วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560

1.พนักงานราชการ ทำงานที่เดิม 5 เดือน ที่ใหม่ 4 เดือน ลาพักผ่อนได้หรือยัง, 2.ผอ.ส่วนใหญ่บอกว่าใช้เงินอุดหนุนจ้าง รปภ. คนสวน ได้?!, 3.เปลี่ยนตำแหน่งพนักงานราชการ, 4.พนักงานราชการบรรจุ 1 ก.พ. ปรับเลื่อนเงินเดือนได้ไหม, 5.ผอ.กศน.อ. จะให้ครู กศน.ตำบล เปลี่ยนตำบล แต่ครูไม่อยากเปลี่ยน, 6.พนักงานราชการอยากรู้ว่า ชื่อและตำแหน่งตนอยู่ที่ใด, 7.จำเป็นต้องประดับแพรแถบย่อเครื่องราชฯไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ดึกวันที่ 20 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  กรณีเป็นพนักงานราชการที่สำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี 5 เดือน และมาทำสัญญาใหม่ เป็นพนักงานราชการที่สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลา อีก 4 เดือน สัญญาต่อเนื่องกัน กรณีแบบนี้จะมีสิทธิ์ลาพักผ่อนได้หรือยัง

             ผมถามกลับว่า  ลาออกจากที่เดิมมาสอบบรรจุใหม่ หรือว่า ย้ายเปลี่ยนพื้นที่ปฏิบัติงาน
             ผู้ถามบอกว่า  ลาออกจากที่เดิม มาสอบบรรจุใหม่
             ผมตอบว่า  ถ้าลาออกมาสอบบรรจุใหม่ โดยงานเดิมทำไม่ครบ
6 เดือน กรณีการลาจะไม่นับอายุงานเดิม ฉะนั้นยังไม่มีสิทธิขอลาพักผ่อน ต้องรอจนกว่าอายุงานใหม่ครบ 6 เดือน จึงจะมีสิทธิขอลาพักผ่อน
              ( ถ้าเป็นการย้ายเปลี่ยนพื้นที่ปฏิบัติงาน จึงจะนับอายุงานรวมกัน )

         2. ดึกวันที่ 21 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  จังหวัดทำลักษณะของงานที่จ้างเหมาบริการด้วยเงินอุดหนุน ผู้บริหารส่วนใหญ่บอกว่าจ้าง รปภ. คนสวน นักคอมพิวเตอร์ พนักงานบริการ ถ้ากำหนดลักษณะของงานให้ไปเกี่ยวกับนักศึกษา ก็สามารถจ้างได้... เลยไม่ได้พูดอะไร ถ้าพูดไปว่าจ้างไม่ได้ จะทำให้คนที่ถูกจ้างเดือดร้อน หลายอำเภออาจตำหนิ เพราะจ้างต่อเนื่องมา    เลยขอความรู้จากอาจารย์ จ้างได้หรือไม่ขอความกรุณาอาจารย์เผยแพร่ให้ความรู้

             ผมตอบว่า
             1)  เรื่องนี้ผู้ตรวจสอบภายในก็ตอบชัดเจนและผมนำมาโพสต์ 2-3 ครั้งแล้วว่า ถ้าใช้เงินอุดหนุนรายหัวจ้าง ต้องจ้างเพื่อ ดำเนินงานการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยตรงโดยพิจารณาจาก "ขอบเขตงานจ้าง" ว่าเป็นการดำเนินงานการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยตรงหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นการจ้างใน 39 หน้าที่ ส่วนกลางสั่งการไว้ชัดเจน ไม่ได้ให้จังหวัดปรับเปลี่ยนขอบเขตงานจ้าง.. ซึ่งก็สรุปไว้แล้วว่า จ้างในหน้าครูต่าง ๆ ( ครู ศรช. ครูผู้สอนคนพิการ ครู ปวช. ครูประจำกลุ่ม ครูบ้านยามชายแดน ครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน ครูชาวเล ครู กพด.) จนท.บันทึกข้อมูล ได้  แต่จ้างในหน้าที่ จนท.งานธุรการ การเงิน บัญชี พนง.บริการ ไม่ได้ ( ยิ่งถ้าเป็นหน้าที่ รปภ. คนสวน ยิ่งจะจ้างไม่ได้ )
             ถึงผมจะโพสต์อีกเป็นครั้งที่
4-5 ก็ไม่มีประโยชน์ คนที่ไม่สนใจเชื่อถือ ก็ไม่สนใจเชื่อถือเหมือนเดิม
            
2)  แม้เราจะเห็นใจผู้รับจ้างมากเพียงใด เราก็ได้แต่เห็นใจ ถ้าเราไม่ได้ใช้เงินส่วนตัวจ้าง เราไม่มีสิทธิทำผิด จะเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินโดยไม่ถูกต้องไม่ได้ กระทรวงการคลังก็แจ้งเวียนมายังทุกกระทรวงทุกกรมว่า
                 
ปัจจุบัน ส่วนราชการหลายแห่งได้ดำเนินการจ้างเอกชนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา เพื่อปฏิบัติงานในลักษณะเช่นเดียวกับการจ้างแรงงาน ที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้รับจ้างคิดว่าเป็นบุคลากรของรัฐ และเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้เหมือนบุคลากรของรัฐ ดังนั้นเพื่อลดปัญหาข้อโต้แย้ง จึงให้ส่วนราชการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีโดยเคร่งครัด ดำเนินการจ้างตามระเบียบพัสดุ ไม่ใช่ระเบียบลูกจ้าง จ้างดำเนินงานเฉพาะโครงการหรือเฉพาะครั้งคราวที่มีความจำเป็นเพื่อเสริม การปฏิบัติงานในหน้าที่ปกติ ของส่วนราชการ มิให้ทำสัญญาจ้างในลักษณะต่อเนื่อง
                  แม้จะไม่ได้คะแนนนิยม ผมก็ระมัดระวังไม่โพสต์คำที่ได้ใจฝ่ายใด เพราะจะเสียระบบราชการ

                  กศน.เรามักจะคำนึงถึงความรู้สึกอยู่เหนือระเบียบกฎหมาย ทำให้มีปัญหาต่อไป
            
3)  ที่ถูกต้อง ถ้าไม่ชัดเจนว่าจ้างได้หรือไม่ ต้องทำหนังสือหารือก่อน คำตอบอย่างไม่เป็นทางการจะใช้เป็นเกราะกันความผิดไม่ได้  ถ้าเขาไม่หารือเพราะมั่นใจว่าจ้างได้ ผู้จ้างก็เป็นผู้รับผิดชอบ จบ

         3. วันที่ 21 ก.ย.60 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กผม ว่า  เมื่อปีที่แล้ว ท่านสุรพงษ์ ให้พนักงานราชการ ครูอาสาฯ ขอเปลี่ยนตำแหน่งได้ ถ้ามีตำแหน่งว่าง พอจะมีข้อมูลไหม

             ผมตอบว่า   เรื่องพนักงานราชการ อยู่นอกเหนืออำนาจ รมว.ศธ. ( ก.พ.ร. ผู้ดูแลพนักงานราชการ ไม่ได้สังกัดกระทรวง ศธ. ต่างจาก ขรก.ครู ที่ดูแลโดย ก.ค.ศ.ซึ่งสังกัดกระทรวง ศธ. ท่าน รมว.ศธ.ยังขอให้ ก.ค.ศ.เปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง )
             เรื่องการเปลี่ยนตำแหน่งพนักงานราชการนี้ ไม่ว่าปีก่อน ๆ หรือปีนี้หรือปีไหน ถ้าเป็นตำแหน่งว่าง จังหวัดสามารถเสนอให้ต้นสังกัดเปลี่ยนตำแหน่งได้ เช่นเมื่อตำแหน่งครูอาสาฯว่างลง ( ลาออก เลิกจ้าง เสียชีวิต อายุครบ
60 ) จังหวัดอาจเสนอขอเปลี่ยนตำแหน่งครูอาสาฯเป็นตำแหน่งบรรณารักษ์แล้วสอบคัดเลือก/บรรจุคนใหม่ในตำแหน่งบรรณารักษ์ เป็นต้น
             แต่ถ้าเป็นตำแหน่งที่มีคนครองอยู่ จะเปลี่ยนตำแหน่งคนนั้นไม่ได้ ปีไหนก็ไม่เคยเปลี่ยนได้

         4. วันที่ 21 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในกลุ่มไลน์ ห้องสมุดชาวตลาดว่า  บรรจุ 1 กพ.60 ประเมิน ครั้งที่ 2 ได้ปรับเงินเดือนมั้ย

             ผมตอบว่า   ถามเรื่องพนักงานราชการใช่หรือเปล่า พนักงานราชการถ้าบรรจุทำงานไม่ครบ 8 เดือน ( นับถึง 30 ก.ย.) จะปรับเลื่อนเงินเดือนไม่ได้ โดยถ้าบรรจุ หลัง วันที่ 1 ก.พ. จะไม่ครบ 8 เดือน ( บรรจุวันที่ 2 ก.พ. จะไม่ครบ 8 เดือน, บรรจุวันที่ 1 ก.พ. ครบ 8 เดือนพอดี มีสิทธิ์ได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือน ถ้าผลการประเมินอยู่ในระดับดีขึ้นไป  ถ้าประเมินครั้งเดียวก็ใช้คะแนนครั้งเดียวไม่ต้องหารด้วย 2 )

         5. วันที่ 25 ก.ย.60 มีผู้ส่งเอกสาร/ข้อมูลมาถึงผมทางไลน์ ว่า  ผอ.กศน.อ.สอยดาว จะใช้คำสั่งมอบอำนาจ ( คำสั่ง สป.ศธ.ที่ 489/51 ) ข้อ 1 มาออกคำสั่งมอบให้ครู กศน.ตำบลเปลี่ยนพื้นที่ตำบลในการปฏิบัติงานกัน แต่ครู กศน.ตำบลบางคนไม่อยากเปลี่ยนเพราะปฏิบัติงานที่ตำบลนั้นตามเลขที่ตำแหน่งเดิมตั้งแต่ลงครั้งแรก ประสานงานกับชุมชนและภาคีเครือข่ายได้เป็นอย่างดี.. ถามว่า ผอ.อำเภอ สามารถให้ ครู กศน.สับเปลี่ยนพื้นที่ปฏิบัติงาน ไปอยู่ตำบลอื่นได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   เฉพาะตำแหน่งครู กศน.ตำบล นั้น เลขที่ตำแหน่งจะระบุตำบล การเปลี่ยนพื้นที่ต้องเป็นไปตามความประสงค์ของพนักงานราชการและดำเนินการโดยจังหวัด ( ตามข้อ 5 ในหนังสือ สป.ศธ.ที่ ศธ 0210.118/12731 ลว.6 ก.ย.60 )
             ส่วนคำสั่ง สป.ศธ.ที่ 489/51 ข้อ 1 นั้น ไม่ได้มอบอำนาจให้ ผอ.กศน.อำเภอ ย้าย/เปลี่ยนพื้นที่พนักงานราชการ   ผอ.กศน.อำเภอออกคำสั่งที่ขัดหรือแย้งกับต้นสังกัดไม่ได้   ถ้าผู้ถูกย้าย/เปลี่ยนพื้นที่ ไม่มีความประสงค์ขอเปลี่ยน/ไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้แจ้งไปที่ ผอ.สนง.กศน.จังหวัด และถ้าเวลาผ่านไปประมาณ 1 เดือน ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้แจ้งตรงไปที่ท่านเลขาธิการ กศน.

         6. คืนวันที่ 25 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันเคยเป็น ครู กศน.อ.เมืองอุดรธานี ได้รับการย้ายโดยจังหวัดเกลี่ยตำแหน่งตอนเทอม 2/59 โดยสำนักงาน กศน.จังหวัดแจ้งว่า กศน.อำเภอเมืองอุดรธานี มีพนักงานราชการเกินตำแหน่ง ให้พนักงานราชการย้ายออกจากอำเภอ 25 คน โดยใช้หลักการย้ายจากคะแนนประเมินครู ทั้งที่ไม่ได้ประสงค์ที่จะขอย้ายพื้นที่ ซึ่งต้องย้ายออกไปต่างอำเภอ ผ.อ.จังหวัดแจ้งว่าจะมีหนังสือคำสั่งออกให้ ณ ปัจจุบันยังไม่มีหนังสือคำสั่งให้เลย ซึ่งการย้ายออกต่างอำเภอมีความลำบากมาก ทั้งภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ห่างไกลครอบครัว และสิ่งที่สำคัญคือเรื่องนักศึกษาซึ่งแต่ก่อนกว่าที่จะรวบรวมนักศึกษาได้มีครบตามจำนวนใช่เวลาหลายเทอม  ในการเดินทางไปทำงานอย่างน้อยต้องวันละ 500 บาท ทั้งค่าน้ำมันค่าอยู่ค่ากิน อยู่ที่เดิมได้ทำงานที่ กศน.ตำบลใกล้บ้าน มีความรู้จักคุ้นเคยกับพื้นที่ มีนักศึกษามาเรียนมาปรึกษาตลอดทั่งที่ กศน.ตำบล และที่บ้าน
             ฉันจึงอยากจะปรึกษาว่า ณ ปัจจุบัน ชื่อ และตำแหน่งของฉันยังอยู่ที่ กศน.เมืองอุดร เหมือนเดิมไหม

             ผมตอบว่า   ผมไม่มีข้อมูลหรอกว่าตำแหน่งใครอยู่ที่ใด.. ให้ดูในคำสั่งจ้าง(ต่อสัญญา) และ/หรือ คำสั่งเลื่อนค่าตอบแทน ณ วันที่ 1 ต.ค. ก็น่าจะรู้ เพราะในคำสั่งจ้างจะระบุทั้งเลขที่ตำแหน่งและตำบล ส่วนในคำสั่งเลื่อนค่าตอบแทน จะระบุเลขที่ตำแหน่งกับอำเภอ ถ้าคำสั่งของจังหวัดใดไม่ระบุข้อมูลบางอย่างก็อาจแสดงว่ามีปัญหาบางอย่าง
             ถ้าดูไม่รู้หรือไม่ได้คำสั่ง ก็ถามที่จังหวัดนั้น หรือที่ กจ.กศน. ข้อมูลทั้ง 2 แห่งจะต้องตรงกันเพราะปัจจุบันใช้ระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์
DPIS แต่ กจ.กศน.อาจไม่มีเวลาว่างจะดูข้อมูลให้ ฉะนั้นอยู่จังหวัดไหนก็ถามที่จังหวัดนั้นก่อน

         7. วันที่ 28 ก.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  อยากทราบว่าการประดับแพรแถบ จำเป็นต้องติดไหมคะ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าต้องติดแบบไหน หนูหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็ได้คำตอบแบบไม่ชัดเจนค่ะ (หนูเป็นบรรณารักษ์ปฏิบัติการ ค่ะ)

             ผมตอบว่า   แพรแถบย่อ "ไม่จำเป็น" ต้องประดับ แต่ถ้าได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว "ควร" ประดับ

             ดูเรื่องแพรแถบย่อของข้าราชการและพนักงานราชการ ที่ผมเคยโพสต์ เช่นในข้อ 6 ที่ http://www.gotoknow.org/posts/310038


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย