วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2562

1.ครูอาสาฯ ศศช. จะย้ายมาตำแหน่งครูอาสาฯพื้นที่ปกติ ได้ไหม, 2.การออกใบวุฒิกรณีสถานศึกษาค้นหาหลักฐานเดิมไม่พบ, 3.พนักงานราชการเกิด 7 ต.ค.03 เกษียณเมื่อไร, 4.พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรมออกใหม่ ปี 62 ผู้จบนักธรรมเอก สมัครเรียน ม.ปลายได้เลยไหม, 5.ชื่อภาษาอังกฤษของวิชาเลือก, 6.พนักงานราชการ เงินเดือนเต็มขั้นเท่าไร, 7.หลักฐานการลาออกจาก ปวช.มาถูกต้อง มาเรียน ม.ปลายจนจบไปแล้วจึงตรวจสอบวุฒิเดิมพบว่าไม่จบ ม.ต้น!?


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. คืนวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ตำแหน่ง พนักงานราชการ ครูอาสาสมัครฯ ประเภท ศศช. ถ้าจะย้ายมาทำตำแหน่งครูอาสาสมัคร พื้นที่ปกติในตำแหน่งที่ว่างลง สามารถย้ายได้ไหมคะ

             ผมตอบว่า   ไม่ได้ เพราะคนละตำแหน่งกัน
             โดยแนวปฏิบัติของระบบพนักงานราชการ กศน. ( ตามหนังสือ สนง.กศน.ที่ ศธ 0210.118/6651 ลว.12 ธ.ค.60 ) กำหนดในข้อ 4.3 ว่า ต้องตำแหน่งเดียวกัน






         2. วันที่ 28 พ.ย.62 มีท่านรอง ผอ.สนง.กศน.จ. โทร.มาถามผมว่า มี นศ.ที่เคยเรียนโรงเรียนผู้ใหญ่แต่ไม่เคยขอใบวุฒิ มาขอใบวุฒิโดยบอกว่าเรียนจบ แต่ค้นดูเอกสารหลักฐานเก่าขณะนี้คงเหลือเพียงเล่มเดียวซึ่งมีชื่อ นศ.รายนี้ แต่หลักฐานไม่ชัดเจนว่าเรียนจบ อย่างไรก็ตามหลักฐานเท่าที่เหลืออยู่คิดว่าเป็นไปได้ว่าเรียนจบ กรณีนี้ควรทำอย่างไร

             ผมตอบว่า   ถ้าเอกสารหลักฐานที่เหลืออยู่ ไม่สามารถออก “หลักฐานแสดงผลการเรียน” ได้ แต่ผู้เรียนยืนยันว่าเรียนจบ และเราคิดว่าเป็นไปได้ว่าเรียนจบ ให้ใช้ "ระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยเรื่องใบสุทธิของสถานศึกษาและหนังสือรับรองความรู้ของสถานศึกษา พ.ศ.2547" ซึ่งใช้กับการออก “หนังสือรับรองความรู้” ในกรณีไม่มีข้อมูลที่สามารถออกหลักฐานแสดงผลการเรียนได้
             เนื้อหาสาระของการออกหนังสือรับรองความรู้ตามระเบียบปี 47 คือ
             "การออกหนังสือรับรองความรู้ สถานศึกษาจะออกได้เฉพาะในกรณีที่สถานศึกษาไม่สามารถออกใบสุทธิ(หลักฐานแสดงผลการเรียน)ให้ หรือสำเนาต้นขั้วใบสุทธิให้ได้ ซึ่งอาจมีเหตุจากต้นขั้วใบสุทธิสูญหายหรือไม่ปรากฏหลักฐานการออกใบสุทธิหรือไม่ปรากฏหลักฐานอื่นใด เมื่อสถานศึกษาใดพบกรณีดังกล่าวนี้ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยใบสุทธิของสถานศึกษาและหนังสือรับรองความรู้ของสถานศึกษาพ.ศ.2547 ข้อ 6 มีขั้นตอนการปฏิบัติให้สถานศึกษาไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานก่อน
             กล่าวคือไต่สวนให้ได้ความจริงว่าบุคคลผู้มาขอหนังสือรับรองความรู้จบการศึกษาในสถานศึกษานั้นจริงหรือไม่ อาจสอบสวนหาพยานหลักฐานเอกสารก่อน หากไม่ปรากฏร่องรอยจากพยานเอกสารเลย ก็จำเป็นต้องหาพยานหลักฐานจากพยานบุคคล สถานศึกษาต้องไต่สวนจนกระทั่งได้หลักฐานเพียงพอว่าบุคคลนั้นจบการศึกษาจริง แล้วรายงานผลการไต่สวนให้หน่วยงานต้นสังกัดเหนือสถานศึกษาชั้นหนึ่งพิจารณาว่าเห็นควรให้ออกหนังสือรับรองความรู้ให้หรือไม่ หากเห็นว่าพยานหลักฐานเชื่อถือได้ก็อนุญาตให้สถานศึกษาออกหนังสือรับรองความรู้ให้ “สถานศึกษา” ไม่มีอำนาจพิจารณาเอง "
             การออกหนังสือรับรองความรู้กรณีนี้ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมไม่เกิน 100 บาท ( รับรองโดยไม่ต้องระบุคะแนนหรือระดับผลการเรียนแต่ละวิชา )
             มีระเบียบนี้ และแบบฟอร์ม "หนังสือรับรองความรู้" อยู่ในคู่มือดำเนินงานหลักสูตร กศน.ขั้นพื้นฐาน 51 ฉบับปรับปรุง 55 ปกสีเลือดหมู หน้า 135-137

         3. เดิมมีพนักงานราชการ จ.สกลนคร ที่เป็นพนักงานราชการ กศน.มาตั้งแต่เริ่มมีพนักงานราชการ ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า เกิดวันที่ 7 ต.ค.03 เหลือเวลาปฏิยัติหน้าที่ถึง 30 ก.ย.63 นี้ ถูกต้องมั้ย
             ผมตอบไปว่า  ไม่ใช่ครับ ปฏิบัติหน้าที่ได้ถึง 30 ก.ย.64 เพราะเกิดหลังวันที่ 1 ต.ค.03 ( ตามข้อกำหนดในภาพประกอบโพสต์นี้ )

             ต่อมา  วันหยุด 5 ธ.ค.62 ผู้ถามคนเดิม แจ้งว่า  ทาง จนท.จังหวัดยังคงแจ้งว่าต้องเกษียณ 30 ก.ย.63 นี้ เขาว่าถามสำนักแล้ว เลยทำให้ฉันสับสน เพราะฉันเปิดหาระเบียบพนักงานราชการก็เหมือน อจ.แนะนำ
             ผมตอบว่า  โทร.ปรึกษา กจ.กศน.ครับ 02-2822159 ถ้า กจ.บอกว่าสามารถต่อสัญญาได้ถึง 30 ก.ย.64 ก็ถามชื่อ จนท.กจ.คนนั้นไว้ แล้วมาบอก จนท.จังหวัด ถ้าเจ้าหน้าที่จังหวัดไม่เชื่อ ก็ขอให้เขาโทร.ถาม จนท.กจ.คนนั้น
             ( ผมถามท่านวรวิทย์ สุระโคตร ท่านก็บอกว่าต่อได้อีก 1 ปี และวันที่ 6 ธ.ค.62 ผมถามท่าน อ.ณัฐพนธ์ กจ.กศน. หลังจากคุยกันแล้วท่านก็สรุปว่าต่อได้อีก 1 ปีเช่นกัน )

             ต่อมา ผู้ถามแจ้งว่า  อจ.ณัฐพนธ์ แนะนำตามที่อจ.เอกชัย แนะนำมา ฉันได้อายุราชการอีกปี ก.ย.64 เกษียณ และฉันได้บันทึกเสียงขณะขอคำแนะนำจากกจ.ณัฐพนธ์ ด้วย






         4. พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรมออกใหม่ ปี 62 ผู้จบนักธรรมเอก สมัครเรียน ม.ปลายได้เลยไหม

             มีผู้ถามผมด้วยคำถามนี้ 3 หรือ 4 รายแล้ว
             วันที่ 11 ธ.ค.62 ผมได้รับคำตอบเรื่องนี้จาก อ.กิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. ว่า  ปฏิบัติตาม พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562 ได้เลย ส่วนกลางจะปรับเพิ่มในคู่มือการดำเนินงานตามมา แต่ ให้ดู พรบ.ใหม่นี้ให้ดี ( ดูได้ที่  http://bit.ly/2VBDl2L ) คือ มาตรา 21-22 ระบุว่า ให้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแก่สามเณรซึ่งเป็นเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับและมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่า ป.6 หรือเทียบเท่า
             ฉะนั้น ผู้เรียนจบนักธรรมเอกที่จะเทียบเท่า ม.ต้น ตาม พรบ.ใหม่นี้ จะต้องเป็นผู้เรียนที่พ้นการศึกษาภาคบังคับซึ่งได้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรม ส่วนผู้ที่เรียนชั้นนักธรรมเอกโดยไม่จบการศึกษาภาคบังคับที่ไม่ต่ำกว่า ป.6 หรือเทียบเท่า ( เรียนตาม พรบ.เดิม ) ก็ยังเทียบเท่าระดับประถมเหมือนเดิมนะ
             ( ถ้าเพิ่งจะเรียนนักธรรมเอกตอนนี้ จะต้องจบ ม.ต้นก่อน เพราะการศึกษาภาคบังคับตอนนี้คือ ม.ต้น แต่ถ้าเรียนนักธรรมเอกมานานแล้วตั้งแต่การศึกษาภาคบังคับยังเป็น ป.4 ตอนนั้นก็จะต้องจบ ป.6 แล้ว เพราะระบุว่าต้องไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ และ ไม่ต่ำกว่า ป.6 )

         5. วันที่ 11 ธ.ค.62 มีผู้ถามในไลน์โอเพนแช็ทกลุ่ม กศน. ว่า  รบกวนสอบถาม.. มีท่านใดเคยออกใบ รบ.ฉบับภาษาอังกฤษบ้างคะ.. จะรบกวนขอดูตัวอย่างค่ะ... ตอนนี้ที่ปริ้นมา ติดอยู่ 2 รายวิชาที่หาชื่อภาษาอังกฤษยังไม่ได้ค่ะ.. วิชาอาเซียน ศึกษาและวิชาการพัฒนาอาชีพค่ะ

             ผมตอบว่า   อาเซียนศึกษา = ASEAN Studies
             ปกติในหนังสือ "เอกสารการศึกษาฉบับภาษาอังกฤษ" ปกสีชมพู จะมีชื่อวิชาภาษาอังกฤษ ที่เป็นวิชาบังคับ และวิชาเลือกที่ส่วนกลางพัฒนาขึ้น ( ในโปรแกรม ITw รุ่นล่าสุด ก็ใส่ชื่อวิชาภาษาอังกฤษเหล่านี้ไว้แล้ว ) หนังสือนี้พิมพ์เมื่อปี 2554
             ส่วนชื่อวิชาภาษาอังกฤษของวิชาเลือกที่ส่วนกลางพัฒนาขึ้นหลังหนังสือเล่มนี้ บางวิชาจะมีอยู่ใน “ระบบการออกรหัสวิชาเลือก” เช่นวิชาอาเซียนศึกษา ถ้าไม่มี รวมทั้งวิชาเลือกที่สถานศึกษาพัฒนาขึ้น ให้ถามกลุ่มพัฒนา กศน.หรือสถานศึกษาที่เป็นผู้พัฒนาวิชานั้น ถ้าสถานศึกษาผู้พัฒนาตอบไม่ได้ ให้ถาม อ.ชาลินี กลุ่มพัฒนา กศน. 02-382-1895

         6. เย็นวันที่ 12 ธ.ค.62 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เงินเดือนขั้นเติมของพนักงานราชการกลุ่มงานบริการเท่าไหร่คะ ถ้าเติมขั้นแล้วสามารถปรับฐานเงินเดือนเพิ่มได้อีกหรือไม่คะ..

             ผมตอบว่า   ค่าตอบแทนพนักงานราชการกลุ่มงานบริการ ขั้นสูง ( เต็มขั้น ) ปัจจุบัน = 20,210  พนักงานราชการทุกสังกัดทุกกระทรวงใช้ระเบียบเดียวกัน  ถ้าตำแหน่งครู กศน.ตำบล จะอยู่ในกลุ่มงานบริหารทั่วไป กลุ่มนี้อัตราปัจจุบันปี 2562 ตันที่ 34,700
             จะเลื่อนค่าตอบแทนเกินขั้นสูงไม่ได้
             แต่ประมาณทุก 4-5 ปี รัฐบาลก็มักจะปรับเพิ่มขยายเพดานขั้นสูงขึ้นไปเป็นระยะ ๆ ( ข้าราชการก็มีเพดานเงินเดือนเช่นกัน )






         7. เย็นวันที่ 17 ธ.ค.62 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  มีปัญหาเรื่องการออกใบ รบ. ให้นักศึกษา คือ ได้อนุมัติจบแล้วให้ใบ รบ.ม.ปลาย กับนักศึกษาไป เนื่องจากผลการตรวจสอบวุฒิปวช ที่ลาออกมาเทียบโอน ผลตรวจกลับมาว่าถูกต้องเป็นวุฒิจริง (มาเรียน ม.ปลาย 3 เทอมจบ) แต่ผลตรวจสอบวุฒิ ม.ต้น ที่โรงเรียนเดิม ตรวจสอบกลับมาแจ้งว่าเป็นวุฒิปลอม นศ.ส่งวุฒิม.3 หลังจากที่เรียน ม.ปลายกับเราแล้ว และผลตรวจสอบก็กลับมาช้า

กรณีนี้ฉันทำบันทึกรายงานให้ผู้อำนวยการทราบและจะดำเนินการประกาศยกเลิกใบรบ.ต่อไป ขั้นตอนนี้ถูกต้องแล้วใช่ไหม

             ผมตอบว่า   ใช่ครับ
             1)  เพิกถอนวุฒิการศึกษา โดย
                  - ในโปรแกรม IT ให้ใช้เมนู 1-1-5 ( 1.ขั้นตอนการดำเนินงาน - 1.บันทึกประวัตินักศึกษา - 5.แก้ไขข้อมูลการจบออก  โดยเลือกสาเหตุที่จบ/ออก เป็น “4.พ้นสภาพ”)
             - ในเอกสารทะเบียนต่าง ๆ รวมทั้งในคู่ฉบับใบ รบ.ให้เขียนว่า “เพิกถอนสภาพการเป็นนักศึกษาเพราะวุฒิการศึกษาเดิมไม่ถูกต้อง”
             - ถ้ารายงาน GPA แล้ว ให้ทำหนังสือราชการแจ้งข้อมูลแก้ไขไปพร้อมรายงาน GPA ชุดใหม่
             2)  ประกาศยกเลิก ใบ รบ.
                  แต่ในส่วนการประกาศยกเลิกใบ รบ.นี้ มีหลายแห่ง สถานศึกษายังประกาศยกเลิกเอง แต่กรณีเป็นหลักสูตร 51 ถ้าดูในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป 104/2553 เรื่องการใช้ระเบียนแสดงผลการเรียนฯ ข้อ 5.2.1-5.2.3 ( ดูในคู่มือการดำเนินงานหลักสูตร 51 ฉบับปรับปรุง 55 ปกสีเลือดหมู หน้า 158 ) จะเห็นว่าหลักสูตร 51 ให้สำนักงาน กศน.ประกาศยกเลิก

                   ข้อ 5.2.1 กับ 5.2.2 ใช้คำว่า “รายงาน” ส่วน 5.2.3 ใช้คำว่า “ประกาศยกเลิก”  ของ สพฐ.เขาก็ไม่ได้ให้โรงเรียนประกาศ แต่เป็นประกาศเขตพื้นที่





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย