วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

1.สถานศึกษาเอกชนไม่คืนใบ รบ.ให้เปลี่ยนมาเรียน กศน., 2.การทำชำนาญการพิเศษของบุคลากรมาตรา 38 ค.(2), 3.มี ป.บัณฑิต ให้บุคคลทั่วไปเรียนไหม, 4.ข้อมูลที่น่าสนใจจากท่านรองฯวีระกุล, 5.การปฏิบัติการสอนเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชัพครู, 6.ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่, 7.ตรวจสอบวุฒิพบว่ารูปเปลี่ยน ทำอย่างไร..



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 14 ก.ค.58 ผมตอบ Pichest Sreesompan ที่ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า มี นศ.มาสอบถามการสมัครเรียนแต่เขามีปัญหาตรงที่ใบวุฒิการศึกษา สถาบัน ปวช.เอกชนที่เขาเคยเรียนไม่ยอมคืนให้  สงสัยว่าทางโรงเรียนเก่ามีสิทธิ์อันชอบธรรมหรือไม่ที่จะยึดไว้ก่อนจนกว่าจะจ่ายค่าเทอมก่อนแม้จะลาออกแล้ว

             ผมตอบว่า   ไม่ว่าคำตอบของผมจะเป็นอย่างไร ทาง ปวช.เอกชนเขาคงไม่สนใจคำตอบผม   ที่ถูกต้องใบวุฒิเดิมตอนสมัคร เมื่อสถานศึกษาตรวจสอบแล้วต้องคืนฉบับจริงให้  ( กศน.เราเองบางแห่งก็ยังเก็บฉบับจริงไว้ ซึ่งไม่ถูกต้อง )   เรื่องนี้ผมไม่รู้จะแนะนำอย่างไร จะให้ไปขอใบแทนที่สถานศึกษาดั่งเดิมก็ไม่รู้จะถูกต้องหรือเปล่า

         2. วันที่ 16 ก.ค.58 ผมเรียนถามท่าน ผอ.กจ.กศน. เกี่ยวกับการทำชำนาญการพิเศษของข้าราชการตำแหน่ง บรรณารักษ์ นักวิชาการศึกษา นักจัดการงานทั่วไป  ท่านบอกว่า

             - ถ้าทำชำนาญการพิเศษผ่าน ก็จะต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งตามตำแหน่งที่สมัครทำชำนาญการพิเศษ
             - เมื่อย้ายไปแล้ว จะขอย้ายในภายหลังอีก ก็ต้องขอย้ายไปยังตำแหน่งว่างหรือย้ายสับเปลี่ยนกับ ตำแหน่งเดียวกัน ระดับเดียวกัน  เช่น บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ ก็ต้องย้ายไปยังตำแหน่งบรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษด้วยกัน
             - ที่ใดยังเป็นอัตราตำแหน่งชำนาญการ ไม่ใช่ชำนาญการพิเศษ ถ้ามีปริมาณงาน/ภาระงานเพิ่มมากขึ้น จะขอปรับปรุงอัตราตำแหน่งเป็นชำนาญการพิเศษ ก็ให้จังหวัดเสนอเรื่องไป  ( จะได้รับอนุมัติหรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาของ ก.ค.ศ. )

         3. คืนวันเดียวกัน ( 16 ก.ค.58 ) มีผู้ถามในเฟซ อ.สมกมล ( คุรุสภา ) ว่า  เมื่อไหร่จะเปิด ป. บัณฑิตสำหรับบุคคลทั่วไปบ้าง  ตอนนี้ รร.เลิกจ้างแล้ว เด็กไม่มี อดเรียนเลย

             อ.สมกมล ตอบว่า  บุคคลทั่วไปถ้าอยากเป็นครู ให้เรียน ป.ตรี หรือ ป.โท หลักสูตรทางการศึกษาที่คุรุสภารับรองเท่านั้น  เมื่อเรียนจบก็ไปสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่คุรุสภาได้เช่นเดียวกับผู้ที่เรียน ป.บัณฑิตตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นมา ( ถ้าเรียนหลักสูตรก่อนปีที่คุรุสภารับรอง ไม่ได้ )   ไม่มีหลักสูตร ป.บัณฑิต ให้บุคคลทั่วไปเรียนแล้ว ถ้าบุคคลทั่วไปต้องการเรียน ป.บัณฑิตวิชาชีพครู ต้องไปเป็นครูผู้สอนในสถานศึกษา เช่น ครูจ้างสอนโดยได้รับหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากกคุรุสภาเท่านั้น

             การผ่านการอบรมมาตรฐานวิชาชีพครู 9 มาตรฐาน ก็สามารถขอใบอนุญาตปฏิบัติการสอนหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู  แต่ ใช้วิธีเรียน ป.บัณฑิต จะดีกว่าอบรม เพราะ ป.บัณฑิต เป็นวุฒิการศึกษา” ( สูงกว่า ป.ตรี แต่ต่ำกว่า ป.โท ใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้ด้วย )  ส่วนการผ่านการอบรมไม่ได้วุฒิการศึกษา ได้เพียงวุฒิบัตรเพื่อไปแสดงในการขอรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ( กรณีที่ยังไม่มีประสบการณ์สอน ) หรือ รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ( กรณีที่มีประสบการณ์สอนอยู่แล้ว ) เท่านั้น  ( ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก็ไม่ใช่วุฒิการศึกษา )
             ในส่วนของการอบรม จะเปิดอบรมระยะที่ 2 ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2558 ( ยังไม่แน่ )
             ผู้ที่มีสิทธิเข้าอบรม คือ
             - ผู้ที่เคยเทียบโอนหรือทดสอบความรู้ 9 มาตรฐานเดิมของคุรุสภา ผ่านแล้วอย่างน้อย 1 มาตรฐาน ก่อน 4 ต.ค.56
             - ผู้ที่เรียนปริญญาทางการศึกษา ( บางคนเรียกว่าวิชาครู ) หลักสูตรเก่า ( หลักสูตร 4 ปี ) โดยเริ่มเรียนก่อน 4 ต.ค.56 และจบหลัง 4 ต.ค.56 สามารถใช้สิทธิอบรมได้ภายใน 1 ปีนับจากวันที่เรียนจบ


         4. ช่วงวันที่ 20-24 ก.ค.58 ผมไปประชุมสร้างข้อสอบ บรรณาธิการและจัดชุดข้อสอบปลายภาค 1/58 ที่โรงแรมนนทบุรีพาเลซ โดยวันแรกท่านรองเลขาธิการฯ ดร.วีระกุล อรัณยะนาค มาเป็นประธานเปิดการประชุม ท่านแจ้งข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น

             1)  กศน. กำลังเสนอ พรบ. 2 ฉบับ คือ
                  - พรบ.จัดตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียน ( ตั้ง กศน.เป็นนิติบุคคล หัวหน้าส่วนราชการตำแหน่งอธิบดี )
                  - พรบ.การศึกษานอกโรงเรียน  เพื่อแยกการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ออกจากการศึกษาในระบบมากขึ้น  ( ปัจจุบันการศึกษานอกโรงเรียนต้องมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกับการศึกษาในระบบ )
                  พรบ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ ได้รับการสนับสนุนทั้งจากท่านปลัดกระทรวง และท่าน รมว.ศธ.

             2)  ครู กศน.เรากลัว นศ.สอบตก จึงมีการบอกข้อสอบ ทั้งในระหว่างคุมสอบ แก้กระดาษคำตอบหลังการสอบ และแก้คะแนนการตรวจกระดาษคำตอบ  ซึ่งเป็นการทุจริตที่ร้ายแรง  จะลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง  อาจห้ามครู กศน.คุมสอบปลายภาค ( ลักษณะเดียวกับที่ห้ามครู กศน.คุมสอบเทียบระดับฯแล้ว )

             3)  สตง.เสนอให้ยุติการสร้างอาคาร กศน.ตำบล เพิ่ม เพราะจากการที่ สตง. ตรวจประเมิน กศน.ตำบลที่สร้างด้วยเงินงบประมาณไปแล้วโดยเงินค่าก่อสร้างและค่าครุภัณฑ์รวมเป็นล้านบาท  พบว่า กศน.ตำบลหลายแห่งดำเนินการตามภาระกิจไม่ครบถ้วน คอมพิวเตอร์ของ กศน.ตำบลก็ถูกแบ่งไปใช้ที่ กศน.อำเภอ/จังหวัด

             4)  ส่วนกลางกำลังพิจารณากำหนดบทบาทหน้าที่ของบุคลากรประเภทต่าง ๆ ใหม่ ให้ชัดเจนและแตกต่างกัน รวมทั้งกำหนดเกณฑ์การปฏิบัติงานสำหรับการประเมินผลการปฏิบัติงาน

         5. เช้าวันที่ 21 ก.ค.58 Wutnfe Mfu เขียนบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊คผม ว่า  ได้นำใบจบ ป.บัณฑิต ไปแสดงเพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่คุรุสภา เจ้าหน้าที่บอกว่า ต้องฝึกสอนใหม่ เพราะจบนานแล้ว จบตั้งแต่ปี 53 โดยต้องฝึกสอนในโรงเรียนในระบบ ต้องทำเอกสารทั้งหมดที่ได้ถ่ายรูปนี้

             ครั้งแรกผมตอบว่า  เราอาจคุยกับเขาด้วยความไม่เข้าใจระบบ จนทำให้เขาไม่เชื่อว่าเราจะทำตามข้อ 11, 12 ในเอกสารนี้ได้
             ที่ผ่านมา การเก็บประสบการณ์การสอนเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สามารถปฏิบัติการสอนที่ กศน.ได้
             ต้องบอกเขาว่า กศน.เป็นสถานศึกษาตามกฎหมายและผ่านการรับรองจาก สมศ.
             แต่ครู กศน.บางคนไปพูดจนเขาไม่เชื่อถือแล้วว่า กศน.เป็นไปตามข้อ 11 ในเอกสาร  จึงลำบากไปทั้งประเทศ  ( คำว่า "ยืดหยุ่น" ควรใช้พูดภายใน กศน. เท่านั้น )

             ต่อมา วันเดียวกัน ( 21 ก.ค.) ผมได้ถามเรื่องนี้กับคุรุสภา ได้รับคำตอบว่า  ปฏิบัติการสอนที่ กศน.ได้ ถ้า มีชั่วโมงสอนอย่างน้อยปีละ 210 ชั่วโมง






         6. ตามที่ผมแชร์เรื่องเดิมในเฟซบุ๊ค ว่า  กรณีเอกสารหลักฐานการศึกษาที่ตรวจสอบนั้น ไม่ใช่เอกสารฉบับจริง มีการปลอมแปลง ให้สถานศึกษาดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง และรายงานให้สำนักงาน กศน.ทราบโดยด่วน นั้น
             มีผู้นำมาถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  หากไม่ดำเนินการแจ้งความและรายงานฯ จะถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่..
?

             ผมตอบว่า  ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความผิด  ( ผมเคยเขียนเรื่องนี้ในข้อ 6 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/11/etv.html )

         7. วันเสาร์ที่ 25 ก.ค.58 ยาย จอก ถามต่อท้ายโพสต์เก่าในเฟซบุ๊คผม ที่ผมแชร์ ว่า  ในกรณีที่ นศ.รับวุฒิไป 2 ปีแล้ว คงเก็บไว้ไม่ดี รูปติดวุฒิหลุดออกหายไป แต่ นศ.นำรูปใหม่มาติดแล้วนำไปสมัครเรียนที่อื่น ทางโรงเรียนตรวจสอบวุฒิมาทาง กศน.  กรณีนี้แก้ไขอย่างไร  และ ต้องแจ้ง กศน.จังหวัดทุกครั้งที่ตรวจสอบวุฒิ นศ. หรือว่ารวมส่งครั้งเดียว

             ผมตอบว่า
             1)  รูปเป็นส่วนสำคัญของใบ รบ.  ให้ตอบกลับไปที่โรงเรียนที่ส่งใบวุฒินั้นมาให้เราตรวจสอบ ว่า มีการเปลี่ยนรูป
                  ปกติ แม้นานกว่า 2 ปีรูปก็ไม่หลุด ( นศ.อาจจงใจเปลี่ยนรูป )  กรณีรูปหลุดหาย ถือว่าใบ รบ.นั้น ชำรุด ใช้ไม่ได้ ต้องยื่นเรื่องขอใบใหม่ ซึ่งต้องประทับตราประจำสถานศึกษาด้วยหมึกสีแดงชาด ให้บางส่วนของตราติดบนรูปถ่าย และบางส่วนของตราติดที่ที่หัวหน้าสถานศึกษาจะเซ็นชื่อ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนรูป  ( เคยมีกรณีใช้ชื่อคนอื่นมาเรียนแทนกัน )

             2)  คำว่ารวมส่งครั้งเดียวหมายถึงอย่างไร สัปดาห์ละครั้งเดียว หรือเดือนละครั้ง เทอมละครั้ง หรือปีละครั้ง .. ในหนังสือที่สำนักงาน กศน.แจ้งเรื่องนี้ ไม่ได้แจ้งให้รวมส่งครั้งเดียว

วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

1.เค้าโครงงานวิชาการที่ใช้เสนอขอเลื่อนวิทยฐานะ, 2.ฟ้อนต์สำหรับพิมพ์อักษรให้ผู้ไม่รู้หนังสือหัดเขียนตามเส้นประ, 3.เรียน ป.บัณฑิต ต้องไปสอนที่โรงเรียนในระบบในวันธรรมดา, 4.บางคนนำเรื่องจริงที่ตนปฏิบัติผิดระเบียบเขา ไปบอกจนจะกระทบทั้งประเทศ, 5.ค่าขีดจำกัดล่าง 2/57, 6.สถิติจำนวนสมาชิก ช.พ.ค. ถึงแก่กรรมรายเดือน, 7.ถ้าไม่ได้ใบอนุญาตฯ ต้องออกจากครู กศน.ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันเสาร์ที่ 4 ก.ค.58 Payom Faghom ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  เรื่องการพัฒนาข้าราชการ เลื่อนวิทยฐานะของ กศน. ที่ให้ส่งหัวข้อและเค้าโครงงานวิชาการที่จะใช้เสนอขอเลื่อนวิทยฐานะ ไปให้ กศน.ภาคเหนือ ก่อน  ถามว่า เค้าโครงวิชาการ ใช้แบบฟอร์มงานวิจัยหรือไม

             ผมตอบว่า  ถ้าจะทำงานวิชาการประเภทงานวิจัย ก็ใช้แบบฟอร์มเค้าโครงงานวิจัยได้
              ( งานวิชาการมีหลายประเภท  หนังสือแจ้งไม่ได้กำหนดหัวข้อและแบบฟอร์มเค้าโครง  ฉะนั้นเราจะทำเค้าโครงหรือโครงร่างผลงานทางวิชาการรูปแบบใดก็ได้ ทำเป็น 3 บทก็ได้ หรือถ้าทำไม่ทันจะทำย่อๆเพียง 2-3 หน้า ส่งไปก่อนก็ได้ )

 

         2. ฟ้อนต์ ( Font ) สำหรับพิมพ์ตัวอักษรเป็นเส้นประ เพื่อให้ผู้ไม่รู้หนังสือหัดเขียนตามเส้นประ
             ลักษณะของแบบอักษร เป็น “แบบเลอก” ตามโครงสร้างมาตรฐานตัวอักษรไทยของราชบัณฑิต
             ชื่อฟ้อน Layiji_kutlaimuu ( เลย์อิจิ คัดลายมือ )
             ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.krooupdate.com/news/newid-460.html
             เมื่อดาวน์โหลดและแตกไฟล์จนได้ไฟล์ Layiji_kutlaimuu.ttf แล้ว ให้เปิดไฟล์นี้โดยดับเบิ้ลคลิกที่ชื่อไฟล์
             ถ้ามีการถามว่าจะใช้โปรแกรมอะไรเปิดไฟล์ ให้เลือกเปิดด้วยโปรแกรม Windows Font Viewer
             เปิดไฟล์แล้วเลือกที่ Install
             เสร็จแล้ว เมื่อเวลาจะพิมพ์เอกสารอะไร ก็จะมีฟ้อนต์ Layiji kutlaimuu ให้เลือกใช้

         3. เย็นวันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค.58 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  วันที่ 5 ก.ค.ไปสอบสัมภาษณ์ ป.บัณฑิต ที่ราชภัฎนครศรีธรรมราช มีกรรมการที่สอบสัมภาษณ์แจ้งว่า ทางคุรุสภาโทรแจ้งมาที่ราชภัฎว่าปีนี้งดการเข้าเรียน ป.บัณฑิตสำหรับ ครู กศน. อยากทราบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

             เรื่องนี้  ผมถาม จนท.คุรุสภา ได้รับคำตอบว่า ไม่เคยมีเรื่องอย่างนี้  เรื่องเกี่ยวกับ กศน.มีเมื่อปีที่แล้วคือ คุรุสภาทำหนังสือแจ้งมาที่สำนักงาน กศน.ว่า ในระหว่างการเรียน ป.บัณฑิต มีการปฏิบัติการสอน/ฝึกสอน โดยอาจารย์นิเทศการสอน จะไม่มีเวลามานิเทศการสอนที่ กศน.ในวันเสาร์อาทิตย์ ฉะนั้นครู กศน.ต้องไปสอนที่โรงเรียนในระบบในวันธรรมดา ( สัปดาห์ละ 2 วัน หรือสัปดาห์ละ 8 ชั่วโมง )  ถ้าครู กศน.รายใดไม่สามารถไปสอนที่โรงเรียนนะระบบในวันธรรมดาได้ ก็ให้งดการเข้าเรียน ป.บัณฑิต  ซึ่งสำนักงาน กศน.แจ้งต่อไปที่สถานศึกษา กศน.ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2557 ว่า ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษา กศน. อนุญาตให้ครู กศน.ที่เรียน ป.บัณฑิต ไปสอนที่โรงเรียนในระบบในวันธรรมดา
             ( ผมไม่เคยเห็นหนังสือฉบับนี้นะ ใครมีบ้าง ขอดูบ้าง )

         4. วันที่ 6 ก.ค.58 กศน.อำเภอบางขัน เขียนต่อที่ผมโพสต์ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ให้ผู้เรียน ป.บัณฑิต ไปสอนที่โรงเรียนในระบบ ว่า  ครู กศน.ตอนนี้สอนในวันปกตินะ ทำไมต้องสอนในโรงเรียนในระบบด้วย ลำบากตรงเราต้องทำหน้าที่ทั้ง 2 ที่
             ผมตอบว่า  มีส่วนน้อยที่สอนวันปกติเป็นเรื่องเป็นราวเต็มที่  อาจารย์นิเทศเขาจะมาวันไหนเมื่อไรเราก็ต้องสอนให้ดูได้ ฉะนั้นเพื่อความแน่นอนจึงตกลงให้ไปสอนในโรงเรียนปกติที่นักเรียนมาอยู่ให้สอนได้ทั้งวันทุกวัน
             ที่ผ่านมามีกรณีที่ว่า "อาจารย์นิเทศมาเช้าวันจันทร์ เราบอกว่านักศึกษา กศน.วันจันทร์มาแต่ตอนบ่าย"
             เขามาเสียเที่ยว จนจะไม่ให้ครู กศน.ทั่วประเทศเรียน ป.บัณฑิตแล้ว จึงมีข้อตกลงนี้ออกมา
              ( ครู กศน.บางคน ก็ไปบอกเขาว่า "ครู กศน.สอนเฉพาะวันหยุด สัปดาห์ละเพียง 6-9 ชั่วโมง"
                ถ้าเขารู้ว่าสอนแค่สัปดาห์ละ 6-9 ชั่วโมง  แม้แต่หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ก็ไม่ได้หรอก  เขาตรวจตั้งแต่ตอนขอหนังสือนั้นแล้ว โดยให้แนบตารางสอนที่ผู้บริหารรับรองด้วย )

             วาสนา ปานสงฆ์ เขียนต่อ ว่า  ปีที่แล้วสอบเพื่อเข้าเรียน ป.บัณฑิตได้ ผ่านทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์แล้ว ถึงวันรายงานตัว ทางราชภัฎไม่รับเข้าเรียน ให้เหตุผลว่าไม่ใช่สายผู้สอน เพราะเป็นครูอาสา ศฝช. ทาง อ.ราชภัฎโทรหาคุรุสภา เพื่อจะช่วยให้ได้เรียน แต่คุรุสภาบอกว่าไม่ได้ เลยอดเรียน ปีนี้เปิดรับสมัครอีกเลยไม่กล้าไปสมัคร

             ผมตอบว่า  อาจมีคนไปบอกเขาว่า ปัจจุบันครูอาสาฯไม่ได้สอน
             คนของเราที่ไปติดต่อกับเขา ไม่รู้ระเบียบหลักการ ทำให้เสียหายกันไปหมด
             เรื่องนี้ คุรุสภาบอกว่า สัญญาจ้างต้องระบุตำแหน่งครูผู้สอน กรณีสัญญาจ้างไม่ระบุตำแหน่งครูผู้สอน ต้องมีเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างระบุให้ปฏิบัติหน้าที่สอน และคำสั่งของสถานศึกษาปีปัจจุบันที่มอบหมายให้ปฏิบัติการสอนฯ  ( ถ้าสัญญาจ้างระบุตำแหน่งครูผู้สอน ก็ไม่ต้องแนบเอกสาร/คำสั่ง )  ใช้ระเบียบหลักการนี้ทุกสังกัด
             ถ้ามีคนไปบอกเขาว่าครู กศน.ไม่ได้สอน หรือสอนเพียงสัปดาห์ละ 6-9 ชม. ก็จบเลย ไม่ต้องพูดต่อ
             ลักษณะเดียวกับ ขรก.ครู ยื่นเรื่องขอเลื่อนวิทยฐานะ ถ้าในคำขอ ระบุ ภาระงานสอนต่ำกว่า 18 ชม./สัปดาห์ ก็จบเลย เขาไม่ตรวจต่อ ไม่ตั้งกรรมการขึ้นมาดูผลงานด้วย ตกตั้งแต่คุณสมบัติเบื้องต้น

             ( มีผู้บอกว่า  ครูอาสาฯ ศฝช. ไม่ได้สอน กศ.ขั้นพื้นฐาน ประถม ม.ต้น ม.ปลาย  ถ้าจริง ครูอาสาฯ ศฝช.ก็ไม่มีสิทธิเรียน ป.บัณฑิต  ผู้ที่สอนแต่การศึกษาต่อเนื่องกับการศึกษาตามอัธยาศัย ไม่มีสิทธิเข้าโครงการเรียน ป.บัณฑิตนี้ )
 

         5. ค่าขีดจำกัดล่าง ของคะแนนสอบปลายภาค 2/57 สำหรับนำไปกรอกในโปรแกรม ITw เตรียมไว้ทำ SAR ประจำปีงบประมาณ 2558 เพื่อการประเมินฯภายใน
             ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของ กลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ กศน.  ที่
            
http://203.147.62.103/nfetesting/
             ( ค่าขีดจำกัดล่างคือค่า Y  กรอกในโปรแกรม ITw ที่เมนู 1 - A - 1 - 4  กรอกทศนิยมเพียง 2 ตำแหน่ง ตัดตำแหน่งที่ 3 ทิ้งไป ไม่ต้องปัด  กรอกเสร็จแล้วอย่าลืมคลิกที่ "บันทึกค่าขีดจำกัดล่าง" )

 

         6. คืนวันที่ 9 ก.ค.58 ผมเผยแพร่สถิติจำนวนสมาชิก ช.พ.ค. ถึงแก่กรรม และเข้าใหม่ ในแต่ละเดือน ลงในเฟซบุ๊ค เพราะเคยมีผู้ถามหลายครั้ง
             - งวด มิ.ย.58  เข้าใหม่ 393 คน ถึงแก่กรรม 528 คน คงเหลือ 996,213 คน
             - งวด พ.ค.58  เข้าใหม่ 683 คน ถึงแก่กรรม 630 คน คงเหลือ 997,930 คน
             - งวด เม.ย.58  เข้าใหม่ 820 คน ถึงแก่กรรม 493 คน คงเหลือ 999,287 คน
             - งวด มี.ค.58  เข้าใหม่ 599 คน ถึงแก่กรรม 513 คน คงเหลือ 999,046 คน
             - งวด ก.พ.58  เข้าใหม่ 796 คน ถึงแก่กรรม 547 คน คงเหลือ 994,596 คน
             - งวด ม.ค.58  เข้าใหม่ 831 คน ถึงแก่กรรม 586 คน คงเหลือ 995,054 คน

             ตัวอย่าง งวด เม.ย.58 เก็บเงินค่าสงเคราะห์ศพ ๆ ละ 1 บาท จากสมาชิก 999,287 คน ได้เงิน 999,287 บาท แบ่งเป็น
             1)  ค่าดำเนินการ 4 %
             2)  จ่ายให้ทายาทผู้ถึงแก่กรรม 96 % เป็นเงิน 959,316 บาท  แบ่งจ่ายดังนี้
                  - ค่าจัดการศพ  จ่ายภายใน 24 ชม.  200,000 บาท
                  - ที่เหลือจ่ายให้ทายาท ภายใน 30 วัน  759,316 บาท

             ดูประกาศข้อมูลจำนวนสมาชิกในแต่ละเดือนได้ที่  http://www.otep.go.th/?p=otep-cpk8
             ดู ชื่อ-สกุล สมาชิกที่ถึงแก่กรรมทุกคน ในแต่ละเดือน ได้ที่  http://www.otep.go.th/?p=otep-cpk9

         7. เช้าวันที่ 13 ก.ค.58 Mai CK ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาวิชาชีพครู จะมีหลักสูตรเฉพาะของ กศน.ไหม ไปสอบคัดเลือกมา ให้ผู้เรียนเฉพาะ กศน.ทำหนังสือยินยอมปฎิบัติหน้าที่สอน ในสังกัด สพฐ.เป็นเวลา 2 วัน/สัปดาห์ หรือ 8 ชั่วโมง/สัปดาห์
             เป็นครู กศน.ตั้งแต่ ก.ย.56 ดำเนินการสอนเป็นระยะหนึ่งปี ได้ไปขอหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งต้องพัฒนาตนเองโดยการไปเรียน ป.บัณฑิต ภายในระยะ 4 ปี ต่อใบอนุญาตได้ 2 ครั้ง
             ครู ศรช. ครู กศน.ที่เข้ามาด้วยกันยังไม่มีหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะครบสามปีกว่าแล้วยังไม่ทำอะไรเลย  ถ้าไม่มีที่เรียน ป.บัณฑิต หรือสอบไม่ได้ มีสิทธิ์ถูกไล่ออกจากการเป็นครู กศน.ไหม  แล้วจะมีมาตรการยังไรกับคนที่ไม่ดำเนินการขอใบอนุญาต  กศน.จะมีการสำรวจแล้วพลักดันให้ถูกต้องตามกฎหมายไหม

             ผมตอบว่า   ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และไม่มี "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาติประกอบวิชาชีพ" หรือเคยมีแต่หมดอายุยังไม่ได้ต่ออายุหรือต่อไม่ได้แล้ว ( ปัจจุบันให้ต่อได้อีก 2 รอบ รวมเป็น 6 ปีแล้ว )  ถ้ายังทำการสอน กศ.ขั้นพื้นฐาน ประถม ม.ต้น ม.ปลาย ในสถานศึกษา ( สอน กศ.ต่อเนื่อง และ กศ.ตามอัธยาศัย ไม่เป็นไร ) จะมีความผิดทั้งผู้สอนและสถานศึกษา  แต่เมื่อไม่มีผู้ร้องเรียน คุรุสภาก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ถ้ามีผู้ร้องเรียนจึงจะมีปัญหา ฉะนั้นทั้งครูและผู้บริหารจึงไม่ค่อยสนใจ จะสนใจก็ตอนที่จะเรียน ป.บัณฑิต
             หลักสูตร ป.บัณฑิต ไม่มีหลักสูตรสำหรับสังกัดใดโดยเฉพาะ แต่ที่กำหนดให้ครู กศน.ไปสอนที่โรงเรียนในระบบ เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาอาจารย์มหาวิทยาลัยมานิเทศการฝึกปฏิบัติการสอนของครู กศน.ที่เรียน ป.บัณฑิต โดยมานิเทศที่ กศน.ในวันธรรมดา แล้วไม่พบการสอน  ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ อาจารย์เขาก็ต้องสอนในมหาวิทยาลัย มานิเทศไม่ได้


วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

1. ทำไมไม่มี “เงื่อนไข ขอบเขต และมาตรฐานผลงาน” ในการทำบรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ, 2.ผอ.จังหวัดบางท่านชอบให้ครูไปทำงานที่จังหวัด จังหวัดยังมีอำนาจให้ครูไปช่วยราชการ 30 วันไหม, 3.มีระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมผู้เรียนไม่ให้ไปต่างจังหวัดไหม, 4.พนักงานราชการเสียชีวิตจะได้บำเหน็จอะไร, 5.จังหวัดมอบอำนาจให้อำเภอรับสมัครครู ศรช.เองได้ไหม, 6.ยื่นขอเข้าอบรมพัฒนาเป็นครูชำนาญการพิเศษ แต่ตอนนี้เป็น ผอ.แล้ว จะเข้าอบรม ผอ.ชำนาญการพิเศษได้ไหม, 7.เบิกจ่ายเงินอุดหนุนเป็นค่าอะไรได้บ้าง เบิกเป็นเงินรางวัลประกวดโครงงานนักศึกษาได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 26 มิ.ย.58 วิวิ ห้องสมุด ถามต่อท้ายโพสต์ผมในไทม์ไลน์เฟซบุ๊คผม ว่า  มีเงื่อนไข ขอบเขต และมาตราฐานผลงาน การประเมินผลงานชำนาญการพิเศษ ของบรรณารักษ์ไหม  อยากทำผลงานแต่ไม่ทราบแนวทาง  ( ที่ลงเว็บ สำนักงาน กศน. มีแต่ของตำแหน่งนักวิชาการศึกษา กับนักจัดการงานทั่วไป )

             เรื่องนี้  ผมเรียนถาม จนท.กจ.กศน. ในวันที่ 29 มิ.ย. ได้รับคำตอบว่า ยังไม่มีเงื่อนไขขอบเขตและมาตรฐานผลงานของตำแหน่งบรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ เพราะยังทำไม่เสร็จเนื่องจากเปลี่ยนคณะกรรมการชุดใหม่  ของบรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษจึงยังให้ทำตามรูปแบบเดิม  ( ดูแบบ ปส. ในหนังสือที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/library.pdf   ส่วนรายละเอียดและตัวอย่างการทำ ลองสมัครเข้ากลุ่มในเฟซบุ๊คเช่น "กลุ่มบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน..คนขยัน" แล้วถามสมาชิกในกลุ่ม   อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียดปลีกย่อยอีก ติดต่อสอบถามได้โดยตรงที่ สนง.กศน.จ. หรือ กจ.กศน. )
             กจ.กศน.ฝากย้ำว่า นักวิชาการศึกษา กับนักจัดการงานทั่วไป ต้องทำตามเงื่อนไขใหม่นะ เช่น ต้องทำผลงาน 2 เรื่อง  ต่างจากบรรณารักษ์ที่ยังทำเรื่องเดียวตามเดิม  แบบฟอร์มบางส่วนก็ไม่เหมือนกับของบรรณารักษ์

 

         2. วันที่ 29 มิ.ย.58 อำเภอหนึ่ง ถามผมว่า  จังหวัดยังมีอำนาจนำครูอาสาฯไปช่วยราชการที่จังหวัดไหม บางจังหวัดยังนำครูอาสาฯไปทำงานที่จังหวัดตลอดมาถึง 10 คน ไม่ใช่ให้ไปแค่ 30 วัน  อ้างว่า ถ้าครูย้ายลงอำเภอ ใครจะทำงานเป็นล่ะ ทำกันไม่ได้หรอก

             ผมตอบว่า   เรื่องให้ครูไปทำงานที่อำเภอ  ทุกจังหวัดต้องดำเนินการกันมาตั้งแต่ พรบ.กศน.ปี 51 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่ง สนง.กศน.จังหวัดเป็น "หน่วยงานทางการศึกษา" ไม่ใช่ "สถานศึกษา" ครูต้องทำงานที่สถานศึกษา แม้แต่ข้าราชการครูที่ตำแหน่งอยู่ สนง.กศน.จังหวัด ก็ต้องขอย้ายลงอำเภอ ใครไม่อยากย้ายก็ต้องสมัครเป็น ศน.  ครูอาสาฯก็ลักษณะเดียวกัน บางคนสอบใหม่เป็นพนักงานราชการตำแหน่งอื่นเพื่อทำงานที่ สนง.กศน.จังหวัดต่อไป   ตอนนั้นก็วุ่นวายพอสมควร  เหตุผลเขาที่ว่าคนเก่าออกไปหมดคนใหม่จะทำงานได้อย่างไร ก็จริงครับ มีปัญหาลักษณะนี้จริง  แต่ทุกจังหวัดก็ต้องทำกันมาแล้ว แก้ปัญหากันไป

             วันนี้บางจังหวัดยังเข้าใจผิดอยู่เลยว่า ผอ.จังหวัดสามารถสั่งให้ครูไปช่วยราชการที่จังหวัดหรือที่อำเภออื่นได้ 30 วัน  ที่จริงคำสั่งมอบอำนาจนี้ก็ยกเลิกไปแล้ว ตอนนี้แม้แต่ให้ไปช่วยราชการไม่ถึง 30 วันก็ไม่ได้  ยกเลิกโดยคำสั่ง สป.ศธ.ที่ 582/52 โดยให้เหตุผลในการยกเลิกว่า “การมอบอำนาจกรณีดังกล่าวมีเจตนาจะให้การบริหารราชการเป็นไปอย่างรวดเร็วและสั่งการโดยให้ยึดผลประโยชน์ของทางราชการเป็นที่ตั้ง แต่ ผู้รับมอบอำนาจได้นำไปใช้โดยไม่ถูกต้อง จึงยกเลิก"

             ผอ.จังหวัดบางท่านชอบให้ครูไปทำงานที่จังหวัด ( ครูก็ชอบ )  พอ ผอ.จังหวัดย้ายไปจังหวัดอื่นก็ไปทำที่จังหวัดใหม่อีก ส่วนจังหวัดเดิมผู้ที่ย้ายมาแทนท่านก็ส่งตัวครูกลับ เพราะทำผิดอาจถูกร้องเรียน








         3. วันที่ 29 มิ.ย.58 Nattha Suparat สนง.กศน.จ.ปทุมธานี ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  มีระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมผู้เรียนที่ไม่ให้ไปต่างจังหวัดไหม

             ผมตอบว่า   ตามกรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของสำนักงาน กศน. ข้อ 3.3 กำหนดว่า  ถ้าจัดกิจกรรมในรูปแบบศึกษาดูงาน ให้ไปในพื้นที่ใกล้เคียงหรือภายในจังหวัด/ภาคเดียวกัน  กรณีออกนอกพื้นที่ ให้ขอความเห็นชอบจากผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด/กทม. และ ข้อ 4 ย่อหน้าท้าย ไม่ให้สถานศึกษาเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้เรียน  ฉะนั้น งบคงไม่เพียงพอที่จะไปไกล  ( ดูกรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ได้ที่  https://db.tt/lke71Gou )
 

         4. วันที่ 1 ก.ค.58 Khamton Wannashu ถามต่อท้ายที่ผมโพสต์ในเฟซบุ๊คกรณีครู กศน.ตำบล ของ กศน.อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เสียชีวิต ว่า  นี่เรียกว่าตายในหน้าที่ ปูนบำเหน็จกี่ขั้นเหมือนทหารมั้ยครับ สงสารลูกเมีย

             ผมตอบว่า   ไม่เหมือนทหาร  ( ข้าราชการครูชายแดนใต้ก็ไม่ได้ปูนบำเหน็จเป็นขั้นเหมือนทหาร )  โดยถ้า ข้าราชการ/พนักงานราชการ เสียชีวิตเนื่องจากการทำงานให้ราชการ จะได้รับเงินทดแทน เป็น ค่าทำศพ หนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน แต่ กรณีนี้ มีผู้บอกว่า ไม่ได้เสียชีวิตเนื่องจากการทำงานให้ราชการ  ฉะนั้นจะไม่ได้รับเงินทดแทนหรือเงินอื่นจาก ส่วนราชการ จะได้รับในส่วนอื่น เช่น เงิน ชพค., เงินประกันสังคม
             ในส่วนของเงินประกันสังคม จะได้
             1)  ค่าทำศพ 40,000 บาท
             2)  เงินสงเคราะห์
                  - หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์ 1.5 เท่าของเงินเดือน
                  - หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์ 5 เท่าของเงินเดือน
             3)  เงินบำเหน็จชราภาพกรณีตาย
                  - หากจ่ายเงินสมทบกองทุนชราภาพไม่ครบ 12 เดือน ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จกรณีตาย เท่ากับเงินสมทบเฉพาะส่วนที่ผู้ประกันตนจ่าย
                  - หากจ่ายเงินสมทบกองทุนชราภาพเกิน 12 เดือน ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จกรณีตาย เท่ากับเงินสมทบทั้งส่วนของผู้ประกันตนและนายจ้างจ่าย พร้อมดอกผล

         5. เย็นวันที่ 2 ก.ค.58 นี่เหละ วริศราภรณ์ สารี่ นิติกรตัวน้อย ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  กศน.จังหวัด สามารถมอบอำนาจให้ กศน.อำเภอ เปิดสอบรับสมัครสรรหาครู ศรช. ครูผู้สอนคนพิการ เองได้ไหม

             ผมตอบว่า   ถ้าเป็นการจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ ปลัดกระทรวงฯมอบอำนาจให้ ผอ.กศน.อำเภอดำเนินการจ้างเองตามวงเงิน  แต่ถ้าเป็นการจ้างแบบครู ศรช. จังหวัดได้รับมอบอำนาจมาจากปลัดกระทรวงฯ จะมอบอำนาจต่ออีกไม่ได้  ที่ทำได้คือ ออกเป็นคำสั่ง/ประกาศของจังหวัด แต่รายชื่อคณะกรรมการในคำสั่งเป็นรายชื่อบุคลากรอำเภอ และกำหนดสถานที่ต่างๆในคำสั่งเช่นสถานที่รับสมัคร ให้ไปสมัครที่อำเภอ
 

         6. คืนวันเดียวกัน ( 2 ก.ค.) ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การอบรมชำนาญการพิเศษ วันที่ 16-19 ส.ค.นี้ ตอนยื่นขอตอนตำแหน่งครู แต่ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารสถานศึกษา  ได้โทรปรึกษาทาง กจ. ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถเข้าร่วมได้  ขอสอบถามว่า เข้าอบรมในหลักสูตรผู้บริหารได้หรือไม่ ขัดกับระเบียบกฎหมาย หรือขัดกับหลักสูตรการอบรมอย่างไร  กลัวเสียสิทธิ์ในการจะยื่นทำชำนาญการพิเศษในโอกาสต่อไป

             ผมตอบว่า  คงต้องฟัง กจ.ครับ ตอนยื่น ๆ เป็นครูชำนาญการพิเศษ ถ้าจะเปลี่ยนยื่นใหม่ในตอนนี้ เป็น ผอ.ชำนาญการพิเศษ คงหมดเวลายื่นแล้ว ที่สำคัญตอนนี้คงยังไม่มีสิทธิ์ทำ ผอ.ชำนาญการพิเศษ ถ้ายังไม่มีสิทธิ์ทำ ก็ยังไม่มีสิทธิ์เข้าอบรมพัฒนา  เมื่อถึงวันที่มีสิทธิ์ทำ ผอ.ชำนาญการพิเศษ ต้องสมัครเข้าอบรมพัฒนาเป็น ผอ.ชำนาญการพิเศษใหม่
             ผู้ที่เคยเป็น ขรก.ตำแหน่งครู เมื่อเปลี่ยนเป็น ผอ.หรือรอง ผอ. การนับอายุราชการเพื่อประเมินวิทยฐานะ ไม่สามารถนับรวมเวลากับตำแแหน่งครู ต้องเริ่มนับใหม่ เพราะเป็นคนละประเภทกัน
             คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้มีและเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ก็คือ มีคุณสมบัติในการเสนอขอรับการประเมินให้มีและเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ  และผู้ผ่านการพัฒนาฯถ้ายังไม่เคยส่งแบบคำขอเลื่อนวิทยฐานะ ก็ต้องส่งภายใน 3 ปีหลังผ่านการพัฒนา ถ้าไม่ส่งอาจถูกเรียกชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ส่วนราชการออกให้ในการพัฒนา  ( ต้องมีสิทธิส่งคำขอเลื่อนเป็น ผอ.ชำนาญการพิเศษอยู่ก่อน จึงจะมีสิทธิ์เข้าอบรมพัฒนาเป็น ผอ.ชำนาญการพิแศษ )

             เมื่อคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ที่จะส่งคำขอเลื่อนเป็น ผอ.ชำนาญการพิเศษ ถ้าปีนั้นไม่มีการเปิดอบรมพัฒนา ก็ส่งคำขอและทำชำนาญการพิเศษให้ผ่านไปก่อนได้ จะเข้ารับการพัฒนาฯ ก่อนหรือหลังผ่านการประเมิน ก็ได้ เพียงแต่ ถ้าผ่านการประเมินชำนาญการพิเศษแล้ว แต่ยังไม่ผ่านการพัฒนา หรือเงินเดือนยังห่างขั้นต่ำของอันดับ คศ.3 เกิน 1 ขั้น ก็จะยังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ  ( ใช้คำว่า พัฒนาก่อนแต่งตั้ง ไม่ใช่ พัฒนาเพื่อทำชำนาญการพิเศษ )
 

         7. คืนวันเดียวกัน ( 2 ก.ค.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  เบิกจ่ายเงินอุดหนุนเป็นค่าอะไรได้บ้าง เบิกเป็นเงินรางวัลประกวดโครงงานนักศึกษาได้ไหม

             ผมตอบว่า  การเบิกจ่ายเงินอุดหนุน เบิกได้เฉพาะที่กำหนดไว้ตามข้อ 1-13 ในคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ 895/2551 เรื่องหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  ( ดูคำสั่งนี้ได้ในข้อ 6 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/476995 )  เบิกจ่ายเป็นเงินรางวัลไม่ได้  ซึ่งที่ในข้อ 14 ของคำสั่งนี้ กำหนดว่า "ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ" นั้น ส่วนกลางอธิบายว่า ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ต้องขออนุมัติปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นรายกรณี ( ดูคำอธิบายของส่วนกลางนี้ ในหน้า 54 ของคู่มือการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ที่  https://db.tt/ByfsCRQc )