วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

1.หนังสือรับรองการนับหน่วยกิต และเอกสารรับรองคุณวุฒิ, 2.หนังสือรับรองของผู้บังคับบัญชา ต้องเอาจากที่ทำงานเดิมด้วยไหม, 3.ชื่อวิชาเอกมีวงเล็บต่อท้ายหน่อยเดียว ต้องรับรองการนับหน่วยกิตไหม, 4.สมัครครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ มีสัญญาจ้าง 180 หน้า ต้องแนบหมดหรือ?, 5.บางคนที่จังหวัดร้อยเอ็ด บอกว่าใช้ใบรับรองแพทย์แบบนี้ไม่ได้, 6.วิชา 5 นก. พบกลุ่มกี่ครั้ง, 7.Laser pointer อุปกรณ์ใช้ชี้ เป็นวัสดุหรือครุภัณฑ์


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 10 ก.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  รบกวนสอบถามการขอหนังสือรับรองหน่อยค่ะ พอดีทางมหาลัยอยากทราบว่าต้องหน่วยกิตเท่าไหร่ถึงจะมีสิทธิ์สอบค่ะ เอกการท่องเที่ยวค่ะ เอกสารข้อ 4.5 กับ 4.7 ใชัตัวรับรองมั่ยค่ะ บางท่านบอกใช่บางท่านว่าไม่ใช่ค่ะ ใช้ตัวนี้ 4.5 ได้มั่ยค่ะ
             ผมตอบว่า   ตามประกาศรับสมัครครูผู้ช่วย กศน.ในข้อ 4.7 “การนับหน่วยกิต” นั้น ให้มีหนังสือรับรองการนับหน่วยกิต เฉพาะผู้ที่ ชื่อสาขาวิชาเอกในคุณวุฒิ ไม่ตรงกับชื่อสาขาวิชาเอกที่รับสมัคร เท่านั้น ( ขาด/เกิน/ต่างกัน แม้เพียงคำเดียวก็ต้องนับหน่วยกิต ยกเว้นคำว่า “การ” นำหน้า จะมีหรือไม่มีก็ได้ )
             ใช้หนังสือรับรองการนับหน่วยกิตตามแบบฟอร์มนี้ก็ได้ โดยให้นับตามหนังสือ “แนวปฏิบัติการนับหน่วยกิต” ในภาพประกอบโพสต์นี้ คือให้นับใน Transcript ถ้าเป็น ป.ตรี หลักสูตร 4-5 ปี เช่นจบเอกพัฒนาการท่องเที่ยว จะสมัครในเอกการท่องเที่ยว ให้นับเฉพาะรายวิชาที่เป็นรายวิชาการท่องเที่ยว ให้ได้ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต
             แต่ถ้าเป็น ป.ตรี 2 ปี หลักสูตรต่อเนื่อง นับในระดับ ป.ตรี ให้ได้ไม่น้อยกว่า 20 หน่วยกิต และนับในระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่าได้ไม่เกิน 10 หน่วยกิต
             ส่วนในข้อ 4.5 "คุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง" นั้น ทุกคน ต้องมี "เอกสารรับรองคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง" ไม่ใช่เป็นตารางอย่างในรูปของคุณ แต่เป็นตามตัวอย่างในภาพประกอบโพสต์นี้ ซึ่งถ้าคุณค้นที่ https://otepc.go.th หัวข้อ: ระบบสารสนเทศ/ระบบคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง ไปจนเห็นตารางตามรูปคุณแล้ว ต้องคลิกที่รูปแว่นขยาย หน้าคุณวุฒิที่ต้องการพิมพ์ จึงจะพบเอกสารรับรองคุณวุฒินี้
นสนับหน่วยกิตB.jpg, แนวปฏิบัติการนับหน่วยกิต.jpg, เอกสารรับรองคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง.jpg

         2. คืนวันเสาร์ที่ 11 ก.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  หนังสือรับรองของผู้บังคับบัญชา ที่ ผอ.จังหวัดลงนาม ไม่ทราบว่าต้องเอาจากที่ทำงานเดิมด้วยไหมค่ะ หรือว่าเอาเฉพาะที่ทำงานปัจจุบัน
             ผมตอบว่า   หนังสือรับรองมีหลายฉบับ หนังสือรับรองของผู้บังคับบัญชา ( เอกสารแนบท้ายประกาศ 5 ) ที่ ผอ.จังหวัดลงนามนี้ เอาเฉพาะปัจจุบันที่เดียว ไม่ต้องเอาจากที่ทำงานเดิม ( ต้องแนบตารางสอนเทอมปัจจุบันคือเทอม 1/63 เทอมเดียว ที่ลงนามรับรองโดย ผอ.สถานศึกษา ด้วย
             ส่วน หนังสือรับรองจากสถานศึกษาที่มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอน ( เอกสารแนบท้ายประกาศ 4 ) ที่ลงนามโดย ผอ.สถานศึกษา/ผู้จ้าง ของแต่ละสถานศึกษา ถ้าเคยสอนหลายสถานศึกษา และสถานศึกษาปัจจุบันสอนไม่ครบ 3 ปี ต้องให้สถานศึกษาเดิมๆรับรองด้วย คือต้องใช้มากกว่า 1 ฉบับ ลงนามโดย ผอ.สถานศึกษาคนปัจจุบันของสถานศึกษาเดิมที่สอน ถ้ามีสอนครบ 9 ปีขึ้นไปก็จะได้คะแนนภาค ค มากขึ้น ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ )

         3. เย็นวันอาทิตย์ที่ 12 ก.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ดิฉันจบเอกออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(ออกแบบบรรจุภัณฑ์)
             แต่ในประกาศรับสมัคร เป็นเอกออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสากรรม เฉยๆ ไม่มีวงเล็บต่อท้าย
ดิฉันต้องมีหนังสือรับรองการนับหน่วยกิตในการสมัครด้วยมั้ยค่ะ
             ผมตอบว่า   ตามหลักการแล้ว ( ดูจากลักษณะการพิม์รายชื่อวิชาเอก ในภาพประกอบโพสต์นี้ ) กรณีนี้ก็ควรมีหนังสือรับรองการนับหน่วยกิต




         4. เย็นวันอาทิตย์ที่ 19 ก.ค.63 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ถามเรื่องสมัครสอบครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ ของ กศน.คะ เรื่องแบบรายงานประวัติและผลงานเพื่อประกอบการประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่งภาค ค. ข้อ 2 ระยะเวลาปฏิบัติการสอน ต้องใช้เอกสารประกอบคือ คำสั่ง/สัญญาจ้าง อย่างเดียวไหมคะ เนื่องจากหนูเป็นครู ศรช.คำสั่ง/สัญญาจ้าง มีประมาณ 180 แผ่นคะ ทำสัญญาจ้างครั้งละ6เดือนคะ เป็นเวลา 6ปี8เดือนคะ สัญญาจ้างต้องถ่ายทึกแผ่นเลยไหมคะ
             ผมตอบว่า   ในประกาศรับสมัคร ระบุเอกสารและหลักฐานประกอบการสมัคร ว่า
             4.13  หนังสือรับรองจากสถานศึกษาที่มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอน ( เอกสารแนบท้ายประกาศ 4 ) พร้อมแนบสำเนาคำสั่งหรือสัญญาจ้างที่มอบหมายให้สอน ไม่น้อยกว่า 3 ปี
             4.16  แบบรายงานประวัติและผลงาน ( เอกสารแนบท้ายประกาศ 7 )
             ในข้อ 4.13 ต้องแนบคำสั่งหรือสัญญาจ้าง
             แต่ในข้อ 4.16 ประวัติและผลงาน ข้อ 2 ระยะเวลาปฎิบัติการสอน ข้อ 3 สถานที่ปฏิบัติการสอน   ในส่วนของข้อ 2 ระยะเวลาปฏิบัติการสอน ไม่ต้องใช้คำสั่งหรือสัญญาจ้างเป็นหลักฐานนะ เพราะกำหนดไว้ในช่องกรอบการพิจารณาว่า พิจารณาจากหนังสือรับรอง ในข้อนี้จึงให้ใช้สำเนาหนังสือรับรอง ( เอกสารแนบท้ายประกาศ 4 ) เป็นหลักฐานเท่านั้น
             ส่วนในข้อ 3 สถานที่ปฏิบัติการสอน ให้ใช้คำสั่งหรือสัญญาจ้างฉบับปัจจุบันฉบับเดียวเป็นหลักฐาน
             โดยคำสั่งหรือสัญญาจ้างที่ต้องแนบในข้อ 4.13 กับข้อ 4.16 ( ในส่วนของสถานที่ปฏิบัติการสอน ) นั้น ถ้ามีมากเกินไป แต่ละสัญญาจ้างก็อาจถ่ายมาเฉพาะ
             - หน้าแรก
             - หน้าที่ระบุระยะเวลาการจ้าง ( ถ้าระบุระยะเวลาการจ้างไว้ในหน้าแรก ก็ใช้หน้าแรกเป็นหน้านี้ด้วย )
             - หน้าสุดท้ายที่มีลายมือชื่อผู้จ้าง/นายจ้าง-ผู้รับจ้าง/ลูกจ้าง
             - หน้าเอกสารแนบสัญญาจ้างที่ระบุบทบาทหน้าที่สอน

         5. คืนวันที่ 20 ก.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า สอบถามเรื่องใบรับรองแพทย์ที่ใช้ในการ สมัครสอบครูผู้ช่วย 63 กรณีพิเศษค่ะ ใช้ใบรับรองแพทย์ฉบับนี้ ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ) ได้ไหมค่ะ พอดีบางคนที่จังหวัดร้อยเอ็ดบอกว่าไม่ผ่านค่ะ
             ผมตอบว่า   บอกเขาว่า แบบนี้แหละจึงจะเป็นแบบที่ถูกต้อง โดยแพทยสภากำหนดให้เปลี่ยนมาใช้แบบนี้ตั้งแต่ปี 2551 แล้ว แต่สถานพยาบาลทั่วประเทศยังรู้กันไม่ทั่วถึง ( คงคล้ายกับ กศน.เรา มีระเบียบหลักเกณฑ์ออกมาใหม่ก็รู้กันไม่ทั่วถึง บางคนรู้แต่เห็นว่าไม่สำคัญ แบบฟอร์มเก่ายังเหลืออยู่ )
             แบบฟอร์มนี้รับรองไว้ทั้ง 5 โรค โดยระบุเรื่อง ไม่ติดสุราเรื้อรัง กับ ไม่ติดยาเสพติด ไว้ใน 3 บรรทัดก่อนขึ้นชื่อโรคที่ 1 เพราะ การติดสุราเรื้อรัง กับติดยาเสพติด นั้น ในการตรวจสุขภาพจะใช้วิธีสังเกต “อาการ”




         6. เย็นวันที่ 14 ก.ค.63 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ในการทำตารางเรียนการคิดเวลาเรียน ของนักศึกษา กศน.แต่ละระดับ คิดยังไง ต้องจัดตารางเรียนแบบไหนที่ถูกต้องค่ะ เช่น คณิตศาสตร์ ม.ปลาย5นก. เราต้องเรียนกี่ครั้งจาก18ครั้ง
             ผมตอบว่า   ถ้าทำแผนการจัดการเรียนรู้แบบพบกลุ่ม ต้องทำให้สอดคล้องกับเวลาพบกลุ่มทั้งหมดในภาคเรียน เช่นถ้าพบกลุ่ม 18 วัน ๆ ละ 6 ชั่วโมง รวมเป็น 108 ชั่วโมง ก็ต้องทำแผนให้รวมทุกวิชาเป็นประมาณ 108 ชั่วโมง
             แต่ละกลุ่มจะมีจำนวนวิชาที่เรียน และจำนวนหน่วยกิตที่เรียน ตลอดภาคเรียน ไม่เท่ากัน จึงไม่มีสูตรสำเร็จว่ากี่หน่วยกิตพบกลุ่มกี่ชั่วโมง มีแค่ให้รวมทุกวิชาเป็นประมาณ 108 ชั่วโมง
             วิชาใดจะใช้เวลาพบกลุ่มมาก วิชาใดจะใช้เวลาพบกลุ่มน้อย นอกจากจะดูที่จำนวนหน่วยกิตแล้ว ดูความยากง่ายของเนื้อหาด้วย วิชาที่เนื้อหาง่ายอาจไม่พบกลุ่มเลย โดยให้เรียนด้วยตนเอง วิชาที่เนื้อหายากอาจใช้เวลาพบกลุ่มมาก หรือถ้ายากมากก็แยกไปสอนเสริมแทน
             อนึ่ง แผนฯก็มี 2 แบบ คือแบบบูรณาการ กับแบบแยกเรียนเป็นรายวิชา อีกด้วย

         7. คืนวันเสาร์ที่ 25 ก.ค.63 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์เก่าผมที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  laserpointer อุปกรณ์ใช้ชี้ เป็นวัสดุหรือครุภัณฑ์
             ผมตอบว่า   อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง/อุปกรณ์ชี้กระดาน ( Laser pointer ) เดิมเป็นวัสดุ เพราะราคาไม่ถึง 5,000 บาท แต่ปัจจุบันเปลี่ยนความหมายของวัสดุครุภัณฑ์โดยไม่คำนึงถึงราคา แต่ดูที่ เมื่อชารุดเสียหายแล้วสามารถซ่อมแซมได้หรือไม่ ถ้าสามารถซ่อมแซมให้ใช้งานได้ดังเดิม ให้เบิกจ่ายจากงบลงทุน หมวดครุภัณฑ์ แต่ถ้าไม่สามารถซ่อมได้ หรือไม่คุ้มค่า ให้เบิกจ่ายจากงบดำเนินงาน หมวดค่าวัสดุ
             อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง ( Laser pointer ) ปัจจุบันจึงเป็นครุภัณฑ์ เพราะมีร้านรับซ่อมให้ใช้งานได้ต่อไป

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

1.ส่งตรวจสอบวุฒิทางธรรม ที่ไหน, 2.การนับเวลาขอเครื่องราชฯกรณีลาออกมาบรรจุใหม่, 3.โอนย้ายจากท้องถิ่น มา กศน.ได้ไหม, 4.ส่ง GPA แล้ว นศ.มาขอจบโดยใช้ชื่อใหม่ สามารถแก้ไขได้ไหม, 5.สอบ N-NET แล้วยังไม่จบ แล้วลาออก แล้วสมัครใหม่ ต้องสอบใหม่ไหม, 6.เปรียญธรรม 6 ประโยค ไปเทียบที่ไหน, 7.จัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในวันพบกลุ่มได้หรือไม่


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. วันที่ 24 มิ.ย.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ถ้า นศ.นำเอกสาร 3 ประโยคมาสมัคร เราจะต้องตรวจสอบวุฒิกลับไปที่ไหน

           ผมตอบว่า   ส่งไปตรวจสอบที่ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อาคารหลวงพ่อวัดปากน้ำ พุทธมณฑล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
            ( ถ้าเป็นการเทียบวุฒิว่าเทียบเท่าระดับชั้นใด เทียบที่ สพฐ. แต่เปรียญธรรม 3 ประโยค ใช้ได้เลยไม่ต้องเทียบวุฒิ ส่วนเปรียญธรรม 5 ประโยคต้องไปขอเทียบวุฒิที่ สพฐ.
           ต่างจากการตรวจสอบวุฒิว่าเป็นใบวุฒิปลอมหรือไม่ ปกติต้องตรวจสอบทุกใบ ถ้าเป็นวุฒิทางธรรมตรวจสอบไปที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
           ส่วนการเทียบวุฒิตาม พรบ.ใหม่ปี 62 ที่ว่า เปรียญธรรม 3 ประโยคเทียบ ม.ปลาย นักธรรมเอกเทียบ ม.ต้นนั้น จะเทียบแบบนี้ได้ต้องจบการศึกษาภาคบังคับ )

         2. คืนวันที่ 25 พ.ย.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  นับระยะเวลาเครื่องราช กรณี ข้าราชการพลเรือน รับราชการมาได้ 1 ปี 5 เดือน แล้วลาออกจากราชการ เพื่อไปบรรจุเป็นข้าราชการครู ในกรณีนี้จะสามารถนับระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน ช่วงที่เป็นข้าราชการพลเรือนเพื่อขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ไหม

           ผมตอบว่า   ต้องมีระยะเวลารับราชการ "ติดต่อกัน"
           การ “ลาออก” จากราชการไปแล้ว บรรจุใหม่ ในเรื่องของการขอเครื่องราชฯจะถือว่า ไม่ติดต่อกัน ต้องเริ่มนับระยะเวลารับราชการใหม่ แม้จะเป็นตำแหน่งในสายงานเดิมและไม่ได้เว้นระยะการรับราชการก็ตาม
           ( ถ้าเดิมเคยได้รับเครื่องราชฯแล้ว ยังไม่ต้องส่งคืน ยังนำมาใช้ประดับต่อไปได้ โดยแจ้งงานบุคลากรที่ใหม่ว่าเคยได้รับพระราชทานเครื่องราชฯใดแล้ว เมื่อถึงเวลาที่ที่ใหม่จะขอเครื่องราชฯเดิมนั้น ก็ข้ามไป ไม่ต้องขอใหม่อีก
              ส่วนถ้าเป็นการ “สอบโอนอายุราชการในสายงานที่เริ่มต้นในระดับเดียวกัน” จะถือว่ารับราชการติดต่อกัน นับระยะเวลาราชการเดิมรวมด้วย )

         3. วันที่ 2 ก.ค.63 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์เก่าของผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  โอนย้ายจากท้องถิ่น. มากกศน.ได้ไหม

           ผมตอบว่า   จะโอนจากตำแหน่งอะไรมาดำรงตำแหน่งอะไร ?
           กศน.มีหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติในการรับโอนข้าราชการประเภทอื่น ( ข้าราชการพลเรือนสามัญ พนักงานส่วนท้องถิ่น กทม. ทหาร ตำรวจ บุคลากรทางการศึกษาอื่น ฯลฯ ) มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ดูได้ที่
           https://www.dropbox.com/s/t0mhwwjq32agqpi/OOn-Move.pdf?dl=1




         4. เย็นวันเสาร์ที่ 4 ก.ค.63 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ถ้าส่ง Gpa-Gpr แล้ว นศ มาขอจบโดยใช้ชื่อใหม่เราสามารถแก้ไขได้หรือไม่ค่ะ

           ผมตอบว่า   ถ้าผิดก็แก้ไขได้ แล้วทำหนังสือราชการแจ้งข้อมูลการแก้ไขไปพร้อมกับ รายงาน GPA/PR, รายงานผู้สำเร็จการศึกษา ชุดใหม่
           แต่ต้องดูหลักฐานการเปลี่ยนชื่อด้วยว่า เปลี่ยนชื่อวันไหน ถ้าวันเปลี่ยนชื่อเป็นวันหลังจากวันออกใบ รบ. เราจะแก้ไขเปลี่ยนชื่อให้เขาไม่ได้ เวลาเขานำใบ รบ.ไปใช้ เขาต้องนำใบเปลี่ยนชื่อไปแสดงควบคู่กับใบ รบ.เอง

         5. วันเข้าพรรษา 6 ก.ค.63 มีผู้ถามผมทางกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า กรณีที่นักศึกษาเคยเรียนแบะสอบ n-net แล้ว แต่ยังไม่จบการศึกษา มาลาออกไปแล้วมาสมัครใหม่โดยนำผลการเรียนมาเทียบโอนในภาคเรียนนี้ และนักศึกษาจบในภาคเรียนนี้ด้วย ต้องให้นักศึกษาสอบ n-net อีกไหมคะ

            ผมตอบว่า   ถ้าหลักสูตรเดียวกัน เช่นหลักสูตร กศน.51 เหมือนกัน ไม่ต้องสอบใหม่อีก
           ( ดูคำตอบเดิม ๆ ในเรื่องนี้เช่นในข้อ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2017/07/3-n-net.html )

         6. เช้าวันหยุดชดเชย 7 ก.ค.63 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์เก่าผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  เรียนแต่บาลีอย่างเดียวแล้วคือจบปธ6แล้วมันเทียบวุฒิอะไรได้ ต้องไปเอาวุฒิที่ไหน

           ผมตอบว่า   เปรียญธรรม 6 ประโยค เทียบเท่า ม.ปลาย ไม่ต้องไปเทียบที่ไหน ใช้ใบเปรียญธรรม 6 ประโยคนี่แหละ โดยใช้ประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องเทียบความรู้ ณ 23 ม.ค.18 เป็นเอกสารอ้างอิง

         7. เย็นวันที่ 8 ก.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนสามารถจัดกิจกรรมในวันพบกลุ่มได้หรือไม่คะ

           ผมตอบว่า   ถ้าซ้ำซ้อนกับการพบกลุ่ม ก็อาจเลื่อนการพบกลุ่มไปวันอื่นให้ครบตามเกณฑ์การพบกลุ่ม
           ( กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เป็นกิจกรรมสำหรับเสริมเพิ่มคุณภาพจากกิจกรรมพบกลุ่ม เป็นคนละกิจกรรมกัน บางคนอาจพูดว่าการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนก็เป็นการพบกลุ่มอย่างหนึ่ง หรือการเรียน “วิธีพบกลุ่ม” สมัยนี้ไม่ครบตามเกณฑ์ก็ไม่เห็นเป็นไร การพูดลักษณะนี้ เป็นการพูดแบบ กศน.ที่ยืดหยุ่น แต่ไม่ถูกต้องตามระเบียบหลักเกณฑ์ แต่ละคนคิดต่างกันมีเหตุผลต่างกัน ผู้ที่ออกระเบียบก็ใช่ว่าจะไม่มีเหตุผล ถ้าระเบียบที่กำหนดเกณฑ์การพบกลุ่มล้าสมัยแล้วก็ต้องเสนอและรอให้ผู้ออกระเบียบแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบหลักเกณฑ์ก่อน )