วันเสาร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2561

1.ลูกจ้างประจำทำงาน 24 ปี ขอรับบำเหน็จรายเดือนได้ไหม, 2.การเขียนชื่อเรื่องในหนังสือเอกสารราชการ, 3.เสียใจด้วย ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯจะเป็นครูผู้ช่วยไม่ได้ เป็นความผิดของใคร, 4.เผยแพร่เพื่อให้เพิ่มความระวังในการทำงาน, 5.ขรก.บรรจุใหม่ ห้ามย้าย-โอน ก่อน 4 ปี เว้นแต่จะลาออก !, 6.ทำงาน กศน. 2 ปี 6 เดือน มีสิทธิสอบกรณีพิเศษมั้ย – ครูประจำกลุ่มมีสิทธิสอบไหม, 7.ใช้วุฒิ ป.โท สมัครสอบครูผู้ช่วย กศน.ได้ไหม – การนับปีที่ สอนแบบไม่ต่อเนื่อง



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 17 ม.ค.61 ลูกจ้างประจำ กศน.ร้อยเอ็ด โทร.มาถามผม ว่า  ลูกจ้างประจำทำงาน 24 ปี แล้วเกษียณ จะขอรับบำเหน็จรายเดือนได้ไหม

             ผมตอบว่า   ลูกจ้างประจำ ต้องมีเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 25 ปีบริบูรณ์ จึงจะมีสิทธิขอรับบำเหน็จรายเดือนแทนบำเหน็จปกติได้ ถ้ามีเวลาทำงาน 24 ปี ต้องรับบำเหน็จปกติ

         2. วันที่ 18 ม.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ทำบันทึกขออนุญาตจัดการศึกษาต่อเนื่อง โดยพิมพ์ชื่อเรื่องว่า
            
ขออนุญาตจัดการศึกษาต่อเนื่อง รูปแบบ กิจกรรมพัฒนาอาชีพระยะสั้น (กลุ่มสนใจไม่เกิน 30 ชั่วโมง) วิชา การทำสบู่สมุนไพร หลักสูตร 3 ชั่วโมง (ตำบลบ้านยาง)
             ผิดไหม
             ทางครูอาสาบอกให้พิมพ์ว่า
ขออนุญาตจัดการศึกษาต่อเนื่อง รูปแบบกลุ่มสนใจ วิชา การทำสบู่สมุนไพร ตำบลบ้านยาง
             อยากทราบที่ถูกต้อง

             ผมตอบว่า   การเขียนชื่อเรื่อง มันไม่มีข้อกำหนดตายตัว ระบุชัดเจนไม่ได้ว่าอย่างไรถูกต้อง/ไม่ถูกต้อง ถูกหรือผิด ปกติก็จะเขียนให้กระชับแต่เข้าใจกันถูกต้อง บางครั้งก็ยาวเกิน 1 บรรทัดได้
             ถ้าหัวหน้า หรือเจ้าหน้าที่งาน หรือ ผอ.เขาให้แก้ ก็แก้เถอะ
             ( ปกติ ถ้าเป็นกลุ่มสนใจ ไม่ต้องบอกว่า ระยะสั้น เพราะกลุ่มสนใจต้องไม่เกิน 30 ชม.อยู่แล้ว  ถ้าเป็นชั้นเรียนวิชาชีพระยะสั้น จะเป็น 31-100 ชั่วโมง ระยะยาวคือ 100 ชม.ขึ้นไป )

             ที่จริง ถ้าไม่ผิดชัด ผู้ให้แก้น่าจะบอกว่า ครั้งต่อไปให้พิมพ์ว่าอย่างไร เว้นแต่มีจุดอื่น ๆ ที่ควรปรับปรุงด้วย ก็ให้แก้ทั้งหมดในครั้งนี้เลย

         3. คืนวันที่ 19 ม.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  กรณีพนักงานราชการตำแหน่งครูกศน.ตำบล ได้รับการแต่งตั้งสมัยท่านประเสริฐ บุญเรือง แต่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ และต่อสัญญามาเรื่อยๆ โดยตอนต่อสัญญานั้นเขาได้ผลัดวันประกันพรุ่งในการส่งเอกสารใบประกอบวิชาชีพ กรณีนี้ถือว่าผิดระเบียบไหม และสามารถร้องเรียนได้ไหม ใครจะได้รับผลกระทบบ้าง

             ผมตอบว่า   ที่ว่า "ตอนต่อสัญญานั้นเขาได้ผลัดวันประกันพรุ่งในการส่งเอกสารใบประกอบวิชาชีพ" นั้น คุณคงเข้าใจผิด วิธีหนึ่งที่จะขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู คือ เรียนจบ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู
             ถ้าไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่มีสิทธิบรรจุเป็นครูผู้ช่วย กศน.

             3 ฉบับต่อไปนี้ แตกต่างกัน อย่าเรียกชื่อให้สับสน
             1)  "หนังสือ"อนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ( คนละอย่างกับใบรับรองสิทธิฯ )
             2)  "ใบ"อนุญาตปฏิบัติการสอน
             3)  "ใบ"อนุญาตประกอบวิชาชีพครู  ( สมัยก่อนขณะที่คุรุสภายังออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯไม่เสร็จ เขาจะออกใบรับรองสิทธิ์ให้ใช้แทนไปก่อน แต่ปัจจุบันไม่มีการออกใบรับรองสิทธิฯเพราะใช้เวลาออกเท่า ๆ กับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเลย )

             ผู้ทีไม่มีทั้งใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ( ใบที่ 2 ) และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ( ใบที่ 3 )  ถ้าจะให้สอน กศ.ขั้นพื้นฐานในสถานศึกษาใด สถานศึกษานั้นต้องทำเรื่องขอ "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" ( หนังสือที่ 1 ) ไปยังคุรุสภา
             ถ้าสอน กศ.ขั้นพื้นฐานโดยไม่มีทั้ง 3 ฉบับนี้ ผู้ที่มีความผิดคือ ทั้งสถานศึกษา และผู้สอน  แต่ที่ผ่านมาไม่เป็นไรเพราะคุรุสภาไม่รู้ ไม่มีใครร้องเรียน
             ( ถ้าครู กศน.คนใด ไม่ได้สอน กศ.ขั้นพื้นฐาน สอนแต่ กศ.ต่อเนื่อง+อัธยาศัย ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตไปยังคุรุสภา ไม่ผิดระเบียบ )
             หลายแห่งถ้า จนท.งานบุคลากรของสถานศึกษาไม่ทำเรื่องขอ "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" ( หนังสือที่ 1 ) ให้ เจ้าตัวก็มักจะทำกันเอง ทำแทน จนท.งานบุคลากรของสถานศึกษา

             ถ้ามีหนังสืออนุญาตฯ ( หนังสือที่ 1 ) นี้แล้ว ก็มีสิทธิสมัครเรียน ป.บัณฑิตฯ และเมื่อเรียน ป.บัณฑิตหลักสูตรที่มีการปฏิบัติการสอนจบแล้วจึงจะได้ "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" ( ใบที่ 3 )  แต่ถ้าเรียนหลักสูตร ป.บัณฑิตที่ไม่มีการฝึกปฏิบัติการสอน จบแล้วก็ยังไม่ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะได้เพียง "ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน" ( ใบที่ 2 ) จนกว่าจะปฏิบัติการสอนครบ 1 ปีผ่านการประเมินจึงขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้

             "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" ( หนังสือที่ 1 ) ไม่สามารถใช้สมัครสอบครูผู้ช่วย กศน.ได้นะ  ถ้าตอนนี้คุณยังไม่มีใบอะไรเลยก็เสียใจด้วย ทำไม่ทันการสอบปี 61 นี้แน่ แต่ก็ควรรีบทำไว้เพื่อให้ทันการเปิดสอบปีต่อ ๆ ไป
             ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ( ใบที่ 3 ) ใช้สมัครสอบได้และใช้บรรจุเป็นข้าราชการครูได้ด้วย
             ส่วน ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ( ใบที่ 2 ) ใช้สมัครสอบได้ แต่ถ้าสอบผ่าน เมื่อถึงวันรายงานตัวเพื่อบรรจุแต่งตั้ง ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ( ใบที่ 3 )  ถ้าถึงวันรายงานตัวแล้วยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แม้สอบผ่านก็จะถูกคัดชื่อออก ( ไม่รอต่อ )

         4. เช้าวันเสาร์ที่ 20 ม.ค.61 มีผู้โพสต์ในไลน์กลุ่มเมืองนักอ่าน-ห้องสมุดชาวตลาด ว่า
            
พบบนชั้นอีก 1 เล่มวันนี้ ที่บกพร่องลงทะเบียนไม่เสร็จ
             หลังจากที่ สตง. เข้าตรวจห้องสมุดในเดือน ส.ค.60 บัญชีที่ขอตรวจ 40 รายการ ( หนังสือที่ซื้อจากมูลนิธิสมเด็จพระเทพฯ ไม่มีส่วนลด ) หาหนังสือได้ครบทุกเล่ม ติด 2 ชื่อเรื่อง บกพร่องเรื่องลงทะเบียนไม่เสร็จ พลาด 5 เล่ม มีร่องรอยการประทับตราลงทะเบียน ปี 2557 แต่ถูกแก้ด้วยลายมือสีแดงเป็นปี 2559
             สตง. ตัดสินถือว่า ยังไม่พบสื่อ !
?!
             อยากเผยแพร่เพื่อนๆวิชาชีพเดียวกันเป็นอุทาหรณ์เรื่องการแก้วันที่การรับลงทะเบียน ขออนุญาตเผยแพร่เพื่อให้เพิ่มความระวังในการทำงานค่ะ ( เคยเผยแพร่แล้ว เมื่อ 25 สค. 2017 )

             เรื่องนี้  ผมคิดว่า ในส่วนของ สตง.เราต้องระวัง
             เช่น เราเคยจัดโครงการเศรษฐกิจพอเพียง/วิชาชีพ ซื้อวัสดุฝึกเป็น ต้นกล้า/ลูกสัตว์ มอบให้ผู้เข้าร่วมโครงการ  สตง.บอกว่า ผิด ซื้อของแจกไม่ได้ แต่ซื้อเป็นวัสดุฝึกได้ โดยต้องมีที่ไปที่ถูกระเบียบ ( จะบอกว่าเลี้ยงไม่รอด ตายหมดเลย ก็คงไม่ใช่ ) เช่น ถ้าสามารถจำหน่ายผลผลิตนำเงินเข้าเป็นรายได้แผ่นดินได้ ก็ไม่มีปัญหา
             หลายแห่งเลยหลีกเลี่ยง ไม่ซื้อสิ่งมีชีวิต ซื้อแต่วัสดุสิ้นเปลือง ( ใช้แล้วเสื่อม/หมดไป )  ถ้าเป็นวัสดุถาวร เมื่อชำรุด/สูญหายก็ต้องดำเนินการตามระเบียบพัสดุ
             ต้องเป็นไปตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน กระทรวงศึกษาธิการมีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษา แจกความรู้ ไม่ใช่แจกของ
             กศน.จัดแข่งขันกีฬานักศึกษาได้ แต่จะจัดแข่งขันกีฬาแบบที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัด ไม่ได้
             ท่านอดีตเลขาธิการ กศน.ท่านหนึ่ง เคยคิดจะ
ให้ อุปกรณ์การประกอบอาชีพแก่ผู้เรียน ปรากฏว่า ไม่ได้รับอนุมัติจาก ครม.
             รัฐบาลสมัยหนึ่ง ให้กระทรวงศึกษาธิการแจกแท็บเล็ตแก่นักเรียน แต่ในที่สุด ก็สรุปว่า แท็บเล็ตเป็นพัสดุของโรงเรียน ให้นักเรียนยืม

         5. ข้าราชการบรรจุใหม่ ไม่มีการย้าย-โอน ก่อน 4 ปี เว้นแต่จะลาออก !
             ดูที่ 
https://www.dropbox.com/s/7er6koqjr3r7vnm/Cheinge4Year.pdf?dl=

             วันที่ 25 ม.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า เรื่องห้ามย้าย-โอนก่อน 4 ปีนั้น ผู้ที่สอบเปลี่ยนตำแหน่ง เช่นสอบ ผอ. ผู้บริหารได้ รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่
             ผมตอบว่า  ไม่รวม.. ( ไม่รวมผู้ที่เป็นข้าราชการอยูแล้วและไม่ได้ลาออกมาสอบใหม่ )

             อันนี้เฉพาะ สอบบรรจุเป็นข้าราชการใหม่ครั้งแรก ที่สอบบรรจุหลังประกาศฉบับนี้ออก ( โดยจะระบุข้อกำหนดนี้ไว้ในประกาศรับสมัครสอบ )  คนที่เพิ่งบรรจุไปแล้วเมื่อเดือนก่อนก็ไม่รวม

 





         6. คืนวันที่ 23 ม.ค.61 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก โดยถามว่า  ถ้ายังทำงาน กศน.ไม่ถึง 3 ปีเต็ม (ปัจจุบัน 2 ปี 6 เดือน) มีสิทธิสอบกรณีพิเศษของ กศน. มั้ย

             ผมตอบว่า   ต้องทำงาน กศน.และ สอน ครบ 3 ปี ( นับถึงวันรับสมัครวันสุดท้าย ) จึงจะมีสิทธิสมัครสอบครูผู้ช่วย กศน.กรณีพิเศษ  ขาดวันเดียวก็ไม่ได้
             เช่น ถ้ารับสมัคร 17-25 มี.ค.61 ก็นับถึงวันที่ 25 มี.ค.61 คือถ้าสอนต่อเนื่องกัน ต้องจบ ป.ตรี เป็นพนักงานราชการ-ลูกจ้าง-รับจ้างเหมาบริการ สังกัด กศน. และสอนในสถานศึกษา กศน. ไม่หลังวันที่ 25 ก.ค.58

             ผู้ถาม ถามต่อว่า  นับรวมครูประจำกลุ่มด้วยมั้ย
             ผมตอบว่า  ครูประจำกลุ่มที่เป็นพนักงานจ้างเหมาบริการ นับรวมด้วย ( ยกเว้นครูประจำกลุ่มที่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดอื่น เช่น กองทัพ เรือนจำ รพสต. กรมพินิจฯ สมัครไม่ได้ )

             คุณสมบัติเพิ่มเติมของผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือก คือ
            
ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานจ้างเหมาบริการจากเงินงบประมาณหรือเงินรายได้ของสถานศึกษา  และ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอนในสถานศึกษา สังกัด กศน. ซึ่งต้องได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอนตามคำสั่งหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่า 3 ปี ( ไม่ต่อเนื่องกันก็ได้ แต่ไม่นับรวมช่วงที่ไม่ได้สังกัดและสอน กศน.) นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย โดยมีตารางสอนไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  การนับเวลาการสอนให้นับได้ตั้งแต่วันที่ได้รับวุฒิปริญญาตรี

         7. วันที่ 24 ม.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ถ้าวุฒิ ป.ตรี สาขาวิชาเอกไม่ตรงกับที่รับสมัคร แต่มีวุฒิ ป.โท สาขาวิชาเอกตรงกับที่รับสมัคร จะใช้วุฒิ ป.โท สมัครสอบครูผู้ช่วยได้ไหม

             ผมตอบว่า ไม่ได้..
             ต้องมีวุฒิ ป.ตรี กลุ่มวิชา/ทาง/สาขาวิชา ตามในประกาศรับสมัคร

             คืนวันเดียวกัน ( 24 ม.ค.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก เรื่องการสอบครูผู้ช่วย ว่า  เมื่อปี 2551-2556 เป็นครู ปวช. ที่ศฝช.อุตรดิตถ์ แล้วลาออก และได้สอบเป็นครู กศน.ตำบล เมื่อธันวาคม 2558 ถึงปัจจุบัน อายุงานนับแบบไม่ต่อเนื่องได้ไหม
             ผมตอบว่า  นับแบบไม่ต่อเนื่องได้ แต่ ต้องมีสัญญาจ้างหรือคำสั่งให้สอน กศน. + หนังสือรับรองของ ผอ.สถานศึกษาแต่ละแห่งที่จะนำมารวมกันให้ครบ 3 ปีเต็ม ( ไม่นับรวมช่วงที่เว้นการสอน ) + ปัจจุบัน ต้องสังกัด/สอนที่ กศน.


วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2561

1.ขรก.ครู สายงานการสอน ต้องรู้..., 2.เป็นตำแหน่งครู 21 เม.ย.60 ทำวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เก่าได้ไหม, 3.ซื้ออุปกรณ์-เครื่องหมายลูกเสือได้ไหม, 4.นศ.จบภายใน 1 ภาคเรียนได้ไหม, 5.กพร.กีฬาพื้นบ้าน เบิกค่าอาหารนักกีฬาได้ไหม, 6.ได้รับบริจาคทรัพย์สิน ออกใบอนุโมทนาได้ไหม, 7.ห้ามจบก่อนวัยใช่ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ขรก.ครู สายงานการสอน ต้องรู้... ( การพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้มี/เลื่อน เป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ/เชี่ยวชาญ )

             สำนักงาน กศน. ได้ส่งหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ว 20-22/60 เรื่องเกี่ยวกับวิทยฐานะ มาให้ทุกจังหวัด ( ดูได้ที่  https://www.dropbox.com/s/9omswp328v3rckr/V20-22_60.pdf?dl=1 )
             โดยหนังสือ ว 22/60 เป็นเรื่องการพัฒนา ขรก.ครูสายงานการสอน

             แม้ครูเก่าจะยังเสนอขอวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เก่าได้ ซึ่งไม่ว่าจะทำวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เก่า ( ว17/52 ) หรือหลักเกณฑ์ใหม่ ( ว21/60 ) ทุกคนก็ต้องผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้ง  โดย ที่ผ่านมาก่อนมีหลักเกณฑ์ใหม่ กศน.เคยจัดการอบรมพัฒนาก่อนแต่งตั้งตาม ว3/54 ให้ประมาณปีละครั้ง แต่.. ปีนี้ กศน.จะไม่จัดอบรมพัฒนาแบบเดิมให้ ขรก.ครูสายงานการสอน ปีต่อไปก็ยังไม่แน่ว่าจะจัดหรือไม่ แต่ครูเข้าอบรมพัฒนาที่หน่วยงานอื่นจัดได้
             และแม้ครูเก่าจะเสนอขอวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เดิม ก็อบรมพัฒนาตาม ว 22/60 ได้

             ข้อกำหนดการพัฒนาตาม ว 22/60 เช่น
             - ต้องเข้ารับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยให้ประเมินตนเองตามแบบที่ ก.ค.ศ.กำหนด พร้อมทั้งจัดทำแผนการพัฒนาตนเองเป็นรายปีตามแบบที่ส่วนราชการต้นสังกัดกำหนด
             - พัฒนาตามหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรอง แต่ละปีจำนวน 12-20 ชม. โดยภายใน 5 ปีต้องพัฒนา 100 ชม. ( ถ้ามีปีที่พัฒนาไม่ครบ 20 ชม. แต่ไม่น้อยกว่า 12 ชม. ให้นำ ชม.การมีส่วนร่วมในชุมชนการเรียนรู้ฯ :
PLC ส่วนที่เกิน มานับรวมได้ )

             อนึ่ง ว 22/60 กำหนดการดำเนินการในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน สำหรับครูเก่าที่เสนอขอวิทยฐานะ ว่า
             - ถ้าเคยผ่านการอบรมพัฒนาแบบเดิมแล้วไม่เกิน 3 ปี ให้นำมาใช้ขอวิทยฐานะได้ 1 ครั้ง
             - ครูเก่าที่ดำรงตำแหน่งครู/วิทยฐานะมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งที่เคยผ่านการอบรมพัฒนาแบบเดิม แต่เกิน 3 ปี และที่ไม่เคยผ่านการอบรมพัฒนา สามารถเข้ารับการพัฒนาตาม ว 22/60 นี้โดยให้ผ่านการพัฒนาตามหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรอง จำนวนเพียง 20 ชม.ในการขอวิทยฐานะครั้งแรก 1 ครั้ง ( ถ้าขอ 1 ครั้งแล้วไม่ผ่าน การขอครั้งต่อ ๆ ไปจำนวน ชม.จะไม่ใช่เพียง 20 ชม. )

             อนึ่ง กองศูนย์ส่วนกลาง กศน. รวมทั้ง กศน.ภาค พิจารณาจัดทำหลักสูตรการพัฒนา เสนอให้สถาบันคุรุพัฒนารับรอง เพื่อนำมาให้ ขรก.ครูสายงานการสอนของ กศน.สมัครเข้าอบรมพัฒนาตามหลักเกณฑ์ ว22 ซึ่งไม่แน่ว่ากองศูนย์ใดจะจัดบ้าง  แต่ ขรก.ครู กศน.สามารถสมัครเข้าพัฒนาตามหลักสูตรของสังกัดอื่น เช่น สพฐ. ( ที่ผ่านการรับรองของสถาบันคุรุพัฒนา ) ได้ ตาม แนวปฏิบัติการให้บุคลากรไปอบรมที่หน่วยงานอื่นจัด ฉบับปี 60 ( ที่ ศธ 0210.118/5854 ลว.1 พ.ย.60  ดูได้ที่  https://www.dropbox.com/s/x6tjyo5wmar02uo/TrainOther60.pdf?dl=1 )






         2. เย็นวันที่ 11 ม.ค.61 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  จบ ป.โท ก่อนวันที่ 9 ธันวาคม 2559 บรรจุครูผู้ช่วยวันที่ 20 เมษายน 2558 แต่งตั้งตำแหน่งครู วันที่ 21 เมษายน 2560 ( แต่คำสั่งลงวันที่ 3 สิงหาคม 2560) คุณสมบัติยังสามารถทำ ว 17 ได้หรือเปล่า

             ผมตอบว่า   ได้.. เพราะดำรงตำแหน่งครู 21 เม.ย.60
             ผู้ที่ดำรงตำแหน่งครู ก่อนวันที่ 5 ก.ค.60 และก่อนวันที่ 5 ก.ค.60 นี้คุณสมบัติยังไม่ครบที่จะขอมีวิทยฐานะตาม ว 17/52 สามารถรอให้ถึงวันที่คุณสมบัติครบ แล้วขอตาม ว 17/52 ได้ 1 ครั้ง โดยต้องขอภายใน 1 ปี นับแต่วันที่คุณสมบัติครบตาม ว 17/52  ( ดูภาพประกอบ )







         3. วันที่ 12 ม.ค.61 มีผู้โทร.จาก กศน.อ.ใน อยุธยา มาถามผมว่า  อุปกรณ์-เครื่องหมายลูกเสือ เช่น ผ้าพันคอ วอคเกิ้ล เชือก เข็มขัด ซื้อได้ไหม

             ผมตอบว่า   ก็คงเหมือนกับชุดหรือเครื่องแบบลูกเสือ ( อุปกรณ์-เครื่องหมาย เป็นส่วนประกอบของชุดหรือเครื่องแบบลูกเสือ )  ซื้อไม่ได้ ไม่มีระเบียบรองรับ

             หลังจากตอบไปแล้ว เพื่อความมั่นใจ ผมได้เรียนถามท่าน อ.สุนีย์ หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. ว่าผมตอบถูกต้องไหม  ท่านบอกว่า ถูกต้อง เพราะสำนักงาน กศน.ทำเรื่องหารือกรมบัญชีกลางไปนานแล้ว กรณี สตง.เรียกเงินคืนค่าชุดลูกเสือพร้อมอุปกรณ์ แต่กรมบัญชีกลางยังไม่ตอบ

         4. คืนวันเสาร์ วันเด็กที่ 13 ม.ค.61 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  เด็กเทียบโอนแบบใหม่(ฉบับปรับปรุง2559) เด็กจบได้ภายใน1 ภาคเรียนได้ไหม

             ผมตอบว่า   นศ.จบได้ภายใน 1 ภาคเรียนมานานแล้ว ตั้งแต่หลักสูตร 2544  คือถ้าครบ 4 เงื่อนไขก็จบ เช่น กพช.ครบ 200 ชม. วิชาเลือกบังคับอย่างน้อย 2 วิชา  ( ถ้าเทียบโอนผลการเรียนได้มากจนเหลือวิชาเลือกที่ต้องเรียนเพิ่มไม่ถึง 4-6 นก. ก็ไม่ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ )

             ( การเทียบโอนรายวิชา ห้ามเทียบโอนเกิน 75 % ของจำนวนหน่วยกิตทั้งหมด ซึ่งถ้าเทียบโอนได้มากถึงหรือเกือบถึง 75 % ก็จะเหลือจำนวนหน่วยกิตที่สามารถลงทะเบียนเรียนได้หมดในภาคเรียนเดียว เช่น หน่วยกิตทั้งหมดของระดับประถมคือ 48 หน่วยกิต เทียบโอนได้ไม่เกิน 75 % ของ 48 คือเทียบโอนได้ไม่เกิน 36 หน่วยกิต ถ้าเทียบโอนได้ 31-36 หน่วยกิต ก็จะเหลือ 14-17 หน่วยกิต โดยระดับประถมให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 14 หน่วยกิต และถ้ามีการเทียบโอนผลการเรียนหรือเคยสอบไม่ผ่านได้เกรด 0 ภาคเรียนสุดท้ายก็ยังสามารถเรียนมากกว่าที่กำหนดได้อีก 3 หน่วยกิต รวมเป็น 17 หน่วยกิต ซึ่งระดับประถมถ้าเทียบโอนในภาคเรียนแรกแล้วเหลือไม่เกิน 17 หน่วยกิต ก็ถือว่าภาคเรียนแรกนั้นเป็นภาคเรียนสุดท้ายด้วย สามารถลงทะเบียนเรียนได้ถึง 17 หน่วยกิต )

             เพียงแต่ปัญหาคือ ใน 1 ภาคเรียน กพช.มักจะไม่ครบ 200 ชม. แต่ นศ.ก็สามารถเสนอขอทำ กพช.แบบทำคนเดียว ให้ครบ 200 ชม.ได้นะ
             ( ดูคำตอบเดิม ในข้อ 6 ที่ 
https://www.gotoknow.org/posts/488007 )

         5. เช้าวันอาทิตย์ที่ 14 ม.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  กิจกรรม กพร. กีฬาพื้นบ้าน เช่น ชักเย่อ วิ่งกระสอบ กินวิบาก ฯลฯ  นักกีฬาเบิกค่าอาหารในวันแข่งขันได้หรือเปล่า

             ผมตอบว่า   เบิกค่าอาหารนักกีฬาพื้นบ้านได้ตามข้อ 1.2 ในตารางที่  https://www.dropbox.com/s/24vx30wq37r7luz/Criteriamoney.pdf?dl=1
             ( ถ้าเป็นการละเล่นพื้นบ้าน เช่น งูกินหาง เป่ากบ จะไม่เข้าข่ายเป็น กีฬาพื้นบ้าน ๆ ต้องใช้กำลังพอสมควร การแข่งมีกติกาวางไว้แน่นอน และเป็นการกระทำที่สลับซับซ้อนมีกลวิธีการเล่น และผู้เล่นซึ่งเรียกว่านักกีฬาต้องได้รับการฝึกฝนมาก่อนพอสมควร ทั้งมีเทคนิคหรือกลวิธีการเล่นต่าง ๆ เพื่อให้ได้ชัยชนะ เช่น แย้ลงรู วิ่งสวมกระสอบ วิ่งเปี้ยว ชักคะเย่อ
             ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน กีฬา หมายถึง กิจกรรมหรือการเล่นเพื่อความสนุกเพลิดเพลินเพื่อความแข็งแรงของร่างกาย หรือเพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดทางจิต )

             ส่วน กรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ( ดูได้ที่  https://www.dropbox.com/s/f66w9e4c1niy9a0/fameqoalitystudent58.doc?dl=1 ) กำหนดไว้ในข้อ 2.8 กิจกรรมด้านกีฬา และส่งเสริมสุขภาพ ว่า เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้มีโอกาสออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพพลานามัยที่ดี สร้างนิสัยความมีน้ำใจเป็นนักกีฬาและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  เป็นการสร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะ ให้รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย และเป็นการสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างนักศึกษา กศน. ครู กศน. บุคลากรทางการศึกษา พนักงานราชการ ข้าราชการพลเรือน ครู และผู้บริหารหน่วยงาน/สถานศึกษา
             กีฬาพื้นบ้านที่มีลักษณะตามนี้ ก็ถือเป็นกีฬาที่เบิกได้

         6. เย็นวันที่ 15 ม.ค.61 สืบพงษ์ ทับทาบ หัวหน้า กศน.ตำบลทองหลาง อ.ห้วยคต อุทัยธานี ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  กศน.ตำบลที่ทำงานอยู่ ได้รับการสนับสนุนคอมพิวเตอร์จำนวน 2 เครื่อง ราคารวมประมาณ 12,000.- การบริจาคครั้งนี้มาจากบุคคลภายนอก เราสามารถออกใบอนุโมทนาบัตรให้เขาได้หรือไม่ และถ้าออกได้ พอมีรูปแบบไหม

             ผมตอบว่า   ออกประกาศเกียรติคุณบัตรได้ โดยถ้ามูลค่าไม่ถึง 5 ล้านบาท ให้ ผอ.สถานศึกษา ( ผอ.กศน.อำเภอ ) เป็นผู้ตอบขอบคุณหรืออนุโมทนาและออกประกาศเกียรติคุณบัตร และถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ของใหม่ไม่ใช่มือสอง ให้ระบุราคา ( ราคาตลาด ) ต่อท้ายรายการทรัพย์สินในประกาศเกียรติคุณบัตรด้วย ผู้บริจาคจะได้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

             แต่เมื่อออก หลักฐานการรับแบบนี้แล้ว กศน.อำเภอต้องลงทะเบียนพัสดุ และบันทึกลงระบบ GFMIS ด้วยนะ  ( ถ้ารับบริจาคเป็น เงิน กศน.อำเภอก็ต้องออกใบเสร็จรับเงิน และนำเงินเข้าระบบบัญชี เบิกจ่ายตามขั้นตอนระเบียบราชการ )
             ดูระเบียบต่าง ๆ พร้อมรูปแบบประกาศเกียรติคุณบัตร ได้ตามลิ้งค์ของคำตอบเดิมในข้อ
3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/11/bookoffice.html  

         7. ดึกวันที่ 17 ม.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  อยากขอทราบรายละเอียดการรับเด็กอายุไม่ 15 ปีเข้าเรียนกศน. แล้วห้ามเด็กจบก่อนวัยใช่หรือไม่ และะมีวี๊การอย่างไร

             ผมตอบว่า   ดูในคำตอบเดิม ๆ เช่นในข้อ 7 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/11/youtube.html
            
( วันที่ 18 ม.ค.61 อ.กิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. ก็ยังยืนยันเหมือนเดิม ว่า จะจบ ประถมต้องอายุ 12 ปี จะจบ ม.ต้นต้องอายุ 15 ปี )