วันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560

1.ขาดสอบปลายภาค สองภาค ให้คัดชื่อออก เป็นระเบียบหรือแนวปฏิบัติ, 2.กำหนดราคาอ้างอิงใหม่ ค่าหนังสือเรียน, 3.ห้ามซื้อ/จ้างพิมพ์หนังสือเรียน ที่ยังไม่แก้ไขต้นฉบับ ( ต้องไม่ใช้ใบแทรก ), 4.มีหลักเกณฑ์เงินอุดหนุนใหม่ ไม่ให้อำเภอใช้พัฒนาบุคลากร ไหม?, 5.เป็นพนักงานราชการ 10 กว่าปี แล้วลาออก ยังแต่งเครื่องแบบได้ไหม, 6.ครู กศน.ตำบล ขอย้ายภายในอำเภอ จากตำบลที่มีอยู่ 2 คน ไปตำบลที่มีอยู่ 1 คน ได้ไหม, 7.ประเมินครู ศรช.- พนักงานราชการไปต่างประเทศช่วงลาพักผ่อน



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันที่ 7 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ในการสอบปลายภาคเรียน ที่ว่า นศ. ขาดสอบสองภาคเรียนให้คัดชื่อออกจากระบบนั้น เป็นระเบียบหรือแนวปฏิบัติ และถ้าขาดสอบหนึ่งภาคเรียนสามารถคัดชื่อออกได้ไหม ขอความชัดเจน

             ผมตอบว่า  ไม่มีทั้งระเบียบและแนวปฏิบัติให้คัดชื่อออกกรณีขาดสอบปลายภาคสองภาคเรียน แต่เคยมีนโยบายของท่านเลขาธิการ กศน.บอกว่า ถ้า นศ.ขาดสอบปลายภาคติดต่อกันสองภาคเรียนก็ไม่ควรให้ลงทะเบียนเรียนต่อ เพราะ อาจจะเป็น นศ.ผี หรือ นศ.ที่ไม่ได้ประสงค์จะเรียนแต่ครูฝืนให้ลงทะเบียนเพื่อให้ได้จำนวน นศ.ตามเกณฑ์
             ส่วนระเบียบหลักเกณฑ์ กำหนดว่า ถ้า นศ.ขาดการติดต่อ ไม่มาลงทะเบียนรักษาสถานภาพการเป็น นศ. ติดต่อกันเกิน 6 ภาคเรียน ก็จะพ้นสภาพการเป็น นศ.โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องคัดชื่อออก

             ในส่วนของนโยบายที่ไม่ให้ผู้ขาดสอบปลายภาคติดต่อกันสองภาคเรียน มาลงทะเบียนเรียนต่อนั้น โดยหลักการถ้า นศ.ตั้งใจจะลงทะเบียนเรียนต่อโดยจะเรียนจริง ๆ เราไม่มีสิทธิห้ามลงทะเบียนเรียนต่อ  ดังนั้นในทางปฏิบัติแต่ละสถานศึกษาจะมีวิธีดำเนินการต่างกัน เช่น
             บางแห่ง ถ้าขาดสอบปลายภาคติดต่อกันสองภาคเรียนแล้วจะเรียนต่อ ก็ให้ตัวตนมายืนยันลงทะเบียนเรียนกับหัวหน้ากลุ่มตำบล ไม่ใช่ลงทะเบียนกับครู  และถ้าขาดสอบปลายภาคติดต่อกันเป็นภาคเรียนที่สามแล้วจะเรียนต่ออีก ต้องมายืนยันตัวตนลงทะเบียนกับ ผอ. ให้ ผอ.พิจารณาว่าลงทะเบียนแล้วจะมาเรียนแน่หรือไม่
             บางแห่ง แค่ขาดสอบปลายภาคเพียงภาคเรียนเดียวก็ให้ลงทะเบียนเรียนต่อกับหัวหน้ากลุ่ม ถ้าขาดสอบติดต่อกันสองภาคเรียนก็ให้มาลงทะเบียนกับ ผอ.เลย เป็นต้น
             ขึ้นอยู่กับนโยบายผู้บริหารในแต่ละแห่ง

         2. กศน.ประกาศกำหนดราคาอ้างอิง ค่าหนังสือเรียน และหนังสือสรุปเนื้อหาที่ต้องรู้ วิชาบังคับ ทั้ง 3 ระดับ รวม 42 วิชา โดยกำหนดราคาอ้างอิงพร้อมสเป็คการ จ้างพิมพ์ใหม่ ตามประกาศฉบับลงวันที่ 6 ก.ย.60
             ( ในกรณีที่ กำหนดราคาอ้างอิงสำหรับ 500 เล่ม กับ 600 เล่ม  ถ้าจ้างพิมพ์มากกว่า 500 เล่ม แต่น้อยกว่า 600 เล่ม หัวหน้ากลุ่มงานพัสดุ กลุ่มการคลัง กศน. บอกว่าเพื่อประโยนชน์ของทางราชการให้ใช้ราคาอ้างอิงของจำนวนที่มากกว่า ( ราคาถูกกว่า ) คือราคาสำหรับ 600 เล่ม )

             ส่วนการ ซื้อยังใช้ราคาอ้างอิงตามประกาศฉบับปี 57 โดยฉบับปี 57 นี้ให้ดูเฉพาะราคาซื้อ ไม่ต้องดูราคาจ้างแล้ว
             สามารถดาวน์โหลดได้ที่ 
             -
https://www.dropbox.com/s/qdhrdewkrcocpz0/pricebookNFE60.pdf?dl=1  หรือที่
             -
http://goo.gl/Qmcvr2  ( ไฟล์ลิ้งค์นี้ชัดกว่า แต่ไฟล์ใหญ่มาก ๆ )

         3. ห้ามซื้อ/จ้างพิมพ์ หนังสือเรียน กศน. ที่ต้นฉบับยังไม่แก้ไขเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ถูกต้อง
             จะต้องเป็นการพิมพ์แก้ไขเนื้อหา จัดทำรูปเล่มเรียบร้อย โดยต้องไม่มีการจัดทำใบแทรกประกอบในหนังสือเรียน
             
( ใช้ต้นฉบับที่ปรับปรุงถูกต้องสมบูรณ์แล้วในการจ้างพิมพ์ และในการจัดซื้อให้ตรวจสอบความถูกต้อง รวมทั้งหนังสือรายวิชาเลือกเสรีที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นเองด้วย )
            
https://www.dropbox.com/s/y37mlq7ae7pbmxm/bookstop.pdf?dl=1 

         4. คืนวันที่ 13 ก.ย.60 มี ผอ.กศน.อำเภอ ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  มีระเบียบสำนักงาน กศน.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินอุดหนุน ปี 2560 ไหม ที่เห็นล่าสุดมีแต่ระเบียบปี 2559 แต่ จนท.แผนจังหวัดบอกว่า ระเบียบปี 60 กำหนด 12 ข้อ โดยตัดเรื่องพัฒนาบุคลากรออกไป ไม่ให้จัดทำโครงการพัฒนาบุคลากร อำเภอไม่สามารถทำได้ เป็นอำนาจจังหวัด.. เลยอยากหาข้อเท็จจริง

             ผมตอบว่า   ไม่เห็นมีระเบียบปี 60 นะ.. การพัฒนาบุคลากรด้วยเงินอุดหนุน ต้องพัฒนาเฉพาะครู กศน.ที่มีบทบาทหน้าที่สอน กศ.ขั้นพื้นฐาน และต้องพัฒนาในเรื่อง กศ.ขั้นพื้นฐาน โดยโครงการพัฒนาฯถ้าพาครูไปต่างจังหวัด หรือใช้เงินรวมเกินอำนาจอำเภอ หรือจัดในลักษณะฝึกอบรม ก็ต้องได้รับอนุมัติโครงการจากจังหวัด

             เพื่อความแน่ใจ ผมได้เรียนถามเรื่องนี้กับกลุ่มการคลัง และหน่วยตรวจสอบภายใน กศน. อีกครั้งในวันนี้ ( 14 ก.ย.60 )
             - กลุ่มการคลัง บอกว่า ไม่ได้ออกระเบียบหลักเกณฑ์ใหม่ ยังใช้ฉบับเดิม
             - หน่วยตรวจสอบภายใน บอกว่า อำเภอมีหน้าที่จัดอบรมพัฒนาบุคลากร "ของตนเอง" ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของสถานศึกษา ( กศน.อำเภอ/เขต ) ข้อ 9   ไม่เคยได้ยินว่ามีระเบียบเงินอุดหนุนฉบับใหม่ เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดของบางคนแล้วนำไปพูดเลยขยายไปไกล








         5. ดึกวันที่ 12 ก.ย.60 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ของผมในเฟซบุ๊ก ว่า  ในกรณีที่เคยเป็นครูอาสามา 10 กว่าปี แล้วลาออก สามารถใส่ชุดขาวปกติได้ไหม

             ผมตอบว่า   เมื่อลาออกพ้นจากการเป็นพนักงานราชการแล้ว ก็หมดสิทธิแต่งเครื่องแบบพนักงานราชการแล้ว
             ( ที่ผู้รับบำนาญเขาแต่งชุดปกติขาวได้นั้น เขาไม่ได้แต่งเครื่องแบบข้าราชการ แต่เขาแต่งเครื่องแบบผู้รับบำนาญซึ่งเกือบเหมือนกับเครื่องแบบข้าราชการ )

         6. คืนวันที่ 14 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ครู กศน.ตำบลที่มี 2 คน ถ้าจะย้ายไปอีกตำบลที่มีครู กศน.ตำบลอยู่แล้ว อำเภอเดียวกัน จะยื่นย้ายคราวนี้ได้หรือเปล่า ตำบลที่จะย้ายไปมีนักศึกษาและหมู่บ้านมากกว่า ถ้าย้ายไปก็ไม่ต้องจ้างครู ศรช.เพิ่ม อ่านดูเงือนไขการย้ายไม่แน่ใจ

             ผมตอบว่า   ถ้าเป็นตำแหน่งครู กศน.ตำบล เลขที่ตำแหน่งจะระบุตำบลเลยว่าเลขที่นี้อยู่ตำบลไหน
             ตำบลที่จะย้ายไปนั้นมีเลขที่ตำแหน่งกี่เลขที่ล่ะ ถ้ามีเลขที่เดียวและเจ้าของเลขที่ตำแหน่งนั้นไม่ได้ย้ายออกก็คือตำบลนั้นไม่มีตำแหน่งว่าง คนอื่นจะย้ายไปลงไม่ได้ เงื่อนไขที่สำคัญคือต้องมีตำแหน่งว่าง หรือย้ายสับเปลี่ยนในตำแหน่งเดียวกัน คำว่าตำแหน่งว่างคือมีเลขที่ตำแหน่งว่าง
             ( ถามจังหวัดดูว่า ปัจจุบันมีตำบลใดที่มีเลขที่ตำแหน่งครู กศน.ตำบล แต่ไม่มีคนครองตำแหน่งอยู่ ก็จะเป็นตำแหน่งว่าง ซึ่งครู กศน.ตำบลอื่นขอย้ายไปลงได้โดยไม่ต้องสับเปลี่ยน
               แต่ถ้าไม่มีเลขที่ตำแหน่งว่างอยู่เลย ก็จะขอย้ายสับเปลี่ยนได้เท่านั้น จะขอย้ายไปเพิ่มโดย
ย้ายเลขที่ตำแหน่งของตนตามตัวไปด้วยไม่ได้
             การ
ย้ายเลขที่ตำแหน่งก็คือการเกลี่ยอัตรา ซึ่งปกติจะเกลี่ยเฉพาะตำแหน่งว่าง โดยเกลี่ยจากตำบลที่มีอัตราเกินเกณฑ์ไปยังตำบลที่ยังไม่มีอัตราครู กศน.ตำบล
             ถ้าจะเกลี่ยตำแหน่งที่มีคนครองอยู่โดยเจ้าตัวเต็มใจไป ก็ต้องเข้าเกณฑ์นี้ เช่นเกลี่ยจากตำบลที่ปัจจุบันมีครู กศน.ตำบล 3 อัตรา ไปยังตำบลที่ยังไม่มีอัตราครู กศน.ตำบล โดยแจ้งให้ส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการเกลี่ย )

         7. วันเดียวกัน ( 14 ก.ย.) มีครู กศน.ตำบล ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ครู ศรช.มาทำงานได้ 1 เดือน เขาจะต้องเข้ารับการประเมินเพื่อจ้างต่อไหม
             และ ถ้าฉันลาพักผ่อน แต่ช่วงที่ลาฉันจะไปต่างประเทศ ต้องทำหนังสือขออนุญาตสำนักหรือเปล่า

             ผมตอบว่า
             1)  ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ให้ประเมินผู้รับจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ เพื่อจ้างต่อ ( ผมโพสต์ประเด็นนี้เมื่อไม่นาน )
             2)  บุคลากรของรัฐ ( ข้าราชการ-ลูกจ้างประจำ-พนักงานราชการ ) จะไปต่างประเทศ แม้จะไปด้วยเงินส่วนตัวในวันหยุด/วันลาพักผ่อน ก็ต้องทำหนังสือขออนุญาตส่วนกลาง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย