วันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560

1.ถ้าเปลี่ยนบุคลากร จะเปลี่ยนในระบบ DMIS อย่างไร, 2.ผอ.ให้พนักงานราชการลาคลอดแค่ 45 วัน ได้ไหม, 3.โครงสร้าง กศน.อ./ข., 4.ค่าสาธารณูปโภคห้องสมุดไม่พอ จะใช้งบอะไรได้อีก, 5.ขอระเบียบการแต่งตั้งนายทะเบียน กศ.ต่อเนื่อง, 6.การเงินบอกว่าครู ศรช. เบิกค่าไปราชการจากงบอุดหนุนรายหัวไม่ได้, 7.ขอเอกสารการเปลี่ยนชื่อ ศบอ.เป็น กศน.อ.



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 6 มิ.ย.60 ผมเผยแพร่ข้อมูลจากกลุ่มงานพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ กศน. ลงในเฟซบุ๊ก ว่า  กรณีที่มีการเปลี่ยนบุคลากร ซึ่งมีชื่อรับผิดชอบงานอยู่ในระบบ DMIS60 เช่นมีครู กศน.ตำบลลาออกหรือย้าย  ให้เข้าไปดำเนินการโอน/เปลี่ยน โดยเข้าโปรแกรมในระบบระดับอำเภอหรือจังหวัด ดังนี้

             1)  ถ้ามีคนใหม่มาทำงานแทน ให้เพิ่มบุคลากรคนใหม่เข้าในระบบ
             2)  เข้าที่เมนู โครงการนอกแผน
>> โอนงาน แล้วโอนงานของคนที่ย้ายหรือลาออก ให้กับคนใหม่ หรือคนเก่าคนอื่นที่มีชื่ออยู่ในระบบอยู่ก่อนแล้ว
             3) เปลี่ยนสถานะคนที่ย้ายหรือลาออก จากสถานะ ทำงาน เป็น ย้าย หรือ ลาออก

         2. ดึกวันที่ 12 มิ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ขอโทษที่รบกวนถามตอนดึกนะคะ เพราะกลุ้มใจไม่รู้จะทำอย่างไรดี.. สิทธิ์ลาคลอดของพนักงานราชการลาได้ 90 วันใช่ไหมคะ? แต่พอดี ท่านหัวหน้าเขาให้ลาได้แค่ 45 วัน เรามีสิทธิ์ที่จะขอลาแบบเต็ม 90 วันได้ไหมคะ เพราะว่างานสอนกับงานโครงการที่ตำบลเราก็ต้องรับผิดชอบทำตามเป้าหมายอยู่แล้วค่ะ

             ผมตอบว่า  ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า รู้แล้วใช่ไหมว่าถ้าลาเกิน 45 วัน อำเภอต้องแจ้งจังหวัดเพื่องดเบิกจ่ายค่าตอบแทนในส่วนที่เกิน 45 วัน

             เรื่องนี้ ถ้าตาม ความคิดเห็นของแต่ละคน จะคิดต่างกัน 2 ฝ่าย
             ฝ่ายหนึ่งคิดว่า  พนักงานราชการส่วนใหญ่เขาก็ลากันแค่
45 วันนะ แม้แต่ข้าราชการซึ่งลาแล้วได้เงินเดือนเต็มหลายคนก็ลาแค่ 45 วัน เพราะเห็นแก่งาน  หัวหน้าบางคนบอกว่า ตอนสมัยฉันลาคลอด แค่ครึ่งเดือนฉันก็มาทำงานแล้ว
             อีกฝ่ายหนึ่งคิดว่า  ถ้าการลาดคลอด
90 วัน มันไม่เหมาะสม แล้วเขาจะกำหนดระเบียบนี้มาทำไม ?!?

             ( แม้แต่ลูกจ้างเอกชน ถ้านายจ้างไม่ให้ลาคลอดบุตร 90 วัน นายจ้างก็ผิดกฎหมายแรงงาน
               แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าลูกจ้างร้องเรียนไปที่กรมแรงงาน ลูกจ้างก็มักจะถูกนายจ้างหาทางเลิกจ้างในภายหลัง )

             กรณีนี้ ถ้ายืนยันจะลาเกิน 45 วัน ยื่นเสนอใบลาไปแล้ว ผอ.เกษียณในใบลาว่าให้ลาเพียง 45 วัน ใบลานี้ก็จะเป็นหลักฐานให้ใช้ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาที่สูงขึ้นไปได้
             แต่การร้องเรียน อาจจะทำให้การทำงานต่อไปไม่รุ่ง ( เพื่อนร่วมงานก็มี
2 แบบ บางคนถ้าได้รับผลกระทบต้องทำงานแทนเราเพียงส่วนหนึ่งก็ไม่พอใจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่งานใดจะไม่ทำงานเกิน 45 วันโดยไม่มีผลกระทบใด ๆ เลย )

             ควรปรึกษาหารือดี ๆ กับ ผอ.  จะลาไม่เกิน 45 วันได้ไหม  ถ้ามีความจำเป็นต้องลาเกิน 45 วัน ก็ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นให้ ผอ.เข้าใจ
             
( ตามระเบียบ พนักงานราชการมีสิทธิลาคลอดบุตรได้ 90 วัน ได้รับค่าตอบแทน 45 วัน เว้นแต่ผู้ลาประสงค์จะใช้สิทธิการลาคลอดบุตรน้อยกว่าสิทธิที่ตนมีอยู่ หรือขอถอนการลาบางส่วนภายหลัง  และไม่มีระเบียบให้ผู้บังคับบัญชาสามารถเรียกตัวกลับมาปฏิบัติราชการระหว่างการลาคลอดบุตรได้แต่อย่างใด )

         3. วันที่ 14 มิ.ย.60 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  อยากได้หนังสือการแบ่งโครงสร้าง กศน.อำเภอ... พอดีจังหวัดเค้าให้ทำโครงสร้างอำเภอ จึงต้องการโครงสร้าง กศน.อำเภอ มาประกอย

             ผมตอบว่า   ทั้งขนาดและโครงสร้าง มีกำหนดในกรอบอัตรากำลัง ตามหนังสือสำนักงาน กคศ. ที่ ศธ 0206.5/34 ลว. 25 ม.ค.53
             ซึ่งโครงสร้าง กศน.อ./ข. แบ่งเป็น
5 ขนาด แต่ละขนาดมีอัตรากำลังต่างกัน แต่ทุกขนาดกำหนดให้มี 3 กลุ่มเหมือนกัน คือ กลุ่มอำนวยการ-กลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ-กลุ่มภาคีเครือข่ายและกิจการพิเศษ ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ แต่ละแห่งกำหนดเอง

             ดาวน์โหลดโครงสร้างกรอบอัตรากำลัง ( ทั้งจังหวัด/อำเภอ ทุกขนาด ) ได้ที่
            
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/framework.pdf

 


         4. เช้าวันที่ 15 มิ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เงินค่าสาธารณูปโภคของห้องสมุดประชาชนหมดแล้ว สามารถใช้เงินส่วนไหนได้  แต่ก่อน กศน.อำเภออยู่กับห้องสมุด เดี่ยวนี้แยกกันอยู่เป็นเอกเทศ

             ผมตอบว่า   ใช้เงินค่าสาธารณูปโภคงบบริหาร กศน.อำเภอ ก็ได้ แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน เพราะ กศน.อำเภอต้องดูแลทั้งอำเภอ

             เมื่อผมตอบไปแล้ว ผู้ถามก็หมดปัญหาแล้ว แต่ ผมเองยังสงสัยต่อว่า ค่าสาธารณูปโภคงบบริหาร กศน.อำเภอ ส่วนใหญ่ก็ไม่พอด้วย ต้องเบิกจากเงินอุดหนุนรายหัวอยู่แล้ว .. ผมจึงเรียนถาม อ.สกุลนา หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. ว่า เงินอุดหนุนรายหัว จะเบิกจ่ายเป็นค่าสาธารณูปโภคห้องสมุดได้หรือไม่
             อ.สกุลนา บอกว่า ถ้ามิเตอร์สาธารณูปโภคเป็นชื่อห้องสมุด จะเบิกจ่ายจากเงินอุดหนุนรายหัวไม่ได้ ถ้ามิเตอร์รวมกับ กศน.อำเภอและเป็นชื่อ กศน.อำเภอ ก็พอจะถูไถเบิกจ่ายจากเงินอุดหนุนรายหัวไปได้
             กรณีแยกมิเตอร์นี้ ถ้าค่าสาธารณูปโภคงบบริหาร กศน.อำเภอก็ไม่พอด้วย ให้รายงานจังหวัด โดยให้จังหวัดสำรวจกรณีนี้ทุกอำเภอว่ารวมตลอดปีไม่พอเท่าไร แล้วเสนอของบค่าสาธารณูปโภคเพิ่ม ไปที่ส่วนกลาง

         5. วันที่ 15 มิ.ย.60 มีผู้ถามผมทางโทรศัพท์ ว่า  การออกคำสั่งแต่งตั้งนายทะเบียน กศ.ต่อเนื่อง จะใช้ระเบียบหลักเกณฑ์ใด

             ผมตอบว่า   ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์การแต่งตั้งนายทะเบียน กศ.ต่อเนื่อง โดยตรง  ( ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาต่อเนื่อง พ.ศ.2554 ก็ไม่ระบุเรื่องการแต่งตั้งนายทะเบียน )
             ในการแต่งตั้งให้บุคลากรปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ของหน่วยงาน/สถานศึกษา เป็นอำนาจหน้าที่ของ ผู้บริหาร/ผู้อำนวยการ อยู่แล้ว ตามกฏหมายหลัก เช่น ประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการกำหนดอำนาจหน้าที่ของสถานศึกษา
, พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546  จึงแต่งตั้งได้โดยไม่ต้องมีระเบียบหลักเกณฑ์โดยตรงในบางเรื่อง คือสามารถออกคำสั่งแต่งตั้งในลักษณะเดียวกับ การออกคำสั่งแบ่งงาน/มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบทั่วไป



         6. วันเสาร์ที่ 17 มิ.ย.60 มี ผอ.กศน.อำเภอ ถามผมทางไลน์ ว่า  ปัจจุบัน ครู ศรช.เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ จากเงินอุดหนุนรายหัวได้ไหม  การเงินบอกว่าครู ศรช. เป็นการจ้างเหมาบริการ เบิกงบอุดหนุนรายหัวไม่ได้ ต้องเบิกงบดำเนินการ ( งบบริหาร กศน.อำเภอ ) งบนี้อำเภอได้น้อยมาก ไม่พอ ต้องเบิกอุดหนุนทุกปี  การเงินอยู่เหนือผู้บริหารจังหวัดอีก

             ผมตอบว่า   ที่ถูกต้อง ให้เบิกจ่ายจากงบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไปราชการนั้น ถ้าไปราชการในเรื่องการจัด กศ.ขั้นพื้นฐาน ก็เบิกจากเงินอุดหนุนรายหัวได้ตามคำสั่ง สป.ศธ. เรื่องหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนฯ ที่ 605/59 ข้อ 10
            
( ส่วนงบบริหาร กศน.อำเภอ ก็ใช้ได้กับทุกงานของ กศน.อำเภอ  ถ้าไปราชการในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการจัด กศ.ขั้นพื้นฐานโดยตรง จะเบิกจากเงินอุดหนุนรายหัวไม่ได้ และ โดยปกติเงินอุดหนุนรายหัวจะใช้จ่ายอะไรบ้าง ต้องทำแผนฯก่อน )
             การเบิกค่าไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ ( ไปราชการ ) ของผู้รับจ้างเหมาบริการนี้ บางจังหวัดก็อนุโลมให้เบิกรวมไปกับบุคลากรอื่น บางจังหวัดให้ทำเป็นเรื่องจ้างตามระเบียบพัสดุต่างหาก แต่ถึงจะทำเป็นเรื่องจ้างฯก็เบิกจ่ายจากเงินอุดหนุนรายหัวได้ถ้าไปราชการในเรื่องการจัด กศ.ขั้นพื้นฐาน

             ผอ.ผู้ถาม  บอกข้อมูลต่อ ว่า ไปอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทย ตามที่สำนักงานแจ้ง แล้วมาจัดกิจกรรมขยายผล ซึ่งก็จัดกับ นศ. แผนก็เขียนไว้กว้างๆว่า เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของครู
             ผมตอบว่า  แผนฯเขียนไว้กว้าง ๆ ได้ ( จังหวัดควรอนุโลมให้เขียนแผนกว้าง ๆ ได้ในบางเรื่องที่ไม่สามารถรู้รายละเอียดล่วงหน้า )
             ถ้าตอนให้ไปราชการปฏิบัติงานนอกสถานที่ ระบุว่า ไปอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อนำมาจัดกิจกรรมขยายผลกับ นศ. กศ.ขั้นพื้นฐาน ก็เบิกเงินอุดหนุนรายหัวได้

         7. วันเดียวกัน ( เสาร์ที่ 17 มิ.ย.) มีผู้ถามผมทางอีเมล์ ว่า  ฉันทำหน้าที่เจ้าหน้าที่การเงิน ทำเรื่องไปขอเปลี่ยนลายมือชื่อเพื่อใช้ในการสั่งจ่ายเช็ค  ชื่อที่ใช้ในเช็คยังเป็น ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ เจ้าหน้าที่ธนาคารถามว่า ทำไมไม่เปลี่ยนชื่อสถานศึกษาให้เป็นชื่อปัจจุบัน  เค้าให้แนบหนังสือที่เปลี่ยนชื่อสถานศึกษาจาก ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ เป็น ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ... รบกวนขอหนังสือเรื่องนี้

             ผมตอบว่า   เรื่องการเปลี่ยนชื่อ ศบอ.เป็น กศน.อ. นี้ ในเอกสารประวัติ กศน.อำเภอ ของหลายอำเภอ มักจะบอกว่า เปลี่ยนชื่อตาม พรบ.กศน.ปี 51 เมื่อ 4 มี.ค.51  ซึ่งไม่ค่อยถูกต้องชัดเจน 
             ที่ถูกต้องชัดเจนคือ เปลี่ยนชื่อเมื่อวันที่
25 มี.ค.51 โดย ประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องบัญชีรายชื่อสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจของสถานศึกษาตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551” ลงวันที่ 10 มี.ค.51 แต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 25 ม.ค.51
             ดาวน์โหลดประกาศฉบับนี้ ได้ที่
            
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/cheingeNFEd.pdf


วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560

1.สงสัยเรื่องงบการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน, 2.ให้เรียนวิชาเลือกบังคับทั้งสี่วิชาได้ไหม เพื่อลดภาระ, 3.ขอคู่มือเทียบระดับ, 4.การทำวิทยฐานะ ผอ.อำเภอ, 5.เกินห้าปี เทียบโอนได้ไหม, 6.วิชาที่เรียนเกิน 5 ปีก่อนวันลาออก แต่ปรากฏในใบ รบ. จะหมดอายุไหม, 7.ใช้งบ “1 อำเภอ 1 อาชีพ” สอนวิชาช่างพื้นฐานได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 22 พ.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของ นศ.กศน. ใน 1 เทอม แต่ละคนต้องได้รับการพัฒนาอย่างน้อย 1 ครั้ง ตามที่จัดสรรงบฯให้เทอมละ 2 รอบ ๆ ละ 1 ไตรมาส หรือเปล่า หรืออย่างไร

             ผมตอบว่า
             - ใน 1 เทอม นศ.แต่ละคนต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างน้อย 1 ครั้ง
             - โดยปกติจะจัดสรรงบประมาณให้เทอมละ 1 รอบ แต่ที่ปีหลัง ๆ จัดสรรงบประมาณให้เทอมละ 2 ครั้ง ( ไม่ใช่ครั้งละ 1 ไตรมาส ) เพราะ การจัดสรรครั้งแรกยังไม่รู้จำนวน นศ.ของเทอมนั้นที่ชัดเจน จึงใช้จำนวน นศ.ของเทอมก่อนมาเป็นฐานในการจัดสรร 50 % ก่อน และเมื่อรู้จำนวน นศ.ที่ชัดเจนไม่ซ้ำซ้อนแล้ว จะมีการจัดสรรครั้งที่สองเพื่อปรับให้จำนวนเงินเต็มตามจำนวน นศ.ของเทอมนั้น

         2. วันที่ 25 พ.ค.60 มี ศน.จาก สนง.กศน.จังหวัด ถามผมทางไลน์ ว่า  วิชาเลือกบังคับ 4 วิชา ถ้าให้ นศ.ลงทั้ง 4 วิชา โปรแกรมไอทีจะยอมให้จบรึเปล่า เพราะทั้ง 4 วิชาน่าสนใจ และช่วยลดภาระสถานศึกษาได้อีกด้วย

             ผมตอบว่า   โปรแกรมยอมให้จบ แต่

             - ดูตารางสอบ วิชาเลือกบังคับจะสอบปลายภาคในเวลาเดียวกันครั้งละ 2 วิชานะ
             - อาจจะขัดหลักการของแผนการเรียนรู้รายบุคคลบ้าง คือทุกแผนต้องลดหน่วยกิตลง โดยวิชาเลือกบังคับที่เกิน 2 วิชาจะไปอยู่ในทุกแผนซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับแต่ละแผน

             ศน.ผู้ถาม บอกว่า ให้ลงเรียนวิชาเลือกบังคับเทอมละ 1 วิชา จะไม่ชนเวลาสอบ แต่ที่กลัวคือไอทีจะไม่ยอมให้จบ เพราะเห็นระบุว่าให้เลือก 2 ใน 4 วิชา
             ผมตอบว่า  โปรแกรมยอมให้จบแน่
             ( แม้จะไม่เป็นไปตามอุดมคติของแผนการเรียนรู้
รายบุคคลเพราะเป็นการเพิ่มวิชาบังคับ ลดวิชาเลือกที่สอดคล้องกับสภาพของแต่ละคน แต่ถ้าทุกแผนลดหน่วยกิตลง ลดวิชาเลือกเสรี ก็ช่วยลดภาระสถานศึกษาได้จริง วิชาเลือกบังคับมีหลักสูตร/หนังสือเรียน/ข้อสอบปลายภาคให้อยู่แล้ว 
             เรื่องนี้ทั้งคุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. และคุณสุขุม ผู้พัฒนาโปรแกรม
ITw บอกว่า เรียนวิชาเลือกบังคับทั้ง 4 วิชาได้ โดยจะเรียนเกินหรือจะไปลดวิชาเลือกเสรีในแต่ละแผนก็ได้

             คุณสุขุมบอกแถมว่า กำลังปรับโปรแกรมฯออกเวอร์ชั่นใหม่ ปรับสำหรับผู้ที่เทียบโอนแล้วเหลือวิชาเลือกที่ต้องเรียนไม่เกิน 4 หน่วยกิตในระดับประถม ไม่เกิน 6 หน่วยกิตในระดับ ม.ต้น-ปลาย ก็จบได้โดยไม่ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ และปรับโครงสร้างการเรียนระดับประถมของเด็กในวัยเรียนให้เป็น 6 ชั้น ๆ ละ 2 ภาคเรียน )

         3. วันที่ 24 พ.ค.60 มี ขรก.ครู กศน.อำเภอ ในอยุธยา โทร.มาถามผมเรื่องเทียบระดับฯ ผมตอบดังนี้

             1)  มีผู้เทียบระดับการศึกษาฯสูงสุดฯ ( ม.6 ใน 8 เดือน ) สอบผ่านภาคทฤษฎีทั้ง 9 วิชา แต่ยังไม่ประเมินภาคประสบการณ์ ผ่านไป 2-3 ปีแล้ว จะมาลงทะเบียนใหม่เพื่อประเมินภาคประสบการณ์ จะต้องเก็บค่าธรรมเนียมในปีที่เว้นไปด้วยหรือไม่
                  ผมตอบว่า  ถ้าสอบผ่านแต่ภาคทฤษี ไม่ผ่านภาคประสบการณ์ในรอบการประเมินนั้น จะสะสมผลการประเมินภาคทฤษฎีไว้ไม่ได้ ต้องลงทะเบียนสอบใหม่หมด

             2)  ผู้ถามเปลี่ยนคำถามใหม่ เป็นว่า ถ้ามีผู้เทียบระดับการศึกษาฯ ผ่านทั้งภาคทฤษฎีและภาคประสบการณ์ ในบางวิชาไป 2-3 ปีแล้ว แต่ยังไม่ครบ 9 วิชา  จะมาลงทะเบียนใหม่เพื่อประเมินวิชาที่เหลือ จะต้องเก็บค่าธรรมเนียมในปีที่เว้นไปด้วยหรือไม่
                  ผมตอบว่า  รอบการประเมินที่เว้นไป ไม่ได้ลงทะเบียน ก็ไม่ต้องเก็บค่าธรรมเนียม รอบไหนมาลงทะเบียนก็เก็บค่าธรรมเนียมเฉพาะรอบนั้น  ( รวมแล้วต้องประเมินให้จบผ่านหมดภายใน 5 ปีนะ รวมช่วงที่เว้นด้วยเกิน 5 ปีไม่ได้ และห้ามรับขึ้นทะเบียนเทียบระดับฯสูงสุดฯรายใหม่แล้ว )

             3)  ผู้เข้าประเมินจะเปลี่ยนไปเทียบระดับแบบเดิม ( ไต่ระดับ ) ซึ่งผู้ถามไม่เคยจัด  ขอให้นำไฟล์คู่มือการเทียบระดับแบบเดิม มาลงในกลุ่มไลน์หรือในเฟซบุ๊กให้ด้วย
                  ผมตอบว่า
                  - ดาวน์โหลดคู่มือการดำเนินงานเทียบระดับฯแบบเดิม ( ไต่ระดับ ) ฉบับปรับปรุง ปี 2559 ได้ที่
                    
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/manualTeab59.pdf
                  - ดาวน์โหลดเอกสารงานเทียบระดับอื่น ๆ เช่น คู่มือกรรมการฯ คู่มือผู้เข้าประเมินฯ ได้ที่
                    
http://203.172.142.102/pattana/compare.html

         4. วันที่ 26 พ.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ขอคำแนะนำแนวทางในการทำวิทยฐานะชำนาญการพิเศษผู้บริหาร(ผอ.อำเภอ)

             ผมตอบว่า   การทำวิทยฐานะของผู้บริหารสถานศึกษา ให้ทำตามแบบดั่งเดิม คือแบบทำผลงานวิชาการ ตาม ว 17 ปี 52 ( ชายแดนใต้จะเป็น ว 10 ปี 54 )
             ที่มีข่าวว่า ออกหลักเกณฑ์ใหม่ในวันที่ 5 ก.ค.60 นั้น เฉพาะสายผู้สอนเท่านั้น
             ตอนนี้ผู้บริหารสถานศึกษายื่นขอมีหรือเลื่อนวิทยาฐานะได้ตามแบบ ว 17 เท่านั้น ส่วน ว 13 ปี 56 ( แบบได้รับรางวัลระดับชาติ-เชิงประจักษ์ ) เลิกให้ยื่นรายใหม่แล้ว และ ว 17 ปี 58 ( แบบ P.A. ประเมินตามข้อตกลงการพัฒนางาน ) ก็ล้มเลิกไปแล้ว

         5. เย็นวันเสาร์ที่ 27 พ.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันเอาใบ รบ. ( ใบ ปพ.1 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานปี 2551 ) มาขอเทียบโอน แต่ทาง กศน.อ. ... ... บอกว่าเทียบโอนให้ไม่ได้ เพราะใบ รบ.ผลการเรียนหมดอายุ เกินห้าปีแล้ว ให้เรียน ม.ปลายใหม่เลย ซึ่งฉันเพิ่งลาออกเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แล้วมาสมัครเดือนเมษายน ฉันอยากทราบว่า ใบ รบ.มีหมดอายุด้วยหรือ เพราะในใบ รบ.ที่ส่งให้เขาตอนขอเทียบ ข้างหลังระบุว่าเพื่อศึกษาต่อสถาบันอื่น ฉันขอดูระเบียบและหลักเกณฑ์การนับเวลาใบ รบ. เขาก็บอกไม่ว่างไม่มีเวลาจะมาเปิดให้ดู เขาเคยทำกันแบบนี้มาตลอด ฉันควรทำอย่างไรดี ทางทะเบียน รร.เดิม ก็บอกว่าผลการเรียนไม่มีวันหมดอายุ ใบ รบ.ที่ส่งให้เขาก็ฉบับจริงด้วย

             ผมตอบว่า   ถ้าออกใบระเบียนแล้ว ผลการเรียน กศ.ขั้นพื้นฐานจะไม่กำหนดอายุ ถ้ามีวันหมดอายุ คนที่เรียนจบ ม.ต้น แล้วไม่เรียนต่อ ม.ปลาย ภายใน 5 ปี ก็ต้องเรียน ม.ต้นใหม่อย่างนั้นหรือ
             ( แม้แต่จบ ป.4 มา 30 ปีแล้ว ยังให้เทียบโอนได้ 24 หน่วยกิตเลย )
             ผมเคยโพสต์เรื่องนี้ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้งแล้ว เช่น ใน
             - ข้อ 3 (2) ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/05/26.html
             - ข้อ 9 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/506950
              
( ตามหนังสือ แนวทางการเทียบโอนผลการเรียนหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551” หน้า 5 ข้อ 5 กำหนดว่า การเทียบโอนจาก กศ.ขั้นพื้นฐาน ไม่กำหนดอายุของผลการเรียนที่นำมาเทียบโอน ถ้าเป็นการเทียบโอนจากการศึกษาต่อเนื่อง จึงให้สถานศึกษาพิจารณาว่าจะกำหนดอายุของผลการเรียนรู้ที่นำมาเทียบโอนไม่ให้เกินกี่ปีหรือไม่ )

         6. เช้าวันที่ 29 พ.ค.60 ผมถามคุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. ว่า  มี นร.ลาออกจากในระบบ มาสมัครเรียน ม.ปลายที่ กศน. เขาเรียน ม.4-ม.6 ระหว่างปีการศึกษา 2553-2555 เรียนจนสอบปลายภาค 2 ของ ม.6 แล้ว แต่บางวิชาไม่ผ่าน และไม่แก้ จึงไม่จบ นร.คนนี้เพิ่งไปลาออกเมื่อ มี.ค.60 วันที่ลาออกนี้วิชาที่เรียนตอน ม.4-5 เมื่อปี กศ.53-54 จะเกิน 5 ปีแล้ว แต่ก็ยังปรากฏในใบ รบ.ที่ลาออก ( รร.ในระบบเขาคงไม่ได้กำหนดให้มีการหมดอายุวิชาเหมือน กศน. )
             ถามว่า  วิชาที่ปรากฏในใบ รบ. แต่เกิน 5 ปีก่อนวันลาออก จะเทียบโอนเข้าหลักสูตร กศน.ได้ไหม

             คุณกิตติพงษ์ตอบว่า  ถ้าปริ้นท์ระเบียบ ปพ.1 ออกมาได้ ก็ใช้ได้ตลอดไม่หมดอายุ ตามแนวทางเล่มเขียว
             ส่วนของ กศน. ถ้า 5 ปีแล้วยังไม่จบ รายวิชาที่เกิน 5 ปีจะปริ้นท์ออกมาไม่ได้ ต้องรีบลาออกและปริ้นท์ระเบียบออกมา ไม่งั้นวิชาจะหมดอายุไปเรื่อย ๆ เหมือนงูกินหาง   กศน.กำหนด 5 ปี เพราะมีบางคนหายไปไม่จบซักที เป็นภาระทะเบียนเมื่อผ่านไปหลายปีกลายเป็นมี นศ.จำนวนมากมาย  ส่วนในระบบเขาหลักสูตร 3 ปี  ประถม 6 ปี  แต่ละรุ่นเรียนไปพร้อมกัน ไม่มีปัญหาเรื่องการดรอปเรียน/หายไปเหมือน กศน. เขาเลยไม่กำหนดอายุรายวิชาไว้
             ( เมื่อไม่กำหนดอายุ ก็ไม่มีวันหมดอายุ สรุปว่า ผลการเรียนที่ปรากฏในใบระเบียนแสดงผลการเรียน กศ.ขั้นพื้นฐาน จะไม่มีวันหมดอายุ แม้จะเรียนเกิน 5 ปีก่อนวันลาออกหรือกรณีใด ๆ ก็ตาม )

         7. วันที่ 2 มิ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  สอบถามระเบียบเกี่ยวกับ โครงการ 1 อำเภอ 1 อาชีพ เราสามารถสอนเป็นวิชาชีพได้หรือไม่ เช่น ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เพราะอาชีพนี้เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน

             ผมตอบว่า   งบฯ 1 อำเภอ 1 อาชีพจะจัดสอนอาชีพใดก็ได้ เพียงแต่เขาแยกงบนี้ออกมาเป็นส่วนของระดับอำเภอ ไม่ได้จัดสรรเป็นรายตำบล  ปกติไม่ให้จัดในรูปแบบอบรม แต่ให้จัดในรูปแบบกลุ่มสนใจหรือชั้นเรียน ให้จัดสอน/พัฒนาอาชีพที่เหมาะกับสภาพอำเภอนั้น 1 อาชีพ ซ้ำกับอำเภออื่นก็ได้  ถ้าจะจัดสอนเป็นวิชาอาชีพช่างพื้นฐานก็ได้ ปัจจุบันช่างรับบริการซ่อมบำรุงตามบ้านก็ยังมีไม่มากและมีรายได้ดีเพราะคนที่ซ่อมบำรุงภายในบ้านตัวเองไม่เป็นต้องหาจ้างช่างมีมากขึ้น แต่การสอนอาชีพช่างคงต้องจัดในรูปแบบชั้นเรียนจึงจะเหมาะสมกับเนื้อหาวิชาอาชีพช่างพื้นฐาน ( ช่างภายในบ้าน )