วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561

1.รับรองความประพฤติ-เปลี่ยนวันเดือนปีเกิด, 2.การย้ายพนักงานราชการ, 3.ผอ.กศน.อำเภอ สั่งย้ายสลับครู กศน.ตำบล, 4.หัวหน้า กศน.ตำบล แต่งตั้งแฟนตนเองเป็นวิทยากร, 5.กศน. ยืดหยุ่น แต่เมื่อมีปัญหา ก็กลุ้ม.., 6.มาแปลก.. วิจารณ์การบริหารครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน, 7.ครู ศรช.ถาม เอาเกณฑ์ไหนมาวัด


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. มีผู้ถามปัญหางานทะเบียน นศ. ในกลุ่มไลน์ ITw NFE 2 เรื่อง

             1.1  วันที่ 18 ก.ย.61 ถามว่า  มีแบบฟอร์มหนังสือรับรองความประพฤติของนักศึกษาไหม เอาไปยื่นศาล
                   เรื่องนี้  การออกใบรับรองโดยโปรแกรม ITw จากเมนู 1-A-2-1 สามารถพิมพ์ข้อความเพิ่มเติมเข้าไปในโปรแกรมได้ และสามารถออกเป็บใบรับรอง “อื่น ๆ” ได้ แต่เราต้องรู้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า เขาให้รับรองความประพฤติว่าอย่างไร รับรองสั้น ๆ ว่าความประพฤติดีหรือไง ถ้าไม่รู้ข้อมูลที่ชัดเจนพอก็อาจพิมพ์ข้อความเพิ่มเติมเข้าไปในโปรแกรมไม่ถูกต้องครบถ้วน

             1.2  วันที่ 19 ก.ย.61 ถามว่า  กรณีออกวุฒิ จบ ไปแล้ว ภายหลัง จนท.ทะเบียนปกครองอำเภอ ได้ออกเอกสารเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมวัน เดือน ปี เกิด และ นศ.นำหลักฐานการเปลี่ยน วัน เดือน ปี เกิด มายื่นขอออกวุฒิฉบับใหม่แทนใบเดิม นายทะเบียนสามารถออกวุฒิฉบับใหม่ได้หรือไม่
                   ผมตอบว่า  แสดงว่ามี "เอกสารการเปลี่ยนแปลงจากอำเภอ" ที่สามารถระบุได้ว่า เปลี่ยนแปลงวันใด ( เอกสารลงวันที่ใด ) กรณีนี้ลักษณะเดียวกับการเปลี่ยนชื่อ-สกุล คือถ้าวันที่เปลี่ยนแปลง เป็นวันหลังเรียนจบ เราจะออกวุฒิฉบับใหม่ให้ไม่ได้ เวลานำใบวุฒิไปใช้เขาต้องใช้ใบวุฒิควบคุู่กับใบเปลี่ยนแปลงของอำเภอ
                   แต่ถ้าวันที่เปลี่ยนแปลงเป็นวันก่อนจบ ปกติเขาต้องนำใบเปลี่ยนแปลงนี้มาแจ้งเราก่อนจบ เราก็แก้ไขทะเบียนก่อนออกใบวุฒิ แต่นี่เขานำมาแจ้งหลังจบ ก็อยู่ในดุลยพินิจของเราว่าจะออกวุฒิฉบับใหม่ให้หรือไม่ ( ถ้าเดิมมีแต่ พ.ศ.เกิด ไม่มีวัน-เดือน แต่เป็น พ.ศ.ที่ถูกต้อง ก็ไม่น่าจะออกใบวุฒิใหม่ )

         2. วันที่ 24 ก.ย.61 มีผู้ถามผมในกลุ่มไลน์ “กศน.” ว่า  เรื่องการย้ายพนักงานราชการ ตำแหน่งครูอาสา กรณีย้ายภายในจังหวัดเดียวกัน เนื่องจากตำแหน่งที่ขอย้ายไป ครูอาสาฯเกษียณอายุราชการ 30 ก.ย.61 นี้ เราเขียนขอย้ายไปแทนตำแหน่งที่ว่างได้ไหม กรณีไม่มีหนังสือแจ้งย้ายด้วย (ย้ายภายในจังหวัดเดียวกัน)
             ( ผมเห็นคำถามหลังจากถาม 30 นาที มีสมาชิกกลุ่มร่วมช่วยตอบก่อนแล้วหลายคน )

             ผมตอบว่า   พนักงานราชการ ขอย้าย “ภายในจังหวัดเดียวกัน” เมื่อมี “เลขที่ตำแหน่งว่าง” ( ย้ายในตำแหน่งเดียวกัน )  ไม่ต้องรอให้มีหนังสือแจ้งจากส่วนกลาง  แต่เป็นเรื่องที่แต่ละจังหวัดสามารถดำเนินการได้ตลอดเวลา
             ยกเว้นตำแหน่งครู กศน.ตำบล ในจังหวัดที่มีครู กศน.ตำบลเกินกรอบ
             แต่กรณีย้ายภายในจังหวัดเดียวกันที่มีเลขที่อัตราว่างในตำแหน่งเดียวกันนี้ ( ย้ายไปเลย ไม่ใช่ไม่เกิน 4 เดือน ) พนักงานราชการจะต้องเป็นผู้ยื่นความจำนงขอย้ายเอง จังหวัดจึงจะสั่งย้ายได้ โดยเมื่อมีเลขที่ตำแหน่งว่างจังหวัดก็จะแจ้งให้ทุกอำเภอทราบ
             ส่วน การย้ายข้ามจังหวัด ต้องรอให้มีหนังสือแจ้งจากส่วนกลางในช่วงต่อสัญญาพร้อมกันทั่วประเทศ
             ยกเว้นกรณีรายที่มีเหตุจำเป็นพิเศษ ไม่ต้องรอหนังสือแจ้ง ให้ยื่นขอย้ายพร้อมหลักฐาน-เหตุผลไปส่วนกลางเป็นราย ๆ ไป
             แต่การขอย้ายข้ามจังหวัดกรณีพิเศษก็ไม่ให้ทำในช่วงระหว่างการประเมินฯ ต้องรอให้รู้ผลการประเมิน+เลื่อนค่าตอบแทนเสร็จก่อน
             ที่มีผู้ตอบว่าให้ไปช่วยได้ครั้งละ 4 เดือนนั้น เป็นอีกกรณีหนึ่ง คือ กรณีให้ไปช่วยในที่ ที่ไม่มีเลขที่ตำแหน่งเดียวกันว่าง กรณีนี้ให้ไปโดยระบุวันสิ้นสุดไว้ตั้งแต่ตอนให้ไป ไป ๆ กลับ ๆ ได้  แต่ ในแต่ละปีงบประมาณ เวลาการไปช่วยเมื่อรวมทุกครั้งต้องไม่เกิน 4 เดือน  กรณีนี้เจ้าตัวไม่จำเป็นต้องยื่นแสดงความจำนงก็ได้

         3. คืนวันที่ 25 ก.ย.61 คุณ Cinjang Ciro ( อ.ประทาย ) ถามต่อท้ายโพสต์ของผมบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก ว่า  กรณีมีคำสั่งย้ายครูกศน.ตำบลในอำเภอเดียวกัน สลับตำบลโดยย้ายระหว่างเทอมคือวันที่2เดือน กรกฎาที่ผ่านมา โดยที่ครูกศน.ตำบลนั้นๆไม่ประสงค์ที่จะย้าย เป็นคำสั่งโดยผอ.กศน.อำเภอนั้น อยากถามว่า มีผลต่อเลขที่ตำแหน่งเดิมมั่ย เพราะตอนประเมินพนักงานราชการ มีคำสั่งแจ้งให้เสนอผลงาาตำบลเดิม คือตำบลที่อยู่ก่อนย้าย.

             ผมตอบว่า   เลขที่ตำแหน่งจะอยู่ที่ตำบลเดิม  การย้ายเลขที่ตำแหน่ง ( เกลี่ยอัตรา ) เป็นอำนาจของส่วนกลาง ไม่ใช่อำนาจของจังหวัด ( สำหรับอำเภอไม่มีอำนาจย้ายครู กศน.ตำบล )  จังหวัดย้ายคนได้ “ตามความจำนง” ของผู้ขอย้าย แต่จังหวัดย้ายเลขที่ตำแหน่งไม่ได้ กรณีนี้ถ้าครู กศน.ตำบล ยินยอมสลับตำแหน่ง จังหวัดก็สลับได้
             ตำแหน่งครู กศน.ตำบล จะย้ายเปลี่ยนตำบลยากกว่าตำแหน่งอื่น เพราะ เลขที่ตำแหน่งของครู กศน.ตำบล ระบุลึกถึงว่าเป็นเลขที่ตำแหน่งของตำบลใด  ต้องให้จังหวัดย้าย ( ย้ายคน ไม่ใช่ย้ายเลขที่ตำแหน่ง )
             แต่ถ้าเป็นตำแหน่งอื่นเช่นตำแหน่งครูอาสาฯ เลขที่ตำแหน่งระบุเพียงอำเภอ ฉะนั้น ผอ.อำเภอ จะเปลี่ยนมอบหมายให้ครูอาสาฯดูแลตำบลใดก็ได้
             การที่ ผอ.อำเภอ ย้ายครู กศน.ตำบลไม่ถูกต้องอย่างนี้ย่อมมีปัญหา  ในคำถามของคุณก็พูดถึงปัญหาหนึ่ง

         4. ดึกวันที่ 25 ก.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  กรณีที่หัวหน้า กศน.ตำบล เปิดสอนอาชีพระยะสั้น และได้แต่งตั้งแฟนตนเอง เป็นวิทยากรผู้สอน เบิกจ่ายงบประมาณตามปกติ การดำเนินการในทำนองนี้ผิดระเบียบหรือไม่ เข้าข่าย พรบ.พัสดุ 60 ในส่วนของผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่หรือไม่

             ผมตอบว่า
             - หัวหน้า กศน.ตำบล ไม่มีอำนาจแต่งตั้งใครเป็นวิทยากร
             - ผู้ที่มีอำนาจจะให้ใครเป็นวิทยากรคือ ผอ.กศน.อำเภอ ซึ่ง ผอ.กศน.อำเภอ ต้องแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมที่จะเป็นวิทยากรในเนื้อหานั้น ๆ จะเป็นแฟนของหัวหน้า กศน.ตำบล หรือไม่ก็ได้ ขอให้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับเนื้อหา
                ถ้าให้แฟนหัวหน้า กศน.ตำบลเป็นวิทยากรทั้ง ๆ ที่ความรู้ความสามารถไม่เพียงพอ ผอ.กศน.อำเภอต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
             - วิทยากรไม่ใช่ผู้รับจ้าง เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ พรบ.พัสดุ

         5. วันที่ 26 ก.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก แต่ผมไม่เห็น ผู้ถามพยายามโทร.หาผม 5 ครั้ง แต่ผมปิดเสียงโทรศัพท์ไว้ตั้งแต่เมื่อวันเสาร์เพราะเข้าไปดูการแสดงที่เขาให้ปิด หลังจากนั้นก็ลืมเปิด/หรือเปิดผิด
             ผู้ถามเป็นทั้งครู กศน.ตำบลและนายทะเบียน มีความกลุ้มใจ ถาม-ตอบ กับผมดังนี้

             ผู้ถาม : ถ้าเราส่งชื่อนักศึกษาไปกรมแล้ว หลังจากนั้นมีนักศึกษามาลงทะเบียนหลังจากส่งข้อมูลได้ไหม
             ผมตอบ : หลังหมดเวลาส่งยอดนักศึกษาเข้าเว็บกลุ่มแผนงานใช่ไหม.. ก็ได้นะ แต่ถ้าเพิ่มจำนวนผู้ลงทะเบียนหลังหมดเวลาแจ้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงยอดนักศึกษาแล้ว เราก็จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวของ นศ.รายนี้
             ผู้ถาม : แล้วข้อสอบปลายภาคล่ะ
             ผมตอบ : อ้าว ให้ลงทะเบียนหลังหมดเวลาแจ้งยอดข้อสอบด้วยหรือ ที่ถูกต้อง ในช่วงกลางภาคเรียนหรือช่วงหลังหมดเวลาลงทะเบียนเรียน เรารับ “ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา” ( ให้รหัสประจำตัวนักศึกษา ) ได้ตลอด ( รวมทั้งสถานศึกษาอาจกำหนดให้เทียบโอนกลางภาคเรียนได้ )
                      แต่ต้องให้ “ลงทะเบียนเรียนวิชาต่าง ๆ” เมื่อเปิดภาคเรียนใหม่ เพราะการลงทะเบียนเรียนหลังหมดเวลาลงทะเบียนเรียนแล้ว จะมีปัญหาเช่น เวลาเรียนไม่ครบตามที่ระเบียบกำหนด, แจ้งจำนวนข้อสอบสำหรับจัดห้องสอบไปแล้ว เป็นต้น
                      เว้นแต่เป็นความผิดพลาดหลงลืมการลงทะเบียนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ลงทะเบียนให้ นศ.บางราย ก็อาจลงทะเบียนให้หลังแจ้งจำนวนข้อสอบแล้ว โดยให้ใช้ข้อสอบสำรอง
                      แต่ถ้าไม่ใช่ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ จะไม่ให้ลงทะเบียนเรียนหลังแจ้งจำนวนข้อสอบแล้ว โดยเฉพาะถ้ามีหลายคน จะหวังใช้ข้อสอบของผู้ขาดสอบ เป็นความเสี่ยง
             ผู้ถาม : กรณีนี้มีหลายคน แต่ให้เข้าไปสอบในห้องสอบ ให้ลงลายมือชื่อผู้เข้าสอบต่อท้ายในแผ่นบัญชีผู้เข้าสอบ โดยมีข้อสอบพอ เพราะมีผู้ขาดสอบมากพอ
             ผมตอบ : อ้าว ต้องลงลายมือชื่อต่อท้าย แสดงว่าไม่มีชื่อในบัญชีผู้เข้าสอบ แสดงว่าลงทะเบียนหลังจัดห้องสอบแล้ว หลังปริ้นท์รายชื่อผู้เข้าสอบแต่ละห้องแล้วอีกด้วย ไม่ธรรมดานะ
             ผู้ถาม : ได้ข่าวว่า จังหวัดจะตั้งกรรมการสอบสวนหมด ทั้งกรรมการกลาง ครูคุมสอบ ครู กศน.บอกครูคุมสอบให้นักศึกษากลุ่มนี้เข้าไปสอบด้วย ฉันจะถูกให้ออกไหม
             ผมตอบ : พาให้ครูคุมสอบเขามีความผิดฐานให้คนที่ไม่มีชื่อ เข้าไปในห้องสอบด้วย  ไม่รู้จะแนะนำอย่างไร จังหวัดจะตั้งกรรมการสอบสวนจริงหรือเปล่าก็ยังไม่แน่มั้ง ถ้าจริง เขาถามหรือสอบอะไร เราก็บอกไปตามความจริง บอกว่าต่อไปจะไม่ทำอย่างนี้อีก กรณีนี้คงไม่ถึงขั้นให้ออกหรอก

         6. คืนวันที่ 26 ก.ย.61 มีผู้ส่งข้อความทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กผม ว่า  เรื่องการประเมินการจัดการศึกษา กศน.สำหรับเด็กด้อยโอกาส(เด็กเร่ร่อน) การจัดการศึกษา กศน.สำหรับเด็กเร่ร่อน เริ่มโครงการจัดการศึกษาดังกล่าวนี้ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 แต่ไม่เคยเห็นได้รับการประเมินการจัดการศึกษา สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ในระดับ กศน.จังหวัดเลย ปกติเห็นประเมินจากสถานศึกษา
             ครูบางคนไม่เคยไปสอนนักศึกษาเด็กเร่ร่อนเลยในระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่งนี้ อ้างว่าเด็กด้อยโอกาส (เร่ร่อน)เด็กไม่อยู่กับที่เร่ร่อนไปเรื่อยไป

             ผมตอบ : อ้าว.. สถานศึกษาไม่รู้หรือว่าครูไม่เคยได้สอน
             ผู้ถาม : มีครูที่สอนบางคน แต่หลายคนไม่เคยสอน อยากให้ สำนักงาน กศน.ทำการประเมิน ครูทุกตำแหน่งด้วยเกณฑ์เทียบเคียงกันกับตำแหน่งครูอื่นในสังกัด สำนักงาน กศน. เพราะไม่มีรายละเอียดการประเมินในกลุ่มครูผู้สอนเด็กเร่ร่อนนี้ เป็นตำแหน่งงานที่ไม่เคยเห็นการประเมินผลการทำงานเชิงประจักษ์ตั้งแต่ ปี 2547-ปัจจุบัน
             ผมตอบ : คงเป็นเพราะ ไม่ได้เป็นพนักงานราชการ ระดับจังหวัดจึงให้สถานศึกษาดูแลเอง ที่จริงถ้าเป็นจ้างเหมาบริการ ก็ต้องทำลักษณะเดียวกับจ้างเหมาบริการอื่น ๆ เช่น ครู ศรช. ครูผู้สอนคนพิการ ถ้าที่ไหนมีแบบประเมินการจ้างเหมาบริการ ก็ต้องมีแบบประเมินการจ้างเหมาบริการทุกตำแหน่ง ถ้าสถานศึกษาดูแลดีก็ไม่มีปัญหา แต่ละจังหวัดอาจทำไม่เหมือันกันนะ บางจังหวัดอาจมีการประเมินครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน
             ผู้ถาม : อยากให้มีการตรวจสอบว่าเป็นนักศึกษาเด็กเร่ร่อนจริงรึเปล่า และมีแบบแผนในการประเมินเหมือนตำแหน่งครูอื่นๆบ้าง จะได้มีความเสมอภาค ครูผู้สอนเด็กเร่ร่อนมีหลายจังหวัด ทั่วประเทศก็จะประมาณ 40 กว่าคน
             ผมตอบ : บางอำเภอบางจังหวัด คงมีแบบแผนเหมือนจ้างเหมาบริการตำแหน่งอื่นอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้เพราะแต่ละจังหวัดทำไม่เหมือนกัน ลองเสนอจังหวัดดูซี
             ผู้ถาม : ถ้าการประเมินไม่ครอบคลุมในทุกตำแหน่ง ถือเป็นการไม่ยุติธรรมกับตำแหน่งที่ทำภารกิจในกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ที่ได้รับคาตอบแทนเท่ากัน
             ผมตอบ : เสนอความคิดเห็นไปที่ ศูนย์ กศน.กลุ่มเป้าหมายพิเศษ จะดีกว่า เผื่อเราไม่รู้หรือเข้าใจอะไรผิด จะได้แลกเปลี่ยนกับเจ้าของงานโดยตรง
             ผู้ถาม : ผอ.ศกพ.มาใหม่ เอาแต่ผลงานของบางจังหวัดนำเสนอเพื่อความสมบูรณ์ของงานในตำแหน่งนี้ กล้าบอกเลยว่าน้อยมากที่มีเอกสารงาน ทั้งที่ตำแหน่งอื่นเอกสาร แผนทุกแผนต้องมี แต่ครูตำแหน่งนี้มีแค่ปฏิทินการสอนรายสัปดาห์ บางคนทำงานมาเกือบ 10 ปีไม่เคยจัดกิจกรรมการเรียนการสอน แต่มีชื่อนักศึกษาลงไอที
             ผมตอบ : แล้วสิบปีมีนักศึกษาสอบผ่านวิชาอะไรบ้างไหม ใน IT
             ผู้ถาม : บางคนยังไม่มีนักศึกษาจบหลักสูตรสักคนเดียว ไม่รู้จะจ้างไว้ให้เปลืองเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่ออะไร ศกพ.ไม่สร้างเกณฑ์การประเมินครูผู้สอนเด็กเร่ร่อนเลย  NGO ก็หนุนจนหัวชนฝา จะให้ปรับเป็นพนักงานราชการ มี ครูหยุย เป็น สมาชิก สนช.  ส่วนครูผู้สอนคนพิการ อยู่ในสังกัดเดียวกัน ประเมินทั้งเอกสารและและประเมินเชิงประจักษ์ทั้งจาก กศน.จังหวัด และจาก กศน.กลุ่มเป้าหมายพิเศษ หลายต่อหลายครั้ง
                     ฉันแค่อยากขอเสนอแนะ ให้จัดทำเกณฑ์การประเมินตำแหน่งครูผู้สอนเด็กเร่ร่อนด้วย

         7. วันที่ 28 ก.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ได้รับแจ้งว่า
             “แจ้งครู ศรช.ทุกคน
               การประเมินผลครู ศรช. สำนักงาน กศน.จังหวัดแจ้งให้ใช้เกณฑ์ผู้เข้าสอบที่ใช้กระดาษคำตอบมากกว่า 50% ตามที่สำนักงาน กศน.กำหนด เป็นผู้ที่ผ่านเกณฑ์ เพราะถือว่าเป็นพนักงานจ้างเหมา
                ดังนั้น ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องได้เลย
                สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์  ต้องสอบประเมินสมรรถนะทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์ โดยมีคะแนนประสบการณ์และ % การเข้าสอบของนักศึกษา ประกอบการพิจารณาด้วย 
                ทั้งนี้ กศน.อำเภอใด จะรับสมัครครูเพิ่มได้เท่าที่นักศึกษามีตัวตน
                ส่วนเงื่อนไขการสมัครอาจจะขึ้นบัญชีรวมหรือแยก 
                หากใครที่ไม่ผ่านเกณฑ์ แต่มั่นใจว่าจะสอบผ่านการประเมินสมรรถนะ ก็ให้ไปปฏิบัติงานต่อเนื่องได้ แต่หากสอบไม่ผ่านก็จะไม่มีการจ่ายเงินเดือนในช่วงปฏิบัติงานต่อเนื่อง”

             ถามว่า  ครู ศรช.มีผู้เข้าสอบไม่ถึง 50% ไม่ต่อสัญญาให้ ส่วนครู กศน.ตำบล ที่ต้องมีผู้เข้าสอบ 60%  ถึงจะผ่านการประเมิน แต่ครู กศน.ตำบลบางคน มี% เข้าสอบไม่ถึง 60% บางคนไม่มี นศ.มาเข้าสอบเลยด้วยซ้ำ ทำไมครู กศน.ตำบลถึงผ่านการประเมินได้ทำงานต่อ แต่ ครู ศรช.กลับไม่ได้ทำ  เค้าเอาเกณฑ์ไหนมาวัด

             ผมตอบว่า   การประเมินครู กศน.ตำบล มีหลายข้อ ผลการประเมินครู กศน.ตำบลจะเป็นอย่างไรไม่ได้ดูที่ข้อเดียว
             ส่วนผู้รับจ้างเหมาบริการ อยู่ที่ผู้จ้างจะพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ ซึ่งไม่ว่าจะกำหนดแบบไหนก็ไม่แปลกที่จะมีบางคนไม่เห็นด้วย
             ตำแหน่งต่างกัน ย่อมต่างกันเป็นธรรมดา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย