วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

1.ส่งตรวจสอบวุฒิทางธรรม ที่ไหน, 2.การนับเวลาขอเครื่องราชฯกรณีลาออกมาบรรจุใหม่, 3.โอนย้ายจากท้องถิ่น มา กศน.ได้ไหม, 4.ส่ง GPA แล้ว นศ.มาขอจบโดยใช้ชื่อใหม่ สามารถแก้ไขได้ไหม, 5.สอบ N-NET แล้วยังไม่จบ แล้วลาออก แล้วสมัครใหม่ ต้องสอบใหม่ไหม, 6.เปรียญธรรม 6 ประโยค ไปเทียบที่ไหน, 7.จัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในวันพบกลุ่มได้หรือไม่


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. วันที่ 24 มิ.ย.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ถ้า นศ.นำเอกสาร 3 ประโยคมาสมัคร เราจะต้องตรวจสอบวุฒิกลับไปที่ไหน

           ผมตอบว่า   ส่งไปตรวจสอบที่ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อาคารหลวงพ่อวัดปากน้ำ พุทธมณฑล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
            ( ถ้าเป็นการเทียบวุฒิว่าเทียบเท่าระดับชั้นใด เทียบที่ สพฐ. แต่เปรียญธรรม 3 ประโยค ใช้ได้เลยไม่ต้องเทียบวุฒิ ส่วนเปรียญธรรม 5 ประโยคต้องไปขอเทียบวุฒิที่ สพฐ.
           ต่างจากการตรวจสอบวุฒิว่าเป็นใบวุฒิปลอมหรือไม่ ปกติต้องตรวจสอบทุกใบ ถ้าเป็นวุฒิทางธรรมตรวจสอบไปที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
           ส่วนการเทียบวุฒิตาม พรบ.ใหม่ปี 62 ที่ว่า เปรียญธรรม 3 ประโยคเทียบ ม.ปลาย นักธรรมเอกเทียบ ม.ต้นนั้น จะเทียบแบบนี้ได้ต้องจบการศึกษาภาคบังคับ )

         2. คืนวันที่ 25 พ.ย.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  นับระยะเวลาเครื่องราช กรณี ข้าราชการพลเรือน รับราชการมาได้ 1 ปี 5 เดือน แล้วลาออกจากราชการ เพื่อไปบรรจุเป็นข้าราชการครู ในกรณีนี้จะสามารถนับระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน ช่วงที่เป็นข้าราชการพลเรือนเพื่อขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ไหม

           ผมตอบว่า   ต้องมีระยะเวลารับราชการ "ติดต่อกัน"
           การ “ลาออก” จากราชการไปแล้ว บรรจุใหม่ ในเรื่องของการขอเครื่องราชฯจะถือว่า ไม่ติดต่อกัน ต้องเริ่มนับระยะเวลารับราชการใหม่ แม้จะเป็นตำแหน่งในสายงานเดิมและไม่ได้เว้นระยะการรับราชการก็ตาม
           ( ถ้าเดิมเคยได้รับเครื่องราชฯแล้ว ยังไม่ต้องส่งคืน ยังนำมาใช้ประดับต่อไปได้ โดยแจ้งงานบุคลากรที่ใหม่ว่าเคยได้รับพระราชทานเครื่องราชฯใดแล้ว เมื่อถึงเวลาที่ที่ใหม่จะขอเครื่องราชฯเดิมนั้น ก็ข้ามไป ไม่ต้องขอใหม่อีก
              ส่วนถ้าเป็นการ “สอบโอนอายุราชการในสายงานที่เริ่มต้นในระดับเดียวกัน” จะถือว่ารับราชการติดต่อกัน นับระยะเวลาราชการเดิมรวมด้วย )

         3. วันที่ 2 ก.ค.63 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์เก่าของผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  โอนย้ายจากท้องถิ่น. มากกศน.ได้ไหม

           ผมตอบว่า   จะโอนจากตำแหน่งอะไรมาดำรงตำแหน่งอะไร ?
           กศน.มีหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติในการรับโอนข้าราชการประเภทอื่น ( ข้าราชการพลเรือนสามัญ พนักงานส่วนท้องถิ่น กทม. ทหาร ตำรวจ บุคลากรทางการศึกษาอื่น ฯลฯ ) มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ดูได้ที่
           https://www.dropbox.com/s/t0mhwwjq32agqpi/OOn-Move.pdf?dl=1




         4. เย็นวันเสาร์ที่ 4 ก.ค.63 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ถ้าส่ง Gpa-Gpr แล้ว นศ มาขอจบโดยใช้ชื่อใหม่เราสามารถแก้ไขได้หรือไม่ค่ะ

           ผมตอบว่า   ถ้าผิดก็แก้ไขได้ แล้วทำหนังสือราชการแจ้งข้อมูลการแก้ไขไปพร้อมกับ รายงาน GPA/PR, รายงานผู้สำเร็จการศึกษา ชุดใหม่
           แต่ต้องดูหลักฐานการเปลี่ยนชื่อด้วยว่า เปลี่ยนชื่อวันไหน ถ้าวันเปลี่ยนชื่อเป็นวันหลังจากวันออกใบ รบ. เราจะแก้ไขเปลี่ยนชื่อให้เขาไม่ได้ เวลาเขานำใบ รบ.ไปใช้ เขาต้องนำใบเปลี่ยนชื่อไปแสดงควบคู่กับใบ รบ.เอง

         5. วันเข้าพรรษา 6 ก.ค.63 มีผู้ถามผมทางกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า กรณีที่นักศึกษาเคยเรียนแบะสอบ n-net แล้ว แต่ยังไม่จบการศึกษา มาลาออกไปแล้วมาสมัครใหม่โดยนำผลการเรียนมาเทียบโอนในภาคเรียนนี้ และนักศึกษาจบในภาคเรียนนี้ด้วย ต้องให้นักศึกษาสอบ n-net อีกไหมคะ

            ผมตอบว่า   ถ้าหลักสูตรเดียวกัน เช่นหลักสูตร กศน.51 เหมือนกัน ไม่ต้องสอบใหม่อีก
           ( ดูคำตอบเดิม ๆ ในเรื่องนี้เช่นในข้อ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2017/07/3-n-net.html )

         6. เช้าวันหยุดชดเชย 7 ก.ค.63 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์เก่าผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  เรียนแต่บาลีอย่างเดียวแล้วคือจบปธ6แล้วมันเทียบวุฒิอะไรได้ ต้องไปเอาวุฒิที่ไหน

           ผมตอบว่า   เปรียญธรรม 6 ประโยค เทียบเท่า ม.ปลาย ไม่ต้องไปเทียบที่ไหน ใช้ใบเปรียญธรรม 6 ประโยคนี่แหละ โดยใช้ประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องเทียบความรู้ ณ 23 ม.ค.18 เป็นเอกสารอ้างอิง

         7. เย็นวันที่ 8 ก.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนสามารถจัดกิจกรรมในวันพบกลุ่มได้หรือไม่คะ

           ผมตอบว่า   ถ้าซ้ำซ้อนกับการพบกลุ่ม ก็อาจเลื่อนการพบกลุ่มไปวันอื่นให้ครบตามเกณฑ์การพบกลุ่ม
           ( กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เป็นกิจกรรมสำหรับเสริมเพิ่มคุณภาพจากกิจกรรมพบกลุ่ม เป็นคนละกิจกรรมกัน บางคนอาจพูดว่าการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนก็เป็นการพบกลุ่มอย่างหนึ่ง หรือการเรียน “วิธีพบกลุ่ม” สมัยนี้ไม่ครบตามเกณฑ์ก็ไม่เห็นเป็นไร การพูดลักษณะนี้ เป็นการพูดแบบ กศน.ที่ยืดหยุ่น แต่ไม่ถูกต้องตามระเบียบหลักเกณฑ์ แต่ละคนคิดต่างกันมีเหตุผลต่างกัน ผู้ที่ออกระเบียบก็ใช่ว่าจะไม่มีเหตุผล ถ้าระเบียบที่กำหนดเกณฑ์การพบกลุ่มล้าสมัยแล้วก็ต้องเสนอและรอให้ผู้ออกระเบียบแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบหลักเกณฑ์ก่อน )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย