วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

1.การทำวิทยฐานะ, 2.ต้องสอนวิชาชีพเดียวกันทุกตำบลในอำเภอหรือ? (1 อำเภอ 1 อาชีพ ), 3.ครูที่ไม่ใช่หัวหน้า กศน.ตำบล ลงนามในบันทึกข้อความได้ไหม, 4.แก้ไข การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก สพฐ., 5.ทำไม DMIS ไม่ให้ลงสอนเกินวันละ 3 ชั่วโมง, 6.การเงินจังหวัดให้ยืมเงินสอบปลายภาค แยกวิชาบังคับกับวิชาเลือก, 7.นศ.ไม่สามารถมาประเมินการรู้หนังสือ มีผลต่อการจบไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 20 ก.พ.60 ผมถาม ก.ค.ศ. เรื่องการทำวิทยฐานะ ได้คำตอบดังนี้

             - ถ้าจะยื่นขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะในตอนนี้ ให้ยื่นแบบดั้งเดิมเท่านั้น ( แบบทำผลงานวิชาการ ) ตาม ว 17 ลว.30 ก.ย.52 ( ทั่วไป ) หรือ ว 10 ลว.29 ก.ค.54 ( ชายแดนใต้ )
             - แบบ ว 13 ลว.1 ส.ค.56 ( ประเมินผลงานเชิงประจักษ์ สำหรับผู้ได้รับรางวัลระดับชาติ ) นั้น ผู้ที่ยังไม่ได้ยื่น ยื่นไม่ได้แล้ว ยกเลิกแล้ว
             - แบบ ว 7 ลว.11 พ.ค.58 ( P.A. : Performance Agreement ประเมินตามข้อตกลงในการพัฒนางาน ) ยังไม่เคยนำมาใช้ปฏิบัติ และจะไม่นำมาใช้ ( เลิกแล้ว )
             - ขณะนี้กำลังจัดทำแบบใหม่ คาดว่าจะประกาศใช้ในเดือน ก.ค.60 ( ถ้าไม่เปลี่ยน รมว.ใหม่อีกเสียก่อน )  แบบใหม่นี้ ระดับชำนาญการพิเศษคงจะไม่ต้องทำผลงานทางวิชาการ ทำเฉพาะระดับเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ

         2. วันที่ 21 ก.พ.60 ไออุ่น สุดน่ารัก ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  โครงการ หนึ่งอำเภอ หนึ่งอาชีพ ตามที่ได้รับจัดสรรมานั้น มีผู้ให้ข้อมูลมาว่า ในอำเภอ ไม่ว่าจะกี่ตำบลก็ตาม ทุกตำบลจะต้องจัดกิจกรรมอาชีพเดียวกันทั้งหมด หากจะทอผ้า ทุกตำบลจะต้องทอผ้า
             ขอความความกระจ่างด้วย

             ผมตอบว่า   งบฯ 1 อำเภอ 1 อาชีพ เป็นงบฯที่แยกต่างห่างจากงบฯที่จัดสรรให้ระดับตำบล แต่เป็นงบฯที่ให้ กศน.อำเภอเป็นผู้ดำเนินงานในระดับอำเภอ จัดสรรให้อำเภอละ 30,000 บาท/ครึ่งปี
             งบฯ 30,000 บาทนี้อำเภอก็ใช้จัด 1 อาชีพ ไม่เกี่ยวกับงบอื่น

         3. วันเดียวกัน ( 21 ก.พ.) Boykung Biw ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ตำแหน่ง ครู กศน.ตำบล ที่ไม่ใช่หัวหน้า กศน.ตำบล. สามารถลงนามในบันทึกข้อความได้หรือป่าว เช่น เบิกวัสดุ โครงการต่างๆ ส่งสรุปผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ ที่เราจัดขึ้น  ( ฉันจัดโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนเพื่อการมีงานทำ ดำเนินการและทำสรุปผลการดำเนินงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำบันทึกข้อความนำส่งเพื่อที่จะส่งสรุปผลให้ กศน. อำเภอ )  ฉันสามารถที่จะลงนามในบันทึกข้อความได้หรือไม่ หรือต้องให้หัวหน้า กศน.ตำบลมีสิทธิ์ลงนามเท่านั้น

             ผมตอบว่า   โดยปกติในการปฏิบัติงานนั้น บันทึกข้อความระหว่าง กศน.ตำบลกับ กศน.อำเภอ ไม่ใช่หนังสือภายนอก บุคลากรทุกคนลงนามในบันทึกข้อความได้
             แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในการบริหารจัดการของ ผอ.กศน.อำเภอ แต่ละราย ว่า ถ้าเป็นงานประจำตามสายงานปกติ จะให้บุคลากรแต่ละรายบันทึกเสนอโดยตรง หรือจะให้เสนอผ่านการลงความเห็น/ลงนามผ่านเรื่องของ หัวหน้า กศน.ตำบล / หัวหน้ากลุ่มงาน/ฝ่าย อย่างไรหรือไม่ หรือจะให้หัวหน้า กศน.ตำบลเป็นผู้บันทึกเสนอตั้งต้น ก็ได้
             กรณีที่ถามนี้ ถือเป็นงานประจำตามสายงานปกติ ลงนามได้ แต่ควรให้หัวหน้า กศน.ตำบล ลงนาม(และความเห็น ถ้ามี)ต่อท้ายที่เราลงนาม หรือด้านริมซ้ายของบันทึก ด้วย  ( หรือ ผอ.กศน.อำเภอ จะกำหนดเป็นอย่างอื่นก็ได้ )

         4. คืนวันที่ 22 ก.พ.60 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก เรื่องแก้ไขการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก สพฐ. ว่า

             ให้ กศน.อำเภอ สำรวจข้อมูลและประสานงาน เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อนำโรงเรียนขนาดเล็กที่เลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าสู่กระบวนการส่งคืนกรมธนารักษ์ เสร็จแล้ว กศน.ขอใช้ที่ราชพัสดุเพื่อประโยชน์ในราชการสำนักงาน กศน. กับกรมธนารักษ์
             - ถ้า เขตพื้นที่ฯส่งคืนโรงเรียนขนาดเล็กให้แก่กรมธนารักษ์ และ กศน.ขอใช้ที่ราชพัสดุเพื่อประโยชน์ในราชการสำนักงาน กศน. กับ กรมธนารักษ์ เรียบร้อยแล้ว
                ให้ กศน.อำเภอดำเนินงานโครงการศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตชุมชน และรายงานผลการดำเนินงานโครงการฯ

             - ถ้า เขตพื้นที่ฯไม่มีแผนที่จะส่งคืนโรงเรียนขนาดเล็กให้แก่กรมธนารักษ์ และ/หรือ เขตพื้นที่ฯมีแผนที่จะยังใช้ประโยชน์โรงเรียนขนาดเล็กที่เลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
                ให้ กศน.อำเภอ ทำหนังสือชี้แจงส่งผ่านจังหวัดไปยังสำนักงาน กศน.
                และไม่ต้องดำเนินงานโครงการศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตชุมชน รวมทั้งไม่ต้องรายงานผลการดำเนินงานโครงการฯ
             ดูรายละเอียดในหนังสือแจ้ง ที่
            
https://www.dropbox.com/s/1nelthku6t1khm1/smallschooledit.zip?dl=1

         5. วันที่ 24 ก.พ.60 มี ผอ.กศน.อำเภอ โทร.มาถามผม ว่า  ทำไมระบบ DMIS ไม่สามารถบันทึกว่าสอนมากกว่าวันละ 3 ชั่วโมง

             ผมตอบว่า   ถ้า จัดในรูปแบบ กลุ่มสนใจมีข้อสั่งการ-นโยบาย ปี 60  ( ดาวน์โหลดได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/briefPolicy60.pdf )  กำหนดว่า
             กลุ่มสนใจวันละไม่เกิน 3 ชั่วโมง

         6. เช้าวันเสาร์ที่ 25 ก.พ.60 Nana Veo ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  เรื่องวัดผลประเมินผลปลายภาคเรียน
             1)  ควรทำโครงการและยืมเงินแยกวิชาบังคับและวิชาเลือกหรือไม่ เพราะเคยทำรวมทั้งโครงการและยืมเงินทีเดียวทั้งสอบวิชาบังคับและวิชาเลือก แต่การเงินจังหวัดบอกว่าควรทำแยกบังคับกับเลือก
             2)  ค่าตอบแทนคนงาน/นักการภารโรง สอบปลายภาค ให้เท่าไหร่  ดูระเบียบที่ อ.เคยโพสต์ไว้แล้ว ไม่ได้ระบุจำนวนเงินว่าให้เท่าไหร่
             ขอความกระจ่างเพื่อจะได้ทำให้ถูกต้อง

             ผมตอบว่า
             1)  หลักการยืมเงินคือ การจ่ายเงินต้องจ่ายหลังทำงานเสร็จ จะจ่ายก่อนสอบไม่ได้ และจะยืมเงินมาเก็บไว้ก่อนถึงเวลาจ่ายนานไม่ได้

                  ฉะนั้น ถ้าการสอบวิชาบังคับและวิชาเลือก แยกห่างกันมาก ถ้ายืมเงินมาพร้อมกันจะต้องเก็บเงินไว้หลายวันกว่าจะจ่ายเงินหมดทั้งสองอย่าง จึงต้องแยกการยิมเงิน  ถ้าห่างกันไม่มาก ให้อยู่ในดุลยพินิจของ ผอ.จังหวัดว่าควรให้แยกยืมหรือไม่ แต่ถ้าสอบพร้อมกันควรยืมรวมกัน

             2)  ตามระเบียบระบุว่า ค่าตอบแทนกรรมการ เจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบ อัตราต่อคน ไม่เกิน 300 บาทต่อครึ่งวัน, ไม่เกิน 600 บาทต่อวัน
                  ( ดูระเบียบได้ในข้อ 1 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/481090 )
                  นั่นคือ ไม่ว่าจะเป็นนักการภารโรงหรือ ผอ. ถ้าเป็น กรรมการ เจ้าหน้าที่จำนวนคนตามระเบียบ ก็เบิกจ่ายเท่ากันได้  ( ตอนนี้ค่าเบี้ยเลี้ยง ก็ยังเท่ากันตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 8 เพราะแต่ละคนก็ต้องทานอาหารให้อิ่มพอ ๆ กัน ไม่ว่าจะระดับตำแหน่งอะไร )
                  การอ่านระเบียบ หรือจะทำอะไรก็ตาม ต้องใช้การ คิดวิเคราะห์ซึ่ง ความรู้พื้นฐานจะช่วยให้คิดวิเคราะห์ได้ดี

         7. วันอาทิตย์ที่ 26 ก.พ.60 Watcharayut Man ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  นักศึกษาที่จะต้องเข้าทดสอบการประเมินการรู้หนังสือ ถ้าไม่สามารถมาทดสอบได้ จะมีผลต่อการจบของนักศึกษาหรือเปล่า เป็นเกณฑ์การจบเพิ่มมาอีกข้อใช่มั้ย

             เรื่องนี้  กลุ่มพัฒนา กศน. บอกว่า ไม่ใช่เกณฑ์การจบ ไม่มีผลต่อการจบของ นศ. แต่นโยบายให้ประเมินทุกคน และรายงานระดับการรู้หนังสือแต่ละราย
             ( ถ้ารายใดมีเหตุผลแจ้งได้ว่า มีเหตุจำเป็นอะไรตลอดเวลา 2 เดือนเต็ม แล้วยังมีสิทธิสอบปลายภาค ก็จบได้ )


วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

1.ไม่อยากให้คนปลอมวุฒิลอยนวล, 2.วุฒิปลอม, 3.บ้านหนังสือชุมชน, 4.ไม่อยากออกใบรับรองว่าเป็นนักศึกษา, 5.ใครรับรองความสามารถผู้สมัครเป็นวิทยากร กศ.ต่อเนื่อง, 6.สายงานบรรณารักษ์ยังไม่มีเงินประจำตำแหน่ง, 7.บ้านหนังสือชุมชน มีโลโก้มั๊ย





สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 7 ก.พ.60 ผอ.ณัฐพงษ์ กศน.เขตตลิ่งชัน โทร.มาถามความเห็นผม ว่า  มี นศ.เรียนจบระดับประถมที่ กศน.เขตตลิ่งชัน และเรียนต่อ ม.ต้นได้เทอมเดียวก็ลาออก และหลังจากลาออกไปได้เพียงเทอมเดียวก็กลับมาสมัครเรียน ม.ปลาย โดยมีใบวุฒิ ม.ต้นจากโรงเรียนเอกชน ( วันเริ่มเรียน ม.ต้น ในใบวุฒิ ม.ต้น ซ้อนกับช่วงที่เรียนระดับประถม แต่ก็ระบุ "วุฒิเดิม" เป็นจบระดับประถมจาก กศน.เขตตลิ่งชัน ) จึงค่อนข้างมั่นใจว่าได้ใบวุฒิ ม.ต้น มาโดยไม่ถูกต้อง
             แต่ เมื่อส่งใบวุฒิ ม.ต้นนั้นไปตรวจสอบที่โรงเรียนเอกชนที่จบมา โรงเรียนเขาก็รับรองวุฒิกลับมาว่าเป็นใบวุฒิของโรงเรียนเขาถูกต้อง
             จะทำอย่างไร  รู้อยู่ว่าเป็นใบวุฒิที่ไม่ถูกต้อง จะแจ้งความก็คงไม่มีสิทธิแจ้ง เพราะโรงเรียนเอกชนเขารับรองว่าไม่ใช่วุฒิปลอม แต่ก็ไม่อยากให้คนทำผิดลอยนวล ถ้าทำอะไรไม่ได้ วุฒิปลอมก็เต็มเมือง มีแต่คนบ่น แต่ไม่ค่อยมีคนลงมือแก้ปัญหาให้บ้านเมือง

             ผมเสนอว่า  กรณีนี้ น่าจะทำหนังสือส่งเอกสารไปแจ้ง สช. ( ต้นสังกัดของโรงเรียนเอกชน ) ให้ สช.ตรวจสอบที่โรงเรียนเอกชนนั้น
              ( ผอ.เขตตลิ่งชันบอกว่าจะปรึกษาท่าน ผอ.สนง.กศน.กทม. ก่อน )

         2. วันที่ 9 ก.พ.60 ผมเรียนถามท่านวรวิทย์ รก.ผอ.กจ. กศน. เรื่องวุฒิปลอม ว่า ใครเป็นผู้แจ้งความแน่ เพราะตำรวจไม่ค่อยยอมรับแจ้งความ เนื่องจากไม่ได้นำวุฒิปลอมมาใช้ในท้องที่เขา

             ท่านบอกว่า   ตำรวจต้องรับแจ้งความ
             เมื่อ กศน.อำเภอ ผู้ถูกอ้างชื่อว่าเป็นผู้ออกใบวุฒิปลอมนั้น ทราบเรื่อง ต้องเป็นผู้ไปแจ้งความในเบื้องต้นที่สถานีตำรวจในท้องที่ กศน.อำเภอนั้น แล้วรายงานผ่านจังหวัดไปให้ส่วนกลางมอบอำนาจให้จังหวัดดำเนินคดีอาญาต่อไป

         3. เย็นวันที่ 8 ก.พ.60 นางวรรณา ดินนุ้ย ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ปี 60 นี้ บ้านหนังสือชุมชนต้องมี 2 แห่ง / 1 คน ใช่ไหม  ถ้าตำบลฉันมี 2 คน ก็สี่แห่งใช่ไหม

             ผมตอบว่า   ใช่  ครูรับผิดชอบส่งเสริมบ้านหนังสือชุมชน คนละ 2 แห่ง

         4. เช้าวันเสาร์ที่ 11 ก.พ.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  การที่มีนักศึกษามีคดีความต่าง ๆ แล้วขึ้นศาล หรือสถานพินิจต่าง ๆ รวมทั้งเยาวชนและที่ไม่เป็นเยาวชนมีคดี โดยเฉพาะยาเสพติด ก็มีทนายและเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ แนะนำให้บุคคลที่ต้องโทษมาขอใบรับรองว่าเป็นนักศึกษาจะได้ลดหย่อนโทษ..ทั้งที่มีคดีมาก่อนหน้านั้นแล้วมาสมัครเรียน.. ถามว่ามีระเบียบอะไรมั้ยหรือข้อตกลงความร่วมมือต่าง ๆ ถ้าไม่ออกใบรับรองให้จะเป็นอะไรมั้ย (บ้างคนก็ทำผิดซ้ำซากอยู่นั่นแหละไม่สำนึกอะไร)

             ผมตอบว่า   ถ้าเขาขอหนังสือรับรองว่า "กำลังเป็นนักศึกษา"  และเขากำลังเป็นนักศึกษาเราจริง ยังไม่พ้นสภาพ ก็ควรออกหนังสือรับรองให้เขา ( ถ้าอยากระบุข้อมูลเพิ่มว่า เริ่มเป็นนักศึกษาตั้งแต่เมื่อไร ก็ระบุได้ตามความจริง )

             โดยทั่วไป ผอ.กศน.อำเภอ สามารถออกหนังสือรับรองได้ในเรื่องที่เป็นความจริงและเป็นเรื่องที่อยู่ในบทบาทความรับผิดชอบของ กศน.อำเภอ
             ( ผมเคยตอบเรื่องการออกหนังสือรับรอง ในข้อ 5.3 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/535023 )

         5. คืนวันเสาร์ที่ 11 ก.พ.60 มีครูอาสาฯใน จ.พระนครศรีอยุธยา ถามผมทางไลน์ว่า  ใครรับรองความรู้ความสามารถและประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ ของผู้สมัครเป็นวิทยากร กศ.ต่อเนื่อง ( กลุ่มสนใจ/ชั้นเรียนวิชาชีพ )  ครู กศน.ตำบล รับรองได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   เมื่อไม่มีการกำหนดลักษณะ/คุณสมบัติของผู้รับรองไว้ ก็ต้องแล้วแต่ ผอ.กศน.อำเภอ/เขต จะกำหนดหรือไม่ กำหนดว่าอย่างไร ถ้า ผอ.ไม่กำหนด ผู้รับรองก็จะเป็นใครก็ได้ที่ผู้สมัครเห็นว่ามีศักยภาพที่ ผอ.จะเชื่อถือ

         6. วันเสาร์ที่ 18 ก.พ.60 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค ว่า  สายงานบรรณารักษ์ยังไม่มีเงินประจำตำแหน่ง
             ปัจจุบัน ( 2560 ) กฎ ก.ค.ศ.กำหนด ตำแหน่ง/สายงาน ของบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง จำนวน 7 สายงาน ดังนี้
             ก.  ตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับต้นและระดับสูง ได้แก่
                  - สายงานอำนวยการ
             ข.  ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการและระดับชำนาญการพิเศษ ได้แก่
                  1)  สายงานพยาบาลวิชาชีพ
                  2)  สายงานวิชาการคอมพิวเตอร์
             ค.  ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ได้แก่
                  1)  สายงานนิติการ
                  2)  สายงานวิเคราะห์นโยบายและแผน
                  3)  สายงานวิชาการศึกษา
                  4)  สายงานทรัพยากรบุคคล

             ผมได้เรียนถามท่านสัจจา ผู้ทรงคุณวุฒิ กจ.กศน. เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 18 ก.พ.60  ท่านบอกว่า บรรณารักษ์ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง
             ที่บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษได้รับเงิน 3,500 บาทนั้น ไม่ใช่เงินประจำตำแหน่ง และไม่ใช่เงินวิทยฐานะ แต่เป็นค่าตอบแทน ตามข้อ 6/1 ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ

         7. วันเสาร์ที่ 18 ก.พ.60 คุณ koikunyarat ถามผมทางไลน์ ว่า  บ้านหนังสือชุมชน มีโลโก้มั๊ย

             เรื่องนี้  แฟนเพจ บ้านหนังสือชุมชน กศน. บอกว่า นายชูชาติ กำลังงาม ได้ออกแบบโลโก้บ้านหนังสือชุมชน กศน. ไว้ ตามภาพประกอบโพสต์นี้  ไม่สงวนลิขสิทธิ์ หน่วยงาน กศน.ทุกแห่งนำไปใช้ได้เลย
             - ใครจะสอบถามหรือเสนอแนะ/เสนอผลงานเรื่องบ้านหนังสือชุมชน เชิญที่ แฟนเพจ บ้านหนังสือชุมชน กศน.
             - ดาวน์โหลดภาพโลโก้ ขนาด 171 KB ได้ที่
                https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/JPG/logoCBS1.jpg
             - ดู แนวทางการดำเนินงาน บ้านหนังสือชุมชน ได้ที่
                https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/ComunityBookHouse.pdf



CBHb.jpg


วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

1.ครูไม่ส่งชื่อเข้าสอบ N-NET, 2.การขอย้ายของข้าราชการ, 3.ทำไมแต่ละจังหวัดปฏิบัติไม่เหมือนกัน (N-NET/e-Exam), 4.สอบครูผู้ช่วย ได้บรรจุ 4 ปีจึงจะขอย้ายได้, 5.จบ ปวช.แล้ว ไม่ให้สมัครเรียน ม.ปลาย, 6.มหาวิทยาลัยขอใบ ปพ.1, 7.สมัครครูผู้ช่วย การนับเวลา 3 ปี นับยังไง



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ตีสองครึ่งคืนวันที่ 18 ม.ค.60 Arin Parinya นักศึกษา กศน. ถามในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊คผม ว่า  ไม่มีรายชื่อสอบ n-net เราจะจบเทอมนี้ได้ป่าว เพราะ กพช ได้ 100 แต่จะทำเทอมนี้ให้ครบ สามารถจบการศึกษาเทอมนี้ใช่ป่าว

             ผมตอบว่า   ทำไมครูไม่ส่งชื่อเราเข้าสอบ N-NET จะมีชื่อหรือไม่อยู่ที่นายทะเบียน ว่าส่งชื่อให้หรือไม่  ปกติถ้าลงวิชาเรียนครบในเทอมนี้ ครูต้องส่งชื่อเลยแม้ว่า กพช.จะเหลือมากก็ตาม
             ถ้ายังไม่สอบ
N-NET ก็ยังจบไม่ได้ แต่ถ้าจะจบก็ขอสอบ e-Exam แทนได้ อาจจบช้ากว่าคนอื่นนิดหน่อยเพราะการสอบ e-Exam จะสอบหลังวันสอบ N-NET  ( แม้ไม่ได้ส่งชื่อเข้าสอบ N-NET ก็ขอสอบ e-Exam ได้ถ้าต้องรีบจบ )

         2. ตามระเบียบ การขอย้ายกรณีปกติ ( เช่น กลับภูมิลำเนา, ไปอยู่ร่วมกับคู่สมรส, ดูแลบิดามารดา ) สำหรับข้าราชการที่ไม่ใช่ผู้บริหาร ให้ยื่นขอย้ายได้ปีละ 2 ช่วง คือ 1-15 ก.พ. กับ 1-15 ส.ค. ( ดูหลักเกณฑ์และวิธีการขอย้ายได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/chengeOFM.pdf  หลักเกณฑ์นี้ถือเป็นกำหนดการที่เป็นที่รู้กันแล้ว เมื่อถึงเวลา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ยื่นขอย้ายโดยไม่จำเป็นต้องมีหนังสือแจ้ง แต่ถ้ารอบไหนมีอัตราว่างหลายอัตรา กจ.กศน.ก็จะมีหนังสือแจ้งมาพร้อมแจ้งอัตราว่าง รอบไหนมีอัตราว่างน้อยก็จะไม่แจ้งมา แต่ถึงไม่แจ้งก็ยื่นขอย้ายได้ โดยเฉพาะการขอย้ายสับเปลี่ยนไม่ต้องมีอัตราว่างอยู่ก่อน )
             คำร้องขอย้ายใช้ได้รอบเดียว ถ้ายังไม่ได้ย้ายตามคำขอ เมื่อถึงช่วงขอย้ายใหม่ต้องยื่นใหม่
             คำสั่งย้ายจะออกเมื่อไร ไม่แน่ ปกติยื่นขอย้ายในช่วง 1-15 ก.พ. ถ้าได้ย้าย คำสั่งย้ายจะออกประมาณ เม.ย.-พ.ค. ถ้าขอย้ายในช่วง 1-15 ส.ค. คำสั่งย้ายจะออกประมาณ ต.ค.-พ.ย.

         3. คืนวันที่ 20 ม.ค.60 Surapee Maneena เขียนต่อท้ายโพสต์ผมในเฟซบุ๊ค ว่า  “ทุกทีส่งชื่อช้าก็ให้เข้าสอบ e~exam ได้ ทำไมแต่ละจังหวัดปฏิบัติไม่เหมือนกัน ได้แจ้งนักศึกษาว่า เข้าสอบ eexam ได้ ถูกนักศึกษาต่อว่า เรียบร้อย ไม่ยอมมาเรียน

             ผมตอบว่า ผมไม่ค่อยเข้าใจครับ พิมพ์ให้ละเอียดชัดเจนหน่อยได้ไหม เช่น
             - "ทุกทีส่งชื่อช้าก็ให้เข้าสอบ e~exam ได้".. แล้ว ที นี้ ไม่ได้หรืออย่างไร
             - "ทำไมแต่ละจังหวัดปฏิบัติไม่เหมือนกัน".. ไม่เหมือนกันอย่างไร ( ที่ถูกต้อง ทุกจังหวัดต้องปฏิบัติเหมือนกัน ) ยกตัวอย่างจังหวัดไหนปฏิบัติอย่างไรได้ไหม
             - "ได้แจ้งนักศึกษาว่า เข้าสอบ eexam ได้ ถูกนักศึกษาต่อว่า เรียบร้อย".. นักศึกษาต่อว่า ว่าอย่างไร

              ( การส่งชื่อช้า-ไม่ได้ส่งชื่อผู้มีสิทธิจบเพื่อเข้าสอบ N-NET แม้จะเข้าสอบ e-Exam ได้ แต่ก็เป็นความบกพร่องของสถานศึกษานะ ต้องมีผู้รับผิดชอบ อย่างน้อยครั้งแรกต้องว่ากล่าวตักเตือน เพราะสร้างปัญหาเป็นภาระให้การสอบ e-Exam และอาจเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงการสอบ N-NET )

         4. การสอบบรรจุครูผู้ช่วยของ กศน. กรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ก.ค.ศ. ที่ ว16/57 (ทั่วประเทศ) และ ว17/57 (ชายแดนใต้)
             ดูหนังสือ ว16 ว17 นี้ พร้อมหนังสือซักซ้อมความเข้าใจ ได้ที่ 
https://www.dropbox.com/s/pxaufaesskk8wpv/V12testTeacher.pdf?dl=1  

             ซึ่งมีข้อที่น่าสนใจ เช่น

             - หลักเกณฑ์ ข้อ 2.6 ใน ว16 และข้อ 2.1 ใน ว17 :  พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ครูสอนศาสนาอิสลามหรือวิทยากรอิสลามศึกษา พนักงานจ้างเหมาบริการ ครูอัตราจ้างหรือลูกจ้างชั่วคราวจากเงินงบประมาณหรือเงินรายได้ของสถานศึกษา  ที่จะเข้ารับการคัดเลือก ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกตามระบบคุณธรรมที่ยึดความรู้ความสามารถของบุคคล ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และประโยชน์ของทางราชการ ตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะหรือตามที่ส่วนราชการกำหนด จึงจะถือว่าเป็นการจ้างที่ถูกต้อง (ยกเว้นเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2557)  และต้องได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอน ตามคำสั่งหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย และปัจจุบันยังคงปฏิบัติงานอยู่

             - หลักเกณฑ์ ข้อ 11 :  ให้บรรจุแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกตามจำนวนตำแหน่งว่างที่ประกาศไว้ โดยไม่มีการขึ้นบัญชี

             - ซ้อมความเข้าใจ ข้อ 3 :  การกำหนดวิชาเอกเพื่อใช้ในการคัดเลือก ให้ผู้ดำเนินการคัดเลือกพิจารณาตามความจำเป็นและความต้องการของสถานศึกษา เฉพาะเจาะจง เช่น ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น มิใช่กำหนดเป็นวิชาเอกทั่วไป  สำหรับการออกข้อสอบภาค ข ข้อ 2 ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับวิชาเอก ออกข้อสอบตามกลุ่มวิชาหรือทางหรือสาขาวิชาเอกที่ประกาศไว้

             - วิธีการ ข้อ 4 ว16 :  ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกและได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยแล้ว ต้องปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งไม่น้อยกว่า 4 ปี  ( ข้อ 6 ว17 สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 ปี ) จึงจะขอย้ายได้  
               ครูผู้ช่วยที่สอบเข้ามาด้วย ว16 ( สอบกรณีพิเศษคือคนในสังกัด ประกาศรับสมัครสอบหลัง พ.ย.57 ) ก็เข้าเกณฑ์นี้แล้วครับ ( ของ กศน. เมื่อครั้งล่าสุดประกาศรับสมัคร ส.ค.56 ยังไม่ได้ใช้ ว16 )

             - หลักสูตรแนบท้าย :  กำหนดว่า ภาค ก ภาค ข ภาค ค สอบเรื่องอะไรบ้าง คะแนนเท่าไร

         5. เนื่องจาก กศน.จัดเพื่อผู้ด้อย-ขาด-พลาดโอกาส และรัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้เรียน กศ.ขั้นพื้นฐาน คนละรอบเดียว จึงไม่ให้ผู้ที่เรียนจบแล้วมาเรียนในระดับเดียวกันอีกรอบ และในระดับ ม.ปลาย เมื่อจบ สถานศึกษาต้องส่งเกรดเฉลี่ยเข้ากระทรวงเพื่อใช้ประกอบการแอดมินชั่น ถ้าจบ 2 แห่ง เกรดเฉลี่ยจะไปชนกัน เป็นโมฆะ
             แต่ผมเห็นว่า ปัจจุบันมีโครงการทวิศึกษา ผู้เรียนได้ 2 วุฒิ จึงคิดว่า เมื่อได้ 2 วุฒิได้ ผู้ที่จบ ปวช.แล้ว ก็น่าจะมาเรียนให้จบ ม.ปลายอีกได้ 

             วันที่ 23 ม.ค.60 ผมจึงถาม อ.กิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน.ในเรื่องนี้  ได้รับคำตอบว่ายังเรียนซ้ำระดับเดียวกันไม่ได้ ( ปวช. กับ ม.ปลาย เป็น กศ.ขั้นพื้นฐานระดับเดียวกัน )  เรียนเพิ่มได้เฉพาะบางวิชาที่ยังไม่เคยเรียน  ด้วยเหตุผลเดียวกับที่จบ ม.ปลายแล้วเรียนหลักสูตรเดิมไม่ได้ ตามหนังสือกรมการศึกษานอกโรงเรียน ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0405/2645 ลงวันที่ 26 มิ.ย.43  ซึ่งกำหนดว่า

              “ในกรณีที่มีผู้จบหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว มาขอขึ้นทะเบียนและลงทะเบียนเรียนใหม่ในหลักสูตรเดิม เพื่อให้มีผลการเรียนเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าเดิม ... ขอเรียนชี้แจงว่า การจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ สามารถลงทะเบียนเรียนเพิ่มเติมในหมวดวิชาต่าง ๆ เพื่อให้ครบตามคุณสมบัติที่สถาบันอุดมศึกษากำหนด หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่น ... ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อผู้เรียนแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะให้ผู้เรียนกลับมาขึ้นทะเบียนและลงทะเบียนเรียนหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใหม่ ... เป็นการได้รับการศึกษาที่ซ้ำซ้อน เป็นการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษาที่สิ้นเปลือง ... เป็นการให้โอกาสกับบุคคลที่ได้รับโอกาสไปแล้ว  ควรให้โอกาสกับบุคคลที่ยังไม่มีโอกาส ตามหลักการและปรัชญาของการจัดการศึกษานอกโรงเรียน  จึงไม่สามารถให้นักศึกษาที่จบหลักสูตรแล้วมาขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาใหม่และลงทะเบียนเรียนจนจบหลักสูตรอีกครั้ง
              จึงขอให้สถานศึกษาทุกแห่งถือปฏิบัติ ... อย่างเคร่งครัด ถ้าสถานศึกษาใดมิได้ปฏิบัติ หากมีความผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติจะต้องรับผิดชอบ และถือเป็นความบกพร่องในการปฏิบัติงาน


        
6. Too Tassanawalai ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ( คงถามตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.60 แต่ผมเพิ่งเห็นคำถามและตอบเช้าวันที่ 2 ก.พ.) ว่า  นศ.ต้องการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย และทางมหาวิทยาลัยขอใบ ปพ.1  5 เทอม  กรณีนี้ กศน.อำเภอจะออกเอกสารแบบใดให้ นศ.

             ผมตอบว่า   ใบ ปพ.1 ของในระบบ ก็คือใบ รบ.ของเรา  ถ้ายังไม่จบ ยังไม่ลาออก ให้ใช้กระดาษ A4 ธรรมดา ออกเป็นใบแสดงผลการเรียน ออกด้วยโปรแกรม ITw เมนู 1-A-1-6 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน-รายงาน-รายงานผลการเรียน-พิมพ์ใบแสดงผลการเรียน )

        
7. วันที่ 3 ก.พ.60 เรวัฒน์ พลเดช ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ค ว่า  การสอบครูผู้ช่วย กศน. นับระยะเวลา 3 ปี นับยังไง นับแบบปี พ.ศ. หรือ ปีการศึกษา

             ผมตอบว่า นับวันชนวันเลย
            
"ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย และปัจจุบันยังคงปฏิบัติงานอยู่"
             เช่น ถ้า รับสมัคร 17-25 ก.ค.60 ก็นับถึงวันที่ 25 ก.ค.60 คือต้องเป็นพนักงานราชการ-ลูกจ้าง สังกัด กศน. ไม่หลังวันที่ 25 ก.ค.57 ( ขาดวันเดียวก็ไม่ได้ )