สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ
ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 7 เรื่อง ดังนี้
1. คืนวันอาทิตย์ที่ 3 ม.ค.64 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก
ว่า หนูพึ่งสอบพนักงานราชการครูกศน.ตำบลได้
ขอรบกวนสอบถามการแต่งกายชุดกากีที่ถูกระเบียบหน่อยนะคะ
ป้ายชื่อต้องระบุตำแหน่งไหมคะ
ผมตอบว่า ตามประกาศฯข้อ 2.8 ป้ายชื่อให้ระบุชื่อและตำแหน่ง
ฉะนั้น ที่ถูกต้อง ต้องระบุตำแหน่งด้วย
(
แต่บางคนเขาอาจจะยังไม่พอใจตำแหน่งปัจจุบันของตัวเอง จึงอาจไม่ระบุตำแหน่ง
และยังบอกคนอื่นว่าไม่ต้องระบุตำแหน่งก็ได้ )
ดูประกาศฯได้ที่
https://bit.ly/35xPQi3
2. คืนวันที่ 13 ม.ค.64 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า
การทำลายข้อสอบปลายภาค และ n-net เราต้องดำเนินการยังไง
ผมตอบว่า
1) การทำลายข้อสอบ N-NET
ในคู่มือการจัดสอบ N-NET ของ สทศ.ฉบับปีการศึกษา 2563
ระบุว่า
“3.6 เมื่อเสร็จสิ้นกำรสอบ
หัวหน้าสนามสอบต้องรวบรวมกล่องบรรจุซองกระดาษคำตอบกับกล่องบรรจุแบบทดสอบและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสอบ
ส่งมอบให้กับตัวแทนศูนย์สอบ(ผอ.กศน.อำเภอ) เพื่อนำส่งศูนย์สอบ(กศน.จังหวัด)ทันที
4.3 แบบทดสอบ
ให้ศูนย์สอบ(กศน.จังหวัด)ดำเนินการทำลายภายใน 30 วัน หลังประกาศผลสอบ
แล้วรายงานผลการทาลายแบบทดสอบให้ สทศ. ทราบ ตามแบบ N-NET 12”
การทำลายข้อสอบ ให้ดำเนินการตามระเบียบสารบรรณ ส่วนถ้ามีค่าใช้จ่ายในการจ้างทำลายให้จ้างตามระเบียบพัสดุ ( แต่การทำลายในปัจจุบัน จะมีรายได้ ไม่ใช่มีค่าใช้จ่าย ) เช่นเดียวกับการทำลายข้อสอบปลายภาคที่ตอบในข้อ 2)
2)
การทำลายข้อสอบปลายภาค
ทั้งกระดาษคำถามและกระดาษคำตอบ
ทั้งข้อสอบที่มาจากส่วนกลางและข้อสอบวิชาเลือกเสรีของจังหวัดเอง ใช้ระเบียบการทำลายหนังสือ
ตามระเบียบสารบรรณ
ซึ่งตามระเบียบสารบรรณกำหนดเรื่องการทำลายหนังสือให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรม
แต่ของ กศน.ระดับอธิบดีกรมคือปลัดกระทรวง และปลัดกระทรวง ศธ.มอบอำนาจเรื่องนี้ให้
ผอ.กศน.จังหวัด ตามคำสั่งมอบอำนาจที่ 531/51 ข้อ 7 ซึ่ง ผอ.กศน.จังหวัดจะมอบอำนาจต่อช่วงอีกไม่ได้
ต้องออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการเอง โดยถ้าจะทำลายหนังสือหรือข้อสอบที่อยู่ที่อำเภอ
จังหวัดอาจแต่งตั้งบุคลากรของอำเภอเป็นคณะกรรมการ
อนึ่งเรื่องการทำลายข้อสอบนี้
ในคู่มือของกลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ(ชื่อเดิม) ระบุว่าทำลายตามระเบียบพัสดุ ซึ่งผมคิดว่าไม่ถูกต้อง
เพื่อความแน่ใจ วันที่ 2 ต.ค.61 ผมถามอดีตหัวหน้ากลุ่มงานพัสดุ กลุ่มการคลัง กศน.
( เกษียณแล้ว ) ว่า
การทำลายข้อสอบปลายภาค ที่สอบเสร็จแล้ว
( กระดาษคำถาม และ กระดาษคำตอบ ) ทำลายตามระเบียบสารบรรณ หรือ ระเบียบพัสดุ
ท่านตอบว่า ทำลายตามระเบียบสารบรรณ ( แต่ในส่วนของ
ถ้ามีค่าใช้จ่ายเช่นค่าจ้างทำลาย ให้จ้างตามระเบียบพัสดุ )
ในทางปฏิบัติ
เคยมีหนังสือแจ้งเมื่อปี 2551 เรื่องการทำลายข้อสอบ ( ชุดคำถาม ) ให้จังหวัดเป็นผู้ทำลาย
เมื่อสอบเสร็จต้องขนส่งไปจังหวัด ไม่ได้อยู่ที่อำเภอ โดยอาจทำลายด้วยการเผา
หรือให้เอกชนทำการย่อยเป็นเส้น ๆ ให้ไม่สามารถอ่านได้ เมื่อย่อยแล้วก็ ให้ หรือ
ขาย เอกชนไป ( แทนที่จะมีค่าใช้จ่าย กลับมีรายได้ถ้าใช้วิธีทำให้ไม่สามารถอ่านได้แล้วขาย
ซึ่งปัจจุบันมักใช้วิธีนี้ เอกชนมีเครื่องมือทำลายต่อหน้ากรรมการ
ส่วนการเผากระดาษจำนวนมากนั้นไม่ง่ายและการเผาจะเกิดควันเป็นมลภาวะซึ่งอาจผิดกฎหมาย
)
ส่วนกระดาษคำตอบ
ก็เป็นอำนาจของจังหวัดเหมือนกัน เพียงแต่เอกสารถ้าอยู่ที่อำเภอ จังหวัดมักจะออกคำสั่งแต่งตั้งคนอำเภอเป็นกรรมการทำลายอยู่ที่อำเภอ
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ
( ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2560 กำหนดว่า
“คณะกรรมการทำลายหนังสือประกอบด้วยประธานและกรรมการอีกอย่างน้อย 2 คน โดย ปกติ
ให้แต่งตั้งจากข้าราชการ”
ถ้า กศน.อำเภอมีข้าราชการไม่ครบ
3 คน อาจให้ข้าราชการอำเภออื่นร่วมเป็นกรรมการ
หรืออาจอนุโลมให้เป็นข้าราชการเฉพาะประธาน
ส่วนกรรมการอาจเป็นลูกจ้างประจำหรือพนักงานราชการ
3. วันที่ 17 ก.พ.63 มี ผอ.กศน.อ. โทร.ถามผมเรื่อง
ระเบียบที่ว่า กลุ่มสนใจ-วิชาชีพ ให้สอนไม่เกินวันละ 3, 5 ชม. ยกเลิกหรือยัง
ผมตอบว่า ระเบียบหลักเกณฑ์ที่ว่า
“ให้สอนกลุ่มสนใจวันละไม่เกิน 3 ชั่วโมง, วิชาชีพวันละ 3
ชั่วโมง ถ้าเกินต้องขออนุมัติ แต่ต้องไม่เกินวันละ 5 ชั่วโมง
และไม่เกินสัปดาห์ละ 30 ชั่วโมง” นั้น เป็นระเบียบสมัยเก่า
ถูกยกเลิกไปแล้ว ยกเลิกโดย ระเบียบสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษานอกโรงเรียนหลักสูตรระยะสั้น
พ.ศ. 2549 ประกาศ ณ วันที่ 27 มี.ค.49
( ข้อแรก ๆ ของระเบียบปี 49 นี้
ระบุว่าให้ยกเลิกระเบียบสมัยเก่าดังกล่าว ) ซึ่งระเบียบปี 49
ไม่กำหนดจำกัดจำนวนชั่วโมงต่อวันแล้ว
และปัจจุบัน
ระเบียบ สป.ศธ.ว่าด้วยการจัด กศน.หลักสูตรระยะสั้น 2549 นี้
ก็ถูกยกเลิกไปอีกแล้ว ยกเลิกโดย
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาต่อเนื่อง พ.ศ.2554
ปัจจุบันให้ยึดระเบียบปี 54 นี้เท่านั้น ซึ่งไม่ได้กำหนดจำกัดจำนวนชั่วโมงต่อวัน
จึงอยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารระดับจังหวัด/อำเภอสามารถกำหนดอย่างไรหรือไม่ก็ได้
ถ้าผู้บริหารเห็นว่าเนื้อหาวิชาและวัยผู้เรียนนั้น เรียน 6
ชั่วโมงไม่มาก ก็ 6 ชั่วโมงได้ ไม่มีระเบียบห้ามแล้ว ถ้าผู้บริหารเห็นว่า เนื้อหาวิชานั้นหนักมาก
ผู้เรียนเป็นผู้สูงอายุ ไม่ควรเรียนเกินวันละ 3 ชั่วโมง
ก็กำหนดให้เรียนวันละ 3 ชั่วโมงก็ได้ ซึ่งถ้าให้เรียนเกินวันละ 5 ชั่วโมง ก็ย่อมเบิกจ่ายค่าสอนเกินวันละ 5
ชั่วโมงได้
ทั้งนี้ มีเล่ม
“แนวทางการดำเนินงานการจัดการศึกษาต่อเนื่อง (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2561)” อยู่ที่ https://www.dropbox.com/s/pk5gscjnx5delb0/manualEdContineu61.pdf?dl=1
และมีไฟล์แบบฟอร์มต่างๆที่ใช้ในการจัด
กศ.ต่อเนื่อง อยู่ที่ https://bit.ly/2DghZQ5
อนึ่ง
ในแนวทางเล่มนี้ กำหนดให้มีการจัดกลุ่มสนใจ ประเภทจัดตามภารกิจ เช่น
อำเภอ/จังหวัดเคลื่อนที่/ร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานอื่น ผู้สนใจมาสมัครเรียน ณ
สถานที่จัดกิจกรรม หลักสูตรไม่เกิน 5 ชั่วโมง ซึ่งประเภทนี้ ถ้าจัดวันละไม่เกิน 3 ชม. ก็ต้องจัด 2 วัน
ไม่สอดคล้องกับลักษณะภารกิจอำเภอ/จังหวัดเคลื่อนที่ ซึ่งเคลื่อนที่ไปเพียงวันเดียว
และผู้มาร่วมกิจกรรมแต่ละคนมักจะมางานวันเดียว
นั่นคือ ระเบียบปัจจุบัน ไม่ได้ห้ามสอนกลุ่มสนใจเกินวันละ 3 ชั่วโมง
4. เช้าวันที่ 4 ก.พ.64 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า
ในการสั่งจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนรายวิชาเลือกบังคับ
เราสามารถสั่งจ้างพิมพ์ในราคาที่สูงกว่า ราคาอ้างอิงหรือราคากลางที่สำนักฯ
กำหนดได้หรือเปล่า. เพราะเราสั่งพิมพ์จำนวนน้อย
ยกตัวอย่างว่า
ถ้าเราสั่งจ้างพิมพ์ จำนวน 500 เล่ม ราคาเล่มละ 100 บาท ไม่เกินราคาอ้างอิงหรือราคากลาง
แต่ถ้าเราสั่งจ้างพิมพ์ จำนวนน้อย คือ 150 เล่ม
ราคาเล่มละ 120 บาท จะเกินราคาอ้างอิงหรือราคากลาง ที่สำนักฯ
กำหนดทันที
เราจะดำเนินการสั่งจ้างพิมพ์ได้หรือไม่ อย่างไรบ้าง..
เพราะจะต้องสั่งจ้างพิมพ์ ในราคาที่เกินราคาอ้างอิงหรือราคากลางที่สำนักฯ กำหนดไว้
ผมตอบว่า
1) ตามหลักการแล้ว สำนักงาน
กศน.ให้กำหนดราคากลางตามสเป็ค( รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ ) โดย
"ไม่เกิน" ราคาอ้างอิงของสำนักงาน กศน.ส่วนกลาง
2) การกำหนดราคาอ้างอิงนั้น
จะพิจารณาจำนวนเล่มที่จ้างพิมพ์ด้วยอยู่แล้ว เช่นราคาอ้างอิงปี งปม.61 หนังสือเรียนวิชาภาษาไทยระดับประถม
- ถ้าจ้างพิมพ์ 500 เล่ม ๆ ละ 103.55 บาท
- ถ้าจ้างพิมพ์ 600 เล่ม ๆ ละ 90.45 บาท
...
- ถ้าจ้างพิมพ์ 3,000 เล่มๆละ 41.32 บาท
โดยจ้างพิมพ์ถูกกว่าราคาอ้างอิงได้
แต่ไม่ให้แพงกว่า เช่น
- ถ้าจ้างพิมพ์ไม่เกิน 500 เล่ม ( 1-500 เล่ม ) เล่มละ 103.55 บาท
- ถ้าจ้างพิมพ์เกิน 500 แต่ไม่เกิน 600 เล่ม ( 501-600 เล่ม ) เล่มละ 90.45 บาท
ทั้งนี้
ในการกำหนดราคาอ้างอิง ถ้าเห็นว่า การจ้างพิมพ์ต่ำกว่า 500
เล่ม เช่น 150 เล่ม ควรจะราคาแพงกว่าการจ้างพิมพ์ 500 เล่ม ก็จะกำหนดราคาอ้างอิงสำหรับการจ้างพิมพ์ 150
เล่มไว้อีกราคาหนึ่ง ถ้าไม่กำหนดไว้ก็หมายถึง 1-500 เล่ม
ใช้ราคาของ 500 เล่ม
5. วันเสาร์ที่ 3 ก.พ.64 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์เก่าของผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า ไม่เคยอบรมทางด้านลูกเสือเลย แต่ต้องลงสอนลูกเสือ ต้องแต่งเครื่องแบบยังไงคะ
ผมตอบว่า
แต่งเครื่องแบบลูกเสือแบบที่นักเรียนแต่งชุดลูกเสือนั่นแหละ
คือชุดลูกเสือสีกากีใส่ผ้าผูกคอสีประจำจังหวัด ใส่วอคเกิ้ลหน้าเสือธรรมดา
แต่ถ้าจะสอนเพียงบางเนื้อหาที่เรามีความรู้ในเนื้อหานั้น
สอนได้โดยไม่ต้องแต่งเครื่องแบบลูกเสือ แม้แต่
พระสงฆ์ หมอ ชาวไร่ชาวนา รวมทั้งนักเรียนรุ่นพี่
ก็สอนลูกเสือได้โดยไม่ต้องแต่งเครื่องแบบลูกเสือ
6. คืนวันที่ 22 ก.พ.64 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า เงินชพค.ที่จะได้รับประโยชน์เมื่อปี2555 ทำไมยอดเงินล้านกว่าจ่ายแค่สี่ร้อยกว่าบาทแต่สมัยนี้ยอดที่ได้รับแค่เก้าแสนกว่าบาท และจ่ายเเพงกว่า ไม่คงที่
ผมตอบว่า
- จำนวนเงินที่สมาชิกจ่ายแต่ละเดือน เป็นไปตาม
"จำนวนสมาชิกที่เสียชีวิต"ในแต่ละเดือน รายละ 1
บาท เช่นเดือนใดมีสมาชิกเสียชวิต 500 ราย
สมาชิกที่ยังมีชีวิตก็จ่าย 500 บาท
- จำนวนเงินที่ทายาทผู้เสียชีวิตจะได้รับ เป็นไปตาม
"จำนวนสมาชิกที่ยังมีชีวิต"ในเดือนนั้น รายละ 0.96
บาท ( สมาชิกจ่ายรายละ 1 บาท
หักไว้เป็นค่าบริหารจัดการเช่นค่าจ้างเจ้าหน้าที่ ชพค.จังหวัด 0.04 บาท อัตราหักไว้ 4%
นี้เป็นอัตราต่ำสุดที่กฎหมายกำหนด
ถ้าเป็นสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ระดับตำบลจะหักไว้เป็นค่าจ้างเจ้าหน้าที่ได้มากถึง 9%
)
เช่น
เดือนใดมีจำนวนสมาชิกที่ยังมีชีวิต 1 ล้านคน
ทายาทก็จะได้เงิน 960,000 บาท
- ปัจจุบัน จำนวนสมาชิกลดลงเรื่อยๆ เพราะ สมาชิกเข้าใหม่แต่ละเดือน
น้อยกว่าสมาชิกเก่าที่เสียชีวิตในแต่ละเดือน เนื่องจาก
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเก่า สมัครเป็นสมาชิกไปเกือบหมดแล้ว
จะมีผู้สมัครใหม่ในแต่ละเดือนก็ต่อเมื่อมีการสอบบรรจุเข้ามาใหม่
ซึ่งยุคหลังรัฐคุมกำเนิดข้าราชการ อัตรามีจำกัด บรรจุใหม่แต่ละปีน้อย
ต่างจากสมัยก่อนที่จำนวนสมาชิกมากและอายุยังไม่มากยังไม่ค่อยเสียชีวิต
แต่ปัจจุบันจำนวนสมาชิกเก่าที่มีมากนั้นทยอยกันชราและเสียชีวิตในแต่ละเดือนมาก
บางเดือนเสียชีวิตถึง 700 ราย
- ยิ่งมีสมาชิกเสียชีวิตมาก สมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จ่ายเงินมาก
แต่ยิ่งมีจำนวนสมาชิกน้อยลง ทายาทของสมาชิกที่เสียชีวิตก็ยิ่งได้เงินน้อยลง
ด้วยเหตุนี้จึงมีการพยายามเพิ่มจำนวนสมาชิก เช่น
ให้ผู้ที่อายุเกินเกณฑ์สมัครเป็นสมาชิกได้ เป็นต้น
( สกสค.ประกาศจำนวนสมาชิกเข้าออกคงเหลือ และชื่อ-สกุล-จังหวัดที่เสียชีวิต
ทุกเดือน ทุกคนตรวจสอบทางออนไลน์ก็ได้ )
7. วันเสาร์ที่ 10 เม.ย.64
มีผู้โพสต์ในเฟซบุ๊ก กลุ่มครูนอกระบบ ว่า
ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องการจัดการศึกษาต่อเนื่อง
เพื่อเป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจที่ชัดเจนว่าเข้าใจถูกต้องหรือไม่
ตามคู่มือแนวทางการดำเนินงานการจัดการศึกษาต่อเนื่อง(ฉบับปรับปรุง
พ.ศ. 2561) ได้กล่าวถึงขั้นตอนในการดำเนินงาน การศึกษาต่อเนื่องรูปแบบกลุ่มสนใจ
และ ชั้นเรียนวิชาชีพ ดังนี้
1)การศึกษาต่อเนื่อง
รูปแบบกลุ่มสนใจ หลักสูตรระยะสั้นไม่เกิน 30 ชั่วโมง มีผังการดำเนินงานในคู่มือหน้าที่ 7
โดยมีขั้นตอนดังนี้
-ประชาสัมพันธ์
-ผู้เรียนรวมกลุ่ม
-จัดหาหรือจัดทำหลักสูตร
และจัดหาวิทยากร
-ขออนุญาตจัด/แต่งตั้งวิทยากร
และจัดหาวัสดุ
-แจ้งการจัดกิจกรรมต่อสำนักงาน
กศน.จังหวัด
-จัดการเรียนรู้และประเมินผล
-จัดทำหลักฐานการจบหลักสูตร
-เบิกค่าใช้จ่ายและรายงานผลการดำเนินงาน
ครูจะต้องจัดทำเอกสารในการขอจัดการศึกษาต่อเนื่องกลุ่มสนใจ ตามแบบ
กศ.ตน.ที่ระบุในคู่มือหน้า 9-12
2)การศึกษาต่อเนื่อง
รูปแบบชั้นเรียนวิชาชีพ หลักสูตร 31 ชั่วโมงขึ้นไป มีผังการดำเนินงานในคู่มือหน้าที่
23 โดยมีขั้นตอนดังนี้
-การสำรวจความต้องการ/ประชาสัมพันธ์/รับสมัครผู้เรียน
-วิทยากร/การจัดหาหรือจัดทำหลักสูตร
-แต่งตั้งวิทยากร/ขอจัดตั้งกลุ่ม/จัดหาวัสดุ
-จัดการเรียนรู้และวัดผลประเมินผล
-การจบหลักสูตรและการออกหลักฐาน
-การรายงานผลการดำเนินงาน
-เบิกค่าใช้จ่าย
-ติดตามผลการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ครูจะต้องจัดทำเอกสารในการขอจัดการศึกษาต่อเนื่องชั้นเรียนวิชาชีพ
ตามแบบ กศ.ตน.ที่ระบุในคู่มือหน้า 24-27
ดังนั้นการดำเนินการจัดการศึกษาต่อเนื่องทั้ง
2 กิจกรรม ไม่ต้องเขียนโครงการผมเข้าใจถูกต้องใช่หรือไม่ เพียงแต่ระบุว่าให้จัดทำแบบขอจัดตั้งกลุ่ม
ตามแบบ กศ.ตน ที่ระบุ
การจัดทำโครงการนั้นจะปรากฏในการดำเนินงานการฝึกอบรมประชาชน
ซึ่งใช้กับการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน การจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งต้องเขียนโครงการตามผังขั้นตอนการอบรมประชาชนในคู่มือหน้า
33 โดยใช้แบบ กศ.ตน 23(1) และ กศ.ตน. 23(2)
จึงเป็นข้อสงสัยว่าการขอจัดกลุ่มการศึกษาต่อเนื่องรูปแบบกลุ่มสนใจ
และ ชั้นเรียนวิชาชีพ จะต้องเขียนโครงการด้วยหรือไม่เพราะเจ้าหน้าที่จังหวัดบอกว่าต้องเขียนโครงการด้วยทุกครั้งเช่น
ถ้าเปิดหลักสูตรสานตะกร้าพลาสติก 10 ชั่วโมง
ต้องมีโครงการสานตะกร้าพลาสติกมาแนบด้วย
เป็นต้น ขออนุญาตเรียนถามความคิดเห็นจากผู้รู้หรือผู้ปฎิบัติในจังหวัดอื่น
ๆ ช่วยแสดงความคิดเห็นและแนะนำด้วย
ผมตอบว่า ใช่ครับ ผมเคยโพสต์ในข้อ 5.4 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2016/03/moenet.html เรื่องการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ว่า
ทุกประเภทต้องมีหลักสูตร แบ่งรูปแบบการจัดได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ
1) รูปแบบกลุ่มสนใจและชั้นเรียน (
ไม่ต้องทำโครงการ ) ผู้เรียนต้องลงทะเบียนเป็นนักศึกษา กศน.
2) รูปแบบอบรมประชาชน ( ต้องทำโครงการ )
เป็นหลักสูตรที่ใช้กระบวนการฝึกอบรมให้กับประชาชน ไม่ต้องลงทะเบียนเป็นนักศึกษา
กศน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย