วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

1.มาตรการประหยัดงบประมาณ ยังใช้อยู่ไหม ใช้ฉบับของปีไหน, 2.ระดับประถมเริ่มสอบ N-NET ตั้งแต่ภาคเรียนใด, 3.ผมว่าเรื่องนี้สำคัญ แต่ละจังหวัดทำไมทำไม่เหมือนกัน, 4.หลักฐานการจบ ป.4 ไม่ระบุวิชาที่เรียน จะใช้เทียบโอนได้ไหม, 5.จ้างเหมาบริการมีสิทธิสอบครูผู้ช่วยไหม/ปกติจะไม่มีการขึ้นบัญชี, 6.หลักเกณฑ์การสอบ ผอ.+รอง ผอ.สนง.กศน.จังหวัด, 7.ขรก.ครูเรียนต่อไม่ตรงสาขาจะใช้ปรับวุฒิหรือใช้ลดเวลาทำชำนาญการไม่ได้



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 15 พ.ย.59 มี ผอ.กศน.ข. โทร.มาถามผม ว่า  ปัจจุบันยังใช้มาตรการประหยัดงบประมาณฉบับปี 56 อยู่หรือไม่

             เรื่องนี้  ผมเรียนถามหัวหน้ากลุ่มงานตรวจจ่าย กลุ่มการคลัง กศน. เมื่อวันที่ 16 พ.ย.59 ได้รับคำตอบว่า  ยังใช้มาตรการประหยัดงบประมาณของ สป.ศธ. ฉบับล่าสุด คือฉบับปี 56 อยู่ ( ดูได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/saveMeasure.pdf ) โดยให้ใช้ไปจนกว่าจะมีฉบับใหม่

         2. วันเดียวกัน ( 15 พ.ย.) TheJeab Ungkanawin ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  นศ.ประถมฯเริ่มสอบ N-Net ครั้งแรกตั้งแต่ภาคเรียนใด (มี นศ.ประถม รหัส 5321.. มาขอใบ รบ. ซึ่งระบุจบภาคเรียนที่ 1/55 แต่ไม่ได้บันทึกการสอบ N-Net พยายามหาข้อมูลการสอบแล้วแต่ไม่พบ)

             ผมตอบว่า   เกณฑ์การจบหลักสูตรข้อที่ว่า เข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ นี้ เริ่มมีในหลักสูตร 51 ซึ่งทุกระดับรวมทั้งระดับประถม ต้องผ่านเกณฑ์นี้ตั้งแต่เริ่มใช้หลักสูตร 51 เหมือนกัน เพียงแต่ระยะแรก แบบทดสอบการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติระดับประถม จัดทำโดย กศน.เอง  โดยเปลี่ยนเป็นใช้แบบทดสอบที่จัดทำโดย สทศ. ( N-NET ) ตั้งแต่ภาค 2/55  แต่ก่อนหน้านั้นระดับประถมก็ต้องผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ ( NT ) เช่นกัน

         3. บางจังหวัดให้ผู้จบ ป.4 สมัยก่อน เรียนต่อ ม.ต้นได้เลย  บางจังหวัดให้เรียนระดับประถมโดยเทียบโอนวุฒิ ป.4 เข้าระดับประถมได้ 24 หน่วยกิต
             - ถ้าไม่ต้องเรียนประถม แล้วจังหวัดที่ให้เรียนประถม ก็ทำให้เขาเสียเวลาเสียโอกาสเสียค่าใช้จ่าย ( แม้เรียนฟรี ก็มีค่าใช้จ่ายบางอย่าง )
             - ถ้ายังไม่มีสิทธิเรียน ม.ต้น แล้วบางจังหวัดให้เรียน ม.ต้น การเรียน ม.ต้น และระดับต่อจากนั้น จะเป็นโมฆะทั้งหมด เป็นปัญหาใหญ่ในภายหลัง

             เย็นวันที่ 16 พ.ย.59 เจี๊ยบ ลูก พ่อรุณฯ โพสต์บ่นในเฟซบุ๊คของตน ว่า  ขอความชัดเจนแต่ทีแรกก็ไม่มีให้ มาวันนี้ดึงออกเกือบหมด บอกว่าคนที่จบ ป.4 สมัยเก่าแสดงว่าจบประถมแล้ว เอามาเรียนประถมไม่ได้ ให้เรียน ม.ต้นเลย จะบ้าตาย ชัยภูมิ ท่านดึงใบสมัครออกแล้ว

             ผมจึงเข้าไปซักถาม และคุยกันต่อในอินบ็อกซ์ ได้ความว่า  ท่าน ผอ.จังหวัดชัยภูมิ บอกว่า จบ ป.4 ในสมัยก่อน ถือว่าเป็นชั้นสูงสุด ภาคบังคับสมัยนั้นแค่ ป.4 เทียบได้กับจบ ป.6 ให้นำวุฒิ ป.4 ที่ระบุว่าสอบไล่ชั้นสูงสุด มาสมัคร ม.ต้น จะลงเรียนประถมไม่ได้
              (นักศึกษากลุ่มนี้ เรียนประถมมาแล้ว 1 ภาคเรียน)
             คณะกรรมการตรวจเอกสาร ใช้วิธีเช็ค ใน จปฐ. ถ้า จปฐ.บอกว่าจบประถม ก็ให้เรียน ม.ต้น (นักศึกษาบางคนยืนยันว่ายังไม่จบประถม จบแค่ ป.4)

             ผมบอกว่า  จบ ป.4 ก่อน พ.ศ.2507 ตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2494 ถือว่าจบการศึกษาภาคบังคับ แต่การจบการศึกษาภาคบังคับไม่ได้แปลว่าเทียบเท่าจบ ป.6 ในปัจจุบัน ไม่เกี่ยวกัน
             การรับสมัครต้องดูจากใบวุฒิเดิมเป็นสำคัญ ส่วน จปฐ.ไม่สำคัญ ไม่เกี่ยว
             คุณสมบัติของผู้สมัครระดับ ม.ต้น ที่กำหนดไว้ในคู่มือฯ ไม่มีระบุว่าจบการศึกษาภาคบังคับเลย แต่ระบุว่า สอบได้วุฒิหรือระดับชั้นอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
             - มัธยมปีที่ 3 (ม.3 เดิม) หรือ
             - ประถมศึกษาปีที่ 7 (ป.7) หรือ
             - ประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) หรือ
             - การศึกษาผู้ใหญ่ระดับที่ 3 หรือ
             - การศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จระดับที่ 3 หรือ
             - หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับประถมศึกษา หรือ
             - นาฏศิลป์ขั้นต้นปีที่ 3 หรือ
             - วุฒิอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เทียบเท่าประถมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 หรือ
             - นักธรรมชั้นเอกหรือธรรมศึกษาเอก หรือ
             - ใบรับรองวุฒิการสอบเทียบความรู้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อสิทธิบางอย่าง หรือ
             - ใบรับรองวุฒิการสอบเทียบความรู้ประถมปีที่ 7 เพื่อสิทธิบางอย่าง หรือ
             - เป็นผู้ที่เคยศึกษาหลักสูตรต่างประเทศ ระดับชั้น(เกรด) การศึกษาปีที่ 7 หรือ
             - สอบได้ระดับชั้น(เกรด) การศึกษาอย่างน้อยปีที่ 7 หรือสอบตก ป.7 ปีการศึกษา 2550 ถือว่าได้ ป.6
             สำหรับพระภิกษุสามเณรจะต้องมีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นและต้องสอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท

         4. เช้าวันที่ 17 พ.ย.59 Gudapach Suwantemee ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  มีนักศักษา ทำวุฒิ ป.4 หาย เขาไปขอ รร.เดิม แต่ทาง รร.ไม่มีวุฒิเดิมของเขาแล้ว จึงคัดทะเบียนผู้จบมาให้ แล้วลงตราประทับ รร. แต่ไม่มีรายวิชาที่เขาจบ ป.4 แต่ในนั้นลงว่าจบชั้น ป.4 เขาต้องเรียนประถม กศน.ใหม่ใช่ไหม หรือเทียบวิชา ป.4 ให้เขาได้ไหม

             ผมตอบว่า   ถ้าหลักฐานเชื่อถือได้ว่าจบ ป.4 แม้หลักฐานนั้นจะไม่มีชื่อวิชาที่เรียน ป.1-4 ก็เทียบวิชา ป.4 ให้เขาได้ 24 หน่วยกิต
              ( ตามแนวทางการเทียบโอนฯ ระบุว่าการเทียบโอนผลการเรียนของผู้ที่จบระดับประถมศึกษาปีที่ 4 และได้ใบสุทธิที่มีผลการเรียนรวม ให้เทียบโอนระดับประถมศึกษาจำนวน 24 หน่วยกิต ให้ผลการเรียนเป็น ผ่าน ในรายวิชาต่อไปนี้ ... ...” )
             ถ้า เรายอมรับหนังสือรับรอง ( ของ กศน.เอง ถ้าเป็นหลักสูตรก่อนปี 44 ตอนนี้เราก็ออกเป็นหนังสือรับรองเช่นกัน แสดงว่าหนังสือรับรองก็ใช้ได้ )  ใบสุทธิก็ไม่ได้มีข้อมูลมากไปกว่า จึงย่อมเทียบโอนได้เช่นกัน
             การเทียบโอนจาก ป.4 ไม่ใช่การเทียบโอนจากวิชาต่อวิชา แต่เป็นการเทียบโอนจากหลักสูตรในภาพรวม ผลการเทียบโอนเป็น ผ่าน  ฉะนั้นในใบสุทธิหรือหนังสือรับรอง จะมีหรือไม่มีผลการเรียนแต่ละวิชา ก็เทียบโอนได้เลย ให้เทียบโอนได้ 24 หน่วยกิตเท่ากันหมดทุกคน
             ต่างจากการเทียบโอนจากระดับ ป.6 ม.3 ม.6 ที่เทียบโอนจากวิชาต่อวิชา ผลการเทียบโอนแต่ละวิชาจะเป็นเกรด จึงต้องมีผลการเรียนของแต่ละวิชาที่เรียนมา จึงจะเทียบโอนได้

         5. เช้าวันที่ 24 พ.ย.59 คน พืเศษ ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ที่ว่าทาง กศน.จะมีการเปิดสอบครูผู้ช่วยนั้น สอบในกรณีพิเศษหรือทั่วไป ลูกจ้างเหมาบริการมีสิทธิ์ที่จะสมัครสอบได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   จะสอบในกรณีพิเศษก่อน โดยสอบตามหลักเกณฑ์การสอบกรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ของ ก.ค.ศ.ข้อ 6 ( ดูได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/V12testTeacher.pdf ) ซึ่งระบุว่า
              “การบรรจุและแต่งตั้งครูอัตราจ้างหรือลูกจ้างชั่วคราวจากเงินงบประมาณ หรือเงินรายได้ของสถานศึกษา พนักงานราชการ ครูสอนศาสนาอิสลาม ลูกจ้างประจำ พนักงานจ้างเหมาบริการ ซึ่งทุกตำแหน่งต้องได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอนตามคำสั่งหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย

จะเห็นว่า มีคำว่า พนักงานจ้างเหมาบริการอยู่ด้วย แต่ไม่มีข้าราชการ ฉะนั้น จ้างเหมาบริการมีสิทธิสมัครสอบ แต่ ขรก.เช่น ขรก.ตำแหน่งบรรณารักษ์จะสมัครสอบเพื่อเปลี่ยนเป็น ขรก.ครู ไม่ได้
             อย่างไรก็ตาม การสอบเป็น ขรก.ครู ต้องมีคุณสมบัติอื่น ๆ อีก ดูในข้อ 7 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2015/04/etv.html
             อนึ่ง ตามหลักเกณฑ์ของ ก.ค.ศ.นั้น ถ้าดูในหน้า 3 ข้อ 8 กำหนดว่าการสอบกรณีนี้ ให้บรรจุและแต่งตั้งผู้ผ่านการคัดเลือกให้ครบตามจำนวนตำแหน่งที่ประกาศรับสมัคร โดยไม่ขึ้นบัญชี
             ฉะนั้น ถ้า กศน.จะเปิดรับสมัครสอบครูผู้ช่วย จะต้องขอทำความตกลงกับ ก.ค.ศ.เพื่อขอขึ้นบัญชี 1 ปี ก่อน

         6. การประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 11/59 วันศุกร์ที่ 25 พ.ย.59 เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รอง ผอ. และ ผอ. สนง.กศน.จังหวัด/กทม. ดังนี้

             1)  ให้ อ.ก.ค.ศ. สป.ศธ. เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก โดยกำหนดวันเวลาในการดำเนินการคัดเลือก และจำนวนตำแหน่งว่างเพื่อใช้ในการบรรจุและแต่งตั้งครั้งแรก
             2)  ให้ อ.ก.ค.ศ. สป.ศธ. ประกาศรับสมัครคัดเลือก ไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันรับสมัคร
             3)  ให้สำนักงาน กศน. รับสมัครคัดเลือกไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ โดยยื่นสมัครตามแบบหรือวิธีการที่ อ.ก.ค.ศ. สป.ศธ.กำหนด

             4)  ผู้มีสิทธิ์สมัครเข้ารับการคัดเลือก ตำแหน่งรอง ผอ.สนง. กศน.จังหวัด/กทม.
                  - เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สำนักงาน กศน.
                  - มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งรอง ผอ.สนง. กศน.จังหวัด/กทม.
                  - ดำรงตำแหน่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้  ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สถานศึกษา ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่ารอง ผอ.ชำนาญการพิเศษ หรือ ดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่า ผอ.ชำนาญการพิเศษ หรือ ดำรงตำแหน่ง ศน. ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่า ศน.เชียวชาญ หรือ ดำรงตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่มีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำว่าหัวหน้ากลุ่มหรือผู้อำนวยการกลุ่ม มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และรับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าอันดับ คศ.3 หรือไม่ต่ำกว่าระดับชำนาญการพิเศษ
                  - มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา
                  - ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

             5)  ผู้มีสิทธิ์สมัครเข้ารับการคัดเลือก ตำแหน่ง ผอ.สนง. กศน.จังหวัด/กทม.
                  - เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สำนักงาน กศน.
                  - มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนด เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ผอ.สนง. กศน.จังหวัด/กทม.
                  - ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สนง. กศน. จังหวัด/กทม. มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และรับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำของอันดับ คศ.4 หรือดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่า ผอ.เชี่ยวชาญ
                  - มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา
                  - ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

             6)  ดำเนินการคัดเลือกโดยการประเมิน 2 ภาค คือ ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และภาค ข ความเหมาะสมกับตำแหน่ง  ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องได้คะแนนภาค ก และภาค ข แต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60  โดยเรียงลำดับจากผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดจากมากไปหาน้อย
             7)  บัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก ให้มีอายุบัญชีไม่เกิน 1 ปี
             8)  ในกรณีผู้ได้รับการคัดเลือกรายใดถึงลำดับที่ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งแล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ได้รับการคัดเลือกรายนั้นไม่มารายงานตัวเพื่อรับการบรรจุและแต่งตั้งตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด หรือไม่สมัครใจที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง หรือมารายงานตัวแต่ไม่เลือกหน่วยงานการศึกษาที่จะบรรจุและแต่งตั้ง หรือแจ้งสละสิทธิ์การบรรจุและแต่งตั้ง กรณีใดกรณีหนึ่ง  ให้เรียกตัวผู้ที่อยู่ในลำดับถัดไปมารายงานตัวเพื่อรับการบรรจุและแต่งตั้ง แทน

         7.
ก.ค.ศ. กำหนดใหม่ ให้ ขรก.ครูที่เรียนต่อสาขาวิชาที่
            1)  ไม่ใช่สาขาวิชาที่เรียนจบ ป.ตรี และหรือ ป.โท  หรือ
            2)  ไม่ตรงกับสาขาวิชา/กลุ่มสาระการเรียนรู้ ที่สอนหรือเคยสอน  หรือ
            3)  ไม่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมการเรียนรู้ ตามที่ส่วนราชการต้นสังกัดกำหนดโดยความเห็นชอบของ ก.ค.ศ.
            เมื่อเรียนจบ จะใช้วุฒินั้นขอปรับเพิ่มเงินเดือนตามวุฒิ หรือใช้เป็นคุณสมบัติในการลดเวลาทำชำนาญการ ไม่ได้

            เรื่องขอปรับเพิ่มเงินเดือนตามวุฒิไม่ได้นั้น ไม่ค่อยเป็นไร เพราะปัจจุบันเมื่อครูผู้ช่วยบรรจุครบ 2 ปี เป็น คศ.1 เงินเดือนขั้นต้นของ คศ.1 ก็ไม่น้อยกว่าเงินเดือนวุฒิ ป.โท อยู่แล้ว
            แต่ในส่วนของลดเวลาทำชำนาญการไม่ได้ จะมีผลกระทบมากกว่า
            เช่น เรียนจบ ป.ตรี ในสาขาวิชาเอกวิทยาศาสตร์ แล้วมาสอบบรรจุเป็นครู และเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์กับวิชาภาษาไทย แต่ ศึกษาต่อ ป.โท สาขาบริหารการศึกษา หรือสาขาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และภาษาไทย และไม่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน/ส่งเสริมการเรียนรู้  จะลดเวลาทำชำนาญการไม่ได้
            ( ให้ สป.ศธ.เสนอรายชื่อวุฒิ ป.โท และ ป.เอก ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน/ส่งเสริมการเรียนรู้ ตามข้อ 3. ให้ ก.ค.ศ.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ภายในวันที่ 16 ม.ค.60 )

            หลักเกณฑ์นี้ มีผลกับเฉพาะผู้ที่เริ่มเรียนตั้งแต่ 9 ธ.ค.59 เป็นต้นไปเท่านั้น ไม่มีผลบังคับกับผู้ที่จบ หรือขออนุญาตลาศึกษาต่อก่อนวันที่ 9 ธ.ค.59

วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

1.อนุมัติจบ ม.ปลายแล้ว แต่เกรด ม.ต้นเป็น 0 อยู่ 2 วิชา, 2.จบเทียบระดับแล้ว สมัครระดับต่อไปได้เลยหรือเว้น 1 เทอม, 3.บุคลากรละเลยการลงชื่อปฏิบัติงาน, 4.เทียบโอน รปภ. ทำอย่างไร, 5.4 มิติ คือ ? วัตถุ หรือเศรษฐกิจ (3 ห่วง 2 เงื่อนไข 4 มิติ), 6.กรรมการประเมินพนักงานราชการ, 7.ถ้า นศ.น้อย จ่ายตามรายหัวได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 2 พ.ย.59 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ถ้านักศึกษาอนุมัติจบ ม.ปลายไปแล้ว แต่เกรดในวุฒิ ม.ต้นเป็น 0 อยู่ 2 วิชา จึงทำการสมัคร ม.ต้นใหม่ แต่โปรแกรม ITw แจ้งสถานภาพ ว่าจบหลักสูตร ม.ปลายแล้ว ให้ป้อนเลขบัตรใหม่  ต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถสมัคร ม.ต้นได้  ตอนนี้เท่าที่คิดออกก้คือลบประวัติ ม.ปลาย แต่ถ้าลบประวัติ ม.ปลายจะผิดไหม แล้วผลการเรียนม.ปลายทั้งหมดนั้น ถือว่าโมฆะรึป่าว

             ผมตอบว่า   ถ้าเรียน ม.ปลาย ก่อนจบ ม.ต้น .. การเรียน ม.ปลาย ก็ต้องเป็นโมฆะอยู่แล้ว เท่ากับยังไม่ได้เรียน ม.ปลาย จะลบประวัติ ม.ปลาย ก็ได้
              ( เมื่อจบ ม.ต้น เรียบร้อย จึงจะเริ่มต้นสมัครเรียน ม.ปลายใหม่ )

         2. วันเดียวกัน (่ 2 พ.ย.59 ) Nattanich Malikae ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การเทียบระดับการศึกษา(ไต่ระดับ) หากผู้เข้าเทียบระดับ จบระดับประถมแล้ว สามารถเรียนต่อได้เลย หรือต้องเว้น 1 ภาคเรียน  ตอนนี้มีผู้ที่ตอบแล้วว่าเว้น 1 ภาคเรียน แต่บางส่วนก็ว่าเทียบต่อได้เลย

             เรื่องนี้  อ.พรทิพย์ พรรณนิตานนท์ หัวหน้ากลุ่มงานเทียบระดับการศึกษา กลุ่มพัฒนา กศน. บอกว่า  ถ้าอนุมัติจบก่อนหมดเวลาสมัครรุ่นต่อไป ก็สมัครระดับต่อไปได้เลย
              ( เมื่อก่อนที่เคยให้เว้น 1 รุ่น เพราะตอนนั้นเปิดให้เทียบระดับปีละตั้ง 4 รุ่น รุ่นที่ติดกันช่วงเวลาเหลื่อมซ้อนกัน ตอนนี้เหลือปีละ 2 รุ่นแล้ว ไม่ต้องเว้นแล้ว )

         3. วันที่ 4 พ.ย.59 ข้าราชการตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไป สนง.กศน.จ. ... ... ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ขอความรู้และระเบียบอ้างอิง ประเด็นละเลยการลงชื่อปฏิบัติงานของบุคลากรทุกประเภท (เน้น กศน.อ.)

             ผมบอกให้ดูในหนังสือสำนักงาน กศน. ที่ ศธ 0210.118/50 ลงวันที่ 11 ก.พ.56 เรื่องการลงเวลาการปฏิบัติราชการ  





         4. วันที่ 8 พ.ย.59 Arita Kaew ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การเทียบโอน พนักงาน รปภ.ต้องทำอย่างไร ใช้หลักฐานอะไรบ้าง และแบบฟอร์มไหน

             ผมตอบว่า   ลองดูแนวทางที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/teibOonRPPh.pdf

         5. คืนวันที่ 8 พ.ย.59 กีต้าร์ ซีซ่าส์ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 4 มิติ  ที่ตรง 4 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม หรือ วัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม

             ผมตอบว่า   4 มิติ คือมิติทางด้านวัตถุหรือเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านวัฒนธรรมค่านิยมความเชื่อ
             การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง ในระดับ ตัวเอง ครอบครัว องค์กร มักจะใช้คำว่ามิติด้านวัตถุ  ถ้าระดับ ชุมชน สังคม ประเทศชาติ มักจะใช้คำว่ามิติด้านเศรษฐกิจ
             มิติด้านวัตถุ/เศรษฐกิจ ในดับตัวเอง/ครอบครัว/องค์กร หมายถึง
             (1)  รู้จักบริหารงบประมาณ และใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและพอเพียง เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด
             (2)  บริหารจัดการด้านการเงินส่วนตัวได้อย่างเหมาะสม ประหยัดอดออม และมีวินัยในการใช้จ่าย มีการวางแผนในการใช้จ่ายเงินเพื่ออนาคต






         6. เช้ามืดวันที่ 9 พ.ย.59 Suteera Phonyon ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการทั่วไปใช้กี่คน มีใครบ้าง และคณะกรรมการกลั่นกรองใช้กี่คน ประกอบด้วยใครบ้าง

             ผมตอบว่า   ดูที่ ประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการทั่วไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
             - ในส่วนของการประเมินฯ อยู่ในข้อ 5 (ค) เป็นหน้าที่ของ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายซึ่งจะประเมินเองหรือจะแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินฯก็ได้ แต่ก็ฟังนโยบายจากผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปด้วยว่าควรจะประเมินเองหรือจะมอบหมาย/แต่งตั้งผู้อื่นด้วย  ( ผู้ที่ลงนามเป็น ผู้ประเมินในแบบประเมินฯ คือผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายคนเดียว )

             - ในส่วนของ การแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการประเมินฯ อยู่ในข้อ 7 ประกอบด้วย

              (1)  หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย  เป็นประธานฯ

              (2)  ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่กำกับดูแลพนักงานราชการ  เป็นกรรมการ

              (3)  ผู้ปฏิบัติงานด้านการเจ้าหน้าที่  เป็นกรรมการและเลขานุการ

              ( ดูประกาศฉบับนี้ได้ที่  https://db.tt/KMnqJLi8 )

         7. เช้าวันที่ 7 พ.ย.59 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ถ้า ครู ศรช.ไม่สามารถมีนักศึกษาครบ 80 คน จะให้เงินเดือนตามรายหัวไหม

             เรื่องนี้   ตามรายละเอียดการจ้างเหมาบริการ ครู กศน. 8 ตำแหน่ง ( ดูได้ที่  https://www.dropbox.com/s/0yevos15vb5ixx6/teacherJang.pdf?dl=1กศน.ได้กำหนด ขอบเขตงานจ้างของแต่ละตำแหน่งไว้ เช่น ครู ศรช.รับผิดชอบ นศ.ไม่น้อยกว่า 40 คน ครูผู้สอนเด็กเร่ร่อนรับผิดชอบ นศ.ไม่น้อยกว่า 20 คน เป็นต้น  อัตราค่าจ้าง 90,000 บาทต่อภาคเรียน..  หัวหน้ากลุ่มงานพัสดุ กลุ่มงานคลัง กศน. บอกว่า ต้องมีจำนวน นศ.ตามที่กำหนด
             ผมเรียนถามท่าน ผอ.กลุ่มงานคลัง กศน. ในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 พ.ย.59 ท่าน ผอ.บอกว่า การจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุไม่ใช่การจ้างตามรายหัว ถ้า นศ.ถึงเกณฑ์ ( เกณฑ์ของครู ศรช.คือ รับผิดชอบนักศึกษาตั้งแต่ 1 กลุ่มขึ้นไป กลุ่มละไม่น้อยกว่า 40 คน" แปลว่า ขั้นต่ำ 40 คน ขั้นสูงไม่จำกัด มากกว่า 40 คนไม่เป็นไร แต่ไม่ต่ำกว่า 40 คน )  40 คนขึ้นไปเดือนละ 15,000 บาท, 80 คนหรือมากกว่าก็จ้างเดือนละ 15,000 บาท  ถ้าไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่จ้าง  ถ้า นศ.ไม่ถึงเกณฑ์แต่ผู้จ้างต้องการจ้างคนนี้ต้องมีเหตุผลความจำเป็นมาก ๆ และต้องขอความเห็นชอบส่วนกลางเป็นรายกรณีก่อน เช่น อยู่บนเกาะหรือบนภูเขาที่เกาะนั้นหรือภูเขาลูกนั้นมีประชากรนิดเดียวมีครูคนเดียวโอน นศ.จำนวนน้อยนี้ให้ครูคนอื่นไม่ได้ ( ให้ขอความเห็นชอบเฉพาะที่มีเหตุผลความจำเป็นมาก ๆ ถ้าเหตุผลไม่มากพอไม่ต้องจ้างไม่ต้องขอความเห็นชอบ )