วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558

1.สตง.เรียกเงินคืน ค่าชุดลูกเสือ ชุดกีฬา เบี้ยประชุมกรรมการสถานศึกษา, 2.การฝากเรียน กศ.ขั้นพื้นฐาน, 3.กศน.นครราชสีมา จะต่อสัญญาเฉพาะเอกบรรณารักษ์, 4.ใครเซ็นหนังสือยินยอมให้ไปสอบ, 5.ค่าเสื้อกีฬา, 6.จังหวัดบอกว่า ซื้อหมึกเครื่องปริ้นท์เลเซอร์ราคาเกิน 5,000 ไม่ได้, 7.ศัพท์เกี่ยวกับสมเด็จพระเทพฯ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

        
1. วันที่ 17 มี.ค.58 Sarinya Doungloy กศน.จ.ยโสธร ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  กศน.อำเภอซื้อชุดลูกเสือให้นักศึกษามาจัดโครงการเข้าค่ายลูกเสือได้ไหม

             ผมถามคำถามนี้ต่อไปที่ อ.สุณีย์ หน่วยตรวจสอบภายใน กศน.  ได้รับคำตอบว่า  ซื้อไม่ได้ ไม่มีระเบียบรองรับ และยกตัวอย่างว่า  ที่ กศน.นครปฐม ถูก ส.ต.ง. เรียกเงินคืนแล้ว ทั้งชุดลูกเสือ ชุดกีฬา เสื้อสุดยอด กศน. ( นครปฐมซื้อแจกเลย )   ผมถามต่อว่า แล้วถ้าซื้อไว้ให้ยืมล่ะ ได้ไหม  อ.สุณีย์ ตอบว่า เมื่อไม่มีระเบียบรองรับก็ซื้อไม่ได้ ( ซื้อไว้ให้ยืมก็เบาหน่อย ส.ต.ง.บางเขต อาจจะไม่ทักท้วง  แต่ที่ถูกต้องถ้าไม่มีระเบียบรองรับ ซื้อให้ยืมก็ไม่ได้ )

             นอกจากนี้ อ.สุณีย์ เล่าให้ฟังต่อว่า  ขณะนี้ ส.ต.ง.ส่วนกลาง ที่ตรวจสอบ กศน.เขต  กำลังเรียกเงินคืน ค่าเบี้ยประชุมกรรมการสถานศึกษา ที่จ่ายไปในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 50,000 บาท

         2. วันที่ 16 มี.ค.58 มุนินทร์ แรงเงา กศน.อ.รัตนวาปี ถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  มีสถานศึกษามาฝากสอบ มาเรียนกับเรา แต่บางรายวิชาเลือกเราไม่มี จึงคุยกับสถานศึกษาที่ฝากสอบกับเราว่าขอปรับให้ตรงกับรายวิชาเลือกที่สถานศึกษาเรามีได้ไหม แต่หน่วยกิตจะรักษาให้เท่ากับเดิมที่ฝากมา  แต่ทางสถานศึกษาที่ฝากสอบมาไม่ยอมปรับให้   ถามว่ากรณีฝากสอบนั้นเราสามารถปรับรายวิชาให้เข้ากับที่เปิดอยู่ได้หรือไม่ จะผิดระเบียบไหม

             ผมตอบว่า   การฝากเรียน
             - ต้องบันทึกประวัติขึ้นทะเบียนทั้งที่สถานศึกษาต้นสังกัด และสถานศึกษาที่รับฝากเรียน  โดยสถานศึกษาต้นสังกัดบันทึกประวัติตามปกติ ส่วนสถานศึกษาที่รับฝากเรียนบันทึกประวัติโดยใช้รหัสของต้นสังกัด ในโปรแกรม ITw ที่เมนู 1-1-2 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน – บันทึกประวัตินักศึกษา  -เพิ่มนักศึกษาฝากเรียน )

             - รายวิชาที่ฝากเรียน ต้องเป็นวิชาในหลักสูตรสถานศึกษาของทั้ง 2 สถานศึกษา   ถ้าเป็นวิชาเลือกที่ไม่เหมือนกัน ก็ต้องเพิ่มวิชาเลือกนั้นเข้าไปในหลักสูตรสถานศึกษาของทั้ง 2 สถานศึกษา  ( การเพิ่มรายวิชาเข้าไปในหลักสูตรสถานศึกษา เพิ่มได้โดยขอความเห็นชอบจากกรรมการสถานศึกษา )  วิชาใดที่ไม่เหมือนกันและสถานศึกษาทั้ง 2 แห่งต่างก็ไม่ยอมเพิ่มให้เหมือนกัน วิชานั้นก็ฝากเรียนไม่ได้

             - ต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้นทั้ง 2 สถานศึกษา  แต่ ให้สถานศึกษาต้นสังกัดลงทะเบียนเรียนวิชานั้นหลังสิ้นภาคเรียนแล้ว โดยลงทะเบียนเรียนย้อนหลังเมื่อได้รับผลการเรียนมาจากสถานศึกษาที่รับฝากเรียนแล้ว เพราะถ้าลงทะเบียนเรียนตั้งแต่ต้นภาคเรียนเมื่อตรวจสอบจะเกิดความซ้ำซ้อน

             - การฝากเรียน ต้องฝากสอบด้วย จนได้ผลการเรียน แล้วสถานศึกษาที่รับฝากเรียนจึงส่งผลการเรียนไปให้สถานศึกษาต้นสังกัดลงทะเบียนเรียนย้อนหลัง

         3. คืนวันที่ 18 มี.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  กศน.ทุกอำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ตำแหน่งบรรณารักษ์ที่จะสามารถต่อสัญญาจ้างได้ในสิ้นเดือนมีนาคม 2558 ต้องจบเอกบรรณารักษ์เท่านั้น  เลยอยากทราบว่ามันเป็นข้อกำหนดของสำนักงาน กศน.รึเปล่า

             ผมตอบว่า   สำนักงาน กศน.ไม่ได้กำหนดชัดเจนอย่างนั้น   ต้องพิจารณาจาก
             1)  หลักการจ้าง  ต้องจ้างจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถสร้างผลงานดีกว่า ถ้าค่าจ้างเท่ากัน
             2)  ดูคุณสมบัติการจ้างที่ สำนักงาน กศน.กำหนดไว้  ( ดูได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/EmployMaoDoc.pdf )  แต่คณะทำงานที่กำหนดคุณสมบัติการจ้างเหมาบริการตำแหน่งบรรณารักษ์นี้ ก็ฟันธงสับสน ตอนประชุมช่วงแรกกำหนดว่าต้องมีวุฒิทางบรรณารักษ์ศาสตร์ แต่เอกสารออกมาตอนท้ายบอกว่า “หรือมีประสบการณ์”

             คุณสมบัติที่กำหนดในเอกสารคือ
              “ได้รับวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งทางบรรณารักษศาสตร์ ทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ ทางบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ทางสารสนเทศศึกษา หรือทางสารนิเทศศาสตร์ หรือทางใดทางหนึ่ง หรือหลายทางดังกล่าว ที่ส่วนราชการเห็นว่าเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบ และลักษณะงานที่ปฏิบัติ  หรือมีประสบการณ์ซึ่งมีความเหมาะสมกับหน้าที่ที่รับผิดชอบและลักษณะงานที่ปฏิบัติ และมีคุณสมบัติเป็นบรรณารักษ์ที่มีจิตบริการ”

             จากหลักทั้ง 2 ข้อนี้ คิดว่า กศน.นครราชสีมา ในฐานะผู้จ้าง สามารถกำหนดคุณสมบัติให้จ้างเฉพาะผู้จบทางบรรณารักษ์ได้  ( ผมไม่ทราบนะว่า กศน.นครราชสีมา กำหนดอย่างนี้จริงหรือไม่ )

         4. คืนวันที่ 18 มี.ค.58 Jeab Chuenkamol ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  เป็นข้าราชการ ตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ จะขออนุญาตไปสอบครูผู้ช่วย ในหนังสือยินยอมให้สอบต้องให้ใครเซ็น ต้องไปถึงระดับเลขาไหม หรือเอาแค่ ผอ.จังหวัด

             เรื่องนี้  กจ.กศน.ตอบว่า ถ้าจะสอบโอน ต้องส่งหนังสือถึงระดับเลขาฯเพื่อลงนามยินยอมให้ไปสอบ ( สอบโอนได้เฉพาะข้าราชการ )
             การสอบโอนคือ ถ้าสอบได้แล้วจะโอนอายุราชการพร้อมเงินเดือนไปด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเริ่มเงินเดือนขั้นต้นใหม่  ( แต่ถ้าอายุราชการยังนิดเดียว เงินเดือนยังขั้นต้น ๆ อยู่ ถ้าสอบได้จะลาออกจากที่เดิมไปบรรจุที่ใหม่ เริ่มต้นใหม่ ไม่ประสงค์จะขอโอน ก็ไม่ต้องยื่นใบนี้ก็ได้ )


         5. เย็นวันที่ 23 มี.ค.58 Bai Baidah ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ในกรณีจัดโครงการแข่งขันกีฬา เราระบุในโครงการเป็นค่าเสื้อกีฬา สามารถเบิกได้หรือเปล่า   ตามที่ผมเคยเขียนเรื่องค่าใช้จ่ายในการแข่งขันกีฬาไว้ในข้อ 7 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/539646 โดยนำหนังสือกรมบัญชีกลางที่ กค 0526.7/28899 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2544 มาลง  ซึ่งหนังสือกรมบัญชีกลางฉบับนี้ระบุว่า
             “2. ค่าสกอร์บอร์ด ค่าเช่าเครื่องจับเวลา ค่าชุดนักกีฬาและอุปกรณ์กีฬา ค่าแก๊สจุดคบเพลิง เบิกจ่ายตามหนังสือกระทรวงการคลังที่อ้างถึง 2  (หนังสือที่อ้างถึง 2 คือ หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0526.7/129 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2539 )
             ตอนนี้จัดโครงการแข่งขันกีฬาและระบุค่าใช้จ่ายในโครงการเป็นค่าเสือกีฬา เสร็จเรียนบร้อยแล้ว แต่เมื่อเห็นผมโพสต์เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ว่า สตง.เรียกคืนเงินค่าชุดกีฬา ก็เลยไม่กล้าเบิก จึงถามเพื่อความแน่ใจอีกครั้งหนึ่ง

             ผมตอบว่า   ถ้าตามไปดูหนังสือที่อ้างถึง 2 คือ หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0526.7/129 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2539  ( ดูได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/moneyother.pdf )  จะเห็นว่าไม่มีค่าเสื้อกีฬาหรือค่าชุดนักกีฬา นะ

         6. วันที่ 27 มี.ค.58 แดง พัฒนสิน กศน.พิชัย ถามในไทม์ไลน์ผม ว่า  การซื้อหมึกเครื่องปริ้นส์เลเซอร์ราคาเกิน 5000 บาทต่อหน่วย ด้วยเงินงบประมาณได้หรือเปล่า  ตามความรู้ที่มีน่าจะซื้อได้  (ค่าวัสดุ ตามหนังสือการจำแนกประเภทรายจ่ายตามงบประมาณของสำนักงบประมาณ หมายถึง รายจ่ายดังต่อไปนี้
             (1)  รายจ่ายเพื่อจัดหาสิ่งของซึ่งโดยสภาพเมื่อใช้แล้วย่อมสิ้นเปลือง หมดไป แปรสภาพ หรือไม่คงสภาพเดิม หรือสิ่งของที่มีลักษณะคงทนถาวร และมีราคาต่อหน่วยหรือต่อชุดไม่เกิน 5,000 บาท ......)
                   ตัวอย่างรายการสิ่งของที่จัดเป็นวัสดุโดยสภาพ เช่น
                   วัสดุสำนักงาน
                   - กระดาษ
                   - หมึก
             ส่งหลักฐานเบิกแล้วถูกตีความว่าเบิกไม่ได้ ว่าราคาเกิน 5000 บาทต่อหน่วย  (เครื่องปริ้นส์มาพร้อมคอมพิวเตอร์ที่สำนักงาน กศน.จัดสรรให้)

             ผมตอบว่า เข้าใจถูกต้องแล้ว
             จริง ๆ แล้ว ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข 5,000  แต่ประเด็นจริง ๆ คือ การซื้อครุภัณฑ์ด้วยเงินงบประมาณ ต้องเป็นเงินที่กำหนดให้ซื้อครุภัณฑ์โดยเฉพาะ
             ประเด็นคือ เงินงบดำเนินงาน "ซื้อครุภัณฑ์" ไม่ได้
             แต่ที่เกี่ยวกับตัวเลข 5,000 เพราะ มีข้อกำหนดว่า "วัสดุถาวร ที่ราคาเกิน 5,000 บาท ถือเป็นครุภัณฑ์"
             ส่วน หมึก ไม่ใช่วัสดุถาวร แต่เป็นวัสดุสิ้นเปลือง ( ใช้แล้วสิ้นเปลืองหมดไป หรือแปรสภาพ หรือไม่คงสภาพเดิม )  เมื่อไม่ใช่ครุภัณฑ์/ที่ดิน/สิ่งก่อสร้าง แม้ราคาจะเกิน 5,000 บาท ก็ซื้อได้
             ในขณะเดียวกัน พัสดุบางอย่างราคาไม่ถึง 5,000 บาท ก็ซื้อไม่ได้ ถ้าในเอกสารการจำแนกประเภทรายจ่ายฯกำหนดว่าพัสดุนั้นเป็นครุภัณฑ์


         7. เย็นวันอาทิตย์ที่ 29 มี.ค.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องศัพท์เกี่ยวกับสมเด็จพระเทพรัตนฯ ว่า
             ใคร อ่านว่า
รัด-ตะ-นะ-ราด-ชะ-สุ-ดาอ่านผิดนะ  ต้องอ่านว่า รัด-ราด-ชะ-สุ-ดา หรือ  รัด-ราด-สุ-ดา คือไม่มี ตะ-นะแต่จะมี ชะหรือไม่มีก็ได้

             ๑)  การขานพระนาม "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"
                  ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการที่ รล ๐๐๐๓/๓๘๓๔ ลงวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๔ ได้ระบุการขานพระนาม " ไว้ว่า.. สม-เด็ด-พฺระ-เทบ-พะ-รัด-ราด-สุ-ดา-สะ-หฺยาม-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-กุ-มา-รี
                  ส่วนตามหนังสือ อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ปี ๒๕๕๖ ให้อ่านได้ ๒ แบบ คือ  สม-เด็ด-พฺระ-เทบ-พะ-รัด-ราด-สุ-ดา-สะ-หฺยาม-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-กุ-มา-รี หรือ  สม-เด็ด-พฺระ-เทบ-พะ-รัด-ราด-ชะ-สุ-ดา-สะ-หฺยาม-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-กุ-มา-รี

             ๒)  ต้องใช้ "เนื่องในโอกาส..."  ไม่ใช่  "เนื่องในวโรกาส...   เพราะคำว่า "วโรกาส" ใช้เฉพาะเมื่อ "ขอโอกาส" หรือ ให้โอกาส”  เช่น ขอพระราชทานพระราชวโรกาส

             ๓)  สำหรับเจ้าฟ้าชั้นเอก ต้องใช้ "พระชนมายุ ๖๐ พรรษา"  ไม่ใช่  พระชันษา ๖๐ ปี"  ( คำว่า "พระชนมายุ" อ่านว่า พระ-ชน-นะ-มา-ยุ แปลว่า อายุ )
                  ส่วนคำว่า พระชนมพรรษา....พรรษาจะใช้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ  และคำว่า พระชันษา...ปีใช้แก่ ชั้นพระองค์เจ้า ลงมาถึงชั้นหม่อมเจ้า

             ๔)  ควรใช้ "ถวายชัยมงคล"
                  คำว่า "ถวายพระพร" เป็นคำที่พระสงฆ์เป็นผู้ใช้กับพระบรมวงศานุวงศ์    สำหรับเราทั้งหลายซึ่งไม่ใช่พระสงฆ์ แนะนำให้ใช้ว่า "ถวายชัยมงคล"    ปัจจุบัน อนุโลมให้ใช้ "ถวายพระพรชัยมงคล" เพื่อกล่าวโดยรวมในกรณีการนั้นมีผู้แสดงความจงรักภักดีหรือร่วมลงนามทั้งพระและฆราวาส

             ๕)  ไม่มีธรรมเนียมการใช้คำว่า "น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล"
                  คำว่า น้อมเกล้าฯ หรือ ทูลเกล้าฯ ใช้กับการถวายสิ่งของเท่านั้น  ถ้าของนั้นยกได้ ก็ใช้ว่า ทูลเกล้าฯถวาย  ถ้าของหนักยกไม่ได้ ใช้ว่า น้อมเกล้าฯ ถวาย    และแม้จะเขียนย่อ เวลาอ่านต้องอ่านเต็มว่า ทูลเกล้าทูลกระหม่อม  น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม

             ๖)  คำลงท้ายเมื่อถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระเทพฯ ใช้ว่า "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม" เท่านั้น ไม่ต้องต่อด้วย ขอเดชะ    คำว่า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ จะใช้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เท่านั้น

             ๗)  ต้องใช้คำว่า "แสดงความจงรักภักดี" หรือ เพื่อแสดงพลังความจงรักภักดี อย่าใช้  "ถวายความจงรักภักดี"    "ความจงรักภักดี" จะนำมาถวายกันไม่ได้ หรือยกให้กันไม่ได้ เพราะเป็นคุณลักษณะส่วนบุคคล เป็นนามธรรม

             ๘)  การเขียนตัวเลขที่เกี่ยวเนื่องกับการพระราชพิธี หรือเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ต้องใช้ตัวเลขไทยเท่านั้น


วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

1.กำหนดขนาด สนง.กศน.จังหวัด จากเกณฑ์อะไร, 2.เครื่องแบบครู ศรช. 3.วิชาอาชีพ 40 ชั่วโมง ผู้เรียนกลุ่มละไม่เกินกี่คน, 4.พนักงานราชการ-ครู ศรช. เบิกค่าพาหนะยังไง, 5.การลดจำนวนวิชาเลือกด้วยการรวมวิชาเลือก และวิธีออกรหัสวิชาเลือก, 6.ติดตั้งอินเทอร์เน็ต กศน.ตำบล, 7.แก้ไขเปลี่ยนแปลงคะแนนย้อนหลัง



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เคยมีผู้ถามผมนานแล้ว ว่า  มีเกณฑ์การกำหนดขนาด สนง.กศน.จังหวัดอย่างไร กำหนดจากจำนวนอำเภอหรือจำนวนประชากร

             คืนวันอาทิตย์ที่ 8 มี.ค.58 ผมเผยแพร่เรื่องนี้ในเฟซบุ๊ค ว่า  เกณฑ์การกำหนดขนาด สนง.กศน.จังหวัด จะเป็นคะแนนของแต่ละจังหวัด จากคะแนนเต็ม 100
             - ไม่เกิน 70 คะแนน  =  ขนาดเล็ก
             - 71-85 คะแนน  =  ขนาดกลาง
             - 86-100 คะแนน  =  ขนาดใหญ่

             โดยคะแนนมาจาก 3 ส่วน คือ
             1)  จำนวนอำเภอ  ( เต็ม 50 คะแนน )
                  - 1-9 อำเภอ  =  40 คะแนน
                  - 10-15 อำเภอ  =  45 คะแนน
                  -16 อำเภอขึ้นไป  =  50 คะแนน
             2)  จำนวนประชากร  ( เต็ม 30 คะแนน )
                  - ไม่เกิน 967,599 คน  =  20 คะแนน
                  - 967,600-1,757,200 คน  =  25 คะแนน
                  - 1,757,201 คนขึ้นไป  =  30 คะแนน
             3)  จำนวนผู้รับบริการ ในปีที่กำหนดขนาด  ( เต็ม 20 คะแนน )
                  - ไม่เกิน 122,099 คน  =  10 คะแนน
                  - 122,100-220,400 คน  =  15 คะแนน
                  - 220,401 คนขึ้นไป  =  20 คะแนน


           ตัวอย่างเช่น กศน.จ.พระนครศรีอยุธยา มี 16 อำเภอ ( 50 คะแนน ) + จำนวนประชากร 8 แสนคน ( 20 คะแนน ) + จำนวนผู้รับบริการ 170,000 คน ( 15 คะแนน ) รวมคะแนน = 50+20+15 = 85 คะแนน = ขนาดกลาง เป็นต้น

             ถ้าอยากรู้ว่า กศน.จังหวัด/อำเภอใดขนาดใด ดูได้จากลิ้งค์ในข้อ 19.2 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2013/10/blog-post_8783.html 
           
         2. คืนวันเสาร์ที่ 13 มี.ค.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องเครื่องแบบครู ศรช. ว่า  ปัจจุบันมีบางแห่งให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ+ลูกจ้างประจำ+พนักงานราชการ เช่นครู ศรช.ที่ไม่ได้เป็นพนักงานราชการ  แต่งเครื่องแบบสีกากีด้วย  ซึ่งถ้าดูผ่าน ๆ แล้วคนเข้าใจผิดว่าเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำหรือพนักงานราชการ ( เหมือนหรือคล้าย ) จะผิดกฎหมายอาญา  ในภาพนี้จะเห็นเครื่องแบบที่ถูกต้องเหมาะสม สามารถใช้ในราชการสำคัญได้






         3. วันที่ 12 มี.ค.58 Ploy Na Ka ครู ศรช. กศน.พิจิตร ถามผมในอินบ็อกซ์ ว่า  การเปิดกลุ่มอาชีพ 40 ชม. จำกัดจำนวนผู้เรียนหรือป่าวว่าต้องมีผู้เรียนไม่เกินกี่คน

             ผมตอบว่า   ส่วนกลางไม่ได้กำหนดระเบียบจำกัดขั้นสูงไว้ กำหนดไว้แต่ขั้นต่ำ ( ในคู่มือการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ปี 59 กำหนดว่า รูปแบบกลุ่มสนใจกลุ่มละ 6 คนขึ้นไป, รูปแบบชั้นเรียนวิชาชีพ 31 ชม.ขึ้นไป กลุ่มละ 11 คนขึ้นไป, รูปแบบฝึกอบรมประชาชนกลุ่มละ 15 คนขึ้นไป ) ขั้นสูงให้ผู้บริหารกำหนดเองตามความเหมาะสม เช่นเหมาะสมกับเนื้อหา สถานที่ สื่อ งบประมาณ
             ดูคู่มือได้ที่
             - https://db.tt/zDLTGTrC   และ
             - https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/ManualTrain.pdf 


         4. วันที่ 13 มี.ค.58 ชาริล ชัปถุย ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  การเดินทางของพนักงานราชการหรือครู ศรช. สามารถเบิกได้ตามค่าโดยสารรถหรือว่ายังงัย เกี่ยวกับการเดินทางไปราชการ

             ผมตอบว่า   ผมอ่านคำถามไม่ค่อยเข้าใจ  แต่ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก  เพื่อไม่ให้ยุ่งยากเกินไปผมขอตอบคร่าว ๆ ในประเด็นใหญ่ ๆ  ( นอกจากจะปฏิบัติตามระเบียบค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ยังต้องดูมาตรการประหยัดของส่วนราชการในแต่ละปี และนโยบายข้อกำหนดในการให้ไปราชการแต่ละรายการด้วย )
             ตามระเบียบ กำหนดสำหรับข้าราชการ ผู้ที่ไม่ใช่ข้าราชการต้องเทียบระดับตำแหน่งกับข้าราชการ
             ถ้าเป็น ค่าเบี้ยเลี้ยง กับ ค่าเช่าที่พัก ปัจจุบัน ข้าราชการระดับ 1-8 ( ระดับปฏิบัติงาน ชำนาญการพิเศษ ) เบิกได้เท่ากัน โดยลูกจ้างทุกประเภทและพนักงานราชการไม่เกินกลุ่มงานบริหารทั่วไป จะไม่ต่ำกว่าระดับ 1 และไม่เกินระดับ 8 จึงเบิกได้เท่ากัน  ไม่จำเป็นต้องเทียบระดับตำแหน่ง
             แต่ถ้าเป็นค่าพาหนะ  ระดับ 1-8 จะเบิกได้ไม่เหมือนกัน  จึงต้องเทียบระดับตำแหน่ง ดังนี้  ( ตามคำถามนี้ผมขอแบ่งเป็น 2 กลุ่ม )
             -  กลุ่มที่ 1  ครู ศรช., ลูกจ้างทุกประเภท, พนักงานราชการกลุ่มงานบริการและกลุ่มงานเทคนิค ( อนุปริญญา ), และพนักงานราชการกลุ่มงานบริหารทั่วไป( ป.ตรี )อายุราชการไม่เกิน 9 ปี   เทียบเท่าข้าราชการตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน และประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
             -  กลุ่มที่ พนักงานราชการกลุ่มงานบริหารทั่วไป( ป.ตรี )อายุราชการ 10-17 ปี เทียบเท่าข้าราชการตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ, อายุราชการ 17 ปีขึ้นไป เทียบเท่าระดับชำนาญการพิเศษ

             สิทธิในการเบิกจ่ายค่าพาหนะ  ( ถ้าถามเรื่องพนักงานราชการ ต้องบอกอายุราชการด้วย )  เป็นดังนี้
             1)  ค่ารถโดยสาร ป.1, ป.2} VIP 24 ที่นั่ง, รถไฟชั้น 2-3  เบิกได้ทั้ง 2 กลุ่ม แต่ค่าโดยสารรถไฟชั้น 1 รถด่วน รถด่วนพิเศษ นั่งนอนปรับอากาศ ( บนอ.ป.) เบิกได้เฉพาะกลุ่ม 2 และต้องแนบกากตั๋วด้วย
            
2) ค่าโดยสารรถรับจ้าง เช่นรถแท็กซี่ ปัจจุบันให้ผู้เดินทางไปราชการทุกระดับตำแหน่ง สามารถเดินทางโดยพาหนะรับจ้างได้ โดยผู้เดินทางต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็น
             3)  ค่าโดยสารเครื่องบินภายในประเทศ  กลุ่มที่ 1 เบิกไม่ได้  กลุ่มที่ 2 เบิกได้เฉพาะชั้นประหยัด/ชั้นต่ำสุด แต่ถ้าการไปราชการครั้งนั้นระบุให้เดินทางโดยประหยัด เบิกไม่ได้
            
4) ค่าชดเชยการใช้พาหนะส่วนตัวไปราชการ ปัจจุบันให้ผู้เดินทางไปราชการทุกระดับตำแหน่งใช้พาหนะส่วนตัวเดินทางไป ราชการได้ โดยผู้เดินทางต้องใช้พาหนะส่วนตัวนั้นตลอดเส้นทาง ถ้าไม่สามารถใช้พาหนะส่วนตัวได้ตลอดเส้นทางให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาอนุญาต

             ดูคำตอบเดิมที่เกี่ยวข้อง เช่น ในข้อ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/01/n-net.html
 

         5. เย็นวันที่ 13 มี.ค.58 ประภาส โป้แล เขียนในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ขอรูปแบบการจัดทำหนังสือรายวิชาเลือก และขั้นตอนการขอรหัสรายวิชาเลือก

             ขั้นตอนการขอรหัสรายวิชาเลือกนี้ ผมเคยเขียนเป็นเอกสาร รวมอยู่ในเรื่อง การลดจำนวนวิชาเลือกด้วยการรวมวิชาเลือก และวิธีออกรหัสวิชาเลือกไว้ตั้งแต่ตอนที่ผมเป็นวิทยากรเรื่องนี้ในปี 2555  ใครสนใจ ดาวน์โหลดเอกสารนี้ได้จากลิ้งค์ในข้อ 3 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/500690 และดูคำตอบเดิมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ใน
             - ข้อ 3 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/474979
             - ข้อ 8 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/484069

             ในส่วนของรูปแบบการจัดทำหนังสือรายวิชาเลือก ถ้าหมายถึง หนังสือเรียน/ตำราเรียน ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์กำหนดรูปแบบไว้ ใช้รูปแบบเดียวกับหนังสือเรียนรายวิชาบังคับนั่นแหละ ทำตามรูปแบบหนังสือเรียนรายวิชาบังคับของ กศน.ก็ได้

         6. วันที่ 16 มี.ค.58 ผมถามข้อมูลเรื่องการติดตั้งอินเทอร์เน็ต กศน.ตำบล จาก อ.กษิพัฒ ภูลังกา กลุ่มแผนงาน กศน.  ได้รับข้อมูลว่า

             ตามข้อมูลของ กป.กศน. เราจัดตั้ง กศน.ตำบลแล้ว 7,424 แห่ง ในจำนวนนี้ติดตั้งสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปแล้วตั้งแต่ปีก่อน 1,600 แห่ง
             ในปีงบประมาณ 58 นี้ ใช้งบกระทรวง ศธ.ให้ TOT ติดตั้งอีก 1,600 แห่งเท่าเดิม และขอไปที่กระทรวง ICT ใช้งบกระทรวง ICT ติดตั้งอีก 3,000 แห่ง แต่ส่วนที่ขอกระทรวง ICT นี้ ไม่ทราบว่าเขาจะติดตั้งให้กี่แห่ง คงไม่ถึงพันแห่ง
             ในส่วนที่ใช้งบกระทรวง ศธ. ที่จะติดตั้งสายสัญญาณ + Router Wifi อินเทอร์เน็ตความเร็ว 10 Mbps ( กระทรวง ศธ.เหมาจ่ายค่าใช้บริการกันเอง เราใช้ฟรีไม่จำกัดเวลา แต่หาเครื่องคอมพิวเตอร์เอง ) ในปีนี้ 1,600 แห่งนั้น อ.กษิพัฒ ส่งรายชื่อ กศน.ตำบลทั่วประเทศ ให้ TOT ( ร่วมกับ CAT ) ไปเลือกเองว่าจะติดตั้งที่ไหน เพียงแต่กำหนดไปว่า ให้ติดตั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ครบ และถิ่นธุรกันดารเช่นบนดอยก่อน สำหรับแห่งอื่น ๆ TOT จะเลือกติดตั้งจากเหตุผล 2 ข้อ คือ
             - มีคู่สายสัญญาณของ TOT ไปถึง  และ
             - สภาพอาคาร กศน.ตำบล สามารถเก็บรักษาอุปกรณ์ของ TOT เช่น Router ไม่ให้ชำรุดสูญหายได้

             ( แห่งใดที่มีโครงการของกระทรวงติดตั้งแล้ว ถึงแม้จะใช้การไม่ได้ กศน.อำเภอก็จะเบิกจ่ายค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตของแห่งนั้นอีกไม่ได้ เพราะจะซ้ำซ้อนกับงบกระทรวง  สตง.จะเรียกเงินคืน  ฉะนั้น ถ้าแห่งใดระบบอินเทอร์เน็ตของกระทรวงฯมีปัญหา ต้องรีบแจ้งกระทรวงให้แก้ไข )

         7. วันอาทิตย์ที่ 15 มี.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์ผมเรื่อง กศ.ขั้นพื้นฐาน ว่า  เมื่อภาคเรียนที่ 2/56 อนุมัติผลและประกาศผลการเรียนไปเรียบร้อยแล้ว มาพบภายหลังว่า ไม่ได้บันทึกคะแนนระหว่างภาค 2/56 เพราะ ครูไม่ส่งเอกสารบันทึกผลการเรียน (กศน.4) ทำให้การอนุมัติผลและประกาศผลการเรียนได้ระดับผลการเรียนเป็น 0 เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามระเบียบการวัดผล ใช่/ไม่ มีแนวทางแก้ไขอย่างไร
             ต่อมาภาคเรียนที่ 2/57 ี้ ผอ.กศน.อำเภอ สั่งการให้ จนท. IT บันทึกคะแนนระหว่างภาคเรียน 2/56 ย้อนหลัง จะกระทำได้/ไม่
             และหากกระทำได้ การอนุมัติผลการเรียน เป็นวันที่ย้อนหลัง/วันที่ปัจจุบัน หรือมีวิธีการดำเนินการอย่างไร
             การบันทึกข้อมูลในโปรแกรม IT ย้อนหลัง (ภาคเรียนที่ 2/56) ถือเป็นการแก้ไขข้อมูลใช่/ไม่ และวันที่บันทึกจะปรากฏอยู่ในโปรแกรมให้ตรวจสอบได้ว่าแก้ไขข้อมูล ถือได้ว่าเป็นการทุจริตหรือ/ไม่ มีโทษความผิดหรือไม่/อย่างไร และมีแนวทางปฏิบัติและการแก้ไขดำเนินการอย่างไร ปล.นักศึกษาจะจบภาคเรียนที่ 2/57 นี้

             ผมตอบว่า   สามารถแก้ไขย้อนหลังได้ แต่ต้องระมัดระวัง เพราะการปล่อยให้แก้ไขอะไรง่าย ๆ มักส่งผลเสียตามมา เช่น เคยตัวแล้วเลยไม่ระมัดระวัง ไม่รอบคอบ
             ที่ถูกต้องคือ ต้องให้เป็นไปตามความจริง ถ้านักศึกษามาเรียนจริง มีคะแนนระหว่างภาคจริง แต่เราลืมบันทึกคะแนนระหว่างภาคลงในทะเบียน/โปรแกรม ITw เราก็ต้องแก้ไขย้อนหลังให้เขา เพราะเป็นความบกพร่องของเรา ไม่ใช่ความบกพร่องของนักศึกษา

             วิธีการที่เหมาะสมคือ
             1)  ก่อนแก้ไขย้อนหลัง ให้ตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่านักศึกษามีคะแนนระหว่างภาคจริงหรือไม่ ( อาจดำเนินการตรวจสอบกันเป็นลายลักษณ์อักษร บันทึกข้อมูลไว้ให้ละเอียดชัดเจน เพื่อใช้ลายลักษณ์อักษรนี้เป็นเอกสารอ้างอิงในการแก้ไข/บันทึกคะแนนย้อนหลัง  ถ้ามีการร้องเรียน/ตรวจสอบในอีกหลายปีภายหลัง เมื่ออ่านบันทึกนี้แล้วจะได้เข้าใจเหตุผลที่แก้ไขผลการเรียน )  และตรวจสอบด้วยว่าการไม่บันทึกคะแนนระหว่างภาคนี้ เป็นความบกพร่องของใคร

             2)  ถ้าไม่ใช่ความบกพร่องของนักศึกษา ก็ต้องมีบุคลากรบกพร่อง ผู้บกพร่องก็ต้องรับผิดชอบด้วย ถ้าไม่ต้องรับผิดชอบเลยก็จะเกิดการมักง่ายเกิดการบกพร่องอีก  การรับผิดชอบ ถ้าเป็นครั้งแรกและไม่ร้ายแรง อาจแค่ตักเตือน/ภาคทัณฑ์ ถ้าเป็นครั้งที่สองอาจเพิ่มโทษ
             อาจให้ครูทำบันทึกชี้แจงเหตุการส่งคะแนนล่าช้า แล้ว ผอ.ทำบันทึกตักเตือนผู้เกี่ยวข้อง และ ผอ.บันทึกสั่งการให้ฝ่ายทะเบียนแก้ไขคะแนน แล้วเก็บบันทึกเหล่านี้ไว้เป็นหลักฐาน

             3)  การที่นายทะเบียน ไม่ตรวจสอบ/ทวงถาม ให้รอบคอบ นายทะเบียนก็ต้องรับผิดชอบ  ต้องให้ความสำคัญในการตรวจสอบ ถ้ามีข้อผิดพลาดจนเกิดปัญหา ก็ถือว่าเป็นความบกพร่องของนายทะเบียนด้วย  ( เรื่องงานทะเบียน เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ต้องอยู่ที่ฝ่ายทะเบียน  ปัจจุบัน กศน.ตำบลยังไม่ได้เป็นสถานศึกษา จึงยังแยกทะเบียนไม่ได้ ข้อมูลต่าง ๆ จะอยู่ในทะเบียน  เมื่อหลายปีก่อนจะไม่ให้ครูรู้รหัสเข้าโปรแกรม ITw เพราะอาจมีการแก้ไขข้อมูลสำคัญ ลักษณะคล้ายการห้ามครูผู้สอนคุมสอบ แต่ปัจจุบันมีนักศึกษามากขึ้น บางแห่งนายทะเบียนยังลงทะเบียนต่าง ๆ เอง บางแห่งให้มีครูบางคน ไม่ใช่ทุกคน ช่วยเป็นคณะทำงานของนายทะเบียน บางแห่งให้ครูแต่ละคนช่วยบันทึกทะเบียน แต่ให้แยกรหัสผ่านเข้าโปรแกรม รหัสที่ให้ครูทุกคนเข้าโปรแกรมได้นั้นจะบันทึกข้อมูลได้เพียงบางเรื่อง  แต่อย่างไรก็ตาม นายทะเบียนต้องเป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบการบันทึก  การตรวจสอบจะให้ครูตรวจสอบหรือจะตรวจสอบอย่างไรก็แล้วแต่ นายทะเบียนก็ยังเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบด้วย นายทะเบียนไม่ใช่มีหน้าที่แค่ลงนามโดยไม่ต้องรับผิดชอบ )

             4)  กรณีนี้ให้อนุมัติผลการเรียนใหม่ย้อนหลัง  วันที่อนุมัติผลการเรียนเป็นวันก่อนวันลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนถัดมา  ถึงแม้จะเป็นการแก้ไขย้อนหลัง ก็ไม่ถือว่าเป็นการทุจริต ถ้าแก้ไขให้ถูกต้องเป็นไปตามความจริง


วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2558

1.ทำงานลำบาก กศ.ต่อเนื่อง หลักสูตรระยะสั้น เบิกค่าอาหารไม่ได้, 2.ชื่อบ้านหนังสือ ?, 3.การอบรมบรรณารักษ์จ้างเหมาให้มีสิทธิสอบเป็นบรรณารักษ์ข้าราชการ, 4.ถ้าครู กศน.หมดสัญญา จะต่อสัญญาใหม่ต้องมีวุฒิ 3 สาขาหรือไม่-รับสมัครครูผู้ช่วย กศน.ครั้งต่อไป จะกำหนดวิชาเอก และรับบุคคลภายนอกด้วย, 5.สอบข้าราชการครู ต้องจบ 3 สาขานี้ไหม, 6.จะให้ใครเป็นหัวหน้า กศน.ตำบลใด แต่งตั้งโดย ผอ.จังหวัด-ถ้าผู้บริหารเอาจริง หน.กศน.ตำบลก็คงทุจริตไม่ได้, 7.ข้าราชการครูต้องสอนกี่ชั่วโมง



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันอาทิตย์ที่ 1 มี.ค.58 Sura Phong ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  งบพัฒนาสังคมฯเบิกอาหารไม่ได้ โดยมีเหตุผลว่า กศน.เป็นสถานศึกษามีหน้าที่จัดการเรียนการสอนอย่างเดียว .. จริงๆเบิกได้ไหม หรือแล้วแต่ดุลพินิจของผู้มีอำนาจ..มีหนังสือคำสั่งหรือระเบียบอะไรบ้าง..ทำงานลำบากจริงๆตอนนี้..

             ผมตอบว่า   การพัฒนาสังคมและชุมชน เป็น การศึกษาต่อเนื่อง ( หลักสูตรระยะสั้น ) เบิกจ่ายค่าอาหารไม่ได้เพราะไม่ใช่การประชุมอบรมบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน แต่เป็นการจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียน/ผู้รับบริการ ลักษณะเดียวกับการสอนวิชาชีพ
             การจัดการศึกษาต่อเนื่อง ( หลักสูตรระยะสั้น ) จ่ายได้เฉพาะตามหนังสือสำนักงาน กศน.ที่ ศธ 0210.117/1255 ลงวันที่ 30 มี.ค.55 เรื่องการเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษานอกโรงเรียนหลักสูตรระยะสั้น  ( หนังสือฉบับนี้อยู่ในไฟล์ชื่อ costs_study.pdf ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มไฟล์คู่มือการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ดาวน์โหลดกลุ่มไฟล์นี้ได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/Compressrd/ContinuingEducationGuide.rar )
             และดูคำตอบเดิมอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ใน
             - ข้อ 3 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/491341
             - ข้อ 7 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/02/mba.html

         2. วันที่ 2 มี.ค.58 Phatsanan Rattanachotichairit ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  บ้านหนังสืออัจฉริยะ เปลี่ยนชื่อเป็น บ้านหนังสืออัจฉริยะสู่ชุมชน หรือ บ้านหนังสือสู่ชุมชน เห็นแต่ละจังหวัดใช้ไม่เหมือนกัน

             ผมตอบไปก่อนว่า  มีแต่ผู้ใหญ่พูดในที่ประชุมว่าจะเปลี่ยนเป็น บ้านหนังสือชุมชนแต่ยังไม่มีเรื่องเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการ  ณ วันนี้ยังชื่อเดิม
             เพื่อความแน่ใจ ผมได้ถาม สพร.กศน.ด้วย  ได้รับคำตอบตรงตามที่ผมตอบไป


         3. วันเดียวกัน ( 2 มี.ค.) ผมถาม สพร. ถึงเรื่องการอบรมวิชาชีพบรรณารักษ์ สำหรับบรรณารักษ์จ้างเหมาบริการอายุงาน 3 ปี ที่ไม่มีปริญญาทางงบรรณารักษ์ เพื่อให้มีสิทธิสอบเป็นข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ ( ทำนองเดียวกับการอบรมวิชาชีพครู สำหรับผู้ที่ไม่มีวุฒิทางครู ให้มีสิทธิขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู )  ซึ่งเคยได้ข่าวว่า จะทำหลักสูตรอบรม 300 ชั่วโมง และฝึกงาน 100 ชั่วโมง เสนอให้ ก.พ.พิจารณา
             ผมคิดว่าเรื่องนี้อาจจะล้มเลิกไปแล้ว เพราะเงียบไป  แต่ สพร.ตอบว่า ยังไม่ล้มเลิก เขียนหลักสูตรแล้ว กำลังถึงขั้นตอนจะเขียนคู่มือการอบรม  แต่ไม่ทันการสอบข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ในปีนี้แน่ เพราะยังไม่รู้ว่าจะได้รับอนุมัติเมื่อไรหรือไม่อย่างไร  ถ้าได้รับอนุมัติก็ใช้เวลาอบรมนาน

         4. คืนวันที่ 4 มี.ค.58 สุวิมล เรืองขจร กศน.อ.นาดี ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ถ้าเป็นครู กศน.ตำบล ครู ศรช. อยู่แล้วแต่ไม่มีวุฒิ 3 สาขาที่กำหนด เมื่อสัญญจ้างหมดลงแล้ว ทาง กศน.อำเภอจะให้เซ็นสัญญจ้างต่อไปอีกมั้ย

             ผมตอบว่า   การต่อสัญญาโดยไม่ได้สมัครใหม่ จะไม่ได้ตรวจคุณสมบัติเรื่องคุณวุฒิใหม่ จึงไม่จำเป็นต้องมีวุฒิ 3 สาขานี้  แต่จะต่อสัญญาจ้างหรือไม่ พิจารณาจากการประเมินผลการปฏิบัติงานและอื่นๆ  ( การต่อสัญญานี้ ไม่ใช่อำเภอให้เซ็นสัญญานะ เป็นอำนาจหน้าที่ของจังหวัด  และถ้าเป็นครู ศรช.ในจังหวัดทั่วไปที่ไม่ใช่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะไม่ใช่พนักงานราชการ ถึงจะสมัครใหม่ก็ยังไม่ได้บังคับเรื่องคุณวุฒิ 3 สาขานี้ )

             ผมตอบไปแล้ว แต่เพื่อความชัดเจน วันที่ 5 มี.ค.58 ผมได้ถาม จนท.กจ.กศน. และท่าน ผอ.กจ.  ได้คำตอบตรงตามที่ผมตอบไปแล้ว   นอกจากนี้ท่าน ผอ.กจ.ยังบอกข้อมูลที่น่าสนใจจากการที่ท่านไปประชุมรับข้อปฏิบัติมา เช่น
             - การสอบบรรจุครูผู้ช่วย กศน. ครั้งต่อไป ต้องกำหนดวิชาเอก ห้ามรับ เอกทั่วไป
             - การสอบบรรจุครูผู้ช่วย กศน. ครั้งต่อไป คงต้องแบ่งอัตราไปรับสมัครสอบบุคคลภายนอกด้วย เช่นเดียวกับ สพฐ. ที่มีทั้งการรับสมัครสอบบุคคลภายนอก และรับสมัครสอบบุคคลภายใน
             - สำหรับครู ศรช.ทั่วประเทศ ที่ไม่ได้เป็นพนักงานราชการ ท่านก็จะเสนอให้ต้องรับจากผู้มี วุฒิ 3 สาขานี้ด้วย ส่วน ครูประจำกลุ่ม ครู ปวช. ครูที่สอน กศ.ขั้นพื้นฐาน ก็ควรต้องลักษณะเดียวกัน แต่ส่วนกลางจะไม่กำหนดมา โดยจังหวัดควรพิจารณากำหนดครูอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบล ครู ศรช.นี้เอง


         5. คืนวันมาฆบูชา ( 4 มี.ค.58 ) ทั้ง ทศพร ช้าง ช้าง และ Sirin Sue  ถามประเด็นเดียวกัน ในอินบ็อกซ์ผม ว่า  กรณีมีใบประกอบวิชาชีพ แต่ไม่จบครูมา สามารถสอบข้าราชการครู สังกัด กศน. ได้ไหม, สอบครูผู้ช่วย กศน. จะกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครเช่นเดียวกับ ครูศรช. ครู กศน. ว่าจะต้องจบ ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ การศึกษา ไหม

             ผมตอบว่า   คุณสมบัติที่ใช้สอบข้าราชการครู คือ ( ต้องมีทั้ง 2 ข้อ )
             1)  ได้รับวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือวุฒิอื่น ที่ ก.ค.ศ.รับรอง  ( ปัจจุบันคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองแล้ว มีมากกว่า 19,000 คุณวุฒิ )  และ
             2)  มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครู ตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน
             จะเห็นว่าจบสาขาอื่นที่ ก.ค.ศ.รับรองก็ได้  คุณสมบัติแตกต่างจากผู้ที่จะสอบเป็นพนักงานราชการตำแหน่งครู กศน. และข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการศึกษา


         6. วันที่ 5 มี.ค.58 มีครู ศรช.จากตำบลที่ ตำบลเดียวมีครู กศน.ตำบลหลายคน มีครู ศรช.หลายคน ( ภาคอิสาน ) ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ครู กศน.ตำบลทำโครงการ ทำทุกอย่างให้เงินเหลือเยอะเพื่อนำเงินที่เหลือไปใช้ ถือว่าทุจริตมั้ย แบบไหนที่ถือว่าทุจริต ทำโครงการเดียวแต่เปลี่ยนป้ายถ่ายภาพเบิกหลายโครงการ ที่ไหนทำกัน ครูกศน.ตำบลหลายคน ทุกคนคือหัวหน้า กศน.ตำบลเหมือนกันรึปล่าว เห็นเขาวางอำนาจ .. ผอ.อำเภอบอกว่า หน.ตำบลเปลี่ยนกันเป็นก็ได้ .. มีคำแนะนำสำหรับการป้องกันการทุจริตมั๊ย

             ผมตอบว่า
             1)  ถ้านำเงินหลวงไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนหรือหรือกลุ่มตน ถือว่าทุจริต
             2)  เรื่องทำโครงการเดียวแต่เปลี่ยนป้ายถ่ายภาพเบิกหลายโครงการ มีที่อื่นทำอีก แต่เป็นส่วนน้อย เป็นการทุจริต ที่เราไม่น่าจะเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กเลย
             3)  ใน 1 ตำบล ถึงแม้จะมีครู กศน.ตำบลหลายคน ก็ให้มีหัวหน้า กศน.ตำบลเพียงคนเดียว สามารถเปลี่ยนหัวหน้า กศน.ตำบลได้ แต่เป็นพร้อมกัน 2 คนในตำบลเดียวไม่ได้  การเปลี่ยนก็ต้องแต่งตั้งใหม่โดยคำสั่ง ผอ.จังหวัด ไม่ใช่ ผอ.อำเภอ  ( ดูเรื่องการแต่งตั้งหัวหน้า กศน.ตำบล ในข้อ 4 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/01/n-net.html )
             4)  ถ้าผู้บริหารเอาจริง หน.กศน.ตำบล ก็คงทุจริตไม่ได้


         7. เย็นวันเสาร์ที่ 7 มี.ค.58 บางอ้อ เทเลคอมแปด ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบบ ว่า  ข้าราชการครู กศน. ต้องสอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามที่กฎหมายกำหนด

             ผมร่วมตอบว่า   มีแบบที่ ก.ค.ศ.กำหนด กับแบบที่สำนักงาน กศน.กำหนด คือ
             1)  ก.ค.ศ. กำหนด “ภาระงานสอน” ขั้นต่ำของ ขรก.ครู กศน. ว่า ไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมง/สัปดาห์  ( ผู้ที่ทำผลงานวิชาการขอเลื่อนวิทยฐานะ ถ้าระบุภาระงานสอนต่ำกว่า 18 ชั่วโมง/สัปดาห์ จะไม่ผ่าน )  แต่ภาระงานสอนนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็น การสอนอย่างเดียว แต่แบ่งเป็น 3 ส่วน ดูข้อมูลในข้อ 2 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/06/ep.html
             2)  สำนักงาน กศน. โดยท่านอดีตเลขาฯประเสริฐ ( ตอนนี้ยังไม่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลง ) แจ้ง ให้ข้าราชการครู สอนเสริมสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง  ดูในข้อ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/04/6.html