วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557

น้อยใจ กพฐ.ใช้ ว12 ทำงานครบ 3 ปี บรรจุ?, ร.ร.ส่งเด็กมาเรียนกลางภาค, ค้นหาหลักสูตรวิชาเลือก, กศน.อ.ตั้งกองลูกเสือประเภทใดได้, ครูสังกัดท้องถิ่นใช้อินทรธนูกี่ขีด, ตราไหนถูกต้อง(เครื่องหมายราชการ กศน.จังหวัด/อำเภอ), ให้สตรีอยู่เวรกลางคืนได้ไหม


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันที่ 29 พ.ค.57 ผมตอบที่คุณ คนเลี้ยงหมู สุกรไทย เขียนในเฟซบุ๊คกลุ่มนอกระบบว่า  ครู กศน.ทำงานหนักกว่าในระบบ แต่ในระบบเขาใช้ ว 12 ทำงานครบสามปี บรรจุ แย่งคนเก่งเราจะหมดแล้ว ให้ผู้ใหญ่ช่วยดูบ้าง
             ผมตอบว่า   ที่ว่า "ใช้ ว 12 ทำงานครบสามปี บรรจุ" นั้น ไม่จริง  ว 12 เช่น สอบบรรจุโดยรับสมัครเฉพาะคนที่ทำงานในสังกัดครบ 3 ปี คนนอกสังกัด กพฐ. ไม่มีสิทธิ์ไปสมัคร ( ทำงานในสังกัด กพฐ.ครบ 3 ปี มีสิทธิสมัครสอบ ว 12  ไม่ใช่ครบ 3 ปีบรรจุเลย )  กศน.เราก็ใช้แต่ ว.12 มาหลายปีแล้ว ครูผู้ช่วย กศน.ไม่รับคนนอกมานานแล้ว ในขณะที่ กพฐ.มีทั้งรับทั่วไปและรับตาม ว12
             คุณ ณัฐ อุด ถามต่อว่า 12 คือไร ไม่เข้าใจจริงๆ
             ผมตอบว่า  ว12 หมายถึง หนังสือเวียนฉบับที่ 12 ( หนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/12 ลงวันที่ 18 ก.ค.56 ) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ
             การสอบบรรจุตาม ว12 จะขอขึ้นบัญชีได้ไม่เกิน 1 ปี
             ใน ว12 จะบอกหลักเกณฑ์และวิธีการสอบ รวมทั้งหลักสูตรการสอบภาค ก. ข. ค. ไว้ด้วย
             ดู ว12 ได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/.../PDF/v12-2556.pdf
             ( กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ จะมีอยู่ 7 กรณี ตามข้อ 2.1-2.7  ที่ กศน.ใช้คือ 2.6 )

         2. วันเสาร์ที่ 31 พ.ค.57 ผมตอบคำถามคุณ ยุทธนา ถาวร ครู กศน.ตำบล กศน.อ.บ้านม่วง ที่ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  การย้ายสถานศึกษา ในกรณีที่ในระบบเขาส่งเด็กมาในช่วงกลางภาคเรียน หรือช่วงลงทะเบียนเรียนเสร็จแล้ว เราสามารถรับเด็กคนนั้นมาลงทะเบียนในภาคเรียนนั้นได้เลยไหม หรือต้องรอเปิดภาคเรียนใหม่ก่อน
             ผมตอบว่า   กรณีที่โรงเรียนในระบบส่งเด็กมาเรียน กศน.ในช่วงกลางภาคเรียนหรือช่วงหลังหมดเวลาลงทะเบียนเรียน เรารับขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา ( ได้รหัสประจำตัวนักศึกษา ) ได้เลย ( รวมทั้งสถานศึกษาอาจกำหนดให้เทียบโอนกลางภาคเรียนได้ )  แต่ ให้ลงทะเบียนเรียนวิชาต่าง ๆ เมื่อเปิดภาคเรียนใหม่ เพราะวิชาของในระบบกับวิชาของ กศน. เป็นคนละรหัส คนละวิชา จึงเรียนต่อจากครึ่งภาคเรียนแรกในระบบไม่ได้ ( ถ้าย้ายจากในระบบ ไปในระบบด้วยกัน จะเรียนต่อกันได้เลยในวิชาที่รหัสเดียวกัน )
             การลงทะเบียนเรียนหลังหมดเวลาลงทะเบียนเรียนแล้ว จะมีปัญหาเช่น เวลาเรียนไม่ครบตามที่ระเบียบกำหนด, แจ้งจำนวนข้อสอบสำหรับจัดห้องสอบไปแล้ว  ( ที่ผ่านมา ผู้ที่ออกจากในระบบมาเรียน กศน. จำนวนไม่น้อยจะจบก่อนเพื่อนที่เคยเรียนในระบบรุ่นเดียวกัน )

         3. วันเดียวกัน ( วันเสาร์ที่ 31 พ.ค.) ผมตอบคำถามคุณ Yothin Sommanonont ที่ถามผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊คผม ว่า  มีหลักสูตร ลูกเลือ กศน. 1 สค.03029 ไหม
             ผมตอบว่า   คำว่า "หลักสูตรรายวิชา" จะหมายถึง "คำอธิบายรายวิชา กับ รายละเอียดคำอธิบายรายวิชา" นะ ( ส่วนพวกหนังสือแบบเรียน เป็นส่วนเสริม )  ดูวิธีค้นหาหลักสูตร ( ค้นหาคำอธิบายรายวิชา กับ รายละเอียดคำอธิบายรายวิชา ) ทุกวิชา ได้ในข้อ 24 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2013/10/blog-post_8783.html

         4. วันเดียวกัน ( วันเสาร์ที่ 31 พ.ค.) ผมตอบคำถามคุณ Thaniwapon Komanee ที่ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  การจัดตั้งกองลูกเสือของ กศน.จัดตั้งได้เฉพาะลูกเสือวิสามัญรึเปล่า (นร.ม.ปลาย)  แล้ว ม.ต้นจะจัดตั้งกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่เหมือนโรงเรียนในระบบได้หรือไม่ (สำหรับนักศึกษา ม.ต้น )  แล้วจะต้องลงเป็นวิชาเลือกหรือเป็นกิจกรรม
             ผมตอบว่า
             1)  กองลูกเสือ กศน. เป็นกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และ/หรือ ลูกเสือวิสามัญ
                  การขอจัดตั้งกองลูกเสือ ต้องตั้งอย่างน้อย 1 กอง
                  - กองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ 1 กอง มีจำนวนลูกเสือ 8 – 48 คน มีอายุ 14 – 18 ปี หรือ กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษา
                  - กองลูกเสือวิสามัญ 1 กอง มีจำนวนลูกเสืออย่างน้อย 10 คน ไม่เกิน 40 คน อายุระหว่าง 16 – 25 ปี หรือกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
             2)  การจะขอจัดตั้งกองลูกเสือได้ ต้องมีผู้กำกับลูกเสือประเภทนั้นอย่างน้อย 1 คน เป็นคนจากหน่วยงาน/สถานศึกษาอื่นก็ได้
             3)  ผู้กำกับกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ มีอายุไม่น้อยกว่า 23 ปี และต้องได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ประเภทลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ (S.S.W.B.),  ส่วนผู้กำกับกองลูกเสือวิสามัญมีอายุไม่น้อยกว่า 25 ปี และต้องได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ประเภทลูกเสือวิสามัญ (R.W.B.)
             4)  ลงเป็นวิชาเลือกหรือเป็นกิจกรรมก็ได้
             ( ดูข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ในข้อ 4 ที่ http://www.gotoknow.org/posts/519440 )

         5. วันเดียวกัน ( วันเสาร์ที่ 31 พ.ค.) ผมตอบคำถามคุณ Yotin Cheameungpan ที่ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  ครูผู้ช่วยสังกัดกระทรวงศึกษาฯใช้เครื่องหมายอินทนู 3 ขีด ส่วนครูผู้ช่วยสังกัดท้องถิ่นใช้อินทนูกี่ขีด เห็นบาง ร.ร.ใช้ 2 ขีด บาง ร.ร.ใช้ 3 ขีด
             ผมตอบว่า   ตามหนังสือที่ มท 0893.4/589 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตอบข้อหารือ ก.ท.จ.อุทัยธานี เกี่ยวกับเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูของตำแหน่งครูผู้ดูแลเด็ก ว่า จะให้ปฏิบัติตาม
             - กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2542) ออกตามความใน พ.ร.บ.เครื่องแบบเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ.2509   หรือให้ปฏิบัติตาม
             - ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดให้ใช้เครื่องหมายตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
             ซึ่งกรมฯได้ตอบว่า เครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูของตำแหน่งครูผู้ดูแลเด็ก ให้ถือปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 ( พ.ศ.2542 ) ออกตามความใน พ.ร.บ.เครื่องแบบเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ.2509  เนื่องจากครูผู้ดูแลเด็กเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
             ประกอบกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีผลใช้กับพนักงานส่วนท้องถิ่น
             ซึ่งขณะนี้ ( พ.ศ.2555 ) อยู่ระหว่างการเสนอกระทรวงมหาดไทยเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ให้เครื่องแบบของพนักงานส่วนท้องถิ่นเหมือนกับเครื่องแบบของข้าราชการพลเรือนและข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
             - ดูหนังสือตอบข้อหารือนี้ได้ที่ https://yotathai.box.com/s/35xkb2d8x8fvnnfj1lfs
             - ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2542) ได้ที่ http://www.local.moi.go.th/law43.htm

         6.
วันที่ 2 มิ.ย.57 ผมเผยแพร่เรื่อง ตรา ( เครื่องหมาย ) ของ สนง.กศน.จังหวัด อำเภอ ในเฟซบุ๊ค โดย ตั้งเป็นคำถามก่อนว่า
             ตราสัญลักษณ์ ( เครื่องหมายราชการ ) สำนักงาน กศน.จังหวัดฯ
  ตราไหนถูกต้อง ?

             ก. มีคำว่า ส่วนกลาง
             ข. มีแต่ชื่อจังหวัด
             ค. มีชื่อจังหวัดแต่ไม่มีคำว่าจังหวัด
             ง. มีชื่อจังหวัด 2 ที่


             ตราที่มีข้อความถูกต้อง ในภาพนี้ คือ ก. ตราของ จ.นนทบุรี แต่ไม่แน่ใจว่าถูกต้องสมบูรณ์หรือไม่ เพราะภาพไม่ชัด ดูไม่ออกว่าเส้นรอบวงนอกสุดเป็นเส้นคู่หรือไม่ ถ้าเป็นเส้นคู่จึงจะถูกต้องสมบูรณ์
             ( ตราของ กศน.จังหวัด ตัวหนังสือด้านล่างจะใช้คำว่า ส่วนกลาง”, ถ้าเป็นตราของ กศน.อำเภอ ตัวหนังสือด้านล่างจึงจะใช้จังหวัด ...” )
             ดูข้อมูลอ้างอิงที่  http://203.172.142.2/information/beta/logo_onie.html
             ดูตัวอย่างตรา ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/JPG/pNFElgB.jpg
             จังหวัดใดยังไม่มีไฟล์ตราสัญลักษณ์ .. ถ้าจะทำ และใช้โปรแกรม PhotoShop เป็น .. ให้นำไฟล์สกุล .psd ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/OTHER/pNFElgB.psd  ไปเปลี่ยนชื่อจังหวัดได้เลย

        
7.
วันที่ 3 มิ.ย.57 มีผู้ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค 2 คน ในเรื่องเดียวกัน ( ถามตอนกลางวัน 1 คน กลางคืน 1 คน ) คนหนึ่งบอกว่า เป็นข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์.. ผอ.กศน.อำเภอมีคำสั่งให้ข้าราชการและลูกจ้างอยู่เวรยามกลางวันและกลางคืน ผลัดเปลี่ยนกัน ซึ่งปัจจุบันมีบุคลากรทั้งหมด 11 คนรวมทั้ง ผอ.  มีชาย 2 คน หญิง 9 คน เป็น ข้าราชการครู 1 คน ข้าราชการบรรณารักษ์ 1 คน ครูอาสา 1 คน ครู กศน.ตำบล 2 คน ครูผู้สอนคนพิการ 4 คน และบรรณารักษ์อัตราจ้าง 1 คน .. บุคลากร กศน.อำเภอย้ายมาอยู่กับห้องสมุดประชาชน ผอ.ให้บุคลากรหญิงจับคู่กัน 2 คนมานอนเวรกลางคืน  เวรกลางวันให้อยู่คนเดียว ส่วนครูผู้ชายไปอยู่เวรที่ กศน.ตำบล .. ซึ่งห้องสมุดประชาชนอำเภอค่อนข้างเปลี่ยวและน่ากลัวทำให้บุคลากรไม่กล้ามานอนเวรกลางคืนกัน  อยากทราบว่ามีระเบียบบอกไหมว่าการนอนเวรกลางคืนต้องให้ผู้หญิงนอน เคยได้ยินว่าเวรกลางคืนจะให้ผู้ชายอยู่ หรือมีระเบียบข้อไหนที่ไม่ให้ผู้หญิงมานอนอยู่เวรกลางคืนไหม 

             ผมตอบว่า   การอยู่เวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการ ใช้ "หลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์ ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0206/107 เรื่องการปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการ ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2542"  ดาวน์โหลดได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/vene.pdf
             หลักเกณฑ์นี้ระบุไว้ในข้อ 7. ว่า "การจัดผู้ปฏิบัติหน้าที่เวร และผู้ตรวจเวร ของสตรี ให้จัดให้ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในเวลากลางวันของวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ  เว้นแต่ผู้มีหน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องปฏิบัติในเวลากลางคืนโดยจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรและผู้ตรวจเวรสตรีในกรณีนี้ด้วย"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย