วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

1.จ้างพนักงานราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ ทำไมต้องกำหนดเอกบรรณารักษ์, 2.ทำวิทยฐานะแนวใหม่ (PA) ให้พัฒนางานไม่น้อยกว่า 2 ปี, 3.การสรุปผลการปฏิบัติงานประจำปี, 4.ชื่อสาขาวิชาเอกที่เรียนจบมา ไม่ตรงกับชื่อกลุ่มวิชาเอกหรือสาขาวิชาเอกที่เปิดรับสมัครสอบบรรจุ, 5.ข้าราชการชายไว้ผมยาว หรือทำสีผม ผิดระเบียบไหม ?, 6.ผอ.ย้ายสับเปลี่ยนแต่ชื่อตามเอกสาร ตัวยังทำงานที่เดิม?, 7.ผอ. อาจจะไม่เข้าใจ หรือ ผอ.ไม่มีนโยบาย/ไม่อนุญาตให้ทำอย่างนี้



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เช้าวันอาสาฬหบูชา ( 30 ก.ค.58 ) ไข่นุ้ย ปุญญวัฒน์ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  พนักงานราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ คุณสมบัติคือต้องได้รับปริญญาทางบรรณารักษ์ศาสตร์ และ/หรือ สารนิเทศศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์แล้วบรรณารักษ์อัตราจ้างในสังกัด กศน. ที่ปฎิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่มีวุฒิทางบรรณารักษ์ฯ จะมีชะตากรรมอย่างไร ทางท่านผู้ใหญ่จะมีแนวทางช่วยเหลือหรือเปล่า

             เรื่องนี้  กจ.กศน.ตอบว่า  ในการรายงานขอกำหนดตำแหน่งพนักงานราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ ไปยัง ก.พ. นั้น กศน.กำหนดคุณสมบัติโดยอิงระเบียบหลักเกณฑ์ของ ก.พ.
             ซึ่งพนักงานราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ จะมีสิทธิในอนาคต เช่น มีสิทธิสมัครสอบเป็นข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ ซึ่งต้องเตรียมบุคลากรที่ได้รับปริญญาทางบรรณารักษ์ศาสตร์ และ/หรือ สารนิเทศศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ จึงจะมีสิทธิสอบเป็นข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์

              ( พนักงานราชการตำแหน่งครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบล ก็กำหนดคุณสมบัติว่าต้องได้รับปริญญาวิชาครู หรือจบ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู )

         2. เช้าวันที่ 14 ส.ค.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องหลักเกณฑ์การทำวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญแนวใหม่ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน ( PA ) 7  ว่า
             คำว่า ข้อตกลงในการพัฒนางาน หมายถึง ข้อเสนอในการพัฒนางานตามหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่ผู้ขอรับการประเมินได้จัดทำไว้กับคณะกรรมการชุดที่ 1 และได้รับความเห็นชอบจาก อ.ก.ค.ศ. หรือ ก.ค.ศ. แล้วแต่กรณี ให้เป็นข้อตกลงเพื่อแสดงว่าภายในระยะเวลาที่กำหนดจะพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้ดีขึ้น ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ และสามารถยกระดับคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพการศึกษาได้ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
             ซึ่งมีระยะเวลาในการพัฒนา ไม่น้อยกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี

             โดยมีคณะกรรมการประเมิน 2 ชุด ได้แก่
             คณะกรรมการชุดที่ 1  ทำหน้าที่พิจารณาข้อเสนอในการพัฒนางานตามหน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อให้เป็นข้อตกลงในการพัฒนางาน  รวมทั้งทำหน้าที่ประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลงครั้งที่ 1 เมื่อได้พัฒนางานไปแล้ว 2 ภาคเรียน และครั้งที่ 2 ประเมินสรุปผลเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดตามข้อตกลง
             ส่วนคณะกรรมการชุดที่ 2  ทำหน้าที่ประเมินตามข้อตกลงเพื่อพัฒนางาน อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง และ เป็นพี่เลี้ยงตลอดระยะเวลาของการพัฒนางานตามข้อตกลงด้วย

             ทั้งประเทศมีผู้ได้ คศ.4 แล้ว 1,000 กว่าคนเท่านั้น ขณะที่ คศ.3 มีราว 2 แสนคน
             ที่มา :  นสพ.บางกอกทูเดย์ ฉบับวันที่ 14-20 ส.ค.58


         3. เย็นวันเดียวกัน ( 14 ส.ค.) กศนตำบล ป่าซาง อำเภอแม่จัน ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  การสรุปผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ.. กศน.เรามีรูปแบบที่เป็นมาตราฐานใช้เหมือนกันทั้งหมดที่ถูกต้องไหม ถ้าไม่มีแสดงว่าทำรูปแบบไหนก็ไม่มีผิดใช่ไหม

             ผมตอบว่า  ไม่เห็นมีรูปแบบกำหนด.. ขอให้ทำให้เป็นตามชื่อ "สรุปผลการปฏิบัติงานประจำปี" ถ้าเพิ่งจะทำครั้งแรก ควรหาของคนอื่นมาดูเป็นตัวอย่าง
             ผมไม่ทราบว่ากำลังพูดถึง สรุปผลการปฏิบัติงานประจำปีของ กศน.อำเภอ หรือของบุคลากร เช่น ครู กศน.ตำบล หรือของอะไร
             ถ้าเป็นการ สรุปผลการปฏิบัติงานประจำปีของบุคลากร เช่น ครู กศน.ตำบล  ต้องสรุปให้มีข้อมูลครอบคลุม
             1)  บทบาทหน้าที่/พันธกิจ ของ กศน.ตำบล
             2)  บทบาทหน้าที่/งานที่รับผิดชอบ/มอบหมาย ของ ครู กศน.ตำบลคนนั้น
             3)
 ที่สำคัญ ควรสอดคล้องและเรียงลำดับตาม แบบประเมินฯ/เกณฑ์การประเมิน ครู กศน.ตำบล ( เอาแบบประเมินฯมาดู )

         4. วันที่ 17 ส.ค.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค ว่า

             ในกรณีที่ ชื่อสาขาวิชาเอกที่เรียนจบมา ไม่ตรงกับชื่อกลุ่มวิชาเอกหรือสาขาวิชาเอกที่เปิดรับสมัครสอบบรรจุ แต่เป็นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง.. ให้ตรวจสอบว่าจะสมัครสอบบรรจุในกลุ่มวิชาเอกหรือสาขาวิชาเอกใดได้ โดย

             1)  ดูในประกาศรับสมัครของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะกำหนดไว้ว่า สาขาวิชาเอกใด อยู่ในกลุ่มวิชาเอกหรือสาขาวิชาเอกใดที่เปิดรับสมัคร เช่น
                 สาขาวิชาเอก พุทธศาสตร์ สมัครได้ในกลุ่มวิชาเอกหรือสาขาวิชาเอก สังคมศึกษา เป็นต้น
                  ( ดูตัวอย่างสาขาวิชาเอกอื่น ๆ ได้ที่ https://db.tt/Drotxtnn )

             2)  ถ้า ชื่อสาขาวิชาเอกที่เรียนจบมา คล้าย แต่ไม่ตรงกับที่เขตพื้นที่ฯกำหนดไว้  แต่เป็น คุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองให้ใช้วิธี นับจำนวนหน่วยกิต จากหมวดวิชาเฉพาะ หรือจำนวนหน่วยกิตรายวิชาที่ศึกษาตาม Transcript เช่น
                 จบ ป.ตรี หลักสูตร 4 ปี ถ้าศึกษาเนื้อหาวิชาในกลุ่มวิชาเอกหรือสาขาวิชาเอกนั้น 30 หน่วยกิตขึ้นไป ก็สมัครสอบในกลุ่มวิชาเอกหรือสาขาวิชาเอกนั้น
                 ดูแนวปฏิบัติการนับหน่วยกิตนี้ได้ ในหนังสือ ที่ ศธ 0206.6/7 ลงวันที่ 18 เม.ย.56  หนังสือฉบับนี้รวมอยู่ท้ายไฟล์ตัวอย่างสาขาวิชาเอก ในข้อ 1)


         5. วันที่ 20 ส.ค.58 ครูเด่น สบเมย ถามในอินบ๊อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า ข้าราชการชายไว้ผมยาว หรือย้อมสีผมอื่นที่ไม่ใช่สีดำ ผิดระเบียบหรือไม่

             ผมตอบว่า   ข้าราชการชายไว้ผมยาวปิดตีนผม ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการไว้ผมและการแต่งกายของข้าราชการ ลูกจ้าง และผู้ที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2516
             ส่วนเรื่องการทำสีผมเป็นสีอื่น ที่ไม่ใช่การย้อมผมให้ผมดำ เพิ่งมีในยุคปัจจุบัน จึงไม่มีกำหนดในระเบียบ   ในทางปฏิบัติอนุโลมให้สตรีทำสีผมที่สีไม่ฉูดฉาดได้ แต่บุรุษทำสีผมถือว่าไม่สุภาพเรียบร้อย ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี
 




         6. วันที่ 24 ส.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การที่ ผอ บางพื้นที่ย้ายสับเปลี่ยนตามกำหนดการทำงาน แต่ย้ายแต่ชื่อ ย้ายตามเอกสาร แต่ตัวจริงไม่ย้ายตาม ยังทำงานที่หน่วยงานเดิม เข้าข่ายผิดกฎหมายไหม

             ผมตอบว่า   มีด้วยหรือ  เขาอาจจะเดินทางช้าหน่อยมั้ง  ถ้ามีเหตุผลที่ต้องอยู่เคลียร์เรื่องสำคัญจำเป็นที่ทำให้เดินทางช้าโดยรายงานชี้แจงต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับก็ไม่เป็นไร  แต่ถ้าช้ามากเกินความจำเป็นโดยไม่รายงานชี้แจงขออนุญาต ก็มีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย
             ( แล้วใครจะลงนามในหนังสือราชการของอำเภอ/เขตใด ใช้ชื่อใด ? )


         7. ดึกวันที่ 26 ส.ค.58 Chavisara Tiandee ถามในแฟนเพจเฟซบุ๊คผม ว่า  ลูกเรียนครบทุกวิชาในเทอมนี้ (ม.ปลาย 28 วิชา) แต่ไม่มี ชม. กพช. เทอมนี้เขาไม่มีกิจกรรมอะไรให้ทำแล้ว ถาม ผอ.ว่าทำ กพช ช่วงปิดเทอมได้ไหม เขาบอกไม่มี กพช.ตอนปิดเทอม  ถ้าทำเทอมหน้า 200 ชม.เลยเพื่อจบ จะทำได้ไหม เพราะ ผอ.บอกว่าทำเทอมเดียว 200 ชม.ไม่ได้ ช่วยตอบด้วยนะ กลุ้มใจมากเลย

             ผมตอบว่า   จริง ๆ แล้ว ทำได้
             - ทำ กพช.ช่วงปิดเทอมก็ได้
             - ทำ กพช.เทอมเดียว 200 ชม. ก็ได้
             เราไม่จำเป็นต้องทำ กพช.ตามที่สถานศึกษาเป็นผู้กำหนด/เป็นผู้คิดให้ทำเป็นกลุ่ม  ( ที่ถูกต้องตามหลักการคือ นักศึกษาเป็นผู้เสนอโครงการ กพช.โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา  การกำหนดโครงการ กพช.โดยสถานศึกษานั้นผิดหลักการ )  เราสามารถคิดเสนอทำโครงการ กพช.คนเดียวก็ได้ เช่นโครงการจิตอาสาช่วยพัฒนาห้องสมุด ( มาเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ทุกวัน ได้ กพช.วันละ 7 ชม.) เป็นต้น
             ผอ. อาจจะไม่เข้าใจ หรือ ผอ.ไม่มีนโยบาย/ไม่อนุญาตให้ทำอย่างนี้

             ถ้าทำ กพช.เสร็จครบในช่วงปิดเทอม อนุมัติผลก่อนเปิดเทอม ก็ถือว่าจบในภาคเรียนที่ผ่านมา เพียงแต่จบไม่พร้อมรุ่น
             ดูข้อมูลในคำตอบเก่าเรื่องนี้ ในข้อ 2 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/05/26.html


วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558

1.การทำวิทยฐานะแบบเก่า/แบบใหม่, 2.การขอย้ายของข้าราชการ, 3.ใบวุฒิเดิมไม่มีรูป ไม่มี ผอ.ลงนาม, 4.ทำอย่างไรเจ้าพนักงานห้องสมุดจะเลื่อนเป็นระดับอาวุโส, 5.คน กศน. “เคยตัว” กับการ “ยีดหยุ่น” หรือเปล่า ... “ใบลา” ใช้ได้แค่ไหน..,6 .พนักงานราชการตะคอกผู้รับบริการ, 7.จะเรียน ป.บัณฑิต หรืออบรมดี



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 26 ก.ค.58 เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า  ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงหลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือเกณฑ์ PA ซึ่งเป็นเกณฑ์ใหม่ที่ ก.ค.ศ.ประกาศใช้ ว่า จะส่งผลต่อผู้ที่ยื่นขอตามหลักเกณฑ์เก่าหรือไม่ สำนักงาน ก.ค.ศ.ขอชี้แจงว่า

             1)  แม้จะมีการประกาศใช้เกณฑ์ใหม่ แต่ก็ไม่ได้ยกเลิกเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ผู้ที่ยื่นขอประเมินตามหลักเกณฑ์เดิม ทั้ง ว17/2552, ว10/2554 หรือ ว13/2556 ก็จะได้รับการประเมินจนแล้วเสร็จ

             2)  ปัจจุบัน ผู้ที่ยังไม่ได้ยื่นขอรับการประเมินฯ ก.ค.ศ.ยังเปิดให้ยื่นตามหลักเกณฑ์ที่ถนัดได้ทั้ง 4 แบบ ไม่ได้บังคับให้ต้องยื่นตามเกณฑ์ใหม่เท่านั้น
                  - 17 ( 30 ก.ย.52 ) เป็นแบบทำผลงานทางวิชาการ  ยังไม่มีแนวคิดจะยกเลิกแบบนี้
                  - ว 10 (29 ก.ค.54 ) เป็นแบบประเมินผลงานเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ( ประเมินผลงานที่ประสบผลสำเร็จ ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ) ไม่ยกเลิก

                  - 13 ( 1 ส.ค.56 )  เป็นแบบประเมินผลงานเชิงประจักษ์ สำหรับผู่ที่ได้รางวัลระดับชาติ  คาดว่าจะให้ยื่นในเดือน ธ.ค.58 อีกครั้ง เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว
                  - 7 ( 11 พ.ค.58 )  เป็นแบบใหม่ ประเมินตามข้อตกลงในการพัฒนางาน ( P.A. : Performance Agreement ) ใช้เฉพาะการยื่นทำชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ โดยให้แต่ละส่วนราชการต้นสังกัดทำการทดสอบความรู้ความสามารถเชิงทฤษฎีและประเมินประสบการณ์วิชาชีพก่อน  ใครผ่าน ( จะทำชำนาญการพิเศษต้องสอบได้คะแนน 70 % ขึ้นไป จะทำเชี่ยวชาญต้องสอบได้คะแนน 75 % ขึ้นไป ) จึงจะยื่นแผน ( ข้อตกลงการพัฒนางาน ) ขอรับการประเมินรูปแบบนี้ได้ และการประเมินฯ จะประเมินในอนาคตว่าทำได้ตามแผนหรือข้อตกลงการพัฒนางานหรือไม่อย่างไร

             3)  ผู้ที่ยื่นไปแล้วตามแบบเก่า ว17/52, ว10/54 หรือ ว13/56 ถ้าต้องการจะเปลี่ยนเป็นยื่นขอตามเกณฑ์ใหม่ ว7/58 ก็สามารถทำได้ โดยขอยกเลิกคำขอเก่าเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน

             หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการประเมินวิทยฐานะ สามารถสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2280-2835 ในวันและเวลาราชการ

         2. สำนักงาน กศน. แจ้งหลักเกณฑ์และวิธีการขอย้ายของ ขรก.กศน. ( ข้าราชการครู ศึกษานิเทศก์ ผอ.-รอง ผอ.สถานศึกษา และข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการศึกษา-นักจัดการงานทั่วไป-บรรณารักษ์ )

             ดูได้ที่  https://db.tt/LbkfNeHq

         3. วันที่ 29 ก.ค.58 นายบุญทิน มั่นหมาย ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  นักศึกษามาขอวุฒิการศึกษา แต่วุฒิการศึกษาเดิมของเขาจบปี 2525 ไม่มีรูปถ่ายติด ไม่มี ผอ.ลงนาม เขาจะจบได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ถ้าเป็นหลักฐานชนิดที่ต้องติดรูปถ่าย และ ผอ.ลงนาม แล้วหลักฐานนั้นไม่ติดรูปถ่าย และ/หรือ ไม่มี ผอ.ลงนาม ก็ถือว่าเป็นหลักฐานปลอม หลักฐานไม่ถูกต้อง หรือหลักฐานชำรุด ใช้ไม่ได้ ต้องให้เขาแก้ไขหลักฐานเดิมก่อน  ( ไปขอใบใหม่ที่โรงเรียนเดิม ถ้าโรงเรียนเดิมยุบเลิกไปแล้วก็ไปขอใบใหม่ที่ต้นสังกัดของโรงเรียนเดิม )

             ที่ถูกต้อง เราต้องตรวจหลักฐานตั้งแต่ตอนมาสมัครเรียน ถ้าให้เขาเสียเวลาเรียนจนจบแล้วจึงบอกว่าหลักฐานไม่ถูกต้อง ถือเป็นความบกพร่องของเรา ที่เขาอาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย/เสียเวลา ได้

         4. คืนวันที่ 29 ก.ค.58 ไวท์ อุตรดิตถ์ ถามผมต่อท้ายโพสต์ในเฟซบุ๊ค ว่า  เรื่องความก้าวหน้าของเจ้าพนักงานห้องสมุด ตอนนี้ได้พยายามผลักดันให้สู่ตำแหน่งอาวุโส เพื่อ่ช่วยเหลือพี่น้องที่เหลืออยู่อีก 36 คน ที่ในอดีตหลายคนได้เข้ามาเริ่มต้นชีวิตไปกับ กศน. เช่น หลายคนเริ่มในตำแหน่งเจ้าหน้าที่โสตฯ ที่ออกไปฉายหนังในถิ่นห่างไกลในอดีต เหน็ดเหนื่อย ต่อสู้ร่วมกับพวกเรา กศน. ตอนนี้หลายคนไม่ก้าวหน้า เราควรช่วยเหลือกลุ่มนี้อย่างไรดี

             ผมตอบว่า   คุณไวท์ เป็น อ.ก.ค.ศ.สป. น่าจะทราบเรื่องนี้ดีกว่า
             ลักษณะเดียวกับการจะทำให้ตำแหน่งบรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษเป็นเชี่ยวชาญ ซึ่ง ก.ค.ศ.เขาไม่กำหนด "มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง" เจ้าพนักงานห้องสมุดให้ถึงระดับอาวุโส และไม่กำหนด มาตรฐานกำหนดตำแหน่งบรรณารักษ์ให้ถึงระดับเชี่ยวชาญ  ( ก.พ. ก็เช่นเดียวกัน )
             ต้องหาทางเสนอให้ ก.ค.ศ.พิจารณากำหนด มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง บรรณารักษ์ให้ถึงระดับเชี่ยวชาญ และกำหนด มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง เจ้าพนักงานห้องสมุดให้ถึงระดับอาวุโสก่อน จึงจะดำเนินการขั้นต่อไปได้
             ผมเคยตอบเรื่องนี้ ใน
             - ข้อ 3 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/471886
             - ข้อ 4 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/514112

