วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559

1.มีผู้ไม่รู้หนังสือแค่นี้ จะไปหาที่ไหนอีก, 2.ตัวอย่างประกาศจัดตั้งแหล่งเรียนรู้, 3.ใช้เกณฑ์เดิมไปแล้ว อัตราสูงกว่าเกณฑ์ใหม่ จะเบิกได้ไหม ?, 4.การจัดสรรเหรียญตราเครื่องราชฯ, 5.จัดอาชีพ เบิกจ่ายค่าวัสดุกับค่าวิทยากรอย่างไร, 6.ปรับเงินเดือนตามวุฒิที่สูงขึ้น, 7.กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้ใช้งบตามเกณฑ์รายหัวคูณจำนวน นศ.ที่ร่วมโครงการ เท่านั้น



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เช้ามืดวันที่ 18 ธ.ค.58 ประสิทธิ์ ศรีบุญเรือง ถามผมในหน้าเฟซบุ๊ค ว่า  ครูอาสาสมัครที่สอนผู้ไม่รู้หนังสือ จำนวน 35 คน ใน 2 ไตรมาสต้องมีผู้เรียนจบตามหลักสูตรขั้นต่ำกี่คน หรือว่าต้องจบทั้ง 35 คน

                 ผมตอบว่า   ไม่มีเกณฑ์ว่าผู้เรียนจบ/ผ่านเท่าไร ถ้าใครไม่ผ่านก็พยายามสอนต่อไปในไตรมาส 3-4 จนกว่าจะผ่าน โดยจ่ายค่าสอนหัวละ 500 บาทได้เฉพาะที่สอนแล้วผ่าน คนที่ไม่ยังไม่ผ่านก็ยังไม่นับเป็นผลงาน ถ้าไม่ผ่านจริง ๆ ก็สอนคนอื่นเพิ่มให้รวมผ่านตามเป้า

                 ผู้ถาม ถามต่อ ว่า  ศศช.ของผมมีผู้ไม่รู้หนังสือแค่ 60 คน จะไปหาที่ไหนอีก
                 ผมตอบว่า  ถ้ายังมีเป้าที่ส่วนกลางหรือจังหวัดกำหนด ก็ให้
                 1)  หาหลักฐานว่ามีผู้ไม่รู้หนังสือแค่นี้ เช่น ขอถ่ายเอกสาร จปฐ.ตัวชี้วัดที่ 20 จาก สนง.พัฒนาชุมชน ( ดูตัวอย่างที่  https://db.tt/jatSKClb  จะสรุปไว้ว่าผู้ไม่รู้หนังสืออยู่ที่บ้านเลขที่เท่าไรกี่คน ) นำมาประกอบกับบันทึกรับรองของตนเองว่าสำรวจเองด้วยแล้วไม่มีผู้ไม่รู้หนังสือมากกว่านี้ เสนอ ผอ.กศน.อำเภอพิจารณา
                 2)  เสนอให้ หมู่บ้าน/ตำบล อื่น สำรวจหาผู้ไม่รู้หนังสือเพิ่มเติม เพื่อทดแทนผู้ไม่รู้หนังสือของหมู่บ้าน/ตำบลนี้ ให้ได้ผลงานไม่น้อยกว่าเป้าของอำเภอ ที่ส่วนกลางหรือจังหวัดกำหนด
                 3)  ถ้าทุกหมู่บ้านทุกตำบล ต่างก็มีหลักฐานว่าไม่มีผู้ไม่รู้หนังสือมากกว่านี้ และไม่มีผู้จบตามเป้า ก็ยอมปล่อยให้ ผลการปฏิบัติงานด้านการสอนผู้ไม่รู้หนังสือของ หมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอ ไม่ได้ตามเป้าหมายไป โดยครูอาสาฯสอน กศ.ขั้นพื้นฐานแทนให้ครบตามเกณฑ์

 

         2. คืนวันเสาร์ที่ 19 ธ.ค.58 Nannapat Konggate ถามต่อท้ายโพสต์ในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  มีตัวอย่างประกาศจัดตั้งแหล่งเรียนรู้มั๊ย
                 ผมตอบว่า   ลองดูที่
https://db.tt/4lLXlmJe

         3. ดึกวันที่ 24 ธ.ค.58 Tidtima Dangsakul ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ถ้าเราเปิดช่างพื้นฐาน เบิกเงินค่าวัสดุตามคู่มือและหนังสือเดิมไปแล้ว อัตราสูงกว่าในคู่มือใหม่ จะเบิกได้มั๊ย

             ผมตอบว่า   ต้องคอยดูต่อไปว่า หลักเกณฑ์ใหม่ในร่างคู่มือใหม่จะกำหนดให้เริ่มใช้เมื่อไร ย้อนหลังหรือไม่ แต่โดยทั่วไปจะไม่ย้อนหลัง ถ้าเบิกตามคู่มือและหลักเกณฑ์เดิมไปแล้ว ก็เบิกได้ เพราะซื้อวัสดุแล้วคืนไม่ได้

             ( กรณี ถ้าหลักเกณฑ์ใหม่มีผลย้อนหลัง และเบิกได้สูงกว่าหลักเกณฑ์เดิม จะเบิกเพิ่มได้ไหม ก็เช่นกัน คือ
               1)  ถึงแม้เกณฑ์ที่ "เบิกได้ไม่เกิน" จะเปลี่ยนไป แต่ยอดงบประมาณรวมของแต่ละกลุ่มก็เท่าเดิม ถ้าเดิมเบิกเต็มตามงบที่ได้ไปแล้ว จะเปลี่ยนเพิ่มอย่างหนึ่งก็ต้องลดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ยอดรวมไม่เกิน
               2)  ถ้าการเรียนการสอนเสร็จไปแล้ว จะซื้อวัสดุเพิ่มเติมย้อนหลังไม่ได้
               3)  ถ้าเดิมยังเบิกไม่เต็มตามงบที่ได้รับ และการเรียนการสอนยังไม่เสร็จ รวมทั้งหลักเกณฑ์ใหม่ใช้ย้อนหลังได้ ก็ยังขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้บริหารระดับอำเภอ/จังหวัด ว่าจะให้เปลี่ยนหรือไม่ )

         4. วันอาทิตย์ที่ 27 ธ.ค.58 ผมเผยแพร่เรื่องการจัดสรรเหรียญตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ( เครื่องราชฯ ปี 57 แจ้งยอกจัดสรรเมื่อ ธ.ค.58 ) ลงในเฟซบุ๊ค ว่า

             แต่ละสังกัด จะได้รับจัดสรรเหรียญตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ไม่ครบตามจำนวนคนที่ได้รับพระราชทาน
             จึงให้ ผู้ที่ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าได้รับพระราชทาน และประสงค์จะขอรับเหรียญตราเครื่องราชฯ  แสดงความจำนงขอรับเหรียญตรา แล้วให้ สนง.กศน.จังหวัด/กทม. รวบรวมทำหนังสือส่งสำนักงาน กศน.
             โดยสำนักงาน กศน.จะจัดสรรเหรียญตราเครื่องราชฯให้กับผู้แสดงความจำนงขอรับ ที่อายุราชการสูงสุดลงมาตามลำดับ
             เช่น กศน.ได้รับการจ่ายเหรียญตราเครื่องราชฯ ประจำปี 57 มาให้พนักงานราชการ 51 ราย ( ชาย 16 หญิง 35 ) แต่พนักงานราชการที่มีรายชื่อประกาศในราชการกิจจานุเบกษา มีจำนวน 386 ราย ( ชาย 128 หญิง 258 )  ถ้ามีพนักงานราชการแสดงความจำนงขอรับเกิน 51 ราย ก็จะจัดสรรให้ผู้แสดงความจำนงที่อายุราชการสูงสุดลงมาตามลำดับ 16 คนแรก ( ชาย ) และ 35 คนแรก (หญิง ) เป็นต้น
              ( ใครไม่ได้รับจัดสรรเหรียญตรา ให้จัดซื้อ/จัดหาเอง )






         5. วันที่ 7 ม.ค.58 Mintada Buddavon ถามต่อท้ายโพสต์บนไทม์ไลน์เฟซบุ๊คผม ว่า  การเบิกจ่ายค่าวัสดุกับค่าวิทยากรในการจัดอาชีพแบบกลุ่มสนใจ หนึ่งคน...หนึ่งอาชีพ ใช้หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายอย่างไร

             ผมตอบว่า หนึ่งคน...หนึ่งอาชีพ ก็คือ การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ/โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ระเบียบหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายก็เหมือนกัน โดยระเบียบหลักเกณฑ์ที่เป็นทางการในปัจจุบันนี้ การศึกษาต่อเนื่องทุกประเภทเบิกจ่ายได้เท่ากันหมด ไม่ว่าจะจัดแบบไหน คือ
             - ค่าตอบแทนวิทยากร ชั่วโมงละไม่เกิน 200 บาท
             - ค่าวัสดุฝึก เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัด และเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร หลักสูตรละไม่เกิน 2,000 บาท ต่อผู้เรียน 1 คน
              ระเบียบหลักเกณฑ์นี้ใช้คำว่า "ไม่เกิน" จึงต้องถามอำเภอ/จังหวัดด้วยว่า จะกำหนดให้เบิกจ่ายต่ำกว่านี้หรือไม่

         6. คืนวันเดียวกัน ( 7 ม.ค.58 ) นายยงรัก ชูดวงจันทร์ ถามในแฟนเพจเฟซบุ๊คผม ว่า  บรรจุเป็นครูผู้ช่วย กศน. เมื่อวันที่ 20 เม.ย.58 และเรียน จบ ป.โท บริหารการศึกษา เมื่อวันที่ 28 ต.ค.58 ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนยื่นเรื่องขอปรับวุฒิ ถามว่าต้องใช้เวลานานไหมถึงจะเสร็จกระบวนการ และสามารถปรับเงินเดือนได้ประมาณเท่าไหร่

             ผมตอบว่า
             1)  ที่ผ่านมา จังหวัดส่งเรื่องขอปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการครูฯให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นตามคุณวุฒิ เมื่อ 25 ก.ย.57 สนง.กศน.ตอบกลับมาเมื่อ 11 ธ.ค.58 ใช้เวลาปีกว่า
             อย่างไรก็ตาม ถ้าถูกต้องตามขั้นตอน เช่น ได้รับคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองสำหรับข้าราชการครู กศน.สูงขึ้น  ยื่นคำขอปรับอัตราเงินเดือนภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับคุณวุฒิสูงขึ้น  ก็จะได้รับการปรับอัตราเงินเดือนย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ได้รับคุณวุฒิสูงขึ้น  ถ้ายื่นคำขอหลัง 60 วัน จะปรับเงินเดือนย้อนหลังไปถึงวันที่ยื่นคำขอ
              ( ถ้าอยู่ กศน.อำเภอ ก็บันทึกเสนอ ผอ.กศน.อ.เรื่องขอเพิ่มวุฒิการศึกษาในทะเบียนประวัติและขอปรับอัตราเงินเดือนให้ได้รับเงินเดือนสูงขึ้นตามคุณวุฒิ พร้อมแนบปริญญาบัตร ทรานสคริปท์ ที่รับรองสำเนาถูกต้อง จากนั้นทำหนังสือจากอำเภอถึงจังหวัด จังหวัดจะบันทึกคุณวุฒิลงแฟ้มประวัติ กพ.7 แล้วทำหนังสือส่งต่อไปให้ สนง.กศน.ดำเนินการ )

             2)  ปัจจุบัน ( ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.7/21 ลงวันที่ 13 ธ.ค.56 ) กำหนดอัตราเงินเดือนตำแหน่งครูผู้ช่วย วุฒิ ป.โททั่วไป 17,690 บาท  ถ้าในวันที่ได้รับคุณวุฒิ ป.โท หรือวันที่ยื่นคำขอ อัตราเงินเดือนถึง 17,690 บาทแล้ว ก็จะไม่สามารถปรับอัตราเงินเดือนให้สูงขึ้นได้ แต่ก็ให้ยื่นคำขอเพิ่มวุฒิการศึกษาในทะเบียนประวัติ ก.พ.7
              ( ช่วงการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ไม่มีสิทธิขอลาศึกษาต่อทั้งภาคปกติ และภาคนอกเวลาโดยใช้เวลาราชการบางส่วน เนื่องจากหากใช้เวลาไปศึกษาจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเตรียมความพร้อมและ พัฒนาอย่างเข้ม  ต้องเริ่มเรียนมาก่อน หรือเริ่มเรียนหลังการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม หรือเรียนแบบไม่ใช้เวลาราชการเลย )

 

         7. วันที่ 25 ม.ค.59 เสรีชน คนแคมของ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  กรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่ให้รายหัวมา จัด ปวช.รายหัวละ 530 การเงินแจ้งว่าต้องจัดต่อโครงการคือเป้าหมาย 100 คน ก็เอา 100 คูณ 530...ใช้ได้เท่านั้น แต่ละโครงการไม่เกินนั้น...ถูกไหม....แต่ละภาคเรียนน่าจะนำมาถัวเฉลี่ย ได้...

             ผมตอบว่า   ตามกรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน กำหนดให้ "เบิกจ่ายภายในวงเงินรายหัวผู้เรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมในภาคเรียนนั้นๆ" ฉะนั้นจะนำไปถัวกับภาคเรียนอื่นไม่ได้
             ส่วนถ้าจะถัวจ่ายภายในภาคเรียนเดียวกัน ต้องทำแผน/โครงการ ให้มีจำนวนกลุ่มเป้าหมายเต็มตามจำนวนนักศึกษาทั้งหมด จึงจะเบิกจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรทั้งหมดได้
             โดยอาจมีกิจกรรม/โครงการย่อย มากกว่า 1 โครงการ บางโครงการอาจใช้งบต่ำกว่ารายหัว ( ปวช. 530 บาท ) แต่บางโครงการอาจใช้งบสูงกว่ารายหัว

              ( กศน.จ.พระนครศรีอยุธยา ให้ กศน.อำเภอ ส่งแผนการจัดโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ว่าภาคเรียนนี้จะจัดกิจกรรม/โครงการอะไรบ้าง ถ้ารวมเงินทุกกิจกรรม/โครงการ เต็มตามที่ได้รับจัดสรร กลุ่มเป้าหมายรวมทุกโครงการก็ต้องเป็น นศ.ทั้งหมด )
             ลองอ่านคำตอบเก่า ๆ ใน
             - ข้อ 7 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/517947
             - ข้อ 6 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/11/ep.html