วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

1.ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแล้ว แต่เรายังจ้างไม่ถูกต้อง, 2.กำหนดจำนวนชั่วโมงสอนของ ขรก.ครู กศน., 3.ผอ.กศน.อำเภอ ย้ายครู กศน.ตำบล, 4.จังหวัดขอเปลี่ยนตำแหน่งครูอาสาฯที่ว่าง ไปเป็นนักจัดการงานทั่วไปที่จังหวัดได้หรอ, 5.เครื่องแบบ นศ.กศน. เอกชนเอาตรา กศน.ไปทำขายได้เหรอ, 6.งานบุคลากร กศน.อำเภอบ้านโพธิ์บอกว่าไม่มีสิทธิ์ลา, 7.คำถามซ้ำซากเรื่องครูอาสาฯ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. หลังจากที่ผมโพสต์เรื่อง อยากให้ปรับปรุงสิทธิของ ครู ศรช.ปรากฏว่ามีผู้เขียนความคิดเห็นต่อท้ายโพสต์ของผม เช่น

             1)  เย็นวันที่ 10 พ.ย.60 มีผู้เขียนต่อท้ายโพสต์ในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  สัญญาจ้างเหมาบริการ เป็นสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ใช่สัญญาจ้างทำของ เมื่อเป็นสัญญาจ้างแรงงาน นิติสัมพันธ์ในฐานะเป็นลูกจ้างกับ ส่วนราชการ (ผู้ว่าจ้างตามสัญญา) จึงเป็น นิติสัมพันธ์ในฐานะลูกจ์างกับนายจ้างตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ดังนั้น การที่ส่วนราชการไม่ได้ขึ้นทะเบียนลูกจ์างเพื่อให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓ จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ
                  
( คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๓๔๙/๒๕๕๖  http://www.admincourt.go.th/admincourt//upload//webcms//Academic//Academic_031017_091242.pdf )







                  ผมตอบว่า  เราทำผิด เราให้ทำงานเหมือนจ้างแรงงาน ( เหมือนจ้างลูกจ้างชั่วคราว ) ซึ่งศาลพิพากษาว่าถ้าจ้างให้ทำงานลักษณะนี้จะเป็นการจ้างแรงงาน ต้องได้สิทธิเหมือนลูกจ้างชั่วคราว
                  ซึ่งกระทรวงการคลังก็เคยย้ำมายังทุกส่วนราชการ ( ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนมาก ที่ กค
0406.4/67 ลงวันที่ 14 ก.ค.53 ) ว่า การจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุต้องไม่จ้างในลักษณะจ้างแรงงาน เช่น ต้องไม่จ้างต่อเนื่อง แต่ให้จ้างเป็นเรื่อง ๆ/เป็นครั้ง ๆ/เป็นจ๊อบ ๆ ต้องมีการตรวจรับชิ้นงานที่จ้างจริง ๆ ไม่ใช่แค่มีใบตรวจรับงานจ้างเป็นหลักฐาน แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตรวจรับงานจ้าง
                  
( หนังสือกระทรวงการคลังฉบับนี้ สรุปได้ว่า
                     
" ปัจจุบัน ส่วนราชการหลายแห่งได้ดำเนินการจ้างเอกชนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา เพื่อปฏิบัติงานในลักษณะเช่นเดียวกับการจ้างแรงงาน ซึ่งไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้รับจ้างคิดว่าเป็นบุคลากรของรัฐ และเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้เหมือนบุคลากรของรัฐ ดังนั้นเพื่อลดปัญหาข้อโต้แย้ง จึงให้ส่วนราชการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีโดยเคร่งครัด ดำเนินการจ้างตามระเบียบพัสดุ ไม่ใช่ระเบียบลูกจ้าง
                        
- จ้างดำเนินงานเฉพาะโครงการหรือเฉพาะครั้งคราวที่มีความจำเป็นเพื่อเสริมการปฏิบัติงานในหน้าที่ปกติของส่วนราชการ ไม่จำเป็นต้องจ้างเต็มปีงบประมาณ และ มิให้ทำสัญญาจ้างในลักษณะต่อเนื่อง
                        
- อัตราค่าจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายตามวุฒิการศึกษา แต่ให้เป็นอัตราค่าจ้างปกติทั่วไปที่เป็นที่ยอมรับว่าเหมาะสมกับงานนั้น โดยให้คำนึงถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้วย
                        
- ไม่ถือเป็นบุคลากรของรัฐที่จะมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ จากทางราชการ แต่เป็น "ผู้รับจ้างทำของ" ผู้ว่าจ้างไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม แต่ผู้รับจ้างสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ตามมาตรา 40 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ” )

                  ทั้งศาล และกระทรวงการคลัง สอดคล้องกัน ความผิดอยู่ที่เรา พฤตินัยของเราจ้างให้ทำงานเหมือนลูกจ้างชั่วคราว แต่นิตินัยทำหลักฐานว่าจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ ซึ่งศาลบอกว่า เป็นสัญญาจ้างอำพราง ศาลให้พิจารณาจากพฤตินัยเป็นหลัก ถ้าให้ทำงานเป็น ลูกจ้างไม่ใช่ ผู้รับจ้างส่วนราชการก็ต้องให้สิทธิประโยชน์แบบลูกจ้าง

                  ปัญหาของเราคือ เราไม่ได้งบบุคลากรสำหรับจ้างลูกจ้างชั่วคราวเลย ( ถ้าได้งบบุคลากรสำหรับจ้างลูกจ้างชั่วคราว งบจะมาพร้อมเลขที่อัตราและเงินประกันสังคม+ค่าครองชีพตามเกณฑ์ )
                  เราจึงต้องใช้งบดำเนินงานและเงินอุดหนุนในการจ้าง ซึ่งงบนี้จะจ้างต่อเนื่องเป็นลูกจ้างและจ่ายค่าประกันสังคมไม่ได้ ต้องจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุเป็นเรื่อง ๆ/เป็นครั้ง ๆ/เป็นจ๊อบ ๆ)

                  ถ้าไม่ได้งบบุคลากรและจะทำให้ถูก ก็ต้องเลิกจ้างต่อเนื่อง แต่ใช้งบดำเนินงานหรือเงินอุดหนุนจ้างเป็นเรื่อง ๆ/เป็นครั้ง ๆ/เป็นจ๊อบ ๆ ซึ่งจะเดือดร้อนกันทุกฝ่าย ข้าราชการและพนักงานราชการจะทำงานไม่ไหว เช่นต้องสอน/พบกลุ่มแทนครู ศรช.

                  สรุป  ถ้าจะทำให้ถูกต้อง คือ ใช้งบบุคลากรจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวซึ่งต้องทำประกันสังคมให้และมีค่าครองชีพชั่วคราวตามเกณฑ์ที่กำหนด แต่ปัญหาของเราคือ ไม่ได้รับงบบุคลากรสำหรับจ้างลูกจ้างชั่วคราวเลย เมื่อนำงบดำเนินงานและเงินอุดหนุนมาจ้างแทน ก็ต้องจ้างแบบจ้างเหมาบริการและทำประกันสังคมไม่ได้
                  เราทำผิด ที่ จ้างต่อเนื่องให้ทำงานเหมือนลูกจ้าง ไม่จ้างเป็นจ๊อบ ๆ

             2)  วันเสาร์ที่ 11 พ.ย.60 มีผู้เขียนต่อท้ายโพสต์เรื่องเดียวกันของผมในเฟซบุ๊ก ว่าพนักงานราชการทำงานในพิ้นที่ ข้าราชการรับงานอยู่ข้างบน แปลกนะพอปรับเงินเดือนต้องนึกถึงข้าราชการก่อนทุกครั้ง

                  ผมตอบว่า  จริงหรือ... แต่ที่ผ่านมา เช่น ครั้งล่าสุด 1 ธ.ค.57 ปรับเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ 4 % กฎหมายหลักฉบับเดียวกันครอบคลุมทั้งข้าราชการและพนักงานราชการ โดยพนักงานราชการได้ปรับ 4 % ทุกคน แต่ข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษขึ้นไปไม่ได้ปรับเลย
                  และ ข้าราชการครูระดับต่ำกว่าชำนาญการพิเศษได้ปรับช้ากว่าพนักงานราชการเกือบ
2 ปี เพราะข้าราชการครูต้องออกกฎหมายเงินเดือนตามหลังข้าราชการพลเรือนและต้องทยอยแก้ไขคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนก่อน ( ได้ปรับช้ากว่าก็ดีที่ได้ตกเบิกย้อนหลังเป็นเงินก้อน )
                  จะเขียนอะไรก็ขอให้ใช้ข้อมูล/ข้อเท็จจริงด้วย อย่าใช้แต่ความคิด/อารมณ์
                  พนักงานราชการวุฒิ ป.ตรี หลักสูตร
4 ปี บรรจุใหม่ได้เงินเดือน 18,000 บาท แต่ข้าราชการพลเรือนวุฒิ ป.ตรี หลักสูตร 4 ปี บรรจุใหม่ได้เงินเดือน 15,000 บาท

                  หลังจากที่ผมตอบไป ผู้เขียนมาเขียนต่ออีกว่าสามปีแล้วคับ

                  ผมตอบว่า  หลังจาก "ครั้งล่าสุด" แล้ว ก็ยังไม่มีการปรับเงินเดือนอีก ทั้งข้าราชการและพนักงานราชการ ( เข้าใจคำว่า ครั้งล่าสุด ไหม )
                  หรือว่าที่เขียนนี่หมายถึง "การเลื่อนเงินเดือนประจำปี" ถ้าเป็นการเลื่อนเงินเดือนประจำปี ข้าราชการยิ่งช้ากว่า เพราะข้าราชการต้องออกคำสั่งเลื่อนเงินเดือนโดยส่วนกลางซึ่งออกช้ากว่า และได้เงินตกเบิกช้ากว่าพนักงานราชการเป็นปกติ เช่นปีนี้ถึงวันนี้ (
12 พ.ย.60 ) ข้าราชการแต่ละคนยังไม่รู้เลยว่าคำสั่งเลื่อนเงินเดือนจะออกเมื่อไร จะได้เลื่อนเงินเดือนเท่าไร จะได้ตกเบิกย้อนหลังเมื่อไร แต่ก็ยังไม่มีใครถามเพราะช้าอย่างนี้เป็นปกติ ไม่ควรจะคิดถึงแต่เรื่องของตนเอง

         2. ก.ค.ศ.กำหนดจำนวนชั่วโมงสอนตามตารางสอน ของข้าราชการครู กศน.

             https://www.dropbox.com/s/drne27s7gc3jyk9/hourTeacherNFE.pdf?dl=1

         3. คืนวันที่ 13 พ.ย.60 มีบุคคลจาก กศน.อ.กร..... จ.สม..... ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า
             1)  ผอ.กศนอำเภอมีอำนาจย้ายครูกศนตำบลไปทำงานกศนจังหวัดได้มั้ย ในกรณีหาว่ากระดางกระเดื่อง
             2)  หัวหน้ากศนตำบลโดนผอให้ลดชั่นจากหัวหน้ามาเป็นทำงานสำนักงานกศนอำเภอเป็นหลัก ช่วยงานพัสดุและสารบัญ แล้วให้คนอื่นมาทำแทนตำแหน่งคนนั้นได้มั้ย

             ผมตอบว่า  ประเด็นเหล่านี้ผมตอบบ่อยแล้ว เสิร์ชหาอ่านรายละเอียดดูนะ เช่นใน
             - ข้อ 5 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/517220
             - ข้อ 4 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/01/n-net.html
             - ข้อ 6 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/04/60.html
             ตำแหน่ง ครู กศน.ตำบลกับตำแหน่ง หัวหน้า กศน.ตำบลนี้ เป็นคนละเรื่องกัน โดยตำแหน่งครู กศน.ตำบล เป็นพนักงานราชการตำแหน่งหนึ่ง ส่วนหัวหน้า กศน.ตำบล เป็นหัวหน้าทีมบุคลากรที่ดำเนินงาน กศน.ตำบล ซึ่งมีตำบลละ 1 คน
             หัวหน้า กศน.ตำบล ไม่จำเป็นต้องเป็นครู กศน.ตำบล เช่นในภาคกลาง ( ยกเว้น กทม.) ภาคตะวันออก ภาคใต้ ยังมีจำนวนครู กศน.ตำบล น้อยกว่าจำนวนตำบล จึงมีหลายตำบลที่ต้องแต่งตั้งบุคลากรอื่นเช่นครูอาสาฯเป็นหัวหน้า กศน.ตำบล
             ผู้แต่งตั้งหัวหน้า กศน.ตำบล คือ ผอ.กศน.จังหวัด ถ้า ผอ.กศน.อำเภอต้องการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเสนอให้จังหวัดออกคำสั่งเปลี่ยนแปลง

             ส่วนการเปลี่ยนพื้นที่ครู กศน.ตำบล ( พนักงานราชการ ) นั้น ส่วนกลางมอบให้จังหวัดเปลี่ยนพื้นที่ตามคำร้องขอ/ความจำนงของพนักงานราชการ ได้เฉพาะตอนเปลี่ยนสัญญาจ้าง
             โดยถ้าเป็นตำแหน่งครู กศน.ตำบล เลขที่ตำแหน่งจะระบุพื้นที่ถึงระดับตำบล ฉะนั้นการเปลี่ยนตำบลก็เป็นการเปลี่ยนพื้นที่ จังหวัดเปลี่ยนได้เฉพาะตอนต่อสัญญาและต้องเป็นไปตามคำร้องขอ/ความจำนงของพนักงานราชการ
             การเปลี่ยนพื้นที่นี้ต้องเปลี่ยนไปยังที่ ๆ มีเลขอัตราว่างในตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งที่จังหวัดไม่มีอัตราตำแหน่งครู กศน.ตำบล เพราะไม่ใช่สถานศึกษา อำเภอและจังหวัดไม่มีอำนาจสั่งให้พนักงานราชการไปช่วยราชการที่อื่น ถ้าพนักงานราชการทำความผิดก็ต้องดำเนินการพิจารณาและลงโทษไปตามขั้นตอน/หลักเกณฑ์ ซึ่งไม่มีขั้นตอน/หลักเกณฑ์ให้ส่งไปช่วยราชการที่อื่น

         4. ดึกวันที่ 13 พ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ตำแหน่งครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อว่างลงแล้ว สำนักงาน กศน.จังหวัดสามารถขอเปลี่ยนเป็นตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไปที่ กจ. เพื่อเรียกมาบรรจุที่สำนักงาน กศน.จังหวัด ได้เหรอ

             ผมตอบว่า   การขอเปลี่ยนตำแหน่ง และ/หรือ เปลี่ยนพื้นที่ ของตำแหน่งว่าง ให้จังหวัดกับอำเภอหารือกัน แล้วเสนอเหตุผลความจำเป็นให้ส่วนกลางพิจารณาอนุมัติ

             5. วันที่ 14 พ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เคื่องแบบที่ขายในเพจต่างๆ (ตามภาพ) ออกมาจากกรมไหม ถูกระเบียบไหม มีในระเบียบกศน.ไหม อยากทราบข้อเท็จจริง

             ผมตอบว่า   เครื่องแบบนักศึกษาใช่ไหม ส่วนกลางไม่ได้กำหนดบังคับเรื่องเครื่องแบบนักศึกษา กศน. โดย นศ.จะใช้แบบที่เอกชนเขาทำขายกันเองก็ได้ แต่จะบังคับหรือกำหนดให้ นศ.ซื้อไม่ได้ เพราะจะเป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น
              ( ดูรายละเอียดในคำตอบเดิม เช่นในข้อ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2017/05/prgaccout.html )

             ผู้ถาม ถามต่อ ว่า  เอกชนเอาตราสัญลักษณ์กศน.มาใช้ในการพาณิชย์ได้เหรอ
             ผมตอบว่า  เครื่องแบบข้าราชการสังกัดต่าง ๆ เอกชนเขาก็ทำขายกันนะ เช่นตราเสมาธรรมจักร
             ตรา "เพื่อนเรียนรู้" นี้ ไม่ใช่ตราหน่วยงาน กศน. ตรานี้เราอาจไม่ได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้ แต่ถ้าเราจะฟ้องจริง ๆ ก็คงจะฟ้องได้ และคงชนะ ( ไม่ 100 % ) แต่จะคุ้มไหม
              ( ไม่ได้ทำให้เราเสียหาย ไม่ได้ทำขายแข่งกับเรา ไม่ได้ทำให้เราขายได้น้อยลง เพราะเราไม่ได้ทำขาย )






         6. วันที่ 15 พ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ในกรณีพนก.ยังทำงานไม่ครบ6 เดือนแล้วป่วยเข้ารพ.จะต้องทำยังงัยในเมื่องานบุคลากร กศน.อำเภอบ้านโพธิ์บอกว่าทำงานไม่ครบ 6 เดือนไม่มีสิทธิ์ลาป่วย

             ผมตอบว่า   ถ้า พนก.ของคุณ ย่อมาจากพนักงานราชการ ผมโพสต์ระเบียบการลาของพนักงานราชการประมาณ 10 ครั้งแล้ว ดูระเบียบฉบับเต็มกับฉบับปรับปรุงเฉพาะเรื่องการลาพักผ่อนได้ที่
             -
https://www.dropbox.com/s/45lvflyejrgfqp0/benefit54.pdf?dl=1
             -
https://www.dropbox.com/s/rpz0d2zxfjw532l/PRGrelaxP.pdf?dl=1
             การลาพักผ่อน  ปีแรกที่ได้รับการจ้างเป็นพนักงานราชการยังไม่ครบ 6 เดือน ไม่มีสิทธิลาพักผ่อน
             การลาอุปสมบท/ลาไปประกอบพิธีฮัจย์  ต้องปฏิบัติงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 4 ปีแล้วจึงจะมีสิทธิลา
             ส่วนการลาอื่น ๆ เช่นลาป่วย ลากิจ  มีสิทธิยื่นขอลาตั้งแต่วันแรกที่บรรจุ

         7. คืนวันเดียวกัน ( 15 พ.ย.) นันทินี แก้วใส ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ตำแหน่งครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียนถ้าตำแหน่งว่างลง สามารถสอบทดแทนตำแหน่งที่ว่างได้ไหม เจ้านายตอบว่าครูอาสาโดนทำหมัน

             ผมตอบว่า   ผมโพสต์เรื่องนี้บ่อยแล้ว เช่นใน
             - ข้อ 2 ที่  
http://nfeph.blogspot.com/2014/05/70.html
             - ข้อ 5 ที่  
http://nfeph.blogspot.com/2014/11/2.html
             คือ  สอบ/เรียกบรรจุครูอาสาฯคนใหม่ได้เลย โดยไม่ต้องแจ้งส่วนกลาง
             เพียงแต่ บทบาทหน้าที่ที่ถูกต้อง ตามที่ตกลงไว้กับ กพร.นั้น ครูอาสาฯต้องสอนเป็นหลัก ถ้าไม่สามารถทำให้ถูกต้องได้ เช่นจะสอนเป็นรอง ก็ควรเสนอขอเปลี่ยนตำแหน่งว่างเป็นตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ตำแหน่ง "ครู"
             ( ถ้าไม่สนใจกฎหมายระเบียบหลักเกณฑ์ จะเป็นสิ่งที่ผิดมากสำหรับหน่วยงานราชการและผู้จัดการศึกษา คล้ายกับหมอเมาแล้วขับเสียเอง จะสอนคนอื่นแบบไหน )


วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

1.ผู้รับจ้างเหมาบริการ/ประชาชนทั่วไป/พ่อค้าคหบดี ประดับเหรียญได้ไหม, 2.แพรแถบย่อเครื่องราชฯกรณีเปลี่ยนสังกัด, 3.ขอไปช่วยราชการแทนอัตราที่เกษียณไปได้ไหม, 4.คำถามน่าคิด (ใบวุฒิเป็นสามเณรสูญหาย มาขอใหม่จะใช้รูปปัจจุบันและคำหน้าหน้าชื่ออย่างไร ไม่มีรูปตอนเป็นสามเณรแล้ว), 5.ใครบอกให้ ผอ.เซ็นชื่อคาบรูปในใบ รบ., 6.นศ.หญิงมุสลิมใช้รูปถ่ายที่คลุมศีรษะ ติดใบ รบ.ได้ไหม, 7.อยากให้ปรับปรุงสิทธิของ ครู ศรช.



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ดึกวันที่ 27 ต.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องเกี่ยวกับแพรแถบ เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ธกส. ติดแพรแถบตามปีเกิดได้ใช่มั้ย เพราะเท่าที่ถามพี่ๆที่ทำงานบางคนก็ว่าติดได้บางคนก็ว่าติดไม่ได้เราไม่ใช่ข้าราชการ

             ผู้ที่จะอ่านคำตอบต่อไปนี้ของผมให้เข้าใจ ขอให้ไปศึกษาความแตกต่างของ 4 ข้อนี้ก่อน
             1)  เครื่องราชอิสริยาภรณ์  ( ต้องขอพระราชทาน )
             2)  เหรียญที่ระลึก  ( ไม่ต้องขอพระราชทาน )
             3)  เหรียญตราจริง
             4)  แพรแถบย่อแทนเหรียญตราจริง  ( ปกติแพรแถบย่อ 1 แท่งแนวนอน จะมี 3 ท่อนต่อกัน แทน 3 เหรียญ )
             สี่อย่างนี้แตกต่างกัน โดย เครื่องราชอิสริยาภรณ์ก็มีทั้งเหรียญตราจริงของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และแพรแถบย่อแทนเหรียญเครื่องราชอิสริยาภรณ์
             เหรียญที่ระลึกก็มีทั้งเหรียญที่ระลึกจริง และแพรแถบย่อแทนเหรียญที่ระลึก
             สายแพรของเหรียญแต่ละชนิดจะมีสีและลายเฉพาะตัวไม่ซ้ำกัน โดยสีและลายของแพรแถบย่อจะเหมือนกับสีและลายสายแพรของเหรียญจริงแต่ละชนิด

             งานพิธีที่ให้แต่งเครื่องแบบครึ่งยศ/เต็มยศ จะประดับเหรียญจริง ไม่ประดับแพรแถบย่อฯ ถ้าไม่มีเหรียญจริงก็ไม่ต้องประดับทั้งเหรียญจริงและแพระแถบย่อฯ
             งานพิธีที่ให้แต่งเครื่องแบบปกติขาว-กากี จะประดับแพรแถบย่อฯ ไม่ประดับเหรียญจริง

             ผมตอบว่า   คนไทยทุกคนประดับ เหรียญที่ระลึกหรือแพรแถบย่อเหรียญที่ระลึก ได้  โดยถ้าเป็นเครื่องแบบพิธีการครึ่งยศ/เต็มยศ คือเสื้อขาว กางเกง/กระโปรงดำ จะประดับแพรแถบย่อไม่ได้นะ ต้องประดับเหรียญตราจริง โดยแพรแถบย่อใช้ประดับแทนเหรียญตราในกรณีไม่ได้แต่งเครื่องแบบครึ่งยศ/เต็มยศ  ( เครื่องแบบครึ่งยศคือเครื่องแบบเต็มยศที่ไม่สวมสายสะพาย )
             แม้แต่ประชาชนทั่วไป พ่อค้าคหบดี ผู้รับจ้างเหมาบริการ ที่ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯก็ประดับเหรียญที่ระลึกได้ และใช้หลักเกณฑ์เดียวกันด้วย คือ ใครเกิดทันปีที่ออกเหรียญที่ระลึกใด ก็มีสิทธิ์ประดับเหรียญนั้นทุกคน ( ถ้าเป็นแพรแถบย่อของเหรียญที่ระลึกล้วน ๆ จะไม่มีช้างไม่มีมงกุฎอยู่ในนั้น )

             แต่ก็ต้องประดับให้ถูกกับงาน และใส่ชุดให้ถูก เช่น ประดับร่วมงานพิธีวันปิยมหาราชใช้แพรแถบย่อ  งานพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระเจ้าอยู่หัวใช้เหรียญตราจริง

             โดยถ้าเป็นประชาชนทั่วไป พ่อค้าคหบดี ผู้รับจ้างเหมาบริการ
             - บุรุษ  ประดับกับเครื่องแบบขอเฝ้า ( ชุดขาวราชประแตน เช่นเดียวกับชุดชาวข้าราชการทั่วไป แต่ที่ปกคอเสื้อใช้แผ่นทาบคอกิ่งชัยพฤกษ์ประกอบด้วยใบข้างละ ๕ ใบ แทนเครื่องหมายส่วนราชการ และไม่มีอินทรธนูที่บ่า กระดุมเสื้อเป็นกระดุมเกลี้ยงสีทอง )
             - สตรี  จะไม่มีเครื่องแบบขอเฝ้าที่เป็นชุดขาวเหมือนบุรุษ ให้ประดับกับ ชุดไทย คือชุดไทยจิตรลดา ไทยอมรินทร์ ไทยบรมพิมาน สีพื้น สวมถุงน่องไม่ให้เห็นผิวเนื้อเท้า






         2. คืนวันเดียวกัน ( 27 ต.ค.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ค ว่า  ดิฉัน ครูอาสาฯ สอบขึ้นบัญชีผู้สอบได้ครูผู้ช่วยของ กศจ. เรื่องเครื่องราชฯที่ได้รับเครื่องจริง จ.ม. จะต้องส่งคืนหรือเปล่า และอีกอย่างหากเราจะติดแพรแถบเครื่องราชกับชุดกากีในฐานะครูผู้ช่วย กศจ.นั้น สามารถติดแพรแถบต่อเนื่องจาก กศน.ได้หรือเปล่า

             ผมตอบว่า   ดูในคำตอบเดิม ๆ ที่ผมโพสต์ 3 ครั้งแล้ว เช่น ในข้อ 1 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/11/youtube.html
              ( เครื่องราชฯของทุกสังกัดเหมือนกัน แพรแถบย่อหรือแถบจำลองเครื่องราชฯก็คือแทนเหรียญเครื่องราชฯ เมื่อยังไม่ต้องส่งคืนก็ประดับต่อไปได้ )

         3. เช้าวันที่ 31 ต.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เป็น ขรก.ครู สามารถขอไปช่วยราชการแทนในอำเภอที่ตำแหน่ง ขรก.ครูพึ่งเกษียณไป กย. ได้เลยไหม

             ผมตอบว่า   เมื่อเกษียณ อัตราจะถูกตัดไปก่อน
             และเมื่อ กรมบัญชีกลาง-ก.ค.ศ. คืนอัตราเกษียณมาให้สังกัดต่าง ๆ ( ซึ่งต้องใช้เวลา เมื่อก่อนใช้เวลาเกินครึ่งปี เดี๋ยวนี้เร็วขึ้น ) จะมีการนำอัตราที่ได้คืนนั้นมาจัดสรรใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ได้จัดสรรให้ที่เดิม
             ฉะนั้น ที่เดิมอาจไม่มีอัตราที่จะบรรจุคนใหม่แล้ว
             ลองติดต่อสอบถาม กจ.กศน. ดูนะ 02-2822159
             ( การขอย้าย/ขอไปช่วยราชการ นอกช่วงเวลาที่กำหนด เราต้องมีเหตุกรณีพิเศษ )

         4. วันที่ 30 ต.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องการขอวุฒิการศึกษา สำหรับนักศึกษาที่จบไปแล้ว มีคำนำหน้าว่า สามเณร แต่เนื่องจากวุฒิหาย จึงมาขอวุฒิใหม่ (ผ่านมา 21 ปีแล้ว)  ปัจจุบันใข้คำนำหน้าว่านายแล้ว เราจะทำหนังสือรับรองโดยใช้คำนำหน้าชื่อว่าสามเณร ตามวุฒิที่สถานศึกษาเคยออกไปแล้ว หรือใช้ชื่อเป็นนายเลย

             ผมตอบว่า   การจะเปลี่ยนชื่อ-สกุล หรือเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ต้องยื่นหลักฐานขอเปลี่ยนก่อนวันอนุมัติจบ  ถ้าเขาเปลี่ยนหลังวันจบ เราจะเปลี่ยนไม่ได้ เวลานำใบวุฒิไปใช้ที่ไหนก็ต้องใช้ใบวุฒิคู่กับหลักฐานการเปลี่ยน
             ผู้ถาม  ถามต่อว่า  แล้วรูปถ่ายที่ติดหนังสือรับรอง ใช้รูปใส่เสื้อเชิ้ตขาวกระดุมใสได้เลยใช่ไหม

             ประเด็นนี้น่าคิด เพราะชื่อเป็นสามเณร แต่รูปปัจจุบันเป็นฆราวาส ผมไม่มั่นใจ จึงถามคุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. คุณกิตติพงษ์บอกว่าจะหาคำตอบให้
             ระหว่างที่ยังไม่ได้คำตอบ ผมก็คิดพิจารณาตามระเบียบ แล้วคิดคำตอบเตรียมไว้ตอบเองว่า
             ใช้รูปถ่ายปัจจุบัน
            
( ถ้ามีผู้เห็นใบวุฒิแล้วสงสัยว่าชื่อเป็นสามเณร ทำไมรูปเป็นผู้ใหญ่และเป็นฆราวาส เราเป็นผู้ตรวจสอบรับรองวุฒิ ก็อธิบายที่ไปที่มา ไปตามความเป็นจริง )
             ยังไม่ทันจะตอบ ก็ได้รับคำตอบจากคุณกิตติพงษ์ว่า
            
ยังใช้คำนำหน้าชื่อว่าสามเณรครับเพื่อสะดวกในการค้นหาต้นขั้ว แต่ให้ใช้รูปปัจจุบัน  รูปปกติก็ถ่ายไม่เกิน 6 เดือนตามระเบียบ

             5. วันที่ 2 พ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  เป็น จนท.งานทะเบียน ของวิทยาลัยเทคนิคนครพนม อยากถามเรื่องการใช้ตรานูน คือการออก ใบ รบ.1 ตรงรูปถ่ายนักศึกษา ในระเบียบให้หัวหน้าสถานศึกษาลงลายมือคาบรูปกำกับนั้น หากจะใช้ตรานูนประทับคาบรูปแทนจะได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ใบ รบ.ของ กศน. หรือของสังกัดไหนครับ ระเบียบของแต่ละสังกัดอาจแตกต่างกัน  ของ กศน.ไม่มีระเบียบให้ลงลายมือชื่อกำกับคาบรูป ( หัวหน้าสถานศึกษาลงลายมือชื่อที่เดียว แล้วใช้ตราประจำสถานศึกษา ประทับด้วยหมึกสีแดงชาด ให้ส่วนหนึ่งของตรา ประทับบนส่วนหนึ่งของรูป อีกส่วนหนึ่งของตราทับบนลายมือชื่อของหัวหน้าสถานศึกษา )
             และไม่มีระเบียบให้ใช้ตรานูน  ( ตรานูนจะถ่ายเอกสารไม่ชัด )
             แต่สถานศึกษา กศน.บางแห่งก็ใช้ตรานูนเพราะการโฆษณาติดต่อขายของผู้ขายตรานูน  และเซ็นชื่อคาบรูปด้วย
             ซึ่งไม่ทราบว่าใช้ระเบียบหลักเกณฑ์ใด

             ( ตามคำอธิบายการกรอกระเบียนแสดงผลการเรียน ข้อ 5.7 กำหนดว่า ประทับตราประจำสถานศึกษาด้วยหมึกสีแดงชาด ให้บางส่วนติดรูปถ่ายและบางส่วนติดบนส่วนที่จะเป็นลายเซ็นของหัวหน้าสถานศึกษาและ
               ตามคำอธิบายการออกและกรอกรายการประกาศนียบัตร กำหนดไว้ในข้อ 2.4.7 ว่า
ประกาศนียบัตรทุกฉบับ ทุกประเภท ต้องใช้ตราส่วนราชการหรือตราประจำสถานศึกษา ประทับบนลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามไว้เป็นสำคัญ โดยใช้สีแดงชาด” )

         6. วันอาทิตย์ที่ 5 พ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  รูปของนักศึกษาที่จะนำมาติดใบวุฒิ ถ้า นศ.เป็นหญิงที่นับถือศาสนาอิสลาม แล้วถ่ายรูปแบบคลุมผมมา สามารถใช้ไดหรือไม่

             ผมตอบว่า   ระเบียบที่จะต้องยึดถือปฏิบัติ คือ
             ในคู่มือการดำเนินงาน ( คู่มือการดำเนินงานฯ เป็นเอกสารแนบท้ายประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นระเบียบให้ปฏิบัติ ) กำหนดว่า
            
รูปถ่าย 1 นิ้ว จำนวน 4 รูป หน้าตรงไม่สวมแว่นตาดำและไม่สวมหมวก สวมเสื้อสีขาวมีปกหรือชุดสุภาพ ( ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่ใช้รูปถ่ายประเภทโพลาลอยด์ ) เพื่อใช้ติดใบสมัคร 1 รูป ติดบัตรประจำตัว 1 รูป ติดสมุดประจำตัวนักศึกษา 1 รูป และสำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็น 1 รูป
             ส่วนรูปติดใบ รบ. ไม่ได้กำหนดลักษณะของรูปไว้ จึงอนุโลมให้เป็นลักษณะเดียวกัน
             ถ้าถ่ายรูปแบบคลุมผม แล้วยังเป็นไปตามลักษณะที่กำหนดนี้ ก็ใช้ได้

             และเมื่อเทียบเคียงกับ ระเบียบการถ่ายรูปติดบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ( รวมทั้งพนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับบำเหน็จบำนาญ ) ซึ่งกำหนดกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสตรีไทยมุสลิม ตามหนังสือที่ นร 1304/ว 1074/ 4 ก.พ.40 ว่า
            
สามารถถ่ายรูปที่มีผ้าคลุมศีรษะได้ แต่ ต้องเห็นหน้า ( คือเห็นทั้ง หน้าผาก คิ้ว ตา จมูก ปาก และคาง )
             สรุปได้ว่า  นศ.สตรีไทยมุสลิม สามารถถ่ายรูปที่มีผ้าคลุมศีรษะ ติดใบ รบ.ได้ แต่ ต้องเห็นทั้ง หน้าผาก คิ้ว ตา จมูก ปาก และคาง

         7. คืนวันที่ 9 พ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า อยากให้ปรับปรุงสิทธิของ ครู ศรช.บ้าง คือการทำสัญญาจ้างเป็นรายหนึ่งปี เพราะแต่ก่อน ครู ศรช. และครูที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว มีประกันสังคม แต่ตอนนี้ปรับเปลี่ยนเป็นจ้างเหมาบริการ ทำให้ ครู ศรช.ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงานมาก อีกทั้งตอนนี้สัญญาจ้างเป็นรายหกเดือน เวลาต่อสัญญาอีกครั้งคือช่วงเดือน เม.ย.และ ต.ค.เงินเดือนของครูเราก็ออกช้ามาก เลยอยากให้มีการปรับปรุงสิทธิของ ครู ศรช. ครูทุกประเภท และจ้างเหมาทุกประเภทบ้าง

             ผมตอบว่า
             1)  เรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้รับจ้างเหมาบริการนั้น เป็นไปตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจ รมว.ศธ. ( ผู้รับจ้างเหมาบริการ ทำประกันสังคมด้วยตนเองได้นะ )
                  โดยบุคลากรและเจ้าหน้าที่ของรัฐในแต่ประเภท ( ผู้รับจ้างเหมาบริการ-ลูกจ้างชั่วคราว-พนักงานราชการ-ลูกจ้างประจำ-ข้าราชการ-ผู้รับบำเหน็จบำนาญ ) จะมีสิทธิแตกต่างกัน ไม่เท่ากัน แม้แต่ข้าราชการเหมือนกันแต่ตำแหน่งต่างกันก็มีสิทธิต่างกัน เช่น ผอ. อนุญาตให้ตัวเองไปราชการโดยใช้รถส่วนตัวได้ ส่วนผู้ที่เป็น ขรก.ครู ถ้าต้องการสิทธินี้ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้เป็น ผอ.
             2)  ในส่วนของการทำสัญญาจ้างเป็นรายปีนั้น อยู่ในอำนาจของเรา ลองเรียกร้องไปที่ส่วนกลางซีครับ การจ้างเหมาด้วยงบดำเนินงานเช่นจ้างเหมาบรรณารักษ์ ยังจ้างเป็นรายปีได้ ทั้งที่ส่วนกลางก็จัดสรรงบให้ครั้งละครึ่งปีเช่นกัน
                  แต่การจ้างด้วยเงินอุดหนุนจะมีจำนวน นศ.เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือไม่แน่ว่าภาคเรียนหน้าจะเหลือจำนวน นศ.เหมาะสมที่จะจ้างต่อหรือไม่
                  อย่างไรก็ตาม ถ้าจะช่วยกันก็สามารถให้ทำสัญญาจ้างเป็นปีได้ เช่น แม้ภาคเรียนหน้าจะมี นศ.เท่าไร ก็ให้ประโยชน์เขาไปปีหนึ่ง ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ หรือ ทำสัญญาเป็นปีแต่ระบุในสัญญาว่าถ้าภาคเรียนใดมี นศ.น้อยกว่าเกณฑ์จะไม่จ้าง เป็นต้น
                  ลองช่วยกันเรียกร้องไปที่ส่วนกลางซีครับ