วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

1.เอกสารการทำวิทยฐานะเชิงประจักษ์พร้อมรายชื่อผลงานระดับชาติ, 2.การต่อสัญญาจ้างพนักงานราชการ, 3.ไม่เคยส่งรายชื่อเข้าสอบ N-NET จะสอบ e-Exam ได้ไหม, 4.ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, 5.รอง ผอ.ขอสายสะพายไม่ได้, 6.ใครขอเข็มเชิดชูเกียรติได้ (สับสนกันทั้ง อำเภอ/จังหวัด กับ กป.), 7.สอบปลายภาค กับ แข่งกีฬา เบิกค่า จนท.รักษาความปลอดภัยได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เช้าวันที่ 11 ก.พ.59 ผมเผยแพร่เอกสารการทำวิทยฐานะเชิงประจักษ์ พร้อมรายชื่อผลงานระดับชาติขึ้นไป ในเฟซบุ๊ค

             - ไฟล์สกุล .rar  ที่ https://db.tt/2kvHnjmr  หรือ
             - ไฟล์สกุล .zip ที่  https://db.tt/PTuXZswN

         2. ดึกวันเดียวกัน ( 11 ก.พ.) Khachonpong Sirisom ถามผมบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊ค ว่า  อนาคตพนักงานราชการจะเป็นยังไงบ้าง แถวจังหวัดผู้บริหารเขาบอกว่าการต่อสัญญา ให้พนักงานราชการทุกคนสอบใหม่ จริงมั้ย

             ผมตอบว่า   พนักงานราชการ ต่อสัญญาทุก 4 ปี
             พนักงานราชการตำแหน่งต่าง ๆ ของ กศน.จะสิ้นสุดสัญญา 4 ปีเดิม ในวันที่ 30 ก.ย.59 นี้แล้ว กศน.จะต้องทำเรื่องถึง กพร. ขอต่อสัญญาอีก 4 ปี โดยระบุเหตุผลว่าโครงการต่าง ๆ ที่ต้องจ้างพนักงานราชการตำแหน่งต่าง ๆ นี้ โครงการยังไม่สิ้นสุด จำเป็นต้องจ้างต่อไป  ( การจ้างพนักงานราชการ ให้จ้างตามโครงการ ถ้าโครงการสิ้นสุดเมื่อไรก็ต้องเลิกจ้าง )
             ถ้า กพร.พิจารณาแล้วไม่เห็นด้วย เช่นพิจารณาเห็นว่าบางตำแหน่งไม่จำเป็นต้องมีแล้ว ไม่ต้องทำบทบาทหน้าที่ที่เคยขออนุมัติ กพร.แล้ว  ก็อาจจะให้ยุบตำแหน่งนั้น ให้เลิกจ้างทุกคนที่ตำแหน่งนั้นหรือลดจำนวนคนก็ได้ ( เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับบางตำแหน่งในบางกระทรวง )

             แต่ถ้า กพร.พิจารณาให้จ้างต่ออีก 4 ปี ตามที่เราเสนอ  ก็จะให้จังหวัดประเมินผลการปฏิบัติงานของแต่ละคน ใครผ่านการประเมินก็ต่อสัญญาอีก 4 ปี  การประเมินก็ลักษณะเดียวกับการประเมินทุกครึ่งปีที่ผ่านมา  เพียงแต่อาจต้องพิจารณาจากคะแนนประเมินที่ผ่านมาถึง 2 ปี 4 ครั้ง ( พิจารณาจากคะแนนประเมินในปีงบประมาณ 2558-2559 รวม 4 ครั้ง เช่นคะแนนเฉลี่ย 4 ครั้ง ต้องอยู่ในระดับดีขึ้นไป )
             ถ้าจะให้พนักงานราชการทุกคนสอบใหม่เพื่อประกอบการประเมินฯ ก็อาจจะเป็นนโยบายเฉพาะจังหวัดนั้น มั้ง

         3. ส่วนกลางจะเปิดระบบการสอบในเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของส่วนกลาง ให้สอบ e-Exam ระหว่าง 1-31 มี.ค.59  แต่จุดสอบบางแห่งอาจกำหนดรายละเอียดในการเปิดสอบต่างกันบ้าง เช่นบางแห่งอาจไม่เริ่มตั้งวันที่ 1 บางแห่งกำหนดวันหยุดต่างกัน  ต้องสอบถามแต่ละแห่งด้วย

             คืนวันที่ 14 ก.พ.59 แดง พัฒนสิน กศน.พิชัย ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  นักศึกษาที่คาดจะจบเทอมนี้แล้วรายชื่อตกหล่นสอบ N-NET..สามารถส่งรายชื่อสอบ Examได้ไหม..อ่านคำตอบของอาจารย์เคยตอบว่า ได้..ตอนนี้เปลี่ยนแปลงหรือเปล่า..ไม่สบายใจเลย..

             ผมตอบว่า
             - การสอบ e-Exam เปิดสำหรับ นักศึกษาที่พลาดการสอบ N-NET ( สอบเพื่อประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ ) ในทุกระดับการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้จบตามโครงสร้างที่หลักสูตรกำหนด  ส่วนนักศึกษาที่ยังไม่รีบเร่งในการจบ ถ้ายังไม่เคยส่งรายชื่อเข้าสอบ N-NET  ก็ให้ส่งรายชื่อเข้าสอบ N-NET ในภาคเรียนต่อไป
              ( แนวปฏิบัติในการสอบ e-Exam ให้สถานศึกษาเลือกจุดบริการสอบ e-Exam ที่สะดวก โดยให้ประสานงาน และทำหนังสือส่งตัวนักศึกษาพร้อมข้อมูล ไปยังสถานศึกษาที่มีจุด e-Exam จำนวน 17 จุดบริการ เพื่อขอให้นักศึกษา กศน. เข้ารับการประเมินฯ   ดูจุดบริการในข้อ 14.2.2 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2013/10/blog-post_8783.html )

             - นศ.ต้องเข้าสอบ N-NET ทั้ง 2 ฉบับ ถ้าเข้าสอบฉบับเดียวจะยังไม่จบหลักสูตร ต้องไปสอบ e-Exam

             - ต้องส่งรายชื่อเข้าสอบ N-NET ก่อน ถ้าหลงลืมตกหล่นไม่ได้ส่งรายชื่อเข้าสอบ N-NET แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจบการศึกษาในภาคเรียนนี้ก็เข้าสอบ e-Exam ได้  เพียงแต่การไม่ส่งรายชื่อเข้าสอบ N-NET ก่อน ถ้าตั้งใจไม่ส่งรายชื่อถือเป็นความผิด  ถ้าไม่ส่งเพราะตกหล่นหลงลืมผิดพลาด ถือเป็นความบกพร่อง ต้องรอบคอบ   ( แม้จะจบการศึกษาในภาคเรียนนี้ได้ แต่ถ้าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจบ ก็ให้ส่งรายชื่อเข้าสอบ N-NET ในภาคเรียนต่อไปถ้ายังไม่เคยส่งรายชื่อเข้าสอบ N-NET )

             ผมเคยตอบเรื่องนี้ในข้อ 2 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/499858

         4. ให้จังหวัดส่งเรื่องขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำปี 2559 ให้บุคลากร ( ข้าราชการ+ลูกจ้างประจำ+พนักงานราชการ ) ถึง สำนักงาน กศน. ภายใน 28 มี.ค.59
             พนักงานราชการกลุ่มงานบริหารทั่วไป ที่เป็นพนักงานราชการตำแหน่งปัจจุบันครบ 5 ปี ( นับถึงวันที่ 6 ต.ค.59 ) ให้เสนอขอ บ.ช. ( เบญจมาภรณ์ช้างเผือก )
             พนักงานราชการที่ได้ บ.ช. มาครบ 5 ปีแล้ว ( นับถึงวันที่ 5 ธ.ค.59 ) ให้เสนอขอ จ.ม. ( จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย )
             https://db.tt/WqVSfuWJ

 

         5. วันที่ 16 ก.พ.59 ระหว่างที่ผมไปร่วมประชุมรับนโยบาย ผวจ. ผมได้พูดคุยกับ ผอ.กศน.อำเภอต่าง ๆ ผอ.กศน.อ.บางซ้ายเล่าว่า รอง ผอ.บางท่าน สมัครเป็น ผอ.ศูนย์วิทย์ฯ เพราะต้องการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย เนื่องจาก รอง ผอ. ไม่มีสิทธิขอเครื่องราชฯชั้นสายสะพาย

             เรื่องนี้  กจ.กศน. บอกว่า  เคยขอให้ รอง ผอ. เช่น รองนาถยา ผิวมั่นกิจ แต่ไม่ได้ เพราะคุณสมบัติกำหนดว่า ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ไม่ได้เลื่อนเงินเดือนเป็นร้อยละ แต่เลื่อนเงินเดือนแบบขั้นเงินเดือน ถ้ามีวิทยฐานะเชี่ยวชาญจะขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ( ป.ม.) ได้  แต่ถ้าไม่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ในหนังสือแจ้งเรื่องการขอเครื่องราชฯ ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/Rach59.pdf  มีเรื่องนี้อยู่ในหน้าท้าย ( หน้า 12-13 ) สรุปในข้อ 5  ซึ่ง กจ.ก็ไม่เข้าใจชัดเจนในเหตุผล ไม่ทราบว่าเขาถือว่า รอง ไม่ใช่ ผอ.หรือเปล่า  โดยจะขอชั้นสายสะพายได้เฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติครบ 3 ข้อต่อไปนี้

             1)  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ
             2)  วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ เงินเดือนถึง 58,390 บาท ตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 ต.ค.59  ( เฉพาะผู้ที่จะเกษียณปีนี้ ถ้าเงินเดือนจะถึง 58,390 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.59 ก็ขอปีนี้ )
             3)  ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันที่ 5 ธ.ค.59

 

         6. วันเดียวกัน ( 16 ก.พ.) Praparat Bupasiri ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  เข็มเชิดชูเกียรติครู กศน. มอบให้กับครู กศน.ที่ปฏิบัติงานมาแล้ว 10 15 20 ปีใช่ไม๊  กรณีหนูทำงานประมาณ ธค.47 มีสิทธิ์ได้รับหรือยัง

             เรื่อง ใครมีสิทธิ์ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติ นี้ มีความสับสน แต่ละจังหวัดต่างกัน
             เจตนาที่ถูกต้องนั้น ผู้มีสิทธิ์ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติ คือ เฉพาะพนักงานราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการติดต่อกัน 10 ปีขึ้นไป ซึ่งเดิมจะมี 3 ตำแหน่ง โดยในหนังสือแจ้งจากส่วนกลางจะใช้คำว่า
              พนักงานราชการ ( ครูอาสาสมัคร กศน./ครู ศรช./ครู กศน.ตำบล )
             เนื่องจากมีคำว่า ครู ศรช.ด้วย จึงทำให้ อำเภอ/จังหวัด เข้าใจผิด

             ที่จริงจะหมายถึงเฉพาะครู ศรช.ที่เป็นพนักงานราชการ ซึ่งมีอยู่ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  แต่อำเภอ/จังหวัดไม่รู้ว่ามีพนักงานราชการตำแหน่งครู ศรช.อยู่ที่จังหวัดชายแดนใต้ จึงเข้าใจผิดว่าหมายถึงครู ศรช.ทั่วไป ซึ่งไม่ใช่พนักงานราชการ ก็สำรวจรายชื่อครู ศรช.ทั่วไปส่ง กป.ด้วย
             และต่อมา ปีหลัง ๆ มีพนักงานราชการตำแหน่งอื่น ๆ อีก ส่วนกลางก็จะให้พนักงานราชการตำแหน่งอื่น ๆ เช่น นักวิชาการศึกษา นักจัดการงานทั่วไป ด้วย  ในแบบสำรวจจึงเพิ่มช่องตำแหน่งว่า อื่น ๆขึ้นมา
             อำเภอ/จังหวัด ก็ไม่เข้าใจว่าตำแหน่งอื่น ๆ นี้ ต้องเป็นพนักงานราชการ  บางจังหวัดสำรวจส่งหมดทั้ง ครู ปวช.ที่ไม่ใช่พนักงานราชการ ด้วย

             เมื่อส่งไปถึงส่วนกลาง กป.เองก็ไม่รู้ว่าตำแหน่งใดเป็นพนักงานราชการ ตำแหน่งใดไม่ใช่พนักงานราชการ ถ้าผ่านการสำรวจของจังหวัดไปแล้ว กป.ก็ให้หมด
             จึงสรุปได้ว่า  ผู้มีสิทธิได้รับเข็มเชิดชูเกียรติ คือ ผู้ที่อำเภอ/จังหวัดสำรวจส่งรายชื่อไป

              ( เมื่อเป็นอย่างนี้ ในหนังสือส่วนกลางน่าจะเอาคำว่า พนักงานราชการออกได้แล้ว )
             ดูหนังสือแจ้งของส่วนกลาง ปี 58 ที่ https://db.tt/PUySRMbY

              ( - เข็มทองแดง = ระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ราชการ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 15 ปี
                - เข็มเงิน = ระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ราชการ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 20 ปี
                - เข็มทอง = ระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ราชการ 20 ปีขึ้นไป
                รวมระยะเวลาทุกตำแหน่งในสังกัด กศน. ที่ต่อเนื่องกัน  ถ้าเว้นช่วงแล้วเข้ามาใหม่ให้เริ่มต้นนับใหม่  ครบปีนี้ รับปีหน้า คือนับเวลาถึงวันที่ 30 ก.ย.ของปีที่ผ่านมา )

 

         7. วันที่ 17 ก.พ.59 มี ผอ.กศน.อำเภอ ถามผมทางไลน์ ว่า  การจัดสอบปลายภาค และ จัดแข่งขันกีฬา กศน. มีระเบียบการเบิกค่า จนท.รักษาความปลอดภัยไหม

             ผมตอบว่า
             1)  การจัดสอบปลายภาค ไม่มีระเบียบการเบิกค่า จนท.รักษาความปลอดภัย  ( อ่านในข้อ 1 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/481090 )
             2)  การจัดการแข่งขันกีฬา มีแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ อยู่ในข้อ 6 ของรายละเอียดแนบหนังสือกรมบัญชีกลาง
                  - อ่านรายละเอียดทั้งหมดในข้อ 7 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/539646  และ
                  - ข้อ 1 กับข้อ 5 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/03/5000.html

วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

1.อนุญาตให้ใช้รถส่วนตัวไปราชการ ชนคนตาย หน่วยงานที่ให้ไปราชการเป็นผู้รับผิดชอบ, 2.ตัวอย่างเทคโนโลยีที่เหมาะสม, 3.วุฒิครู (กศน.อาจไม่ให้ความสำคัญกับรายละเอียด), 4.การประเมินวิทยฐานะเชิงประจักษ์ (ว13/56), 5.หัวหน้ากลุ่มงานพัสดุ กศน. สรุปเรื่องพนักงานราชการเป็นประธานกรรมการตรวจรับพัสดุ, 6.การปรับกรณีส่งหนังสือเรียนล่าช้า, 7.การย้ายช่วง 1-15 ก.พ. ให้ผู้บริหารขอย้ายด้วยหรือเปล่า



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 26 ม.ค.59 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ข้าราชการครูไปราชการโดยใช้รถยนต์ส่วนตัว ระหว่างเดินทางกลับเกิดอุบัติเหตุชนกับรถจักรยานยนต์ ทำให้ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เสียชีวิต ในกรณีนี้สำนักงานจังหวัดจะมีส่วนร่วมหรือช่วยเหลืออย่างไรกับข้าราชการครู ดังกล่าว

             เรื่องนี้  กลุ่มงานวินัยและนิติการ กจ.กศน. บอกว่า  ถ้าเป็นเรื่องความรับผิดชอบในกรณีทำให้ผู้อื่นเสียหายหรือเสียชีวิต โดยข้าราชการครูได้รับอนุญาตให้ใช้รถส่วนตัวไปราชการ  ผู้รับผิดชอบคือ สนง.กศน.จังหวัด ที่อนุญาตให้ข้าราชการครูใช้รถส่วนตัวไปราชการ
             สนง.กศน.จังหวัดต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ( เป็นคู่กรณีกับญาติผู้เสียหาย )  ถ้าเราเป็นฝ่ายผิด สนง.กศน.จังหวัดต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายตามความผิดทางการละเมิด ( ใช้เงินกองกลางชดใช้ไปก่อน แล้วทำรายงานไปส่วนกลาง )  ส่วนข้าราชการครูที่ขับรถชนคนเสียชีวิตมีความผิดทางอาญา
             หลังจากนั้น สนง.กศน.จังหวัด จึงดำเนินการกับข้าราชการครูในความผิดทางการละเมิด เพื่อเรียกชดใช้คืนจากข้าราชการครูในภายหลัง  อาจจะเรียกค่าชดใช้ที่จ่ายไป คืนจากข้าราชการครูทั้งหมด หรือบางส่วน อยู่ที่ผลการพิจารณาทางการละเมิดว่า ข้าราชการครูประมาทเลินเล่อ หรือมีเหตุสุดวิสัยอย่างไรแค่ไหน

         2. คืนวันที่ 28 ม.ค.59 ผมตอบ กศน. ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอศรีบุญเรือง ที่ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  มีโครงการเรียนรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสมพอเป็นตัวอย่าง แนวทางหรือป่าว

             ผมตอบว่า   ผมไม่มีตัวอย่างโครงการ

             การเรียนรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เป็นการศึกษาต่อเนื่องประเภทพัฒนาสังคมและชุมชน ( เกณฑ์การจัดสรรงบประมาณเหมือนกับการพัฒนาสังคมและชุมชน คือหัวละ 400 บาท ) ก็จัดโครงการลักษณะเดียวกับโครงการพัฒนาสังคมและชุมชนปีก่อน เพียงแต่เนื้อหาวิชาที่จัดเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่เหมาะสม
             ผมเคยโพสต์ตัวอย่างเทคโนโลยีที่เหมาะสม ด้านการเกษตร เช่น
             - การปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์โดยใช้เทคนิควิธีใหม่ที่ให้ผลผลิต/กำไรมากขึ้น เช่น การปลูกพืชไร่โดยใช้ระบบน้ำหยด
             - การปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์พันธ์ใหม่ ๆ เช่น การเลี้ยงปลาหนังลูกผสมบึกสยามแม่โจ้ ( ปลาสวายผสมปลาบึก ), การทำฟาร์มเห็ดนางฟ้าฮังการี เห็ดโคนญี่ปุ่น
             - ฯลฯ

         3. เย็นวันที่ 1 ก.พ.59 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  เป็นพนักงานราชการตำแหน่งครู กศน.ตำบล มีวุฒิคหกรรมศาสตร์บัณฑิต ( คหกรรมศาสตร์ศึกษา ) ซึ่งเป็นวุฒิครู และ มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยไม่ต้องเรียน ป.บัณฑิต
             ไปสมัครสอบเพื่อจะเปลี่ยนตำแหน่งเป็นครูอาสา แต่ เขาไม่รับสมัคร บอกว่าไม่มีวุฒิครู ตกลงไม่ใช่วุฒิครูหรือ
             คุณสมบัติที่เขาต้องการ คือ
             1)  บุคคลทั่วไป  มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา ดังนี้ ครุศาสตรบัณฑิต การศึกษาบัณฑิต หรือศึกษาศาสตรบัณฑิต ที่ ก.ค.ศ.รับรอง
             2)  บุคคลที่เป็นลูกจ้างในสังกัดสำนักงาน กศน.มีวุฒิไม่ต่ำปริญญาตรี และจบการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู

             ผมตอบว่า   วุฒิคหกรรมศาสตร์บัณฑิต ( คหกรรมศาสตร์ศึกษา ) เป็นวุฒิครู  ( คำว่าวุฒิครู เป็นภาษาพูด คำจริงคือ ปริญญาทางการศึกษา )
             ปริญญาทางการศึกษา มีหลายสาขา คือ
             1)  การศึกษา...
             2)  ครุศาสตร....
             3)  ศึกษาศาสตร....
             4)  ครุศาสตรอุตสาหกรรม....
             5)  วิทยาศาสตร... (ศึกษาศาสตร...) หรือ (ศึกษาศาสตรการสอน...) หรือ (การสอน...)
             6)  ศิลปศาสตร... (ศึกษาศาสตร์...) หรือ (ศึกษาศาสตรการสอน...)
             7)  คหกรรมศาสตรบัณฑิต วิชาเอกคหกรรมศาสตรศึกษา / เกษตรศาสตรบัณฑิต วิชาเอกเกษตรศึกษา / บริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกธุรกิจศึกษา

             แต่ คุณสมบัติที่ กศน.กำหนดสำหรับพนักงานราชการตำแหน่งครู นั้น ไม่ได้กำหนดแค่ว่ามีวุฒิครูอย่างเดียว แต่กำหนดว่ามีวุฒิครูเฉพาะ 3 สาขาเท่านั้น
              ( ผมไม่ทราบว่าทำไม กศน.กำหนดแค่ 3 สาขา อาจเป็นเพราะสาขาอื่นไม่เหมาะจะเป็นครู กศน. หรือสาขาอื่นมีน้อย หรือลืมไปว่าวุฒิครูมีหลายสาขา หรือ กศน.อาจไม่ให้ความสำคัญกับรายละเอียด  ควรถาม กศน.ผ่าน กจ.ว่าจะกรุณาแจ้งแก้ไขคุณสมบัติได้ไหม )
             ถ้ากำหนดแค่ 3 สาขา ก็สมัครได้แค่ 3 สาขา

             ผมเห็น กศน.จ.อุบลฯเขาเพิ่มเติมคุณสมบัติด้วยว่า หรือมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู”  ถ้ากำหนดแบบนี้คุณก็สมัครได้
              ( การที่แต่ละจังหวัดกำหนดคุณสมบัติแตกต่างเหลื่อมล้ำกัน ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่  ท่าน ผอ.กจ.กศน.เคยบอกผมว่า ที่ไม่กำหนดเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพราะ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไม่ใช่วุฒิการศึกษา ส่วน ป.บัณฑิต เป็นวุฒิ ที่สูงกว่าปริญญาตรีต่ำกว่าปริญญาโท  ผมเคยโพสต์ประเด็นนี้เช่นในข้อ 5 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/05/130-131.html )

         4. วันที่ 4 ก.พ.59 ผมนำสรุปสาระจากการประชุม ก.ค.ศ.ครั้งที่ 1/59 วันที่ 27 ม.ค.59 เรื่อง การประเมินวิทยฐานะเชิงประจักษ์ (ว13/56 ชำนาญการพิเศษ-เชี่ยวชาญ) มาเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค ว่า

             - รางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป ที่ใช้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอรับการประเมิน มีจำนวน 281 รางวัล ( เดิม 206 รางวัล เพิ่มใหม่อีก 75 รางวัล )  ก.ค.ศ. จะมีหนังสือแจ้งรายชื่อรางวัลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักงาน ก.ค.ศ.
             - ชำนาญการพิเศษ ใช้รางวัลไม่น้อยกว่า 2 รางวัล/เรื่อง, เชี่ยวชาญ ไม่น้อยกว่า 3 รางวัล/เรื่อง
             - ต้องเป็นรางวัลจากผลงานดีเด่นฯ ระหว่าง วันที่ 1 พ.ค.56 – 30 เม.ย.59 (3 ปี)  และผลงานดีเด่นต้องตรงหรือสอดคล้องกับสาขาวิชา/กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ขอรับการประเมิน
             - กำหนดให้ยื่นคำขอ พร้อมแบบรายงานและข้อเสนอในการพัฒนางานต่อผู้บังคับบัญชา ระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย.59
             - จากนั้น ให้เขตพื้นที่การศึกษา และส่วนราชการ พิจารณาคัดกรองคุณสมบัติในเบื้องต้น แล้วเสนอรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ภายในวันที่ 30 ก.ย.59  ( แต่ถ้าเป็นผู้ที่จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย.59 ให้เสนอรายชื่อถึงสำนักงาน ก.ค.ศ. ภายในวันที่ 30 มิ.ย.59 )

             ผู้มีคุณสมบัติที่จะขอรับการประเมินต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับการประเมินทั้ง 3 ด้าน ดังนี้

             ด้านที่ 1  ด้านวินัย คุณธรรมจริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ  ( พิจารณาจากการมีวินัย การประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี การดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม ความรักและศรัทธาในวิชาชีพ และความรับผิดชอบในวิชาชีพ )

             ด้านที่ 2  ด้านความรู้ความสามารถ  ( พิจารณาจากความสามารถในการจัดการเรียนการสอน / ความสามารถในการการบริหารจัดการสถานศึกษา / ความสามารถในการบริหารและการจัดการศึกษา / ความสามารถในการนิเทศการศึกษา และการพัฒนาตนเอง )

             ด้านที่ 3  ด้านผลการปฏิบัติงาน  แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
                     - ส่วนที่ 1  ผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน / ผลการพัฒนาคุณภาพในการบริหารและจัดการสถานศึกษา / ผลการพัฒนาคุณภาพในการบริหารและจัดการศึกษา / ผลการพัฒนาคุณภาพการนิเทศการศึกษา
                     - ส่วนที่ 2  ผลงานดีเด่นที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ( รางวัลระดับชาติขึ้นไป จำนวนรางวัลตามที่กำหนด )
                     - ส่วนที่ 3  ผลงานทางวิชาการ ผลการพัฒนางานตามข้อตกลง  ซึ่งการพัฒนางานตามข้อตกลงจะต้องต่อยอดจากผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง

 

         5. เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ปี 2557 ผมถามสำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ( 02-1277000 ต่อ 4551 ) ได้รับคำตอบว่า พนักงานราชการเป็นประธานกรรมการตรวจรับพัสดุ ได้ โดยไม่ได้กำหนดจำกัดวงเงินไว้ อ้างอิงจาก ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 “ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 7 พ.ศ.2552” ข้อ 35 ( ดูได้ที่ home.kku.ac.th/praud…/law/01_assets/07_2552_assets_edit7.pdf )

             ระเบียบฉบับที่ 7 ปี 2552 นี้ กำหนดไว้ในข้อ 4 ว่า
              ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 35 แห่งระเบียบปี 35  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
               ข้อ 35 คณะกรรมการตามข้อ 34 แต่ละคณะ ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการอีกอย่างน้อย 2 คน ซึ่งแต่งตั้งจาก ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย หรือพนักงานของรัฐ โดยคำนึงถึงลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นสำคัญ ...”

             ที่จริง ก่อนหน้าที่จะมีระเบียบฉบับที่ 7 ออกมาในปี 52 นี้  ก็มีหนังสือตอบข้อหารือก่อนแล้วว่า ให้พนักงานราชการเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุได้  ( ผมจำไม่ได้ว่าหนังสือตอบข้อหารือฉบับนั้น พูดถึงเฉพาะกรรมการ หรือเป็นประธานได้ด้วย และเฉพาะกรณีหน่วยงานไม่มีข้าราชการหรือเปล่า  เพราะเมื่อมีระเบียบฉบับที่ 7 ออกมาชัดเจนแล้ว ผมก็ทิ้งหนังสือตอบข้อหารือนั้นไป ไม่ต้องนำมาใช้อ้างอิงอีกแล้ว )
             ที่ระเบียบเดิม ปี 35 ไม่มีคำว่าพนักงานราชการไว้ เพราะ ปี 35 ประเทศไทยยังไม่มีพนักงานราชการ

             หลังจากนั้น เดือน ม.ค. ปี 58 ผมหารือเรื่องนี้กับกลุ่มงานพัสดุ กลุ่มการคลัง กศน. อีก ได้รับคำตอบว่า ถ้าหน่วยงานมีข้าราชการ ประธานกรรมการต้องเป็นข้าราชการ
             สรุปคือ ถ้าหน่วยงานไม่มีข้าราชการ ให้พนักงานราชการเป็นประธานกรรมการตรวจรับพัสดุได้โดยไม่จำกัดวงเงิน แต่ถ้ามีข้าราชการต้องให้ข้าราชการเป็นประธานกรรมการ

             แต่.. ต่อมา ปลายปี 58 มีผู้บอกว่า ถ้าวงเงินเกินแสน ต้องให้ข้าราชการอำเภออื่นมาเป็นประธาน

             ปลายเดือน ม.ค.59 ผมจึงหารือกลุ่มงานพัสดุ กลุ่มการคลัง กศน. ในเรื่องนี้อีก ครั้งนี้ได้รับคำตอบใหม่ว่า
              เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีผู้ถาม น้องที่กลุ่มงานพัสดุตอบตามระเบียบเดิมว่า ประธานกรรมการต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น ผู้ถามอ้างระเบียบฉบับที่ 7 น้องที่ตอบจึงถามต่อไปที่กรมบัญชีกลาง ( ที่เดียวกับที่ผมถาม ) ได้รับคำตอบว่า จะให้พนักงานราชการใหญ่กว่าข้าราชการได้อย่างไร ประธานต้องเป็นข้าราชการ ส่วนพนักงานราชการเป็นกรรมการ

             วันที่ 2 ก.พ.59 ผมจึงหารือสำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ( 02-1277000 ต่อ 4551 ) อีก เขาก็ยืนยันเหมือนเดิมว่าระเบียบฉบับที่ 7 ชัดเจนแล้ว ประธานกรรมการแต่งตั้งจากพนักงานราชการได้ โดยระเบียบไม่ได้ระบุจำกัดวงเงินไว้ ถ้าส่วนราชการใดจะกำหนด นโยบายเป็นอย่างอื่น เช่นห้ามพนักงานราชการเป็นประธานกรณีวงเงินเกินแสน ก็คงกำหนดได้ แต่ควรกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร

             วันที่ 4 ก.พ.59 ผมหารือกลุ่มงานพัสดุ กลุ่มการคลัง กศน. อีกครั้ง
             ครั้งนี้ หัวหน้า กลุ่มงานพัสดุ ( อรอัญญาญ์ ธีรกรณ์พัฒน์ ) สรุปชัดเจนว่า
             ให้ยึดระเบียบฉบับที่ 7 ซึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรที่อ้างอิงได้ คือ
              พนักงานราชการสามารถเป็นประธานกรรมการตรวจรับพัสดุได้โดยไม่จำกัดวงเงิน แต่ถ้าหน่วยงาน/สถานศึกษานั้นมีข้าราชการ ต้องให้ข้าราชการเป็นประธาน

 

