วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

1.สรุป ให้ออกรหัส นศ.ที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรฯ ขึ้นต้นด้วย G ไม่ใช่เลข 0, 2.ผู้รับจ้างเหมาบริการ มีสิทธิ์ลาได้ไหม, 3.การออกหนังสือรับรองแทนใบ รบ.หลักสูตร 30, 4.คนตรวจเอกสารบอกว่า ใบรับรองแพทย์แบบนี้ใช้ไม่ได้, 5.จังหวัดให้แก้รหัสประจำตัว นศ.ต่างด้าว, 6.สงสัย ครู กศน. ต้องมี ชม. สอน กี่ ชม. ต่อสัปดาห์, 7.วิชาทยอยหมดอายุ ถ้าลาออก สมัครใหม่ที่เดิม โอนวิชาที่ยังไม่หมดอายุเพื่อเรียนต่อ ได้ไหม


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเรื่องการรับนักเรียนนักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ลงวันที่ 19 ม.ค.61
             ต่อมา กอง/กลุ่มงาน ส่วนกลาง กศน. 3 กอง คือ กป. กผ. และ ศกพ. ต่างก็ส่งเรื่องนี้มาให้จังหวัด แต่บางฉบับมีแนวปฏิบัติที่ไม่ค่อยเหมือนกัน ดังนี้

             - ฉบับแรก ออกโดย กป. ( หนังสือสำนักงาน กศน.ที่ ศธ 0210.04/ว710 ) ลงวันที่ 7 ก.พ.61  ฉบับนี้แค่ส่งประกาศ ศธ.นี้ มาให้ถือปฏิบัติ
             - ฉบับต่อมา ออกโดย กผ. ( หนังสือสำนักงาน กศน.ที่ ศธ 0210.04/ว1183 ) ลงวันที่ 28 ก.พ.61  แจ้งการรับเด็กเข้าเรียนให้เป็นไปตามประกาศ ศธ.นี้ โดยให้สถานศึกษากำหนดรหัสประจำตัว นศ.ที่ไม่หลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ทางเว็บไซต์ระบบกลางกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียน ( รหัสขึ้นต้นด้วย G )
             - ฉบับที่สาม ออกโดย ศกพ. ( หนังสือสำนักงาน กศน. ด่วนมาก ที่ ศธ 0210.121/2350 ) ลงวันที่ 30 เม.ย.61  ส่งประกาศ ศธ.นี้ มาให้ถือปฏิบัติ แต่ระบุว่าการกำหนดรหัสประจำตัว สำนักงาน กศน.กำหนดเป็นเลข 0

             ( กผ.ให้กำหนดรหัสทางเว็บไซต์ ซึ่งขึ้นต้นด้วย G แต่ ศกพ.ให้กำหนดรหัสเป็นเลข 0 ตามโปรแกรมสำนักงาน กศน. )

             ปกติสถานศึกษาต้องปฏิบัติตามหนังสือแจ้งฉบับล่าสุด คือฉบับของ ศกพ. แต่ผมสงสัยว่า ประกาศ ศธ.ฉบับเดียวกัน ทำไมแนวปฏิบัติไม่เหมือนกัน จึงถามเรื่องนี้กับ ศกพ. ( อ.ฐิตาพร ) เมื่อวันที่ 15 พ.ค.
             อ.ฐิตาพร ได้ไปคุยกับ กผ. และบอกผมในวันที่ 16 พ.ค. โดยสรุปว่า ให้ดำเนินการกำหนดรหัสประจำตัวของ นศ.ที่ไม่มีหลักฐานทางทะบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ( ที่ยังไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก เพราะยังไม่ไปขึ้นทะเบียนและจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวกับหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย ) ทางเว็บไซต์ระบบกลางกำหนดรหัส ขึ้นต้นด้วย G ไม่ใช่เลข 0

             ดูหนังสือแจ้งฉบับของ กผ. ได้ที่  https://www.dropbox.com/s/2mp4qr6r8f7lepv/NoThaiStudent.pdf?dl=
             ซึ่งหนังสือฉบับนี้ ส่งคู่มือการใช้งานระบบกำหนดรหัสมาด้วย ( แต่ตอนนี้ เว็บไซต์ระบบกำหนดรหัส นศ. เปลี่ยนเป็น  http://www.gcode.moe.go.th  แล้วนะ ขอให้แก้ในคู่มือด้วย )






         2. เช้าวันที่ 17 พ.ค.61 มี ผอ.กศน.อำเภอ ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ลูกจ้างเหมา ด้วยวิธีพัสดุ มีสิทธิ์ลาได้ไหม เช่น ครู ศรช ปวช ครูผู้สอนคนพิการ

             ผมตอบว่า   คำถามนี้มีผู้ถามซ้ำให้ผมตอบเป็นระยะ ๆ
             “ผู้รับจ้าง”เหมาบริการตามระเบียบพัสดุ ถือเป็นบุคคลภายนอกหรือเอกชน ไม่ใช่ลูกจ้าง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่ลูกจ้างชั่วคราว จึงไม่มีระเบียบให้ลา  ( ผู้บริหารบางท่านยังบอกว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราว ถ้าเป็นลูกจ้างชั่วคราวก็จะมีระเบียบการลาของลูกจ้างชั่วคราว แต่ผู้รับจ้างเหมาบริการไม่ใช่ลูกจ้างชั่วคราว  ที่ถูกต้องในใบสั่งจ้าง/สัญญาจ้างต้องใช้คำว่า ผู้จ้าง/ผู้รับจ้าง ไม่ใช่ นายจ้าง/ลูกจ้าง )
             เมื่อไม่มีระเบียบให้ลาโดยได้รับค่าตอบแทน ก็ต้องให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา
             เรื่องนี้ สำนักฯ กศน. เคยซ้อมความเข้าใจแล้ว ตามหนังสือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0210.117/1150 ลงวันที่ 24 ก.พ.2548 เรื่องซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการเบิกค่าใช้จ่ายในการจ้างเอกชนดำเนินงานของส่วนราชการ
             ในหนังสือนี้ ระบุในข้อ 3. ว่า "กรณีไม่มาทำงานอาจหาผู้อื่นมาทำงานแทนหรือบอกกล่าวล่วงหน้าหากเกิดความเสียหายแก่ทางราชการเนื่องจากการไม่มาทำงานนั้นอาจกำหนดค่าปรับสำหรับความเสียหายดังกล่าวได้ รายละเอียดปรากฏตามหนังสือกรมบัญชีกลางที่จัดส่งมาพร้อมหนังสือฉบับนี้"
             เมื่อเปิดไปอ่านหนังสือกรมบัญชีกลางที่แนบมา ระบุในข้อ 3. ว่า
             "เนื่องจากการจ้างเอกชนดำเนินงานของส่วนราชการมุ่งผลสำเร็จของงานที่ว่าจ้าง ...ผู้ว่าจ้างมีเพียงอำนาจในการตรวจตรางานและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขเมื่องานผิดพลาดบกพร่อง ... ผู้รับจ้างไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับอื่น ๆ เช่นการลาหยุด ... การลงลายมือชื่อในบัญชีลงเวลาปฏิบัติราชการ ... การปฏิบัติงานอาจใช้วิธีบันทึกเวลาการมาทำงานว่ามาทำงานตามที่ตกลงไว้ก็ได้ กรณีไม่มาทำงานอาจหาผู้อื่นมาทำงานแทนหรือบอกกล่าวล่วงหน้า หากเกิดความเสียหายแก่ทางราชการเนื่องจากการไม่มาทำงานนั้นอาจกำหนดค่าปรับสำหรับความเสียหายดังกล่าวได้ ..."
             ( ดูหนังสือนี้ ได้ในข้อ 3 ที่  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/478002
               แต่ ในหนังสือ “สาระน่ารู้...คู่งานคลัง ปี 2551” ของกลุ่มงานคลัง กศน. บอกว่า กระทรวงการคลังได้นำข้อกำหนดในหนังสือนี้ ไปรวมไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ พ.ศ.2549 ข้อ 11 แล้ว )

             สรุป คือ ให้เป็นไปตามที่ตกลง โดยสามารถกำหนดไว้ในข้อตกลงหรือสัญญาจ้างหรือเอกสารแนบท้ายสัญญา เช่นกำหนดว่าให้มาทำงานสัปดาห์ละกี่วัน
             ซึ่ง ตามแบบฟอร์มสัญญาจ้างของเรา กำหนดไว้ในผนวก 3 เรื่องการปรับ ( หักค่าจ้างเหมาจ่ายรายวัน ) กรณีไม่มาทำงาน  ดูแบบฟอร์มสัญญจ้างนี้ได้ที่  https://www.dropbox.com/s/0yevos15vb5ixx6/teacherJang.pdf?dl=1

             ในทางปฏิบัติ เรามักจะเห็นใจ คือถ้าหยุดเพียงไม่กี่วันโดยบอกกล่าวล่วงหน้า ผู้จ้างและคณะกรรมการตรวจรับการจ้างเห็นว่าเดือนนั้นมีผลงานตามปกติ ไม่มีอะไรผิดพลาดบกพร่องเสียหาย ก็อาจเซ็นตรวจรับการจ้างให้เบิกค่าตอบแทนเต็มโดยไม่ต้องมีคนทำงานแทนก็ได้ ถ้าหยุดหลายวันจึงให้หาผู้อื่นมาทำงานแทน
             กรณีหยุดตลอดทั้งเดือน เช่นคลอดบุตร ปกติต้องงดเบิกค่าจ้าง  ผู้บริหารบางท่านอาจให้เขาหาคนมาทำงานแทน โดยอนุโลมเป็นการภายใน ถ้าไม่มีคนร้องก็คงไม่เป็นไร
             ซึ่งการอนุโลมให้หยุดทั้งเดือนโดยได้รับค่าตอบแทน เป็นการภายในนี้ จริง ๆ แล้วไม่ถูกระเบียบ อาจมีปัญหาตามในข้อ 6 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/04/altc.html

         3. วันที่ 21 พ.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  นศ. มาขอคัดสำเนารบ. หลักสูตร 30 จบปี 39 เพื่อศึกษาต่อ งานทะเบียนตรวจค้นมีรายชืี่อจบจริง ไม่พบต้นฉบับ มีแต่ขั้วเลขที่รบ. ได้ออกหนังสือรับรองการจบแล้วแต่ทางวิทยาลัยไม่ยอม ทางกศน. ต้องทำอย่างไรคะ ขอคำแนะนำหน่อยคะ

             ผมถามว่า  ออกหนังสือรับรองการจบแบบไหนให้เขา
             ผู้ถามบอกว่า  ใช้แบบหนังสือรับรองทั่วไปตามโปรแกรม it คะ

             ผมตอบว่า  ดูในคำตอบเก่า ๆ นะ ให้ออกหนังสือรับรองตามแบบฟอร์มที่เคยตอบ  ( เคยลงไว้ทั้งแบบฟอร์มหนังสือรับรอง และหนังสือแจ้งเรื่องนี้ )  ควรสำเนาหนังสือแจ้งเรื่องนี้แนบหนังสือรับรองให้เขาไปด้วย ถ้าทางวิทยาลัยไม่ยอมอีกเราก็ทำอะไรอีกไม่ได้ นศ.เราก็คงศึกษาต่อวิทยาลัยนี้ไม่ได้
             ดูคำตอบเก่า ๆ เช่นใน
             - https://www.gotoknow.org/posts/442192
             - ข้อ 2 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/535023
             - ข้อ 4 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/472755

         4. ถาม : ได้ใบรับรองแพทย์แบบนี้มาค่ะ ( ตามภาพประกอบ ) แต่ คนตรวจเอกสารบอกว่าไม่ใช่ รพ ออก

            ตอบ
            1)  คำว่าสถานพยาบาลของรัฐ ไม่ได้แปลว่าโรงพยาบาลของรัฐอย่างเดียว แต่หมายความรวมถึง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ( รพสต.) และ “คลินิกในเครือข่ายประกันสังคมที่อยู่ในเครือข่ายโรงพยาบาลของรัฐ” ด้วย
            2)  ตามกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยโรค พ.ศ.2549 ไม่ได้กำหนดว่า แบบฟอร์มใบรับรองแพทย์ต้องออกแบบโดยใคร อย่างไร ประเด็นอยู่ที่ ต้องไม่ป่วย 5 โรค
                 แบบฟอร์มนี้รับรองไว้ทั้ง 5 โรค โดยระบุเรื่อง ไม่ติดสุราเรื้อรัง กับ ไม่ติดยาเสพติด ไว้ใน 3 บรรทัดก่อนขึ้นชื่อโรคที่ 1
                 ฉะนั้นจึงใช้ได้ เพราะระบุครบทั้ง 5 โรค
            ที่จริงแบบฟอร์มนี้แหละเป็นแบบที่ถูกต้อง โดยแพทยสภากำหนดให้เปลี่ยนมาใช้แบบนี้ตั้งแต่ปี 2551 แล้ว แต่สถานพยาบาลทั่วประเทศยังรู้กันไม่ทั่วถึง ( คงคล้ายกับ กศน.เรา มีระเบียบหลักเกณฑ์ออกมาใหม่ก็รู้กันไม่ทั่วถึง บางคนรู้แต่เห็นว่าไม่สำคัญ แบบฟอร์มเก่ายังเหลืออยู่ )






         5. วันที่ 24 พ.ค.61 มีครูชำนาญการพิเศษ นายทะเบียน กศน.อำเภอ โทร.มาถามผม ว่า จังหวัดให้แก้รหัสประจำตัว นศ.ที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ให้ขึ้นต้นด้วย G โดยออกรหัสทางเว็บไซต์ระบบกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียน ทั้ง ๆ ที่ นศ.รายนี้ มีเลขประจำตัว 13 หลักซึ่งได้จากการขึ้นทะเบียนที่หน่วยงานมหาดไทยมาแล้ว
             ถามว่า ต้องแก้ให้ขึ้นต้นด้วย G ทุกคนหรือ

             ผมตอบว่า   ให้แก้รหัสประจำตัว นศ.เฉพาะที่เราออกรหัสประชาชนเองด้วยโปรแกรม ITw  ( โปรแกรม ITw รุ่นก่อน 9 เม.ย.61 จะมีปุ่มรูปไม้กายสิทธิ์ อยู่ข้างที่กรอกรหัสประจำตัวประชาชน เมื่อเรากดปุ่มนี้ โปรแกรมจะออกรหัสประจำตัวให้คนต่างด้าวที่ยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ขึ้นต้นด้วย 0 ) แต่โปรแกรมรุ่น 9 เม.ย.61 จะไม่มีปุ่มนี้แล้ว ห้ามออกรหัสเองด้วยโปรแกรม ITw แบบนี้แล้ว ถ้าใครออกรหัสเองแบบนี้ไปแล้วต้องแก้ใหม่ โดยใช้รหัสใหม่ที่ออกทางเว็บไซต์ระบบกลางกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นต้นด้วย G
             แต่ถ้าคนต่างด้าวรายใดไปขึ้นทะเบียนได้รหัส 13 หลักมาจากหน่วยงานมหาดไทยเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องใช้รหัสของเขา
             ถ้าอ่านในประกาศ ศธ.ตามภาพประกอบโพสตฺนี้ เรื่องนี้ จะเข้าใจ คือ
             1)  หากมีเลขประจำตัว 13 หลัก ให้ดำเนินการตามขั้นตอนตามปกติของสถานศึกษา
                  หากไม่มี ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนตามที่หน่วยงานต้นสังกัดกำหนด ( G ) ไปจนกว่า นศ.จะได้เลขประจำตัว 13 หลักตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
             2)  เมื่อขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา รหัส G แล้ว สถานศึกษาต้องประสานผู้เรียน/ผู้ปกครอง ให้เขาไปขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เขาพักอาศัยอยู่ในท้องที่ใด ก็ไปขึ้นทะเบียนที่ฝ่ายทะเบียนของหน่วยงานมหาดไทยท้องที่นั้น
             3)  ถ้า นศ.ไปขึ้นทะเบียน ได้รับรหัสประจำตัว 13 หลัก จากหน่วยงานมหาดไทยมาแจ้งเราก่อนเรียนจบ เราต้องแก้รหัสประจำตัว 13 หลักในทะเบียน ตามรหัสของมหาดไทย แทนรหัสที่ขึ้นต้นด้วย G





         6. ค่ำวันเสาร์ที่ 26 พ.ค.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  สงสัยว่า... ครู กศน. ต้องมี ชม. สอน กี่ ชม. ต่อสัปดา

             ผมตอบว่า   มันมีหลายเกณฑ์ เช่นเกณฑ์สำหรับข้าราชการครู กศน., เกณฑ์สำหรับผู้ที่จะมีสิทธิขอหนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ+เรียน ป.บัณฑิต ( อย่างน้อย 10 ชม.), เป็นต้น
             ส่วนเกณฑ์สำหรับครู กศน.ทั่วไป กำหนดเกณฑ์ด้วยจำนวน นศ. ไม่ได้กำหนดเกณฑ์จำนวน ชม.ต่อสัปดาห์
             แต่ เกณฑ์สำหรับ นักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐาน วิธีเรียนแบบพบกลุ่ม ต้องมาพบกลุ่มสัปดาห์ละ 6 ชม. ฉะนั้น ถ้าครูคนใดมี นศ.แบบพบกลุ่ม เพียงระดับเดียว กลุ่มเดียว ก็สอนสัปดาห์ละเพียง 6 ชม.ได้ ( ถ้าไม่ขอหนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาฯ+เรียน ป.บัณฑิต, ไม่ทำวิทยฐานะ นะ )  ถ้าเขามี นศ. 2 กลุ่ม หรือ 2 ระดับ ก็ต้องเป็นสัปดาห์ 12 ชม., 3 ระดับ 18 ชม.

             ผู้ถาม ๆ ต่ออีกว่า กรต.อีก 3 ขม.?
             ผมตอบว่า  ที่รวม กรต.อีก 3 ชม. เป็น 9 ชม.นั้น คือสมัยท่านประเสริฐ บุญเรือง เป็น เลขาฯ ตอนนี้กลับไปเหลือ 6 ชม.แล้ว

         7. วันที่ 25 พ.ค.61 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  นศ.บางคน วิชาที่เรียนผ่านแล้ว ทยอยหมดอายุเป็นงูกินหาง ถ้าเขาใช้วิธีลาออก สมัครใหม่ที่เดิม แล้วโอนวิชาที่ยังไม่หมดอายุ เพื่อเรียนต่อ ทำแบบนี้ถูกหรือผิด  วิธีนี้บางคนบอกว่าทำไม่ได้ ห้ามโอนในสถานศึกษาเดียวกัน

             เรื่องนี้  ผมไม่เห็นมีระเบียบหลักเกณฑ์ห้าม  โปรแกรม ITw ก็ทำได้  แต่เพื่อความแน่ใจผมจึงถามเรื่องนี้กับ อ.กิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน.
             อ.กิตติพงษ์ บอกว่า  ไม่ได้ห้าม


วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

1.มีหนังสือแจ้งเรื่องเทอมสุดท้ายเรียนเพิ่มได้ 3 นก.ไหม, 2.ใช้ใบประกาศนียบัตรสมัครเรียนได้ไหม, 3.ข้าราชการ อายุราชการเท่าไรมีสิทธิได้บำนาญ, 4.ชื่อบิดาในทะเบียนบ้านกับในบัตรประชาชนไม่ตรงกัน ทำใบ รบ.ยึดตามทะเบียนบ้านได้ไหม, 5.นายทะเบียนถาม กรณีนี้ใครผิด, 6.ขอหนังสือแจ้งให้เรียนวิชาเลือกบังคับได้มากกว่า 2 วิชา, 7.หนังสือรับรองการนับหน่วยกิตจากสถาบันการศึกษา


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ระยะนี้มีผู้ถามคำถามเก่าอีก 2-3 คน เช่นถามว่า
             “ถ้านักศึกษาจะจบใน ม.ต้น สามารถลง เกิน 17 หน่วยได้หรือไม่ค่ะ เป็น 18 หน่วยค่ะ”,
             “มีหนังสือแจ้งเรื่องเทอมสุดท้ายเรียนเพิ่มได้ 3 นก.ไหม”,
             “นักศึกษาคาดว่าจะจบลงทะเบียนได้มากที่สุดกี่หน่วยกิตคะมีหนังสือสั่งการฉบับล่าสุดไหมคะ”

             ผมตอบว่า   หนังสือสั่งการเรื่อง “ภาคเรียนสุดท้าย” เรียนมากกว่าภาคเรียนอื่น ๆ อีก 3 หน่วยกิต ตามเงื่อนไข นั้น มีฉบับเดียว ไม่มีฉบับใหม่
             ถ้าเป็นนักศึกษาที่ มีการเทียบโอนผลการเรียน หรือเคยสอบไม่ผ่าน ได้เกรด 0 นักศึกษาคนนั้น “เฉพาะภาคเรียนสุดท้าย” สามารถเรียนมากกว่าที่กำหนดได้อีก 3 หน่วยกิต เพื่อให้จบพร้อมเพื่อนรุ่นเดียวกัน ( ไม่จำเป็นต้องลงเรียนวิชาที่ได้เกรด 0 นะ ถ้าวิชาที่ได้เกรด 0 นั้นเป็นวิชาเลือกเสรีสามารถเปลี่ยนไปเรียนวิชาอื่นได้ แต่ใครที่ไม่มีการเทียบโอนและไม่เคยมีวิชาที่ได้เกรด 0 คนนั้นจะไม่มีสิทธิเรียนเกิน แม้เป็นภาคเรียนสุดท้าย
             และถ้าภาคเรียนนั้นลงทะเบียนเรียนตามปกติแล้วยังเหลือ 4 หน่วยกิต ก็ถือว่าภาคเรียนนั้นไม่ใช่ภาคเรียนสุดท้าย ไม่ใช่ภาคเรียนที่คาดว่าจะจบ ภาคเรียนนั้นจะเรียนเกินปกติไม่ได้ ต้องเหลือไว้เรียนภาคเรียนต่อไปอีก 4 หน่วยกิตเป็นภาคเรียนสุดท้าย )

             ปกติ เรียนได้ภาคเรียนละกี่หน่วยกิต ( ดูประกาศฯในคู่มือฯ ปกสีเลือดหมู หน้า 211 ) กำหนดไว้ดังนี้
             ประถม ภาคเรียนละไม่เกิน 14 นก., ม.ต้น ไม่เกิน 17 นก., ม.ปลาย ไม่เกิน 23 นก.
             ( เช่น ระดับ ม.ต้น ภาคเรียนสุดท้ายเรียนได้ 17+3=20 นก. แต่ถ้าเหลือ 21 นก. เรียนได้ไม่เกิน 17 นก. เหลือไว้เรียนภาคเรียนต่อไปอีก 4 นก. )
             ดูหนังสือสั่งการเรื่องภาคเรียนสุดท้ายนี้ ( ข้อ 2. ในหนังสือสำนักงาน กศน. ด่วนมาก ที่ ศธ 0210.03/3805 ลงวันที่ 26 ต.ค.53 ) ได้ในข้อ 1 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/05/26.html
             ถึงแม้หนังสือนี้จะเก่าแล้ว ตั้งแต่ปี 53 แต่ในข้อ 2. ของหนังสือฉบับนี้ ไม่ได้ระบุว่าใช้เฉพาะภาคใดภาคเดียว ฉะนั้น ถ้ายังไม่มีหนังสือระเบียบหลักเกณฑ์ฉบับใหม่กว่า ที่กำหนดเป็นอย่างอื่น ข้อกำหนดนี้ก็ยังมีผลใช้ได้อยู่ต่อไป
             เมื่อวันที่ 26 ต.ค.55 ผมถามเรื่องนี้กับกลุ่มพัฒนา กศน.อีกครั้ง ( ถามหลังจากที่สำนักงาน กศน.แจ้งเมื่อ 12 เม.ย.55 ให้เพิ่มการลงทะเบียนปกติของแต่ละระดับแล้ว )  กลุ่มพัฒนาฯโดยคุณกิตติพงษ์ ตอบว่า เรื่องเรียนมากกว่าที่กำหนดในภาคเรียนสุดท้ายของบางคน ได้อีก 3 หน่วยกิตนี้ ยังมีผลใช้อยู่

         2. วันเสาร์ที่ 12 พ.ค.61 มีผู้นำภาพใบประกาศนียบัตรระดับประถม มาโพสต์ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  ต่อ ม.ต้นได้ไหมค่ะ นายทะเบียนที่อำเภอบอกไม่ได้ค่ะ ครูเลยสอบถามมาที่สำนักงานก็ใส่นอจังหวัด

             ผมร่วมตอบ ว่า
             ขอถามว่า ที่ นายทะเบียนที่อำเภอ บอกว่าต่อ ม.ต้นไม่ได้ นั้น เขาให้เหตุผลว่าอย่างไร ? เช่น เป็นฉบับถ่ายเอกสารไม่ใช่ฉบับจริง หรือ เป็นประกาศนียบัตรไม่ใช่ระเบียนแสดงผลการเรียน หรือ ฯลฯ

             บอกให้เขาอ่านใน คู่มือฯฉบับปรับปรุง ปกสีเลือดหมู หน้า 65 ระบุ หลักฐานการสมัคร ไว้ว่า
             "5) สำเนาหนังสือสำคัญแสดงวุฒิการศึกษา จำนวน 2 ฉบับ เช่น ประกาศนียบัตร ระเบียนแสดงผลการเรียน พร้อมฉบับจริงไปแสดง"
             ฉะนั้น ใช้ประกาศนียบัตร สมัครได้ แต่หลักฐานต้องมีฉบับจริงมาแสดงด้วย ( ฉบับถ่ายเอกสาร ปลอมง่ายมาก )

         3. คืนวันเสาร์ที่ 12 พ.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ถามเรื่องบำนายของข้าราชการ กศน.นะคะ ว่าต้องมีอายุราชการอย่างน้อยกี่ปีคะถึงจะมีสิทธิ์ได้รับบำนาญคะ

             ผมตอบว่า   ข้าราชการทุกกระทรวงเหมือนกันหมด ปกติก็ต้องอายุราชการ 25 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
             แต่ถ้าอายุราชการ 10 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และ ออกจากราชการด้วยเหตุทุพพลภาพ หรือเหตุสูงอายุคืออายุตัว 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ก็เลือกรับบำนาญได้
             ( ดูในคำตอบที่เคยตอบ เช่น ดูตารางตามลิ้งค์ในข้อ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2018/02/thaination.html )

         4. วันพืชมงคล 14 พ.ค.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  ทำใบ รบ. จบนศ.กรณีชื่อบิดาไม่ตรงกัน ระหว่างทะเบียนบ้านกับบัตรประชาชน เราจะออกใบ รบ.จบโดยยึดตามทะเบียนบ้านได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา เป็นอย่างไรล่ะ ( ทำไมเพิ่งจะถามตอนเรียนจบแล้ว )
             ตามคู่มือฯ ปกสีเลือดหมู หน้า 65 กำหนดหลักฐานการสมัคร ว่า
             "3) สำเนาทะเบียนบ้านตนเองที่มีชื่อบิดา มารดา พร้อมฉบับจริงไปแสดง"
             ไม่ได้ให้ใช้ "บัตรประชาชนของบิดามารดา"
             หมายถึง ชื่อบิดามารดา ให้ใช่ตามสำเนาทะเบียนบ้าน ไม่ได้ให้ใช้ตามบัตรประชาชน

         5. วันที่ 15 พ.ค.61 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  ในกรณีที่ นศ ไม่มาสอบทั้ง 4ภาคเรียน. แต่ครูลงคะแนนเก็บและคะแนนสอบปลายภาคให้เอง. แล้วรอแค่สอบเอ็นเน็ต. ก็จบ กศ. ตามหลักสูตร 51 หากเราซึ่งเป็นนายทะเบียนตรวจสอบจาก ผลการสอบ (แผ่น ซีดี คะแนนสอบที่ 0ภาค ส่งมาให้ และใบเซ็นชื่อสอบไม่มีชื่อ นศ คนนั้น )ถามว่า ในกรณีนี้ใครผิด ครูผู้กรอกคะแนน หรือ นศ. ที่ไม่มาสอบแต่โวยวายว่าตัวเองมาสอบ. (เพราะเขาอ้างว่ามีผลคะแนนทุกเทอม ผล ครูคงคีย์ข้อมูลให้เอง.

             ผมตอบว่า   ถ้า ครูคีย์ข้อมูลให้เอง และ นศ.โวยวายว่าตัวเองมาสอบ โดยที่ไม่ได้มาสอบ ก็ผิดทั้งครู และ นศ.

ส่วนนายทะเบียนเป็นผู้รับผิดชอบทะเบียน มีหน้าที่ต้องดำเนินการไม่ให้ทะเบียนผิดพลาด ถ้าตรวจพบความผิดพลาดก่อนเกิดความเสียหาย ก็ถือว่านายทะเบียนไม่บกพร่อง แต่ถ้าตรวจพบหลังเกิดความเสียหายแล้ว ก็ถือว่านายทะเบียนบกพร่อง มีขั้นตอนวิธีการทำงาน/ตรวจสอบ ที่ไม่รัดกุม แม้จะให้ครูเป็นผู้คีย์คะแนนให้ นายทะเบียนก็ยังเป็นผู้รับผิดชอบ ต้องหาวิธีการทำงานที่รัดกุม

         6. เย็นวันที่ 15 พ.ค.61 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ทางจังหวัดไม่ให้ลงทะเบียนวิชาเลือกบังคับเกิน 2 วิชา เพราะมีโครงสร้างกำหนดไว้ แล้วบังเอิญว่า นศ.จะจบในเทอมนี้แต่ลงวิชาเลือกบังคับไปแล้ว 3 วิชา จึงจะเอาวิชาอื่นลงแทน เพื่อจะให้ได้จบ ซึ่งแสดงว่าภาคเรียนสุดท้ายนี้ต้องลงทะเบียน 24 หน่วยกิต(ม.ปลาย) ทำให้วิชาเลือกเยอะมาก ถ้าลงเลือกบังคับได้ไม่เกิน 2 วิชา ก็ต้องลงวิชาเลือกเสรีอื่น ทำให้การลงทะเบียนวิชาเลือกเยอะมาก แล้ววันสอบแทบจะไม่มีเวลาพักเลย เพราะต้องสอบติดกันประมาณวันละ 9 วิชา
             อยากได้หนังสือที่ยืนยันว่าสามารถลงทะเบียนวิชาเลือกบังคับได้ไม่น้อยกว่า 2 วิชาหน่อยค่ะ เพื่อจะให้ นศ.ไม่ต้องลงวิชาเลือกหลายวิชาเกินไปค่ะ

             ผมตอบว่า   ไม่มีหนังสือ ห้ามเรียนเกิน 2 วิชา
             วิชาเลือกบังคับก็เป็นวิชาหนึ่งของ กศน. ย่อมเรียนเป็นวิชาเลือกเสรีได้
             โดยเฉพาะวิชาเลือกบังคับมีความสำคัญกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน จึงกำหนดให้เป็นวิชาเลือกบังคับ เหมาะที่จะให้เรียนอยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าจะ "บังคับ" ให้เรียนมากกว่า 2 วิชา จะไปกระทบโปรแกรมการเรียนรู้ และกระทบ นศ.ที่มีความต้องการ/มีความสนใจวิชาเลือกเสรีอื่น ๆ ทำให้มีทางเลือกน้อยลง จึงไม่ "บังคับ" ให้เรียนมากกว่า 2 วิชา แต่เรียนตามความสนใจ/ความต้องการ ได้มากกว่า 2 วิชา
             บอกให้จังหวัดโทร.ถามกลุ่มพัฒนา กศน. ( อ.กิตติพงษ์ ) ก็ได้  แต่ถ้าเป็นนโยบายจังหวัดไม่ให้เรียนเกิน 2 วิชา ก็แล้วแต่นโยบายจังหวัด

         7. ถาม : จบวิขาเอกพัฒนาการท่องเที่ยว แต่ เอกที่รับสมัครคือ การท่องเที่ยว จะต้องขอหนังสือรับรองจากสถานศึกษาใช่ไหมค่ะ ขอแบบฟร์อมหน่อยได้ไหมค่ะ

             ตอบ :  ต้องขอหนังสือรับรองจากสถาบันการศึกษา ดูแบบฟอร์มหนังสือตามภาพประกอบโพสต์นี้


นสนับหน่วยกิตฺB.jpg