วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

1.หยุดชดเชยวันเดียว, 2.คำถามเรื่องเทียบโอน ที่แสดงถึงการทำผิดระเบียบ, 3.นศ.สอบ N-NET แล้วไม่จบ ลาออกสมัครใหม่ ได้รหัสใหม่ ต้องสอบ N-NET ใหม่ไหม, 4.พา นศ.ไปศึกษาดูงาน ต้องขออนุญาตผู้ปกครองไหม, 5.เป็นโรคประจำตัวเหล่านี้ สมัครสอบราชการได้ไหม, 6.จ้าง ขรก.กศน.แห่งอื่นที่ไม่ใช่ตำแหน่งครู ให้เป็นครูประจำกลุ่มได้ไหม, 7.กศน.ทำสัญญาจ้างครูแค่ 6 เดือน จะขอ/ต่อหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูได้หรือ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันอาสาฬหบูชาวันเข้าพรรษา ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 8-9 ก.ค.60 ให้หยุดชดเชยในวันจันทร์ที่ 10 ก.ค.60 เพียงวันเดือน ตามมติ ครม.ปี 2547 ( ในภาพประกอบโพสต์นี้ ) ซึ่งถือเป็นวันหยุดชดเชยวันอาสาฬหบูชา ส่วนวันเข้าพรรษาไม่หยุดชดเชย




         2. ดึกวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องเทียบโอนของ นศ. หลังจากเด็กมาสมัครเรียนแล้ว บางคนต้องไปตามวุฒิที่ไม่จบจากโรงเรียนเดิมมาทำเรื่องขอเทียบโอนกับเรานานกว่าจะได้ เพราะส่วนมากต้องรอ รร.เปิดจึงจะได้  ขอถามว่า มีระเบียบกำหนดไหมว่า ให้ยื่นกี่วันหลังจากวันสมัครหรือปิดรับสมัคร หรือแล้วแต่อำเภอตกลงกัน

             ผมตอบว่า  คำถามนี้แสดงถึงการดำเนินการที่ผิดระเบียบนะ เพราะตามระเบียบต้องลาออกจากโรงเรียนเดิม ได้ใบระเบียนที่ระบุว่า ศึกษาต่อที่อื่นมาก่อน เราจึงจะรับสมัครขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาได้ มิฉะนั้นจะเป็นการเรียนสองแห่งเหลื่อมซ้อนกัน  ( ในใบสมัครเรียนก็มีข้อความรับรองว่า “...ไม่อยู่ในระหว่างการศึกษาในระบบโรงเรียนทุกสังกัด ... หากตรวจสอบพบภายหลัง... ให้คัดชื่อออก และหากตรวจสอบพบภายหลังที่จบหลักสูตรไปแล้ว .. ให้ .. ยกเลิกหลักฐานการศึกษา ...” )
             ส่วนเรื่องการเทียบโอนนั้น แล้วแต่อำเภอจะกำหนด ( เรื่องนี้ผมเคยโพสต์มากกว่า 3 ครั้งแล้ว )  ซึ่งไม่จำเป็นต้องยื่นในภาคเรียนแรกด้วย  ที่กำหนดไว้ในหนังสือแนวทางการเทียบโอนฯ หน้า 4 ว่า
ควรดำเนินการในภาคเรียนแรกที่นักศึกษาขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา หรือขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษานั้น ก็เพราะ ถ้าไปเทียบโอนในภาคเรียนหลังอาจพบว่ามีบางวิชาเทียบโอนได้โดยไม่ต้องเรียน แต่ให้เรียนไปในภาคเรียนแรกแล้ว  ฉะนั้น ปกติจะให้เทียบโอนก่อนแล้วจึงลงทะเบียนเรียนวิชาที่เหลือ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาลงทะเบียนเรียนวิชาที่เทียบโอนได้  แต่อย่างไรก็ตาม ภาคเรียนอื่น ๆ สถานศึกษาก็สามารถให้เทียบโอนได้





         3. วันที่ 19 มิ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  กรณี นศ.กศน.หลักสูตรพื้นฐาน 2551 เข้าเรียน ภาคเรียนที่ 1/56 สอบ N-NET ในภาคเรียน 1/59 แต่ไม่จบ และลงทะเบียนเรียนไม่ต่อเนื่อง จึงลาออกแล้วสมัครใหม่ในภาคเรียนที่ 2/59 สถานศึกษาเดิม ในหลักสูตรเดียวกัน โดยเทียบโอนผลการเรียนเดิม แต่ได้รหัส นศ.ใหม่  จะต้องสอบ  N-NET อีกไหม

             เรื่องนี้   ( ผมถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้คำตอบว่า วันที่ลาออก : วันที่ ที่ระบุในใบ รบ.ฉบับที่ลาออก เป็นวันที่หลังวันสอบ N-NET )  ผมจึงตอบว่า  ไม่ต้องสอบ N-NET ใหม่  โดยบันทึกเรื่องการสอบ N-NET ของ นศ.ที่สมัครใหม่ รหัส 592... ... ว่าสอบ N-NET ในภาคเรียนที่ 1/59  ( ถึงแม้จะสอบก่อนที่จะสมัครขึ้นทะเบียนใหม่ ก็ไม่เป็นไร )

             ในกรณีที่ย้ายสถานศึกษา เนื่องจากในใบ รบ.ไม่ได้ระบุว่าสอบ N-NET ในภาคเรียนใด แต่สถานศึกษาแห่งใหม่ต้องระบุในระบบทะเบียนว่าสอบ N-NET ในภาคเรียนใด  ฉะนั้น สถานศึกษาเดิมควรทำหนังสือรับรองอีก 1 ฉบับ แนบใบ รบ. โดยระบุว่าสอบ N-NET ในภาคเรียนใด

         4. เย็นวันที่ 22 มิ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ในการที่เราจะพานักศึกษาไปศึกษาดูงานแล้วมีการค้างคืน ต้องมีการทำหนังสือขออนุญาตผู้ปกครองรึเปล่า

             ผมตอบว่า   ตามระเบียบ/มาตรการ การพานักศึกษาไปนอกสถานศึกษา ไม่ว่าจะค้างคืนหรือไม่ค้างคืน ต้องทำหนังสือขออนุญาตทั้งผู้ปกครองและผู้บังคับบัญชา
             ดู ระเบียบ/มาตรการ แบบฟอร์มหนังสือขออนุญาต ได้ที่
            
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/studentGoStady.pdf

         5. วันเดียวกัน ( 26 มิ.ย.60 ) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  การสมัครสอบราชการ นอกจากโรคที่ต้องห้ามในการรับสมัครสอบแล้ว หากเรามีโรคประจำตัว เช่น โรคเกาต์ เบาหวานและอื่นๆ สามารถสมัครสอบได้หรือเปล่า และจำเป็นหรือไม่ที่ต้องระบุในการสมัคร หากเราไม่ระบุจะมีผลอย่างไร

             ผมตอบว่า   โรคไม่ติดต่อเหล่านี้ เมื่อไม่ใช่โรคต้องห้ามก็สมัครสอบได้ ไม่ต้องระบุในใบสมัคร
             
( ให้ดูในประกาศรับสมัคร   สำหรับข้าราชการพลเรือน ต้องไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ.2553 ซึ่งได้แก่
            
1)  วัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ
            
2)  โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
            
3)  โรคติดยาเสพติดให้โทษ
            
4)  โรคพิษสุราเรื้อรัง
            
5)  โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ ที่ ก.พ. กำหนด

             ส่วนข้าราชการครู ต้องไม่เป็นโรคต้องห้ามตาม กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2549 ซึ่งได้แก่
            
1)  โรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
            
2)  วัณโรคในระยะติดต่อ
            
3)  โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
            
4)  โรคติดยาเสพติดให้โทษ
            
5)  โรคพิษสุราเรื้อรัง )

         6. วันที่ 29 มิ.ย.60 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊คผม ว่า  ในกรณีที่ กศน.เขตจะจ้างครูประจำกลุ่ม เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงาน กศน.(อยู่ศูนย์เทคโน) ไม่ได้เป็นข้าราชการครู สามารถเบิกค่าตอบแทนครูกลุ่มให้ได้ไหม  เดิมเขาเป็นครู ศรช เพิ่งสอบเป็นนักวิชาการได้ เลยจะจ้างเขาเป็นครูกลุ่มต่อ  กศน.เขตจะประชุมครูกลุ่มในวันอาทิตย์หลังสอนเสร็จ และน้องคนที่กล่าวถึงเขามีใบประกอบวิชาชีพครูแล้ว เลยอยากทราบว่าถ้าเป็นข้าราชการสังกัดสำนักงาน กศน.แต่ไม่ใช่ครู เบิกเงินเป็นค่าครูกลุ่มได้ไหม

             ผมตอบว่า   เขาจะมีเวลาให้หรือ.. งานของครูประจำกลุ่มไม่ใช่มีแต่การสอนกับการประชุม จะมีงานอื่น ๆ ก่อนและหลังการสอน ( เช่น การทำแผนเตรียมการสอน การบันทึกหลังการสอน การตรวจงาน ) การจัดทำเอกสารต่าง ๆ ฯลฯ
             กศน.มีนโยบายให้ บุคลากรในสังกัด กศน. ไม่ว่าจะใช่ครูหรือไม่ใช่ครู สอน กศ.ขั้นพื้นฐานได้ เช่น บรรณารักษ์ หรือแม้แต่บุคลากรบน สนง.กศน.จังหวัด ให้สอนเพื่อให้มีสิทธิเรียน ป.บัณฑิต แต่ให้สอนโดยไม่เบิกค่าตอบแทน

         7. ดึกวันที่ 3 ก.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  สัญญาจ้างเหมาบริการซึ่งทำครั้งละ 6 เดือน เหลือไม่ถึง 4 เดือนสามารถขอหนังสืออนุญาตปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู ได้หรือไม่ และถ้าไม่ได้ มีแนวทางแก้ไขหรือหลักเกณฑ์อย่างไร

             เรื่องนี้  ท่าน อ.ณภัค ( คุรุสภา ) บอกว่า ต้องเหลืออย่างน้อย 4 เดือน
             ( ฉะนั้น ให้รีบทำเรื่องเสนอขอหรือต่ออายุหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพฯโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ ทันทีที่ทำสัญญาจ้างเสร็จ  ใครไม่เชื่อ/ไม่รู้/ไม่จำ ก็ตามใจ  ถ้าตอนนี้เหลือไม่ถึง 4 เดือนแล้วก็คงต้องรอทำสัญญาใหม่ก่อนแล้วจึงรีบขอหรือต่ออายุ )


1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีค่ะอาจารย์ อยากขอรบกวนสอบถามเกี่ยวกับเรื่อง N-NETค่ะ พอดีนักศึกษาเขาเคยสอบเอ็นเน็ทไปแล้วค่ะของระดับ ม.ปลาย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ตัวนักศึกษาเองยังเรียนไม่จบหลักสูตรของ ม.ต้น เลยค่ะ ก็เลยทำการยกเลิกผลการเรียนของ ม.ปลายไปแล้ว และให้นักศึกษาเรียน ม.ต้นใหม่ค่ะ ตอนนี้นักศึกษาเขาอยู่ ม.ปลายแล้ว อยากทราบว่าผลคะแนนเอ็นเน็ตที่เขาเคยสอบไปก่อนหน้านั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้ใช้ได้ ใช่หรือไม่คะ แล้วทางแก้ไขจะต้องทำอย่างไรคะ รบกวนขอคำแนะนำด้วยค่ะ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

    ตอบลบ

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย