วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

1.กศ.ต่อเนื่อง เบิกค่าป้ายได้ไหม, 2.ผอ.จังหวัด ไม่สั่งลงโทษพนักงานราชการ ผิดไหม, 3.ขอย้าย 1-15 ส.ค., 4.แบบนี้ เป็นการต่อยอดอาชีพเดิมไหม, 5.การขอย้ายของบุคลากรทางการศึกษาอื่น, 6.กศน.ตำบล ออกหนังสือตราครุฑ, 7.วิชาเลือกเสรีโอนย้ายได้ไหม




สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้
 

         1. วันที่ 8 ก.ค.59 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  การเบิกเงินค่าป้ายการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ยังคงทำได้หรือไม่ เพราะในหลักเกณฑ์ไม่มีในเรื่องของการจ้างประชาสัมพันธ์ แต่ทางอำเภอยังคงส่งเบิก

             ผมตอบว่า   ถ้าจัดในรูปแบบกลุ่มสนใจหรือชั้นเรียนวิชาชีพ จะเบิกค่าป้ายไม่ได้ เพราะเบิกได้แต่ค่าตอบแทนวิทยากรกับค่า "วัสดุฝึก" ซึ่งชัดเจนว่า ป้ายไม่ใช่วัสดุฝึก
             แต่ถ้าจัดในรูปแบบการฝึกอบรม สามารถเบิกจ่ายค่าวัสดุในการจัดฝึกอบรมเท่าที่จำเป็นเหมาะสมและประหยัด ซึ่งอาจตีความว่า การจ้างทำป้าย เป็นการจ้างทำวัสดุในการจัดฝึกอบรมที่จำเป็นเหมาะสมและประหยัด

         2. คืนวันเสาร์ที่ 16 ก.ค.59 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊กผม ว่า  พนักงานราชการทำผิดวินัยร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาตั้งกรรมการสอบสวน พบมีมูล กรรมการสรุปว่าผิดวินัยร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาต้องสรุปและออกคำสั่งลงโทษตามประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการเรื่องแนวทางการดำเนินการทางวินัยพนักงานราชการ พ.ศ. 2559 ใช่หรือไม่ หากไม่สั่งลงโทษ ผิดหรือไม่ ไม่จัดการให้จบด้วยตนเอง ส่งต่อไป ผิดหรือไม่  ในประกาศนี้ ห้วหน้าส่วนราชการหมายถึงเลขา กศน.หรือ ผอ.จังหวัด หรือมีการมอบอำนาจจากเลขา หรือไม่ หรือมอบเฉพาะวินัยไม่ร้ายแรง

             ผมตอบว่า
             - หัวหน้าส่วนราชการ กศน. ปัจจุบันหมายถึง ปลัดกระทรวง ศธ. ซึ่งมอบอำนาจให้ ผอ.กศน.จังหวัด/กทม. ทั้งการสั่งลงโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และร้ายแรง แก่พนักงานราชการ ตามคำสั่ง สป.ที่ 270/51 ข้อ 2, 3
             - ถ้าผู้มีอำนาจไม่ดำเนินการในเวลาที่สมควร ก็ถือว่าผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่การที่ ผอ.กศน.จังหวัด/กทม. ส่งเรื่องต่อให้ส่วนกลาง โดยมีเหตุผลที่สมควร ในเวลาที่สมควร ก็ไม่ใช่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ( อาจมีเหตุผลบางประการที่ ผอ.กศน.จังหวัด/กทม. ยังไม่สั่งลงโทษ มั้ง   ผมไม่ทราบว่า ที่ว่า “ส่งต่อไป” นั้นคือส่งอะไร  ตามหลักเกณฑ์ สนง.กศน.จังหวัดก็ต้อง “รายงานผลการลงโทษ” ให้ส่วนกลางทราบ )

                 เมื่อระยะเวลาผ่านไปตามสมควร ประมาณ 1 เดือน ถ้าผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมยังไม่ได้รับความเป็นธรรมและยังไม่ทราบความเคลื่อนไหวของการดำเนินการ ก็สามารถแจ้งต่อไปยังผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป

         3. ค่ำวันที่ 21 ก.ค.59 มี ขรก.ครู กศน.ใน จ.อยุธยา ถามผมด้วยวาจา ว่า  บรรจุเป็นครูผู้ช่วยครบ 2 ปีเมื่อ 1 ก.ค.59 แต่ยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นครู คศ.1 จะยื่นขอย้ายในช่วง 1-15 ส.ค.59 ได้ไหม จะดูอัตราว่างได้ที่ไหน

             เรื่องนี้  ผมเรียนถามท่าน ผอ.กจ.กศน. ท่านบอกว่า
             1)  ถ้าบรรจุเป็นครูผู่ช่วยครบ 2 ปีแล้ว ให้อำเภอ/จังหวัดรีบประเมินฯและรายงานเข้าไปส่วนกลาง  แต่ถึงแม้จะยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นครู คศ.1 ก็ยื่นคำร้องขอย้ายในช่วง 1-15 ส.ค. ได้ เพราะกว่าคำสั่งย้ายจะออกก็อีก 2-3 เดือน ( จะพิจารณาย้ายหลังได้รับผลการประเมินฯ คำสั่งย้ายจะไม่ออกก่อนคำสั่งให้เป็นครู คศ.1 )  โดยให้ใส่ตำแหน่งในคำร้องขอย้ายว่า ครูผู่ช่วย  และหมายเหตุว่า อยู่ระหว่างรอคำสั่งให้พ้นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข็ม
             2)  ส่วนกลางจะแจ้งบัญชีอัตราว่างเร็ว ๆ นี้

         4. ในวันเดียวกัน ( 21 ก.ค.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน หลักสูตรพัฒนาอาชีพ (ต่อยอดอาชีพเดิม) ในกรณีที่กลุ่มในศูนย์ฝึกทำเห็ดนางฟ้า มีความรู้เรื่องการเพาะเห็ดนางฟ้า แต่ต้องการที่จะพัฒนาอาชีพคือทำเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะการทำคล้ายกับ เห็ดนางฟ้า ถือว่าเป็นการต่อยอดมั้ย  หรือการต่อยอดคือการแปรรูปเห็ดเท่านั้น คำจำกัดความมันค่อนข้างที่จะสับสนตรงที่การต่อยอดคือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่อาจจะมาจากผลิตภัณฑ์เดิม ถ้าจะแปลความหมายว่าผลิตภัณฑ์เดิมคือเห็ดแต่ทำให้เป็นเห็ดอีกชนิด แบบนี้จะได้มั้ย

             ผมตอบว่า   การพัฒนาอาชีพ/ต่อยอดอาชีพเดิม หมายถึง การขยายกิจการ/การแปรรูปเพิ่มมูลค่า/การใช้ผลผลิตเดิมเป็นส่วนประกอบของผลผลิตใหม่/การผลิตวัตถุดิบเอง
             ในที่นี้จะหมายถึงการแปรรูปเห็ด
             แต่ถ้าบอกว่าอาชีพเดิมคือการเพาะเห็ดจำหน่าย ก็อนุโลมได้ว่าการเพิ่มชนิดของเห็ด เป็นการขยายกิจการ ถือเป็นการต่อยอดอาชีพเดิมได้ แล้วแต่ผู้บริหารจะพิจารณาอนุญาต

         5. คืนวันเสาร์ที่ 23 ก.ค.59 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า
             1)  ข้าราชการตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ และนักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ ของสำนักงาน กศน. ที่เพิ่งบรรจุเข้ารับราชการ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 มีสิทธิ์โอนย้ายไปส่วนราชการอื่นที่ไม่ใช่สังกัดสำนักงาน กศน. ได้หรือไม่ และต้องมีอายุราชการเท่าใดถึงจะเขียนคำขอโอนย้ายได้
             2)  การเขียนคำขอย้ายหน่วยงานภายในสังกัดสำนักงาน กศน.นั้น ข้าราชการบรรจุใหม่ตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ และนักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ ต้องมีอายุราชการเท่าไรถึงจะเขียนคำร้องขอย้ายได้ และถ้าบรรจุเข้ารับราชการ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 มีสิทธิ์เขียนย้ายในเดือนสิงหาคม 59 ได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ถ้าหมายถึง บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) จะใช้ระเบียบหลักเกณฑ์เดียวกับ ขรก.ครู คือ
             - จะยื่นขอโอน/ย้ายได้ต้องพ้นทดลองปฏิบัติราชการ/เตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม
                และดำรงตำแหน่งในหน่วยงาน/สถานศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 12 เดือน ( นับถึงวันสิ้นเดือนถัดจากเดือนที่ให้ยื่นคำร้อง )
             - การขอย้ายไปภายใน กศน. กรณีปกติ ให้ยื่นขอย้ายในช่วง 1-15 ก.พ. และ 1-15 ส.ค.ของทุกปี  ( ถ้ายื่นในช่วง 1-15 ก.พ.ให้นับถึงวันที่ 31 มี.ค.ให้ครบ 12 เดือน, ถ้ายื่นในช่วง 1-15 ส.ค.ให้นับถึงวันที่ 30 ก.ย.ให้ครบ 12 เดือน )
             บุคลากรทางการศึกษาอื่น ระดับปฏิบัติการหรือชำนาญการ ต้องขอย้ายไปยังตำแหน่งว่างที่เป็นระดับปฏิบัติการหรือชำนาญการเท่านั้น
             การขอโอนย้ายไปส่วนราชการอื่นยื่นขอโอนย้ายได้ตลอดปี  การขอย้ายไปส่วนราชการอื่นต้องยึดระเบียบหลักเกณฑ์ของส่วนราชการที่จะย้ายไปด้วย

             ดูหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้ที่  https://db.tt/LbkfNeHq

         6. ดึกวันเดียวกัน ( เสาร์ที่ 23 ก.ค.) มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กผม ว่า  ครู กศน.ตำบลสามารถทำหนังสือ บันทึกข้อความ ออกเลขส่งของ กศน.ตำบล ถึงต่างหน่วยงานได้ไหม เช่นถึง อบต.  หรือทำหนังสือส่ง ใช้ตราครุฑ แต่ใช้เลขส่งออกโดย กศน.ตำบล สามารถทำได้ไหม

             ผมตอบว่า   ไม่ได้
             เรากำหนดเลขส่งเองไม่ได้ ส่วนกลางเป็นผู้กำหนดเลขส่งให้หน่วยงานที่มีสิทธิ์ออกหนังสือราชการ
             กศน.ตำบล หรือ ห้องสมุด หรือกลุ่ม/ฝ่ายต่าง ๆ ของ กศน.อำเภอ  เป็นเพียงส่วนย่อยส่วนหนึ่งของ กศน.อำเภอ ไม่มีผู้บริหารที่จะลงนามในหนังสือราชการได้ ไม่ใช่หน่วยงานหน่วยหนึ่ง

         7. วันอาทิตย์ที่ 24 ก.ค.59 เกรียงไกร คนดี ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การเทียบโอนผลการเรียน กศน.หลักสูตร 51 ให้กับ นศ. กรณีย้ายสถานศึกษา วิชาเลือกเสรีเราโอนผลการเรียนจากสถานศึกษาเดิมได้มั้ย

             ผมตอบว่า   การย้ายสถานศึกษา หลักสูตรเดียวกัน ( เช่นหลักสูตร กศน. 51 เหมือนกัน ) จะ "โอน" ได้ทุกวิชาที่มีในหลักสูตรสถานศึกษาของสถานศึกษาที่ย้ายไป
             ถ้าวิชาเลือกใดไม่มีในสถานศึกษาที่ย้ายไป ก็โอนไม่ได้ แต่ถ้าวิชาที่ไม่มีนั้น เนื้อหาไปสอดคล้องกับวิชาเลือกอื่นของสถานศึกษาที่ย้ายไปถึง 60 % วิชานั้นก็ใช้วิธี "เทียบโอน" ได้
             ถ้าไม่มี และไม่สอดคล้องกับวิชาเลือกอื่น แต่อยากโอนให้เขา ก็ต้องเพิ่มวิชาเลือกนั้นในหลักสูตรสถานศึกษาก่อน ซึ่งการเพิ่มวิชาในหลักสูตรสถานศึกษาต้องผ่านคณะกรรมการสถานศึกษา และควรเพิ่มเฉพาะวิชาที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของสถานศึกษา
             อ่านคำตอบเดิม ในข้อ 13 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/509493


วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

1.นศ.กศน.เป็นกลุ่มเป้าหมาย กศ.ต่อเนื่องได้ไหม, 2.เนื้อหาเรื่องใดเป็นทักษะชีวิต, 3.จ้างพิมพ์หนังสือ 2 แสน ไม่ทำสัญญาได้ไหม, 4.การจ้างครูประเภทต่าง ๆ แบบจ้างเหมาบริการ, 5.พนักงานราชการย้าย(ปฏิบัติงานนอกพื้นที่) ข้ามจังหวัด-จังหวัดที่มีครู กศน.ตำบล เกิน/ขาด, 6.ใบวุฒิปลอม ออกโดย กศน.ตำบล, 7.ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ เป็นช่างพื้นฐานหรือไม่



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้
 

         1. เช้าวันที่ 23 มิ.ย.59 Pattanan Dondee ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กผม ว่า  กลุ่มเป้าหมายในการจัดการศึกษาต่อเนื่อง กรณีเป็นนักศึกษาหลักสูตร กศ.ขั้นพื้นฐานสามารถนำมาเป็นกลุ่มเป้าหมายในการจัดกิจกรรมได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   กลุ่มเป้าหมายคือประชาชน  แต่ นศ.กศน.ขั้นพื้นฐาน ก็เป็นประชาชน ย่อมเป็นกลุ่มเป้าหมายได้  แต่ถ้ากลุ่มนั้นมีแต่ นศ.กศ.ขั้นพื้นฐานล้วน ๆ ก็ไม่เหมาะ โดยเฉพาะถ้าจัดในช่วงเวลาพบกลุ่ม กศ.ขั้นพื้นฐาน โดยงด/ไม่เลื่อนการพบกลุ่ม ยิ่งไม่ถูก
 

         2. ครู กศน.ตำบลที่ กศน.อ.ผักไห่ คนหนึ่ง ไม่เข้าใจความแตกต่างของ วิชาชีพ-ทักษะชีวิต-เศรษฐกิจพอเพียง-เทคโนโลโยลีที่เหมาะสม เช่น เสนอขอจัด กศ.ต่อเนื่อง ในเรื่องแนะแนวการศึกษาต่อ  เสนอจัดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในเรื่องเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร  เสนอจัดทักษะชีวิตในเรื่องการปลูกพืชผักสวนครัว

             ผมอธิบายว่า  การแนะแนวการศึกษาต่อเป็น กศ.ขั้นพื้นฐานมากกว่า กศ.ต่อเนื่อง  การปลูกพืชผักสวนครัวเป็นเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่าทักษะชีวิต  ให้หาวิชาใหม่  วิชาที่เขาหามาใหม่ก็ไม่ตรงอีก  บางครั้งผมก็ปล่อยผ่านเรื่องส่งให้จังหวัดพิจารณา เพราะอธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจ   มาแนะนำในเฟซบุ๊คนี้ดีกว่า

             "ทักษะชีวิต" จัดฝึกอบรมได้ใน "เนื้อหาวิชา" 7 เรื่อง ได้แก่
              ( เนื้อหาวิชาเหล่านี้ ให้จัด "กิจกรรม" ให้เกิดทักษะชีวิต 10 ทักษะ คือ การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสร้างสัมพันธภาพ การตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเอง ความเห็นใจผู้อื่น การจัดการกับอารมณ์ การจัดการกับความเครียด )
             1)  สุขภาพกาย-จิต
             2)  ยาเสพติด
             3)  เพศศึกษา
             4)  คุณธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์
             5)  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
             6)  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
             7)  ประชาธิปไตยในวิถีชีวิต

         3. วันที่ 23 มิ.ย.59 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กผม ว่า  จ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนงบ 2 แสนบาท ใช้ใบสั่งจ้างหรือสัญญาจ้าง  เห็น ผอ. บอกว่าใช้ใบสั่งจ้างก็ได้

             ผมตอบว่า   ตามระเบียบพัสดุ ข้อ 133 การซื้อการจ้างโดยวิธีตกลงราคา กับวิธีพิเศษ ใช้ใบสั่งซื้อ/จ้างแทนสัญญาได้ อยู่ในดุลยพินิจ อาจให้ทำสัญญาเพื่อความรัดกุม  ( ช่วง 1 ต.ค.58 - 30 ก.ย.59 วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ใช้วิธีตกลงราคาได้ )  ลักษณะเดียวกับที่ผมเคยตอบใน
             - ข้อ 7 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/09/n.html  และ
             - ข้อ 4 (2) ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/10/sar.html

 

         4. วันเดียวกัน ( 23 มิ.ย. ) ส่วนกลางส่งเรื่องการจ้างครูประเภทต่าง ๆ แบบจ้างเหมาบริการ ให้ทุกจังหวัดทางอีเมล

             ดูได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/teacherJang.pdf  

              ( ครูสอนคนพิการ, ครู ปวช., ครู กพด., ครูชาวเล, ครู ศรช., ครูบ้านยามชายแดน, ครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน, ครูประจำกลุ่มยกเว้นครูประจำกลุ่มที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ )

             ส่งตัวอย่างแบบฟอร์มสัญญาจ้างให้ด้วย
             ถ้าจ้างด้วยเงินอุดหนุน เช่น ครู ศรช. ให้จ้างครั้งละ 6 เดือน ( ครึ่งปีงบประมาณ )  ถ้าจ้างด้วยงบดำเนินงาน เช่น ครู กพด. ครูบ้านยามชายแดน ให้จ้างครั้งละ 1 ปีงบประมาณ
             ถ้าจ้างโดยวิธีตกลงราคา หรือวิธีพิเศษ โดยไม่ทำสัญญา จะขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไม่ได้

             การจ่ายค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
             ค่าเบี้ยเลี้ยงไปราชการวันละ 240 บาท  ค่าที่พักเบิกได้ตามระเบียบ  ค่าพาหนะตามความจำเป็นและประหยัด  ค่าทำงานนอกสัญญา ชั่วโมงละ 50 บาท

         5. จังหวัดที่มีครู กศน.ตำบล เกิน/ขาด, พนักงานราชการย้าย ( ปฏิบัติงานนอกพื้นที่ ) ข้ามจังหวัด  อ่านข้อ 2 ของหนังสือแจ้งที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/PRGchenge.pdf

         6. วันที่ 24 มิ.ย.59 ผอ.กศน.อ.สวรรคโลก โทร.มาถามผม ว่า  มีวิทยาลัยชุมชน ส่งใบวุฒิการศึกษาที่ระบุว่าเรียนจบจาก กศน.ตำบลแห่งหนึ่งในอำเภอสวรรคโลก มาให้ กศน.ตำบลแห่งนั้นตรวจสอบ ซึ่งเป็นใบวุฒิปลอม กรณีนี้ใครจะเป็นผู้แจ้งความ

             ผมตอบว่า   ปกติสถานศึกษาที่ถูกปลอมแปลงเอกสารจะเป็นผู้แจ้งความ แต่ กศน.ตำบลไม่ใช่สถานศึกษา  อย่างไรก็ตาม กศน.ตำบลเป็นส่วนหนึ่งของ กศน.อ.สวรรคโลก ฉะนั้น กศน.อ.สวรรคโลกอาจจะต้องเป็นผู้แจ้งความ แต่ผมไม่แน่ใจจึงแนะนำให้หารือนิติกร กจ.กศน.
             กศน.อ.สวรรคโลกได้หารือ กจ.กศน. และผมเองก็หารือเรื่องนี้กับท่านวรวิทย์ หัวหน้ากลุ่มงานวินัยและนิติกร กจ.กศน.ด้วย  จากการหารือกันสรุปว่า กศน.ตำบลเป็นส่วนหนึ่งของ กศน.อ.สวรรคโลก ปกติต้องรายงานให้ปลัดกระทรวงมอบอำนาจให้ไปแจ้งความ แต่เรื่องการปลอมแปลงเอกสารใบวุฒิปลอมนี้ ในเบื้องต้นให้ กศน.อ.สวรรคโลกไปแจ้งความ และรายงาน สนง.กศน.จังหวัดโดยเร็ว เพื่อให้จังหวัดรายงานเข้าไปส่วนกลางต่อไป

 

         7. วันที่ 6 ก.ค.59 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  หลักสูตรช่างพื้นฐาน เราสามารถเปิดหลักสูตรช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ได้หรือไม่  หัวหน้างานต่อเนื่องที่อำเภอบอกว่าไม่สามารถเปิดได้ ต้องเป็นช่างปูน ช่างประปาหรือช่างไฟฯ  ส่วนช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ไม่ถือเป็นช่างพื้นฐาน

             ผมตอบว่า   หลักสูตรช่างพื้นฐาน ( ช่างภายในบ้าน ) เช่น ช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างปูน ช่างทาสี ช่างเชื่อม ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและเครื่องใช้สำนักงาน
             ส่วนช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ แล้วแต่จะตีความ บางคนก็ว่าช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ไม่ใช่ช่างพื้นฐาน บางคนก็ว่าใช่เพราะคอมพิวเตอร์ก็เป็นเครื่องใช้ภายในบ้าน
             เปิดไปก็ไม่ผิด