วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562

1.สมัครเรียน ป.บัณฑิตไม่ได้, 2.ครูผู้ช่วยขอย้ายได้ไหม, 3.จบสาขาบัญชี ต้องการประกอบอาชีพครู, 4.สอบเทียบระดับ มิติความรู้ฯ เบิกค่าเครื่องดื่มได้ไหม, 5.กรณีนี้สอบบรรจุครูผู้ช่วย กศน.กรณีพิเศษได้รึเปล่า, 6.ผู้รักษาการในตำแหน่ง ลงนามเรื่องใดไม่ได้, 7.เข้าสอบ N-Net ไม่ทัน


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. ช่วงพักเที่ยงวันที่ 31 ก.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  มีเรื่องอยากปรึกษาครับ เป็นครูผู้สอนคนพิการ กศน.อำเภอบ้านผือ อุดรธานี อยากได้ใบอนุญาตประกอบการสอนโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีด เพื่อนำไปสมัครเรียน ป.บัณฑิต แต่ทางคุรุสภาแจ้งว่าไม่สามารถออกให้ได้ เพราะ กศน.ได้รับการยกเว้น

             ผมตอบว่า   ไปขอที่คุรุสภาส่วนกลางใช่ไหม ลองขอที่คุรุสภาจังหวัดหรือยัง คุรุสภาแต่ละจังหวัดอาจจะยังปฏิบัติไม่เหมือนกันก็ได้ เผื่อฟลุ้ค
             ถ้าทุกแห่งไม่ออกให้ ก็ต้องทำใจ ต่อไปนี้ครู กศน.หมดสิทธิสมัครเรียน ป.บัณฑิต ซึ่งจะไม่ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไปสมัครสอบเป็นข้าราชการครู
             ครู กศน.ที่ไม่จบปริญญาทางครู ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และยังไม่ได้เริ่มเรียน ป.บัณฑิต ต่อไปก็ต้องเลิกคิดที่จะสอบเป็นครูผู้ช่วยแล้ว ให้คิดเป็นครู กศน.ตลอดไป หรือมุ่งอาชีพอื่น ถ้าจะเป็นข้าราชการก็ต้องไม่ใช่ข้าราชการครู
             ( เขาไม่ได้เรียกว่าใบอนุญาตประกอบการสอนฯนะ )

             ผู้ถาม เขียนต่อ ว่า  แต่ทางราชภัฎอุดรธานีแจ้งว่า หากจะสมัครเรียน ต้องแนบระเบียบจากคุรุสภาว่า กศน.ไม่ต้องขอใบอนุญาตดังกล่าว แต่หาระเบียบตัวดังกล่าวไม่เจอเลย
             ผมตอบว่า  ราชภัฏอุดรธานีเข้าใจผิด ไม่ใช่ว่า ไม่ต้องขออนุญาตก็เลยเรียนได้โดยไม่ต้องมีหนังสืออนุญาต แต่ ไม่ต้องขออนุญาตคือไม่มีสิทธิสมัครเรียน มหาวิทยาลัยจะรับสมัครไม่ได้ ถ้ามหาวิทยาลัยให้เรียนจนจบแล้ว ระวังจะขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคุรุสภาไม่ได้
             ระเบียบที่ต้องการนั้น ที่จริงเป็นหนังสือตอบของคุรุสภา ตามภาพประกอบนี้ ลองไปให้ ม.ราชภัฏดู แต่ควรจะให้เขาหารือคุรุสภาว่ากรณีนี้จะเรียน ป.บัณฑิตโดยไม่มีหนังสืออนุญาตได้ไหม ถ้าไม่หารือก่อนอาจเสียเวลาเรียนจนจบแล้วมีปัญหาไม่ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากคุรุสภาในภายหลัง
             ผลเป็นประการใด มาเล่าให้ผมฟังด้วยนะ จะได้เป็นข้อมูลตอบคนอื่น

             หลังจากที่ผมโพสต์คำถามคำตอบนี้ลงเฟซบุ๊กไปได้เพียงสิบกว่านาที ท่านณภัค ถิรกุลยศมาดี จากคุรุสภา เขามาเขียนต่อท้ายโพสต์ผมยาวเลย สรุปในประเด็นนี้ได้ว่า
             การขอ "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" ไม่ว่าจะไปยื่นขอที่เจ้าหน้าที่คุรุสภาประจำจังหวัดใดก็ตาม มีมาตรฐานเดียวกัน เพราะผู้อนุมัติคือส่วนกลาง ( ส่วนกลางไม่อนุมัติ )
             ส่วนกรณีเรียน ป.บัณฑิต ถ้าสถาบันดังกล่าวรับไว้เรียน ก็สามารถเรียนได้ แต่เป็นการเรียนเพื่อพัฒนาตนเอง ได้วุฒิ ป.บัณฑิตฯ แต่ไม่สามารถสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากคุรุสภา

             ผมถือโอกาสถามเพิ่มเติมว่า  ครู กศน.มีหลากหลายตำแหน่ง บางตำแหน่งก็สอน กศ.ขั้นพื้นฐาน ม.ต้น-ม.ปลาย เช่นตำแหน่ง ครู กศน.ตำบล ตำแหน่งครูอาสาสมัคร กศน. ตำแหน่งครู ปวช.
             ตำแหน่งเหล่านี้จะขอ หนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพฯโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ ได้ไหม ( กศ.ขั้นพื้นฐานที่ กศน.จัดนี้ เป็นหลักสูตรของรัฐบาล และสถานศึกษา กศน.ก็ต้องผ่านการประเมินภายนอกจาก สมศ.)
             ท่านณภัค ตอบว่า  ไม่สามารถออกหนังสืออนุญาตให้ได้ เพราะ พ.ร.บ.สภาครูฯ ยกเว้นให้ไม่ต้องขอ







         2. วันที่ 2 ส.ค.62 มีผู้ถามบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊กผม ว่า  เรียนถามท่าน ผอ. ตามหนังสือ ศธ0210.118/4343 ลงวันที่ 31 กค 62 เรื่องการย้ายและแต่งตั้งข้าราชการครูฯ ขอเรียนถามว่า กรณีที่เราเป็นครูผู้ช่วย ที่เพิ่งบรรจุในวันที่ 1 ตุลาคม 61 ที่ผ่านมาแล้วนั้น สามารถเขียนขอย้ายไปในตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่ว่างอยู่ได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ครูผู้ช่วยยังขอย้ายไม่ได้ ครูผู้ช่วยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในประกาศรับสมัครสอบบรรจุว่ากี่ปีจึงจะขอย้ายได้ เช่นถ้าในประกาศรับสมัครสอบบบรรจุกำหนดว่า 3 ปีจึงจะขอย้ายได้ แม้ปัจจุบันจะผ่านจากครูผู้ช่วยเป็นตำแหน่งครูแล้ว แต่ถ้ายังรวมไม่ครบ 3 ปีก็ยังขอย้ายไม่ได้
             ( อย่างน้อยที่สุดก็ต้องผ่านการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม 2 ปี )
             ผมไม่ได้เป็น ผอ.นะ
             ( ที่หนังสือดังกล่าวระบุว่า “ผู้มีความประสงค์ขอย้ายต้องอยู่ปฏิบัติงานในหน่วยงาน/สถานศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 12 เดือน นับถึงวันที่ 30 ก.ย.62” นั้น หมายถึงผู้ที่เคยย้ายแล้ว จะขอย้ายอีก ต้องรอให้ครบ 1 ปีก่อน )

         3. คืนวันที่ 6 ส.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  สวัสดีคะ พอดีเรียนจบ ป.ตรี สาขาบัญชี ปัจจุบันทำงานบริษัทเอกชน แต่ต้องการประกอบอาชีพครู แต่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู ต้องทำอย่างไรบ้างคะ

             ผมตอบว่า   ถ้าจะเป็นข้าราชการครูต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ถ้าต้องการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ปัจจุบันเหลือวิธีปกติ 2 วิธี
             1)  เรียนอีก ให้จบ “ปริญญาทางการศึกษา” ในสถาบัน/หลักสูตร ที่คุรุสภารับรอง
             2)  ไปหาสมัครเป็นครูผู้สอนอัตราจ้างในสถานศึกษา เช่นโรงเรียนประถม-มัธยม สพฐ. แล้วให้สถานศึกษานั้นขอ "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบอาชีพ" จากคุรุสภา แล้วใช้หนังสือนี้+หลักฐานการจ้างเป็นครู สมัครเรียนให้จบ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู ในหลักสูตรที่คุรุสภารับรอง

         4. วันอาทิตย์ที่ 11 ส.ค.62 มีผู้ถามในโอเพนแชท ( ไลน์สแควร์เดิม ) กลุ่ม กศน. ว่า  เราสามารถเบิกค่าน้ำคณะกรรมการสอบเทียบระดับได้มั้ยคะ.(ที่ผ่านมายังไม่เคยเบิกค่ะ) สอบประเมินมิติความรู้ความคิดค่ะ

             ผมตอบว่า   เบิกได้วันละไม่เกิน 30 บาท/คน ( ตามหลักเกณฑ์ในภาพประกอบนี้ )







             5. ดึกวันที่ 13 ส.ค.62 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เป็นครู ศรช.มา 5 ปี จึงลาออก ลาออกได้ประมาณ 2 เดือน มีโทรศัพท์จาก กศน.จังหวัดให้มารับตำแหน่งครู กศน.ตำบล ปัจจุบันจึงทำงานในตำแหน่งครู กศน.ตำบล กรณีนี้ สามารถสอบบรรจุครูผู้ช่วย กศน.กรณีพิเศษ ที่นับอายุการทำงานไม่น้อยกว่า 3 ปีได้รึเปล่า

             ผมตอบว่า   ได้.. นับรวมกันได้แม้ไม่ต่อเนื่องกันก็ได้ แต่ไม่นับรวมช่วงที่ไม่ได้สังกัดและสอน กศน.
             ทั้งนี้ต้องดูประกาศรับสมัครแต่ละครั้งว่าต้องใช้หลักฐานและคำรับรองจาก ผอ.สถานศึกษา/หน่วยงานแต่ละแห่งอย่างไรบ้าง
             ครั้งที่ผ่านมา กำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมของผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือก ว่า
             “ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานจ้างเหมาบริการจากเงินงบประมาณหรือเงินรายได้ของสถานศึกษา และ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอนในสถานศึกษา สังกัด กศน. ซึ่งต้องได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอนตามคำสั่งหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย ( ขาดวันเดียวก็ไม่ได้ ) โดยมีตารางสอนไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การนับเวลาการสอนให้นับได้ตั้งแต่วันที่ได้รับวุฒิปริญญาตรี”

         6. เช้าวันที่ 20 ส.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ใบวุฒิ กศ. รักษาการในตำแหน่ง ผอ.สามารถลงนามในใบวุฒิได้ไหมค่ะ

             ผมตอบว่า   มีบางคนบอกว่า ผู้รักษาการในตำแหน่ง ไม่สามารถลงนามในบางเรื่อง เช่น ลงนามในใบ รบ. เรื่องการเงิน เรื่องการบริหารบุคคล
             ที่จริงเป็นความเข้าใจผิด ที่ถูกคือ
             “ผู้รักษาการในตำแหน่ง มีอำนาจและหน้าที่ตามตำแหน่งที่รักษาการนั้น”
             เพียงแต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญ และไม่เร่งด่วน ผู้ดำรงตำแหน่งไม่อยู่เพียงไม่นาน ถ้ารอได้ ผู้รักษาการในตำแหน่งก็อาจจะรอให้ผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริงกลับมาตรวจสอบและลงนามเอง หรือจะโทร.หารือผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริงก่อนลงนาม ก็ได้
             การรอให้ผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริงมาลงนามในเรื่องสำคัญนี้เป็นเพียง "มารยาท" ไม่มีในระเบียบกฎหมาย

         7. คืนวันที่ 26 ส.ค.62 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ในบล็อกของผม ว่า  ท่าไม่ทันสอบN-Net สอบ E-Exam เทอมหน้า จะทันไม่ค่า

             ผมตอบว่า   ปกติถ้าส่งชื่อเข้าสอบ N-Net แล้วไม่เข้าสอบ ( เขามีค่าดำเนินการพิมพ์ข้อสอบส่งข้อสอบจัดคนคุมสอบสำหรับที่นั่งสอบเราให้แล้ว ยิ่งถ้าคนขาดสอบมีจำนวนมากรวมได้เป็นห้อง ๆ ก็เสียค่ากรรมการดำเนินการระดับต่าง ๆ มากขึ้น ) ก็ต้องติดต่อ กศน.อำเภอ/เขต เขียนคำร้องแจ้งเหตุผลที่ไม่ได้เข้าสอบและขออนุญาตสอบใหม่ตามกำหนด แล้ว กศน.อำเภอ/เขตต้องส่งเรื่องไปตามลำดับให้ส่วนกลางพิจารณาภายในเวลาที่กำหนด ว่าจะให้เข้าสอบอะไรเมื่อไร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย