วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

1.พ่อ นศ.มียศ ในใบ รบ.ใส่ยศยังไง, 2.คำตอบที่ไม่ถูกต้องของผม (การเทียบโอนวิชาของ นศ.ที่พ้นสภาพ), 3.เครื่องแบบ นศ.กศน., 4.เทียบวุฒิ-เทียบโอน, 5.ขอใช้บัญชีพนักงานราชการข้ามจังหวัด, 6.การเงินจังหวัดบอกว่า จ้างเหมาฯเบิกค่าเดินทางค่าที่พักไปอบรมไม่ได้, 7.วิธีที่สามารถเพิ่มเกรดเฉลี่ย



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 3 พ.ค.60 มี ผอ.กศน.อำเภอ ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ชื่อพ่อ นศ. ยศ จ่าสิบตรี ในใบ รบ. ต้องใส่ยศ ยังไง

             ผมตอบว่า ชื่อบิดามารดาของ นศ. พิมพ์ตามในทะเบียนบ้าน

         2. วันที่ 5 พ.ค.60 มีครู กศน.ตำบล ถาม-ตอบ กับผม ในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ดังนี้

             ถาม :  กรณีนักศึกษา ม.ปลาย รหัส 5513 ลงทะเบียยเรียนและสอบครบตามเนื้อหาหลักสูตร ม.ปลาย ในภาคเรียนที่ 2/2556 แต่กิจกรรม กพช. ได้ 50 ชม. ต่อมาปลายเดือนเมษายน 2560 นี้ นักศึกษามาติดต่อขอทำเรื่องจบ ทาง กศน.อำเภอ.... ได้ทำการตรวจสอบแล้วปรากฏว่า เมื่อนับถึงภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 รหัสนักศึกษามีอายุเกิน 10 ภาคเรียน และทาง กศน.อำเภอ ยังไม่ได้อนุมัติจบ เนื่องจาก กพช.ไม่ครบ 100 ชม. และแจ้งว่าเป็นนักศึกษาที่พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาไปแล้ว
                     มีข้อสอบถามว่า  รายวิชาที่ผ่านเกณฑ์สามารถเก็บไว้ได้ถึง 5 ปี ในกรณีที่ผลการเรียนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 นั้นเกิน 5 ปี แต่ผลการเรียนภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 ถึงภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 สามารถนำมาใช้เทียบโอนหรือยังใช้ได้หรือไม่ และต้องดำเนินการอย่างใรในเคสนี้
             ตอบ :  ถ้าพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาไปแล้ว ( ขาดการรักษาสภาพติดต่อกันเกิน 6 ภาคเรียน ) จะทำอะไรไม่ได้เลย โปรแกรมจะไม่ยอมให้ออกใบ รบ.เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานการเทียบโอนด้วย ( ไม่ยอมให้ลาออก ) หลักฐานที่จะใช้ในการเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรที่จัดการศึกษาเป็นระดับประถม-ม.ต้น-ม.ปลาย คือ ใบระเบียนแสดงผลการเรียน ( ใบ รบ.)
                     มีวิธีหนึ่งที่ก็ไม่ถูกต้อง คือ เข้าโปรแกรม เปลี่ยนภาคเรียนปัจจุบันไปยังภาคเรียนที่ยังไม่พ้นสภาพ แล้วลาออก-ออกใบ รบ.ว่าศึกษาต่อที่อื่น ย้อนหลัง ตั้งแต่ภาคเรียนที่ยังไม่พ้นสภาพ ( นายทะเบียนและ ผอ.ที่จะเซ็นใบ รบ.ย้อนหลัง ต้องเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในภาคเรียนย้อนหลังนั้น )  เมื่อได้ใบ รบ.แล้ว จะหยุดนับอายุวิชาในใบ รบ. นั้น จะใช้ใบ รบ.นั้น มาเทียบโอนสมัครเข้าเรียนใหม่เมื่อไรก็ได้
                      ( ที่ถูกต้อง เมื่อเขาหายไปนานมากแล้ว ก็ควรเริ่มเรียนใหม่เลย )

             ถาม :  ในกรณีที่นักศึกษาครบหน่วยกิตตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 ก็ยังต้องมีการรักษาสภาพไว้ใช่ไหม
             ตอบ :  ใช่.. ถ้า "ยังไม่จบ" ต้องรักษาสภาพ  ( ขาดเงื่อนไขการจบหลักสูตรแม้เพียงข้อเดียวใน 4 ข้อ ก็คือยังไม่จบ )

             ถาม :  การรักษาสภาพ ต้องทำในรูปแบบใด
             ตอบ :  มี "แบบคำร้องการรักษาสถานภาพนักศึกษา" อยู่ในคู่มือการดำเนินงานฯทุกเล่ม ( ถ้าเป็นเล่มปกสีเลือดหมูจะอยู่ในหน้า 191 )  นักศึกษาต้องลงลายมือฃื่อในใบคำร้องการรักษาสถานภาพนี้ด้วยตนเอง ผู้อื่นจะลงลายมือชื่อแทนไม่ได้ เช่นเดียวกับการลงทะเบียนเรียน
                      ( ถ้าใช้วิธีแก้โดยให้รักษาสภาพย้อนหลัง วิชาที่หมดอายุก็ยังหมดอายุอยู่เหมือนเดิม )

         3. คืนวันที่ 8 พ.ค.60 Kittiwara Thongfong ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เครื่องแบบการแต่งกายของนักศึกษา กศน.มีกระดุม หัวเข็มขัด ตุ้งติ้ง เนคไท ปกติในการแต่งกาย กศน.มีรึป่าว

             ผมตอบว่า   เรื่องนี้เคยตอบนานมากแล้ว ว่า  ตอนต้นปี 2555 กศน.มีการประกวดออกแบบอุปกรณ์เครื่องแบบนักศึกษา กศน. เพื่อจะจดลิขสิทธิ์/ออกระเบียบเครื่องแบบนักศึกษา กศน.  แต่.. ในที่สุดเรื่องนี้ก็ยกเลิกไป ถ้าจำไม่ผิดเป็นเพราะมี นักศึกษา/ผู้ปกครอง ร้องเรียนเรื่องเครื่องแบบเนื่องจากสิ้นเปลื้องด้วย และไม่สอดคล้องกับหลักการ กศน. โดยมี กศน.อำเภอ/เขต บางแห่งเก็บเงิน นศ.เพื่อการจัดทำ/จัดซื้ออุปกรณ์ประกอบเครื่องแบบเหล่านี้ ซึ่งไม่ถูกต้อง

             ปัจจุบันส่วนกลางจึงไม่ได้กำหนดเครื่องแบบนักศึกษา กศน.
             สถานศึกษาสามารถกำหนดเองได้ แต่ถ้าเครื่องแบบที่กำหนดนั้นมีค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองกว่าปกติทั่วไป ก็จะบังคับให้ นศ.แต่งเครื่องแบบนั้นไม่ได้นะ

         4. วันที่ 8 พ.ค.60 นางศรัณยา ช่อชั้น ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  นักศึกษาสมัครใหม่จบจากปีนัง มาสมัครเรียน กศน. ต้องนำใบแสดงผลการเรียนไปเทียบได้ที่ไหน

             ( จบระดับชั้นใดก็ไม่บอก จะได้ไม่ต้องเสียเวลาตอบเวี่ยงแหยาว )
             ผมตอบหลังจากผมถามคุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน.เพื่อความแน่ใจแล้ว ว่า  
             ระดับประถมปัจจุบันไม่มีที่รับ "เทียบวุฒิ", สพฐ.รับเทียบวุฒิ ระดับ ม.ต้น/ม.ปลาย ส่วน ก.พ.รับเทียบวุฒิระดับอุดมศึกษา

          1)  ถ้าจบระดับชั้นที่เทียบเท่า ม.ต้น ให้เขาไปเทียบวุฒิ ที่ สพฐ. ในกระทรวงศึกษาธิการ

             2)  ถ้าไม่ได้จบระดับชั้นที่เทียบเท่า ม.ต้น
                  - จบระดับชั้นที่เทียบเท่า ป.1-ป.6 ให้สมัครเรียน กศน.ระดับประถม แล้ว "เทียบโอน" บางวิชาตามคู่มือการเทียบโอน
                  - จบระดับชั้นที่เทียบเท่า ม.1-ม.2 แต่ไม่มีใบวุฒิประถม ให้สมัครเรียน กศน.ระดับประถมแล้วเทียบโอนเช่นเดียวกัน
                  - จบระดับชั้นที่เทียบเท่า ม.1-ม.2 และมีใบวุฒิประถมของไทย ให้สมัครเรียน กศน.ระดับ ม.ต้น แล้วเทียบโอนบางวิชาตามคู่มือการเทียบโอน
                  - จบระดับชั้นที่เทียบเท่า ม.4-ม.5 และมีใบวุฒิ หรือเทียบวุฒิ ม.ต้นแล้ว ให้สมัครเรียน กศน.ระดับ ม.ต้น และเทียบโอนบางวิชาตามคู่มือการเทียบโอน

             ( การเทียบโอน จะเทียบโอนได้ครบทุกวิชาไม่ได้ ต้องเรียนเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 ภาคเรียน เช่น แม้จะจบระดับชั้นที่เทียบเท่า ม.2 แล้ว แต่ถ้าไม่มีใบวุฒิประถม ต้องสมัครเรียน กศน.ระดับประถม โดยเทียบโอนบางวิชา แล้วต้องเรียนระดับประถมอย่างน้อย 1 ภาคเรียนจึงจะจบได้วุฒิระดับประถม )

             ดูคำตอบเก่า ๆ เพิ่มเติม ใน
             - ข้อ 4 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/09/15000.html
             - ข้อ 4 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/06/etv.html



         5. คืนวันพืชมงคล 12 พ.ค.60 Ploy Ploy ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ถ้าจังหวัดอื่นเรียกใช้บัญชีครู กศน.ตำบล แต่ไม่ไป จะตัดลาดับที่ทิ้ง หรือคงไว้

             ผมตอบว่า   จะไม่ตัดทิ้ง  ( ดูที่ข้อ 10 ในประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการสรรหาและการเลือกสรรพนักงานราชการและแบบสัญญาจ้างของพนักงานราชการ พ.ศ.2552 ตามภาพประกอบโพสต์นี้ )






         6. วันที่ 19 พ.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันเป็นจ้างเหมาบริการอยู่ กศน.อำเภอ และเจ้าหน้าที่การเงินบน กศน.จว บอกว่า จ้างเหมาบริการไม่สามารถเบิกค่าเดินทาง ค่าที่พักในการไปอบรมได้เนื่องจากเป็นบุคคลภายนอก เรื่องนี้ระเบียบใหม่เป็นอย่างนี้หรอ

             ผมตอบว่า   เรื่องนี้ผมเคยโพสต์แล้ว 2 ส่วน คือ

             1)  ในข้อ 1 ย่อหน้าที่ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/02/stopday.html  ว่า
                  ปกติจะให้ผู้รับจ้างเหมาบริการไปประชุมอบรมไม่ได้ ลักษณะเดียวกับการจ้างพิมพ์หนังสือเรียน ไม่ถือว่าผู้รับจ้างเป็นบุคลากรของส่วนราชการ จะให้ผู้รับจ้างพิมพ์หนังสือเรียน ไปประชุมอบรมเรื่องการพิมพ์หนังสือเรียนหรือเรื่องอื่น โดยเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงที่พักค่าเดินทางจากส่วนราชการ ไม่ได้ เช่น การจ้างบรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ ต้องเลือกจ้างจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถในงานบรรณารักษ์อยู่แล้ว จ้างมาให้ทำงานเลย ไม่ใช่การฝึกงาน จะส่งไปประชุมอบรมเรื่องงานบรรณารักษ์อีกไม่ได้ จะส่งไปประชุมอบรมเรื่องอื่นก็ไม่ได้เพราะอยู่นอกเหนือบทบาทหน้าที่ .. แต่.. ถ้ามีเหตุผล เช่น ส่วนกลางกำหนดแนวปฏิบัติมาให้ห้องสมุดทุกแห่งปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน จึงต้องจัดอบรมชี้แจงแนวปฏิบัติ เป็นต้น.. ลักษณะนี้ก็ให้ไปอบรมและเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงที่พักได้

( ผู้รับจ้างเหมาบริการจะเบิกค่าปฏิบัติงานนอกเวลาราชการได้ก็ต่อเมื่อกำหนดในสัญญาจ้างไว้ชัดเจนว่าให้เบิกได้อย่างไร )

             2)  ในข้อ 4 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2016/07/prgchenge.html  ว่า
                  วันที่
23 มิ.ย.59 ส่วนกลางส่งเรื่องการจ้างครูประเภทต่าง ๆ แบบจ้างเหมาบริการ ให้ทุกจังหวัด
                  ดูได้ที่ 
https://www.dropbox.com/s/0yevos15vb5ixx6/teacherJang.pdf?dl=1
                  ส่งตัวอย่างแบบฟอร์มสัญญาจ้างให้ด้วย ซึ่งสัญญาจ้างมีข้อกำหนดและเงื่อนไขการจ้าง ไว้ใน ผนวก
3 ว่า
                 
การจ่ายค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
                     กรณีที่ทางราชการมีความประสงค์จะให้ผู้รับจ้างไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ต่าง ๆ ... เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ
240 บาท ค่าที่พักตามระเบียบกระทรวงการคลัง ค่าพาหนะอย่างประหยัดตามความจำเป็น
                     กรณีทำงานนอกเหนือจากที่กำหนดตามสัญญา เงินเพิ่มในวันทำการปกติชั่วโมงละ
50 บาท ไม่เกินวันละ 150 บาท วันหยุดราชการชั่วโมงละ 50 บาท ไม่เกินวันละ 350 บาท

             ปกติวิธีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายอื่น ๆ สำหรับผู้รับจ้างเหมาบริการนี้ ต้องทำเป็นเรื่องจ้างตามระเบียบพัสดุอีกต่างหาก ( แต่ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ บางจังหวัดอนุโลมให้เบิกจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการรวมไปกับบุคลากรประเภทอื่น )
             ส่วนค่าทำงานนอกเวลา อ.สุนีย์ หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. บอกว่า ต้องทำเป็นเรื่องจ้างทำของตามระเบียบพัสดุแยกต่างหากเฉพาะผู้รับจ้างเหมาบริการ และการทำงานนอกเวลาต้องให้ทำเฉพาะกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่สามารถทำในเวลาได้ทันเท่านั้น การจ้างทำงานนอกเวลานี้ก็ให้เบิกจ่ายจากงบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำนั้น เช่น บรรณารักษ์ห้องสมุดฯทำงานนอกเวลาเพื่อเปิดบริการห้องสมุดฯ ก็เบิกจากงบดำเนินงานห้องสมุดฯ โดยอาจทำเรื่องจ้างเดือนละครั้ง

         7. วันเสาร์ที่ 20 พ.ค.60 สิริราชวิทย์ ธรรมายอดดี ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  มีเรี่องอยากสอบถามคือตอนนี้ผมจบกศนตอนต้นปีนี้แต่เกครไม่เป็นที่หน้าพอใจเลยอยากจะสอบถามวามีวิธีที่สมาถเพิ่มเกดรได้รึเปล่า รบกวนด้วยครับ

             ผมตอบว่า
             
- ถ้าขอจบแล้วจะเพิ่มเกรดไม่ได้แล้ว
             
- วิชาที่เคยเรียนได้เกรด 1 ขึ้นไปแล้วจะเรียนใหม่ไม่ได้ เพราะ กศน.เปิดสำหรับผู้ขาด/พลาด/ด้อยโอกาส ได้เงินอุดหนุนที่มาจากภาษีประชาชนให้เรียนฟรีคนละรอบเดียว และ กศน.ไม่มีการรีไทร์ จึงไม่มีการรีเกรด
             
- ถ้าจบแล้ว มาเรียนเพิ่มวิชาที่ยังไม่เคยเรียน ได้ แต่เกรดเฉลี่ยเดิมจะไม่เปลี่ยน
             
- แต่ถ้ายังไม่ขอจบ สามารถเรียนวิชาเลือกเพิ่มเติมไปได้อีกแม้หน่วยกิตจะครบแล้ว ( เรียนวิชาเลือกเกินได้ ) และมีผลต่อเกรดเฉลียด้วย เช่นถ้าวิชาที่เรียนเพิ่มได้เกรดสูงกว่าเกรดเฉลี่ยเดิม ก็จะดึงให้เกรดเฉลี่ยสูงขึ้นได้นี๊ดดดหน่อย เพราะเกรดจาก 1-2 วิชา จะไม่ค่อยมีผลกับเกรดเฉลี่ยเดิมที่มาจากหลายวิชา


วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

1.ขาดแค่สอบ N-Net ขอใบรับรองไปเรียนต่อได้ไหม, 2.กศน.จังหวัด บอกว่า แบบใบ รบ.หลักสูตร 44 ยกเลิกแล้ว ?, 3.อำเภอหรือจังหวัดเป็นผู้ “สรรหา” ครู ปวช., 4.ขอให้ตอบที่กลุ่ม และไม่ต้องเปิดเผยว่าฉันเป็นคนถาม, 5.ผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร, 6.นศ.กศน. เรียน รด. ได้ไหม, 7.วิธีให้พระเรียน ม.ปลาย



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันที่ 27 เม.ย.60 Arm Maker ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  เรียน กศน มาแล้ว 2 ปี สอบมาแล้ว 4 ครั้ง เหลือแค่สอบ o-net สามารถขอใบรับรองได้ไหม พอดีจะไปเรียนต่อ ปวส

             ผมตอบว่า  ( ของ กศน.คือการสอบ N-Net เป็นเงื่อนไขการจบหลักสูตร 1 ใน 4 ข้อ )  ขอใบรับรองว่า "กำลังศึกษาอยู่" ได้  ( ไม่ว่าจะเหลือแค่อะไร ก็คือยังไม่จบ )
             กศน. ให้ผู้ที่พลาดการสอบ N-Net ไปสอบ E-Exam ( สอบกับคอมพิวเตอร์ ) แทนได้ ซึ่งในภาค 2/59 ขยายเวลาให้สอบได้ถึงวันที่ 31 พ.ค.60
             ลองรีบติดต่อขอไปสอบ E-Exam ดูนะ สอบเสร็จวันไหนก็จบเลย

         2. หลังจากที่ผม Re-post เรื่องแบบพิมพ์ใบ รบ.หลักสูตร 44 ยังไม่ยกเลิก ไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย.60 ปรากฏว่า Kittima Tangjitjarernkit ได้เขียนถามต่อท้ายโพสต์ผม ว่า  มีหนังสือสั่งการเรื่องนี้รึเปล่า เพราะทำหนังสือขออนุญาตซื้อระเบียนหลักสูตร 44 เค้าบอกว่ายกเลิกแล้ว ให้ออกเป็นใบแทน

             ผมตอบว่า   ปัจจุบันเราเปลี่ยนจากหลักสูตร 44 มาใช้หลักสูตร 51 แต่การ "เปลี่ยน" หลักสูตร กับการ "ยกเลิก" แบบพิมพ์ใบ รบ. เป็นคนละเรื่องกัน
             ตอนนี้มีการยกเลิกแบบพิมพ์ใบ รบ.หลักสูตร 30-31 แต่ยังไม่มีการยกเลิกแบบพิมพ์ใบ รบ. หลักสูตร 44 จึงไม่มีหนังสือสั่งการเรื่องยกเลิกใบ รบ.หลักสูตร 44  เราต้องเป็นฝ่ายถามผู้ที่บอกว่าใบ รบ.หลักสูตร 44 ยกเลิกแล้ว ว่ามีหนังสือสั่งการไหม
             ถ้า นศ.เรียนจบในหลักสูตร 44 และยังไม่เคยออกใบ รบ. ให้เขา แม้จะเพิ่งออกใบ รบ.ตอนนี้ ก็ใช้แบบพิมพ์ใบ รบ.หลักสูตร 44  แต่ถ้าเคยออกใบ รบ.แล้วชำรุดสูญหาย การออกใหม่จึงออกเป็นใบแทน ( ใบแทนใบ รบ. หลักสูตร 44 ก็ต้องซื้อจากร้านค้าของ ส.ก.ส.ค.)
             ถ้าเป็นหลักสูตร 30-31 ให้จัดการศึกษาถึงภาคเรียนที่ 2/48 เป็นภาคเรียนสุดท้าย แต่ให้ใช้แบบพิมพ์ใบ รบ.หลักสูตร 30-31 จนถึงภาคเรียนที่ 2/49 โดยหลังจากปี กศ.49 จึงให้ตั้งกรรมการทำลายแบบพิมพ์ใบ รบ.หลักสูตร 30-31 ที่ยังเหลืออยู่ ( หนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ 0210.03/10974 ลงวันที่ 21 ธ.ค.49 )
             ถ้าเค้าสงสัย ก็แนะนำให้เค้า โทร.ถามกลุ่มพัฒนา กศน. ( ถามคุณกิตติงพศ์ ฝ่ายหลักสูตร )
             แต่การซื้อใบ รบ.หลักสูตร 44 ซื้อยาก เพราะผู้ขายหลายแห่งก็ไม่รู้เรื่อง บางแห่งก็ไม่นำมาจำหน่ายแล้ว แต่ผมไปซื้อมาได้นะ ต้องบอกผู้ขายให้ชัด
             การซื้อแบบพิมพ์ใบแทนหรือสำเนาใบ รบ.หลักสูตร 44, 51 จากร้านค้าของ ส.ก.ส.ค. ตัวอย่างเช่นของหลักสูตร 44 ม.ต้น ร้านค้าฯจะเรียกว่า "กศน.1- (ชนิดแบบฟอร์ม)" รหัสสินค้าคือ 2002100095182 ( ถ้าเราไปบอกว่าขอซื้อ "ใบแทน" หรือ "สำเนา" เขาอาจจะไม่รู้จัก ) ราคาแผ่นละ 4 บาท (ถ้าซื้อยกห่อ มี 200 แผ่น)

         3. หลังจากที่ผม Re-post เรื่องใครเป็นผู้จ้างฯ ไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย.60 ปรากฏว่า มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  กรณีการจ้างเหมาครู ปวช. แน่นอนอำนาจการจ้างเหมา ให้จ้างเหมาตามระเบียบพัสดุ เป็นอำนาจของ ผอ.กศน.จังหวัด แต่กรณีที่จะถามคือ การสรรหาครู ปวช.ก่อนที่จะดำเนินการจัดจ้าง ใครเป็นผู้สรรหา เนื่องจากแต่เดิมหัวหน้าสถามศึกษาเป็นผู้สรรหาและจัดจ้าง แต่เมื่อมีคำสั่งมอบอำนาจให้ ผอ.กศน.จังหวัด เป็นผู้มีอำนาจจ้างเหมา จึงขอปรึกษาถึงกรณีการสรรหา ควรเป็นหน้าที่ของใคร ขณะนี้ กศน.จังหวัด กับ กศน. อำเภอ เริ่มคิดเห็นต่างกัน

             ผมตอบว่า   ที่จริง ความหมายของคำว่า การจ้าง ก็รวมการสรรหาด้วย การสรรหาจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของ กศน.จังหวัด ( และจริง ๆ แล้ว เมื่อเปลี่ยนเป็นจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ ก็ไม่จำเป็นต้องมีการสรรหา แต่ให้คัดเลือกโดยวิธีตามระเบียบพัสดุ เช่นการเสนอราคา การสอบราคา แต่ก็อาจจะใช้วิธีการคัดเลือกสรรหาอื่น ๆ มาประกอบด้วยก็ได้ เพราะตามระเบียบพัสดุให้คัดเลือกผู้รับจ้างจากผู้ที่มีคุณสมบัติมีความรู้ความสามารถที่จะทำงานนั้นได้ดีในวงเงินค่าจ้างที่เสนอ เราจึงอาจใช้วิธีการสรรหาอื่นมาประกอบการตรวจสอบคุณสมบัติความรู้ความสามารถด้วยก็ได้ )
             เมื่อการจ้างเป็นอำนาจของจังหวัด จังหวัดจะดำเนินการเองหมดก็ได้ หรือจังหวัดอาจจะเป็นผู้ลงนามในประกาศรับสมัครและคำสั่ง แต่ในประกาศและคำสั่งนั้น จังหวัดอาจจะกำหนดให้ไปสมัครที่อำเภอ และจังหวัดตั้งบุคลากรอำเภอเป็นกรรมการดำเนินการ/เป็นกรรมการตรวจรับการจ้าง ก็ได้ โดยดำเนินการในนามจังหวัด ( ผู้ทราบผลการตรวจรับการจ้างและอนุมัติต่าง ๆ รวมทั้งอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน ต้องเป็นจังหวัด ๆ จะมอบอำนาจต่อช่วงให้อำเภอไม่ได้ )



         4. ค่ำวันอาทิตย์ที่ 30 เม.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ขอความกรุณาไปตอบที่กลุ่ม และไม่ต้องเปิดเผยว่าฉันเป็นคนถาม เพราะว่าถ้ามีใครรู้ฉันคงอยู่ลำบาก เรื่องเป็นอย่างนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อนมีการประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนครี้งที่ 1 ปี 60 ผอ.ให้พวกเราเช็นรับทราบผลประเมิน แต่ไม่มีคะแนนให้ดู และหลังจากส่งคะแนนไปที่ จว. ผอ.มาบอกว่า ผอ.ตัดคะแนนฉันออกตั้งเยอะนะ บกพร่องหลายอย่าง เป็นนายทะเบียนดูแลงานพื้นฐานแต่กลับทำให้ร้อยละของผู้เข้าสอบต่ำ ไม่ถึง 80 % ตามเกณฑ์
             ฉันคิดว่า ไม่เป็นธรรมกับฉันเลย แต่ไม่กล้าเถียง ผอ.
              ( ผอ.กำหนดให้ครู 1 คนต้องมี นศ.92 คน ทำให้ต้องนำคนเก่า ๆมาลงทะเบียน นายทะเบียนเคยทักท้วงไปแล้ว ไม่เป้นผลเนื่องจากต้องการเงินอุดหนุนมาก เคยพูดกับ ผอ.บ่อยๆเขาคงไม่ชอบหน้า )
             อยากให้ อ.ไปตอบให้หน่อยได้ไหม และกรุณาเมตตาไม่เอ่ยชื่อฉันได้ไหม ฉันสมควรจะโดนตัดคะแนนตามที่ ผอ.บอกเหรอ รู้สึกเสียความรู้สึก จะให้เท่าไหร่ยังไงก็ไม่น่ามาพูดแบบนี้
             ที่อยากให้ อ.ตอบ เพราะคิดว่าอาจมีกรณีเหมือนของฉัน แต่คงไม่มีใครกล้าถาม

             ผมตอบว่า   ผมก็ไม่แน่ใจว่า ผอ.หมายความว่าอย่างไร การที่ร้อยละของผู้เข้าสอบปลายภาคไม่ถึง 80 % มันเกี่ยวอะไรกับนายทะเบียน
             หรือว่า ผอ.อยากจะให้นายทะเบียนบอกครูให้ ให้ มส. แก่ นศ. เพื่อลดจำนวนผู้มีสิทธิสอบ โดยนำมาลง มส.ในโปรแกรมทะเบียนก่อนที่จะส่งรายงานผู้มีสิทธิสอบเพื่อแจ้งจำนวนข้อสอบ/ห้องสอบ เพราะการคำนวณร้อยละของผู้เข้าสอบปลายภาค คำนวณโดยใช้จำนวนผู้มีสิทธิสอบเป็นจำนวนเต็ม ไม่ใช่ใช้จำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนเป็นจำนวนเต็ม
             หรือว่า.. ผอ.จะให้นายทะเบียนเช็คว่า นศ.ที่มีแนวโน้มเป็น นศ.ผี เช่นไม่มาสอบปลายภาคเทอมก่อน ๆ หรือหลักฐาน-ลายเซ็นการขึ้นทะเบียน/ลงทะเบียนไม่ครบ ก็ไม่ให้ลงทะเบียนอีกเพราะจะไม่มาสอบอีกแล้วทำให้ % ของผู้เข้าสอบต่ำ งง ..

         5. ดึกวันที่ 1 พ.ค.60 Maikoujai Araiwa ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กผม ว่า  เกิด พ.ศ.2540 ตอนนี้อายุ 20 และกำลังจะเริ่มเรียน กศน.ม.ปลายเทอม 1 คาดว่าจะเรียนจบเดือนกุมภาพันธ์ตอนอายุ 22 ทีนี้สงสัยว่าตรงช่วงว่างระหว่างตอนเรียนจบ กศน.กับกำลังเข้ามหาลัยปริญญาตรี ตอนอายุ 22  วันเกณฑ์ทหารหลังเดือนกุมภาพันธ์ต้องไปเกณฑ์ทหารรึเปล่า

             ผมตอบว่า   ถ้าเกิดปี พ.ศ.2540 เริ่มเรียน ม.ปลาย กศน.ภาค 1/60 ( พฤษภาคม 60 ) และเรียน 2 ปีจบ ( ส่วนใหญ่เรียน 2 ปีจบ บางคนอาจไม่ได้เรียน 2 ปีจบ แล้วแต่ว่าจะเรียนและสอบผ่านทุกวิชาทุกเทอมหรือไม่ มีการเทียบโอนบางวิชาหรือไม่ ไม่แน่ว่าคุณจะเรียนกี่เทอมจบ )  ถ้าเรียน 4 เทอมจบก็จะทำเรื่องขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร 2 ครั้ง ในเทอม 2/60 กับ 2/61 เพื่อขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารตอนที่เขาเกณฑ์กันต้นปี 61 และ 62
             หลังจากนั้นคุณเรียนจบแล้ว จะขอผ่อนผันตอนปลายปี 62 ไม่ได้ ต้องไปเข้ารับการเกณฑ์ทหารตอนต้นปี 63 เว้นแต่คุณจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ตั้งแต่ภาค 1/62 ก็ไปขอผ่อนผันกับมหาวิทยาลัย
             ( ช่วงต้นปี 62 แม้จะจบตั้งแต่กุมภาพันธ์ 62 แต่วันเกณฑ์ทหารอยู่ในช่วงเดือนเมษายน 62 ก็ไม่เป็นไรเพราะทำเรื่องขอผ่อนผันไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ภาค 2/61 แล้ว )
             ถ้าเรียนจบ กศน.แล้วรีบสอบเข้ามหาวิทยาลัยครั้งเดียวผ่านได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในภาคเรียนถัดไปทันที ก็ขอผ่อนผันกับมหาวิทยาลัยต่อเนื่องได้ต่อไป

         6. วันที่ 3 พ.ค.60 Maikoujai Araiwa ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ตอนนี้ กศน.สามารถเรียน รด.ได้รึเปล่า

             ผมตอบว่า   ได้
             ดูที่  https://www.dropbox.com/s/q1lclfbxnrd1gi4/RDnfe.pdf?dl=1

         7. วันที่ 2 พ.ค.60 คุณหนู ตัวกลม ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  นักศึกษา กศน.เป็นพระ เรียนอยู่ระดับ ม.ปลาย ต้องทำหนังสือขออนุญาตเรียนกับเถระสมาคมอย่างไร

             ผมตอบตอนเย็นวันเดียวกัน ว่า  ใครบอกให้ขออนุญาตเรียนกับเถระสมาคม.. มีแต่ให้ กศน.อำเภอดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคม ซึ่งมติมีอยู่แล้วในคู่มือการดำเนินงาน หรือดูในคำตอบเก่า ๆ ของผมที่เคยตอบเรื่องนี้นานแล้ว

             ต่อมา เช้าวันที่ 3 พ.ค.60 ผู้ถามถ่ายภาพหนังสือมติมหาเถรสมาคม จากหน้า 140 มาถามผมว่า อันนี้ใช่มั้ย
             ผมตอบว่า  ใช่.. อันนี้เป็นหน้า 140 เอามาจากเล่มปกสีเลือดหมูใช่ไหม ( มีทุกเล่มแต่อยู่คนละหน้า )  แนวปฏิบัติในมตินี้ ไม่ค่อยชัด ดูวิธีปฏิบัติที่ชัดได้ในหน้า 139 ข้อ 3
             ( ในทางปฏิบัติ จัดไม่ง่ายนักถ้าอำเภอมีพระภิกษุสามเณรเรียนไม่มาก กศน.อ.มักจะไม่พร้อมที่จะจัดพบกลุ่มที่ศูนย์การเรียนในวัดโดยให้ครูชายคนหนึ่งไปสอนในวัด )