วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

1.ขอข้อมูลท้องที่ที่ประกาศการศึกษาภาคบังคับในแต่ละปี, 2.สมาชิก ชพค.เสียชีวิตเดือนละ 400-500 คน อีกไม่กี่ปีครูจะหมดละ, 3.นำบุคลากรไปศึกษาดูงาน ค่าที่พัก-ค่าอาหาร หัวละเท่าไร, 4.นำใบรับรองของศูนย์การเรียน กศน.ในต่างประเทศ มาเทียบโอน, 5.เกณฑ์วิทยฐานะใหม่, 6.ชำนาญการพิเศษ ย้ายไปตำแหน่งว่างที่เป็นชำนาญการ ได้ไหม, 7.ไม่ให้ จนท.การเงินเป็นกรรมการตรวจรับหรือ ?




สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 5 ก.ค.60 ปลัดอำเภอผักไห่ อยุธยา ประสานมายัง กศน.อ.ผักไห่ ขอเอกสารข้อมูลท้องที่ที่ประกาศการศึกษาภาคบังคับในแต่ละปี เพื่อจะใช้ประกอบการพิจารณารับสมัครผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งระเบียบกำหนดคุณสมบัติให้ผู้สมัครต้อง มีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ

             เรื่องนี้  ผมเคยตอบในข้อ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2013/11/library.html ว่า
             การจะดูว่าผู้ใดจบการศึกษาภาคบังคับหรือไม่ ให้ดูจากปีที่จบการศึกษา ไม่ใช่ดูปีที่เกิด และ ถ้าจบตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 ระหว่างปี พ.ศ. 2506-2521 ยังต้องพิจารณาว่าจบในท้องที่ใดกำหนดการศึกษาภาคบังคับเป็นชั้นใดด้วย ซึ่ง
             1)  แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2479 ( ... - พ.ศ.2502) ประกาศใช้วันที่ 17 มี.ค.2479  การศึกษาภาคบังคับ คือ ป.4
             2)  แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 ( .... - พ.ศ.2519) ประกาศใช้วันที่ 20 ต.ค.03  การศึกษาภาคบังคับ คือ ป 7  แต่ ในระหว่างปี 2505-2521 ได้ทยอยประกาศให้แต่ละปี ท้องที่ใดภาคบังคับเป็น ป.7 ไม่ใช่ภาคบังคับเป็น ป.7 พร้อมกันทั่วประเทศ
             3)  แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2520 ประกาศใช้วันที่ 31 มี.ค.20  การศึกษาภาคบังคับ คือ ป.6
             4)  พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ประกาศ ณ วันที่ 31 ธ.ค.45 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.46  การศึกษาภาคบังคับ คือ ม.3

             ปัญหาอยู่ที่ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 ไม่ได้บังคับเต็มพื้นที่พร้อมกันทั่วประเทศ ในแต่ละปีบางท้องที่ภาคบังคับคือ ป.4 บางท้องที่ภาคบังคับคือ ป.7

             ดูปี และท้องที่ ที่ทยอยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ระหว่างปี 2506-2521 จำนวน 25 จาก 27 ฉบับ ( 313 หน้า ) ที่เพิ่มการศึกษาภาคบังครับเป็น ป.7 ได้ที่
             https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/educationForce2503.pdf
              ( ไฟล์รวมนี้ ยังขาดอยู่ 2 ฉบับ ที่หาไม่พบ เพราะไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ
             - ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 14 เม.ย.13 ใช้ในท้องที่รวม 83 ตำบล
             - ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 มิ.ย.13 ใช้ในท้องที่รวม 35 ตำบล )

             ( ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  https://www.gotoknow.org/posts/329844 )



         2. คืนวันที่ 10 ก.ค.60 Nuttapol Marayart เขียนต่อท้ายโพสต์ผมบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก ว่า· อ.ครับ ดูรายชื่อสมาชิก ชพค.ที่เสียชีวิต แต่ละเดือนเดือนละ 400-500 ท่าน อีกไม่กี่ปีครูจะหมดละ

             ผมตอบว่า   จะเสียชีวิตเดือนละกี่ร้อยกี่พัน ก็สอบบบรรจุคนใหม่แทนหมดครับ ( ถ้าออกก่อนเกษียณไม่ว่าจะออกเพราะเสียชีวิตหรือเหตุอื่น ๆ จะเกิดอัตราว่างที่สามารถบรรจุคนใหม่แทนได้ทันที่  ถ้าเกษียณ กระทรวงศึกษาฯจะได้อัตราข้าราชการครูเกษียณคืนภายหลังครบ 100 % )

             เพื่อเป็นข้อมูลช่วยให้คิดวิเคราะห์ได้ใกล้เคียง ผมขอนำเสนอสถิติจากการบรรยายของ รมว.ศธ. เมื่อ 27 ก.ค.59 ดังนี้
            
1)  แผนการบรรจุ ขรก.ครูใหม่ ระหว่างปี 2557-2562 เฉพาะ สพฐ.+สอศ. เฉลี่ย
                 
- สพฐ. 18,208 คน/ปี
                 
- สอศ. 305 คน/ปี
            
2)  จำนวนครูเกษียณ ระหว่างปี 2556-2570 = 7,566 - 28,246 คน/ปี เฉลี่ย 15 ปีนี้ เกษียณ 19,216 คน/ปี
            
3)  จำนวนอัตราข้าราชการครู ปี 59 เฉพาะที่มีอัตราเงินเดือน ( ถ้าอัตราตาม กรอบอัตราจะมากกว่านี้ )
                 
- กศน. 770 คน
                 
- สอศ. 13,562 คน
                 
- สพฐ. 426,129 คน
            
 ( สถาบันการศึกษา รวมทุกแห่งผลิตครูเกินจำนวนครูที่ถึงแก่กรรม มาก  รวมทุกสถาบันเฉลี่ยผลิตครูปริญญาตรีปีละ 60,000 คน ยังไม่รวม ป.บัณฑิต อีกปีละ 7,000 คน )

             ส่วนสถิติ ข้อมูล ชพค. ชพส. ต่าง ๆ ( ผมเคยโพสต์ประเด็นนี้ 3 ครั้งแล้ว ) สามารถดูทางเว็บไซต์ได้ที่  http://www.otep-cpks.go.th  เช่น
            
1)  จำนวนสมาชิก ชพค.บางเดือนลดลงบางเดือนเพิ่มขึ้น โดยเดือน มิ.ย.60 = 956,335 คน มากกว่า ธ.ค.53 ซึ่งมี 853,397 คน เพราะโดยเฉลี่ย สมาชิกเข้าใหม่ มากกว่า จำหน่ายออก ( จำหน่ายออกเพราะ ถึงแก่กรรม+ลาออก+ให้ออกเช่นเพราะขาดการชำระค่าสงเคราะห์รายศพเป็นเวลานาน )
                  ดูข้อมูลจำนวนสมาชิกเข้าใหม่-จำหน่าย ในแต่ละเดือน ได้ที่
                 
http://www.otep-cpks.go.th/otepcpks/cpk-member-8/

             2)  สมาชิก ช.พ.ค. ไม่ได้มีแต่ข้าราชการครู และไม่ได้มีแต่ผู้ที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
                 
2.1  ผู้มีสิทธิสมัคร ช.พ.ค. จะต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาในสังกัดต่อไปนี้
                       
- กระทรวงศึกษาธิการ
                        
- องค์การมหาชน หรือองค์กรในกำกับ ของกระทรวงศึกษาธิการ
                       
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กทม., เทศบาล, เมืองพัทยา ฯลฯ)
                       
- กระทรวงอื่นที่โอนจากกระทรวงศึกษาธิการ
                       
- สหกรณ์ออมทรัพย์ครู
                 
2.2  ผู้สมัครจะต้องมีอายุไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์นับถึงวันสมัคร และต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
                       
- ครู
                       
- คณาจารย์
                       
- ผู้บริหารสถานศึกษา
                       
- ผู้บริหารการศึกษา
                       
- บุคลากรทางการศึกษาอื่น
                       
- ผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา  หรือ

                        - สมาชิกคุรุสภาสังกัดกระทรวงอื่น ที่เป็นสมาชิกก่อนวันที่ 12 มิ.ย.46


         3. ดึกวันที่ 10 ก.ค.60 Prapai Thongtip ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  กรณีนำบุคลากรในสถานศึกษาไปศึกษาดูงาน 4-5 วัน อัตราค่าที่พัก ค่าอาหาร หัวละเท่าใด หรือต้องดูระเบียบตัวไหน



             ผมตอบว่า   ผมเคยตอบเรื่องนี้แล้ว เช่น ในข้อ 5 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/09/51-55.html  เรื่องที่พัก-เบี้ยเลี้ยงนี้ มีระเบียบ 2 ฉบับ ที่แตกต่างกัน ( เราต้องรู้ว่าเป็นการเดินทางไปราชการ หรือ ไปฝึกอบรม )  คือ
             1)  พระราชกฤษฎีกา และ ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ 
             2)  มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2556 ประกอบกับ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3 พ.ศ.2555 ( ดาวน์โหลดได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/moneytrain55-56.pdf )

             กรณีที่ถามนี้ เป็นการ นำบุคลากรในสถานศึกษาไปศึกษาดูงานจะเป็น การฝึกอบรมฯ ต้องดูระเบียบตามข้อ 2) ครับ

              ( การฝึกอบรมฯ ค่าที่พักเหมาจ่ายไม่ได้ ต้องเบิกจ่ายตามที่จ่ายจริง แนบใบเสร็จรับเงิน ) ไม่เกินอัตราที่กำหนด ถ้าไม่มีใบเสร็จรับเงินค่าที่พักก็เบิกไม่ได้
             บุคลากรที่เป็นจ้างเหมาบริการ ถือเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งอัตราค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมจะไม่เท่ากับการฝึกอบรมข้าราชการประเภท ก. และตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฯ ข้อ
18.- 19. กำหนดว่า การจัดฝึกอบรมบุคคลภายนอก ผู้จัดอบรมจะต้องเป็นผู้จ่ายค่าอาหาร-ที่พัก-พาหนะ ทั้งหมด  ในกรณีที่สถานศึกษาหรือ กศน.จังหวัด ไม่ได้เป็นผู้จัดอบรมเอง ผู้รับจ้างเหมาบริการจะเบิกจากต้นสังกัดไม่ได้




         4. วันที่ 13 ก.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  นักศึกษาจาก ซาอุดิอารเบีย เรียนที่ศูนย์การเรียน กศน.เจดดาห์ มาสมัครเรียนและนำผลการเรียนมาเทียบโอน แต่เอกสารที่ได้มา ( ตามภาพประกอบ ) คล้ายๆกับใบรับรอง ไม่ทราบว่าจะต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างไรบ้าง

             เรื่องนี้  ผมเห็นว่าใบรับรองมีลักษณะแปลก ๆ จึงถามต่อไปที่คุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. ได้รับคำตอบว่า
             ใบนี้เป็นเอกสารรับรองภายในของศูนย์การเรียนต่างประเทศ นำมาใช้เป็นหลักฐานไม่ได้ ต้องใช้ฉบับที่ ศกพ.กศน.ในไทย ( ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ) เป็นผู้ออกให้ จึงจะนำมาเป็นหลักฐานได้... ให้น้องเขาไปติดต่อ อ.กัญญา โทร 02-628-5329 ที่ ศกพ.กศน.





         5. สรุปเกณฑ์วิทยฐานะใหม่

             เกณฑ์วิทยฐานะใหม่มี 5 ข้อ
             1)  มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง/วิทยฐานะ ในแต่ละระดับ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
             2)  มีผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ย้อนหลัง 5 ปีการศึกษา โดยต้องมีผลการประเมินที่ผ่านเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 3 ปีการศึกษา ( ประเมินผลงานที่ทำเป็นปกติ เป็นประจำทุกปีการศึกษา เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาโดยผู้อำนวยการสถานศึกษา )  ซึ่งจะมีการประเมิน 3 ด้าน คือ ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการบริหารจัดการชั้นเรียน และด้านการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพ PLC ( Professional learning community : การมีส่วนร่วมหรือเป็นผู้นำในชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ )
                  - ชำนาญการ/ชำนาญการพิเศษ ไม่ต้องมีผลงานวิชาการ
                  - เชี่ยวชาญ/เชี่ยวชาญพิเศษ เพิ่ม ผลงานวิชาการอย่างน้อย 2 รายการ โดย เชี่ยวชาญ ให้มีผลงานวิจัยในชั้นเรียนอย่างน้อย 1 รายการ ส่วนเชี่ยวชาญพิเศษ ให้มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาอย่างน้อย 1 รายการ
             3)  มีชั่วโมงการปฏิบัติงานครูในแต่ละปี ไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมง สำหรับขอวิทยฐานะครูชำนาญการและวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ, ไม่น้อยกว่า 900 ชั่วโมง สำหรับขอวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญและวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ
                  โดยในชั่วโมงการปฏิบัติงานนี้ต้องมีชั่วโมง PLC ในแต่ละปีรวมอยู่ด้วยไม่น้อยกว่า 50 ชั่วโมง
                  ทั้งนี้ ต้องมีชั่วโมงการปฏิบัติงานครูขั้นต่ำตามที่ ก.ค.ศ.กำหนดแต่ละสังกัด รวมแล้วต้องมีชั่วโมงปฏิบัติงานในหน้าที่ครูผู้สอนเท่ากับ 4,000 ชั่วโมง รวมกับรายงาน Logbook ย้อนหลัง 5 ปี
             4)  คุณธรรมจริยธรรมจรรยาบรรณวิชาชีพ ( ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยหรือจรรยาบรรณวิชาชีพในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าปีใดถูกลงโทษ ให้เริ่มนับ 1 ใหม่ )

             5)  ต้องผ่านการพัฒนาตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด คือ
                  5.1 การพัฒนาตนเอง
                       เลือกอบรมหลักสูตรคูปองครู ที่สถาบันคุรุพัฒนารับรอง ตามความสนใจ โดย ผอ.อนุมัติให้อบรม ปีละไม่น้อยกว่า 12 ชม. แต่ไม่เกิน 20 ชม. ให้ครอบคลุม 3 องค์ประกอบ คือ ความรู้ ทักษะ และความเป็นครู ( อบรมในวันเสาร์อาทิตย์หรือช่วงปิดเทอม พัฒนาวิชาชีพ PLC ระหว่างการปฏิงานในหน้าที่ครูผู้สอน ) ควรเลือกหลักสูตรที่มีการติดตามผลออนไลน์ที่ให้ชั่วโมง PLC ที่ตรงกับบทบาทหน้าที่ด้วย และเลือกให้ครอบคลุม 3 องค์ประกอบ
                       มีชั่วโมงการพัฒนาใน 5 ปี ไม่น้อยกว่า 100 ชม. หากไม่ครบ 100 ชั่วโมง สามารถนำชั่วโมง PLC ส่วน ที่เกิน 50 ชั่วโมงในแต่ละปีมานับรวมได้
                  5.2 จัดสรรเงินคูปองครูให้เฉพาะครูที่ลงทะเบียนอบรมแล้ว คนละ 10,000 บาท/ปีงบประมาณ ถ้าใช้เกินให้จ่ายเองถือว่าพัฒนาตนเอง ถ้าใช้ไม่หมดไม่สะสมไปปีต่อไป
                   ( ถ้าได้รับการพัฒนาในแต่ละปีครบตามเงื่อนไขที่กำหนด ถือว่าผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตามมาตรา 80 ด้วย ไม่ต้องอบรมก่อนแต่งตั้งอีก )

