วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

1.พิมพ์ชื่อ นศ.ผิด ใบ รบ.หลักสูตร 44 เคลือบพลาสติกแล้ว มาขอแก้ชื่อ ทำไง, 2.อนุมัติจบไม่พร้อมรุ่นหลังเปิดภาคเรียนได้ไหม – ใครบอกว่า กศน.เปิดภาคเรียน 1 พ.ค., 3.ไปประชุม เบิกเบี้ยเลี้ยงได้เต็มไหม, 4.การเผยแพร่เรื่องไม่ถูกต้องของหน่วยงาน, 5.จะสับสนกับชื่อวิชาและรหัสวิชาเลือกบังคับใหม่, 6.ผอ.บอกว่า วุฒิเดิมถ้าจบ ม.ต้น ในระบบ ต้องใช้คำว่า ม.3 เท่านั้น, 7.การโอนและการเทียบโอน กพช.


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 20 เมย.61 มี กศน.เขต โทร.ถามผมว่า  พิมพ์ชื่อ นศ.ผิด ออกใบ รบ.ไปนานแล้ว ( หลักสูตร 2544 ) นศ.นำใบ รบ.ไปเคลือบพลาสติกแล้ว เพิ่งนำกลับมาขอให้แก้ชื่อ จะต้องทำอย่างไร

             เรื่องนี้  ผมได้ปรึกษาหารือกับ คุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. แล้วตอบว่า   ในส่วนของการแก้ไขใบ รบ. ต้องทำเป็น 2 ขั้นตอน เพราะเคลือบพลาสติกไปแล้ว ดังนี้
             - ขั้นตอนที่ 1  แก้ไขในใบ รบ. กรณีที่เขียนผิดหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล โดยให้ขีดฆ่าข้อความที่เขียนผิดหรือต้องการเปลี่ยนแปลง แล้วเขียนข้อความที่ถูกต้องหรือต้องการ ไว้ข้างบน แล้วนายทะบียนลงนามกำกับไว้ โดยแก้ไขทั้ง 2 ฉบับ
                          แต่เนื่องจากคู่ฉบับที่ให้ นศ. เคลือบพลาสติกแล้วจึงไม่สามารถแก้ไขในใบ รบ.ได้ ถ้าแกะพลาสติกออกก็จะชำรุดฉีกขาด จึงต้องมีขั้นตอนที่ 2
             - ขั้นตอนที่ 2  ( ถือว่าแก้ไขขั้นตอนที่ 1 ทั้ง 2 ฉบับแล้ว แต่ฉบับของ นศ.ชำรุด ) นศ.มาขอใบ รบ.ใหม่ เพราะใบ รบ.ชำรุดสูญหาย ซึ่งหลักสูตร 2544 ยังไม่ยกเลิกใบ รบ. ( "เปลี่ยน" หลักสูตร กับการ "ยกเลิก" แบบพิมพ์ใบ รบ. เป็นคนละเรื่องกัน  ดูในข้อ 2 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2017/05/rdnfe-n-net-2-44-3-4-5-6-7.html ) 
                          กศน.ไม่มีระเบียบให้ใช้วิธีถ่ายเอกสาร ต้องออกให้ใหม่ด้วยแบบพิมพ์ที่ซื้อจากองค์การค้าของ สกสค. ( ฉบับสำเนาที่เว้นที่ว่างให้เติม ชุดที่ เลขที่ ตามต้นฉบับ )  แต่บางแห่งซื้อไม่ได้เพราะทั้งผู้ขายและผู้ซื้อต่างก็ไม่รู้จัก เรียกชื่อไม่ถูก บางสาขาไม่นำมาจำหน่าย อาจขอจากสถานศึกษา กศน.อื่นที่มีอยู่

         2. วันที่ 23 เม.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  นศ.ระดับม.ต้น จบตามโครงสร้างหลักสูตร แค่ไม่สามารถจบได้ เนื่องจาก อายุครบ15 ปีบริบูรณ์วันที่ 13 พ.ค นี้ แต่นศ.ต้องการวุฒิเพื่อไปศึกษาต่อที่อื่น ขอถามว่า เราสามารถออกอนุมัติจบไม่พร้อมรุ่น หลังจากวันที่ 13 พ.ค ได้มั้ย

             ผมตอบว่า ได้
             ผู้ถาม ถามต่ออีกว่า  การอนุมัติหลักสูตรไม่พร้อมรุ่นนี้ จะต้องอนุมัติก่อนเปิดภาคเรียนถัดไปหรือเปล่า เช่นของ กศน.ร.ร เปิด 1 พ.ค และร.ร ในระบบเปิด 16 พ ค แต่อนุมัติจบ 14 พ.ค จะได้มั้ย

             ผมตอบว่า  อนุมัติจบได้ทุกวัน ภาคเรียนหนึ่งอนุมัติจบกี่ครั้งก็ได้ บางครั้งมีผู้จบคนเดียวก็ได้
             ถ้าอนุมัติจบในช่วงปิดเทอม จะถือว่าจบในภาคเรียนที่ผ่านมา
             แต่ถ้าอนุมัติจบหลังวันเปิดภาคเรียนแล้ว จะถือว่าจบในภาคเรียนใหม่นั้น
             ( ทั้งผู้ที่จบในช่วงปิดภาคเรียน หลังรายงาน GPA ไปแล้ว คือจบในภาคเรียนก่อน และผู้ที่จบต้นภาคเรียนใหม่นี้ ให้นำไปรวมรายงาน GPA หลังปิดภาคเรียนใหม่นี้ )

             ลองดูคำตอบเดิมในข้อ 2 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/05/26.html
             ( ใครบอกคุณว่า กศน.เปิดภาคเรียน 1 พ.ค. ดูในคู่มือการดำเนินงานฉบับปรับปรุงปกสีเลือดหมู หน้า 63 นะ )

         3. คืนวันเดียวกัน ( 23 เม.ย.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  โครงการประชุมไทยนิยมฯ มีเลี้ยงอาหารกลางวัน..เรา (ครู กศน.ตำบลและผู้บริหาร) เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้เต็มจำนวน(240/วัน)..เพราะไม่ใช่โครงการอบรม..ถูกหรือเปล่า

             ผมตอบว่า   โครงการประชุมที่ส่วนกลางจัดนี้ เป็นการจัดประชุมตาม "ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ"  เมื่อโครงการจัดอาหารมื้อหลักเป็นอาหารกลางวันให้วันละมื้อ ผู้เข้าประชุมก็จะเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเต็มไม่ได้ จะเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้ 2 ใน 3 ( ผู้ที่ต่ำกว่าเชี่ยวชาญ เบิกได้วันละ 160 บาท )

         4. หลังจากผมเผยแพร่การตอบผู้ถาม เรื่องการไปประชุมไทยนิยมยั่งยืนที่ส่วนกลางจัด ว่าเบิกเบี้ยเลี้ยงได้เพียง 2 ใน 3 เพราะมีการเลี้ยงอาหารกลางวัน
             ปรากฏว่าคืนวันที่ 24 เ.ม.ย.61 ผู้ถาม แจ้งผมทางอินบ็อกซ์ ในลักษณะว่า การเผยแพร่ทำให้ โดนบ่นทั้งจังหวัด ว่าทำให้เบิกไม่ได้เต็ม ( ลักษณะถูกด่า ถูกรังเกียจ )

             ผมตอบว่า   การเผยแพร่เรื่องไม่ถูกต้องของหน่วยงาน ผมโดนหนักกว่าคุณหลายเท่า แต่ผมไม่สนใจ เพราะผมรู้เจตนาของตัวเองว่าทำเพื่อส่วนรวมไม่ใช่เพื่อส่วนตัว ( ค่านิยม ข้อ 12 คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม )  คำว่าส่วนรวมนี้ไม่ใช่ตนเองหรือแม้แต่กลุ่มพวกของตน แต่คือประเทศชาติบ้านเมือง
             ถ้าใครจะเน้นด่าคนเผยแพร่ มากกว่าเน้นการตระหนักในปัญหาและจริงใจในการแก้ปัญหา ผมก็แค่ไม่สบายใจกับประเทศชาติบ้านเมือง

         5. คืนวันที่ 25 เม.ย.61 ประไพพัฒน์ เผ่าเจริญ ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  "แสดงว่าคนที่ลงเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยเสรีไปแล้ว ต้องลงเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยเลือกบังคับ อีกใช่ม้ายค่ะ"

             ผมตอบว่า   ปัจจุบัน กศน.มีวิชาชื่อซ้ำกันว่า “วิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย” 2 วิชา รหัสต่างกัน วิชาหนึ่งเป็นวิชาเลือกเสรี อีกวิชาหนึ่งเป็นวิชาเลือกบังคับ เนื้อหาคล้ายกัน

             ซึ่งปัจจุบัน ( เม.ย.61 ) มีวิชาเลือกบังคับ 6 วิชา ( ไม่รวมวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เรียนในภาคเรียนที่ 2/60 )  ระดับประถม วิชาละ 2 หน่วยกิตทุกวิชา  ระดับ ม.ต้น-ปลาย วิชาละ 3 หน่วยกิตทุกวิชา 
             โดยวิชาเลือกบังคับใหม่ 2 วิชา มีชื่อและรหัสดังนี้
             1)  วิชา “ลูกเสือ กศน.” ( ไม่ใช่ชื่อวิชา ลูกเสือวิสามัญ นะ )
                  - ระดับประถม  สค12025
                  - ระดับ ม.ต้น  สค22021
                  - ระดับ ม.ปลาย  สค32035
             2)  วิชา “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” รหัสวิชาต่างจากวิชาที่เรียนภาคเรียนที่แล้ว โดยรหัสวิชาเลือกบังคับ คือ
                  - ระดับประถม  สค12024
                  - ระดับ ม.ต้น  สค22020
                  - ระดับ ม.ปลาย  สค32034

             นศ.ทั่วไปจะต้องเรียนอย่างน้อย 2 วิชา ใน 6 วิชาเลือกบังคับ จึงจะจบ
             จะเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย(ที่เป็นวิชาเลือกบังคับ) หรือวิชาอื่นก็ได้ ให้ครบ 2 วิชา

             นศ.ของคุณประไพพัฒน์ เรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยภาคเรียนที่แล้ว เพราะเข้าใจว่าเป็นวิชาเลือกบังคับหรือเปล่า
             เขาจะจบหรือยัง ถ้ายังไม่จบก็ให้เขาเรียนวิชาเลือกบังคับใดก็ได้ให้ครบ 2 วิชา จะเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยใหม่ก็ได้ ถ้าเป็นคนละรหัสก็ถือว่าเป็นคนละวิชา เรียนอีกได้ แม้เนื้อหาจะคล้ายกัน โดยวิชาที่เรียนในภาคเรียนที่แล้วก็เป็นวิชาเลือกเสรีไป
             หรือจะไม่เรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยใหม่ แต่เรียนวิชาเลือกบังคับอื่นให้ครบ 2 วิชาก็ได้

         6. วันเดียวกัน ( 25 เม.ย.) มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  เนื่องจากการลงประวัติผู้เรียนตามระเบียนแสดงผลการเรียนเด็กเป็นมัธยมศึกษาตอนต้น มันหาก็คือท่านผอ.ให้แก้รบ.เด็กเขาจบในระบบมาต้องเป็นม.3 ถ้าใช้ม.3ฉันต้องพิมพ์ระเบียนผลการเรียนใหม่ ตามวุฒิเดิมเขามัธยมศึกษาตอนต้นไม่ใข่ม.3ฉันเลยอยากหาเอกสารยื่นยันท่านผอ.

