วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

1.ประเด็นที่น่าสนใจจากท่านรองฯและ กจ., 2.ผู้เทียบระดับฯ เข้าสัมมนาไม่ตลอดหลักสูตร, 3.โปรแกรม ITw (ปัญหาการแยกเครื่อง),4.อย่างไรจึงจะเป็น "หลักสูตร", 5.เพิ่งมายื่นขอจบหลังวันอนุมัติจบ-อนุมัติจบนานแล้ว ผอ.คนเก่าไม่ได้ออกใบ รบ., 6.ใบสมัคร นศ. เก็บกี่ปีจึงจะทำลายได้, 7.สอน กศน.ไม่ติดต่อกัน ใช้เป็นประสบการณ์การสอน 1 ปี เพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้
 

         1. วันที่ 2-3 มิ.ย.59 ผมฟังท่านรองฯกิตติศักดิ์ กับท่าน ผอ.สัจจา บรรยายใน "โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกและค่านิยมให้ผู้บริหารสถานศึกษาบริหารงานตาม หลักธรรมาภิบาล" แก่ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอ/เขต ณ โรงแรมหรรษาเจบี หาดใหญ่ สงขลา ( ได้ฟังเพียงบางส่วน ไม่ได้ฟังตลอด )   มีประเด็นที่น่าสนใจ มาเล่าต่อ คือ

             1)  หนังสือเรียนวิชาเลือกบังคับ จะใช้วิธีซื้อไม่ได้ ต้องใช้วิธีจ้าง เพราะลิขสิทธิเนื้อหาเป็นของ กศน.  กำลังจะให้องค์การค้า สกสค. เป็นผู้พิมพ์จำหน่ายในภาคเรียนหน้า  ( รวมทั้งหนังสือเรียนวิชาเลือกที่สถานศึกษาพัฒนาเนื้อหาขึ้น ก็ต้องใช้วิธีจ้าง )
                  ส่วนหนังสือเรียนวิชาบังคับ จะใช้วิธีซื้อหรือจ้างก็ได้ โดยถ้าเอกชนเป็นผู้พัฒนาเนื้อหาก็ใช้วิธีซื้อ ถ้าพิมพ์ตามต้นฉบับของ กศน.ก็ใช้วิธีจ้าง

                  ปัญหาคือ ถ้าสถานศึกษาจะแบ่งงบประมาณค่าหนังสือเรียนที่ได้รับ ออกเป็นสองส่วน เช่นจ้างพิมพ์วิชาเลือก และซื้อวิชาบังคับ จะถือเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างซึ่งจะทำไม่ได้ หรือไม่
                  ประเด็นนี้ ถ้า การแบ่งงบประมาณแล้วทำให้เปลี่ยนอำนาจผู้ซื้อจากจังหวัดเป็นอำเภอ และ/หรือ เปลี่ยนวิธีซื้อ/จ้าง จากวิธีสอบราคา/ประกวดราคา เป็นวิธีตกลงราคา ก็จะเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างที่ห้ามทำ
                  แต่ถ้าวงเงินทั้งหมดที่สถานศึกษาได้รับไม่เกินห้าแสนบาท สถานศึกษาซื้อเองโดยวิธีตกลงราคาอยู่แล้ว แม้จะแบ่งเป็นสองส่วน ซื้อบางส่วนจ้างบางส่วน ก็ยังซื้อ/จ้างโดยสถานศึกษา ด้วยวิธีตกลงราคาเช่นกัน สามารถทำได้ ไม่ถือเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง

             2)  หนังสือเรียนวิชาเลือกบังคับ จะเป็น "ชุดวิชา" คือ 1 วิชามีมากกว่า 1 เล่ม/รายการ ( หนังสือเรียน กับ สมุดบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้ )
                  วิชาบังคับ ภาคเรียนต่อไปก็จะเปลี่ยนเป็นชุดวิชา
                  สามารถใช้งบที่จัดสรรเป็นค่าหนังสือเรียน จ้างได้ทั้ง 2 เล่ม/รายการ โดยภาคเรียนแรกอาจจ้างเท่ากันทั้ง 2 อย่าง ส่วนภาคเรียนต่อ ๆ ไป อาจจ้างพิมพ์สมุดบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้มากกว่า หรือจ้างพิมพ์เฉพาะสมุดบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้

             3)  จุดสำคัญในการพิจารณาใบเสนอราคา มี 3 อย่าง
                  - จำนวนเงินที่เสนอราคา  ( ตรวจสเป็คก่อน ถ้าสเป็คถูกต้อง และไม่ผิดเงื่อนไข จะต้องซื้อ/จ้างจากรายที่เสนอราคาต่ำสุด )
                  - ต้องมีลายมือชื่อผู้เสนอราคาที่มีอำนาจตามกฏหมาย
                  - ต้องมีกำหนดวันส่งมอบ

             4)  สัญญาซื้อ/จ้าง สามารถแก้ไขได้ถ้ามีเหตุผลความจำเป็น โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้จนถึงก่อนวันตรวจรับ
                  หลักประกันสัญญา เก็บในที่ปลอดภัย แต่ไม่ต้องเก็บในตู้เซฟ

             5)  การซื้อ/จ้าง หนังสือเรียน ถ้าส่งของไม่ครบถ้วน ให้คำนวณค่าปรับและจำนวนวันที่ปรับ เฉพาะส่วนที่ยังส่งไม่ครบเท่านั้น

             6)  ถ้าเราส่งมอบต้นฉบับ/ส่งมอบพื้นที่ ช้า กี่วัน ให้ขยายเวลาเท่านั้น

             7)  ใช้เงินอุดหนุน จ้างเหมาบริการในตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน กศ.ขั้นพื้นฐานโดยตรง ไม่ได้ เช่นจ้างในตำแหน่ง จนท.การเงิน บัญชี แม่บ้าน ทำความสะอาด ไม่ได้

             8)  การเปิดสอบบรรจุครูผู้ช่วยครั้งต่อไป ( ยังไม่มีกำหนด ) เราถูกกำหนดให้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม เช่นเดียวกับ สพฐ. คือกลุ่มที่รับเฉพาะคนในสังกัด กับกลุ่มที่รับบุคคลทั่วไป และ ต้องกำหนดวิชาเอก
                  เราจะแบ่งเป็นกลุ่มที่รับบุคคลทั่วไปน้อยกว่า อาจจะแบ่งรับคนทั่วไป 30 % และรับคนในสังกัด 70 %  ( สอบกลุ่มคนในให้เสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วจึงเปิดรับสมัครกลุ่มคนทั่วไป โดยคนในสังกัดก็สามารถสมัครในกลุ่มคนทั่วไปได้อีก )
                  ในส่วนของการกำหนดวิขาเอก ก็จะสำรวจจากวุฒิของพนักงานราชการที่เป็นคนในสังกัดว่าจบเอกอะไรกันมา แล้วกำหนดรับวิชาเอกตามนั้น

             9)  สิ่งที่เราทำผิด ตามที่หน่วยงานภายนอกที่มาตรวจสอบ ชี้มูล เรื่องหนึ่งคือ เราไม่ทำ "แผนการจัดซื้อจัดจ้าง/แผนการจัดซื้อจัดหาพัสดุ"  ( ประเด็นนี้ หน่วยงาน/สถานศึกษา ต้องแก้ไข )
                  การซื้อการจ้างราคาเกิน 100,000 บาท ต้องตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง
                  ถ้าของบฯเพิ่มเติมได้ ก็ซื้อเกินราคากลางได้ แต่ไม่เกิน 10 %

         2. วันที่ 2 มิ.ย.59 ผมไปราชการที่หาดใหญ่ มี ผอ.กศน.อำเภอ ถามผมเรื่อง ผู้เทียบระดับฯ เข้าสัมมนาวิชาการไม่ตลอดหลักสูตร จะผ่านหรือไม่

             เรื่องนี้   ที่หน้า 18 ข้อ 7.3.5 ในคู่มือดำเนินงานการประเมินเทียบระดับการศึกษา (แนวใหม่) ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2555  ( ดูได้ที่ http://trang.nfe.go.th/UserFiles/Pdf/Operations.pdf )  กำหนดว่า
             ต้องเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาวิชาการไม่น้อยกว่าร้อยละ 80  ( 24 ชม. จาก 30 ชั่วโมง )

             โดยในเรื่องการสัมมนาวิชาการนี้ใช้ลักษณะและหลักเกณฑ์เดียวกันทั้งเทียบระดับฯแบบเดิมและเทียบระดับฯสูงสุดฯ
             ( ในคู่มือนี้ กำหนดการสัมมนาวิชาการว่า ไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน  แต่ตอนหลังมีการกำหนดใหม่เป็น 3 วัน 2 คืน หรือ 30 ชั่วโมง )

         3. วันที่ 16 มิ.ย.59 มี ผอ.กศน.อำเภอ ถามผมเรื่องการแยกเครื่องคอมฯโปรแกรม ITw ( ถามในระหว่างการเป็นวิทยากรบรรยายของผม ) ว่า  การแยกเครื่องคอมฯให้แต่ละ กศน.ตำบลลงข้อมูลบางอย่างในโปรแกรมเอง อาจมีบางคนรู้วิธีหารหัสผ่านของนายทะเบียนและสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลอื่นที่เราไม่ได้กำหนดสิทธิให้เข้าถึงข้อมูล ได้ เช่นแก้ผลการเรียนของภาคเรียนเก่า จะมีวิธีป้องกันหรือไม่

             เรื่องนี้   ผมได้ถามคุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.59 คุณสุขุมบอกว่า จะปรับปรุงโปรแกรมให้เมื่อนายทะเบียนนำข้อมูลจากเครื่องคอมฯตำบล มาอิมพอร์ตนำเข้าเครื่องอำเภอ ให้สามารถเลือกได้ว่า นำเข้าเฉพาะข้อมูลใด ของตำบลใด ภาคเรียนใด ข้อมูลที่ไม่ได้ให้เขาบันทึกก็จะไม่มาลงในเครื่องอำเภอ

         4. เย็นวันเดียวกัน ( 16 มิ.ย. ) มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  กำหนดการ การจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ ซึ่งระบุ เช่น
             9.00-10.00  ประวัติของโรคเอดส์
             10.00-11.00  การใช้ถุงยางอนามัย
             11.00-12.00  การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ในสังคม
             แบบนี้ถือว่าเป็นหลักสูตรการอบรมได้ไหม
             เป็นที่ถกเถียงกัน  ผอ.บางท่านบอกได้ บางท่านบอกไม่ได

             ผมตอบว่า   อย่างนี้เรียกว่า กำหนดการ/ตารางการอบรม ไม่ใช่หลักสูตร
             หลักสูตร จะประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ เช่น
             - ชื่อหลักสูตร
             - ระบุ เรื่อง/หัวเรื่อง/หรือหัวข้อเนื้อหาย่อย ที่ระบุ จุดประสงค์การเรียนรู้(ตัวชี้วัด)/เนื้อหาย่อ/จำนวนชั่วโมง ของแต่ละเรื่อง
             - การวัดผลและประเมินผล

         5. วันที่ 17 มิ.ย.59 มีผู้โทร.มาถามผมว่า

             1)  ภาคเรียนที่ 2/58 อนุมัติการจบหลักสูตรไปแล้ว แต่มี นศ.บางคนเพิ่งจะมายื่นขอจบหลักสูตรตอนนี้  จะทำอย่างไร
                  ผมตอบว่า   ถ้าเขาจบ ( ครบเงื่อนไข 4 ข้อ ) ตั้งแต่ภาค 2/58 ก็อนุมัติการจบหลักสูตรย้อนหลังให้เขาได้ โดยภาคเรียนหนึ่ง ๆ อนุมัติการจบกี่ครั้งก็ได้ อนุมัติการจบย้อนหลังไปก่อนวันที่เขายื่นขอจบก็ได้ ( ไม่มีระเบียบให้อนุมัติจบหลังยื่นขอจบ  ปกติการอนุมัติจบแต่ละครั้งต้องอนุมัติให้ทุกคนที่ผ่านเงื่อนไขครบ 4 ข้อแล้ว แม้ยังไม่ยื่นขอจบก็ตาม )

             2)  นศ.เก่า อนุมัติจบไปนานแล้ว แต่ยังไม่ได้ออกใบ รบ.   ในแนวทางการดำเนินงานระบุว่าให้ออกใบ รบ.ภายใน 30 วัน หลังวันอนุมัติจบ ตอนนี้เกินนานแล้ว เปลี่ยน ผอ.แล้ว  ผอ.คนใหม่บอกให้ยกเลิกการอนุมัติจบครั้งก่อน แล้วอนุมัติจบใหม่ เพื่อจะออกใบ รบ. จะทำได้ไหม
                  ผมตอบว่า   การจะยกเลิกการอนุมัติจบ ต้องมีเหตุผลเช่น อนุมัติจบไปแล้วพบภายหลังว่าไม่จบ  เมื่อยกเลิกแล้วก็ไม่อนุมัติจบให้รายนี้อีก  แต่กรณีนี้ยกเลิกการอนุมัติจบไม่ได้
                  ให้นายทะเบียนและ ผอ.คนใหม่ ออกใบ รบ.ให้ได้เลย แม้จะอนุมัติจบไว้นานแล้วก็ไม่เป็นไร  ( ที่ว่าคู่มือฯกำหนดให้ส่งภายใน 30 วัน นับจากวันอนุมัติการจบหลักสูตร นั้น คือ รายงานผู้สำเร็จการศึกษา ไม่ใช่ใบ รบ.)  ผอ.คนที่อนุมัติจบ เป็นคนละคนกับ ผอ.ที่ออกใบ รบ.ก็ไม่เป็นไร  วันที่อนุมัติจบใช้วันที่เดิม ส่วนวันที่ใต้ลายเซ็น ผอ.ในใบ รบ. เป็นวันที่ ผอ.คนปัจจุบันเซ็น

         6. เย็นวันที่ 16 มิ.ย.59 มี ผอ.กศน.อำเภอ ถามในระหว่างการเป็นวิทยากรบรรยายของผม ว่า  ใบสมัครของ นศ. ต้องเก็บไว้กี่ปีจึงจะทำลายได้

             เรื่องนี้   “หลักฐานการศึกษา” บางอย่างทำลายไม่ได้ สถานศึกษาต้องจัดเก็บไว้ตลอดไป ได้แก่
             1)  กศน. 1, 3-5 ( ระเบียนแสดงผลการเรียน รายงานผู้สำเร็จการศึกษา บันทึกผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน รายงานสรุปผลการเรียน )
             2)  ทะเบียนคุมใบประกาศนียบัตร
             3)  สมุดทะเบียนนักศึกษา

             แต่  “เอกสารการศึกษา” สามารถทำลายได้ตามระเบียบงานสารบรรณ ได้แก่
             ใบสมัครขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา ใบลงทะเบียนเรียน ใบลงทะเบียนกิจกรรม กพช. ใบลงทะเบียนรักษาสถานภาพฯ กระดาษคำตอบและใบลงลายมือชื่อผู้เข้าสอบ ใบลงทะเบียนเทียบโอน หลักฐานการเทียบโอน

             การทำลายหนังสือราชการ รวมทั้งเอกสารการศึกษานี้ ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ ซึ่งในระเบียบได้กำหนดวิธีการและแบบฟอร์มไว้แล้ว  โดยคำว่า “หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม” ในระเบียบนี้ สำหรับ กศน. ให้หมายถึง ผอ.สนง.กศน.จ./กทม. เพราะได้รับมอบอำนาจตามคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 531/2551 ลงวันที่ 29 เม.ย.51 ข้อ 7   ( กรณีเอกสารอยู่ที่อำเภอ ถ้าจังหวัดจะให้อำเภอทำลาย จังหวัดต้องเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งให้บุคลากรของอำเภอเป็นกรรมการทำลายฯ )
             ดูระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ ฉ.2 พ.ศ.2548 ได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2548/00171494.PDF
             ระเบียบฉบับนี้ กำหนดไว้ว่า
             ข้อ 57 อายุการเก็บหนังสือ โดยปกติให้เก็บไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี เว้นแต่หนังสือดังต่อไปนี้
                    57.5  หนังสือที่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญซึ่งไม่มีความสำคัญ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เมื่อดำเนินการ “แล้วเสร็จ” ให้เก็บไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี

             อย่างไรก็ตาม แม้ใบสมัครจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญซึ่งไม่สำคัญ แต่ใบวุฒิเดิมที่ประกอบใบสมัครหรือประกอบการเทียบโอน มีความสำคัญ จึงควรเก็บใบสมัครพร้อมเอกสารประกอบไว้จนกว่า นศ.จะเรียนจบหรือพ้นสภาพ และเก็บต่อไปอีก 1 ปี จึงค่อยดำเนินการทำลายตามขั้นตอนของระเบียบสารบรรณ

         7. เย็นวันที่ 20 มิ.ย.59 Pop Pariyakorn ถามในข้อความแฟนเพจเฟซบุ๊คผม ว่า  มีใบอนุญาตปฏิบัติการสอน (จากการเทียบโอน สอบ และอบรมมาตรฐานวิชาชีพครูครบ 9 มาตรฐาน) แล้วมาเป็นครูอาสาสมัคร กศน.  จะใช้การสอนที่ กศน. เป็นประสบการณ์การสอน 1 ปีเพื่อประกอบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้หรือเปล่า โดยใน 1 ปี สอนไม่ติดต่อกัน มีเว้นช่วง

             ผมตอบว่า   ใช้การสอนที่ กศน.เป็นประสบการณ์สอน 1 ปี ประกอบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้
             ส่วนเรื่องการสอนเว้นช่วง เพื่อความมั่นใจผมเรียนถามท่าน อ.สมกมล คุรุสภา ได้รับคำตอบว่า เว้นช่วงได้ ขอให้สัญญาจ้างเป็นครูผู้สอน นับรวมกันได้ครบ 1 ปีเต็ม ( 365 วัน )