วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

1.จะไม่ให้เข้าสอบมิติความรู้ความคิดถ้าไม่ผ่านมิติประสบการณ์ ได้ไหม, 2.จังหวัดให้ไปช่วยราชการ, 3.การสอบ e-Exam, 4.การสอบ ขรก.(บรรณารักษ์ นักวิชาการศึกษา นักจัดการงานทั่วไป), 5.วันเงินเดือนออก, 6.คุมสอบ 8:30-13:30 เบิกครึ่งวันหรือเต็มวัน, 7.ค่าน้ำค่าไฟ กศน.ตำบล-ศรช.



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 19 ก.พ.58 คุณอ้อย กศน.อ.ลำลูกกา โทรศัพท์มาถามผมว่า  การเทียบระดับการศึกษาแบบเดิม บางอำเภอกำหนดเป็นข้อตกลงร่วมกับผู้เข้ารับการเทียบระดับ ว่า ถ้าไม่ส่งแฟ้มประมวลประสบการณ์ หรือไม่ผ่านมิติประสบการณ์ จะไม่มีสิทธิ์เข้าสอบมิติความรู้ความคิด   กำหนดได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ไม่ถูกต้อง โดยตามคู่มือการดำเนินงานฯ  การประเมินมิติความรู้ความคิดไม่ได้ต่อเนื่องจากการประเมินมิติประสบการณ์  สามารถเข้าสอบมิติความรู้ความคิดโดยไม่ต้องผ่านมิติประสบการณ์ก่อน

         2. คืนวันที่ 19 ก.พ.58 ผอ.กศน.อำเภอแห่งหนึ่ง เขียนในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ขอข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบที่ยกเลิกคำสั่ง ผอ.จังหวัด ในการให้ข้าราชการไปช่วยราชการจังหวัด

             ผมตอบว่า   ดูในข้อ 6 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/01/n-net.html

             ผอ.บอกว่า  ขอระเบียบที่ ผอ.จังหวัดไม่มีอำนาจในการเอาครูไปช่วยราชการที่ สนง.จังหวัด ลงนามโดยเลขาการุณ มีไหม เพราะ กศน.อำเภอ... ... ผอ.จังหวัดเอาครูไปช่วยราชการไม่ยอมส่งครูกลับมา ไปเป็นปีแล้ว
             ผมตอบว่า  ก็ใช้คำสั่งฉบับนี้แหละ  ( ถ้าจังหวัดให้ครูไปช่วยราชการเกิน 30 วัน ยิ่งผิดมานานมากแล้ว เพราะปัจจุบันไม่มีระเบียบฉบับไหนให้อำนาจไว้  ผอ.จังหวัดหลายท่านไม่ให้ครูไปช่วยราชการแล้ว แต่บางท่านยังทำ  ผอ.จังหวัดบางท่านชอบทำอย่างนี้ พอย้ายไปจังหวัดใหม่ก็ไปทำที่จังหวัดใหม่อีก ส่วนจังหวัดเดิมผู้ที่ย้ายมาแทนท่านก็ส่งตัวครูกลับ เพราะอาจถูกร้องเรียน )   คำสั่งฉบับนี้ใช้คลุมหมด
             ถ้าไม่มีระเบียบมอบอำนาจ ก็คือ ไม่มีอำนาจ  ( ไม่มีระเบียบ/คำสั่งฉบับไหนที่บอกว่า "มอบให้ ผอ.ไม่มีอำนาจ" )   ผู้ที่ว่ามีอำนาจ จะต้องเป็นฝ่ายหาระเบียบคำสั่ง


         3. คืนวันที่ 22 ก.พ.58 ผมประชาสมพันธ์ในเฟซบุ๊ค เรื่องการสอบแบบ e-Exam ของศูนย์ กศน.อำเภอพระนครศรีอยุธยา ว่า
             จะทำการเปิดสอบเพื่อประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ สำหรับผู้ไม่ได้เข้าสอบ N-NET  โดยการสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ระหว่างวันที่ 1 – 30 มีนาคม 2558 ( หยุดวันเสาร์ )
             สถานศึกษาใดที่ต้องการให้นักศึกษาเข้าสอบ e-Exam ที่ศูนย์ กศน.อำเภอพระนครศรีอยุธยา สามารถส่งรายชื่อนักศึกษาขอเข้าสอบได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  (สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 035 – 213385 อ.น้ำฝน และ อ.ชิษณุพงศ์)

             ส่วนกลางจะเปิดระบบการสอบในเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของส่วนกลาง ระหว่าง 1-31 มี.ค.58  แต่จุดสอบบางแห่งอาจกำหนดรายละเอียดในการเปิดสอบต่างกันบ้าง เช่นบางแห่งอาจไม่เริ่มตั้งวันที่ บางแห่งกำหนดวันหยุดต่างกัน  ต้องสอบถามแต่ละแห่งด้วย ( แต่จะไม่มีเริ่มก่อนวันที่ 1 มี.ค.)

         4. วันที่ 23 ก.พ.58 Anndear Natchanok Ninwong ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ข่าวว่าจะมีการสอบบรรจุบรรณารักษ์ ขอถามว่าสอบประเภททั่วไป กับประเภทประสบการณ์ ต่างกันอย่างไร เตรียมตัวอ่านอะไรบ้าง แล้วจะสอบเดือนไหน มีติวมั้ย

             เรื่องนี้  ท่าน ผอ.กจ.กศน. บอกว่า สอบบรรจุข้าราชการประเภทบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ตำแหน่งบรรณารักษ์ และตำแหน่งอื่น ๆ มีประเภทเดียว ไม่มีประเภทประสบการณ์   ตอนนี้ตำแหน่งบรรณารักษ์ว่างประมาณ 30-40 ตำแหน่ง ส่วนตำแหน่งนักวิชาการศึกษากับตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไปมีตำแหน่งว่างไม่มาก  จะเปิดรับสมัครสอบประมาณปลายเดือนเมษายน 2558 โดยจะรับสมัครพร้อมกับตำแหน่งนักวิชาการศึกษา และนักจัดการงานทั่วไป

             ส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการสอบ รับสมัครทั่วไป ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนใต้ สมัครผ่านจังหวัดได้ทุกจังหวัด แต่ไม่ได้สอบที่จังหวัด และอัตราว่างที่จะบรรจุผู้สอบได้มีไม่ครบทุกจังหวัด โดยในการประกาศรับสมัครจะระบุว่ามีตำแหน่งใดว่างที่ไหนเท่าไร   ผู้สมัครไม่ต้องมีอายุงาน ไม่ต้องเคยทำงาน กศน. ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู รับผู้มีคุณวุฒิตามที่กำหนด
             คุณวุฒิที่ใช้สมัครสอบในแต่ละตำแหน่ง คือ
             1)  ตำแหน่งบรรณารักษ์ปฏิบัติการ = ได้รับปริญญาทางบรรณารักษศาสตร์ สารนิเทศศาสตร์   ในแต่ละมหาวิทยาลัย อาจตั้งชื่อสาขาวิชาเอกแตกต่างกันบ้าง ปกติถ้าสงสัยจะใช้วิธีดูทรานสคริปท์ว่าเรียนวิชาบรรณารักษ์มาครบหน่วยกิตหรือไม่ ถ้าจังหวัดไหนสงสัยก็บอกให้เขาโทร.หารือ กจ.กศน.  ( ต้องจบ สาขาวิชาเอก ต่อไปนี้
                  - บรรณารักษศาสตร์
                  - บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
                  - บรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
                  - สารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์
                  - สารสนเทศศึกษา หรือสารนิเทศศาสตร์ )

             2)  ตำแหน่งนักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ = ได้รับปริญญาทางการศึกษา ในสาขาดังนี้  (ถ้าจบสาขาอื่น ถึงแม้จะจบ ป.บัณฑิตด้วย ก็สมัครไม่ได้ )
                  - การศึกษา
                  - ครุศาสตร์
                  - ศึกษาศาสตร์
                  - ครุศาสตร์อุตสาหกรรม
                  - วิทยาศาสตร์ (ศึกษาศาสตร์...) หรือ (ศึกษาศาสตร์การสอน...) หรือ (การสอน...)
                  - ศิลปศาสตร์ (ศึกษาศาสตร์...) หรือ (ศึกษาศาสตร์การสอน...)
                  - คหกรรมศาสตร์บัณฑิต (วิชาเอกคหกรรมศาสตร์ศึกษา)  เกษตรศาสตร์บัณฑิต (วิชาเอกเกษตรศึกษา)  บริหารธุรกิจบัณฑิต ( วิชาเอกธุรกิจศึกษา)

             3)  ตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ = ได้รับปริญญาในทุกสาขาวิชา

             การสอบนี้ไม่ใช้ภาค ก. ของ ก.พ. เพราะเป็นข้าราชการสังกัด ก.ค.ศ. ไม่ใช่สังกัด ก.พ.  การสอบครั้งนี้จะสอบทั้งภาค ก. ภาค ข. ตามหลักสูตรที่ ก.ค.ศ.กำหนด ในวันเดียวกัน  โดยภาค ก. คือภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ( วิชาความสามารถด้านการคิดคำนวณ/ด้านเหตุผล, วิชาภาษาไทย )  ส่วนภาค ข. คือภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง ( ความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ ตามมาตรฐานตำแหน่ง )
             การติว ต้องรวมตัวกันจัดติวกันเอง

             ดูหลักสูตรการสอบข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์-นักวิชาการศึกษา-นักจัดการงานทั่วไป จากประกาศรับสมัครของ กศน.ครั้งที่แล้ว ได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/38k(2).pdf

         5. เช้าวันที่ 24 ก.พ.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องกำหนดวันเงินเดือนออก ว่า  กรมบัญชีกลางกำหนดให้โอนเงิน งบบุคลากร ที่กำหนดจ่ายสิ้นเดือน
             - เข้าบัญชีผู้รับบำนาญ ล่วงหน้า 5 วันทำการ ก่อนวันทำการสุดท้ายของเดือน

             - เข้าบัญชีข้าราชการและลูกจ้าง ล่วงหน้า 3 วันทำการ ก่อนวันทำการสุดท้ายของเดือน ( ถ้านับเฉพาะวันทำการ ไม่นับวันหยุด ตั้งแต่วันเงินเดือนออก ถึงวันทำการสุดท้ายของเดือน รวมเป็น 4 วัน )   ลูกจ้างในที่นี้คือลูกจ้างที่มีเลขที่อัตรา ( ถ้าจ้างเหมาบริการ จะไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เป็น ผู้รับจ้าง )






         6. วันตรุษจีน 19 ก.พ.58 สุนันทา สุขเคหา กศน.อ.บางปะหัน ถามผมทั้งทางอินบ็อกซ์ และทางโทรศัพท์ ว่า  จำนวนเจ้าหน้าที่และกรรมการดำเนินการสอบ ดูจากระเบียบเก่าปี 36 ใช่ไหม ค่าคุมสอบปัจจุบันเท่าไร และถ้าคุมสอบ 8:30 - 13:30 น. จะเบิกจ่ายค่าคุมสอบครึ่งวันหรือเต็มวัน
             ผมตอบไปแล้ว ว่า  จำนวนเจ้าหน้าที่และกรรมการดำเนินการสอบ ดูจากระเบียบปี 36 ถูกแล้ว  อ่านในข้อ 1 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/481090 
             ( หนังสือในลิ้งค์นี้ กำหนดไว้ในข้อ 1.3 ว่า "กรรมการควบคุมการสอบ ห้องสอบละไม่เกิน 2 คน" นั่นคือ ห้องสอบละ 1 คนได้ แต่ คงไม่เหมาะสม )

             และผมตอบด้วยความหนักใจเพราะกลัวคนคุมสอบจะไม่พอใจ ว่า ปกติถ้าคุมสอบไม่เต็มวัน จะเบิกเต็มวันไม่ได้ ตามหลักการเบิกจ่ายเงินของทางราชการนั้น เบิกเงินต่ำกว่าเกณฑ์ได้ แต่เบิกเกินเกณฑ์ไม่ได้ เช่น คุมสอบไม่เต็มวันเบิกเงินเต็มวันไม่ได้ แต่คุมสอบเกินครึ่งวันเบิกเงินแค่ครึ่งวันได้

             วันที่  24 ก.พ.58 ผมได้เรียนถามประเด็นนี้กับหน่วยตรวจสอบภายใน กศน. ( อ.สุณีย์ ) ได้รับคำตอบว่า  เต็มวันคือเวลาสอบ 8:30-16:30 น.  แต่ถ้า 9:00-16:00 น. ก็อนุโลมให้เบิกเงินเต็มวันได้ เพราะถ้าจะเริ่มสอบ 9:00 น. ก็ต้องมาถึงสนามสอบตั้งแต่ 8:30 น. และเมื่อหมดเวลาสอบ 16:00 น. ก็อาจต้องจัดการเอกสารต่างๆต่อถึง 16:30 น.
             แต่กรณีสอบถึง 13:30 น.ตามที่ถามนี้  ( กรณีเริ่มสอบหลัง 9:00 น. หรือหมดเวลาสอบก่อน 16:00 น. )  จะอนุโลมให้เบิกเต็มวันไม่ได้ ต้องเบิกครึ่งวัน   ถ้าเวลาสอบไม่ถึงครึ่งวันจึงจะอนุโลมให้เบิกครึ่งวันได้
             ( กรณีนี้ ถ้าผู้คุมสอบจะไม่พอใจ ควรจัดให้บุคลากร กศน.เป็นผู้คุมสอบในห้องสอบนี้ )


         7. ตั้งแต่คืนวันที่ 11 พ.ย.57 Mickeymouse FC และ วีรากร มณีทรัพย์สุคนธ์ ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  กศน.ตำบลที่ใช้อาคารสถานที่ของหน่วยงานภาครัฐต่างสังกัดหรือเอกชน เช่น โรงเรียน  จะเบิกค่าน้ำค่าไฟจากต้นสังกัดได้หรือไม่

             ผมตอบไปแล้ว ว่า  สามารถเบิกจ่ายค่าสาธารณูปโภค(ค่าน้ำค่าไฟ) จากเงินอุดหนุนได้ ถ้า.. มีเงินอุดหนุนรายหัวมากพอและผู้บริหารอนุญาต
             ( ต่างกับการใช้สถานที่หน่วยงานอื่นเป็นสนามสอบปลายภาค หรือใช้สอนการศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งใช้เพียงครั้งคราว ให้จ่ายเป็นเงินทดแทนหรือเงินชดเชยการใช้สถานที่  แต่ กศน.ตำบล และ ศรช. ถ้าขอใช้สถานที่หน่วยงานอื่นตลอดปี เบิกจ่ายเป็นค่าสาธารณูปโภคได้ )

             วันที่ 24 ก.พ.58 ผมได้เรียนถามประเด็นนี้กับหน่วยตรวจสอบภายใน กศน. ( อ.สุณีย์ ) อีกครั้ง ได้รับคำตอบว่า  กรณีนี้เคยมี กศน.อ.หาดใหญ่หารือ กรมบัญชีกลางตอบว่าใช้ใบเสร็จค่าสาธารณูปโภคของหน่วยงานอื่นมาเบิกจ่ายได้  แต่ถ้าไม่แยกมิเตอร์จะมีปัญหาไม่มีระเบียบรองรับ ถ้าจะขอใช้อาคารสถานที่เขาเป็นเวลานาน ให้เขาแยกมิเตอร์สำหรับส่วนที่เราใช้โดยเฉพาะ และนำใบเสร็จรับเงินค่าสาธารณูปโภคสำหรับมิเตอร์นี้ ( ใบเสร็จฉบับจริง ) มาเบิกจากเราได้ ถึงแม้ชื่อหน่วยงานในใบเสร็จนั้นจะเป็นชื่อหน่วยงานอื่นไม่ใช่ชื่อหน่วยงาน กศน. ( ใช้บันทึกการขอใช้อาคารสถานที่ ประกอบ )


วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

1.ทำไมระเบียบใหม่ เรียนจบ ป.บัณฑิต ต้องสอบกับคุรุสภาเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอีก, 2.เทคนิคเล็กๆน้อยๆ ในการทวงงาน, 3.รับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยไม่มีหนังสือส่งตัวจากเขตพื้นที่การศึกษา ผิดไหม โทษคืออะไร, 4.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู, 5.ที่ไหนเผยแพร่ แสดงถึงความโปร่งใส, 6.พนักงานราชการเสียชีวิตวันที่ 9 ม.ค. จะได้เงินเดือน ม.ค.กี่วัน เท่าไร, 7.พนักงานราชการมีสิทธิโต้แย้งผลการประเมินไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. จากการที่ ผมโพสต์ในเฟซบุ๊คว่า ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 การเรียนเพื่อเป็นเส้นทางให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มีเพียง 2 กรณี คือ
             1)  เรียนปริญญาทางการศึกษาหลักสูตรใหม่ ( หลักสูตร 5 ปี ) ในสถาบันที่คุรุสภารับรอง
             2)  สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครูอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมีเพียงหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเช่น ครูจ้างสอน ครู ศรช. ใหเรียน ป.บัณฑิต ตามหลักสูตรที่คุรุสภากำหนดและอนุญาตให้สถาบันการศึกษาบางแห่งเปิดสอนตามโควตาที่กำหนด
              ( ที่เหลือ 2 กรณีเพราะ มีผู้เรียนจบวิชาครูจำนวนมากล้นตลาดตกงานเป็นแสนคนแล้ว ผู้ที่เรียนทางอื่นก็ยังสามารถเป็นครูได้ด้วยตามกรณีที่ 2 นี้ )

             ปรากฏว่า คืนวันที่ 10 ก.พ.58 ผอ.กศน.อำเภอหนองเสือ จ.ปทุมธานี โพสต์ต่อข้อความของผม ว่า  เรียน ป.บัณฑิต ของ มทร.ธัญบุรี (ปีล่าสุดนี้ที่คุรุสภากำหนดให้เปิดสอน) ก็ต้องเอาวุฒิไปสอบทั้ง 9 วิชาเหมือนไม่ได้เรียน...ไม่เข้าใจว่า แล้วเสียเวลาไปเรียน ไปฝึกสอนทำไม ถ้าเรียนแล้วไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพ... และ การฝึกสอน บังคับต้องฝึกสอนโรงเรียนในระบบเท่านั้น...ทั้งๆ ที่ทำหนังสือแย้งไปแล้วว่า กศน.อำเภอก็เป็นสถานศึกษา...ก็ไม่อนุญาต...

             ผมตอบว่า  ล่าสุดนี้ ถ้าเริ่มเรียนหลังปีการศึกษา 2556 แม้จะเรียนจบจาก 2 กรณีนี้แล้ว ก็ต้องสอบกับคุรุสภาอีกเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู  ลักษณะเดียวกับวิชาชีพอื่น ๆ เช่น เรียนจบแพทย์-พยาบาล หลักสูตร 5-6 ปีแล้ว ก็ต้องสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภาอีก  จบหลักสูตรวิศวกรรมโยธาก็ต้องสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสาขาวิชาวิศวกรรมโยธาอีก เป็นต้น  ( แพทย์-พยาบาลยังไม่ล้นตลาด เพราะแพทยสภาไม่อนุญาตให้คนเรียนทางอื่นมาเป็นแพทย์-พยาบาล )
             แต่ การเรียน ป.บัณฑิตอย่างที่ว่า กับการเรียนหลักสูตร 5 ปี นี้ การสอบรับใบอนุญาต ไม่เหมือนกับการสอบ 9 มาตรฐาน  คงจะไม่ได้แยกสอบ 9 ฉบับ  ( เรื่องนี้เพิ่งกำหนดใหม่ ยังไม่มีการสอบครั้งแรก )  ที่กำหนดใหม่อย่างนี้เพราะมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งสอนไม่ได้มาตรฐานด้วย

             ส่วนการฝึกสอน  จริง ๆ แล้ว ฝึกสอนในสถานศึกษาที่ผ่านการประเมินฯรับรองจาก สมศ.แล้วได้  คือฝึกสอนที่ กศน.ได้  แต่. การฝึกสอนระหว่างการเรียน ป.บัณฑิต ตามหลักสูตรนี้ อาจารย์ต้องมานิเทศการฝึกสอน ซึ่งการสอนของครู กศน.ไม่สะดวกในการมานิเทศ เพราะครูเราสอนจริงสัปดาห์ละไม่ครบตามเกณฑ์และมักจะสอนเฉพาะช่วงเช้าวันอาทิตย์ โดยวันอาทิตย์อาจารย์เขาต้องสอนในมหาวิทยาลัย มานิเทศไม่ได้  และ กศน.เราก็ไม่เคร่งครัดเรื่องแผนการสอน ไม่ค่อยตรงกับการสอนจริง  ต่างจากโรงเรียนในระบบที่อาจารย์สะดวกในการไปนิเทศได้ในวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลาใดก็ได้  มหาวิทยาลัยบางแห่งจึงกำหนดให้ฝึกสอนเฉพาะโรงเรียนในระบบ   ( คุรุสภากำหนดโควตาให้แต่ละมหาวิทยาลัยเปิดสอน ป.บัณฑิต โดยดูจากจำนวนอาจารย์ที่จะไปนิเทศนี่แหละ ถ้าจำไม่ผิด มหาวิทยาลัยใดมีอาจารย์นิเทศ 1 คน คุรุสภาจะให้เปิดรับครูเรียน ป.บัณฑิตได้ 10 คน )

         2. คืนวันที่ 12 ก.พ.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ทำไมทวงงานครู กศน.ตำบลให้ส่ง กศน.4 และคำขอจบ ยากมาก ฉันก็ไม่มีอำนาจ แค่แจ้งในที่ประชุมและทวงในที่ประชุมเท่านั้น กลัวส่งงานไม่ทัน

             ผมตอบว่า
             - ควรกำหนดให้ส่งแต่เนิ่น ๆ เช่น ปกติควรให้ส่งวันที่ 3 เราก็กำหนดให้ส่งวันที่ 1 เลย
             - พอวันที่ 2 ก็ทวงด้วยวาจาทันทีเลย
             - วันที่ 4 ก็ทวงด้วยวาจาอีกครั้ง พร้อมแจ้งเหตุผลว่าทำไมต้องรีบส่ง
             - ประมาณวันที่ 6-7 ก็ทำบันทึกให้ ผอ.เป็นผู้ลงนามทวงเป็นลายลักษณ์อักษร ในบันทึกนี้ระบุด้วยว่าใครส่งทันกำหนดแล้วบ้าง
             - และทำบันทึกอย่างนี้อีกทุกประมาณ 3-5 วัน จะกี่วันแล้วแต่ความเร่งด่วน/ความสำคัญของแต่ละเรื่อง
             - รวบรวมต้นฉบับบันทึกนี้ให้ ผอ.ไว้ใช้ประกอบการพิจารณาให้รางวัล/ความดีความชอบ

         3. คืนวันที่ 13 ก.พ.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า
             1)  การที่กลุ่มส่งเสริมการศึกษาฯ ของสถานศึกษา (กศน.อำเภอ) รับนักเรียนที่ออกจากในระบบ ที่อายุยังไม่ถึง 15 ปี โดยไม่มีหนังสือส่งตัวจากเขตพื้นที่การศึกษานั้น สถานศึกษาที่รับนักเรียนคนนั้นมีความผิดไหม และโทษคืออะไร มีกำหนดไว้ในข้อปฏิบัติหรือระเบียบใดๆไหม
             2)  โรงเรียนให้เด็กต่ำกว่า 15 ปีออกจากการศึกษาภาคบังคับ ไม่ผิดระเบียบหรือกฎหมายเลยหรือ

             ผมตอบว่า
             1)  การรับนักเรียนที่ออกจากโรงเรียนในระบบ ที่อายุยังไม่ถึง 15 ปี โดยไม่มีหนังสือส่งตัวจากเขตพื้นที่การศึกษา ถือว่าทำผิดข้อกำหนด/นโยบาย ที่สั่งการเป็นหนังสือราชการ
                  ข้อกำหนด/นโยบายที่สั่งการเป็นหนังสือราชการนี้ ผมเคยนำมาลงบ่อยแล้ว เช่น ใน
                  - ข้อ 7 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/11/youtube.html  ( มีหนังสือราชการฉบับนี้ )
                  - ข้อ 6 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/09/15000.html
                  ต้องบอกให้ผู้ปกครองพาเด็กไปขอหนังสือส่งตัวที่เขตพื้นที่การศึกษาที่เด็กมีทะเบียนบ้านอยู่  ( ที่อยุธยา ไปขอที่เขต
2 เขาทำหนังสือให้ทุกครั้ง  แต่เขต 1 ไม่อนุญาต  เราอาจให้เขานำหนังสือราชการที่แจ้งเรื่องนี้ไปด้วยก็ได้ เพราะบางเขตก็เข้าใจ บางเขตก็ไม่เข้าใจ )
                  กรณีเด็กขอลาออกมาเรียน กศน. เนื่องจากไม่ส่มารถเรียนในโรงเรียนได้ แต่โรงเรียนไม่ให้ออกโดยแจ้งว่าอายุยังไม่ถึงเกณฑ์  โรงเรียนนั้นอาจไม่รู้เรื่องตามหนังสือแจ้งฉบับนี้ เราอาจจะให้นักเรียนและผู้ปกครองนำหนังสือแจ้งฉบับนี้ไปให้โรงเรียนศึกษา  หรือให้ผู้ปกครองพานักเรียนไปแจ้งเขตพื้นที่การศึกษา ว่าไม่สามารถเรียนในโรงเรียนได้เพราะอะไร  ถ้าเขตพื้นที่การศึกษาเขาพิจารณาเห็นว่ามีเหตุผลไม่สามารถเรียนในโรงเรียนได้จริง เขาจะประสานงานกับโรงเรียนให้อนุญาตให้ลาออก และเขาจะทำหนังสือส่งตัวมาเรียน กศน.

                  แต่ถ้าเป็นคนต่างด้าว เรารับได้โดยไม่ต้องผ่านเขตพื้นที่การศึกษา เพราะเขตพื้นที่การศึกษาจะดูแลเฉพาะคนไทยที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตพื้นที่ฯ นั้น

             โทษของการทำผิดข้อกำหนด/นโยบายที่สั่งการเป็นหนังสือราชการ อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปและผู้กำหนดนโยบายที่สั่งการนั้น ว่าจะทำอย่างไร ( ต้องพิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ )

             2)  การที่ เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาอนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ออกจากโรงเรียนในระบบ และส่งมาเรียนภาคบังคับต่อที่สถานศึกษา กศน.โดยเร็ว นั้น โรงเรียนไม่ผิด เพราะเด็กยังเรียนภาคบังคับอยู่

         4. คืนวันที่ 19 ก.พ.58 ผมโพสต์เผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ว่า 
             ข้อ 4.2 เพิ่งเพิ่มขึ้นมาจากกรณีของอาชีวศึกษา  เดิมมีแต่ข้อ 4.1

             เดิม ข้อ 1) ถึง 3) ใช้สมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วยได้  ส่วนข้อ 4.1 ใช้สอนในสถานศึกษาได้ แต่ใช้สมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วยไม่ได้

             ตอนนี้ ทั้ง 4.1 และ 4.2 ใช้สมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วยได้แล้ว แต่เป็นได้แค่ครูผู้ช่วย ไม่สามารถเป็นครู คศ.1
             เขาใช้คำว่า "เมื่อจะบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วย ให้ดำรงตำแหน่งครู"  ไม่ใช่ "เมื่อจะบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ครูผู้ช่วย"  หมายถึงบรรจุเป็นครูผู้ช่วยก็ได้ แต่ในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม 2 ปี ต้องพัฒนาตนเองให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มิฉะนั้นจะเลื่อนไปรับเงินเดือนแท่ง คศ.1 ไม่ได้

             ( ก.ค.ศ. มีมติให้ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย คุณสมบัติเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งในข้อ 2 เป็น “มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน” ทั้งนี้เมื่อได้รับการบรรจุและแต่งตั้งแล้ว จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น )


  


         5. เย็นวันเสาร์ที่ 14 ก.พ.58 Bee Sukanya กศน.เขตหลักสี่ ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  มีที่ไหนเปิดรับสมัครตำแหน่งพนักงานราชการบ้างไหม

             ผมร่วมตอบว่า   ถ้าเป็นพนักงานราชการสังกัดหน่วยงาน กศน. แต่ละหน่วยงาน/จังหวัด จะดำเนินการประกาศรับสมัครกันเอง ไม่มีกำหนดที่แน่นอน ที่ไหนมีอัตราว่างเมื่อไร ก็จะประกาศรับสมัคร เราต้องคอยติดตามสอบถามจากที่ต่างๆ  แต่หลายแห่งจะนำประกาศมาลงในเว็บไซต์สำนักงาน กศน.ด้วย  ถ้าที่ไหนนำประกาศมาเผยแพร่อย่างนี้ ก็แสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินการได้ระดับหนึ่ง  เข้าไปดูได้ที่  http://www.nfe.go.th/onie2014/  ( หาดูที่เมนู รับสมัคร/ประกาศรายชื่อด้านล่าง )

         6. วันที่ 18 ก.พ.58 Korkaew Wichuda ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ครู กศน.ตำบลเสียชีวิตวันที่ 9 ม.ค. จะเบิกจ่ายค่าตอบแทนเดือน ม.ค. เท่าไร

             ครั้งแรกผมตอบผิดว่า ให้คำนวณ 9 วัน ไม่หักวันหยุด โดยใช้ 9 คูณกับค่าตอบแทนเต็มเดือน แล้วหารด้วยจำนวนวันทั้งหมดในเดือน ม.ค. คือ 31  ( ถ้าเสียชีวิตในเดือน ก.พ.นี้จะหารด้วย 28 )
             แต่ผมถามกลุ่มงานคลัง กศน. เพื่อความแน่ใจอีกครั้ง  ได้คำตอบที่ถูกต้องจากกลุ่มงานคลังว่า  ถ้ามรณบัตรระบุว่าเสียชีวิตวันที่ 9 จะเบิกจ่ายได้ 8 วัน แม้วันที่ 9 จะมาทำงานก่อนเสียชีวิตก็ตาม  ( ไม่ว่าวันที่ 8 จะเป็นวันหยุดหรือไม่ ก็เบิกให้ 8 วัน )


         7. เช้าวันที่ 19 ก.พ.58 ว่าวจะลอยขึ้นสูงได้ เพราะเหตุที่ต้านลม ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ในการประเมินครู กศน.ตำบล  คนที่ถูกประเมินจะต้องได้เซนต์รับทราบคะแนนการประเมินของตนเองใช่ไหม ถ้าไม่พอใจในคะแนนประเมิน ผู้ถูกประเมินมีสิทธิ์โต้แย้งได้ใช่ไหม

             ผมตอบว่า   ตามระเบียบ ข้อ 7 ( 3.4 ) กำหนดให้ "แจ้งผลการประเมินโดยตรงแก่พนักงานราชการ และให้คำปรึกษาแนะนำแก่พนักงานราชการเพื่อแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น"   ( ในแบบประเมินจะมีส่วนที่ให้ผู้รับการประเมิน ลงลายมือชื่อ "ได้รับทราบผลการประเมินแล้ว" )
             ดูระเบียบ ( ประกาศ ) ได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/1090140…/PDF/evalPRG.pdf
             ส่วนการ "โต้แย้ง" นั้น  ทุกเรื่อง ถ้ามีเหตุผลสมควร ก็โต้แย้งได้


วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

1.เรื่องน่าสนใจที่หลายคนยังไม่รู้ (ซื้อพัสดุเกินห้าแสน อำเภอเป็นผู้ดำเนินการ-ให้จ้างเหมาบริการไปประชุมอบรมไม่ได้-การประดับธงชาติอาเซียน), 2.วิชาเลือกที่เรียนได้ทุกระดับต้องแยกข้อสอบหรือไม่, 3.การขอเครื่องราชฯของ ขรก.ครู, 4.ให้ครู กศน. หยุดวันศุกร์-เสาร์ แทนการหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ ได้หรือ ?, 5.พนักงานราชการขอใช้รถส่วนตัวไปราชการ, 6.จบ มสธ. ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไม่ได้แล้ว, 7.ครู ศรช. ครูสอนคนพิการ เบิกค่าคุมสอบปลายภาคได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ระหว่างการอบรม "ยุทธศาสตร์และกระบวนทัศน์การจัดการเรียนการสอนของ กศน.ตำบล"  ของ กศน.พระนครศรีอยุธยา ที่ เฮฟเว่นแควรีสอร์ท กาญจนบุรี 4-6 ก.พ.58  ในช่วงก่อนพักเที่ยงวันที่ 5 ก.พ. คุณดำรงค์ศักดิ์ ว่าวกำเหนิด อดีตเจ้าพนักงานพัสดุ สป.ศธ. มีความเชี่ยวชาญด้านการพัสดุมากที่สุดคนหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันเกษียณแล้วมาเป็นที่ปรึกษาที่ สนง.กศน.จ.พระนครศรีอยุธยา  ได้มาแนะนำเรื่องน่าสนใจในที่ประชุม เช่น

             - การซื้อการจ้างพัสดุของ กศน.อำเภอ/เขต แม้วงเงินจะเกินที่ได้รับมอบอำนาจ 500,000 บาท. กศน.อำเภอ/เขต ก็ยังเป็นผู้ดำเนินการได้ เพียงแต่ในขั้นตอนขออนุมัติหลักการต้องส่งเรื่องต่อไปให้จังหวัดอนุมัติ  จากนั้น ถ้าจังหวัดลงนามตั้งบุคลากรอำเภอเป็นกรรมการและให้ยื่นซองที่อำเภอ  กศน.อำเภอ/เขตก็ดำเนินการต่อ  ถ้าผลการสอบราคาได้ราคาน้อยกว่าวงเงิน โดยไม่เกิน 500,000 บาท กศน.อำเภอ/เขตก็อนุมัติจัดซื้อจัดจ้างเองเลย  แต่ถ้าผลการสอบราคาจะเสนอซื้อ/จ้างในราคาเกิน 500,000 บาท ก็ส่งไปขออนุมัติที่จังหวัดอีกครั้ง

             - การจ้างเหมาบริการ ปกติจะให้ผู้รับจ้างไปประชุมอบรมไม่ได้ ลักษณะเดียวกับการจ้างพิมพ์หนังสือเรียน ไม่ถือว่าผู้รับจ้างเป็นบุคลากรของส่วนราชการ จะให้ผู้รับจ้างพิมพ์หนังสือเรียน ไปประชุมอบรมเรื่องการพิมพ์หนังสือเรียนหรือเรื่องอื่น โดยเบิกค่าเบี้ย เลี้ยงที่พักค่าเดินทางจากส่วนราชการ ไม่ได้  เช่น การจ้างบรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ ต้องเลือกจ้างจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถในงานบรรณารักษ์อยู่แล้ว จ้างมาให้ทำงานเลย ไม่ใช่การฝึกงาน จะส่งไปประชุมอบรมเรื่องบรรณารักษ์อีกไม่ได้ จะส่งไปประชุมอบรมเรื่องอื่นก็ไม่ได้ เพราะอยู่นอกเหนือบทบาทหน้าที่ .. แต่.. ถ้ามีเหตุผล เช่น ส่วนกลางกำหนดแนวปฏิบัติมาให้ห้องสมุดทุกแห่งปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน จึงต้องจัดอบรมชี้แจงแนวปฏิบัติ เป็นต้น.. ซึ่ง จ.พระนครศรีอยุธยาก็ทำโครงการให้บรรณารักษ์ไปประชุมอบรมในลักษณะนี้แล้ว กำลังจะจัดประชุมอบรมในไม่ช้านี้
                ผู้รับจ้างเหมาบริการจะเบิกค่าปฏิบัติงานนอกเวลาราชการได้ก็ต่อเมื่อกำหนดในสัญญาจ้างไว้ชัดเจนว่าให้เบิกได้อย่างไร   ( ข้อมูลบางส่วนนี้ผมสอบถามคุณดำรงศักดิ์เพิ่มเติมหลังการแนะนำในที่ประชุม )

             - ธงชาติของทุกประเทศเป็นของสูง เป็นที่เคารพ มีศักดิ์ศรี แสดงถึงความเป็นเอกราช  การชักธงชาติของประเทศอื่นขึ้นสู่ยอดเสานอกอาคาร ในแต่ละประเทศจะมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ  ส่วนในที่อื่น ๆ เช่นสถานศึกษาต่าง ๆ สามารถประดับธงชาติประเทศอื่นเป็นครั้งคราวได้ในระหว่างการประชุมหรือการจัดงานจัดกิจกรรม เช่นในวันอาเซียน 8 สิงหาคมของทุกปี เป็นต้น
                การติดตั้งหรือปักธงอาเซียน ต้องเรียงลำดับธงชาติสมาชิกอาเซียนตามตัวอักษรในภาษาอังกฤษของชื่อประเทศ และต่อด้วยธงอาเซียน ดังนี้
                1)  Brunei Darussalam บรูไน ดารุสซาลาม
                2)  Cambodia กัมพูชา
                3)  Indonesia อินโดนีเซีย
                4)  Lao ลาว
                5)  Malaysia มาเลเซีย
                6)  Myanmar พม่า
                7)  Philippines ฟิลิปปินส์
                8)  Singapore สิงคโปร์
                9)  Thailand ไทย
               10)  Vietnam เวียดนาม
               11)  ธงอาเซียน








         2. วันที่ 6 ก.พ.58 Nana Veo ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  การออกข้อสอบวิชาเลือก ถ้าวิชาที่ใช้รหัสเดียวกัน 3 ระดับ การออกข้อสอบจำเป็นต้องทำชุดเดียวกันแล้วนำไปสอบทั้ง 3 ระดับเลยมั้ย หรือว่าข้อสอบวิชาเดียวกันเช่นรหัส อช02013 ออกไม่เหมือนกัน
                ผมตอบว่า   รหัสเดียวกัน คือวิชาเดียวกัน ทำข้อสอบชุดเดียวกันได้ ดีกว่าสะดวกกว่า ถ้าอยากทำไม่เหมือนกันก็ได้ ไม่ผิด แต่ไม่สะดวก  จะอ้างว่า ม.ปลายเรียนยากกว่านั้น ไม่จริง ก็มันเป็นวิชาเดียวกัน ถึงจะระดับประถมก็ต้องเรียนทั้งเล่ม ( เล่มเดียวกัน )   การออกข้อสอบที่ถูกต้อง ต้องออกให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหลักสูตร จะบอกว่าระดับประถมเรียนในบทแรก ๆ ระดับ ม.ต้น เรียนกลางๆเล่ม ระดับ ม.ปลาย เรียนบทท้ายๆเล่ม ก็แสดงว่าจัดการเรียนการสอนในแต่ละระดับไม่ครบถ้วนตามเนื้อหาหลักสูตร
                คนละอย่างกับวิชาที่เนื้อหาคล้ายกัน แต่รหัสต่างกัน เช่น พค11001 คณิตศาสตร์, พค21001 คณิตศาสตร์, พค31001 คณิตศาสตร์  3 วิชานี้ถึงแม้จะมีเนื้อหาซ้ำกันเกิน 50 % แต่ก็ต่างกันบ้าง  เมื่อรหัสต่างกันก็เป็นคนละวิชากัน ข้อสอบอาจจะเหมือนกันได้เพียงบางข้อ
                วิชาที่รหัสเดียวกัน ถ้าใช้ข้อสอบชุดเดียวกันทั้ง 3 ระดับ เวลาสอบทั้งสามระดับในวิชานี้ ต้องสอบในเวลาเดียวกันนะ

         3. วันเดียวกัน ( 6 ก.พ.) December Mju ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  เคยเป็นพนักงานราชการ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้น บ.ช. ประกาศเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2555 ต่อมาสอบได้บรรจุเป็นข้าราชการครูเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นต่อไปถ้าจะทำการขอ จะขอชั้นอะไร  สอบถามเอาไว้ก่อน

             ผมตอบว่า   ถ้าบรรจุเป็นครูผู้ช่วย ก็เหมือนกับครูผู้ช่วยคนอื่นๆคือ ให้รอให้บรรจุเป็น ขรก.ครูครบ 5 ปีจึงขอ ( เริ่มนับตั้งแต่วันบรรจุเป็นครูผู้ช่วย )  โดยถ้าในวันที่บรรจุครบ 5 ปีนั้น เป็นอันดับ คศ.1 ก็ขอ ต.ม.  ถ้าในวันที่บรรจุครบ 5 ปีนั้น เป็นอันดับ คศ.2 แล้ว ก็ขอ ต.ช.

         4. วันที่ 4 ก.พ.58 มีผู้ถามผมว่า  ให้ครู กศน.หยุดวันศุกร์-เสาร์ แทนการหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ ได้หรือไม่

             เรื่องนี้  ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2502 ข้อ 3 กำหนดว่า  ถ้าส่วนราชการใดจะใช้ระเบียบพิเศษนอกเหนือไปจากที่กล่าว ( ระเบียบที่กล่าว คือ เวลาทำงานตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 16.30 น. หยุดกลางวันเวลา 12.00 น. ถึง 13.00 น. และวันหยุดราชการประจำสัปดาห์คือวันเสาร์ และวันอาทิตย์หยุดราชการเต็มวันทั้ง 2 วัน )  เพื่อความสะดวกให้ทำได้ แต่เมื่อคำนวณเวลาทำงานรวมกันในสัปดาห์หนึ่ง ๆ แล้ว ต้องเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนรวมเวลาราชการในสัปดาห์หนึ่ง ๆ ดังกล่าว ( ไม่น้อยกว่า 35 ชั่วโมง ) และสำหรับโรงเรียน ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
             ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการของสถาน ศึกษา พ.ศ.2547 ข้อ 5 วรรคสอง กำหนดว่า  สถานศึกษาใดมีความจำเป็นต้องกำหนดเวลาทำงานหรือวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้สถานศึกษาเป็นผู้กำหนด และรายงานส่วนราชการต้นสังกัดทราบ ทั้งนี้ ต้องมีเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 35 ชั่วโมง” ( ไม่นับรวมเวลาหยุดพักวันละ 1 ชั่วโมง ) ถ้าจะหยุดวันศุกร์เต็มวัน วันอาทิตย์ต้องทำงานเต็มวัน ( 8.30 - 16.30 น.)   ดูระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฉบับนี้ได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/1090140…/PDF/stopday.pdf

             จากระเบียบดังกล่าว อนุโลมได้ว่า ถึงแม้หน่วยงาน/สถานศึกษาจะยังหยุดราชการในวันเสาร์อาทิตย์ แต่ก็สามารถให้บุคลากรบางคนหยุดในวันอื่นแทนวันเสาร์อาทิตย์ได้  ซึ่งโดยปกติถ้าหยุดในวันศุกร์เสาร์เต็มวัน วันอาทิตย์ก็ต้องสอนเต็มวัน ถ้าวันอาทิตย์สอนครึ่งวัน วันศุกร์ก็หยุดเพียงครึ่งวัน

         5. เย็นวันที่ 9 ก.พ.58 Sura Phong ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  พนักงานราชการขออนุญาตเดินทางไปราชการโดยรถยนต์ส่วนตัวได้ไหม..มีระเบียบไหม..

             เรื่องนี้  เคยตอบไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งแล้ว เช่นในข้อ 2 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/06/2-2-2.html ว่า  ได้ แม้ไม่มีข้าราชการไปด้วย  อยู่ที่ผู้มีอำนาจอนุมัติจะพิจารณาอนุมัติตามความจำเป็นและความเหมาะสม  แต่ ผู้มีอำนาจอนุมัติให้ใช้รถส่วนตัว ไม่ใช่ ผอ.กศน.อำเภอ/เขต  โดย ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการและการจัดการประชุมของทางราชการ พ.ศ.2524 ข้อ 11 ( 4 ) กำหนดผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติการเดินทางไปราชการในราชอาณาจักร ให้เป็นอำนาจของอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ ( ของ กศน. ขณะนี้หมายถึงปลัดกระทรวง ) ซึ่งจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ เป็นผู้อนุมัติการเดินทางไปราชการในราชอาณาจักรแทนก็ได้
             ตามคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 270/51
ปลัดกระทรวงมอบอำนาจให้ ผอ.สนง.กศน.จ./กทม. ในข้อ 8 ว่า  “การอนุมัติให้เดินทางไปราชการภายในราชอาณาจักรของตนเอง ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างในสังกัด และบุคคลภายนอก การอนุมัติค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ การใช้รถยนต์ส่วนตัวไปราชการ... ...”
             แต่ ในคำสั่งที่มอบอำนาจให้ ผอ.กศน.อ./ข. ที่ 489/51 ข้อ 9 ระบุดังนี้
             - วรรคหนึ่ง  การอนุมัติไปราชการ ... ของข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา พนักงานราชการ ลูกจ้าง บุคคลภายนอก ... ...
             - วรรคสอง  การอนุมัติไปราชการสำหรับตนเอง ของ ผอ.กศน.อ. ภายในเขตจังหวัดที่สถานศึกษาตั้งอยู่ และจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับจังหวัดนั้น ... ...
             - วรรคสาม  การอนุมัติการใช้รถยนต์ส่วนตัวไปราชการภายในเขตพื้นที่ตาม
วรรคสอง
             สรุปว่า  ผอ.กศน.อ./ข. มีอำนาจอนุมัติการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้เฉพาะการไปราชการภายในเขตพื้นที่ของตนเอง  ส่วนข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง อื่น ๆ ถ้าจะขออนุมัติไปราชการ
โดยใช้รถยนต์ส่วนตัวต้องขออนุมัติ ผอ.สนง.กศน.จ./กทม.

         6. เย็นวันที่ 10 ก.พ.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องจบ มสธ. ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไม่ได้แล้ว  ว่า
             ยังมีผู้ให้ข้อมูลผิด เป็นระยะ ๆ ว่า เรียน มสธ.สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ เช่นเอกหลักสูตรและการสอน จบแล้วขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้  ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบก็มีผู้ให้ข้อมูลผิดอย่างนี้ ทำให้มีผู้เข้าใจผิดเสียเวลาเสียเงินไปสมัครเรียนโดยหวังใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่ได้ต้องการแค่ความรู้

             เมื่อ 2 ปีก่อน วันที่ 30 พ.ย.55 ผมเขียนให้ข้อมูลในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า เรื่องที่ว่าเรียน มสธ.สาขาวิชาศึกษาศาสตร์จบแล้วขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้นั้น เป็นข้อมูลเก่าเมื่อ 4 ปีก่อน
             ที่ถูกต้องคือ
             - ถ้าเริ่มเรียนหลัง 19 ส.ค.53 ถึงปีการศึกษา 2556 คุรุสภาไม่รับรองแล้ว ต้องใช้วิธีนำใบแสดงผลการเรียนไปยื่นขอเทียบโอน ซึ่งจะเทียบโอนได้ไม่ครบทุกมาตรฐาน
             - ถ้าเริ่มเรียนหลังปีการศึกษา 2556 คุรุสภาไม่รับเทียบโอนแล้ว
             ถ้าถามว่า แล้วจะเรียนทำไม  ตอบว่า ถ้าเรียนจบหลักสูตร สิ่งที่ได้คือ ได้ความรู้ ไปใช้ในด้านการเผยแพร่ให้ความรู้ต่าง ๆ เช่นเป็นวิทยากร หรือการสอนที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ( สอนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การศึกษาขั้นพื้นฐาน )  หรือถ้ายังจะมีการเปิดสอบมาตรฐานวิชาชีพครูอีก ก็นำความรู้ที่เรียนมานี้ไปใช้ในการสอบ ( อาจจะดีกว่าดูหนังสือเตรียมสอบด้วยตนเอง )

             ในขณะนี้ การเรียนเพื่อเป็นเส้นทางให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มีเพียง 2 กรณี คือ
             1)  เรียนปริญญาทางการศึกษาหลักสูตรใหม่ ( หลักสูตร 5 ปี ) ในสถาบันที่คุรุสภารับรอง
             2)  สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครูอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมีเพียงหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเช่น ครูจ้างสอน ครู ศรช. ใหเรียน ป.บัณฑิต ตามหลักสูตรที่คุรุสภากำหนดและอนุญาตให้สถาบันการศึกษาบางแห่งเปิดสอน

         7. เย็นวันที่ 11 ก.พ.58 ปนันท์ญา ตันทอง กศน.อ.ท่าวังผา ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ครู ศรช.และครูสอนคนพิการ เบิกเงินค่าคุมสอบปลายภาคเรียนได้หรือเปล่า

             ผมตอบว่า   ตอบบ่อยแล้ว ครู กศน.ตำบล ครู ศรช. และครูสอนคนพิการ เบิกเงินค่าคุมสอบปลายภาคเรียนได้ ถ้ามีเงินอุดหนุนมากพอและผู้บริหารให้เบิก  ดูคำตอบเก่า ๆ เช่น ในข้อ 5 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/09/n.html
             ครู ศรช. และ ครูสอนคนพิการเบิกค่าคุมสอบได้ แต่ ปัญหาคือ วันเสาร์-อาทิตย์ ( วันคุมสอบ ) อาจไม่ใช่วันหยุดราชการของครู ศรช.บาง คน  เช่น กศน.อ.บางแห่ง กำหนดให้ครู ศรช.และบรรณารักษ์บางคนทำงานในวันอาทิตย์ถึงพฤหัสฯ หยุดวันศุกร์เสาร์  กรณีนี้วันอาทิตย์จะเป็นวันทำการปกติของเขา  ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนการสอบ พ.ศ.2549 กำหนดว่าให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบในวันทำการปกติ เบิกค่าดำเนินการสอบในอัตราครึ่งหนึ่ง  และ หลักเกณฑ์ กศน. กำหนดว่า บุคลากรในสังกัด กศน.ถ้าทำงาน เช่น สอนวิชาชีพ สอนเสริม ในเวลาราชการ ไม่ให้เบิกค่าตอบแทน
             ฉะนั้น ถ้าจะให้ครู ศรช.เบิกค่าคุมสอบเต็ม เมื่อพบกลุ่มครั้งสุดท้ายก่อนสอบปลายภาคแล้ว กศน.อ.ต้องปรับเปลี่ยนให้ครู ศรช.มาทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ทุกวันทันที เพื่อให้วันเสาร์อาทิตย์เป็นวันหยุดราชการของเขา