             ผมตอบว่า   ถาม ผอ. ว่า ผอ.เอาระเบียบหลักเกณฑ์ที่ว่าจบในระบบต้องเรียก ม.3 มาจากไหน ขอให้ ผอ.หาเอกสารมายืนยัน
             ไม่รู้ว่าคุณหรือใคร เคยบอกผมว่า ผอ.บอกว่า ถ้าจบในระบบให้ใช้ ม.3 เท่านั้น
             ผมหาเอกสารหลักฐานตามที่ ผอ.บอกนี้ ไม่พบ
             ที่จริงในระบบ ก็มีหลายหลักสูตร ทั้งหลักสูตรใหม่ หลักสูตรเก่า หลักสูตรเก่ามาก แต่ละหลักสูตรอาจเรียกต่างกัน
             ที่ถูกต้อง ต้องลงตามที่ใบระเบียนเขาระบุไว้
             ใบระเบียนเขาคือเอกสารยืนยัน
             แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่






         7. คืนวันเดียวกัน ( 25 เม.ย.) มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE เรื่องการโอน กพช.

             ผมตอบว่า   การโอนและการเทียบโอน กพช. มี 2 ประเภท คือ กพช.ที่ นศ.ทำเองนอกหลักสูตร กับ กพช.ที่ นศ.ทำระหว่างเรียน กศ.ขั้นพื้นฐานในหลักสูตรและ/หรือสถานศึกษาอื่น ดังนี้
             1)  กิจกรรมพัฒนาตนเองชุมชนสังคมและกิจกรรมจิตอาสา ที่ นศ.ทำเอง ก่อนขึ้นทะเบียนเป็น นศ. สามารถเทียบโอนเป็น กพช.ได้ไม่เกิน 150 ชม. โดยกิจกรรมใดใช้เทียบโอนในระดับใดแล้ว จะใช้เทียบโอนในระดับอื่นอีกไม่ได้ และถ้าใช้เทียบโอนเป็น กพช.แล้ว กิจกรรมนั้นจะใช้เทียบโอนเป็นรายวิชาอีกไม่ได้  ดูรายละเอียดในเอกสารที่
                  https://www.dropbox.com/s/076dsp7falp0tnn/TeabGPSh.pdf?dl=1
             2)  กิจกรรม กพช.ที่ นศ.ทำระหว่างเรียน กศ.ขั้นพื้นฐานใน หลักสูตร และ/หรือ สถานศึกษาอื่น จะมีทั้งกรณีที่เทียบโอนไม่ได้ และโอนได้ ดังนี้
                  - กรณี กพช.ที่ทำในระหว่างเรียน กศ.ขั้นพื้นฐานในหลักสูตรอื่น จะเทียบโอนไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรในระบบโรงเรียน หรือแม้แต่หลักสูตร กศน.2544 ก็เทียบโอน กพช.มาหลักสูตร กศน.2551 ไม่ได้
                  - กรณี กพช.ที่ทำในระหว่างเรียน กศ.ขั้นพื้นฐานในหลักสูตรเดียวกัน ในสถานศึกษาอื่น คือ หลักสูตร กศน.2551 ที่เรียนจาก กศน.แห่งอื่นแล้วย้ายโดยลาออกมาเรียนหลักสูตร กศน.2551 ต่อที่สถานศึกษา กศน.แห่งใหม่  สามารถ “โอน” กพช.ได้ทั้งหมด ( ไม่ใช่ไม่เกิน 150 ชม. )  กรณีหลักสูตรเดียวกันนี้ ถือเป็นการ “โอน” ไม่ใช่ “เทียบโอน” ซึ่งนายทะเบียนดำเนินการเองได้เลย ไม่ต้องทำในรูปคณะกรรมการเหมือนการเทียบโอน
                  แต่ การบันทึกในโปรแกรม ITw ยังไม่มีเมนูการโอน กพช.โดยตรง  ให้ใช้วิธีบันทึกในเมนู 1 - 4 - 1 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน - บันทึก กพช.และการประเมินคุณธรรม - บันทึกการทำกิจกรรม )  บันทึกในภาคเรียนที่มาสมัครเรียน โดยในช่อง "กิจกรรม" ให้ลงว่า "ทำ กพช.ที่สถานศึกษาเดิม หลักสูตรเดียวกัน"
                  แล้วถ่ายเอกสารใบ รบ. ที่ระบุจำนวนชั่วโมง กพช. เก็บไว้เป็นหลักฐาน แทนเอกสารหลักฐานการทำกิจกรรม กพช. ของนักศึกษาคนนั้น


วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2561

1.คน กศน.ควรอธิบายได้ ( ดร. วิจารณ์งาน กศน.), 2.ครู ศรช.ถามว่า ครูขายหวย มีโทษวินัยสถานใด, 3.โปรแกรม ITw เวอร์ชั่นใหม่ ทำไมไม่มีที่ออกรหัส นศ.ที่ไม่มีสัญชาติไทย, 4.เรื่องนักศึกษาผี ตอนที่ 1 : อัตราเงินอุดหนุนรายหัว กับปัญหาครูผู้สอนคนพิการ-ทางออก, 5.นศ.ผ่านทั้งสี่เงื่อนไขการจบหลักสูตรแล้วตายก่อนวันอนุมัติจบหลักสูตร ทำอย่างไร, 6.ตอนที่ 2 : วิธีคำนวณ % ผู้เข้าสอบ ที่อาจส่งเสริม นศ.ผี, 7.คงเป็นความขี้เกียจของคนรุ่นใหม่ ( โปรแกรม ITw รุ่นใหม่ )


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้


         1. วันที่ 10 เม.ย.61 มีการคุยวิจารณ์กันในกลุ่มไลน์ "กอปศ.-อาชีวศึกษา" เรื่อง "เรียนอัพวุฒิกับ กศน.แบบไต่ระดับ ไม่ต้องไปเรียน อ่านหนังสือเอง 6 เดือนจบ ได้วุฒิถูกกฏหมาย ใช้เรียนต่อได้ทั่วโลก" ท่านใดเห็นว่าอย่างไร การศึกษาไทย อยากได้วุฒิเร็วๆ ไม่ใช่อยากเรียนจบเร็ว

             แล้วก็มี ดร. เขียนว่า  "ที่นครสวรรค์รับเด็กจบ ม.3 ใหม่ๆมาดๆเข้าไปเรียน ม.6 ใช้เวลา 1.5 ปี เรียนเฉพาะเสาร์และอาทิตย์อีกต่างหาก แล้วจะได้อะไรไปสู้เค้าล่ะเนี่ย อ่านไทยก็ไม่คล่อง ภาษาอังกฤษไม่ต้องพูดถึงเลย"
             คนแรก เขียนต่อ ว่า  "เห็นแล้วน่าหดหู่กับวงการศึกษาไทยที่อช่กเพียงค่าเฉลี่ยของการศึกษาของคนในประเทศด้วยการออกโครงการต่างๆรวมถึงการนำเงินงบประมาณรายหัวกศน. ออกมาด้วย"

             ผมไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มไลน์นี้ แต่มีคน กศน.ที่เป็นสมาชิก นำข้อความเหล่านี้มาโพสต์ในกลุ่มไลน์ "ขับเคลื่อน พรบ.กศช." ซึ่งผมเป็นสมาชิก  ผู้นำมาโพสต์เขียนว่า "สาระสำคัญร่วมด้วยช่วยกันพิจารณาเพื่อการพัฒนา"

             ผมตอบว่า   คน กศน.ควรอธิบายให้ผูอื่นเข้าใจได้ เช่น
             - ที่ว่าเรียนอัพวุฒินั้น รูปแบบนี้ ไม่ใช่ "การเรียน" แต่เป็น "การเทียบระดับการศึกษา" คือ "การประเมินเพื่อการยอมรับความรู้ของผู้ที่มีความรู้อยู่แล้ว ว่ามีความรู้เทียบเท่าระดับนั้น ๆ หรือไม่"
                ผู้ที่จะเข้ารูปแบบนี้ ต้องมีความรู้อยู่ก่อนแล้ว อาจเกิดจากการศึกษาด้วยตนเอง ประสบการณ์ชีวิต โฮมสคูล ประสบการณ์การประกอบอาชีพเป็นเวลาตามที่กำหนด ไม่ใช่ผู้ที่เพิ่งจบ ม.ต้น ป.6 หรือยังไม่มีความรู้
             - ไม่ใช่เด็กทั่วไปจะเข้ารูปแบบนี้ได้ คุณสมบัติเท่าที่จำได้เช่น ต้องอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี ประกอบอาชีพมาแล้วจำนวนปีตามที่กำหนด และต้องประกอบอาชีพอยู่ในจังหวัดที่สมัครเข้าโครงการ เพื่อความสะดวกในการประเมินของคณะกรรมการ (คล้ายวุฒิกิตติมศักดิ์)
             บางคนเป็นเถ้าแก่เจ้าของกิจการ ทำประโยชน์ให้สังคม มีพนักงานจบ ป.ตรี ป.โท แต่ตนเองตอนเด็กไม่มีโอกาสได้เรียน มาเรียนรู้ประกอบอาชีพสร้างตนเองสร้างกิจการเองช่วยเศรษฐกิจชาติ ก็มีโอกาสเข้าโครงการนี้
             - การประเมินไม่ใช่ง่าย ๆ ใช้เวลาประเมินหลายเดือน แบ่งการประเมินเป็น 2 มิติ
                1)  มิติประสบการณ์ เช่น อาชีพ การพัฒนาชุมชน/สังคม โดยประเมินจากแฟ้มประมวลประสบการณ์+สัมภาษณ์+ดูของจริง
                2)  มิติความรู้ความคิด (สอบประมวลความรู้ในระดับนั้น ๆ ที่ประมวลออกมาเป็น 6 วิชา ด้วยแบบทดสอบของส่วนกลาง ใช้แบบทดสอบเดียวกันทั่วประเทศ )
             - รูปแบบนี้ ใหม่ ๆ มีคนสมัครเยอะ แต่พอประเมินแล้วไม่ผ่านกัน เพราะไม่มีความรู้จริงอยู่ก่อนกันเยอะ ระยะหลังจึงมีผู้สมัครน้อยลง บางอำเภอต้องเลิกไปเพราะไม่มีผู้สมัครแล้ว เช่น อ.ผักไห่ อยุธยา ก็ต้องเลิกรูบแบบนี้ไปแล้วเพราะไม่มีผู้สมัคร เป็นต้น

             - ที่ว่า เรียนต่อได้ทั่วโลก นั้น  ใบวุฒิเทียบระดับนี้ไม่มีเกรด จึงเรียนต่อได้เฉพาะสถานศึกษาที่ไม่ดูเกรด เช่น ปวช. ปวส. นายสิบตำรวจทหาร มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยเปิด ม.ราชภัฏเฉพาะสาขาการพัฒนาชุมชน

         2. เย็นวันที่ 10 เม.ย.61 มีครู ศรช. ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ครูหรือเจ้าหน้าที่ทางการศึกษา ขายหวย ขายเบอร์ทอง ถือว่าผิดวินัยมั้ย มีโทษสถาณได ( จริงๆก็พอจะทราบบ้าง แต่อยากให้อาจารย์ ลงให้ครูๆได้เห็นเพื่อเตือนสติ )

             ผมตอบว่า   เฉพาะในส่วนของ "วินัย" ( ที่ไม่เกี่ยวกับคดีของตำรวจ ) นั้น  ผู้ขายหวยใต้ดิน ( สลากกินรวบ ) ถือว่าเป็น ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันบัญชี ข. ( การพนันที่ไม่รุนแรงมาก ) จะมีความผิดที่ "ไม่รักษาชื่อเสียงของตนและรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย" ซึ่งจะผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป ถ้าร้ายแรงโทษก็เป็น ปลดออก ไล่ออก ถ้าไม่ร้ายแรงโทษก็เป็น ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน

             ปกติการพนันประเภทบัญชี ข จะไม่ร้ายแรง แต่ถ้าผู้เล่นเป็นข้าราชการที่มีหน้าที่ปราบปรามเรื่องการพนันโดยตรง หรือมีอาชีพเป็นครู หรือเป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการวัฒนธรรม หรือพนักงานอื่นใดที่มีข้อห้ามเรื่องการพนันเป็นพิเศษ ก็ควรลงโทษถึงปลดออก หรือไล่ออก

         3. วันที่ 11 เม.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  โปรแกรม itw51 เวอร์ชั่นวันที่ 9 เมษา 61 เวลาบันทึกประวัตินศ.รายคน กรณีที่คนที่ไม่มีสัญญาติ ไม่มีบัตรอะไรสักอย่าง เราต้องใช้เลข13หลักจากโปรแกรม it ออกให้ แต่เวอร์ชั้นใหม่ไม่มี (ตามภาพประกอบ) ไม่รู้จะเอาเลขที่หลักที่ไหน

             ผมตอบว่า   เวอร์ชั่นใหม่นี้ เขาแก้ไขตรงนี้แหละ เพราะเดี๋ยวนี้เขาไม่ให้เราออกรหัสเองด้วยโปรแกรมแบบนั้นแล้ว แต่ใหไปออกรหัสในเว็บไซต์ ตามที่ผมโพสต์ในข้อ 2 ที่  https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10208821824383315






         4. เรื่องนักศึกษาผี ตอนที่ 1 : อัตราเงินอุดหนุนรายหัว กับปัญหาครูผู้สอนคนพิการ-ทางออก

             อัตราเงินอุดหนุนรายหัว ไม่เพียงพอในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ แม้ สำนักงาน กศน.จะใช้เงินอื่นสมทบให้แล้ว จังหวัดก็ยังต้องรับผิดชอบเองโดยนำเงินค่าจัดการเรียนการสอนส่วนรวมมาสมทบด้วย
             จึงเป็นปัญหาให้อำเภอ/จังหวัดที่มีครูผู้สอนคนพิการมาก ขาดแคลนงบเงินอุดหนุน และเปลี่ยนการจ้างครูผู้สอนคนพิการให้เป็น ครู ศรช.  การเลิกจ้างเป็นครูผู้สอนคนพิการทำให้ครูต้องหา นศ.ปกติเพิ่มตามเกณฑ์ครู ศรช. ซึ่งอาจขัดกับนโยบายที่กำลังเน้นเรื่องสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา-ความเสมอภาคของกลุ่มด้อยโอกาส !!

             ข้อมูลปัญหา

             1)  สำนักงบประมาณ ( สงป.) จัดสรรเงินอุดหนุนให้ตามจำนวน นศ.อย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้พิจารณาข้อมูลอื่น ๆ เช่น จำนวนครู ฯลฯ เลย และจัดสรรให้อัตราเท่ากันหมดในแต่ละระดับ ไม่ว่าจะเป็น นศ.ปกติ หรือพิการ หรือเร่ร่อน
                  ในขณะที่การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการมีรายจ่ายมากกว่า
                  เช่น นศ.ปกติ 60 คน ได้เงินอุดหนุนรายหัวเท่ากับ นศ.พิการ 60 คน แต่ นศ.ปกติ 60 คน ใช้งินอุดหนุนจ่ายค่าจ้างครู 1 คน ปีละ 180,000 บาท ส่วนครูผู้สอนคนพิการรับผิดชอบ นศ.ได้น้อยคน ถ้า นศ.พิการ 60 คน อาจมีครูผู้สอนคนพิการ 4-5 คน ค่าจ้างครูเป็นปีละ 720,000- 900,000 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าพาหนะสำหรับครูผู้สอนคนพิการไปสอนถึงบ้านคนพิการแต่ละรายอีกเดือนละ 1,000 บาท/ครู 1 คน และค่าวัสดุภาคเรียนละ 1,500 บาท/ครู 1 คน
                  ยิ่งครูมี นศ.น้อย เงินอุดหนุนจะไม่พอ
             2)  อัตราเงินอุดหนุนรายหัว กศ.ขั้นพื้นฐาน กศน. ตามตารางในภาพประกอบโพสต์นี้ เป็นอัตราต่อปี คืออัตรารวม 2 ภาคเรียน หรือ 12 เดือน แต่ สำนักงาน กศน.จะแบ่งโอนเงินให้จังหวัด/สถานศึกษาขึ้นตรง ปีละ 2 งวด ๆ ละ 1 เทอม ( 6 เดือน )
                  และ ในแต่ละเทอมยังแบ่งโอนเป็น 2 ครั้ง โดยครั้งแรกโอนทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้จำนวน นศ.ในเทอมนั้น แต่ต้องรีบโอนเพราะอัตราเงินอุดหนุนนี้เป็นค่าจ้างหรือเงินเดือนครู ศรช.รวมอยู่ด้วย ถ้าโอนช้าครู ศรช.จะไม่ได้รับเงินเดือนในเดือน ต.ค. พ.ย. เม.ย.
             การโอนครั้งแรกในแต่ละเทอม จะคำนวณเงินด้วยจำนวน นศ.ของเทอมที่ผ่านมา
             เมื่อสิ้นสุดการรับสมัคร นศ.ในเทอมปัจจุบัน และตรวจสอบ นศ.ซ้ำซ้อน รู้จำนวน นศ.ที่ถูกต้องของเทอมปัจจุบันเรียบร้อยแล้ว ถ้ามี นศ.มากกว่าเทอมที่ผ่านมา ก็จะโอนเป็นครั้งที่ 2 เพิ่มเติมส่วนที่ขาด จึงกลายเป็นโอนเงินไปจังหวัดปีละ 4 ครั้ง
             3)  เงินอุดหนุนรายหัวนี้ จัดสรรให้ตามจำนวน นศ.กศ.ขั้นพื้นฐานเท่านั้น ฉะนั้นถ้าคนพิการคนใด ไม่ได้เป็น นศ.ขั้นพื้นฐาน เรียนแต่ กศ.ต่อเนื่อง/อัธยาศัย ก็จะไม่ได้เงินนี้
                  การนับ นศ.ของครูผู้สอนคนพิการ จึงนับเฉพาะผู้ที่เป็น นศ.กศ.ขั้นพื้นฐานเท่านั้น ถ้าครูผู้สอนคนพิการคนใดมีแต่คนพิการที่เรียนเฉพาะ กศ.ต่อเนื่อง ก็จะไม่ได้เงินเดือนค่าจ้างใด ๆ แต่ถ้าครูเป็นวิทยากรสอน กศ.ต่อเนื่องด้วยตนเอง ก็จะได้รับค่าตอบแทนวิทยากร กศ.ต่อเนื่อง รายชั่วโมง จากงบ กศ.ต่อเนื่อง ตามระเบียบหลักเกณฑ์การเปิดหลักสูตร กศ.ต่อเนื่อง
             4)  “ค่าจัดการเรียนการสอน” ( ในตาราง ) ให้เบิกจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้
                  - ค่าตอบแทน ( เงินเดือน/ค่าจ้าง ) ครู กศน.จ้างเหมาบริการ ( ครู ศรช., ครู ปวช. ครูผู้สอนคนพิการ, ครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน, ... )
                  - ค่าวัสดุการศึกษา, ค่าวัดและประเมินผลการศึกษารวมค่าต่าง ๆ ในการจัดสอบปลายภาค, ค่าใช้สถานที่, ค่านิเทศ, ค่าตอบแทนบุคลากรดำเนินงาน และค่าสอนเสริม
                  - ค่าพาหนะ ( ได้เฉพาะครูผู้สอนคนพิการ คนละ 1,000 บาท/เดือน )
             - ค่าแบบทดสอบปลายภาค ( จัดสรรให้กลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ ไม่ได้ให้จังหวัด/สถานศึกษา ) หัวละ 30 บาท/เทอม
             5)  ค่าหนังสือเรียนจัดสรรเพียง 40 % ของจำนวน นศ. เช่น ระดับประถม ถ้ามีนักศึกษา 100 คน จัดสรรให้ ปีละ 40 คน X 580 บาท = 23,200 บาท ( เทอมละ 290 บาท/คน )
             6)  ค่าจัดการเรียนการสอน นศ.พิการ  สำนักงาน กศน.จัดสรรเงินให้จังหวัดมากกว่าที่ได้รับจาก สงป. เพราะ สำนักงาน กศน.ใช้เงินอื่นสมทบให้อีก 5 เท่า รวมเป็น 6 เท่า
             แต่เมื่อจัดสรรเงินอุดหนุนทั้งหมดไปถึงจังหวัด จังหวัดจะหักเงินที่จังหวัดเป็นผู้เบิกจ่ายไว้ก่อนจัดสรรต่อให้อำเภอ เช่น หักไว้เป็นเงินเดือนค่าจ้างค่าตอบแทนครูต่าง ๆ ค่าอบรพัฒนาครูที่จังหวัดเป็นผู้จัด

             ถึงแม้ว่า สำนักงาน กศน.จะใช้เงินอื่นสมทบให้ค่าจัดการเรียนการสอน นศ.พิการ อีก 5 เท่า รวมเป็น 6 เท่า แต่ก็ยังไม่พอ
             ( แม้จะแยกแจ้งจัดสรรค่าตอบแทนครูผู้สอนคนพิการต่างหาก แต่ก็ไม่ได้โอนเงินให้เต็มตามเกณฑ์ค่าตอบแทน-ค่าพาหนะ-ค่าวัสดุ เพียงแค่จัดสรรรวมอยู่ในค่าจัดการเรียนการสอน 6 เท่า นั้น ถ้ายังไม่พอ จังหวัดต้องรับผิดชอบเอง )

             ตัวอย่างเช่น
             จังหวัดหนึ่ง สมมุติตัวเลขง่าย ๆ ว่าจังหวัดนี้มีเพียง 2 อำเภอ คืออำเภอ ก.ไก่ กับ อำเภอ ข.ไข่ และทั้งสองอำเภอนี้มีแต่ นศ.ม.ต้น จำนวน 230 คน เท่ากัน ดังนี้
             - อำเภอ ก.ไก่ มี นศ.ปกติ 230 คน มีครู กศน.ตำบลรับผิดชอบ นศ.100 คน และจ้างครู ศรช. 2 คน มารับผิดชอบ นศ.ที่เหลืออีก 130 คน
                ส่วนของอำเภอ ก.ไก่ นี้ จะได้รับการจัดสรรเงินจากสำนักงาน กศน. ( สำนักงาน กศน.จัดสรรโดยไม่ได้ระบุแยกรายอำเภอ ) ปีละ = 230 X 2,240 = 515,200 บาท
                จ่ายเป็นค่าจ้างครู ศรช.รวม 2 คน ปีละ = 2 คน X 15,000 บาท X 12 เดือน = 360,000 บาท เหลือเป็นค่าจัดการเรียนการสอนอื่น ๆ = 515,200 – 360,000 = 155,200 บาท

             - อำเภอ ข.ไข่ มี นศ. 230 คน และมีครู กศน.ตำบลรับผิดชอบ นศ.ปกติ 100 คนเช่นกัน แต่ นศ.ที่เหลือ 130 คน เป็น นศ.ปกติ 65 คน นศ.เร่ร่อน 32 คน นศ.พิการ 33 คน จึงจ้างครู 5 คน เป็นครู ศรช. 1 คน ครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน 1 คน ครูผู้สอนคนพิการ 3 คน
                อำเภอ ข.ไข่ จะได้รับการจัดสรรเงินจากสำนักงาน กศน. เป็น 2 ส่วน คือ
                ส่วนของ นศ.เร่ร่อน + ปกติ = 100+32+65 = 197 คน X 2,240 = 441,280 บาท
                ส่วนของ นศ.พิการ 33 คน X 13,440 ( สำนักงาน กศน.ใช้เงินอื่นสมทบเป็น 6 เท่าของ นศ.ปกติ ) = 443,520 บาท
                รวม 2 ส่วน 441,280 + 443,520 = 884,800 บาท
               จ่ายเป็นค่าจ้างครู ศรช.+ครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน รวม 2 คน X 15,000 บาท X 12 เดือน = 360,000 บาท
               จ่ายเป็นค่าจ้างครูผู้สอนคนพิการ 3 คน X 15,000 บาท X 12 เดือน = 540,000 บาท
               จะเห็นว่า แม้สำนักงาน กศน.จะใช้เงินอื่นสมทบให้เป็นค่าจัดการเรียนการสอนสำหรับคนพิการถึง 6 เท่าแล้ว ก็ยังไม่พอจ่ายค่าจ้างครูผู้สอนคนพิการ ( รับ 443,520 บาท แต่จ่ายครู 540,000 บาท ) นอกจากไม่เหลือเป็นค่าจัดการเรียนการสอนอื่นแล้ว ยังไม่พอจ่ายครูอีก = 96,480 บาท ( ยังไม่รวมค่าพาหนะ ค่าวัสดุ ) ขาดมากกว่าส่วนที่เหลือจาก นศ.ปกติด้วย ( ส่วนของ นศ.ปกติ ได้รับ 441,280 จ่ายครู 360,000 เหลือเป็นค่าจัดการเรียนการสอนเพียง 81,280 บาท )
               กรณีจังหวัดนี้ จังหวัดต้องไปดึงจากอำเภออื่น ๆ ที่ไม่มี นศ.พิการ มาถัวให้อำเภอ ข.ไข่ จึงจะพอจ่ายครู

             เป็นปัญหาให้บางจังหวัดจะลดการจ้างเป็นครูผู้สอนคนพิการ แต่ก็ขัดนโยบาย

             ทางออกที่ถูกต้องเหมาะสม คือ ...
             การตรวจสอบความมีตัวตนและความพิการของ นศ.พิการ
             ถ้ามีตัวตน นศ.พิการ ครบทุกคน และพิการจริง ทุกฝ่ายต้องยอมแบ่งงบมาจ้างครูผู้สอนคนพิการต่อไป รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้คนพิการมาเรียนเพิ่มอีกต่างหาก สนองนโยบายเพื่อผู้ด้อยโอกาส
             แต่ถ้าตรวจสอบ นศ.พิการแต่ละรายแล้วพบว่า บางรายเป็น นศ.ผี ( ไม่พิการ หรือครูลงทะเบียนเรียนให้โดย นศ.ไม่รู้ตัวหรือไม่ต้องการเรียน ) ก็ต้องจำหน่ายออก เมื่อจำหน่ายออกแล้วเหลือ นศ.ไม่ครบตามเกณฑ์ ก็ต้องลดการจ้างครูผู้สอนคนพิการ
             การปล่อยปละละเลยให้มี นศ.ผี เป็นการทุจริต คอรัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง







         5. วันที่ 17 เม.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  กรณีนักศึกษาระดับ ม.ปลาย เสียชีวิตก่อนการอนุมัติจบหลักสูตร ต้องทำดำเนินการอย่างไรบ้าง  ประกาศผลสอบ 10 เม.ย. 61 นักศึกษาเสียชีวิตวันที่ 15 เม.ย. 61 สถานศึกษาจะอนุมัติจบหลักสูตรวันที่ 20 เม.ย.

             เรื่องนี้  วันที่ 18 เม.ย.61 ผมปรึกษาหารือกับคุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน.อยู่นาน สรุปได้ดังนี้
             1)  กรณีถึงแก่กรรมหลังจากผ่านครบ 4 เงื่อนไขของการจบหลักสูตรแล้ว ก็ให้อนุมัติให้จบหลักสูตรแม้ว่าจะถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ไม่ต้องออกใบ รบ. เพราะปกติใบ รบ.ออกให้กับนักศึกษา
             2)  กรณีถึงแก่กรรมก่อนที่จะผ่านครบ 4 เงื่อนไขของการจบหลักสูตร ควรให้ญาตินำใบมรณบัตรมายื่นพร้อมบันทึกข้อความแจ้งว่า นศ.ถึงแก่กรรม
                  จากนั้นนายทะเบียนบันทึกต่อท้ายข้อความ เสนอ ผอ.กศน.อำเภอ เพื่อทราบและขอจำหน่ายออกจากทะเบียน
                  บันทึกในทะเบียน โดยในโปรแกรมฯเข้าที่เมนู 1-1-6 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน-บันทึกประวัตินักศึกษา-แก้ไขข้อมูลการจบออก )
                  ในช่องสาเหตุที่ออก ให้เลือก 8 อื่น ๆ โดยระบุว่า ถึงแก่กรรม
                  ระบุ "วันทีออก" เป็นวันที่ได้รับแจ้ง
                  ไม่ต้องออกระเบียนใด ๆ

         6. ตอนที่ 2 : วิธีคำนวณ % ผู้เข้าสอบ ที่อาจส่งเสริม นศ.ผี

             กลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ กศน. คำนวณร้อยละของผู้เข้าสอบปลายภาคเรียน กศ.ขั้นพื้นฐาน โดยคำนวณร้อยละจากการเปรียบเทียบจำนวนผู้เข้าสอบ กับจำนวนผู้มีสิทธิสอบ ( ใช้จำนวนผู้มีสิทธิสอบเป็นจำนวนเต็ม 100 )  ไม่ได้ใช้จำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนเป็นจำนวนเต็ม ทั้ง ๆ ที่ จำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนทุกคน ใช้รับเงินอุดหนุนรายหัวไปแล้ว

             ตัวอย่างเช่น กศน.อำเภอ ฉกก. ( ฉลาดแกมโกง ) มีผู้ลงทะเบียนเรียน ม.ต้น ทั้งสิ้น 500 คน
             ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาผี 100 คน ( ครูลงชื่อในใบลงทะเบียนแทนให้นักศึกษา โดยนักศึกษามีตัวตนแต่ไม่สนใจต้องการเรียนต่อแล้ว บางคนไม่รู้ตัวว่าลงทะเบียนเรียน บางคนจบ ม.ปลายแล้ว กำลังเรียนหรือจบระดับปริญญาแล้วแต่เต็มใจให้ครูใช้ชื่อ-หลักฐานมาลงทะเบียนเรียนต่อ ฯลฯ )
             จะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวในภาคเรียนนี้ = 500 คน X 1,150 บาท = 575,000 บาท 
             ( คิดเป็นเงินอุดหนุนรายหัวในส่วนของ นศ.ผี = 100 คน X 1,150 บาท = 115,000 บาท )
             หลังจากนั้นก็บันทึกในทะเบียนว่า 100 คนนั้น ไม่มีสิทธิสอบปลายภาค เพราะมีเวลามาพบกลุ่มไม่ถึง 50 % เหลือผู้มีสิทธิสอบจำนวน 400 คน
             และในวันสอบปลายภาคมีผู้ติดธุระจำเป็น-เจ็บป่วย-อุบัติเหตุ-ฯลฯ จำนวน 28 คน มาสอบ 372 คน
             เมื่อคำนวณร้อยละของผู้เข้าสอบปลายภาค 372 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิสอบ 400 คน จะได้ 93 % ปรากฏว่าสูงที่สุดในจังหวัด.. กศน.อ.ฉกก.ได้รางวัลที่ 1 พร้อมเกียรติบัตร
             บางอำเภอทำอย่างนี้มานานแล้ว ผมไม่เขียนถึงเพราะเกรงจะเป็นการเผยแพร่วิธีการที่ไม่ดี เป็นการชี้โพรงให้กระรอก แต่ตอนนี้เขียนถึงได้แล้วเนื่องจากกระรอกรู้และเจาะโพรงกันทั่วไปแล้ว

             ขอเสนอให้ การคำนวณร้อยละของผู้เข้าสอบ คำนวณทั้ง 2 แบบ คือแบบที่ใช้จำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนเป็นจำนวนเต็ม กับแบบที่ใช้จำนวนผู้มีสิทธิสอบเป็นจำนวนเต็ม

         7. วันที่ 19 เม.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  “ Backup ข้อมูล GPA จากโปรแกรม ITW รุ่น 9 เม.ย.61 ของเครื่องคอมฯอำเภอ ไปลงเครื่องจังหวัดโปรแกรมรุ่น 8 มี.ค.61 แล้วมันลงไม่ได้
             โปรแกรม itw51 รุ่นวันที่ 9 เมษายน 61 ใช้ได้เลยหรือว่าต้องรอหนังสือจากกรมก่อน
             เจ้าหน้าที่จังหวัดบอกต้องรอหนังสือจากกรมก่อนถึงจะเปลี่ยนโปรแกรมเป็นวันที่9เมษาให้
             ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้เลย แก้ไขได้ไหม

             เรื่องนี้  การ Backup จากโปรแกรมรุ่นใหม่ ไปลงโปรแกรมรุ่นเก่า จะลงไม่ได้ มีวิธีแก้ 3 วิธี คือ
             1)  จังหวัดแตกไฟล์ Backup ลง Folder ของโปรแกรม ITw รุ่นเก่าของจังหวัด ( บางคนทำไม่เป็น )
             2)  อำเภอนำโปรแกรมรุ่นเก่ากลับมาลงเครื่องอำเภอ แต่ไม่ต้อง Restore ข้อมูลกลับเข้าไป เพราะจะขึ้น Error เหมือนจังหวัด  ตอนถอนโปรแกรมรุ่นใหม่ออก ข้อมูลจะยังอยู่ใน Folder เดิม และเมื่อลงโปรแกรมรุ่นเก่าที่ Folder เดิมแล้วก็เข้าเมนู 4 บำรุงรักษาระบบ โอนย้ายข้อมูลโครงสร้างเก่า ข้อมูลเดิมก็จะกลับมาเอง
             3)  วิธีที่ดีที่สุด คือ จังหวัดลงโปรแกรมรุ่นใหม่ ( โปรแกรมรุ่นใหม่จะรับข้อมูล Backup ได้ทั้งของโปรแกรมรุ่นใหม่และรุ่นเก่า ) ซึ่งจังหวัดลงโปรแกรมรุ่นใหม่ได้แล้ว เพราะ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มแผนงาน กศน. แจ้งโปรแกรมรุ่นใหม่นี้ถึงทุกจังหวัดทางอีเมล์แล้ว เมื่อวันที่ 10 เม.ย.61 ( ลองให้ จนท.ของจังหวัด เปิดดูอีเมล์วันที่ 10 เม.ย.)
                  เพียงแต่การแจ้งนี้ ไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือราชการ
                  ซึ่งยุคนี้ เวลาส่วนกลางแจ้งจังหวัด หรือจังหวัดแจ้งอำเภอ มีบ่อยที่ไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือราชการ เช่น จังหวัดแจ้งอำเภอด้วยการส่งภาพหนังสือส่วนกลางไปให้อำเภอเลย โดยไม่ทำหนังสือราชการนำส่ง บ้างก็บอกว่า “มันด่วน” บ้างก็บอกว่า “สมัยนี้การทำหนังสือราชการแจ้ง มันล้าสมัยแล้ว”
                  ที่จริงผมคิดว่า คงเป็นความ ขี้เกียจ ของคนรุ่นใหม่มากกว่า
             ถ้าจังหวัดจะรอให้ส่วนกลางแจ้งเรื่องโปรแกรมรุ่นใหม่นี้เป็นหนังสือราชการ ผมก็ไม่รู้ว่าจะต้องคอยไปอีกถึงเมื่อไร