วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560

1.สงสัยเรื่องการติดเหรียญเครื่องราชอิสริยาภรณ์, 2.เค้าบอกให้ไปติดต่อสัสดีเอง, 3.พนักงานราชการวุฒิ ปวส.มีสิทธิรับเครื่องราชมั๊ย, 4.ทำไมบางคนได้บางคนไม่ได้, 5.วิชาเลือกได้คะแนนระหว่างภาค 46 คะแนน ปลายภาค 6 คะแนน จะได้เกรดใด, 6.หากผู้เรียนฟ้องร้องคดีนี้ กศน.ผิด? - โปรแกรมรุ่น 19 ต.ค. ยอมให้จบแม้ไม่เรียนวิชาเลือกบังครับ ถ้า..., 7.แปลก ๆ นะ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. จากค่ำถึงดึกวันที่ 16 ต.ค.60 มีผู้ถามผมเรื่องการติดเหรียญเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เช่น

             - นายอุดมพร สารีกิจ ครูอาสาฯ ถามทางไลน์ ว่า  ครูครับ ติดเครื่องราช ชุดเครื่องแบบเต็มยศ 3 เหรียญเรียงตามลำดับ จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย+เบญจมาภรณ์ช้างเผือก+เหรียญที่ระลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ไหมครับ หรือครูเอกชัยจะแนะนำให้ติดเหรียญจตุรถาภรมงกุฎไทยอย่างเดียว ขอคำแนะนำเพื่อความถูกต้องและความเหมาะสมด้วย
             ผมตอบว่า  ติดทั้ง 3 เหรียญเรียงตามนั้นถูกแล้ว
             - เหรียญเครื่องราชฯ  ( เช่น จ.ม.
, บ.ช.) ให้ประดับเพียง 2 เหรียญ คือเหรียญสูงสุดของช้างเผือก กับ สูงสุดของมงกุฏไทย

             - เหรียญที่ระลึก  ประดับได้ทุกเหรียญที่ออกหลังเราเกิด ( ประดับเหรียญที่ระลึกได้มากกว่านี้ )
             ผู้ชายยิ่งประดับมากยิ่งดูดี
             แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่เขาประดับกันแค่ 2 เหรียญ ถ้าประดับมากจะดูเกะกะเทอะทะ เพราะสายแพรเหรียญของผู้หญิงจะผูกเป็นปีกแมลงปอ ประดับชิดกันยาก

             การประดับเหรียญจริงนี้ ประดับเฉพาะเครื่องแบบพิธีการครึ่งยศ-เต็มยศ คือเสื้อขาวกางเกงกระโปรงดำ นะ ถ้าเครื่องแบบพิธีการปกติ ขาวทั้งชุด จะประดับแพรแถบย่อแทนเหรียญ

             - ครูอ้อม กศน.ดอยหล่อ, พงษ์ธวัช ตั้งฑีฆะรักษ์ ถามต่อท้ายโพสต์ผมในเฟซบุ๊ก ว่า พนักงานราชการ ที่ได้รับ จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย ใช้แถบแบบไหนค่ะ รูปตามโพสต์ของข้าราชการหรือ พรก. ค่ะ”, “ได้ บช. มาก่อน ขณะนี้ได้ ตม. แพรแถบแบบไหนถูกต้อง
             ผมตอบว่า  ทั้งเหรียญจริง และแพรแถบย่อ นั้น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานราชการหรือลูกจ้างประจำหรือข้าราชการ ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯเดียวกันจะประดับได้เหมือนกันหมด แต่ต่างกันที่เหรียญที่ระลึกตามอายุ
             ในแผงแพรแถบย่อนั้น จะเป็นแพรแถบย่อของ "เหรียญเครื่องราชฯ" อยู่ไม่เกิน 2 เหรียญ ตรงริมซ้ายของแท่งบน ส่วนที่เหลือเป็นแพรแถบย่อของ "เหรียญที่ระลึก" ซึ่งทุกคนประดับได้ทุกเหรียญที่ออกหลังตนเกิด ( ไม่ต้องขอพระราชทานเหรียญที่ระลึก )
             คนที่อายุมากจึงประดับแผงแพรแถบย่อได้แผงใหญ่มีหลายแท่ง ( 1 แท่งแนวนอน แทน 3 เหรียญ )

             ดูข้อมูลว่า เหรียญที่ระลึกใดทรงโปรดเกล้าฯในปี พ.ศ.ใด ได้ในข้อ 6 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/310038  ( ปัจจุบันออกเหรียญที่ระลึกมากกว่าข้อมูลนี้ )

         2. เย็นวันที่ 9 ต.ค.60 Thanutpon Maneeruengsin ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  เรียน กศน จังหวัดบุรีรัมย์ แล้วเค้าไม่ผ่อนผันทหารให้ บอกว่าให้ไปติดต่อสัสดีเอง แล้วแบบนี้สรุป กศน สามารถผ่อนผันทหารได้ใช่ไหม

             ผมตอบว่า   ตามกฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ฉบับที่ 73 ( พ.ศ.2536 ) กำหนดบุคคลผู้จะได้รับการผ่อนผันฯ ในข้อ 2 (ง) ว่า นักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ... ให้ได้รับการผ่อนผันจนสำเร็จระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งนี้ไม่เกินอายุ 22 ปีบริบูรณ์
             สถานศึกษา กศน. ควรสำรวจนักศึกษาระดับ ม.ปลาย อายุ 20-22 ปี ที่ยังไม่เคยเข้ารับการ "ตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ" และประสงค์จะขอผ่อนผันการตรวจเลือก  ( ถ้าเกิดในปี พ.ศ.2538-2540 ยื่นขอผ่อนผันต่อสถานศึกษาในช่วงปลายปี พ.ศ.2560 ) ให้ทำเรื่องขอผ่อนผัน โดยให้ กศน.อำเภอ/เขต รวบรวมส่ง สนง.กศน.จังหวัด/กทม. ภายในเดือนธันวาคม และ สนง.กศน.จังหวัด/กทม. ส่งผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของ นศ.รายนั้น ๆ ภายในเดือนกุมภาพันธ์
             ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการมอบอำนาจให้ ผอ.สนง.กศน.จ./กทม. เป็นผู้ดำเนินการ ตามคำสั่งที่ 270/2551 ลงวันที่ 5 มี.ค.2551 ข้อ 10   กศน.อำเภอ/เขต จึงต้องรวบรวมเรื่องส่งไปที่ สนง.กศน.จังหวัด/กทม.

             เอกสารที่ต้องใช้ คือ
             1)  ให้นักศึกษาเขียนคำร้องขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร  ( ดูตัวอย่างแบบคำร้องได้ที่
https://www.dropbox.com/s/grmm324qgywpmjr/requestSoldier.doc?dl=1 )
             2)  ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9) พร้อมสำเนาหน้า-หลัง จำนวน 2 ฉบับ ยื่นพร้อมให้ตรวจสอบกับฉบับจริง
             3)  หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35) พร้อมสำเนา หน้า-หลัง จำนวน 2 ฉบับ
             4)  สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 2 ฉบับ
             5)  หลักฐานสำคัญกรณีเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี) พร้อมสำเนา จำนวน 2 ฉบับ
             6)  หนังสือรับรองสถานภาพนักศึกษา ฉบับจริง  ( กศน.อำเภอเป็นผู้ออกให้ โดยนักศึกษาส่งรูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป )

         3. มีผู้ถามผมว่า  ครูอาสา ที่ใช้วุฒิ ปวส. มีสิทธิรับเครื่องราชมั๊ย ถ้าทำงานมาตั้งแต่ต้นปี 2551

             ผมตอบว่า   มีสิทธิ  เป็นไปตาม บัญชี 32 ของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 33 พ.ศ.2549
             โดยพนักงานราชการวุฒิ ปวส. ดูในตารางบัญชี 32 ลำดับที่ 1 พนักงานราชการกลุ่มงานบริการ  ปฏิบัติงานติดต่อกัน 5 ปี ขอพระราชทานเครื่องราชฯ บ.ม.  ( ตามรายละเอียดในภาพ )






         4. อยากทราบว่า ผู้ที่ได้รับเครื่องราชปี 60 เขาพิจารณาจากอะไร ถามไปที่จังหวัด จ. บอกว่าไม่ได้ทำเรื่องขอไป สำนักทำเรื่องขอให้หรือ แล้วทำไมบางคนที่ทำมานานยี่สิบกว่าปีสามสิบปีไม่ได้ แต่ทำไมที่ทำมาสิบกว่าปีได้ แถมเคยได้มาแล้วระดับหนึ่ง บางอำเภอได้หมดบางอำเภอก็ได้ไม่หมด นักวิชาการของจังหวัด บางคนก็ได้บางคนก็ไม่ได้ คนเก่าหลายปีไม่ได้แต่คนใหม่ได้ งง รบกวนอธิบายเพื่อเป็นความรู้

             ผมตอบว่า   ให้จังหวัดทำเรื่องขอไปทุกปี ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทุกแห่ง แต่บางจังหวัดอาจตรวจสอบข้อมูลไม่ละเอียดรอบคอบ
             ( บางคนอาจจะได้แล้ว แต่ไม่รู้ตัว ตรวจสอบได้ที่ 
https://thanundon.soc.go.th/home/frmloginuser )

         5. มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  การประเมินผลสอบในวิชาเลือก กรณี นศ.มีคะแนนเก็บกลางภาคอยู่ที่ 46 คะแนน  สอบปลายภาคสมมุติมีข้อสอบ 40 ข้อเลยนะ ถ้า นศ. สอบได้ 6 ข้อ เท่ากับ 6 คะแนน เมื่อประเมินผลการเรียน นศ.คนนี้จะได้ เกรด 1 ไม่ใช่ 0 ถูกต้องมั้ย

             ผมถามกลับ ว่า
             1)  วิชาเลือกบังคับ หรือวิชาเลือกเสรี
             2)  เรียนแบบพบกลุ่ม หรือแบบทางไกล
             3)  สถานศึกษากำหนดเกณฑ์คะแนนสอบปลายภาคของวิชาเลือกเสรีหรือไม่
             ( ผมไม่ว่างที่จะแช็ตซักถามโต้ตอบทีละประโยค ถามคนอื่นนะ )

         6. บ่ายและเย็นวันที่ 5 ต.ค.60 มี 2 คน ( แต่สงสัยจะอยู่คนละฝ่าย ) ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก  โดยคนหนึ่งถามว่า  นักศึกษาเรียนครบหน่วยกิตแล้ว แต่สถานศึกษาไม่ยอมให้เด็กจบ อ้างว่าขาดวิชาเลือกบังคับอีก 6 หน่วยกิต สงสารเด็ก ตั้งใจเรียนแต่มาเจอเหตุผลแบบนี้ หากเขาฟ้องสถานศึกษาต้องโดนแน่ๆเพราะไม่เคยปรับปรุงหลักสูตร ไม่เคยประกาศเป็นระเบียบข้อบังคับ มีเพียงแจ้งในที่ประชุมให้ครูทราบ แบบนี้จะทำอย่างไรดี
             ส่วนอีกคนหนึ่ง ถามว่า 
กรณีที่ นักศึกษาลงทะเบียนเรียนครบตามเกณฑ์ แต่ว่าวิชาบังคับเลือก ลงไม่ครบ ถือว่าไม่จบตามเกณฑ์ใช่ไหม

             เรื่องนี้   คุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. บอกว่า  เป็นนโยบายสำนักงาน กศน. ให้ นศ. รหัส 591...... เป็นต้นไป ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ 2 วิชา  ( แต่ถ้า เทียบโอนได้วิชาเลือกครบหน่วยกิตแล้ว ก็ไม่ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับก็ได้ แต่ถ้าเทียบโอนแล้วยังเหลือวิชาเลือกที่ต้องเรียนอีกไม่น้อยว่า 4 หน่วยกิตในระดับประถม หรือ 6 หน่วยกิตในระดับ ม.ต้น-ม.ปลาย ก็ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ )

             ( โปรแกรม ITw รุ่น 19 ต.ค.60 จะยอมให้ผู้ที่เทียบโอนแล้วเหลือต้องเรียนวิชาเลือกอีกไม่ถึง 4-6 หน่วยกิต สามารถจบได้โดยไม่ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ แต่ถ้าต้องเรียนวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 4-6 หน่วยกิต ถ้าไม่เรียนวิชาเลือกบังคับก็ไม่ให้จบ
                โปรแกรมรุ่นนี้ นอกจากแก้ไขเรื่องเทียบโอนวิชาเลือกแล้วเหลือไม่ถึง 4-6 หน่วยกิตไม่ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับแล้ว ยังใสค่าขีดจำกัดล่างให้ถึงภาค 2/59 แล้วด้วย  ดาวน์โหลดโปรแกรม
ITw รุ่น 19 ต.ค.60 ได้ที่  http://bit.ly/2obJJNp )

             หลังจากผมตอบไปแล้ว ผู้ถามบอกว่า
            
นโยบายกับกฎหมายมันคนละเรื่องเดียวกัน หลักสูตร กศน.'51 ระบุชัดเจนเรื่องจำนวนหน่วยกิตวิชาบังคับและวิชาเลือก และหากผู้เรียนฟ้องร้องคดีนี้ กศน.ผิดเต็มๆ เพราะไม่เคยปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษา และไม่เคยทำประกาศแจ้งให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการ ทางที่ดีเราน่าจะหาทางแก้ไขภายในองค์กรให้ชัดเจนก่อนที่จะเกิดคดีความขึ้น
             หลักสูตร กศน.
'51 เป็นหลักสูตรที่สามารถยืดหยุ่นได้ สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาให้เหมาะสม การที่เราจะมาบังคับให้เด็กจบหรือไม่จบตามนโยบายมันถูกต้องหรือไม่ หากถูกต้องก็ต้องมีขั้นตอนที่ชัดเจนและถูกต้องตามกฎหมาย  ด้วยความเป็นผู้น้อยก็คิดตามประสา แต่ก็ด้วยความหวังดีต่อองค์กรอย่างแท้จริง อยากทำสิ่งที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการ

         7. วันที่ 11 ต.ค.60 ผอ. ประวิทย์ กองสุดใจ ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  การกรอกใบประกาศนียบัตรเทียบระดับ ช่องที่สังกัด เป็น กศน.จังหวัด หรือ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

             ผมตอบว่า   ตามคู่มือการดำเนินงานเทียบระดับการศึกษา ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2559 หน้า 40 กำหนดในข้อ 2.2.8 ว่า
            
สังกัด ให้กรอกชื่อหน่วยงานที่สถานศึกษาสังกัด เช่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด หรือสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร
             ( ดาวน์โหลดคู่มือเล่มนี้ ได้ที่ 
https://www.dropbox.com/s/tzgrwkyven6m08x/manualTeab59.pdf?dl=1 )

             แปลก ๆ นะ ไม่รู้ใครกำหนดแบบนี้ ปกติคำว่าสังกัด คือระดับกรม เช่นประกาศนียบัตรหลักสูตร กศน.ขั้นพื้นฐาน ก็ลงสังกัดว่า “สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย