วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

1.จนท.บันทึกข้อมูล วุฒิ ป.ตรี ปรับเงินเดือนเป็นหมื่นห้าไหม, 2.รวมสิทธิของข้าราชการเกษียณ, 3.เราออกใบอนุโมทนาบัตรให้กับผู้บริจาคเงินได้ไหม, 4.กศน.อำเภอต้องเตรียมสมุดตรวจราชการ/ตรวจเยี่ยม/นิเทศ อย่างไร, 5.ใบ รบ. ประทับตราก่อนหรือ ผอ.เซ็นก่อน, 6.นายทะเบียนลาคลอด, 7.การลงทะเบียน/การจบ ของผู้ไม่รู้หนังสือ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 5 ต.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ที่สัญญาจ้าง จ้างด้วยวุฒิ ป.ตรี. สามารถปรับเงินเดือนเป็น 15,000 บาท ได้หรือเปล่า ผอ ให้แก้สัญญาเป็น ป.ตรี

             ผมตอบว่า   ตามลักษณะขอบเขตของงานจ้าง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล เป็นลักษณะงานที่ กศน.กำหนดให้จ้างวุฒิ ปวช. อัตราค่าจ้าง 11,680 บาท  ถึงแม้ผู้รับจ้างจะจบปริญญาเอกก็อัตราค่าจ้าง 11,680 บาท ( ดูที่วุฒิตามประกาศรับสมัคร ไม่ได้ดูที่วุฒิจริงของผู้สมัคร )

         2. คืนวันที่ 12 ต.ค.58 ผมโพสต์ในเฟซบุ๊ค เรื่อง รวมสิทธิของข้าราชการเกษียณ ว่า
             ถ้าเลือกรับบำเหน็จ สิทธิต่างๆจะระงับไป เช่นค่ารักษาพยาบาล เหลือเพียงสิทธิเดียวคือ การขอพระราชทานเพลิงศพ

             กลุ่ม ผู้ไม่เป็นสมาชิก กบข.
             ก): กรณีรับบำเหน็จ
                  จะได้รับเงินบำเหน็จเป็นเงินก้อนเดียว [ เงินบำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ(รวมอายุราชการทวีคูณ) ]
                  สิทธิต่าง ๆ ระงับไป ยกเว้นการขอพระราชทานเพลิงศพ

             ข): กรณีรับบำนาญ
                  จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนทุกเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต [ บำนาญรายเดือน = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการเป็นปี (รวมอายุราชการทวีคูณ เศษเกิน 6 เดือนจึงนับเป็น 1 ปี) แล้วหารด้วย 50 ]
                  และยังมีสิทธิได้รับ
                  1)  ค่ารักษาพยาบาลของตนเอง คู่สมรส บิดามารดา บุตรที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ และบุตรไร้ความสามารถไม่จำกัดอายุ
                  2)  ค่าตรวจสุขภาพ
                  3)  ค่าการศึกษาบุตร เบิกได้ถึงบุตรอายุ 25 ปีบริบูรณ์
                  4)  บำเหน็จดำรงชีพ ( เงินเพิ่มให้พิเศษ ) = 15 เท่า ของเงินบำนาญ 1 เดือน แต่ไม่เกิน 400,000 บาท โดยจ่ายให้ทันทีเมื่อเกษียณครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนที่เหลือขอรับได้เมื่ออายุครบ 65 ปี
                  5)  เงินช่วยพิเศษ เมื่อถึงแก่กรรม = 3 เท่า ของเงินบำนาญ ( มอบให้กับผู้ที่ผู้รับบำนาญแสดงเจตนาไว้ หรือทายาทตามกฎหมาย )
                  6)  เงินบำเหน็จตกทอด เมื่อถึงแก่กรรม เป็นเงินก้อนเดียว = เงินบำนาญ x 30 เท่า เงินบำเหน็จดำรงชีพที่รับไปแล้ว ( มอบให้กับทายาทตามกฎหมาย ถ้าไม่มีทายาทมอบให้ผู้ที่ผู้รับบำนาญแสดงเจตนาไว้ ถ้าไม่มีทายาทและไม่ได้แสดงเจตนาไว้ เป็นอันยุติบำนาญตกทอด )


             กลุ่ม ผู้เป็นสมาชิก กบข.
             ก): กรณีรับบำเหน็จ
                  จะได้รับเงินบำเหน็จเป็นเงินก้อนเดียว [ เงินบำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ (รวมอายุราชการทวีคูณ เศษเดือนเศษวันเป็นจุดทศนิยม) ]
                  สิทธิต่าง ๆ ระงับไป ยกเว้นการขอพระราชทานเพลิงศพ


             ข): กรณีรับบำนาญ
                  จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต [ บำนาญรายเดือน = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ(รวมอายุราชการทวีคูณ เศษเดือนเศษวันเป็นจุดทศนิยม)รวมไม่เกิน 35 ปี แล้วหารด้วย 50 ] แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
                  และยังได้รับสิทธิต่าง ๆ เหมือนกับบำนาญปกติ
                  นอกจากนี้ สมาชิก กบข.แบบ ก.,ข. ยังได้รับ
                  - เงินสะสม + ผลประโยชน์ของเงินสะสม
                  - เงินประเดิม + ผลประโยชน์ของเงินประเดิม
                  - เงินชดเชย + ผลประโยชน์ของเงินชดเชย
                  - เงินสมทบ + ผลประโยชน์ของเงินสมทบ
                   ( ผู้ที่ลาออกจาก กบข.จะได้เฉพาะเงินสะสม+ผลประโยชน์ของเงินสะสม คืน )

             หมายเหตุ.
             ก. ผู้ที่ได้รับบำเหน็จตกทอด คือผู้ที่ผู้รับบำนาญแสดงเจตนาไว้ หรือทายาทตามกฎหมาย คำว่า ทายาทตามกฎหมาย ได้แก่
                  - บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับคนละ 1 ส่วน
                  - สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับ 1 ส่วน
                  - บิดา หรือมารดา หรือทั้งบิดาและมารดา ที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้รับ 1 ส่วน
             ข. เงินอื่น ๆ ที่ทุกกลุ่มจะได้รับ ถ้าสมัครเป็นสมาชิก
                  - เงินฌาปนกิจสงเคราะห์
                  - เงินผลประโยชน์จากหุ้นสหกรณ์
                  - เงินประกันชีวิตและเงินช่วยเหลือจากสหกรณ์
             ค. เวลาราชการทวีคูณ ในช่วงประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร 2 ช่วงล่าสุด รวม 15 เดือน 18 วัน ( ช่วงที่ 1 วันที่ 19 ก.ย.49 – 26 ม.ค.50 = 4 เดือน 11 วัน , ช่วงที่ 2 วันที่ 20 พ.ค.57 – 1 เม.ย.58 = 11 เดือน 7 วัน ) นั้น ได้เวลาราชการทวีคูณเฉพาะทหารตำรวจ ส่วนข้าราชการอื่นไม่ได้ เพราะไม่ได้เสี่ยงภัย



         3. วันที่ 16 ก.ย.58 Bee Sizz ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  กศน.เราสามารถออกใบอนุโมทนาบัตรให้กับผู้บริจาคเงินได้ไหม

             ผมตอบว่า   ได้ ออกเป็น ประกาศเกียรติคุณบัตรโดยปฏิบัติตามระเบียบ 2 ฉบับ คือ
             1)  ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการขอบคุณและอนุโมทนา พ.ศ. 2547 ( https://www.dropbox.com/s/di7hnuur7erxzde/thank47.pdf?dl=1 )
             2)  ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่สถานศึกษา พ.ศ.2552 ( https://www.dropbox.com/s/x4ybzt4p419brh7/recivemoney52.pdf?dl=1 )
             เดิม ใบประกาศเกียรติคุณบัตรนี้ ต้องซื้อจากองค์การค้าของคุรุสภา แต่ปัจจุบันสถานศึกษาจัดทำเองได้  ดูตัวอย่างที่ https://www.dropbox.com/s/c0f74x32m5x278z/goodcard.jpg?dl=1

         4. คืนวันที่ 20 ต.ค.58 ผมนำหนังสือแจ้งเกี่ยวกับเรื่อง กศน.อำเภอ ต้องเตรียมสมุดอะไร อย่างไร (สมุดตรวจราชการ/สมุดตรวจเยี่ยม/สมุดนิเทศติดตามผล) ของ สนง.กศน.จ.ขอนแก่น มาเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค : ..




         5. คืนวันที่ 22 ต.ค.58 ผมตอบคำถาม สมปอง เจริญผล ที่ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การออกหนังสือรับรอง หรือใบ รบ. ผู้บริหารต้องเซ็นต์ก่อน หรือประทับตราสถานศึกษาก่อน

             ผมตอบว่า   ตามระเบียบกำหนดว่า "ติดรูปถ่ายของนักศึกษา ประทับตราประจำสถานศึกษาด้วยหมึกสีแดงชาด ให้บางส่วนติดรูปถ่ายและบางส่วนติดบนส่วนที่ จะ เป็นลายเซ็นของหัวหน้าสถานศึกษา"  จึงสรุปได้ว่า ประทับตราสถานศึกษาก่อน หัวหน้าสถานศึกษาเซ็นทีหลัง

         6. เย็นวันที่ 2 พ.ย.58 อาธิป บูสา ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ถ้านายทะเบียนลาคลอด ระหว่างนั้นผู้ช่วยนายทะเบียนจะสามารถลงนามแทนนายทะเบียนในหลักฐานต่างๆได้มั้ย เช่น ลงนามในวุฒิการศึกษา หรือวุฒิบัตร

             ผมตอบว่า   ผู้ช่วยนายทะเบียนลงนามไม่ได้ ต้องให้นายทะเบียนลงนาม   ถ้าจำเป็น ผอ.ก็แต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียน หรือคนอื่นที่มีคุณสมบัติ ให้เป็นนายทะเบียนชั่วคราว

         7. ระยะนี้มีหลายคนถามเรื่องเกี่ยวกับการลงทะเบียน/การจบ ของผู้ไม่รู้หนังสือ เช่น อภิชาต อามีน ขันธชัย โทร.มาถามผมว่าต้องขึ้นทะเบียนผู้ไม่รู้หนังสือในโปรแกรม ITw หรือไม่

             ผมตอบว่า   เรื่องการรู้หนังสือ ไม่ต้องลงในโปรแกรม ITw
             - ให้ดูเรื่อง เอกสารหลักฐานการศึกษา การจบหลักสูตร ใน หลักสูตรการรู้หนังสือไทย พ.ศ.2557” ดูหลักสูตรนี้ได้ที่  https://www.dropbox.com/s/umvk0fqftjupxh2/LiterCur57.pdf?dl=1
             - ดูหนังสือเรียนการรู้หนังสือ ที่  https://www.dropbox.com/s/4j0sc8ip9c6q17h/g6.22.pdf?dl=1
             -
เรื่องการรู้หนังสือนี้ ดูแบบฟอร์มวุฒิบัตรและเอกสารต่าง ๆ ได้ที่
( วุฒิบัตรอยู่ในหน้า 20 )

             - ฟ้อนต์ ( Font ) สำหรับพิมพ์ตัวอักษรเป็นเส้นประ เพื่อให้ผู้ไม่รู้หนังสือหัดเขียนตามเส้นประ
                ลักษณะของแบบอักษร เป็น แบบเลือกตามโครงสร้างมาตรฐานตัวอักษรไทยของราชบัณฑิต
                ชื่อฟ้อน Layiji_kutlaimuu ( เลย์อิจิ คัดลายมือ )
                ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.krooupdate.com/news/newid-460.html
                เมื่อดาวน์โหลดและแตกไฟล์จนได้ไฟล์ Layiji_kutlaimuu.ttf แล้ว ให้เปิดไฟล์นี้โดยดับเบิ้ลคลิกที่ชื่อไฟล์
                ถ้ามีการถามว่าจะใช้โปรแกรมอะไรเปิดไฟล์ ให้เลือกเปิดด้วยโปรแกรม Windows Font Viewer
                เปิดไฟล์แล้วเลือกที่ Install
                เสร็จแล้ว เมื่อเวลาจะพิมพ์เอกสารอะไร ก็จะมีฟ้อนต์ Layiji kutlaimuu ให้เลือกใช้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย