วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2559

1.เกณฑ์การสอบวิชาเลือก, 2.พนักงานราชการเพิ่งทำงานได้ 3 เดือน ไม่ได้ประเมิน จะต่อสัญญาได้ไหม, 3.การขอเปลี่ยนตำแหน่งพนักงานราชการ, 4.ปีนี้ให้ประเมินพนักงานราชการถึง 31 ส.ค. คนที่บรรจุ 1 ก.พ.จะทำงานเพียง 7 เดือน เลื่อนค่าตอบแทนได้ไหม, 5.สรุปลักษณะสำคัญของ โปรแกรมการเรียนรู้ กับ แผนการเรียนรู้รายบุคคล, 6.ต่อไปจะไม่มีข้ออ้าง, 7.นศ.เก่าเปลี่ยนมาเรียนแบบทางไกลได้ไหม




สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 26 ก.ย.59 มีครูของ กศน.อำเภอ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ถามผมทางโทรศัพท์ ว่า  มีระเบียบไหมว่า วิชาเลือกไม่ให้มีการสอบซ่อม

             ผมตอบว่า   ไม่มีระเบียบห้าม แต่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่ได้ทำข้อสอบซ่อมวิชาเลือกไว้ บอกว่าวิชาเลือกไม่ต้องสอบซ่อม นั้น เพราะวิชาเลือกไม่มีเกณฑ์บังคับว่าต้องได้คะแนนปลายภาคถึง 30 % และคะแนนระหว่างภาคได้กันมาก ผ่านหมดอยู่แล้ว จ.พระนครศรีอยุธยาจึงไม่สอบซ่อมวิชาเลือก

             แต่ ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/59 เป็นต้นไป การเรียนแบบพบกลุ่ม วิชาเลือกบังคับ 2 วิชา กำหนดเกณฑ์บังคับว่าต้องได้คะแนนสอบปลายภาคถึง 30 % ด้วย ( ส่วนวิชาเลือกอื่น ๆ สถานศึกษาจะกำหนดเกณฑ์ปลายภาคเท่าไรหรือไม่ก็ได้ การลงคะแนนปลายภาควิชาเลือกในโปรแกรม ITw ต้องเปลี่ยนเกณฑ์ไปมา ) จึงเริ่มมี นศ.ที่ไม่ผ่านเกณฑ์วิชาเลือก

             ตามระเบียบ ผู้ที่เข้าสอบปลายภาค แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ สถานศึกษาสามารถให้ประเมินซ่อมได้ทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก






         2. เย็นวันที่ 29 ก.ย.59 แพรวา พริ้ว ไหว ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ค ว่า  ดู ETV เกี่ยวกับการต่อสัญญาพนักงานราชการ วันที่ 29 กย. 59 เวลา 15.00 น. มีข้อสงสัยจะสอบถามว่า กรณีพนักงานราชการทำงาน 3 เดือน ยังไม่มีผลการประเมินในรอบ 6 เดือน จะสามารถต่อสัญญาได้หรือไม่

             ผมตอบว่า ต่อสัญญาได้ ( ต่อ 1 ปีก่อน ) แต่ไม่ให้เลื่อนค่าตอบแทน

         3. วันเสาร์ที่ 1 ต.ค.59 นางชุติกาญจน์ ไชยชมภู ถามต่อท้ายโพสต์ในเฟซบุ๊คผม ว่า  การขอปรับเปลี่ยนตำแหน่งครูอาสา เป็นตำแหน่งนักวิชาการหรือตำแหน่งอื่นๆ เนื่องจากมีภาระงานแต่มีจำนวนบุคลากรในสำนักงานน้อย จะขอปรับได้มั๊ย ซึ่งยังคงอยู่อำเภอ เพราะช่วงสุดท้าย (ในรายการ ETV) ท่านได้เกริ่นว่า ได้

             ผมตอบว่า   มีหลายคนฟังกันไม่เข้าใจชัดเจน ในรายการนั้น ผู้ถามกับผู้ตอบและผู้ฟัง คิดไปถึงคนละประเด็นกัน เช่นเดียวกับคำถามนี้ก็ไม่ชัดเจนว่าหมายถึงประเด็นเปลี่ยนตำแหน่งอัตราว่าง หรือมีตัวคนครองตำแหน่งอยู่แต่ขอเปลี่ยนตำแหน่งคนนั้น
             ลองดูเทปรายการอีกรอบ ดูจนจบ จะได้คำตอบว่า ขอเปลี่ยนตำแหน่งได้เฉพาะอัตราว่าง
             เช่น เมื่อมีครูอาสาฯลาออก/เกษียณ/เลิกจ้าง/เสียชีวิต เกิดเป็นอัตราว่างแล้ว จะเปลี่ยนตำแหน่งครูอาสาฯที่ว่างนี้ให้เป็นตำแหน่งนักวิชาการศึกษา จังหวัดก็ส่งเรื่องขอเปลี่ยนตำแหน่งไปได้
             แต่ตำแหน่งที่มีตัวคนอยู่ จะขอเปลี่ยนตำแหน่งไม่ได้ ต้องเปลี่ยนโดยการที่คนนั้นสอบใหม่ในตำแหน่งใหม่ ( ซึ่งเริ่มต้นค่าตอบแทนขั้นต้นใหม่ และการรับสมัครสอบต้องรับสมัครบุคคลทั่วไปด้วย )

         4. ดึกวันที่ 6 ต.ค.59 Nid-noi Tanasorn ถามต่อท้ายโพสต์ในเฟซบุ๊คผม ว่า  พนักงานราชการได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่ง สนง.กศน.จังหวัด ลงวันที่ 1 กพ.59 (แต่งตั้งเป็นพนักงานราชการตั้งแต่วันที่ 1 กพ.59-30กย.59)...จะมีสิทธิ์ได้รับการเลื่อนค่าตอบแทนหรือไม่..เนื่องจากปี 59 นี้ให้นำผลการปฏิบัติงานถึงวันที่ 31สค.59 มาใช้ประเมิน(ถ้านับอายุงาน 1 กพ.-31 สค.59 นับได้ 7 เดือน)

             ผมตอบว่า   ที่ให้ประเมินฯถึงวันที่ 31 ส.ค.นั้น เป็นเพียงการประเมินฯล่วงหน้าเพื่อให้ทันการณ์ แต่ปี งปม.นี้ทุกคนก็ทำงานถึงสิ้นปี งปม.เหมือนเดิม ฉะนั้นเมื่อทำงานครบ 8 เดือน ก็เลื่อนค่าตอบแทนได้
             ( ถ้าบรรจุตั้งแต่วันทำการวันแรกของเดือน ก.พ. ปกติจะให้เลื่อนค่าตอบแทน แต่ถ้าบรรจุหลังวันทำการวันแรกของเดือน ก.พ. จะเลื่อนค่าตอบแทนไม่ได้ เช่นถ้าวันที่ 1-2 ก.พ.เป็นวันหยุดราชการ แล้วบรรจุวันที่ 3 ก.พ.ก็เลื่อนค่าตอบแทนได้ แต่ถ้าวันที่ 1 ก.พ.เป็นวันทำการแล้วบรรจุวันที่ 2 ก.พ.จะเลื่อนค่าตอบแทนไม่ได้ )

         5. วันเสาร์ที่ 22 ต.ค.59 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องสรุปลักษณะสำคัญของ โปรแกรมการเรียนรู้ กับ แผนการเรียนรู้รายบุคคล ว่า

             1)  ลักษณะสำคัญของโปรแกรมการเรียนรู้ จะระบุว่า โปรแกรมนั้น ตลอดหลักสูตรประกอบด้วยวิชาอะไรบ้าง
                  อาจจะระบุเพิ่มเติมไว้ในวรรคต้นว่าโปรแกรมนั้นสำหรับนักศึกษาที่มีลักษณะอย่างไร
                  แต่ละสถานศึกษา จะมีโปรแกรมการเรียนรู้หลายโปรแกรม ให้เหมาะกับลักษณะของนักศึกษาแต่ละคน ( นักศึกษาที่มีลักษณะเดียวกันก็เรียนในโปรแกรมเดียวกัน ) เช่น
                  - โปรแกรมเกษตรเพื่อชีวิต
                  - โปรแกรมการบริหารจัดการทางธุรกิจ
                  - โปรแกรมการปลูกมะนาว
                  - โปรแกรมช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็ก
                  - โปรแกรมช่างเสริมสวย
                  - โปรแกรมอาหารและโภชนาการ
                  - โปรแกรมพนักงานรักษาความปลอดภัย
                  - โปรแกรมอิสลามศึกษา
                  ฯลฯ

                  ถ้าเป็น “โปรแกรมการเรียนรู้รายบุคคลก็คือการระบุว่า นาย ก. เรียนโปรแกรมอะไร เช่น โปรแกรมการเรียนรู้รายบุคคลของ นายทีละพัน จำปีห้อย คือโปรแกรมพนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
                  - การระบุรายวิชาในแต่ละโปรแกรม อาจจะระบุเฉพาะวิชาเลือกเสรี เพราะวิชาบังคับกับวิชาเลือกบังคับเหมือนกันทุกคนและเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว
                  - รายวิชาเลือกเสรีในแต่ละโปรแกรม ต้องระบุให้ครบตลอดหลักสูตร คือ ระดับประถม 8 หน่วยกิต, ระดับ ม.ต้น 10 หน่วยกิต, ระดับ ม.ปลาย 26 หน่วยกิต ( เกินได้ ขาดไม่ได้ )

                  ตัวอย่างโปรแกรมการเรียนรู้ ระดับ ม.ต้น
                  โปรแกรม การปลูกมะนาว ( ข้อมูลทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลสมมุติ )
                  สำหรับนักศึกษาที่มีเป้าหมายการเรียนเพื่อนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพปลูก มะนาว ( ปัจจุบันประกอบอาชีพปลูกมะนาวเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม หรือสนใจ/ตั้งใจจะประกอบอาชีพปลูกมะนาว )
                  ประกอบด้วย รายวิชาเลือกเสรีดังต่อไปนี้ ( อาจพิมพ์เป็นตาราง มี 4 คอลัมน์ คือ สาระการเรียนรู้-รหัสรายวิชา-ชื่อรายวิชา-จำนวนหน่วยกิต )
                  สาระการเรียนรู้ การประกอบอาชีพ
                  1. อช 23008  รายวิชา การเตรียมดินปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์   2 หน่วยกิต
                  2. อช 23009  รายวิชา การตอนกิ่งมะนาว   2 หน่วยกิต
                  3. อช 23010  รายวิชา การดูแลรักษามะนาวในวงบ่อซีเมนต์   3 หน่วยกิต
                  4. อช 23011  รายวิชา การตลาด   3 หน่วยกิต
                  รวมรายวิชาเลือกเสรี 10 หน่วยกิต

             2)  แผนการเรียนรู้รายบุคคล
                  คือแผนฯที่ระบุว่า นศ.คนนั้น เรียนในโปรแกรมใด ( ชื่อโปรแกรม ) เรียนรายวิชาใดในภาคเรียนใด ตลอดหลักสูตร
                  - แผนการเรียนรู้นี้ ควรจะระบุทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก เพราะ แผนการเรียนรู้รายบุคคลนี้จะให้นักศึกษาคนนั้น เก็บไว้ดูตลอดการเรียนจนจบหลักสูตรด้วย  ถ้าระบุเฉพาะวิชาเลือกอาจทำให้นักศึกษาคนนั้นสับสนเข้าใจผิด  เพื่อความชัดเจนจึงควรระบุทั้งวิชาบังคับ วิชาเลือก วิชาที่เทียบโอน วิชาที่เรียน ( วิชาที่เรียน ระบุว่าเรียนในภาคเรียนใด )

                  ขึ้นต้นว่า  แผนการเรียนรู้รายบุคคล ระดับ ... ... ของ นาย ... ... รหัสนักศึกษา ... ... วิธีเรียน แบบ ... ... กลุ่ม ... ...
                  โปรแกรมการเรียนรู้ ... ...
                  รายวิชาที่เทียบโอน
                  ………………………..
                  ………………………..
                  รายวิชาที่เรียน
                   ( ในส่วนของรายวิชาที่เรียน อาจพิมพ์เป็นตารางแนวนอน แบ่งคอลัมน์ใหญ่เป็นภาคเรียน มีจำนวนภาคเรียนตามที่นักศึกษาจะเรียนจนจบหลักสูตร เพื่อระบุว่าจะเรียนรายวิชาใดในภาคเรียนใด )

         6. ต่อไปจะไม่มีข้ออ้างว่า นักศึกษาต้องทำงานไม่มีเวลามาพบกลุ่ม เพราะถ้าไม่มีเวลาก็เรียนแบบการศึกษาทางไกล
             ( ผชช.สุทธินี งามเขต พูดในรายการสายใย กศน. 21 ต.ค.59 )

             นศ.ที่เรียนแบบ กศ.ทางไกล ให้นับเป็น นศ.ของครูที่รับผิดชอบ และ กศน.อำเภอ/เขต ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเท่ากับ นศ.ที่เรียนแบบพบกลุ่ม
             แต่ การเรียนแบบ กศ.ทางไกล จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมา คือ ต้องแบ่งเงินอุดหนุนรายหัวไปจ่ายเป็น ค่าตอบแทนครูที่ปรึกษาประจำรายวิชา
             ครู ศรช. ก็ต้องเบิกค่าจ้างจากเงินอุดหนุนรายหัวนี้ ถ้า นศ.ของครู ศรช. เรียนแบบ กศ.ทางไกลมากหลายคน อาจทำให้เงินอุดหนุนรายหัวไม่ค่อยพอ
             อาจจะให้ นศ.ที่เรียนแบบ กศ.ทางไกล เป็นนักศึกษาในกลุ่มของ ข้าราชการ ครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบล ซึ่งไม่ได้เบิกค่าตอบแทนจากเงินอุดหนุนรายหัว ส่วนครู ศรช.ให้รับผิดชอบ นศ.ที่เรียนแบบพบกลุ่มเหมือนเดิม
             แต่ นศ.ที่เรียนแบบพบกลุ่มก็ต้องมาพบกลุ่ม ( สัปดาห์ละ 6 ชม.)

             - การเรียนแบบ กศ.ทางไกล เน้นเรียนจากสื่อเทคโนโลยี ( วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ) ผู้เรียนต้องมีพื้นความรู้พอที่จะเรียนได้ด้วยตนเอง
             - การเรียนแบบพบกลุ่ม เน้นเรียนกับครู ผู้เรียนต้องมีเวลามาพบกลุ่ม
              ( แนะแนวให้ นศ.เลือกวิธีเรียน ในช่วงรับสมัครลงทะเบียนเรียน พร้อมกับการเก็บข้อมูลเพื่อกำหนดโปรแกรมการเรียนรู้รายบุคคล )

         7. อ.พิชญา นัยนิตย์ สถาบันการศึกษาทางไกล กศน. บอกว่า
             - ในภาคเรียนเดียวกัน นศ. ต้องเรียนวิธีเดียวกันในทุกวิชา จะเรียนแบบ กศ.ทางไกล ในบางวิชา และเรียนแบบพบกลุ่มในบางวิชาในภาคเรียนเดียวกันไม่ได้
             - นศ.ที่ภาคเรียนแรกเรียนแบบพบกลุ่ม เช่น นศ.เก่า ให้เรียนวิธีเดิมไปจนจบ แต่ถ้ามีเหตุผลความจำเป็น ภาคเรียน 2/59 นี้ก็ขอเปลี่ยนวิธีเรียนได้เป็นราย ๆ ไป ( เมื่อเปลี่ยนภาคเรียนก็ขอเปลี่ยนวิธีเรียนได้ถ้าจำเป็น ) ผู้พิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนวิธีเรียนคือ ผอ.สถานศึกษา  แต่ ภาคเรียนแรกกับภาคเรียนสุดท้ายที่จบต้องเรียนวิธีเดียวกัน เป็นข้อกำหนดของระบบทะเบียน  เช่น ภาคเรียนแรกเรียนแบบ กศ.ทางไกล ภาคเรียนที่ 2 ขอเปลี่ยนเป็นเรียนแบบพบกลุ่ม เมื่อถึงภาคเรียนสุดท้ายต้องเรียนแบบ กศ.ทางไกล