วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560

1.ไม่มีสัญชาติไทย สมัครเทียบระดับฯไม่ได้, 2.ใบ สด.8 เทียบโอนได้วิชาอะไร, 3.ครู กศน.ไม่มีวุฒิครู สอบครูผู้ช่วยได้ไหม, 4.ครู ศรช.รับผิดชอบ นศ.ได้กี่คน เกินเท่าไรจึงจะจ้างครู ศรช.เพิ่ม จ้างเป็นครูประจำกลุ่มได้ไหม, 5.จนท.กศน.จังหวัด เป็นวิทยากรให้ กศน.อำเภอ ในวันราชการ เบิกค่าวิทยากร ชม.ละ 600 บาทได้ไหม, 6.จนท.บอกว่าเครื่องราชฯ จะขอได้เฉพาะกลุ่มบริหารทั่วไป, 7.เบิกค่าวิทยากรให้กับวิทยากรของศูนย์วิทย์ได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 1 ธ.ค.60 มี ผอ.กศน.เขต ถามผมทางไลน์ ว่า  เทียบระดับ คนที่ไม่มีสัญชาติไทยไม่สามารถเรียนได้ใช่ไหม พอดีตรวจสอบแล้ว มีเรียน 1 คน เลขบัตรประจำตัวขึ้นด้วยเลข 8  แล้วหนังสือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนที่ ศธ 0210.03/6217 ลว. 6 พ.ย. 49 ที่ให้สถานศึกษาสามารถรับสมัครและออกหลักฐานการศึกษาให้เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยได้ ฉบับนี้ ยังมีผลอยู่หรือไม่

             ผมตอบว่า   หนังสือฉบับที่ให้รับสมัครและออกหลักฐานการศึกษาแก่ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยได้ ยังมีผลอยู่ แต่หนังสือฉบับนี้เป็นเรื่อง "การศึกษา (การเรียน)"
             แต่ "การเทียบระดับ" ไม่ใช่การเรียน  การเทียบระดับเป็นการประเมินเพื่อยอมรับระดับความรู้ที่เขามีความรู้อยู่แล้ว
             ตามคู่มือการดำเนินงานเทียบระดับการศึกษา ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2559 ( ดาวน์โหลดได้ที่ 
https://www.dropbox.com/s/tzgrwkyven6m08x/manualTeab59.pdf?dl=1 ) กำหนดคุณสมบัติของผู้เข้ารับการประเมินเทียบระดับฯ ไว้ที่หน้า 9 ข้อ 1.1 ว่า มีสัญชาติไทยฉะนั้นคนที่ไม่มีสัญชาติไทยจึงไม่สามารถสมัครเทียบระดับได้

         2. วันที่ 4 ธ.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  มีนักศึกษาเอาใบสด8 มาเทียบโอน ในระดับม.ปลาย ไม่ทราบว่าเทียบโอนได้รายวิชาอะไรบ้าง

             ผมตอบว่า   จะเทียบโอนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ( กลุ่มทหารกองประจำการหรือทหารเกณฑ์ ) ใช่ไหม
             สด.8 คืออะไร เขาได้มาโดยการเรียน รด.ปี 3 หรือโดยการเป็นทหารกองประจำการครบตามที่ พรบ.การรับราชการทหารกำหนด
?
             ถ้าเป็นทหารกองประจำการครบจึงจะเทียบโอนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะนี้ได้
             ( หลักฐานที่ใช้คือ สมุดประจำตัวทหารกองหนุน หรือ หนังสือรับรองการปลดประจำการจากผู้บังคับหน่วยทหารตั้งแต่ระดับกองพันหรือผู้บังคับบัญชากองร้อยอิสระหรือผู้บังคับการเรือชั้น 3 ขึ้นไป )

             เทียบโอนได้รายวิชาอะไรบ้าง ดูในหนังสือปกสีเขียว แนวทางการเทียบโอนผลการเรียน จากความรู้และประสบการณ์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราชช 2551”  หนังสือนี้ ส่วนกลางส่งให้ทุกอำเภอแล้ว  ส่งให้พร้อมกับเล่มสีน้ำเงิน การเทียบโอนจากหลักสูตร 44 เข้าสู่หลักสูตร 51
             ดูภาพปกในข้อ 2 ที่ 
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/487113
             ถ้าหาเล่มสีเขียวนี้ไม่เจอ ดาวน์โหลดไฟล์ได้ที่ 
https://www.dropbox.com/s/e10tvqv7b5t1tk9/teboon.rar?dl=1
             หรือ เมื่อปี 59 ให้ครูทุกคนเข้าอบรมขับเคลื่อนการจัดทำแผนการเรียนรู้รายบุคคล ในเอกสารประกอบการอบรมก็มีเรื่องการเทียบโอนฯกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ นี้

         3. วันที่ 8 ธ.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องสอบครูผู้ช่วย กศน. ในกรณีปัจจุบันเป็นครู กศน.ตำบล แต่ยังไม่มีวุฒิครู จะสอบได้ไหม

             ผมตอบว่า   วุฒิครู คือ ปริญญาทางการศึกษา  คุณสมบัติในการสมัครสอบครูผู้ช่วยมีหลายข้อ ขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งก็สมัครไม่ได้ โดยมีข้อหนึ่งกำหนดว่า มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาหรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนด
             ฉะนั้น แม้จะเป็นครู กศน. แต่ถ้าไม่มีทั้งปริญญาทางการศึกษา หรือปริญญาทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนด ก็ไม่มีสิทธิสมัครสอบครูผู้ช่วย
             แต่.. ปริญญาทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนด มีมากกว่าหนึ่งหมื่นเก้าพันคุณวุฒินะ มีวุฒิอะไรบ้าง ตรวจสอบได้ในเว็บ ก.ค.ศ. ที่  
http://qualification.otepc.go.th/menu.php โดย
             - ชี้ที่ "คุณวุฒิ
คลิกที่ รับรองก่อน 6 ก.ย.54"
             - ใส่ชื่อมหาวิทยาลัยในช่อง ค้นหา
             - คลิกที่ปุ่มค้นหา (รูปแว่นขยาย) ก็จะโชว์วุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง ( อาจมีหลายหน้า ให้คลิกดูทีละหน้า ) ถ้าดูทุกหน้าแล้วไม่มีวุฒิที่หา ให้กลับออกมาแล้วคลิกเข้าไปหาที่ "คุณวุฒิ รับรองหลัง 6 ก.ย.54" ด้วย ถ้าไม่มีอีก แสดงว่าวุฒินั้นไม่ได้รับการรับรอง ถ้าไม่แน่ใจให้ติดต่อสอบถาม ก.ค.ศ.

             ส่วนคำว่า ปริญญาทางการศึกษา” ( ที่ภาษาพูดว่า วุฒิครู” ) นั้น ได้แก่
             1)  การศึกษา
             2)  ครุศาสตร์
             3)  ศึกษาศาสตร์
             4)  ครุศาสตร์อุตสาหกรรม
             5)  ศิลปศาสตร์ ( ศึกษาศาสตร์ หรือ ศึกษาศาสตร์การสอน )
             6)  วิทยาศาสตร์ ( ศึกษาศาสตร์ หรือ ศึกษาศาสตร์การสอน หรือ การสอน )
             7)  คหกรรมศาสตร์ วิชาเอกคหกรรมศาสตร์ศึกษา
             8)  เกษตรศาสตร์ วิชาเอกเกษตรศึกษา
             9)  บริหารธุรกิจ วิชาเอกธุรกิจศึกษา

             และ.. ปกติ พนักงานราชการ กศน. ตำแหน่งครู ( เช่นครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบล ) ทุกคน จะต้องมีปริญญาทางการศึกษาหรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.รับรอง อยู่แล้วนะ เพราะ คุณสมบัติในการสมัครเป็นพนักงานราชการ กศน. ตำแหน่งครู ก็กำหนดให้มีปริญญาทางการศึกษาหรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.รับรอง เช่นกัน
             ถ้าพนักงานราชการ กศน.ตำแหน่งครูคนใดไม่มีปริญญาทางการศึกษาหรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.รับรอง แสดงว่า จังหวัดนั้นทำผิดในการคัดเลือกพนักงานราชการตำแหน่งครู
             โดย รุ่นเก่าจะกำหนดคุณสมบัติว่า "มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี ที่ ก.ค.ศ.กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน."
             ส่วนรุ่นหลัง ตั้งแต่ 24 ก.พ.58 เป็นต้นมา เปลี่ยนเป็นกำหนดคุณสมบัติว่า
มีวุฒิปริญญาทางการศึกษา เฉพาะ 3 วุฒิ คือ ศึกษาศาสตร์ การศึกษา ครุศาสตร์ ถ้าเป็นคนในสังกัด กศน.เพิ่มอีก 1 วุฒิ คือ ป.บัณฑิต

         4. วันที่ 12 ธ.ค.60 มี ผอ.กศน.เขต ถามผมทางโทรศัพท์ ว่า  ครู ศรช.รับผิดชอบ นศ.ได้กี่คน เกินเท่าไรจึงจะจ้างครู ศรช.เพิ่มได้อีก จ้างเป็นครูประจำกลุ่มได้ไหม

             ผมตอบว่า   หนังสือแจ้งแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเกณฑ์สำหรับครู ฉบับล่าสุดเป็นฉบับเมื่อ 30 พ.ย.2558 ( หนังสือ สป.ศธ.ที่ ศธ 0210.03/14360 ดาวน์โหลดได้ที่  https://www.dropbox.com/s/zjbq6ciwb9oguln/criteria.pdf?dl=1 ) หลังจากนั้นยังไม่มีฉบับที่ใหม่กว่า
             ในเรื่องของการจ้างครูประจำกลุ่ม ค่อนข้างสับสน เปลี่ยนกลับไปมา แต่ละกลุ่มงานในส่วนกลางก็มีความรู้ความเข้าใจที่เป็นปัจจุบันทันสมัยไม่เท่ากัน บางคนก็ยังใช้ฉบับที่เก่าแล้วนำขึ้นมาใหม่จนกลายเป็นฉบับหลังไปอีก
             ซึ่งเดิมเคยให้ยกเลิกการจ้างครูประจำกลุ่มไปแล้ว เหลือเฉพาะครูประจำกลุ่มของกลุ่มเป้าหมายพิเศษเช่นกลุ่มทหาร กลุ่มผู้ต้องขัง  สมัยท่านประเสริฐ บุญเรื่องก็มีการย้ำชัดว่าให้จ้างครูประจำกลุ่มได้เฉพาะกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ส่วนกลุ่มทั่วไปให้จ้างเป็นครู ศรช.
             แต่หนังสือฉบับวันที่ 30 พ.ย.58 นี้ ออกมาในสมัยท่านสุรพงษ์ จำจด พูดถึงการจ้างครูประจำกลุ่มในกลุ่มทั่วไป
             ผมจึงขอสรุปตามหนังสือฉบับล่าสุด ณ ขณะนี้ ว่า จ้างเป็นครูประจำกลุ่มได้

             หนังสือฉบับนี้ กำหนดในข้อ 2 ว่า ครู กศน.ตำบล รับผิดชอบ 1 กลุ่ม ไม่เกิน 40 คน หากจะให้รับผิดชอบจำนวน 2 กลุ่ม ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน กศน.จังหวัด ( ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 2 กลุ่ม )
             นั่นคือ ครู กศน.ตำบล ต้องรับผิดชอบ นศ. ไม่เกิน 80 คน อำเภอใดมีจำนวน นศ.ไม่พอให้ครู กศน.ตำบลรับผิดชอบได้ถึงรายละ 40 คน ครู กศน.ตำบลก็รับผิดชอบ นศ.ต่ำกว่า 40 คนได้ ( แต่จะให้ครู กศน.ตำบลไม่ต้องรับผิดชอบ นศ. เพื่อใช้ นศ.สำหรับจ้างครู ศรช.เพิ่ม ไม่ได้ )
             ในข้อ 6 กำหนดว่า
ครู ศรช.รับผิดชอบผู้เรียนตั้งแต่ 1 กลุ่มขึ้นไป กลุ่มละไม่เกิน 40 คน ทั้งนี้หากมีผู้เรียนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ให้นับรวมกับผู้เรียน/ผู้ร่วมกิจกรรม กศ.นอกระบบและ กศ.ตามอัธยาศัย ( ที่ตนรับผิดชอบ ) ใน แต่ละเดือน ต้องรวมเป็นรับผิดชอบไม่น้อยกว่า 100 คน จึงจะเบิกเหมาจ่ายตามวุฒิ ไม่ได้ระบุว่าถ้ารวมแล้วก็ยังไม่ครบ 100 คน ให้เบิกจ่ายเป็นรายหัวแบบที่เมื่อก่อนเคยกำหนด
             ( เรื่องการนับรวมกับจำนวนผู้เรียน/ผู้ร่วมกิจกรรม กศ.ต่อเนื่อง/อัธยาศัย
ในแต่ละเดือนนี้ ยากในการปฏิบัติ ต้องนับใหม่กันทุกเดือน กศ.ต่อเนื่องบางรุ่นก็เรียนเดือนเดียวจบ จำนวนที่นับได้จึงไม่เท่ากันทุกเดือน บางเดือนรวมถึง 100 คน แต่บางเดือนไม่ถึง 100 คน ยากในการเบิกจ่ายของ จนท.การเงิน )
             ในส่วนของเกณฑ์สำหรับ ครู ศรช.นี้ ส่วนกลางไม่กำหนดจำกัดว่าไม่เกินกี่กลุ่ม ให้แต่ละจังหวัดกำหนดเอง
             ในข้อ 9 กำหนดว่า
ครูประจำกลุ่ม รับผิดชอบผู้เรียนกลุ่มละไม่เกิน 40 คน ให้ได้รับค่าตอบแทนทุกเดือนเป็นรายหัว ๆ ละไม่เกิน 80 บาท
             แต่ในหนังสือ สป.ศธ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0210.117/7247 ลว.21 มิ.ย.59 เรื่องทบทวนการจ้างครูฯ  กำหนดให้จ้างครู กศน.(บุคคลภายนอก) ทุกตำแหน่ง เป็นการจ้างเหมาฯ ระบุให้ครูประจำกลุ่มรับผิดชอบนักศึกษาไม่เกิน 50 คน แต่อัตราการจ้างยังเป็น 19,200 บาท/ภาคเรียน ( 3,200 บาท/เดือน )

             สรุป
             1)  จ้างเหมาบริการเป็นครูประจำกลุ่มได้  ครูประจำกลุ่มรับผิดชอบ นศ.ไม่เกิน 50 คน คิดค่าจ้างจากรายหัว ๆ ละไม่เกิน 80 บาท ถ้ารับผิดชอบ นศ.40-50 คน ค่าจ้างเดือนละ 3,200 บาท
             2)  เกณฑ์จำนวน นศ.สำหรับครู ศรช. จะเป็นเท่าไร ให้แต่ละจังหวัดกำหนด ส่วนที่เกินเกณฑ์หรือไม่ถึงเกณฑ์น่าจะจ้างเป็นครูประจำกลุ่ม เช่น จังหวัด ก. กำหนดให้ครู ศรช.รับผิดชอบ นศ.รายละ 50-90 คน ถ้าอำเภอ ข. มี นศ.เหลือจากการรับผิดชอบของครูประเภทอื่น 100-180 คน ก็จ้างครู ศรช.ได้ 2 คน
                  ถ้ามี นศ.เหลือ 49 คน ก็จ้างครูประจำกลุ่ม 1 คน
, ถ้ามี นศ.เหลือ 181 คน ก็จ้างครู ศรช. 2 คน กับครูประจำกลุ่ม 1 คน เป็นต้น  ( ถ้าจังหวัดกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ 50 คน จะต้องมีจำนวน นศ.เหลือเศษถึง 50 คน จึงจะจ้างครู ศรช.เพิ่มได้อีก 1 คน )

         5. วันที่ 15 ธ.ค.60  มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เจ้าหน้าสำนักงาน กศน.จังหวัด เป็นวิทยากรให้ กศน.อำเภอ ในวันและเวลาราชการ สามารถเบิกค่าวิทยากร ชั่วโมงละ 600 บาทได้ไหม

             ผมตอบว่า   ก่อนอื่นต้องดูว่าเป็นวิทยากรงานอะไร เช่น เป็นวิทยากรการประชุม หรือเป็นวิทยากรการฝึกอบรม หรืองานการศึกษาต่อเนื่อง หรืองานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแต่ละงานมีระเบียบหลักเกณฑ์และอัตราที่แตกต่างกัน
             ถ้าเป็นวิทยากรการฝึกอบรม ท่านอาจารย์สุนีย์ หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. บอกว่า  ปัจจุบันยังใช้มาตรการประหยัดงบประมาณของ สป.ศธ.ฉบับล่าสุด คือฉบับปี 56 อยู่ ( ดูได้ที่ 
https://www.dropbox.com/s/m9oghdbtsd26p9n/saveMeasure.pdf?dl=1 ) ซึ่งให้ใช้ไปจนกว่าจะมีฉบับใหม่ โดยฉบับนี้ กำหนดในเรื่องการฝึกอบรม ไว้ในข้อ 7.6 ว่า
            
7.6 ค่าสมนาคุณวิทยากร บุคลากรในสังกัด สป.ให้เบิกได้เฉพาะวิทยากรต่างสำนัก/หน่วยงานกับผู้จัดการฝึกอบรม ( เช่น ถ้าหน่วยงานสังกัด กศน.จัดฝึกอบรม ก็ไม่ให้วิทยากรที่สังกัด กศน.เบิกค่าสมนาคุณวิทยากร ) กรณีมีความจำเป็นจะเบิกจ่าย ให้ขออนุมัติหัวหน้าส่วนราชการ ( ปลัดกระทรวง ) หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรณี ๆ ไป

         6. คืนวันอาทิตย์ที่ 17 ธ.ค.60 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  หากเคยบรรจุเป็นพนักงานราชการในวุฒิ ปวส.หรือเทียบเท่า..ต่อมามีตำแหน่งที่เป็นวุฒิปริญญาตรี ได้สอบและได้เลื่อนมาเป็นวุฒิปริญญาตรี การขอเครื่องราชฯ จะนับระยะเวลาต่อเนื่องเลยมั๊ย หรือต้องเริ่มนับตอนที่บรรจุวุฒิปริญญาตรี เนื่องจาก จนท.บอกว่าเครื่องราชฯ จะขอได้เฉพาะตำแหน่งบริหารทั่วไป

             ผมตอบว่า
            
1)  พนักงานราชการวุฒิ ปวส. กลุ่มงานบริการ ก็ขอเครื่องราชฯได้ ( ดูในบัญชีในข้อ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2017/10/soldier.html ) ผมเพิ่งจะโพสต์เรื่องนี้เมื่อ ต.ค.60 นี้
            
2)  แต่เมื่อเปลี่ยนตำแหน่งเป็นพนักงานราชการกลุ่มงานบริหารทั่วไป เนื่องจากการเปลี่ยนตำแหน่ง/เปลี่ยนกลุ่มงานของพนักงานราชการต้องลาออกและสอบใหม่ ระเบียบ ณ ปัจจุบัน ( 2560 ) ถ้าลาออกการนับเวลาเพื่อการขอเครื่องราชฯจะไม่นับต่อกัน ต้องเริ่มนับเวลาใหม่ ( ถ้านับเวลาเพื่อการสอบเป็นครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ จะนับต่อเนื่องด้วย การนับเวลาเพื่อแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน )
             อนึ่ง ถ้าตอนเป็นพนักงานราชการกลุ่มงานบริการครบ
5 ปีขึ้นไปขอเครื่องราชฯได้แล้ว ไม่ต้องส่งคืน ประดับต่อเนื่องไปได้ และเมื่อเป็นพนักงานราชการกลุ่มงานบริหารทั่วไปจนถึงเวลาขอเครื่องราชฯที่เคยได้แล้วก็ไม่ต้องขอซ้ำอีก ควรแจ้งฝ่ายบุคลากรของจังหวัดว่าเราเคยได้รับเครื่องราชฯใดแล้ว

         7. วันที่ 20 ธ.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  กศน.อำเภอจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ค่ายวิทย์ฯที่ กศน.อำเภอ เชิญบุคลากรของศูนย์วิทย์มาเป็นวิทยากร กศน.อำเภอเบิกเงินค่าวิทยากรให้กับวิทยากรของศูนย์ฯวิทย์ได้หรือเปล่า

             เรื่องนี้  ผมเคอยบอกแล้วว่า ก่อนอื่นต้องดูว่าเป็นวิทยากรงานอะไร เช่น เป็นวิทยากรการประชุม หรือเป็นวิทยากรการฝึกอบรม หรืองานการศึกษาต่อเนื่อง หรืองานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแต่ละงานมีระเบียบหลักเกณฑ์และอัตราที่แตกต่างกัน
             ท่านอาจารย์สุนีย์ หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. บอกว่า ถ้าจัดฝึกอบรม
นักศึกษา จ่ายจากเงินอุดหนุนตามคำสั่ง สป.ที่ 605 ( เป็นงาน กศ.ขั้นพื้นฐาน จึงไม่ใช้ระเบียบการฝึกอบรม และไม่โยงกับมาตรการประหยัดงบประมาณ ) สามารถจ่ายค่าตอบแทนวิทยากร ให้วิทยากรที่เป็นบุคลากรในสังกัด กศน.ด้วยกันได้ไม่เกินชั่วโมงละ 200 บาทต่อคน ( ไม่เกินชั่วโมงละ 600 บาทต่อคณะ 3 คนขึ้นไป )   แต่เขาไม่ควรเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการซ้ำซ้อนกับรับค่าตอบแทนวิทยากร
             และถ้าไปเข้าค่ายในศูนย์วิทยฯมีผู้ทำหน้าที่ให้ความรู้ซึ่งเป็นหน้าที่ตามตำแหน่งอยู่แล้ว ไม่สามารถเบิกค่าตอบแทนได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย