วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560

1.พนักงานราชการ ทำงานที่เดิม 5 เดือน ที่ใหม่ 4 เดือน ลาพักผ่อนได้หรือยัง, 2.ผอ.ส่วนใหญ่บอกว่าใช้เงินอุดหนุนจ้าง รปภ. คนสวน ได้?!, 3.เปลี่ยนตำแหน่งพนักงานราชการ, 4.พนักงานราชการบรรจุ 1 ก.พ. ปรับเลื่อนเงินเดือนได้ไหม, 5.ผอ.กศน.อ. จะให้ครู กศน.ตำบล เปลี่ยนตำบล แต่ครูไม่อยากเปลี่ยน, 6.พนักงานราชการอยากรู้ว่า ชื่อและตำแหน่งตนอยู่ที่ใด, 7.จำเป็นต้องประดับแพรแถบย่อเครื่องราชฯไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ดึกวันที่ 20 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  กรณีเป็นพนักงานราชการที่สำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี 5 เดือน และมาทำสัญญาใหม่ เป็นพนักงานราชการที่สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลา อีก 4 เดือน สัญญาต่อเนื่องกัน กรณีแบบนี้จะมีสิทธิ์ลาพักผ่อนได้หรือยัง

             ผมถามกลับว่า  ลาออกจากที่เดิมมาสอบบรรจุใหม่ หรือว่า ย้ายเปลี่ยนพื้นที่ปฏิบัติงาน
             ผู้ถามบอกว่า  ลาออกจากที่เดิม มาสอบบรรจุใหม่
             ผมตอบว่า  ถ้าลาออกมาสอบบรรจุใหม่ โดยงานเดิมทำไม่ครบ
6 เดือน กรณีการลาจะไม่นับอายุงานเดิม ฉะนั้นยังไม่มีสิทธิขอลาพักผ่อน ต้องรอจนกว่าอายุงานใหม่ครบ 6 เดือน จึงจะมีสิทธิขอลาพักผ่อน
              ( ถ้าเป็นการย้ายเปลี่ยนพื้นที่ปฏิบัติงาน จึงจะนับอายุงานรวมกัน )

         2. ดึกวันที่ 21 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  จังหวัดทำลักษณะของงานที่จ้างเหมาบริการด้วยเงินอุดหนุน ผู้บริหารส่วนใหญ่บอกว่าจ้าง รปภ. คนสวน นักคอมพิวเตอร์ พนักงานบริการ ถ้ากำหนดลักษณะของงานให้ไปเกี่ยวกับนักศึกษา ก็สามารถจ้างได้... เลยไม่ได้พูดอะไร ถ้าพูดไปว่าจ้างไม่ได้ จะทำให้คนที่ถูกจ้างเดือดร้อน หลายอำเภออาจตำหนิ เพราะจ้างต่อเนื่องมา    เลยขอความรู้จากอาจารย์ จ้างได้หรือไม่ขอความกรุณาอาจารย์เผยแพร่ให้ความรู้

             ผมตอบว่า
             1)  เรื่องนี้ผู้ตรวจสอบภายในก็ตอบชัดเจนและผมนำมาโพสต์ 2-3 ครั้งแล้วว่า ถ้าใช้เงินอุดหนุนรายหัวจ้าง ต้องจ้างเพื่อ ดำเนินงานการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยตรงโดยพิจารณาจาก "ขอบเขตงานจ้าง" ว่าเป็นการดำเนินงานการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยตรงหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นการจ้างใน 39 หน้าที่ ส่วนกลางสั่งการไว้ชัดเจน ไม่ได้ให้จังหวัดปรับเปลี่ยนขอบเขตงานจ้าง.. ซึ่งก็สรุปไว้แล้วว่า จ้างในหน้าครูต่าง ๆ ( ครู ศรช. ครูผู้สอนคนพิการ ครู ปวช. ครูประจำกลุ่ม ครูบ้านยามชายแดน ครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน ครูชาวเล ครู กพด.) จนท.บันทึกข้อมูล ได้  แต่จ้างในหน้าที่ จนท.งานธุรการ การเงิน บัญชี พนง.บริการ ไม่ได้ ( ยิ่งถ้าเป็นหน้าที่ รปภ. คนสวน ยิ่งจะจ้างไม่ได้ )
             ถึงผมจะโพสต์อีกเป็นครั้งที่
4-5 ก็ไม่มีประโยชน์ คนที่ไม่สนใจเชื่อถือ ก็ไม่สนใจเชื่อถือเหมือนเดิม
            
2)  แม้เราจะเห็นใจผู้รับจ้างมากเพียงใด เราก็ได้แต่เห็นใจ ถ้าเราไม่ได้ใช้เงินส่วนตัวจ้าง เราไม่มีสิทธิทำผิด จะเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินโดยไม่ถูกต้องไม่ได้ กระทรวงการคลังก็แจ้งเวียนมายังทุกกระทรวงทุกกรมว่า
                 
ปัจจุบัน ส่วนราชการหลายแห่งได้ดำเนินการจ้างเอกชนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา เพื่อปฏิบัติงานในลักษณะเช่นเดียวกับการจ้างแรงงาน ที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้รับจ้างคิดว่าเป็นบุคลากรของรัฐ และเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้เหมือนบุคลากรของรัฐ ดังนั้นเพื่อลดปัญหาข้อโต้แย้ง จึงให้ส่วนราชการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีโดยเคร่งครัด ดำเนินการจ้างตามระเบียบพัสดุ ไม่ใช่ระเบียบลูกจ้าง จ้างดำเนินงานเฉพาะโครงการหรือเฉพาะครั้งคราวที่มีความจำเป็นเพื่อเสริม การปฏิบัติงานในหน้าที่ปกติ ของส่วนราชการ มิให้ทำสัญญาจ้างในลักษณะต่อเนื่อง
                  แม้จะไม่ได้คะแนนนิยม ผมก็ระมัดระวังไม่โพสต์คำที่ได้ใจฝ่ายใด เพราะจะเสียระบบราชการ

                  กศน.เรามักจะคำนึงถึงความรู้สึกอยู่เหนือระเบียบกฎหมาย ทำให้มีปัญหาต่อไป
            
3)  ที่ถูกต้อง ถ้าไม่ชัดเจนว่าจ้างได้หรือไม่ ต้องทำหนังสือหารือก่อน คำตอบอย่างไม่เป็นทางการจะใช้เป็นเกราะกันความผิดไม่ได้  ถ้าเขาไม่หารือเพราะมั่นใจว่าจ้างได้ ผู้จ้างก็เป็นผู้รับผิดชอบ จบ

         3. วันที่ 21 ก.ย.60 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กผม ว่า  เมื่อปีที่แล้ว ท่านสุรพงษ์ ให้พนักงานราชการ ครูอาสาฯ ขอเปลี่ยนตำแหน่งได้ ถ้ามีตำแหน่งว่าง พอจะมีข้อมูลไหม

             ผมตอบว่า   เรื่องพนักงานราชการ อยู่นอกเหนืออำนาจ รมว.ศธ. ( ก.พ.ร. ผู้ดูแลพนักงานราชการ ไม่ได้สังกัดกระทรวง ศธ. ต่างจาก ขรก.ครู ที่ดูแลโดย ก.ค.ศ.ซึ่งสังกัดกระทรวง ศธ. ท่าน รมว.ศธ.ยังขอให้ ก.ค.ศ.เปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง )
             เรื่องการเปลี่ยนตำแหน่งพนักงานราชการนี้ ไม่ว่าปีก่อน ๆ หรือปีนี้หรือปีไหน ถ้าเป็นตำแหน่งว่าง จังหวัดสามารถเสนอให้ต้นสังกัดเปลี่ยนตำแหน่งได้ เช่นเมื่อตำแหน่งครูอาสาฯว่างลง ( ลาออก เลิกจ้าง เสียชีวิต อายุครบ
60 ) จังหวัดอาจเสนอขอเปลี่ยนตำแหน่งครูอาสาฯเป็นตำแหน่งบรรณารักษ์แล้วสอบคัดเลือก/บรรจุคนใหม่ในตำแหน่งบรรณารักษ์ เป็นต้น
             แต่ถ้าเป็นตำแหน่งที่มีคนครองอยู่ จะเปลี่ยนตำแหน่งคนนั้นไม่ได้ ปีไหนก็ไม่เคยเปลี่ยนได้

         4. วันที่ 21 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในกลุ่มไลน์ ห้องสมุดชาวตลาดว่า  บรรจุ 1 กพ.60 ประเมิน ครั้งที่ 2 ได้ปรับเงินเดือนมั้ย

             ผมตอบว่า   ถามเรื่องพนักงานราชการใช่หรือเปล่า พนักงานราชการถ้าบรรจุทำงานไม่ครบ 8 เดือน ( นับถึง 30 ก.ย.) จะปรับเลื่อนเงินเดือนไม่ได้ โดยถ้าบรรจุ หลัง วันที่ 1 ก.พ. จะไม่ครบ 8 เดือน ( บรรจุวันที่ 2 ก.พ. จะไม่ครบ 8 เดือน, บรรจุวันที่ 1 ก.พ. ครบ 8 เดือนพอดี มีสิทธิ์ได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือน ถ้าผลการประเมินอยู่ในระดับดีขึ้นไป  ถ้าประเมินครั้งเดียวก็ใช้คะแนนครั้งเดียวไม่ต้องหารด้วย 2 )

         5. วันที่ 25 ก.ย.60 มีผู้ส่งเอกสาร/ข้อมูลมาถึงผมทางไลน์ ว่า  ผอ.กศน.อ.สอยดาว จะใช้คำสั่งมอบอำนาจ ( คำสั่ง สป.ศธ.ที่ 489/51 ) ข้อ 1 มาออกคำสั่งมอบให้ครู กศน.ตำบลเปลี่ยนพื้นที่ตำบลในการปฏิบัติงานกัน แต่ครู กศน.ตำบลบางคนไม่อยากเปลี่ยนเพราะปฏิบัติงานที่ตำบลนั้นตามเลขที่ตำแหน่งเดิมตั้งแต่ลงครั้งแรก ประสานงานกับชุมชนและภาคีเครือข่ายได้เป็นอย่างดี.. ถามว่า ผอ.อำเภอ สามารถให้ ครู กศน.สับเปลี่ยนพื้นที่ปฏิบัติงาน ไปอยู่ตำบลอื่นได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   เฉพาะตำแหน่งครู กศน.ตำบล นั้น เลขที่ตำแหน่งจะระบุตำบล การเปลี่ยนพื้นที่ต้องเป็นไปตามความประสงค์ของพนักงานราชการและดำเนินการโดยจังหวัด ( ตามข้อ 5 ในหนังสือ สป.ศธ.ที่ ศธ 0210.118/12731 ลว.6 ก.ย.60 )
             ส่วนคำสั่ง สป.ศธ.ที่ 489/51 ข้อ 1 นั้น ไม่ได้มอบอำนาจให้ ผอ.กศน.อำเภอ ย้าย/เปลี่ยนพื้นที่พนักงานราชการ   ผอ.กศน.อำเภอออกคำสั่งที่ขัดหรือแย้งกับต้นสังกัดไม่ได้   ถ้าผู้ถูกย้าย/เปลี่ยนพื้นที่ ไม่มีความประสงค์ขอเปลี่ยน/ไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้แจ้งไปที่ ผอ.สนง.กศน.จังหวัด และถ้าเวลาผ่านไปประมาณ 1 เดือน ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้แจ้งตรงไปที่ท่านเลขาธิการ กศน.

         6. คืนวันที่ 25 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันเคยเป็น ครู กศน.อ.เมืองอุดรธานี ได้รับการย้ายโดยจังหวัดเกลี่ยตำแหน่งตอนเทอม 2/59 โดยสำนักงาน กศน.จังหวัดแจ้งว่า กศน.อำเภอเมืองอุดรธานี มีพนักงานราชการเกินตำแหน่ง ให้พนักงานราชการย้ายออกจากอำเภอ 25 คน โดยใช้หลักการย้ายจากคะแนนประเมินครู ทั้งที่ไม่ได้ประสงค์ที่จะขอย้ายพื้นที่ ซึ่งต้องย้ายออกไปต่างอำเภอ ผ.อ.จังหวัดแจ้งว่าจะมีหนังสือคำสั่งออกให้ ณ ปัจจุบันยังไม่มีหนังสือคำสั่งให้เลย ซึ่งการย้ายออกต่างอำเภอมีความลำบากมาก ทั้งภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ห่างไกลครอบครัว และสิ่งที่สำคัญคือเรื่องนักศึกษาซึ่งแต่ก่อนกว่าที่จะรวบรวมนักศึกษาได้มีครบตามจำนวนใช่เวลาหลายเทอม  ในการเดินทางไปทำงานอย่างน้อยต้องวันละ 500 บาท ทั้งค่าน้ำมันค่าอยู่ค่ากิน อยู่ที่เดิมได้ทำงานที่ กศน.ตำบลใกล้บ้าน มีความรู้จักคุ้นเคยกับพื้นที่ มีนักศึกษามาเรียนมาปรึกษาตลอดทั่งที่ กศน.ตำบล และที่บ้าน
             ฉันจึงอยากจะปรึกษาว่า ณ ปัจจุบัน ชื่อ และตำแหน่งของฉันยังอยู่ที่ กศน.เมืองอุดร เหมือนเดิมไหม

             ผมตอบว่า   ผมไม่มีข้อมูลหรอกว่าตำแหน่งใครอยู่ที่ใด.. ให้ดูในคำสั่งจ้าง(ต่อสัญญา) และ/หรือ คำสั่งเลื่อนค่าตอบแทน ณ วันที่ 1 ต.ค. ก็น่าจะรู้ เพราะในคำสั่งจ้างจะระบุทั้งเลขที่ตำแหน่งและตำบล ส่วนในคำสั่งเลื่อนค่าตอบแทน จะระบุเลขที่ตำแหน่งกับอำเภอ ถ้าคำสั่งของจังหวัดใดไม่ระบุข้อมูลบางอย่างก็อาจแสดงว่ามีปัญหาบางอย่าง
             ถ้าดูไม่รู้หรือไม่ได้คำสั่ง ก็ถามที่จังหวัดนั้น หรือที่ กจ.กศน. ข้อมูลทั้ง 2 แห่งจะต้องตรงกันเพราะปัจจุบันใช้ระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์
DPIS แต่ กจ.กศน.อาจไม่มีเวลาว่างจะดูข้อมูลให้ ฉะนั้นอยู่จังหวัดไหนก็ถามที่จังหวัดนั้นก่อน

         7. วันที่ 28 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  อยากทราบว่าการประดับแพรแถบ จำเป็นต้องติดไหมคะ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าต้องติดแบบไหน หนูหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็ได้คำตอบแบบไม่ชัดเจนค่ะ (หนูเป็นบรรณารักษ์ปฏิบัติการ ค่ะ)

             ผมตอบว่า   แพรแถบย่อ "ไม่จำเป็น" ต้องประดับ แต่ถ้าได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว "ควร" ประดับ

             ดูเรื่องแพรแถบย่อของข้าราชการและพนักงานราชการ ที่ผมเคยโพสต์ เช่นในข้อ 6 ที่ http://www.gotoknow.org/posts/310038


วันเสาร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560

1.Dropbox เปิดไม่ได้, 2.ใช้เงินอุดหนุนจ้างเหมาตำแหน่งหน้าที่อื่นที่จ้างได้ ให้มาทำหน้าที่ จนท.ธุรการ ได้ไหม ?, 3.กำหนดอัตราจ้างเหมาหน้าที่บรรณารักษ์ในแต่ละแห่ง, 4.ทำไมไม่ชัดเจนเรื่องจ้างนักวิชาการศึกษา(จังหวัดบอกว่าอย่าเสี่ยง), 5.เงินอุดหนุนควรใช้ได้เหมือนเงิน บกศ.?, 6.พนักงานราชการได้ขั้นดีเด่นติดต่อกันสองปีได้ไหม, 7.ยังสงสัยเรื่องจ้างเหมาฯตามกรอบปี 61



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันที่ 15 ก.ย.60 มีผู้เขียนต่อท้ายโพสต์ผมในเฟซบุ๊ก ว่า  Dropbox เปิดไม่ได้

             ผมตอบว่า   เปิด Dropbox โดย คลิกที่ลิ้งค์ หรือ ก็อปปี้ลิ้งค์ไปให้ครบถ้วน ตั้งแต่ h ตัวแรก ไปจนถึงเลข 1 ตัวสุดท้าย โดยไม่มี .... ตรงกลาง

         2. มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ผมในเฟซบุ๊ก ว่า ถ้าใช้เงินอุดหนุนรายหัวจ้าง จนท.ธุรการไม่ได้ จะแก้ปัญหาโดยจ้างตำแหน่งหน้าที่อื่นที่จ้างได้ แต่ให้ทำหน้าที่ จนท.ธุรการได้ไหม

             ( การจ้างเหมาบริการ ต้องจ้างให้ตรงกับเงินที่ใช้จ้าง เช่น จะจ้างในหน้าที่บรรณารักษ์ ต้องได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อการจ้างเหมาบริการในหน้าที่บรรณารักษ์โดยเฉพาะ
               ถ้าจะใช้เงินอุดหนุนจ้าง ก็จะจ้างในหน้าที่ที่ไม่ใช่การทำงาน กศ.ขั้นพื้นฐานโดยตรง ไม่ได้ เช่นจ้างในตำแหน่ง จนท.ธุรการ การเงิน บัญชี แม่บ้าน ทำความสะอาด ไม่ได้ เป็นความผิด ฐานใช้เงินผิดประเภท ไม่มีระเบียบรองรับ )