         6. เช้าวันเสาร์ที่ 15 ก.ค.60 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  ชำนาญการพิเศษ สามารถย้ายไปแทนตำแหน่งว่างชำนาญการได้มั้ย บางคนก็บอกได้บางคนก็ว่าไม่ได้

             ผมถามกลับว่า  ครู หรือ บรรณารักษ์ หรืออะไร  ผู้ถามบอกว่า ครู
             ผมตอบไปก่อนว่า  ครู ย้ายไปตำแหน่งวิทยฐานะที่ต่างกันได้
             หลังจากผมตอบไปแล้ว เพื่อความแน่ใจและมีรายละเอียด ผมจึงเรียนถามจากท่านสัจจา ผู้ทรงคุณวุฒิ กจ.กศน. อีกครั้ง ท่านบอกว่า
             การย้ายของ ขรก.ครู ไม่เกี่ยวกับวิทยฐานะ ย้ายไปได้
             แต่การย้ายของบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) จะย้ายไปลงตำแหน่งที่วิทยฐานะต่างกลุ่มไม่ได้ ( ปฎิบัติการกับชำนาญการ ถือว่าอยู่ในกลุ่มอัตราเดียวกัน ปฏิบัติการย้ายไปลงตำแหน่งชำนาญการได้ ชำนาญการย้ายไปลงตำแหน่งปฏิบัติการได้  แต่ชำนาญการพิเศษเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ชำนาญการพิเศษจะย้ายไปลงตำแหน่งชำนาญการไม่ได้ และชำนาญการก็จะย้ายไปลงตำแหน่งชำนาญการพิเศษไม่ได้ )

         7. วันอาทิตย์ที่ 16 ก.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ถ้าเป็นข้าราชการ และเป็นเจ้าหน้าที่การเงิน.. ในการตรวจรับพัสดุ ถ้าวงเงินเกิน 10,000 บาทจะต้องเป็นประธานตรวจรับทุกรายการหรือไม่... หลายแห่งเขาไม่ให้เจ้าหน้าที่การเงินเป็นกรรมการตรวจรับ(เพราะป้องกันการส่อเจตนา) แต่บางแห่งก็ถือบังคับว่าถ้าเป็นข้าราชการ แม้เป็นเจ้าหน้าที่การเงินต้องตรวจรับพัสดุ พอจะมีแนวทางข้อเสนอแนะบ้างหรือไม่

             ผมตอบว่า  เคยตอบ 3-4 ครั้ง ว่า  แต่งตั้ง จนท.การเงิน เป็นกรรมการตรวจรับพัสดุได้  มีเพียงบอกว่าวงเงินไม่เกิน 10,000 บาท ถ้าตั้งผู้ตรวจรับคนเดียว ไม่ให้แต่งตั้ง ผู้มีหน้าที่จัดซื้อ/จัดจ้าง เป็นผู้ตรวจรับ  และไม่ให้ตั้งคนเดียวกันเป็นกรรมการที่ทำหน้าที่ต่อเนื่องกัน
             โดยเฉพาะถ้าหน่วยงาน/สถานศึกษานั้นมีข้าราชการ ต้องให้ข้าราชการเป็นประธานกรรมการ ฉะนั้นถ้ามีข้าราชการคนเดียวและเป็น จนท.การเงิน ก็ต้องให้ จนท.การเงินเป็นประธานกรรมการตรวจรับพัสดุทุกครั้ง  ( ผู้ตรวจรับ ถือเป็น ผู้ตรวจสอบ เมื่อผู้ตรวจรับไม่ใช่ผู้จัดซื้อ/จัดจ้าง ก็ไม่ส่อเจตนาทุจริต )
             แต่ถ้ามีข้าราชการหลายคน จะตั้ง จนท.การเงินเป็นกรรมการหรือไม่ก็ได้
             ดูคำตอบเดิม เช่นใน
             - ข้อ 6 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/548337
             - ข้อ 1 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/547851
             - ข้อ 5 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2016/02/v13-5.html
             - ข้อ 6 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/01/stopday.html
              ( ตามระเบียบกำหนดว่า
                - ในการซื้อหรือจ้างครั้งเดียวกัน ห้ามแต่งตั้งผู้ที่เป็นกรรมการรับและเปิดซองประกวดราคา เป็นกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา  หรือแต่งตั้งผู้ที่เป็นกรรมการเปิดซองสอบราคาหรือกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา เป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ
                - การซื้อหรือจ้างในวงเงินไม่เกิน 10,000 บาท จะแต่งตั้งข้าราชการหรือลูกจ้างประจำคนเดียว ซึ่งมิใช่ผู้จัดซื้อหรือจัดจ้าง เป็นผู้ตรวจรับพัสดุหรืองานจ้างนั้น ก็ได้ )

วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

1.หยุดชดเชยวันเดียว, 2.คำถามเรื่องเทียบโอน ที่แสดงถึงการทำผิดระเบียบ, 3.นศ.สอบ N-NET แล้วไม่จบ ลาออกสมัครใหม่ ได้รหัสใหม่ ต้องสอบ N-NET ใหม่ไหม, 4.พา นศ.ไปศึกษาดูงาน ต้องขออนุญาตผู้ปกครองไหม, 5.เป็นโรคประจำตัวเหล่านี้ สมัครสอบราชการได้ไหม, 6.จ้าง ขรก.กศน.แห่งอื่นที่ไม่ใช่ตำแหน่งครู ให้เป็นครูประจำกลุ่มได้ไหม, 7.กศน.ทำสัญญาจ้างครูแค่ 6 เดือน จะขอ/ต่อหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูได้หรือ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันอาสาฬหบูชาวันเข้าพรรษา ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 8-9 ก.ค.60 ให้หยุดชดเชยในวันจันทร์ที่ 10 ก.ค.60 เพียงวันเดือน ตามมติ ครม.ปี 2547 ( ในภาพประกอบโพสต์นี้ ) ซึ่งถือเป็นวันหยุดชดเชยวันอาสาฬหบูชา ส่วนวันเข้าพรรษาไม่หยุดชดเชย




         2. ดึกวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องเทียบโอนของ นศ. หลังจากเด็กมาสมัครเรียนแล้ว บางคนต้องไปตามวุฒิที่ไม่จบจากโรงเรียนเดิมมาทำเรื่องขอเทียบโอนกับเรานานกว่าจะได้ เพราะส่วนมากต้องรอ รร.เปิดจึงจะได้  ขอถามว่า มีระเบียบกำหนดไหมว่า ให้ยื่นกี่วันหลังจากวันสมัครหรือปิดรับสมัคร หรือแล้วแต่อำเภอตกลงกัน

             ผมตอบว่า  คำถามนี้แสดงถึงการดำเนินการที่ผิดระเบียบนะ เพราะตามระเบียบต้องลาออกจากโรงเรียนเดิม ได้ใบระเบียนที่ระบุว่า ศึกษาต่อที่อื่นมาก่อน เราจึงจะรับสมัครขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาได้ มิฉะนั้นจะเป็นการเรียนสองแห่งเหลื่อมซ้อนกัน  ( ในใบสมัครเรียนก็มีข้อความรับรองว่า “...ไม่อยู่ในระหว่างการศึกษาในระบบโรงเรียนทุกสังกัด ... หากตรวจสอบพบภายหลัง... ให้คัดชื่อออก และหากตรวจสอบพบภายหลังที่จบหลักสูตรไปแล้ว .. ให้ .. ยกเลิกหลักฐานการศึกษา ...” )
             ส่วนเรื่องการเทียบโอนนั้น แล้วแต่อำเภอจะกำหนด ( เรื่องนี้ผมเคยโพสต์มากกว่า 3 ครั้งแล้ว )  ซึ่งไม่จำเป็นต้องยื่นในภาคเรียนแรกด้วย  ที่กำหนดไว้ในหนังสือแนวทางการเทียบโอนฯ หน้า 4 ว่า
ควรดำเนินการในภาคเรียนแรกที่นักศึกษาขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา หรือขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษานั้น ก็เพราะ ถ้าไปเทียบโอนในภาคเรียนหลังอาจพบว่ามีบางวิชาเทียบโอนได้โดยไม่ต้องเรียน แต่ให้เรียนไปในภาคเรียนแรกแล้ว  ฉะนั้น ปกติจะให้เทียบโอนก่อนแล้วจึงลงทะเบียนเรียนวิชาที่เหลือ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาลงทะเบียนเรียนวิชาที่เทียบโอนได้  แต่อย่างไรก็ตาม ภาคเรียนอื่น ๆ สถานศึกษาก็สามารถให้เทียบโอนได้





         3. วันที่ 19 มิ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  กรณี นศ.กศน.หลักสูตรพื้นฐาน 2551 เข้าเรียน ภาคเรียนที่ 1/56 สอบ N-NET ในภาคเรียน 1/59 แต่ไม่จบ และลงทะเบียนเรียนไม่ต่อเนื่อง จึงลาออกแล้วสมัครใหม่ในภาคเรียนที่ 2/59 สถานศึกษาเดิม ในหลักสูตรเดียวกัน โดยเทียบโอนผลการเรียนเดิม แต่ได้รหัส นศ.ใหม่  จะต้องสอบ  N-NET อีกไหม

             เรื่องนี้   ( ผมถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้คำตอบว่า วันที่ลาออก : วันที่ ที่ระบุในใบ รบ.ฉบับที่ลาออก เป็นวันที่หลังวันสอบ N-NET )  ผมจึงตอบว่า  ไม่ต้องสอบ N-NET ใหม่  โดยบันทึกเรื่องการสอบ N-NET ของ นศ.ที่สมัครใหม่ รหัส 592... ... ว่าสอบ N-NET ในภาคเรียนที่ 1/59  ( ถึงแม้จะสอบก่อนที่จะสมัครขึ้นทะเบียนใหม่ ก็ไม่เป็นไร )

             ในกรณีที่ย้ายสถานศึกษา เนื่องจากในใบ รบ.ไม่ได้ระบุว่าสอบ N-NET ในภาคเรียนใด แต่สถานศึกษาแห่งใหม่ต้องระบุในระบบทะเบียนว่าสอบ N-NET ในภาคเรียนใด  ฉะนั้น สถานศึกษาเดิมควรทำหนังสือรับรองอีก 1 ฉบับ แนบใบ รบ. โดยระบุว่าสอบ N-NET ในภาคเรียนใด

         4. เย็นวันที่ 22 มิ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ในการที่เราจะพานักศึกษาไปศึกษาดูงานแล้วมีการค้างคืน ต้องมีการทำหนังสือขออนุญาตผู้ปกครองรึเปล่า

             ผมตอบว่า   ตามระเบียบ/มาตรการ การพานักศึกษาไปนอกสถานศึกษา ไม่ว่าจะค้างคืนหรือไม่ค้างคืน ต้องทำหนังสือขออนุญาตทั้งผู้ปกครองและผู้บังคับบัญชา
             ดู ระเบียบ/มาตรการ แบบฟอร์มหนังสือขออนุญาต ได้ที่
            
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/studentGoStady.pdf

         5. วันเดียวกัน ( 26 มิ.ย.60 ) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  การสมัครสอบราชการ นอกจากโรคที่ต้องห้ามในการรับสมัครสอบแล้ว หากเรามีโรคประจำตัว เช่น โรคเกาต์ เบาหวานและอื่นๆ สามารถสมัครสอบได้หรือเปล่า และจำเป็นหรือไม่ที่ต้องระบุในการสมัคร หากเราไม่ระบุจะมีผลอย่างไร

             ผมตอบว่า   โรคไม่ติดต่อเหล่านี้ เมื่อไม่ใช่โรคต้องห้ามก็สมัครสอบได้ ไม่ต้องระบุในใบสมัคร
             
( ให้ดูในประกาศรับสมัคร   สำหรับข้าราชการพลเรือน ต้องไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ.2553 ซึ่งได้แก่
            
1)  วัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ
            
2)  โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
            
3)  โรคติดยาเสพติดให้โทษ
            
4)  โรคพิษสุราเรื้อรัง
            
5)  โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ ที่ ก.พ. กำหนด

             ส่วนข้าราชการครู ต้องไม่เป็นโรคต้องห้ามตาม กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2549 ซึ่งได้แก่
            
1)  โรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
            
2)  วัณโรคในระยะติดต่อ
            
3)  โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
            
4)  โรคติดยาเสพติดให้โทษ
            
5)  โรคพิษสุราเรื้อรัง )

         6. วันที่ 29 มิ.ย.60 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊คผม ว่า  ในกรณีที่ กศน.เขตจะจ้างครูประจำกลุ่ม เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงาน กศน.(อยู่ศูนย์เทคโน) ไม่ได้เป็นข้าราชการครู สามารถเบิกค่าตอบแทนครูกลุ่มให้ได้ไหม  เดิมเขาเป็นครู ศรช เพิ่งสอบเป็นนักวิชาการได้ เลยจะจ้างเขาเป็นครูกลุ่มต่อ  กศน.เขตจะประชุมครูกลุ่มในวันอาทิตย์หลังสอนเสร็จ และน้องคนที่กล่าวถึงเขามีใบประกอบวิชาชีพครูแล้ว เลยอยากทราบว่าถ้าเป็นข้าราชการสังกัดสำนักงาน กศน.แต่ไม่ใช่ครู เบิกเงินเป็นค่าครูกลุ่มได้ไหม

             ผมตอบว่า   เขาจะมีเวลาให้หรือ.. งานของครูประจำกลุ่มไม่ใช่มีแต่การสอนกับการประชุม จะมีงานอื่น ๆ ก่อนและหลังการสอน ( เช่น การทำแผนเตรียมการสอน การบันทึกหลังการสอน การตรวจงาน ) การจัดทำเอกสารต่าง ๆ ฯลฯ
             กศน.มีนโยบายให้ บุคลากรในสังกัด กศน. ไม่ว่าจะใช่ครูหรือไม่ใช่ครู สอน กศ.ขั้นพื้นฐานได้ เช่น บรรณารักษ์ หรือแม้แต่บุคลากรบน สนง.กศน.จังหวัด ให้สอนเพื่อให้มีสิทธิเรียน ป.บัณฑิต แต่ให้สอนโดยไม่เบิกค่าตอบแทน

         7. ดึกวันที่ 3 ก.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  สัญญาจ้างเหมาบริการซึ่งทำครั้งละ 6 เดือน เหลือไม่ถึง 4 เดือนสามารถขอหนังสืออนุญาตปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู ได้หรือไม่ และถ้าไม่ได้ มีแนวทางแก้ไขหรือหลักเกณฑ์อย่างไร

             เรื่องนี้  ท่าน อ.ณภัค ( คุรุสภา ) บอกว่า ต้องเหลืออย่างน้อย 4 เดือน
             ( ฉะนั้น ให้รีบทำเรื่องเสนอขอหรือต่ออายุหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพฯโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ ทันทีที่ทำสัญญาจ้างเสร็จ  ใครไม่เชื่อ/ไม่รู้/ไม่จำ ก็ตามใจ  ถ้าตอนนี้เหลือไม่ถึง 4 เดือนแล้วก็คงต้องรอทำสัญญาใหม่ก่อนแล้วจึงรีบขอหรือต่ออายุ )