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระเบียบกฎหมายกำหนดไม่ได้   ที่ไหนยังให้ผู้ดำรงตำแหน่งครูไปช่วยราชการประจำที่ สนง.กศน.จังหวัด ถือว่าไม่สนใจระเบียบกฎหมาย )

             แต่ภาระงานสอนตามระเบียบกฎหมายของข้าราชการครู มีหลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องหานักศึกษาเป็นของตนเอง เช่นสอนเสริมให้กับ นศ.ของ กศน.ตำบลก็ได้
             ต้องพิจารณาจากหลายด้าน เช่น
             1)  ถ้าข้าราชการครูไม่หานักศึกษาเป็นของตนเอง ก็ไม่ได้ช่วยแบ่งเบากลุ่มเป้าหมายรวมของอำเภอ ไม่ได้ช่วยลดกลุ่มเป้าหมายของครูประเภทอื่น อาจทำให้ครูประเภทอื่นเกิดความรู้สึก ( แต่บางครั้งก็ดี ที่ไม่ต้องแย่ง นศ.กัน )
             2)  ถ้าข้าราชการครูไม่ช่วยหานักศึกษาเป็นของตนเองและส่งผลให้รวมทั้งอำเภอไม่ได้ นศ.ตามเป้า ผอ.กศน.อำเภอก็ต้องรับผิดชอบ
             3)  ถ้าข้าราชการครูไม่ช่วยหานักศึกษาเป็นของตนเอง แต่ทั้งอำเภอได้ นศ.ครบตามเป้าแล้วข้าราชการครูไม่สอน ความรับผิดชอบจะไปอยู่ที่ตัวข้าราชการครู คือ ถ้าอ้างว่า มีภาระงานสอน เช่น ทำตารางนิเทศ/ตารางสอนเสริม/อื่น ๆ ครบสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง และมีภาระงานสอนอื่นรวมครบสัปดาห์ละ 18 ชั่วโมงแล้ว ถ้าไม่จริง ก็อาจส่งผลต่อการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ส่งผลต่อวิทยฐานะ

             สรุป ข้าราชการครูจะต้องหานักศึกษาเป็นของตนเองหรือไม่ เป็นความรับผิดชอบของทั้งตัวข้าราชการครูและผู้บริหาร โดยผู้บริหารเป็นผู้ตัดสิน ถ้าผู้บริหารตัดสินตามระเบียบและนโยบาย แล้วข้าราชการครูไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าข้าราชการครูขัดนโยบาย
 

         7. ถ้าครู กศน.ตำบล หรือครู ศรช. เป็นผู้รับสมัครนักศึกษา ได้ระดับประถม 30 คน ม.ต้น 30 คน ม.ปลาย 30 คน รวม 90 คน จัดตั้งกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม ให้ครู ศรช. เป็นครูประจำกลุ่ม 2 กลุ่ม และให้ข้าราชการครูเป็นครูประจำกลุ่ม 1 กลุ่ม ซึ่งข้าราชการครูไม่ได้รับสมัคร นศ.เอง  กรณีนี้จะถือว่า นศ. 90 คนนี้ เป็นผลงานของใคร จะลงเป้า/ผลในคำรับรองของใครเท่าไร
             - ครู ศรช.ลง เป้า/ผล ในคำรับรองฯของตน ทั้ง 90 คน โดยข้าราชการครูไม่ต้องลงในคำรับรองฯ   หรือ
             - ครู ศรช.ลง เป้า/ผล ในคำรับรองฯของตน 60 คน และข้าราชการครูลงในคำรับรองของตน 30 คน   หรือ
             - ครู ศรช.ลงเป้า/ผล ในคำรับรองฯของตน 90 คน และข้าราชการครูลงในคำรับรับรองฯของตนอีก 30 คน  จะซ้ำซ้อนเป็น 120 คนหรือไม่
             กรณีนี้ผมไม่แน่ใจว่าระบบโปรแกรมฐานข้อมูลการบริหารจัดการฯ ถ้าลงคำรับรองฯตามวิธีที่ 3 แล้ว โปรแกรมจะรวมเป็นยอดของอำเภอ 120 คนโดยอัตโนมัติหรือไม่ ถ้าโปรแกรมไม่รวมกันให้ซ้ำซ้อน ก็ควรลงตามวิธีที่ 3 แต่ถ้าโปรแกรมรวมกันให้ซ้ำซ้อน ก็ควรลงตามวิธีที่ 1 หรือ 2


วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

1.จนท.บันทึกข้อมูล วุฒิ ป.ตรี ปรับเงินเดือนเป็นหมื่นห้าไหม, 2.รวมสิทธิของข้าราชการเกษียณ, 3.เราออกใบอนุโมทนาบัตรให้กับผู้บริจาคเงินได้ไหม, 4.กศน.อำเภอต้องเตรียมสมุดตรวจราชการ/ตรวจเยี่ยม/นิเทศ อย่างไร, 5.ใบ รบ. ประทับตราก่อนหรือ ผอ.เซ็นก่อน, 6.นายทะเบียนลาคลอด, 7.การลงทะเบียน/การจบ ของผู้ไม่รู้หนังสือ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 5 ต.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ที่สัญญาจ้าง จ้างด้วยวุฒิ ป.ตรี. สามารถปรับเงินเดือนเป็น 15,000 บาท ได้หรือเปล่า ผอ ให้แก้สัญญาเป็น ป.ตรี

             ผมตอบว่า   ตามลักษณะขอบเขตของงานจ้าง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล เป็นลักษณะงานที่ กศน.กำหนดให้จ้างวุฒิ ปวช. อัตราค่าจ้าง 11,680 บาท  ถึงแม้ผู้รับจ้างจะจบปริญญาเอกก็อัตราค่าจ้าง 11,680 บาท ( ดูที่วุฒิตามประกาศรับสมัคร ไม่ได้ดูที่วุฒิจริงของผู้สมัคร )

         2. คืนวันที่ 12 ต.ค.58 ผมโพสต์ในเฟซบุ๊ค เรื่อง รวมสิทธิของข้าราชการเกษียณ ว่า
             ถ้าเลือกรับบำเหน็จ สิทธิต่างๆจะระงับไป เช่นค่ารักษาพยาบาล เหลือเพียงสิทธิเดียวคือ การขอพระราชทานเพลิงศพ

             กลุ่ม ผู้ไม่เป็นสมาชิก กบข.
             ก): กรณีรับบำเหน็จ
                  จะได้รับเงินบำเหน็จเป็นเงินก้อนเดียว [ เงินบำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ(รวมอายุราชการทวีคูณ) ]
                  สิทธิต่าง ๆ ระงับไป ยกเว้นการขอพระราชทานเพลิงศพ

             ข): กรณีรับบำนาญ
                  จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนทุกเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต [ บำนาญรายเดือน = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการเป็นปี (รวมอายุราชการทวีคูณ เศษเกิน 6 เดือนจึงนับเป็น 1 ปี) แล้วหารด้วย 50 ]
                  และยังมีสิทธิได้รับ
                  1)  ค่ารักษาพยาบาลของตนเอง คู่สมรส บิดามารดา บุตรที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ และบุตรไร้ความสามารถไม่จำกัดอายุ
                  2)  ค่าตรวจสุขภาพ
                  3)  ค่าการศึกษาบุตร เบิกได้ถึงบุตรอายุ 25 ปีบริบูรณ์
                  4)  บำเหน็จดำรงชีพ ( เงินเพิ่มให้พิเศษ ) = 15 เท่า ของเงินบำนาญ 1 เดือน แต่ไม่เกิน 400,000 บาท โดยจ่ายให้ทันทีเมื่อเกษียณครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนที่เหลือขอรับได้เมื่ออายุครบ 65 ปี
                  5)  เงินช่วยพิเศษ เมื่อถึงแก่กรรม = 3 เท่า ของเงินบำนาญ ( มอบให้กับผู้ที่ผู้รับบำนาญแสดงเจตนาไว้ หรือทายาทตามกฎหมาย )
                  6)  เงินบำเหน็จตกทอด เมื่อถึงแก่กรรม เป็นเงินก้อนเดียว = เงินบำนาญ x 30 เท่า เงินบำเหน็จดำรงชีพที่รับไปแล้ว ( มอบให้กับทายาทตามกฎหมาย ถ้าไม่มีทายาทมอบให้ผู้ที่ผู้รับบำนาญแสดงเจตนาไว้ ถ้าไม่มีทายาทและไม่ได้แสดงเจตนาไว้ เป็นอันยุติบำนาญตกทอด )


             กลุ่ม ผู้เป็นสมาชิก กบข.
             ก): กรณีรับบำเหน็จ
                  จะได้รับเงินบำเหน็จเป็นเงินก้อนเดียว [ เงินบำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ (รวมอายุราชการทวีคูณ เศษเดือนเศษวันเป็นจุดทศนิยม) ]
                  สิทธิต่าง ๆ ระงับไป ยกเว้นการขอพระราชทานเพลิงศพ


             ข): กรณีรับบำนาญ
                  จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต [ บำนาญรายเดือน = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ(รวมอายุราชการทวีคูณ เศษเดือนเศษวันเป็นจุดทศนิยม)รวมไม่เกิน 35 ปี แล้วหารด้วย 50 ] แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
                  และยังได้รับสิทธิต่าง ๆ เหมือนกับบำนาญปกติ
                  นอกจากนี้ สมาชิก กบข.แบบ ก.,ข. ยังได้รับ
                  - เงินสะสม + ผลประโยชน์ของเงินสะสม
                  - เงินประเดิม + ผลประโยชน์ของเงินประเดิม
                  - เงินชดเชย + ผลประโยชน์ของเงินชดเชย
                  - เงินสมทบ + ผลประโยชน์ของเงินสมทบ
                   ( ผู้ที่ลาออกจาก กบข.จะได้เฉพาะเงินสะสม+ผลประโยชน์ของเงินสะสม คืน )

             หมายเหตุ.
             ก. ผู้ที่ได้รับบำเหน็จตกทอด คือผู้ที่ผู้รับบำนาญแสดงเจตนาไว้ หรือทายาทตามกฎหมาย คำว่า ทายาทตามกฎหมาย ได้แก่
                  - บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับคนละ 1 ส่วน
                  - สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับ 1 ส่วน
                  - บิดา หรือมารดา หรือทั้งบิดาและมารดา ที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้รับ 1 ส่วน
             ข. เงินอื่น ๆ ที่ทุกกลุ่มจะได้รับ ถ้าสมัครเป็นสมาชิก
                  - เงินฌาปนกิจสงเคราะห์
                  - เงินผลประโยชน์จากหุ้นสหกรณ์
                  - เงินประกันชีวิตและเงินช่วยเหลือจากสหกรณ์
             ค. เวลาราชการทวีคูณ ในช่วงประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร 2 ช่วงล่าสุด รวม 15 เดือน 18 วัน ( ช่วงที่ 1 วันที่ 19 ก.ย.49 – 26 ม.ค.50 = 4 เดือน 11 วัน , ช่วงที่ 2 วันที่ 20 พ.ค.57 – 1 เม.ย.58 = 11 เดือน 7 วัน ) นั้น ได้เวลาราชการทวีคูณเฉพาะทหารตำรวจ ส่วนข้าราชการอื่นไม่ได้ เพราะไม่ได้เสี่ยงภัย



         3. วันที่ 16 ก.ย.58 Bee Sizz ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  กศน.เราสามารถออกใบอนุโมทนาบัตรให้กับผู้บริจาคเงินได้ไหม

             ผมตอบว่า   ได้ ออกเป็น ประกาศเกียรติคุณบัตรโดยปฏิบัติตามระเบียบ 2 ฉบับ คือ
             1)  ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการขอบคุณและอนุโมทนา พ.ศ. 2547 ( https://www.dropbox.com/s/di7hnuur7erxzde/thank47.pdf?dl=1 )
             2)  ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่สถานศึกษา พ.ศ.2552 ( https://www.dropbox.com/s/x4ybzt4p419brh7/recivemoney52.pdf?dl=1 )
             เดิม ใบประกาศเกียรติคุณบัตรนี้ ต้องซื้อจากองค์การค้าของคุรุสภา แต่ปัจจุบันสถานศึกษาจัดทำเองได้  ดูตัวอย่างที่ https://www.dropbox.com/s/c0f74x32m5x278z/goodcard.jpg?dl=1

         4. คืนวันที่ 20 ต.ค.58 ผมนำหนังสือแจ้งเกี่ยวกับเรื่อง กศน.อำเภอ ต้องเตรียมสมุดอะไร อย่างไร (สมุดตรวจราชการ/สมุดตรวจเยี่ยม/สมุดนิเทศติดตามผล) ของ สนง.กศน.จ.ขอนแก่น มาเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค : ..




         5. คืนวันที่ 22 ต.ค.58 ผมตอบคำถาม สมปอง เจริญผล ที่ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การออกหนังสือรับรอง หรือใบ รบ. ผู้บริหารต้องเซ็นต์ก่อน หรือประทับตราสถานศึกษาก่อน

             ผมตอบว่า   ตามระเบียบกำหนดว่า "ติดรูปถ่ายของนักศึกษา ประทับตราประจำสถานศึกษาด้วยหมึกสีแดงชาด ให้บางส่วนติดรูปถ่ายและบางส่วนติดบนส่วนที่ จะ เป็นลายเซ็นของหัวหน้าสถานศึกษา"  จึงสรุปได้ว่า ประทับตราสถานศึกษาก่อน หัวหน้าสถานศึกษาเซ็นทีหลัง

         6. เย็นวันที่ 2 พ.ย.58 อาธิป บูสา ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ถ้านายทะเบียนลาคลอด ระหว่างนั้นผู้ช่วยนายทะเบียนจะสามารถลงนามแทนนายทะเบียนในหลักฐานต่างๆได้มั้ย เช่น ลงนามในวุฒิการศึกษา หรือวุฒิบัตร

             ผมตอบว่า   ผู้ช่วยนายทะเบียนลงนามไม่ได้ ต้องให้นายทะเบียนลงนาม   ถ้าจำเป็น ผอ.ก็แต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียน หรือคนอื่นที่มีคุณสมบัติ ให้เป็นนายทะเบียนชั่วคราว

         7. ระยะนี้มีหลายคนถามเรื่องเกี่ยวกับการลงทะเบียน/การจบ ของผู้ไม่รู้หนังสือ เช่น อภิชาต อามีน ขันธชัย โทร.มาถามผมว่าต้องขึ้นทะเบียนผู้ไม่รู้หนังสือในโปรแกรม ITw หรือไม่

             ผมตอบว่า   เรื่องการรู้หนังสือ ไม่ต้องลงในโปรแกรม ITw
             - ให้ดูเรื่อง เอกสารหลักฐานการศึกษา การจบหลักสูตร ใน หลักสูตรการรู้หนังสือไทย พ.ศ.2557” ดูหลักสูตรนี้ได้ที่  https://www.dropbox.com/s/umvk0fqftjupxh2/LiterCur57.pdf?dl=1
             - ดูหนังสือเรียนการรู้หนังสือ ที่  https://www.dropbox.com/s/4j0sc8ip9c6q17h/g6.22.pdf?dl=1
             -
เรื่องการรู้หนังสือนี้ ดูแบบฟอร์มวุฒิบัตรและเอกสารต่าง ๆ ได้ที่
( วุฒิบัตรอยู่ในหน้า 20 )

             - ฟ้อนต์ ( Font ) สำหรับพิมพ์ตัวอักษรเป็นเส้นประ เพื่อให้ผู้ไม่รู้หนังสือหัดเขียนตามเส้นประ
                ลักษณะของแบบอักษร เป็น แบบเลือกตามโครงสร้างมาตรฐานตัวอักษรไทยของราชบัณฑิต
                ชื่อฟ้อน Layiji_kutlaimuu ( เลย์อิจิ คัดลายมือ )
                ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.krooupdate.com/news/newid-460.html
                เมื่อดาวน์โหลดและแตกไฟล์จนได้ไฟล์ Layiji_kutlaimuu.ttf แล้ว ให้เปิดไฟล์นี้โดยดับเบิ้ลคลิกที่ชื่อไฟล์
                ถ้ามีการถามว่าจะใช้โปรแกรมอะไรเปิดไฟล์ ให้เลือกเปิดด้วยโปรแกรม Windows Font Viewer
                เปิดไฟล์แล้วเลือกที่ Install
                เสร็จแล้ว เมื่อเวลาจะพิมพ์เอกสารอะไร ก็จะมีฟ้อนต์ Layiji kutlaimuu ให้เลือกใช้