สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 7 เรื่อง ดังนี้
1. เช้าวันที่ 17 ก.ย.63 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า
- กรณีที่ครูผู้ช่วยมีคำสั่งบรรจุ 23 กันยายน แต่ที่ กศน.อำเภอ มีประเมินพนักงานราชการ ตำแหน่ง ครู กศน.ตำบล ในวันที่ 24 กันยายน หนูยังต้องเข้ารับการประเมินพนักงานราชการอยู่ไหมคะ
ผมตอบว่า ไม่ต้อง
( กรณีบรรจุครูผู้ช่วย 23 ก.ย. วันที่ 1-22
ก.ย.จะรับค่าตอบแทน 22 วันจากค่าตอบแทนพนักงานราชการ ส่วนวันที่ 23-30
ก.ย.รับเงินเดือนครูผู้ช่วย 8 วัน รวม 2 ส่วนก็เต็มเดือน )
- เรื่องการทำมอบหมายงาน อ มีคำแนะนำ
หรือมีไฟล์ตัวอย่างบ้างไหมคะ พวกหนูยังงงๆ ทำกันไม่ถูกเลยคะ ในตำบลที่หนูอยู่
มีครู กศน. 2 คนค่ะ หนูต้องมอบต่างๆ ที่เป็นของตำบลด้วยไหมคะ
ผมตอบว่า ผมไม่มีไฟล์ตัวอย่าง.. เรารับผิดชอบงานอะไรอยู่บ้าง
( อาจดูจากเรื่องมอบหมายงานต่าง ๆ ) ก็มอบให้หมด
รวมทั้งวัสดุครุภัณฑ์และหนังสือเรียนที่ให้ยืมเรียนตามใบยืม ก็มอบทั้งหมด
ถ้าเราเป็นหัวหน้า
กศน.ตำบล ก็เป็นผู้รับผิดชอบ กศน.ตำบล ต้องมอบหมด ถ้าเราไม่ได้เป็นหัวหน้า ก็มอบเฉพาะส่วนที่เรารับผิดชอบ
ดูจากเรื่องมอบหมายงานต่างๆ
- หลังบรรจุครูผู้ช่วยแล้ว
ถ้าเราเริ่มเรียนปริญญาโท ระยะเวลาความแตกต่าง/การเติบโตในตำแหน่งต่อไปต่างกันแบบไหนบ้างค่ะ
ผมตอบว่า ถ้าเรียนจบก่อน 2 ปี ก็จะได้ปรับวุฒิรับเงินเดือนอัตรา
ป.โท แต่พอบรรจุครบ 2 ปีปรับเป็นครู คศ.1 เงินเดือนก็ได้ไม่น้อยกว่าอัตรา ป.โท
อยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเรียนจบหลังเป็นครู คศ.1ก็ไม่ได้ปรับเงินเดือนตามวุฒิ
และตอนนี้การจบ
ป.โท ก็ไม่ได้ช่วยให้มีสิทธิทำวิทยฐานะชำนาญการได้เร็วขึ้น
แต่วิชาความรู้สาขาวิชาเอกที่เรียนก็จะเป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อความก้าวหน้าต่อไป
และถ้าเรียน ป.โทเอกบริหาร ก็จะช่วยให้มีสิทธิเป็น ผอ.ต่อไป
เพราะระเบียบหลักเกณฑ์ที่ว่า จะเป็นผู้บริหารต้องจบเอกบริหาร คงยังไม่เปลี่ยน
2. วันอาทิตย์ที่ 27 ก.ย.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก
ว่า
- การเรียนกศน
ได้กำหนดมั้ยคับว่าต้องเรียนวิชาอะไรบ้าง
คือเวลาไปเรียนครูแทบไม่ได้สอนอะไรที่เปนประโยชน์หรือพวกวิชาการเลย แต่พอตอนสอบ
มีทั้งวิชาคณิต อังกฤษ หลายวิชาที่ในโรงเรียนปกติเค้าสอน แต่ครูกศน ไม่เคยสอนเดก
ไม่สอนพื้นฐานอะไรให้เลย กลับให้เดกทำข้อสอบกลางภาคโดยการใช้Google แบบนี้มันถูกหรอคับ แล้วเด็กนักเรียนจะทำได้หรอคับถ้าเจอวิชาพวกนี้
ผมเข้าปฐมนิเทศแต่ครูผู้สอนไม่ได้แจ้งอะไรเลยคับ
ไม่ได้แจ้งถึงวิธีการเรียนการสอนเลยคับ
ผมไปพบกลุ่มทุกครั้งมีขาดบ้างแต่ไม่ถึง3ครั่ง
ผมไม่รู้ว่าระบบกศนมันเป็นยังไง แต่ผมอยากได้แค่ว่าก่อนสอบแจ้งเดกด้วยว่าสอบวิชาอะไร
สอนพื้นฐานให้บ้าง หรืออาจจะมีติวเตอร์คนอื่นมาติวให้ก้ได้ นี่ไม่มีไรเลย
แจ้งว่าอาทิตหน้าสอบ บอกแค่เวลา วิชาอะไรไม่บอก แล้วพอตอนทำข้อสอบเดกก้ทำไม่ได้หาลอกกัน
อย่างข้อสอบประวัตศาสตร์เจาะลึกมาก ผมถามเพื่อนที่เรียนมหาลัย เพื่อนยังบอกว่ายังไม่เจาะลึกขนาดนี่เลย
ถ้าเปนพื้นฐาน
แล้วนี่ผมเรียนมาจะจบเทอมจะสอบแล้ว
บัตรนักศึกษาก้ยังไม่ได้
- ทำไมกศนถึงเรียนวันอาทิตอะคับ ทำไมไม่เรียนเป็นวันธรรมดาหรอคับ
ผมตอบว่า คุณเป็นนักศึกษา กศน.ใช่ไหม
-
โดยปกติการเรียน กศน.จะเรียนด้วยตนเองเป็นหลัก เพราะแม้แต่วิธีเรียนแบบพบกลุ่มก็ไปพบครูเพียงสัปดาห์ละ
6 ชั่วโมง
ตามหลักการนั้น
วิธีเรียนแบบพบกลุ่มจะแบ่งเนื้อหาเป็น ยากมาก ยากง่ายปานกลาง และง่ายมาก
เนื้อหาที่ยากง่ายปานกลางครูจะสอนในช่วงพบกลุ่มสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง
เนื้อหาที่ยากมากอาจจัดให้ครูเอกนั้นมาสอนเสริม เนื้อหาที่ง่ายนักศึกษาเรียนด้วยตนเอง
และถ้านักศึกษารายใดสามารถเรียนด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่
ก็เลือกเรียนวิธีทางไกลซึ่งเรียนด้วยตนเองมากขึ้นได้เพื่อจะได้เสียเวลาไปพบกลุ่มน้อยลง
ทั้งนี้เทอมแรกที่เรียน
กศน. ก็จะมีการปฐมนิเทศบอกวิธีการเรียน
ปกติแต่ละเทอมนักศึกษาจะลงทะเบียนเรียน
ดูในใบลงทะเบียนก็รู้ว่าเรียนวิชาอะไรบ้าง ซึ่งก็จะสอบวิชาที่เรียนนะ
ลองคุย+เสนอ
ในเรื่องต่างๆกับครูประจำกลุ่มนะ
-
กศน.ไม่ได้กำหนดว่าต้องพบกลุ่มวันอาทิตย์นะ แล้วแต่ความพร้อมของครูประจำกลุ่มและนักศึกษาแต่ละกลุ่มจะกำหนดกัน
3. เช้าวันที่ 25 ก.ย.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก
ว่า กิจกรรม 1 อำเภอ 1 อาชีพ ที่ กศน.อ.
ได้รับจัดสรรมา สามารถนำงบประมาณไปจัดสรรให้ กศน.ต. ไปดำเนินการ แบบชั้นเรียน
กลุ่มละ 11 คนได้หรือไม่ (ซึ่งแต่ละตำบล ฝึกอาชีพแตกต่างกันไป
ไม่ใช่อาชีพเดียวกันทั้งอำเภอ)
ผมตอบว่า งบฯ 1
อำเภอ 1 อาชีพ เป็นงบฯที่แยกต่างห่างจากงบฯที่จัดสรรให้ระดับตำบล แต่เป็นงบฯที่ให้
กศน.อำเภอเป็นผู้ดำเนินงานในระดับอำเภอ เคยจัดสรรให้อำเภอละ 30,000 บาท/ครึ่งปี
งบฯ 30,000 บาทนี้อำเภอก็ใช้จัด
1 อาชีพ ไม่เกี่ยวกับอาชีพของงบระดับตำบล
แต่ งบฯ 30,000
บาทนี้ ควรเป็น 1 อาชีพ คืออาชีพเดียว
ที่เน้นส่งเสริมในอาชีพสำคัญของอำเภอนั้นในช่วงนั้น
การจัดอาชีพโครงการ
1 อำเภอ 1 อาชีพ เป็นการจัดการศึกษาต่อเนื่อง รูปแบบชั้นเรียนวิชาชีพ ( 31
ชั่วโมงขึ้นไป กลุ่มละ 11 คนขึ้นไป ) จะแบ่งงบ 30,000 นี้ออกเป็นหลายกลุ่มจัดในหลายตำบลหรือไม่ก็ได้
แต่ควรเป็น 1 อาชีพ
แต่
เมื่อถึงงวดใหม่ ปีใหม่ ได้รับงบ 1 อำเภอ 1 อาชีพมาใหม่
งบที่ได้ใหม่ในปีใหม่หรืองวดใหม่ สามารถจัดอาชีพอื่นอีก 1 อาชีพ
4. วันที่ 12 ต.ค.63 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า การบริจาคโลหิต 1 ครั้ง ของนักศึกษา กศน.
สามารถให้ผ่านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) จำนวน 50 ชั่วโมง ด้วยหรือ..
ผมตอบว่า จริง ๆ แล้วไม่ถูกต้องเหมาะสม
แม้จะเป็นอำนาจของผู้บริหารสถานศึกษาก็ตาม แต่ตามหลักสูตรก็มีหลักการ/หลักเกณฑ์
คล้ายกับการนำใบระเบียนที่ลาออกจากโรงเรียนในระบบมาเทียบโอนเป็นรายวิชา กศน.
ไม่ว่าจะไปที่สถานศึกษาใด ถ้าเป็นใบ ปพ.ใบเดียวกัน ก็ควรเทียบโอนได้เหมือนกัน
ไม่ใช่ไปสมัครสถานศึกษาหนึ่งให้เทียบโอนได้ 20 หน่วยกิต
อีกสถานศึกษาหนึ่งให้เทียบโอนได้ 30 หน่วยกิต
เรื่อง กพช.นี้
หลักสูตรปี 51 แตกต่างและพิจารณาง่ายกว่าหลักสูตรปี 30 โดยหลักสูตรปี 30 ใช้คำว่า
“หน่วยกิจกรรม” ( ม.ต้น ให้ทำ กพช. 41 หน่วยกิจกรรม, ม.ปลาย
ให้ทำ กพช. 48 หน่วยกิจกรรม ) ที่จริงเปลี่ยนเป็นให้ทำ กพช. 100 “ชั่วโมง”
มาตั้งแต่หลักสูตรปี 44 แล้ว แต่หลายคนยังเข้าใจผิดในการคิดจำนวนชั่วโมง กพช.
ถ้าเป็นหน่วยกิจกรรมตามหลักสูตรปี
30 โครงการใดจะให้กี่หน่วยต้องพิจารณาจากความสำคัญ-ประโยชน์-ความยากง่ายในการทำ
แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นให้ทำ กพช. 100-200 ชั่วโมง ในหลักสูตรปี 44-51 แล้ว
จำนวนชั่วโมง
ก็คือ “เวลาเป็นจำนวนชั่วโมงที่ต้องใช้ในการทำกิจกรรมนั้น” แค่นั้นเอง
ไม่ต้องคิดมาก
ทุกโครงการที่ได้รับความเห็นชอบให้ทำ
กพช.แล้ว จะต้องมีความสำคัญ-ประโยชน์มากพอแล้ว
จะให้กี่ชั่วโมงก็แค่พิจารณาให้ได้ว่ากิจกรรมนั้นต้องใช้เวลาทำทั้งหมดกี่ชั่วโมงเท่านั้นเอง
การนับจำนวนชั่วโมง ให้นับจำนวนชั่วโมงที่ใช้ตั้งแต่
นศ.วางแผน-ประสานงาน-สรุปประเมินผล รวมด้วย
การบริจาคโลหิต
ใช้เวลาไม่ถึง 50 ชั่วโมง การให้ กพช. 50 ชั่วโมงจึงไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม
ในหนังสือแนวทางการเทียบโอน
กพช. ( การ “เทียบโอน” หมายถึง กิจกรรมที่ทำก่อนขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
แต่ก็อาจอนุโลมให้คิดจำนวนชั่วโมง กพช.ระหว่างการเป็น นศ.กศน.ตามหนังสือนี้ได้ )
หน้า 8 ระบุว่า การบริจาคโลหิตทั่วไป ให้ กพช.ครั้งละ 25 ชม. ตามภาพประกอบโพสต์นี้
5. วันที่ 12 ต.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า ผอ.กศน.อำเภอมีมีอำนาจสั่งจ่ายเงินรายได้สถานศึกษาสูงสุดเท่าไร
ผมตอบว่า 100,000 บาท ตามภาพคำสั่งประกอบโพสต์นี้
6.วันที่ 14 ต.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า บรรจุข้ารสชการครูได้3เดือน สามารถย้ายติดตามคู่สมรสได้ไหมค่ะ
ผมตอบว่า ไม่ทราบว่าคุณจะเข้าใจถูกเรื่อง
“ย้ายติดตามคู่สมรส” หรือเปล่า
1) การย้ายติดตามคู่สมรส ซึ่งเป็นการขอย้าย
“กรณีพิเศษ” หมายถึง เดิมคุณอยู่ด้วยกันกับคู่สมรส
แต่คู่สมรสเพิ่งได้ย้ายไป“หลังจากที่คุณบรรจุแล้ว” แล้วคุณขอย้ายติดตาม
แบบนี้จึงเรียกว่าขอย้ายติดตามคู่สมรส ต้องนำหลักฐานวันย้ายของคู่สมรสมาแสดง
2) แต่ถ้าเดิมก่อนบรรจุ
คุณกับคู่สมรสก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันอยูก่อนแล้ว หรือคู่สมรสย้ายไปก่อนที่คุณจะบรรจุ
หรือคู่สมรสอยู่ที่เดิมไม่ได้เพิ่งย้าย แบบนี้เรียกว่า “ขอย้ายไปอยู่ร่วมกับคู่สมรส”
ซึ่งถือเป็นการขอย้ายกรณีปกติ บรรจุ 3 เดือนยังขอย้ายกรณีปกติไม่ได้
3) การขอย้ายกรณีพิเศษของ ขรก.ครูฯ มี 4 กรณีย่อย
แต่ละกรณีย่อยกำหนดคุณสมบัติต่างกัน เช่น กรณีขอย้ายติดตามคู่สมรส
กำหนดว่าต้องผ่านการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มก่อน เมื่อผ่านแล้วขอย้ายได้โดยไม่ต้องรอถึงช่วงเวลาการขอย้ายกรณีปกติ
( คู่สมรสต้องเป็นข้าราชการ-ลูกจ้างประจำ-พนักงานของรัฐ-พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งจดทะเบียนสมรสก่อนวันคู่สมรสย้าย )
สรุป
บรรจุเป็นข้าราชการครูได้ 3 เดือน ยังขอย้ายติดตามคู่สมรสไม่ได้
7. เย็นวันอาทิตย์ที่ 18 ต.ค.63
มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า ข้าราชการ 38 ค.(2) ผ่านประเมินทดลองราชการแล้ว
แต่คำสั่งให้พ้นจากทดลองราชการยังไม่ออก สามารถเขียนย้ายได้เลยไหม
ผมตอบว่า กศน.ใช่ไหม.. 38 ค.(2)
กรณีปกติต้องรอให้เขาแจ้งมาก่อน ว่า ถึงเวลาให้ขอย้าย
ถ้าเขาแจ้งมาแล้วคนที่ผ่านประเมินการทดลองราชการแล้วแต่คำสั่งยังไม่ออก
( คำสั่งคือหลักฐานการผ่าน ) ส่วนใหญ่เขาจะให้ยื่นขอย้ายได้
เพราะยื่นไปแล้วกว่าขั้นตอนการพิจารณาจะดำเนินการถึงขั้นคำสั่งย้ายออกนั้น
คำสั่งพ้นทดลองจะออกมาก่อน (
แต่ถ้าถึงขั้นตอนการพิจารณาย้ายของคณะกรรมการกลั่นกรองแล้วใครที่คำสั่งพ้นทดลองยังไม่ออก
เขาก็จะไม่พิจารณาให้ย้าย )
( ดูในประกาศรับสมัครสอบบรรจุด้วยนะ
กำหนดไว้หรือเปล่าว่าบรรจุกี่ปีถึงจะขอย้ายได้ เช่นชายแดนใต้ต้องบรรจุครบ 4
ปีจึงจะขอย้ายได้ )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย