วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

1.กพช. เทียบโอนได้, 2.มาอีกแล้ว ค่าอบรมคนละ 3,900 บ., 3.สอบครูผู้ช่วย กศน. สอบวิชาอะไรบ้าง, 4.อบรมเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ, 5.กศน.ก็ใส่แบบนี้ใช่มั้ย, 6.เล่าเรื่องแพรแถบย่อ, 7.ตำหนิ ผอ.เรื่องย้ายพนักงานราชการ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. กิจกรรมพัฒนาตนเองชุมชนสังคมและกิจกรรมจิตอาสา ที่ นศ.ทำก่อนขึ้นทะเบียนเป็น นศ. ( ไม่รวมกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ทำระหว่างเรียนในระบบโรงเรียน ) สามารถเทียบโอนเป็น กพช.ได้ไม่เกิน 150 ชม.
             ( กิจกรรมใดใช้เทียบโอนในระดับใดแล้ว จะใช้เทียบโอนในระดับอื่นอีกไม่ได้ และถ้าใช้เทียบโอนเป็น กพช.แล้ว กิจกรรมนั้นจะใช้เทียบโอนเป็นรายวิชาอีกไม่ได้ )
             ดูรายละเอียดในเอกสารที่
             https://www.dropbox.com/s/076dsp7falp0tnn/TeabGPSh.pdf?dl=1
 





         2. วันที่ 17 พ.ย.60 มีผู้ส่งข้อความทางไลน์ ว่า  สมาคมห้องสมุดมาแล้วคนละ3900 เดี๋ยวชมรมห้องสมุดอีก ( จัดประชุมอบรมเก็บค่าลงทะเบียนกันประจำทั้งสมาคม และชมรมห้องสมุด ) แห่กันไป พอห้ามก็เป็นการขัดใจบรรณ ขอบคุณบางแห่งที่ไม่เรียกเก็บค่าลงทะเบียนการอบรม เช่นนานมีบุ๊ค ปัจจุบันงบประมาณของสำนักงานกศน.จังหวัดต่างๆค่อนข้างจำกัด ในปีที่ผ่านมามีผอ.จวหลายท่านปรารภถึงการส่งคนเข้ารับการอบรม   ในการนี้ขอเสนอแนะว่าให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บริหาร ค่าลงทะเบียนสามารถเบิกได้ก็จริงควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายตลอดปีและการอบรมที่กศน.จะต้องจัด ถึงเวลาก็พบปัญหาหมดงบ ประเภทที่เรียกเก็บเงินแล้วกลับมาไม่นำมาทำอะไรควรระมัดระวังเพราะเขาทำกันเป็นธุรกิจ

             ผมเสริมว่า   แล้วก็มีหนังสือจากส่วนกลางแจ้งกำกับไปว่าให้สนับสนุนงบค่าลงทะเบียนจากต้นสังกัด  อำเภอต้องใช้งบอื่นเช่นเงินอุดหนุนรายหัว มาช่วยสมทบค่าดำเนินงานต่าง ๆ ของอำเภอ แต่งบห้องสมุดไม่เหลือไปช่วย
             ไปประชุมอบรมอย่างนี้ทุกปี บางปี 2 ครั้ง 3 ครั้ง กลับมาก็ไม่เห็นพัฒนางานห้องสมุดให้มีชีวิตมากขึ้น ผอ.ที่ไหนบ่นก็โดนพวกบรรณนินทา ที่ไหนให้ไปพวกบรรณก็สรรเสริญ ในขณะที่บุคลากรอื่น เช่น ขรก.ครู ไม่ค่อยได้ไปประชุมต่างจังหวัดที่ไหน
             อำเภอ/จังหวัด ควรพิจารณาให้ไปหรือไม่ให้ไปอบรมลักษณะนี้ตามบริบทที่เหมาะสม โดยไม่ต้องเกรงใจใคร ไม่ต้องเกรงคำว่า
สมาคมฯในพระราชูปถัมภ์

         3. วันเสาร์ที่ 18 พ.ย.60 ສາວ ມີນ ມີນ ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  อยากสอบถามเรื่องการประกาศสอบครั้งที่แล้ว ว่ามีเนื้อหาวิชาที่ใช้สอบครูผู้ช่วย กศน. วิชาอะไรบ้าง พอดียังไม่เคยสอบ

             ผมตอบว่า   คราวที่แล้ว กศน.ประกาศรับสมัคร ส.ค.56 ยังไม่ได้ใช้ ว16 ถ้าจะประกาศรับสมัครใหม่ในเดือนหน้าหรือต้นปีหน้า บางอย่างจะต่างจากเดิมแล้ว หลักเกณฑ์วิธีการและหลักสูตรการสอบเปลี่ยนไปแล้ว
             อ่านที่ผมเคยโพสต์เรื่องนี้ เช่นในข้อ 4 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2017/02/n-net.html ให้จบนะ
              ( ว.16 ตอนท้าย จะบอกว่า ภาค ก ภาค ข ภาค ค สอบอะไรบ้าง ดาวน์โหลดลิ้งค์นั้นไปอ่านดูหลักสูตรการสอบ )

         4. วันเดียวกัน ( เสาร์ที่ 18 พ.ย.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  สนใจจะไปอบรมเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ต้องถามหน่วยงานไหนของ กศน. แล้วพอจะทราบมั้ยว่ามีอบรมช่วงไหน

             ผมตอบว่า   หลักเกณฑ์เดิม ว 17/52 ต้องผ่านการอบรมก่อนเลื่อนวิทยฐานะ แต่หลักเกณฑ์ใหม่ ว 21/60 ต้องผ่านการพัฒนาตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด ไม่ต้องอบรมพัฒนาก่อนแต่งตั้งอีก
             อย่างไรก็ตาม ผู้ที่บรรจุอยู่ก่อนวันที่ 6 ก.ค.60 สามารถยื่นขอตามหลักเกณฑ์เดิมได้  ต้องถามเรื่องอบรมที่ กจ.กศน. 02- 2800425, 2822159
              ( กจ.กศน.บอกว่า ปี งปม.61 กศน.ไม่จัดอบรมพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เดิม ส่วนปี งปม.62 ยังไม่แน่
                ขรก.ครูสามารถไปขอร่วมอบรมพัฒนาที่หน่วยงานอื่นจัดตามหลักสูตรของ ก.ค.ศ.ตามหลักเกณฑ์เดิม ได้ โดยยื่นขอเข้ารับการพัฒนาผ่านไปทาง กศน.
                คนละอย่างกับหลักสูตรการอบรมที่ผ่านการพิจารณาของสถาบันคุรุพัฒนาตามหลักเกณฑ์ใหม่ ว.20-22 )

         5. คืนวันอาทิตย์ที่ 19 พ.ย.60 มีผู้ส่ง ภาพของ สพฐ. มาถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  กศน.ก้อใส่แบบนี้ใช่มั้ย

             ผมตอบว่า   เดิมทุกกรมในกระทรวงศึกษาธิการ ใช้ เครื่องแบบปกติ” ( บางคนเรียกชุดตรวจการ ) ของพนักงานราชการ ตามประกาศ สป.ศธ.ฉบับเดียวกันทุกกรม ซึ่งเป็นประกาศปี 2548 เข็มขัดสีดำ เสื้อมีสายอินทรธนูแต่ไม่มีการประดับเครื่องหมายอินทรธนู
             ส่วน
เครื่องแบบพิธีการใช้ตามประกาศของ ค.พ.ร. เหมือนกันทุกกรมทุกกระทรวง ( เดิมกำหนดเป็นชุดสูทสากลนิยม แต่งในพิธีที่ข้าราชการแต่งเครื่องแบบเสื้อขาว  ต่อมาวันที่ 29 ก.ค.52 ให้เปลี่ยนจากชุดสากลนิยม เป็นเครื่องแบบเสื้อขาวเหมือนลูกจ้างประจำแต่อินทรธนูคิดขึ้นมาใหม่สำหรับพนักงานราชการโดยเฉพาะ พนักงานราชการทั่วไปให้ใช้อินทรธนูที่มีดอกพิกุล 2 ดอกตลอดไป ส่วนพนักงานราชการพิเศษใช้อินทรธนูที่มีดอกพิกุล 3 ดอกตลอดไป ดูประกาศได้ที่  https://www.dropbox.com/s/8nh64ulcutheb53/CeremonialUniform.pdf?dl=1 )

             ต่อมา สป.ศธ.เปลี่ยนเครื่องแบบปกติของพนักงานราชการใหม่โดยประกาศปี 2554 ( กศน.ส่งประกาศนี้ให้ทุกจังหวัด 2 รอบแล้ว ดูได้ที่  https://www.dropbox.com/s/4c70t0n8ldwv6mx/formPRGnfe.pdf?dl=1 ) ให้ใช้อินธนูเหมือนของลูกจ้างประจำ โดยพนักงานราชการทั่วไป ( กลุ่มงาน บริการ, เทคนิค, บริหารทั่วไป ซึ่งในส่วนภูมิภาคจะมีแต่พนักงานราชการทั่วไป ) ให้ใช้อินทรธนูที่มี 2 ขีด ตลอดไป ส่วนพนักงานราชการพิเศษ ( กลุ่มงานเชี่ยวชาญพิเศษ ) ให้ใช้อินทรธนูที่มี 3 ขีด ตลอดไป
             สำหรับเข็มขัด ไม่ได้แก้ไข ยังเป็นสีดำเหมือนเดิม
            
( เครื่องแบบปกติของพนักงานราชการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข ไม่ประดับอินทรธนู )

             ต่อมาอีก กศน.เสนอขอเปลี่ยนระเบียบใหม่อีก ขอให้เข็มขัดเป็นสีกากี และใช้ 3 ขีด สำหรับผูที่ที่อายุราชการในตำแหน่งพนักงานราชการยังไม่ครบ 9 ปี ถ้าครบ 9 ปี ให้เปลี่ยนเป็น 4 ขีด
             แต่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งตามหนังสือที่ นร
0306/2137 ลว.26 มี.ค.55 ว่า
            
ส่วนราชการไม่อาจนำอินทรธนูของเครื่องแบบข้าราชการหรือเครื่องแบบลูกจ้างประจำ ไปใช้กับเครื่องแบบของพนักงานราชการ  เครื่องแบบพนักงานราชการจักต้องไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องแบบข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ” ( ผิดกฏหมายอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 146 )
             กศน.จึงเสนอร่างระเบียบใหม่ขอใช้ตราเสมาติดทับบนอินทรธนู เพื่อให้แตกต่างจากอินทรธนูของข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ ( คล้ายอินทรธนูข้าราชการชั้นพิเศษที่มีตราครุฑทับบนอินทรธนู )  ท่านปลัดกระทรวง ศธ. ให้ทำหนังสือหารือสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า เครื่องแบบตามร่างระเบียบใหม่นี้ เหมือนหรือคล้ายเครื่องแบบของข้าราชการหรือลูกจ้างประจำหรือไม่ และจะแบ่งอินทรธนูออกเป็น
4 กลุ่ม/ระดับได้หรือไม่ ทั้งนี้ ได้ส่งหนังสือหารือออกจาก สป.ศธ. เมื่อวันที่ 14 มี.ค.56
             สำนักนายกรัฐมนตรีตอบข้อหารือมาว่า
            
1)  การนำตราเสมาปิดทับบนอินทรธนู ก็ยังคล้ายอินทรธนูของข้าราชการ/ลูกจ้างประจำ ( เครื่องหมายของเครื่องแบบเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละประเภท ต้องไม่เหมือนหรือคล้ายกัน )
            
2)  การแบ่งอินทรธนูเป็น 4 ระดับ 4 แบบ ไม่ถูกต้องเหมาะสม ควรมีเพียง 2 ระดับ สำหรับพนักงานราชการทั่วไป กับ พนักงานราชการพิเศษ

             เราเลยต้องหยุด เพราะถ้าเสนอต่อไป แทนที่จะได้ 3 ขีด แม้แต่ 2 ขีดก็อาจจะต้องถอด
             เมื่อเราไม่ขอเปลี่ยนระเบียบแล้ว ปัจจุบันอินทรธนูในระเบียบจึงยังเป็น
2 ขีดมีวงกลม เข็มขัดก็เลยยังเป็นสีดำด้วย
             ปัจจุบันมีเพียงเครื่องแบบพนักงานราชการ สป.ศธ.(กศน.) แห่งเดียวเท่านั้น ที่ใช้ขีดเหมือนลูกจ้างประจำ
             แม้แต่พนักงานราชการของ สพฐ.ซึ่งอยู่ในกระทรวงเดียวกัน เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย เขาจึงแยกออกประกาศใหม่เฉพาะของเขาเมื่อวันที่
2 ธ.ค.57 เขาออกแบบขีดขึ้นมาใหม่ไม่ให้เหมือนหรือคล้ายขีดของข้าราชการ/ลูกจ้างประจำ โดยไม่ให้มีวงกลม
             สรุป  ปัจจุบัน (
2560 ) เครื่องแบบปกติของพนักงานราชการ กศน. กับ สพฐ. ไม่เหมือนกัน
             โดย สป.ศธ.(กศน.) เป็นกรมเดียวในประเทศไทยที่ให้พนักงานราชการใช้ขีดของลูกจ้างประจำ
            
( บางคนใช้ 3 ขีดอีกต่างหาก ซึ่งพนักงานราชการทั่วไปใช้ 3 ขีดผิดระเบียบกฎหมายทุกฉบับ )






         6. เล่าเรื่องการติดแพรแถบย่อ

             - หลายคนรวมทั้งผม เคยเข้าใจผิดว่า ผู้ที่มีสิทธิประดับเหรียญที่ระลึกใดจะต้องเกิดก่อนปีที่โปรดเกล้าฯพระราชทานเหรียญนั้น  แต่ที่จริงการออกแต่ละเหรียญจะตราเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา ( ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา ตราเป็นพระราชกฤษฏีกา ) โดยกำหนด บุคคลผู้มีสิทธิประดับเหรียญ รายละเอียดของลักษณะเหรียญ วิธีการประดับเหรียญ การสร้างเหรียญ และกิจการอื่นที่จําเป็น  ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดในมาตรา 4 เพียงสั้น ๆ ว่าบุคคลมีสิทธิประดับเหรียญนี้ได้ หมายความว่าทุกคนประดับเหรียญนั้นได้โดยไม่ต้องเกิดก่อนปีที่ออกเหรียญนั้น
                ดูตัวอย่างจาก พระราชกฤษฎีกาเหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเนื่องในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ
60 ปี พ.ศ.2549 ได้ที่
                http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2549/00190345.PDF
                ยกเว้นเพียงเหรียญที่ระลึกงานฉลอง 25 ปีพุทธศตวรรษ ( 2500 ) และเหรียญที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐและยุโรป ( 2503 ) ซึ่งมีพระราชบัญญัติกำหนดไว้เฉพาะว่า ผู้มีสิทธิ์ประดับต้องเกิดก่อนปี พ.ศ. ที่ทรงโปรดเกล้าฯ
            
- แพรแถบย่อนี้ใช้ประดับแทนเหรียญจริง ( เหรียญจริงใช้ประดับเครื่องแบบครึ่งยศ/เต็มยศ เสื้อขาวกางเกงกระโปรงดำ, ส่วนแพรแถบย่อใช้ประดับเครื่องแบบปกติขาว หรือเครื่องแบบปกติกากี ) โดยสีและลายของแพรแถบย่อจะเหมือนกับสีและลายของสายแพรของเหรียญนั้น ๆ ซึ่งแต่ละเหรียญจะมีสีและลายของสายแพรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเหรียญนั้น ๆ ( ดูสายแพรของเหรียญในภาพประกอบ 1 )
             แพรแถบย่อ
1 แถวหรือ 1 แท่งแนวนอนจะมีไม่เกิน 3 เหรียญ ( 3 ท่อน ) ต่อกัน ( ดูในภาพประกอบที่ 2 จะเข้าใจง่ายขึ้น )
             - เรามักเรียกว่าเหรียญที่ระลึก แต่ที่จริงบางเหรียญเป็นเหรียญที่ระลึก เช่น เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พ.ศ.2539  บางเหรียญเป็นเหรียญเฉลิมพระเกียรติ เช่น เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 พ.ศ. 2542
            
- จากภาพประกอบที่ 3 จะเห็นว่า ตั้งแต่ปี 2493 ถึง 2559 ออกมา 20 เหรียญแล้ว  ถ้าจะติดให้ครบ แผงแพรแถบย่อจะใหญ่มาก ต้องมี 7 แถว ๆ ละ 3 เหรียญ โดยแถวบนสุดมี 2 เหรียญ นี่ยังไม่รวมแพรแถบย่อของเครื่องราชฯซึ่งจะติดรวมไว้อีกไม่เกิน 2 เหรียญที่ด้านซ้ายแถวบนสุดนะ ( แพรแถบย่อของเครื่องราชฯจะมีรูปมงกุฎหรือช้างอยู่ด้วย )
                แพรแถบย่อเหรียญที่ระลึกเหล่านี้ เป็นแพรแถบย่อชั้นต้น ที่ประชาชนทั่วไปซื้อมาประดับกี่เหรียญก็ได้ตามที่มีสิทธิ์ ขึ้นอยู่กับความพอใจและความสวยงาม ติดข้ามหรือเว้นบางเหรียญก็ได้ แต่ถ้าติด
2 เหรียญขึ้นไปต้องเรียงลำดับให้เหรียญล่าสุดที่ออกทีหลังสุด อยู่แถวล่างมุมขวา คือเรียงลำดับเหรียญใหม่ไปเก่าจากขวาไปซ้ายและล่างขึ้นบน โดยมุมซ้ายของแถวบนสุดก่อนจะถึงเหรียญเครื่องราชฯจะเป็นเหรียญเก่าที่ออกมาก่อนสุด
            
( แต่เหรียญเครื่องราชฯ ถ้ามี 2 เหรียญ จะเรียงเหรียญที่ศักดิ์สูงกว่า ได้รับพระราชทานทีหลัง ไว้ที่แถวบนสุดด้านซ้าย )
             สำหรับคนที่แผงอกไม่กว้าง การติดเหรียญหรือแพรแถบย่อมากไปก็ทำให้ดูไม่สวยและเทอะทะ  ผู้หญิงมักจะติดไม่เกิน
2 แถว ผู้ชายอาจติด 3 แถว หรือ 4 แถวถ้ามีเครื่องราชฯอยู่แถวบน






         7. เนื่องจากมีการตำหนิ ผอ.กันในเฟซบุ๊กกลุ่มครูนอกระบบ เรื่องการย้าย(เปลี่ยนพื้นที่ปฏิบัติงาน)ข้ามจังหวัดของพนักงานราชการ เช่น

             - หวงตำแหน่งกันจัง ทำไมไม่ตัดตำแหน่งให้เขาไป .. เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน เอาแต่งานจนลืมคุณภาพชีวิตครู กศน.
             -
ขอชื่นชม ผอ.กศน.จังหวัดที่อีสานและอีกหลายจังหวัด ครู กศน.ตำบล คนไหนจะขอย้ายข้ามจังหวัด ท่านก็ตัดตำแหน่งให้ไปเลย ไม่มีกั๊ก ไม่ต้องรอคนมาแลกตำแหน่ง ไม่เคยคิดว่าจะได้งบประมาณน้อยลง .. หัวใจของการบริหารงานบุคคลอยู่ตรงนี้ เมื่อขอย้ายไม่ได้ก็ต้องลาออกไปเพื่อจะได้กลับบ้าน .. สุดท้ายองค์กรจะสมองไหล ไม่เหลือใครให้คอยใช้งาน .. แล้วองค์กรของเรายังจะอยู่สุขสบายดีมั้ย
             -
เห็นใจน้องๆครูจัง..ใครเจอผู้บริหารใจกว้างก็โชคดีไป
             -
การให้ครูตำบลย้ายข้ามจังหวัดและเอาตำแหน่งไปด้วยเป็นอำนาจของ ผอ.อำเภอ ถ้ายอมให้เอาตำแหน่งติดตัวไปด้วยครูก็ได้กลับบ้าน บางจังหวัดก็ไม่ยอมให้ตำแหน่งไปเพราะหวงตำแหน่ง ที่อีสานเขาไม่หวงตำแหน่ง เช่น อยู่อุดรอยากไปขอนแก่นท่านก็ตัดตำแหน่งไปลงที่ว่างได้... ปัญหาตอนนี้คือ หวงตำแหน่ง ถ้าผู้บริหารสถานศึกษายอมเพื่อให้ครูได้กลับบ้านบ้าง วันนึงจะมีคนขอมาแทนตำแหน่งที่ว่างของท่าน ทุกอย่างลื่นไหลได้ตามระบบ.. ลองคิดหน้าคิดหลังดูดีๆ นะท่านผู้บริหาร ข้อดีมีมากกว่าเสีย
             -
แจ้งผอเรื่องย้ายกลับบ้าน เพราะไกลจากบ้านเกิดแต่ต้องตัดเลขที่ตำแหน่งไปแค่นั้น ผอ ก็ไม่อนุมัติ เสียใจอย่างแรง
             -
ก็คือว่าที่จะลงมีตำแหน่งว่าง แต่ไม่มีเลขที่ตำแหน่งเราต้องตัดเลขที่ตำแหน่งไปด้วยเท่านั้นแหละ จบ
             -
อยากให้ผอ.สนง.กศน.จังหวัด....ตัดตำแหน่งให้เพราะตำแหน่งครูอาสาสมัครไม่มีที่ว่างลงถ้าไม่ตัดตำแหน่งเพราะอยากกลับบ้านเกิดมารดาอายุ84ปีสุขภาพไม่แข็งแรง

             ผมตอบไปบ้างแล้ว เช่น
             1)  การตัดอัตราหรือย้ายเลขที่ตำแหน่งไปนั้น คือการเกลี่ยอัตรา  ที่ผ่านมามีแต่ส่วนกลางเกลี่ยจากจังหวัดที่เกินกรอบไปยังตำบลที่ยังไม่มีครู กศน.ตำบล ไม่ได้เกลี่ยจากตำบลที่มีครู กศน.ตำบลคนเดียว ไปยังตำบลที่มีครู กศน.ตำบลแล้ว  ทั้งนี้เพื่อเกลี่ยให้ทั่วประเทศมีครู กศน.ตำบลครบทุกตำบล
                  ( ที่ว่า
การให้ครูตำบลย้ายข้ามจังหวัดและเอาตำแหน่งไปด้วยเป็นอำนาจของ ผอ.อำเภอนั้น ไม่เป็นความจริง )
             2)  นอกจากเกลี่ยอัตรา(ตัดตำแหน่ง)ไปลงเฉพาะตำบลที่ไม่มีครู กศน.ตำบลแล้ว ที่เดิมของผู้ขอย้ายยังต้องมีครู กศน.ตำบลอยู่หลายตำแหน่งด้วยนะ
                  ถ้าที่เดิมมีตำแหน่งเดียวจะตัดไปไม่ได้ ไม่ใช่อำนาจจังหวัด ส่วนกลางก็ยังไม่เคยทำ  ถ้ามีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าส่วนกลางเคยทำจึงจะนำข้อมูลไปต่อรองกับส่วนกลางได้
                  และที่ว่า "วันหนึ่งจะมีคนตัดตำแหน่งมาแทน" นั้น ไม่มีข้อมูลว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน หรือนานแค่ไหน จะมีวันที่เกลี่ยครู กศน.ตำบลได้ครบทุกตำบลไหม
             แม้จะอ้างนั่นอ้างนี่ว่าเพื่อประโยชน์ราชการ แต่เป็นเหตุผลที่คิดเข้าข้างตัวเอง เพื่อประโยชน์ในการย้ายของตัวเอง
             ( ผอ.ที่ไม่ให้ตัดตำแหน่ง ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่เห็นแก่ประโยชน์ของหน่วยงาน กศน.อำเภอ เพราะท่านจะอยู่ที่ กศน.อำเภอนั้นเพียงประมาณ 4 ปี แต่เมื่อไม่มีเลขที่อัตราแล้วจังหวัดนั้นจะบรรจุคนใหม่มาแทนไม่ได้ นอกจากจะกระทบเพื่อนร่วมงานที่ต้องช่วยกันแบ่งภาระไป ยังกระทบไปถึงผู้ที่รอบรรจุในจังหวัดนั้นด้วย  ถ้า ผอ.ยอมตัดตำแหน่ง ท่านอาจได้รับคำชื่นชมจากคนที่ได้ย้ายหรืออาจได้มากกว่าคำชื่นชม แต่ กศน.อำเภอจะขาดอัตรากำลังไปไม่มีกำหนด  บางคนบอกว่าเป็นการเห็นแก่ตัวของ ผอ.ที่ให้ตัดตำแหน่ง )

             3)  บุคลากรของรัฐแต่ละประเภทย่อมต้องแตกต่างกัน เช่น ผู้รับจ้างเหมาบริการย้ายไม่ได้ ข้าราชการพลเรื่อนรวมทั้งข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ของเราแม้แต่ตำแหน่งเดียวกันแต่ถ้าทำงานมานานไม่เท่ากันจนคนหนึ่งเป็นบรรณารักษ์ชำนาญการอีกคนหนึ่งเป็นบรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ ก็ยังย้ายสับเปลี่ยนกันไม่ได้เลย ต้องบรรณารักษ์ชำนาญการด้วยกัน หรือชำนาญการพิเศษด้วยกันจึงจะย้ายสับเปลี่ยนกันได้
                  ขรก.ครู ใช้ระเบียบของ ก.ค.ศ.ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงศึกษาฯ มีระเบียบให้ย้ายเพราะต้องทำงานโดยไม่ต้องต่อสัญญาไปจนเกษียณ ( ระเบียบใหม่ ขรก.ครูที่บรรจุใหม่ยังไม่ถึง 4 ปี ก็ห้ามขอย้าย )  ส่วนพนักงานราชการ ใช้ระเบียบของ กพร.นอกเหนืออำนาจ รมว.กระทรวงศึกษาฯ โดยให้จ้างตามโครงการ จึงไม่ให้ย้าย ( แต่ กศน.เราเห็นใจจึงเลี่ยงบาลีโดยใช้คำว่า "ให้ไปปฏิบัติงานนอกพื้นที่" ไม่ใช่ "ย้าย" )

.             หลังจากผมตอบไปแล้ว ผมได้เรียนถามเรื่องนี้จาก 3 ท่าน คือท่าน ผอ.กจ., ท่าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสถิติข้อมูล กศน.(สัจจา วงศาโรจน์), และคุณณัฐพล จนท.กจ.กศน.  ได้รับข้อมูลว่า
             - การย้าย(เปลี่ยนพื้นที่ปฏิบัติงาน)ที่แจ้งครั้งนี้ หมายถึงให้ขอไปยังที่ที่ตำแหน่งว่าง  คำว่างตำแหน่งว่าง คือ มีเลขที่ตำแหน่งว่างอยู่แล้ว เท่านั้น  ไม่ได้ให้ตัดอัตรา/เกลี่ยอัตรา หรือแม้แต่สับเปลี่ยน
             - ผมถามต่อ ว่า  ถ้ามีผู้ขอสับเปลี่ยนในตำแหน่งเดียวกัน หรือขอตัดอัตราจากตำบลที่มีครู กศน.ตำบลหลายอัตรา ไปยังตำบลที่ไม่มีเลขที่อัตราเลยแม้แต่อัตราเดียว ไม่ใช่ตัดจากตำบลที่มีคนเดียวไปยังตำบลที่มีอยู่ 1 คนแล้ว จะได้ไหม   บางท่านตอบว่าครั้งนี้ไม่ได้ บางท่านตอบว่าต้องพิจารณากันอีกครั้ง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย