วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2561

1.ขรก.ครู สายงานการสอน ต้องรู้..., 2.เป็นตำแหน่งครู 21 เม.ย.60 ทำวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เก่าได้ไหม, 3.ซื้ออุปกรณ์-เครื่องหมายลูกเสือได้ไหม, 4.นศ.จบภายใน 1 ภาคเรียนได้ไหม, 5.กพร.กีฬาพื้นบ้าน เบิกค่าอาหารนักกีฬาได้ไหม, 6.ได้รับบริจาคทรัพย์สิน ออกใบอนุโมทนาได้ไหม, 7.ห้ามจบก่อนวัยใช่ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ขรก.ครู สายงานการสอน ต้องรู้... ( การพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้มี/เลื่อน เป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ/เชี่ยวชาญ )

             สำนักงาน กศน. ได้ส่งหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ว 20-22/60 เรื่องเกี่ยวกับวิทยฐานะ มาให้ทุกจังหวัด ( ดูได้ที่  https://www.dropbox.com/s/9omswp328v3rckr/V20-22_60.pdf?dl=1 )
             โดยหนังสือ ว 22/60 เป็นเรื่องการพัฒนา ขรก.ครูสายงานการสอน

             แม้ครูเก่าจะยังเสนอขอวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เก่าได้ ซึ่งไม่ว่าจะทำวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เก่า ( ว17/52 ) หรือหลักเกณฑ์ใหม่ ( ว21/60 ) ทุกคนก็ต้องผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้ง  โดย ที่ผ่านมาก่อนมีหลักเกณฑ์ใหม่ กศน.เคยจัดการอบรมพัฒนาก่อนแต่งตั้งตาม ว3/54 ให้ประมาณปีละครั้ง แต่.. ปีนี้ กศน.จะไม่จัดอบรมพัฒนาแบบเดิมให้ ขรก.ครูสายงานการสอน ปีต่อไปก็ยังไม่แน่ว่าจะจัดหรือไม่ แต่ครูเข้าอบรมพัฒนาที่หน่วยงานอื่นจัดได้
             และแม้ครูเก่าจะเสนอขอวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เดิม ก็อบรมพัฒนาตาม ว 22/60 ได้

             ข้อกำหนดการพัฒนาตาม ว 22/60 เช่น
             - ต้องเข้ารับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยให้ประเมินตนเองตามแบบที่ ก.ค.ศ.กำหนด พร้อมทั้งจัดทำแผนการพัฒนาตนเองเป็นรายปีตามแบบที่ส่วนราชการต้นสังกัดกำหนด
             - พัฒนาตามหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรอง แต่ละปีจำนวน 12-20 ชม. โดยภายใน 5 ปีต้องพัฒนา 100 ชม. ( ถ้ามีปีที่พัฒนาไม่ครบ 20 ชม. แต่ไม่น้อยกว่า 12 ชม. ให้นำ ชม.การมีส่วนร่วมในชุมชนการเรียนรู้ฯ :
PLC ส่วนที่เกิน มานับรวมได้ )

             อนึ่ง ว 22/60 กำหนดการดำเนินการในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน สำหรับครูเก่าที่เสนอขอวิทยฐานะ ว่า
             - ถ้าเคยผ่านการอบรมพัฒนาแบบเดิมแล้วไม่เกิน 3 ปี ให้นำมาใช้ขอวิทยฐานะได้ 1 ครั้ง
             - ครูเก่าที่ดำรงตำแหน่งครู/วิทยฐานะมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งที่เคยผ่านการอบรมพัฒนาแบบเดิม แต่เกิน 3 ปี และที่ไม่เคยผ่านการอบรมพัฒนา สามารถเข้ารับการพัฒนาตาม ว 22/60 นี้โดยให้ผ่านการพัฒนาตามหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรอง จำนวนเพียง 20 ชม.ในการขอวิทยฐานะครั้งแรก 1 ครั้ง ( ถ้าขอ 1 ครั้งแล้วไม่ผ่าน การขอครั้งต่อ ๆ ไปจำนวน ชม.จะไม่ใช่เพียง 20 ชม. )

             อนึ่ง กองศูนย์ส่วนกลาง กศน. รวมทั้ง กศน.ภาค พิจารณาจัดทำหลักสูตรการพัฒนา เสนอให้สถาบันคุรุพัฒนารับรอง เพื่อนำมาให้ ขรก.ครูสายงานการสอนของ กศน.สมัครเข้าอบรมพัฒนาตามหลักเกณฑ์ ว22 ซึ่งไม่แน่ว่ากองศูนย์ใดจะจัดบ้าง  แต่ ขรก.ครู กศน.สามารถสมัครเข้าพัฒนาตามหลักสูตรของสังกัดอื่น เช่น สพฐ. ( ที่ผ่านการรับรองของสถาบันคุรุพัฒนา ) ได้ ตาม แนวปฏิบัติการให้บุคลากรไปอบรมที่หน่วยงานอื่นจัด ฉบับปี 60 ( ที่ ศธ 0210.118/5854 ลว.1 พ.ย.60  ดูได้ที่  https://www.dropbox.com/s/x6tjyo5wmar02uo/TrainOther60.pdf?dl=1 )