         5. วันที่ 5 ส.ค.58 ผมเผยแพร่ความคิด ในเฟซบุ๊ค ดังนี้

             สมัครสอบบรรจุครูครั้งนี้ ยังต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพไหมคะ ยังขาด 3 มาตรฐาน ถ้าใช้คงสมัครไม่ได้
                จริงๆแล้วอบรมทุกมาตรฐานแล้วนะ แต่พอดีช่วงอบรม ผอ.ส่งไปอบรมที่อื่นด้วย พอกลับมา อาจารย์ที่อบรมมาตรฐานวิชาชีพครูบอกว่า ส่งชื่อผู้ผ่านการอบรมไปคุรุสภาแล้ว แต่ไม่ส่งชื่อเราไปด้วย ทั้งที่เราบอกกับอาจารย์แล้วนะว่าวันท้ายๆเราจำเป็นต้องไปอบรมที่อื่น ก็เลยถามอาจารย์ว่าจะให้ทำอย่างไร
                อาจารย์บอกว่า ต้องสมัคร+ลงทะเบียน เข้าอบรมใหม่รอบต่อไป
                จึงทำให้ขาดโอกาสนี้ค่ะ จึงอยากถามว่า มีทางแก้ไขบ้างไหม

             เรื่องการอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูนี้ คุรุสภากำหนดเกณฑ์การผ่านหลักสูตร เกณฑ์หนึ่งว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีระยะเวลาเข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของระยะเวลาการฝึกอบรมในหลักสูตร

             กรณีนี้ ถ้าเป็นการอบรมของ กศน. เรามักจะยืดหยุ่น ให้ผ่านการอบรมได้
             แต่บางหน่วยงาน แม้จะส่งใบลาเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ไม่ได้
             ใบลา ใช้ได้ในส่วน 20 % ที่ให้ขาด-ลา ตามความจำเป็นได้
             แต่
ใบลาใช้แทน เวลาการเข้าเรียน เข้าอบรม ในส่วน 80 % ไม่ได้
             ยืดหยุ่นให้แล้ว 20 % ถ้าเกิดเหตุจำเป็นเกิน 20 % นี้ ก็ถือว่าเป็น
กรรมที่มีวิธีแก้คือ สมัคร+ลงทะเบียน เข้าอบรมใหม่

             คน กศน. เรา เคยนชินต่อการ ยืดหยุ่น จนอาจเกิดปัญหาในการ ออกไปสู่สังคมนอก กศน. หรือเปล่า ?

         6. วันที่ 5 ส.ค.58 Aor Chureerat ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  สมมติว่า เราเป็นครู ( พนักงานราชการ ) ไปพูดจากับผู้รับบริการ ประมาณว่าตะคอก เสียงดัง โวยวาย บางครั้งเหมือนเป็นการไม่ให้เกียรติผู้รับบริการ  จะสามารถเอาผิดเราได้ไม๊ แล้วเราต้องโดนรับโทษขั้นไหน

             ผมตอบว่า   ในส่วนของ วินัยพนักงานราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ. 2547 ข้อ 22-27 ( ดูได้ที่  https://db.tt/PyfJKtO2 ) ระบุดังนี้
             - ข้อ 24  ระบุว่า การกระทำใดบ้างถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
             - ข้อ 25  ระบุว่า ถ้ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ลงโทษไล่ออก
             - ข้อ 26  ระบุว่า ถ้ากระทำความผิดวินัย ไม่ ร้ายแรง ให้ลงโทษ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินค่าตอบแทน หรือลดขั้นเงินค่าตอบแทน ตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด
             - ข้อ 23  วรรคหนึ่ง และ ข้อ 24 (9)  ระบุให้ แต่ละส่วนราชการกำหนดข้อห้าม/ข้อปฏิบัติ และการกระทำอื่นที่จะถือว่าเป็นความผิดวินัย เพิ่มเติม



             - ส่วนราชการ สป.ศธ. ( กศน.) กำหนด ข้อห้าม/ข้อปฏิบัติ และการกระทำอื่นที่จะถือว่าเป็นความวินัย เพิ่มเติม ไว้ที่  http://www.moe.go.th/webld/pdf/E_01.pdf  ซึ่ง
             - สป.ศธ. ( กศน.) ระบุ ข้อห้าม/ข้อปฏิบัติ ที่ถือว่าเป็นความผิดวินัย ไม่ ร้ายแรง ไว้ในข้อ 4  โดยในข้อ 4 (13) ว่า ต้องต้อนรับ ให้ความสะดวก ให้ความเป็นธรรม และให้การสงเคราะห์ แก่ประชาชนผู้ติดต่อราชการเกี่ยวกับหน้าที่ของตนโดยไม่ชักช้า และด้วยความสุภาพเรียบร้อย ห้ามมิให้ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือข่มเหงประชาชนผู้มาติดต่อราชการ
             - สป.ศธ. ( กศน.) ระบุ การกระทำอื่นที่จะถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เพิ่มเติม ไว้ในข้อ 5  โดยในข้อ 5 (3) ว่า การดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ หรือข่มเหงประชาชนผู้มาติดต่อราชการอย่างร้ายแรง

             - ลักษณะตามที่ถามนี้ ( ตะคอก เสียงดัง โวยวาย ไม่ให้เกียรติผู้รับบริการ ) ถือว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้มาติดต่อราชการ ซึ่งเป็นความผิดวินัย
             - ถ้าดูหมิ่นเหยียดหยาม อย่างรุนแรง/ร้ายแรง ก็จะเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อ 5 (3) โทษคือ ไล่ออก
             - ถ้าดูหมิ่นเหยียดหยามไม่รุนแรง/ไม่ร้ายแรง ก็จะเป็นความผิดวินัย ไม่ ร้ายแรง ตามข้อ 4 (13) โทษลักษณะนี้ อาจจะเป็น ตัดเงินค่าตอบแทน 5 % เป็นเวลา 2 เดือน

         7. คืนวันที่ 5 ส.ค.58 Kim Mi Hatai ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  สอบได้เรียน ป.บัณทิต และกำลังจะเปิดเรียน แต่เคยเทียบมาตรฐานผ่าน 1 ตัว และเค้าจะเปิดอบรมมาตรฐานอีกเร็วๆนี้  ควรไปเรียน หรือ จะรออบรมมาตรฐานดี

             ผมตอบว่า   ส่วนตัวผมคิดว่า น่าจะเรียน ป.บัณฑิต
             - วุฒิ ป.บัณฑิต เป็นวุฒิการศึกษา ที่สูงกว่า ป.ตรี แต่ต่ำกว่า ป.โท นำไปใช้อย่างอื่นได้ด้วย เช่น ถ้าสอบเป็นข้าราชการตำแหน่งครูผู้ช่วย ก็อาจได้เงินเดือนสูงกว่า ป.ตรี 4 ปี  และถ้ายังไม่ได้เป็นพนักงานราชการ ก็สมัครสอบเป็นพนักงานราชการ ครู กศน.ได้  แต่การอบรมไม่ได้วุฒิการศึกษา ได้เพียงวุฒิบัตรเพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น
             - การอบรมอีกตั้ง 8 มาตรฐาน ไม่ใช่ง่าย ปีนี้ก็อาจผ่านไม่ครบ 8 มาตรฐาน ( เขาแยกการอบรมแต่ละมาตรฐาน ๆ ละ 10 วัน  บางมาตรฐานก็อบรมในเวลาเหลื่อมซ้อนกัน ต้องเลือกจะอบรมมาตรฐานไหน  มาตรฐานที่ยังไม่ผ่านในปีนี้ก็ต้องรอเข้าอบรมในปีต่อๆไป )