         6. เนื่องจากวันที่ 4 ก.พ.59 กศน.อ.ผักไห่ ยังได้รับหนังสือเรียน กศ.ขั้นพื้นฐานที่จ้างพิมพ์ไม่ครบ ทั้งที่เกินกำหนดส่งแล้ว เวลาผ่านมาเกินกลางเทอมแล้ว ผู้รับจ้างทยอยนำหนังสือมาส่ง 3 ครั้งแล้ว วันนี้ ( 4 ก.พ.59 ) ก็ยังไม่ครบ  หนังสือบางรายการ ( ประถม ) ก็เป็นหนังสือที่พิมพ์ไว้ก่อนกลุ่มพัฒนา กศน.แก้ไขคำผิด

             ผมบอกว่าจะต้องปรับ ( คิดว่าที่ไหนปรับเขาจะรีบส่งก่อน ที่ไหนไม่ปรับเขาจะส่งช้า ) ผู้รับจ้างบอกว่าถ้าปรับก็ปรับเฉพาะส่วนที่ยังไม่ได้ส่ง  ส่วนรายการที่พิมพ์ไว้ก่อนแก้คำผิด จะพิมพ์มาให้ใหม่ แต่ยังไม่กำหนดว่าพิมพ์ใหม่จะส่งเมื่อไร เล่มเก่าที่นำมาส่งแล้ว(ที่ไม่ได้แก้คำผิด)ก็จะยกให้ด้วย ให้นำหนังสือที่ส่งแล้วทั้งหมดไปให้ นศ.ได้เลย
             แต่ต่อมา ผู้รับจ้างก็ทำหนังสือมาขอยกเว้นค่าปรับ ให้เหตุผลว่า เขาไม่ได้ใช้ใบแทรกแก้คำผิดมาประกอบหนังสือเก่าแล้วนำมาส่ง แต่เขาพิมพ์หนังสือขึ้นมาใหม่ จึงล่าช้า
             ผมจึงหารือเรื่องนี้กับหัวหน้ากลุ่มงานพัสดุ กลุ่มการคลัง กศน. เมื่อ
4 ก.พ.59 ได้รับคำตอบว่า
             1)  การจ้างพิมพ์หนังสือ ถ้ายังส่งมอบไม่ถูกต้อง/ครบถ้วน จะยังตรวจรับ/รับมอบ ไม่ได้
             2)  เมื่อยังตรวจรับ/รับมอบไม่ได้ การปรับก็ต้องปรับตามยอดเต็ม ปรับถึงวันที่ส่งมอบถูกต้องครบถ้วน ( ถึงวันที่นำหนังสือที่พิมพ์แก้ไขคำผิดใหม่มาส่งครบถ้วน )
             3)  เมื่อยังตรวจรับ/รับมอบเป็นของเราไม่ได้ ก็ไม่มีสิทธิจะนำหนังสือส่วนที่ได้รับแล้วไปให้ นศ.
             4)  ผู้รับจ้างสามารถทำหนังสือขอยกเว้นค่าปรับมาให้กรรมการตรวจรับฯพิจารณาได้ เหตุผลเช่น ผู้จ้างส่งมอบต้นฉบับให้ช้า เป็นความบกพร่องของผู้จ้าง จึงจะพิจารณายกเว้นค่าปรับได้  แต่เหตุผลที่ว่าเขาพิมพ์ใหม่ไม่ได้ใช้หนังสือเก่ามาแทรกใบแก้คำผิดจึงล่าช้า นั้น เป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้องเพราะต้นฉบับที่ใช้จ้างพิมพ์เป็นต้นฉบับที่แก้คำผิดแล้ว และเรามอบให้ตั้งแต่ทำสัญญาหรือสั่งจ้าง เขารู้ตั้งแต่รับจ้างแล้วว่าต้องพิมพ์เหมือนต้นฉบับ

 

         7. คืนวันที่ 8 ก.พ.59 มี ผอ.กศน.อ. ถามผมทางไลน์ ว่า  ย้ายข้าราชการครูและบุคลากรรอบนี้ 1-15 ก.พ. ผู้บริหารย้ายด้วยป่าว

             ผมตอบว่า   ตามหลักเกณฑ์ข้อ 3.1 ในหนังสือสำนักงาน กศน. กำหนดให้ผู้บริหารสถานศึกษาขอย้ายกรณีปกติปีละครั้งเดียว ในช่วง 1-15 ส.ค. ( ดูหนังสือนี้ได้ที่  https://db.tt/LbkfNeHq )