         2. เย็นวันที่ 11 ม.ค.61 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  จบ ป.โท ก่อนวันที่ 9 ธันวาคม 2559 บรรจุครูผู้ช่วยวันที่ 20 เมษายน 2558 แต่งตั้งตำแหน่งครู วันที่ 21 เมษายน 2560 ( แต่คำสั่งลงวันที่ 3 สิงหาคม 2560) คุณสมบัติยังสามารถทำ ว 17 ได้หรือเปล่า

             ผมตอบว่า   ได้.. เพราะดำรงตำแหน่งครู 21 เม.ย.60
             ผู้ที่ดำรงตำแหน่งครู ก่อนวันที่ 5 ก.ค.60 และก่อนวันที่ 5 ก.ค.60 นี้คุณสมบัติยังไม่ครบที่จะขอมีวิทยฐานะตาม ว 17/52 สามารถรอให้ถึงวันที่คุณสมบัติครบ แล้วขอตาม ว 17/52 ได้ 1 ครั้ง โดยต้องขอภายใน 1 ปี นับแต่วันที่คุณสมบัติครบตาม ว 17/52  ( ดูภาพประกอบ )







         3. วันที่ 12 ม.ค.61 มีผู้โทร.จาก กศน.อ.ใน อยุธยา มาถามผมว่า  อุปกรณ์-เครื่องหมายลูกเสือ เช่น ผ้าพันคอ วอคเกิ้ล เชือก เข็มขัด ซื้อได้ไหม

             ผมตอบว่า   ก็คงเหมือนกับชุดหรือเครื่องแบบลูกเสือ ( อุปกรณ์-เครื่องหมาย เป็นส่วนประกอบของชุดหรือเครื่องแบบลูกเสือ )  ซื้อไม่ได้ ไม่มีระเบียบรองรับ

             หลังจากตอบไปแล้ว เพื่อความมั่นใจ ผมได้เรียนถามท่าน อ.สุนีย์ หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. ว่าผมตอบถูกต้องไหม  ท่านบอกว่า ถูกต้อง เพราะสำนักงาน กศน.ทำเรื่องหารือกรมบัญชีกลางไปนานแล้ว กรณี สตง.เรียกเงินคืนค่าชุดลูกเสือพร้อมอุปกรณ์ แต่กรมบัญชีกลางยังไม่ตอบ

         4. คืนวันเสาร์ วันเด็กที่ 13 ม.ค.61 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  เด็กเทียบโอนแบบใหม่(ฉบับปรับปรุง2559) เด็กจบได้ภายใน1 ภาคเรียนได้ไหม

             ผมตอบว่า   นศ.จบได้ภายใน 1 ภาคเรียนมานานแล้ว ตั้งแต่หลักสูตร 2544  คือถ้าครบ 4 เงื่อนไขก็จบ เช่น กพช.ครบ 200 ชม. วิชาเลือกบังคับอย่างน้อย 2 วิชา  ( ถ้าเทียบโอนผลการเรียนได้มากจนเหลือวิชาเลือกที่ต้องเรียนเพิ่มไม่ถึง 4-6 นก. ก็ไม่ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ )

             ( การเทียบโอนรายวิชา ห้ามเทียบโอนเกิน 75 % ของจำนวนหน่วยกิตทั้งหมด ซึ่งถ้าเทียบโอนได้มากถึงหรือเกือบถึง 75 % ก็จะเหลือจำนวนหน่วยกิตที่สามารถลงทะเบียนเรียนได้หมดในภาคเรียนเดียว เช่น หน่วยกิตทั้งหมดของระดับประถมคือ 48 หน่วยกิต เทียบโอนได้ไม่เกิน 75 % ของ 48 คือเทียบโอนได้ไม่เกิน 36 หน่วยกิต ถ้าเทียบโอนได้ 31-36 หน่วยกิต ก็จะเหลือ 14-17 หน่วยกิต โดยระดับประถมให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 14 หน่วยกิต และถ้ามีการเทียบโอนผลการเรียนหรือเคยสอบไม่ผ่านได้เกรด 0 ภาคเรียนสุดท้ายก็ยังสามารถเรียนมากกว่าที่กำหนดได้อีก 3 หน่วยกิต รวมเป็น 17 หน่วยกิต ซึ่งระดับประถมถ้าเทียบโอนในภาคเรียนแรกแล้วเหลือไม่เกิน 17 หน่วยกิต ก็ถือว่าภาคเรียนแรกนั้นเป็นภาคเรียนสุดท้ายด้วย สามารถลงทะเบียนเรียนได้ถึง 17 หน่วยกิต )

             เพียงแต่ปัญหาคือ ใน 1 ภาคเรียน กพช.มักจะไม่ครบ 200 ชม. แต่ นศ.ก็สามารถเสนอขอทำ กพช.แบบทำคนเดียว ให้ครบ 200 ชม.ได้นะ
             ( ดูคำตอบเดิม ในข้อ 6 ที่ 
https://www.gotoknow.org/posts/488007 )

         5. เช้าวันอาทิตย์ที่ 14 ม.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  กิจกรรม กพร. กีฬาพื้นบ้าน เช่น ชักเย่อ วิ่งกระสอบ กินวิบาก ฯลฯ  นักกีฬาเบิกค่าอาหารในวันแข่งขันได้หรือเปล่า

             ผมตอบว่า   เบิกค่าอาหารนักกีฬาพื้นบ้านได้ตามข้อ 1.2 ในตารางที่  https://www.dropbox.com/s/24vx30wq37r7luz/Criteriamoney.pdf?dl=1
             ( ถ้าเป็นการละเล่นพื้นบ้าน เช่น งูกินหาง เป่ากบ จะไม่เข้าข่ายเป็น กีฬาพื้นบ้าน ๆ ต้องใช้กำลังพอสมควร การแข่งมีกติกาวางไว้แน่นอน และเป็นการกระทำที่สลับซับซ้อนมีกลวิธีการเล่น และผู้เล่นซึ่งเรียกว่านักกีฬาต้องได้รับการฝึกฝนมาก่อนพอสมควร ทั้งมีเทคนิคหรือกลวิธีการเล่นต่าง ๆ เพื่อให้ได้ชัยชนะ เช่น แย้ลงรู วิ่งสวมกระสอบ วิ่งเปี้ยว ชักคะเย่อ
             ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน กีฬา หมายถึง กิจกรรมหรือการเล่นเพื่อความสนุกเพลิดเพลินเพื่อความแข็งแรงของร่างกาย หรือเพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดทางจิต )

             ส่วน กรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ( ดูได้ที่  https://www.dropbox.com/s/f66w9e4c1niy9a0/fameqoalitystudent58.doc?dl=1 ) กำหนดไว้ในข้อ 2.8 กิจกรรมด้านกีฬา และส่งเสริมสุขภาพ ว่า เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้มีโอกาสออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพพลานามัยที่ดี สร้างนิสัยความมีน้ำใจเป็นนักกีฬาและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  เป็นการสร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะ ให้รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย และเป็นการสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างนักศึกษา กศน. ครู กศน. บุคลากรทางการศึกษา พนักงานราชการ ข้าราชการพลเรือน ครู และผู้บริหารหน่วยงาน/สถานศึกษา
             กีฬาพื้นบ้านที่มีลักษณะตามนี้ ก็ถือเป็นกีฬาที่เบิกได้

         6. เย็นวันที่ 15 ม.ค.61 สืบพงษ์ ทับทาบ หัวหน้า กศน.ตำบลทองหลาง อ.ห้วยคต อุทัยธานี ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  กศน.ตำบลที่ทำงานอยู่ ได้รับการสนับสนุนคอมพิวเตอร์จำนวน 2 เครื่อง ราคารวมประมาณ 12,000.- การบริจาคครั้งนี้มาจากบุคคลภายนอก เราสามารถออกใบอนุโมทนาบัตรให้เขาได้หรือไม่ และถ้าออกได้ พอมีรูปแบบไหม

             ผมตอบว่า   ออกประกาศเกียรติคุณบัตรได้ โดยถ้ามูลค่าไม่ถึง 5 ล้านบาท ให้ ผอ.สถานศึกษา ( ผอ.กศน.อำเภอ ) เป็นผู้ตอบขอบคุณหรืออนุโมทนาและออกประกาศเกียรติคุณบัตร และถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ของใหม่ไม่ใช่มือสอง ให้ระบุราคา ( ราคาตลาด ) ต่อท้ายรายการทรัพย์สินในประกาศเกียรติคุณบัตรด้วย ผู้บริจาคจะได้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

             แต่เมื่อออก หลักฐานการรับแบบนี้แล้ว กศน.อำเภอต้องลงทะเบียนพัสดุ และบันทึกลงระบบ GFMIS ด้วยนะ  ( ถ้ารับบริจาคเป็น เงิน กศน.อำเภอก็ต้องออกใบเสร็จรับเงิน และนำเงินเข้าระบบบัญชี เบิกจ่ายตามขั้นตอนระเบียบราชการ )
             ดูระเบียบต่าง ๆ พร้อมรูปแบบประกาศเกียรติคุณบัตร ได้ตามลิ้งค์ของคำตอบเดิมในข้อ
3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/11/bookoffice.html  

         7. ดึกวันที่ 17 ม.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  อยากขอทราบรายละเอียดการรับเด็กอายุไม่ 15 ปีเข้าเรียนกศน. แล้วห้ามเด็กจบก่อนวัยใช่หรือไม่ และะมีวี๊การอย่างไร

             ผมตอบว่า   ดูในคำตอบเดิม ๆ เช่นในข้อ 7 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/11/youtube.html
            
( วันที่ 18 ม.ค.61 อ.กิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. ก็ยังยืนยันเหมือนเดิม ว่า จะจบ ประถมต้องอายุ 12 ปี จะจบ ม.ต้นต้องอายุ 15 ปี )





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย