วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558

1.พบกลุ่ม สัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง, 2.เรื่องเครียด ( ครูลงทะเบียนให้ นศ.ซ้ำ แล้วไม่ให้ถอน จะฟ้อง สตง. !? ), 3.บ้านพักข้าราชการว่าง จะเบิกค่าเช่าบ้านได้กรณีใด, 4.ราคากลางหนังสือเรียน อาจไม่ใช้ราคาที่เคยซื้อต่ำสุด แต่ต้องมีเหตุผลเพียงพอ, 5.เกณฑ์สำหรับครูแต่ละประเภท, 6.เครื่องแบบสีกากี ไม่ต้องใส่ปลอกแขนดำ ถือเป็นการไว้ทุกข์โดยปริยาย, 7.ข้อ 1-9 ข้อไหนถูก ( การรักษาการในตำแหน่ง )



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. แจ้งใหม่ให้จัดการเรียนรู้แบบพบกลุ่ม สัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็น
             - จัดกระบวนการเรียนรู้ในรายวิชาที่ลงทะเบียน ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง
             - จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน การคิดเป็น การอ่านการเขียน และทักษะการสื่อสารถ่ายทอดกระบวนการคิดให้ผู้อื่นเข้าใจ 3 ชั่วโมง
             https://db.tt/RsGZG7SW

         2. มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ครูที่อำเภอ ... ... ถามหนูว่าจะเรียนที่ไหนแน่ทำไมลงทะเบียน 2 ที่  หนูบอกว่าเทอมนี้หนูไม่ได้ลงทะเบียนที่อำเภอ ... ... ครูให้หนูไปถอนการลงทะเบียน แต่ครูที่อำเภอ ... ... บอกว่าเขาไม่มีนโยบายให้ถอนการลงทะเบียน ส่วนครูที่อำเภอ ... ก็บอกว่าเรียน 2 แห่งไม่ได้   ทำไมครู 2 แห่งไม่คุยกันเองคะ หนูจะต้องฟ้องไปที่ ปปช. สตง. หรือที่ไหนคะ

             ผมตอบว่า   เรื่องที่ นศ.ไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบลงทะเบียนด้วยตนเอง แต่สถานศึกษาไม่ยอมถอนใบลงทะเบียนนี้ออก ไม่น่าจะเกิดขึ้น หน่วยงานภายนอกคงไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าจะแจ้ง สตง. ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินนะ   ควรเขียนจดหมายแจ้งไปที่หน่วยงานภายใน กศน. เช่น สนง.กศน.จังหวัดก่อน ถ้าไม่ได้ผลจึงแจ้งไปที่หน่วยงานภายนอก ( เพื่อเป็นตัวอย่างให้หน่วยงานภายในเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องทุจริต ต่อไปครู 2 แห่งจะได้คุยกันเองได้ )

         3. เช้าวันที่ 1 ธ.ค.58 รอง ผอ.สนง.กศน.จังหวัด ท่านหนึ่ง ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ระเบียบเกี่ยวกับบ้านพักข้าราชการ ยังแบ่งประเภทเหมือนเดิมหรือเปล่า เช่น บ้านพักข้าราชการระดับ 7-8 และ กศน. จังหวัดต่างๆที่มีบ้านพัก เป็นบ้านพักผู้อำนวยการ หรือบ้านพักข้าราชการ ระดับ 7-8

             ผมตอบว่า   ในการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการ จะแบ่งเพียง 2 ประเภท คือบ้านพัก ผอ. กับ บ้านพักข้าราชการที่ไม่ใช่ ผอ.  โดยทั่วไป บ้านพักข้าราชการของ กศน.จังหวัด ที่มีหลายหลัง จะมี 1 หลังที่เป็นบ้านพัก ผอ.  หลังอื่น ๆ เป็นบ้านพักข้าราชการที่ไม่ใช่ ผอ.  แต่ถ้า กศน.จังหวัดใดมีบ้านพักข้าราชการหลังเดียว ก็คงเป็นบ้านพัก ผอ.
             ผมถามกลับว่า  จะถามว่า ถ้ามีบ้านพักว่างอยู่ แต่เป็นบ้านพักคนละประเภท จะไม่อยู่ แต่จะเบิกค่าเช่าบ้านได้ไหม ใช่หรือเปล่า
             ท่านรองฯ บอกว่า ใช่

             เรื่องนี้  ผมถามหน่วยตรวจสอบภายใน กศน. เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.58 ได้รับคำตอบจาก อ.สกุลนา และ อ.สุณีย์ ว่า  ต้องมีรายละเอียดอื่น ๆ ประกอบการพิจารณา จึงจะตอบได้ถูกต้องเป็นกรณี ๆ ไป  แต่โดยทั่วไปคือ
             1)  ถ้าบ้านพัก ผอ.มีอยู่ ผอ.จังหวัดจะเบิกค่าเช่าบ้านไม่ได้ แม้แต่จะเคยเบิกค่าเช่าซื้ออยู่ก็ต้องหยุดเบิก
             2)  กรณีข้าราชการ กศน.จังหวัด ที่ไม่ใช่ ผอ. จะเบิกค่าเช่าบ้าน ( คำว่าข้าราชการที่ไม่ใช่ ผอ.นี้ รวมถึง รอง ผอ.ด้วย โดยบ้านพัก ผอ. ไม่ใช่บ้านพักรอง ผอ. )  ให้ ผอ. หรือ กรรมการจัดบ้านพักพิจารณากำหนดดังต่อไปนี้ ( ผอ.มีอำนาจในการพิจารณากำหนดตามหลักเกณฑ์ แต่ ผอ.จะตั้ง กรรมการจัดบ้านพักขึ้นมากำหนดแทนตนหรือไม่ก็ได้ )
                  - ถ้าบ้านพัก ผอ. ว่างอยู่ แต่ผู้ที่จะเบิกค่าเช่าบ้านไม่ใช่ ผอ. จะกำหนดให้ข้าราชการผู้นั้นเข้าอยู่บ้านพัก ผอ. หรือไม่ก็ได้ จะให้ข้าราชการเบิกค่าเช่าบ้านโดยปล่อยให้บ้านพัก ผอ.ว่างอยู่ก็ได้  แต่ถ้ากำหนดให้เข้าอยู่บ้านพัก ผอ. ข้าราชการอื่นนั้นก็จะเบิกค่าเช่าบ้านไม่ได้
                  - กรณีมีบ้านพักว่าง แต่ข้าราชการเคยเบิกค่าเช่าซื้อบ้านอยู่ก่อนย้ายมา สามารถกำหนดว่าไม่ต้องเข้าอยู่บ้านพัก แต่ให้เบิกค่า เช่าซื้อบ้านต่อไปได้  แต่จะให้เบิกค่า เช่าบ้านโดยมีบ้านพักข้าราชการที่ไม่ใช่ ผอ.ว่างอยู่ ไม่ได้  ( ถ้าเป็นตัว ผอ.จะเบิก แต่บ้านพัก ผอ.ว่างอยู่ แม้ ผอ.จะเคยเบิกค่า เช่าซื้อบ้านอยู่ก่อน ก็ต้องหยุดเบิก จะกำหนดให้เบิกค่าเช่าซื้อบ้านต่อไปได้เฉพาะผู้ที่ไม่ใช่ ผอ. )
                     กรณีบ้านพักไม่ว่างเพราะมีคนที่ไม่ตรงประเภทเข้าไปอยู่ เช่น ให้ลูกจ้างเข้าไปอยู่ ผู้มีสิทธิ์ก็จะเบิกค่าเช่าบ้านไม่ได้เช่นกัน
                  - กรณีจะอ้างว่า บ้านพักชำรุด ต้องชำรุดมากจนอยู่ไม่ได้จริง


         4. วันที่ 3 ธ.ค.58 ผมเรียนถาม อ.พัฒน์ฌามนท์ กจ.กศน. ( จนท.เจ้าของเรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดหาหนังสือแบบเรียนหรือพัสดุอื่น” ) ว่า  ตามหนังสือซักซ้อมความเข้าใจดังกล่าว กำหนดให้การจัดหาหนังสือเรียน จะต้องกำหนดราคากลาง โดย สืบค้นจากราคาในท้องตลาด หรือ ราคาซื้อขายย้อนหลังสองปีงบประมาณ และให้นำราคาต่ำสุดมาเป็นราคา กลาง นั้น   เนื่องจาก ราคาที่บางอำเภอในจังหวัด และอีกหลายจังหวัด ซื้อในปีงบประมาณที่ผ่านมา ต่ำผิดปกติ เพราะ ผู้ขายต่อสู้เอาชนะกัน โดยนำหนังสือที่ค้างสต๊อกอยู่จำนวนมากมาขายให้ในราคาต่ำผิดปกติ เล่มละเพียง 7 บาท หรือน้อยกว่า  ถ้านำราคา 7 บาทนี้มาเป็นราคากลางจะมีปัญหา   ขอถามว่าจะไม่ใช้ราคาต่ำสุดที่เคยซื้อผิดปกตินี้มาเป็นราคากลางได้หรือไม่
             อ.พัฒน์ฌามนท์ ตอบว่า  ถ้ามีเหตุผลเพียงพอว่าราคาต่ำกว่าต้นทุนผิดปกติจริง เพื่อไม่ให้เสียเวลาล่าช้าในการจัดหา ก็ไม่ใช้ราคาที่ต่ำสุดผิดปกตินี้เป็นราคากลางได้ แต่ใช้การสืบจากราคาในท้องตลาด จากผู้ขาย/ผู้พิมพ์แต่ละราย และนำราคาของรายต่ำสุด สเป็คเดียวกัน ( ไม่ใช่ค่าเฉลี่ย ) มาเป็นราคากลางได้

             ผมถามต่อ ว่า  ถ้าจังหวัดเป็นผู้พิจารณากำหนดราคากลางตามเกณฑ์นี้ แล้วใช้เป็นราคากลางเท่ากันของทุกอำเภอในจังหวัด ได้หรือไม่   อ.พัฒน์ฌามนท์ ตอบว่า ถ้าคุยกันแล้วจังหวัดยอมทำให้ ก็ได้

         5. แนวปฏิบัติในการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ และเกณฑ์สำหรับครูแต่ละประเภท ( ครู กศน.ตำบลต้องไม่เกิน 2 กลุ่ม ฯลฯ )
            
https://db.tt/hi6OAecR

         6. วันเสาร์ที่ 12 ธ.ค.58 ผมเผยแพร่เรื่องการแต่งเครื่องแบบไว้ทุกข์ลงในเฟซบุ๊ค ว่า  เครื่องแบบสีกากี ไม่ต้องใส่ปลอกแขนดำ ถือเป็นการไว้ทุกข์โดยปริยาย

             การแต่งเครื่องแบบพิธีการไว้ทุกข์ ถ้าเป็นชุดปกติขาว หรือชุดครึ่งยศ เต็มยศ ( เสื้อขาว กางเกงประโปรงดำ ) ให้ใส่ปลอกแขนดำไว้ทุกข์ข้างซ้ายเหนือข้อศอก
             แต่ถ้าแต่งเครื่องแบบปกติสีกากี ก็แต่งตามปกติ สีกากีไม่มีปลอกแขน ถือเป็นการไว้ทุกข์โดยปริยาย
             เครื่องแบบองค์กรของแต่ละหน่วยงาน (
UNIFORM) ก็ถือเป็นการใส่ไว้ทุกข์ได้โดยอัตโนมัติเช่นกัน
             กรณีแต่งเครื่องแบบไว้ทุกข์ ควรงดเครื่องหมายเฉลิมพระเกียรติงานมงคลพระมหากษัตริย์  ( ส่วนเข็มเครื่องหมายที่ประดับได้ เช่น เข็มที่ระลึกของสมเด็จพระสังฆราช
, เข็มที่ระลึกงานพระศพสมเด็จย่า, พระพี่นาง ฯลฯ )






         7. วันที่ 18 ธ.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  คำว่า ปฏิบัติราชการแทน / รักษาราชการแทน / รักษาการในตำแหน่ง ตามตัวอย่างที่ส่งให้ดู ตั้งแต่ข้อที่ 1-9 ข้อใดถูกต้อง

             ผมตอบว่า
             1)  ถ้าผู้รักษาการ อยู่ในหน่วยงานที่รักษาการ ก็ไม่ต้องระบุหน่วยงานของผู้รักษาการ คือ ใช้คำว่า "รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดหมื่นลี้"  ไม่ต้องใช้ว่า  "รองผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดหมื่นลี้ รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดหมื่นลี้"
             2)  คำว่า "รักษาราชการแทน" เป็นคำในกฏหมาย กพ. และมหาดไทย  ส่วน กศน.เราใช้ พรบ.ขรก.ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งให้ใช้คำว่า "รักษาการในตำแหน่ง" ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง
             3)  ส่วนการ
ปฏิบัติราชการแทนนั้น เป็นอีกกรณีหนึ่ง คือกรณีผู้มีอำนาจออกคำสั่งมอบอำนาจบางเรื่องให้ผู้รับมอบอำนาจปฏิบัติราชการแทน/พิจารณาอนุมัติแทน ในเรื่องนั้น ๆ  เป็นการกระจายอำนาจเพื่อความคล่องตัว  โดยให้ปฏิบัติราชการแทนแม้ผู้มอบอำนาจจะอยู่/ไม่ได้ไปไหน  เรื่องที่จะออกคำสั่งมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนได้นี้ ต้องเป็นเรื่องในอำนาจโดยตรงของผู้มอบ  ถ้าเป็นเรื่องที่ ผอ.รับมอบอำนาจมาจากปลัดกระทรวงฯ จะมามอบอำนาจต่อให้ผู้อื่นปฏิบัติราชการแทนอีกช่วงหนึ่งไม่ได้
             4)  สำหรับวิทยฐานะ เช่นคำว่า ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ ของผู้รักษาการ นั้น ท่านวรวิทย์ หัวหน้ากลุ่มงานวินัยและนิติการ กจ.กศน. บอกว่า จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ ไม่ผิด ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