             วันอาทิตย์ที่ 17 ก.ย.60 ผมได้เรียนถามเรื่องนี้ กับท่านสัจจา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กศน. ( อดีต ผอ.กจ.) และท่านอาจารย์สุนีย์ หน่วยตรวจสอบภายใน กศน.
             ทั้งสองท่านตอบเหมือนกันว่า การจ้างเหมาบริการตามระบียบพัสดุ ไม่จำเป็นต้องจ้างยาวตลอดปี ให้จ้างเป็นจ๊อบเป็นงาน ที่ จนท.ประจำทำไม่ทัน เมื่อหมดสัญญาไม่ต้องเลิกจ้างก็เลิกจ้างโดยปริยาย
             ท่านอาจารย์สุนีย์บอกว่า การใช้เงินอุดหนุน ตามคำสั่ง สป.ที่ 605 ข้อ 4 ให้เบิกจ่ายเงินอุดหนุนเป็นค่าตอบแทนบุคลากร
ดำเนินงานการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ คือ จ้างได้เฉพาะงานที่เกี่ยวกับ กศ.ขั้นพื้นฐานโดยตรงเท่านั้น
             ผมเรียนถามว่า  หน้าที่ต่อไปนี้ หน้าที่ใดเกี่ยวกับ กศ.ขั้นพื้นฐานโดยตรง
             
นักวิชาการศึกษา, นักวิชาการเงินและบัญชี, นักวิชาการคอมพิวเตอร์, บรรณารักษ์, เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี, เจ้าหน้าที่ควบคุมระบบคอมพิวเตอร์, เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศ, ผู้ช่วยนักวิชาการศึกษา, เจ้าหน้าที่บริการสื่อ, เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์, เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล, เจ้าหน้าที่งานธุรการ, เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี, พนักงานบริการ
             ท่านตอบว่า
             จนท.บันทึกข้อมูล เกี่ยวโดยตรง ส่วน การเงิน บัญชี ไม่เกี่ยวโดยตรง ทั้งนี้ให้พิจารณาจาก
ขอบเขตงานจ้าง
             ( ดู ขอบเขตงานจ้าง ของ 39 หน้าที่ ที่ส่วนกลางกำหนดไว้ ได้ที่
              
https://www.dropbox.com/s/cado5gh88umz65a/EmployMaoDoc.pdf?dl=1
               ดูหนังสือสั่งการในเรื่อง ขอบเขตงานจ้าง 39 หน้าที่ ได้ที่
              
https://www.dropbox.com/s/fad7kuqa8z8lwav/EmployMao.pdf?dl=1 )

             สรุป ใช้เงินอุดหนุนรายหัว จ้างในหน้าที่ จนท.บันทึกข้อมูล ได้, ส่วน จนท.งานธุรการ การเงิน บัญชี พนักงานบริการ ไม่ได้
             แต่อย่างไรก็ตาม จ้างในหน้าที่ใด ก็ต้องปฏิบัติงานตาม ขอบเขตงานจ้าง ของหน้าที่นั้น

             ดูเรื่องเดิม ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น ใน

             - ข้อ 2 ที่ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10203169103708831

             - ข้อ 5 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2017/08/oudnhun.html

         3. วันที่ 18 ก.ย.60 Chaloemsa Muicharoen ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องบรรณารักษ์อัตราจ้าง ที่มีอัตราให้จ้างในปี 61 จัดลงเฉพาะในห้องสมุดที่ไม่มีข้าราชการและพนักงานราชการแล้ว ยังมีอัตราเหลือ ไม่ทราบว่ามีแนวทางให้จัดลงที่ไหนอีกบ้าง เช่น ห้องสมุดเฉลิมราช จ้างคู่กับข้าราชการได้มั้ย หรืออยู่ที่ดุลยพินิจของแต่ละจังหวัด  พอดีหนูเป็น ขรก. เพิ่งย้ายมาอยู่เฉลิมราช ถ้าย้ายมาปุป น้องอัตราจ้างที่อยู่มา 5-6 ปี ต้องออก จะรู้สึกแย่มากๆเลย

             ผมตอบว่า   ส่วนกลาง กศน. จะมีข้อมูลว่า จัดสรรอัตราจ้างเหมา ให้ที่ไหนบ้าง ลองถาม กจ.ดู 02-2800324

             ต่อมา ผู้ถามแจ้งผมว่า  โทรคุยกับอาจารย์ปรารถนา กจ. ที่ดูแลกรอบอัตราแล้ว ได้รับแจ้งว่า
             1)  ให้อัตราจ้างเหมาฯกับ หสม.จังหวัด/หสม.อำเภอ ที่ไม่มี ขรก.หรือพนักงานราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ แห่งละ 1 อัตรา
             2)  ให้อัตราจ้างเหมาฯกับห้องสมุดฯเฉลิมราชฯ แห่งละ 1 อัตรา แม้จะมี ขรก.หรือพนักงานราชการตำแหน่งบรรณารักษ์แล้ว 1 คน ( รวมเป็น 2 คน )

         4. คืนวันที่ 18 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องใช้เงินอุดหนุนจ้างเหมาบริการตำแหน่งนักวิชาการศึกษา ที่ใช้คำว่าน่าจะจ้างได้นั้น เหมือนขาดความมั่นใจในทางปฏิบัติ ได้ปรึกษาจังหวัด จังหวัดให้ความเห็นว่าอย่าเสี่ยงเลย   ส่วนกลางควรซักซ้อมให้จัดเจน จ้างได้บอกให้ชัดเจน จ้างไม่ได้ก็ไม่ได้ เหมือนให้อยู่ในดุลพินิจของผู้ปฏิบัติโดยไม่มีที่อ้างอิง

             ผมตอบว่า  ที่อ้างอิงคือ
             1)  คำสั่ง สป.ศธ.ที่ 605/59 เรื่องหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของสำนักงาน กศน. ( ซึ่งกำหนดในข้อ 4 ว่า ค่าตอบแทนบุคลากรดำเนินงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน” )
             2)  ขอบเขตงานจ้าง 39 หน้าที่ ( ในส่วนของ 39 หน้าที่นี้ ส่วนกลางสั่งการชัดเจนไว้ในข้อ 1-3 ของหนังสือที่  https://www.dropbox.com/s/fad7kuqa8z8lwav/EmployMao.pdf?dl=1 )
             ซึ่ง ผู้จ้าง ( จังหวัด ) เป็นผู้รับผิดชอบ/เป็นผู้พิจารณา ถ้าจังหวัดบอกว่า อย่าเสี่ยงเลย ก็คือไม่จ้าง จบ

              ( ที่มาของข้อ 4 ตามคำสั่ง สป.ที่ 605/59 นั้น มาจาก สมัยก่อนไม่ได้เรียนฟรี มีการเก็บเงินบำรุงการศึกษา และมีหนังสือกรมบัญชีกลางด่วนมากที่ กค 0526.7/9614 ลว.12 มี.ค.40 กำหนดว่า
              ตามที่ กศน.จัดตั้งสถานศึกษาและมีผู้สนใจเรียนจำนวนมาก ทำให้จ้างบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยปฏิบัติงาน เช่น การทำทะเบียนนักศึกษา การรับสมัคร พิมพ์และตรวจสอบหลักฐานการศึกษา การบันทึกข้อมูลของผู้เรียน ฯลฯ นั้น ให้สถานศึกษาเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บุคคลภายนอกที่มาช่วยปฏิบัติงานในระหว่างเวลา 08.30-16.30 น.ได้ *ไม่เกิน 45 วันก่อนเปิดภาคเรียน* ในอัตราวันละไม่เกิน 200 บาท โดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณหรือเงินบำรุงการศึกษา จำนวนบุคลากรอยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าสถานศึกษา

             ต่อมาเมื่อมีเงินอุดหนุนมาเพื่อการเรียนฟรี จึงได้นำหลักการตามหนังสือกรมบัญชีกลางนี้ มาเป็นข้อ 4 ของคำสั่ง สป.ที่ 605
             โดยกระทรวงการคลังให้จ้างเป็นจ๊อบ ๆ ( จ้างชิ้นงาน ) ซึ่งจะเห็นว่า หน้าที่นักวิชาการศึกษา ไม่สอดคล้องโดยตรงกับข้อกำหนดนี้ และมีหน้าที่ จนท.บันทึกข้อมูล ให้จ้างอยู่แล้ว อีกทั้งขอบเขตงานจ้างในหน้าที่นักวิชาการศึกษาไม่ได้ทำเฉพาะ กศ.ขั้นพื้นฐาน ไม่เหมาะจะใช้เงินอุดหนุน ส่วนกลางจึงใช้งบดำเนินงานจัดสรรอัตราจ้างเหมาในหน้าที่นักวิชาการศึกษา

         5. หลังจากที่ผมโพสต์ในเฟซบุ๊ก ว่า  ถ้าจะใช้เงินอุดหนุนจ้าง ก็จะจ้างเหมาบริการในหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน กศ.ขั้นพื้นฐานโดยตรง ไม่ได้ เช่นจ้างในตำแหน่ง จนท.งานธุรการ การเงิน บัญชี พนง.บริการ ไม่ได้ เป็นความผิด ฐานใช้เงินผิดประเภท ไม่มีระเบียบรองรับ
             ต่อมา คืนวันอาทิตย์ที่
17 ก.ย.60 Nathanont Amnartcharoen เขียนความคิดเห็นต่อท้ายโพสต์ของผมในเฟซบุ๊ก ว่า เราต้องให้ สำนักงาน กศน. ตีความคำว่า เงินอุดหนุน ใหม่ ซึ่งตามความเป็นจริง เงินอุดหนุนได้มาเพื่อทดแทนเงินบำรุงการศึกษา เพราะฉะนั้นจะต้องใช้ได้เหมือนเงินบำรุงการศึกษา ทุกประการ

             ผมตอบว่า   เมื่อก่อนมีเงิน บกศ. ( เงินบำรุงการศึกษา ) ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเงินรายได้สถานศึกษาแทน แต่ ทั้งเงิน บกศ.และเงินรายได้สถานศึกษา นั้น สถานศึกษาก็ไม่สามารถใช้จ่ายได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ แม้ว่าสถานศึกษาจะเป็นผู้เก็บเงิน/รับเงินจากนักศึกษามาเอง ไม่ใช่เงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีอากรก็ตาม เพราะ อาคารโรงเรียนสร้างจากเงินงบประมาณ เงินเดือน ผอ.และครูก็เป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน ไม่ใช่กิจการส่วนตัว จึงต้องใช้จ่ายเงิน บกศ./รายได้สถานศึกษา ตามระเบียบที่ราชการกำหนด เช่น
            
- จะใช้เงิน บกศ.จ้างลูกจ้างชั่วคราว ต้องได้รับอนุมัติจากกรมบัญชีกลาง  ( ปัจจุบัน กศน.ไม่ได้รับอนุมัติจากกรมบัญชีกลางให้จ้างลูกจ้างชั่วคราวอีกแล้ว  ซึ่งผู้รับจ้างเหมาฯไม่ใช่ลูกจ้างชั่วคราว )
             - ใช้เงิน บกศ.หรือเงินงบดำเนินงาน จ่ายค่าจ้างบุคคลภายนอกมาช่วยปฏิบัติงาน เช่น การบันทึกข้อมูลของผู้เรียน ได้ไม่เกิน 45 วันก่อนเปิดภาคเรียน ในอัตราวันละไม่เกิน 200 บาท  ( ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ข้อ 4 ในคำสั่ง สป.ที่ 605 )
             เป็นต้น

            ปัญหาเรื่องการจ้างเหมาฯหน้าที่ต่าง ๆ ด้วยเงินอุดหนุนนี้ คงไม่ค่อยเกิดข้อสงสัยในภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก เพราะแค่จ้างครู ศรช.ให้ครบทุกตำบลที่ไม่มีครู กศน.ตำบล เงินอุดหนุนก็ไม่เหลือจ้างหน้าที่อื่น
            ส่วนภาคเหนือ ภาคอิสาน และ กทม. มีครู กศน.ตำบล ครบทุกตำบลแล้ว จึงมีเงินอุดหนุนเหลือจ้างหน้าที่อื่นนอกเหนือจากครู ศรช.  ( นิติกร กจ. บอกว่า มีปัญหากรณีจ้างเหมาฯ ที่ผู้รับจ้างต้องจ่ายเงินให้ผู้บริหาร )

         6. เย็นวันที่ 19 ก.ย.60 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ผมในเฟซบุ๊ก ว่า  พนักงานราชการได้ขั้นดีเด่นติดต่อกันสองปีได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ผลการประเมิน ได้ดีเด่นติดต่อกันกี่ปีก็ได้ เป็นไปตามผลประเมินการปฏิบัติงาน ถ้าปฏิบัติงานดีเด่นติดต่อกันทุกปีก็เลื่อนค่าตอบแทนตามเปอร์เซ็นดีเด่นได้ทุกปี

         7. หลังจากมีหนังสือเรื่อง "แนวทางการปฏิบัติในการจ้างเหมาบริการปี งปม.61" ออกมาเมื่อวันที่ 19 ก.ย.60 ก็ยังมีหลายคนที่มีข้อสงสัย เช่น มีผู้ไปโพสต์ในกลุ่มไลน์ "เมืองนักอ่าน 2560" ว่า
            
"เรื่องบรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ หนังสือส่วนกลางออกมาให้ส่วนจังหวัดดำเนินการขาดความชัดเจนและต้องให้จังหวัดมาวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง เกิดความสับสนอย่างมากในตอนนี้ ส่วนในเรื่องอำเภอที่มีข้าราชการก็ยังไม่ชัดเจน ตอนนี้น้องบรรณารักษ์เครียดมาก"
            
"ขอสังเกตุ..ในหนังสือสำนักงาน กศน. ลว. 19 กย.60 กรณีนอกกรอบเมื่อหมดสัญญาก็ไม่สามารถต่อสัญญาได้
               *** หสม.ใดที่มีบรรณารักษ์ที่เป็นพนักงานราชการ และมีบรรณารักษ์อัตราจ้าง เช่น อ.สัตหีบ ในปีงบ 61 จะต้องทำสัญญา 1 ปี (กรณีที่คิดจะช่วย) เพราะถ้าทำสัญญาแค่ 6 เดือน เมื่อหมดสัญญาก็ไม่สามารถต่อสัญญาได้ เช่นเดียวกัน ทำสัญญา 1 ปี เมื่อหมดสัญญา ก็ไม่สามารถต่อสัญญาได้เช่นกัน
               สรุป..ท้ายสุด หมดสัญญาเมื่อไหร่ ไม่จ้างต่อแน่นอน จึงควรจ้างเต็ม 1 ปี สรุปอีกครั้ง ถ้าทำสัญญา 6 เดือน ก็อยู่แค่ 6 เดือน ไม่สามารถต่อสัญญาได้ ถ้าทำสัญญา 1 ปี ก็อยู่ได้ 1 ปี"
             
"บรรณารักษ์ที่เป็นข้าราชการและมีบรรณารักษ์อัตราจ้างด้วย จะทำอย่างไร เพราะในหนังสือกล่าวถึง บรรณารักษ์ที่เป็นพนักงานราชการเท่านั้น"

             วันที่ 20 ก.ย.60 ผมจึงเรียนถามท่าน ผชช.พิเศษ อดีต ผอ.กจ. กับ อ.ปรารถนา กจ. ได้รับข้อมูลดังนี้
             1)  กรณีนอกกรอบ ให้จ้างคนเดิมต่อไปได้จนกว่าจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งจะจ้างได้ไม่เกิน 30 ก.ย.61 เมื่อหมดสัญญาก็พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ แล้วจ้างต่อไม่ได้ทั้งคนเดิมหรือคนใหม่
            
2)  คำว่า "หากได้รับการจัดสรรอัตราพนักงานราชการ" ให้หมายความรวมถึง "ได้รับการจัดสรรอัตราข้าราชการในตำแหน่งเดียวกัน" ด้วย ซึ่งจะจ้างเหมาฯต่อไปได้จนพ้นตำแหน่งหน้าที่หรือหมดสัญญา ไม่ว่าจะเป็นอัตราในกรอบหรือนอกกรอบก็ตาม เมื่อมีข้าราชการหรือพนักงานราชการทดแทนแล้วให้ลดกรอบอัตราจ้างเหมาฯ
            
3)  กรณีที่มีข้าราชการหรือพนักงานราชการ ซ้ำซ้อนกับอัตราจ้างเหมา อยู่ ณ ปัจจุบันนี้แล้ว ยังไม่จำเป็นต้องเลิกจ้างเหมาฯในวันที่ 30 ก.ย.60 นี้ แต่สามารถจ้างคนเดิมต่อในปี 61 จนกว่าจะพ้นสภาพ ( ไม่เกิน 30 ก.ย.61 ) เช่นกัน


วันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560

1.ขาดสอบปลายภาค สองภาค ให้คัดชื่อออก เป็นระเบียบหรือแนวปฏิบัติ, 2.กำหนดราคาอ้างอิงใหม่ ค่าหนังสือเรียน, 3.ห้ามซื้อ/จ้างพิมพ์หนังสือเรียน ที่ยังไม่แก้ไขต้นฉบับ ( ต้องไม่ใช้ใบแทรก ), 4.มีหลักเกณฑ์เงินอุดหนุนใหม่ ไม่ให้อำเภอใช้พัฒนาบุคลากร ไหม?, 5.เป็นพนักงานราชการ 10 กว่าปี แล้วลาออก ยังแต่งเครื่องแบบได้ไหม, 6.ครู กศน.ตำบล ขอย้ายภายในอำเภอ จากตำบลที่มีอยู่ 2 คน ไปตำบลที่มีอยู่ 1 คน ได้ไหม, 7.ประเมินครู ศรช.- พนักงานราชการไปต่างประเทศช่วงลาพักผ่อน



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันที่ 7 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ในการสอบปลายภาคเรียน ที่ว่า นศ. ขาดสอบสองภาคเรียนให้คัดชื่อออกจากระบบนั้น เป็นระเบียบหรือแนวปฏิบัติ และถ้าขาดสอบหนึ่งภาคเรียนสามารถคัดชื่อออกได้ไหม ขอความชัดเจน

             ผมตอบว่า  ไม่มีทั้งระเบียบและแนวปฏิบัติให้คัดชื่อออกกรณีขาดสอบปลายภาคสองภาคเรียน แต่เคยมีนโยบายของท่านเลขาธิการ กศน.บอกว่า ถ้า นศ.ขาดสอบปลายภาคติดต่อกันสองภาคเรียนก็ไม่ควรให้ลงทะเบียนเรียนต่อ เพราะ อาจจะเป็น นศ.ผี หรือ นศ.ที่ไม่ได้ประสงค์จะเรียนแต่ครูฝืนให้ลงทะเบียนเพื่อให้ได้จำนวน นศ.ตามเกณฑ์
             ส่วนระเบียบหลักเกณฑ์ กำหนดว่า ถ้า นศ.ขาดการติดต่อ ไม่มาลงทะเบียนรักษาสถานภาพการเป็น นศ. ติดต่อกันเกิน 6 ภาคเรียน ก็จะพ้นสภาพการเป็น นศ.โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องคัดชื่อออก

             ในส่วนของนโยบายที่ไม่ให้ผู้ขาดสอบปลายภาคติดต่อกันสองภาคเรียน มาลงทะเบียนเรียนต่อนั้น โดยหลักการถ้า นศ.ตั้งใจจะลงทะเบียนเรียนต่อโดยจะเรียนจริง ๆ เราไม่มีสิทธิห้ามลงทะเบียนเรียนต่อ  ดังนั้นในทางปฏิบัติแต่ละสถานศึกษาจะมีวิธีดำเนินการต่างกัน เช่น
             บางแห่ง ถ้าขาดสอบปลายภาคติดต่อกันสองภาคเรียนแล้วจะเรียนต่อ ก็ให้ตัวตนมายืนยันลงทะเบียนเรียนกับหัวหน้ากลุ่มตำบล ไม่ใช่ลงทะเบียนกับครู  และถ้าขาดสอบปลายภาคติดต่อกันเป็นภาคเรียนที่สามแล้วจะเรียนต่ออีก ต้องมายืนยันตัวตนลงทะเบียนกับ ผอ. ให้ ผอ.พิจารณาว่าลงทะเบียนแล้วจะมาเรียนแน่หรือไม่
             บางแห่ง แค่ขาดสอบปลายภาคเพียงภาคเรียนเดียวก็ให้ลงทะเบียนเรียนต่อกับหัวหน้ากลุ่ม ถ้าขาดสอบติดต่อกันสองภาคเรียนก็ให้มาลงทะเบียนกับ ผอ.เลย เป็นต้น
             ขึ้นอยู่กับนโยบายผู้บริหารในแต่ละแห่ง

         2. กศน.ประกาศกำหนดราคาอ้างอิง ค่าหนังสือเรียน และหนังสือสรุปเนื้อหาที่ต้องรู้ วิชาบังคับ ทั้ง 3 ระดับ รวม 42 วิชา โดยกำหนดราคาอ้างอิงพร้อมสเป็คการ จ้างพิมพ์ใหม่ ตามประกาศฉบับลงวันที่ 6 ก.ย.60
             ( ในกรณีที่ กำหนดราคาอ้างอิงสำหรับ 500 เล่ม กับ 600 เล่ม  ถ้าจ้างพิมพ์มากกว่า 500 เล่ม แต่น้อยกว่า 600 เล่ม หัวหน้ากลุ่มงานพัสดุ กลุ่มการคลัง กศน. บอกว่าเพื่อประโยนชน์ของทางราชการให้ใช้ราคาอ้างอิงของจำนวนที่มากกว่า ( ราคาถูกกว่า ) คือราคาสำหรับ 600 เล่ม )

             ส่วนการ ซื้อยังใช้ราคาอ้างอิงตามประกาศฉบับปี 57 โดยฉบับปี 57 นี้ให้ดูเฉพาะราคาซื้อ ไม่ต้องดูราคาจ้างแล้ว
             สามารถดาวน์โหลดได้ที่ 
             -
https://www.dropbox.com/s/qdhrdewkrcocpz0/pricebookNFE60.pdf?dl=1  หรือที่
             -
http://goo.gl/Qmcvr2  ( ไฟล์ลิ้งค์นี้ชัดกว่า แต่ไฟล์ใหญ่มาก ๆ )

         3. ห้ามซื้อ/จ้างพิมพ์ หนังสือเรียน กศน. ที่ต้นฉบับยังไม่แก้ไขเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ถูกต้อง
             จะต้องเป็นการพิมพ์แก้ไขเนื้อหา จัดทำรูปเล่มเรียบร้อย โดยต้องไม่มีการจัดทำใบแทรกประกอบในหนังสือเรียน
             
( ใช้ต้นฉบับที่ปรับปรุงถูกต้องสมบูรณ์แล้วในการจ้างพิมพ์ และในการจัดซื้อให้ตรวจสอบความถูกต้อง รวมทั้งหนังสือรายวิชาเลือกเสรีที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นเองด้วย )
            
https://www.dropbox.com/s/y37mlq7ae7pbmxm/bookstop.pdf?dl=1 

         4. คืนวันที่ 13 ก.ย.60 มี ผอ.กศน.อำเภอ ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  มีระเบียบสำนักงาน กศน.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินอุดหนุน ปี 2560 ไหม ที่เห็นล่าสุดมีแต่ระเบียบปี 2559 แต่ จนท.แผนจังหวัดบอกว่า ระเบียบปี 60 กำหนด 12 ข้อ โดยตัดเรื่องพัฒนาบุคลากรออกไป ไม่ให้จัดทำโครงการพัฒนาบุคลากร อำเภอไม่สามารถทำได้ เป็นอำนาจจังหวัด.. เลยอยากหาข้อเท็จจริง

             ผมตอบว่า   ไม่เห็นมีระเบียบปี 60 นะ.. การพัฒนาบุคลากรด้วยเงินอุดหนุน ต้องพัฒนาเฉพาะครู กศน.ที่มีบทบาทหน้าที่สอน กศ.ขั้นพื้นฐาน และต้องพัฒนาในเรื่อง กศ.ขั้นพื้นฐาน โดยโครงการพัฒนาฯถ้าพาครูไปต่างจังหวัด หรือใช้เงินรวมเกินอำนาจอำเภอ หรือจัดในลักษณะฝึกอบรม ก็ต้องได้รับอนุมัติโครงการจากจังหวัด

             เพื่อความแน่ใจ ผมได้เรียนถามเรื่องนี้กับกลุ่มการคลัง และหน่วยตรวจสอบภายใน กศน. อีกครั้งในวันนี้ ( 14 ก.ย.60 )
             - กลุ่มการคลัง บอกว่า ไม่ได้ออกระเบียบหลักเกณฑ์ใหม่ ยังใช้ฉบับเดิม
             - หน่วยตรวจสอบภายใน บอกว่า อำเภอมีหน้าที่จัดอบรมพัฒนาบุคลากร "ของตนเอง" ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของสถานศึกษา ( กศน.อำเภอ/เขต ) ข้อ 9   ไม่เคยได้ยินว่ามีระเบียบเงินอุดหนุนฉบับใหม่ เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดของบางคนแล้วนำไปพูดเลยขยายไปไกล








         5. ดึกวันที่ 12 ก.ย.60 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ของผมในเฟซบุ๊ก ว่า  ในกรณีที่เคยเป็นครูอาสามา 10 กว่าปี แล้วลาออก สามารถใส่ชุดขาวปกติได้ไหม

             ผมตอบว่า   เมื่อลาออกพ้นจากการเป็นพนักงานราชการแล้ว ก็หมดสิทธิแต่งเครื่องแบบพนักงานราชการแล้ว
             ( ที่ผู้รับบำนาญเขาแต่งชุดปกติขาวได้นั้น เขาไม่ได้แต่งเครื่องแบบข้าราชการ แต่เขาแต่งเครื่องแบบผู้รับบำนาญซึ่งเกือบเหมือนกับเครื่องแบบข้าราชการ )

         6. คืนวันที่ 14 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ครู กศน.ตำบลที่มี 2 คน ถ้าจะย้ายไปอีกตำบลที่มีครู กศน.ตำบลอยู่แล้ว อำเภอเดียวกัน จะยื่นย้ายคราวนี้ได้หรือเปล่า ตำบลที่จะย้ายไปมีนักศึกษาและหมู่บ้านมากกว่า ถ้าย้ายไปก็ไม่ต้องจ้างครู ศรช.เพิ่ม อ่านดูเงือนไขการย้ายไม่แน่ใจ

             ผมตอบว่า   ถ้าเป็นตำแหน่งครู กศน.ตำบล เลขที่ตำแหน่งจะระบุตำบลเลยว่าเลขที่นี้อยู่ตำบลไหน
             ตำบลที่จะย้ายไปนั้นมีเลขที่ตำแหน่งกี่เลขที่ล่ะ ถ้ามีเลขที่เดียวและเจ้าของเลขที่ตำแหน่งนั้นไม่ได้ย้ายออกก็คือตำบลนั้นไม่มีตำแหน่งว่าง คนอื่นจะย้ายไปลงไม่ได้ เงื่อนไขที่สำคัญคือต้องมีตำแหน่งว่าง หรือย้ายสับเปลี่ยนในตำแหน่งเดียวกัน คำว่าตำแหน่งว่างคือมีเลขที่ตำแหน่งว่าง
             ( ถามจังหวัดดูว่า ปัจจุบันมีตำบลใดที่มีเลขที่ตำแหน่งครู กศน.ตำบล แต่ไม่มีคนครองตำแหน่งอยู่ ก็จะเป็นตำแหน่งว่าง ซึ่งครู กศน.ตำบลอื่นขอย้ายไปลงได้โดยไม่ต้องสับเปลี่ยน
               แต่ถ้าไม่มีเลขที่ตำแหน่งว่างอยู่เลย ก็จะขอย้ายสับเปลี่ยนได้เท่านั้น จะขอย้ายไปเพิ่มโดย
ย้ายเลขที่ตำแหน่งของตนตามตัวไปด้วยไม่ได้
             การ
ย้ายเลขที่ตำแหน่งก็คือการเกลี่ยอัตรา ซึ่งปกติจะเกลี่ยเฉพาะตำแหน่งว่าง โดยเกลี่ยจากตำบลที่มีอัตราเกินเกณฑ์ไปยังตำบลที่ยังไม่มีอัตราครู กศน.ตำบล
             ถ้าจะเกลี่ยตำแหน่งที่มีคนครองอยู่โดยเจ้าตัวเต็มใจไป ก็ต้องเข้าเกณฑ์นี้ เช่นเกลี่ยจากตำบลที่ปัจจุบันมีครู กศน.ตำบล 3 อัตรา ไปยังตำบลที่ยังไม่มีอัตราครู กศน.ตำบล โดยแจ้งให้ส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการเกลี่ย )

         7. วันเดียวกัน ( 14 ก.ย.) มีครู กศน.ตำบล ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ครู ศรช.มาทำงานได้ 1 เดือน เขาจะต้องเข้ารับการประเมินเพื่อจ้างต่อไหม
             และ ถ้าฉันลาพักผ่อน แต่ช่วงที่ลาฉันจะไปต่างประเทศ ต้องทำหนังสือขออนุญาตสำนักหรือเปล่า

             ผมตอบว่า
             1)  ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ให้ประเมินผู้รับจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ เพื่อจ้างต่อ ( ผมโพสต์ประเด็นนี้เมื่อไม่นาน )
             2)  บุคลากรของรัฐ ( ข้าราชการ-ลูกจ้างประจำ-พนักงานราชการ ) จะไปต่างประเทศ แม้จะไปด้วยเงินส่วนตัวในวันหยุด/วันลาพักผ่อน ก็ต้องทำหนังสือขออนุญาตส่วนกลาง