วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

1.กรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ใหม่ ( ระบุชัดว่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ไม่นับเป็นชั่วโมง กพช.), 2.ตัวบ่งชี้ 1.3 “ค่าเฉลียคะแนนผลการสอบปลายภาคเรียนของกลุ่มทดสอบฯ” นั้น คืออะไร ดูได้จากไหน, 3.วิทยฐานะ, 4.รวม คู่มือ+หลักเกณฑ์ การประเมินวิทยฐานะ ว.21-22 ตำแหน่งครู, 5.ถามว่า ใบวุฒินี้ จบในระบบหรือนอกระบบ, 6.เรื่องที่บางคนยังเข้าใจผิด, 7.จัด กศน.ให้ได้ผลดี ยาก.. เพราะ..


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. กรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ใหม่ ปี 61 ให้ใช้ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/61 เป็นต้นไป ( ยกเลิกกรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณผู้เรียนปี 58 )

             ดาวน์โหลดได้ที่  https://www.dropbox.com/s/ioqx8jxvmzw4ckq/fameqoalitystudent61.pdf?dl=0
             1)  เปลี่ยนกิจกรรม จาก 9 กิจกรรม เป็น 14 กิจกรรม โดยตัด กิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซี่ยน ออกไป และเพิ่มใหม่ 6 กิจกรรมคือ
                  - กิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้สู่ประชาคมโลก
                  - กิจกรรมจิตอาสา กศน. “เราทำความดีด้วยหัวใจ”
                  - กิจกรรมส่งเสริมการอ่านและพัฒนาทักษะการเรียนรู้
                  - กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ
                  - กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม
                  - กิจกรรมการเรียนรู้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน
                  ( ในส่วนของ กิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต เพิ่มตัวอย่างเรื่อง ภัยพิบัติ )
             2)  รูปแบบของกิจกรรม แบบศึกษาดูงาน ตัดคำว่า “ในพื้นที่ใกล้เคียงหรือภายในจังหวัด/ภาคเดียวกัน” ออก แต่ยังคงให้พิจารณารูปแบบอื่น ๆ ก่อนดำเนินการรูปแบบศึกษาดูงาน
             3)  งบประมาณ ตัดคำว่า “ภายในวงเงินรายหัวผู้เรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมในภาคเรียนนั้น ๆ – ไม่ให้สถานศึกษาเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้เรียนอีก” ออก
             4)  เงื่อนไขของการดำเนินงาน
                  - ในการจัดทำแผนการจัดกิจกรรมฯ ตัดคำว่า “ทำแผนเป็นรายภาค - ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา ฯลฯ” ออก  เปลี่ยนเป็น ขอความเห็นชอบจาก สนง.กศน.จังหวัด/กทม. แต่ยังให้เบิกจ่ายเงินให้เสร็จภายในแต่ละภาคเรียน
                  - การนิเทศกิจกรรมฯของจังหวัด ตัดคำว่า “ให้ สนง.กศน.จังหวัด/กทม. รายงานการนิเทศตรวจสอบประเมินฯส่งสำนักงาน กศน.” ออก
                  - ที่สำคัญ ระบุชัดตอนท้าย ว่า กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ไม่นับเป็นชั่วโมง กพช.

         2. วันที่ 3 ก.ค.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  ตัวบ่งชี้ที่ 1.3 การประเมินภายในฯ ปี 2561 ให้ใช้ “ค่าเฉลียคะแนนผลการสอบปลายภาคเรียนของกลุ่มทดสอบฯ” นั้น คืออะไร ดูได้จากไหน

             ผมตอบว่า   ช่วงหลังจากการสอบปลายภาค กลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ จะออกตารางแจ้งค่า Y ( ค่าขีดจำกัดล่าง ) ซึ่งที่ผ่านมาการประเมินคุณภาพภายในใช้ค่า แต่ ปีนี้ การประเมินคุณภาพภายใน เปลี่ยนจากใช้ค่า Y เป็นค่าเฉลี่ย ซึ่ง ในตารางค่า Y จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ด้วยแล้ว ฉะนั้น ก็ดูจากตารางค่า Y เดิมของกลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบนั่นแหละ แต่แทนที่จะดูตรงค่า Y ก็ให้ดูที่ค่าเฉลี่ยแทน ซึ่ีงในตารางนี้มีทุกค่าอยู่แล้ว

         3. สำนักงาน กศน. แจ้งหลักสูตรการพัฒนา ขรก.ครู สายการสอน ของ กศน. ( ส.สิริธร, กศน.ภาค, ศว., หน่วย ศน., กลุ่มพัฒนา กศน.) ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนา รวม 20 หลักสูตร
             ( สามารถเข้ารับการพัฒนาในหลักสูตรอื่น ๆ ของหน่วยงานภายนอก ที่ ส.คุรุพัฒนารับรอง ได้ )
             ทั้งนี้ ขรก.ครูที่จะขอวิทยฐานะตาม ว 21/60 ต้องผ่านการพัฒนาในหลักสูตรที่ ส.คุรุพัฒนารับรอง ตาม ว 22/60 ปีละ 12-20 ชม. รวม 5 ปี 100 ชม.  ถ้าปีใดพัฒนาไม่ถึง 12 ชม. ปีต่อไปเริ่มนับ 1 ใหม่ ให้ครบ 5 ปี
             ดูรายละเอียดที่  https://www.dropbox.com/s/c6ybnitabjlzyph/V22NFE.pdf?dl=0

         4. รวม คู่มือ+หลักเกณฑ์ การประเมินวิทยฐานะ ว.21-22 ตำแหน่งครู
             ใครสนใจ ดูที่  https://logbook-teacher.otepc.go.th/

         5. วันที่ 19 ก.ค.61 มีผู้หนึ่งโพสต์ภาพใบวุฒิ ไปถามผมในไลน์ส่วนตัวและกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  ฉันรับผิดชอบงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอรบกวนขอความรู้เกี่ยวกับวุฒิการศึกษาอ่ะ วุฒิการศึกษาที่ส่งมานี้ไม่ทราบว่า เป็นวุฒิการศึกษาในระบบหรือนอกระบบ (ฉันคิดว่าเป็นวุฒิการศึกษาในระบบแต่สาเหตุที่ออกจากโรงเรียน เป็นจบมัธยมศึกษาตอนต้น เลยไม่มั่นใจ)

             ผมตอบว่า   เป็นวุฒิของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ปัจจุบันสังกัด สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ( เดิมสังกัดกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ )
             หลักสูตรนี้ก็ใช้คำว่า ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เหมือนเรานะ ( ดูที่หัวกระดาษ )
             จะถามว่า ในระบบ หรือ นอกระบบ ไปเพื่ออะไรหรือ
             ถ้าจะให้สรุปว่าเป็นในหรือนอกระบบ ก็สรุปว่า นอกระบบ เหมือน กศน.

             ผู้ถาม บอกว่า  ถ้าในระบบเวลากรอกข้อมูลจะใช้ว่าจบม.3 แต่ถ้านอกระบบจะใช้ว่าจบม.ต้นอ่ะ เลนเป็นสาเหตุให้ถามว่าในระบบหรือนอกระบบ
             ผมตอบว่า  ผมเคยโพสต์ประเด็นนี้แล้วว่า ที่มี ผอ.บางท่านบอกว่า ถ้าจบในระบบมา ให้พิมพ์วุฒิเดิมว่า ม.3 หมด ถ้าจบ กศน.ใช้คำว่า ม.ต้น หมด นั้น ไม่ถูกต้อง
             ที่ถูก ต้องดูตามใบระเบียนของเขา
             แต่ละสังกัดก็มีหลักสูตรหลายปี หลายยุคสมัย หลายหลักสูตร แต่ละหลักสูตรก็เรียกแต่ละระดับต่างกัน
             ( ผมเองจบในระบบ แต่หลักสูตรที่ผมจบ เรียกว่า ม.ศ.3 )

         6. จากการพูดคุยหลังการสอบครูผู้ช่วย กศน.ภาค ก ข ผมเห็นว่ามีบางคนยังเข้าใจผิด/เฉลยผิด
             ที่ถูกต้อง คือ

             การรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าเรียน กศน.
             ตามหนังสือสำนักงาน กศน. ที่ ศธ 0210.04/5719 เรื่องการรับนักเรียนในระบบเข้าศึกษาในสถานศึกษา กศน. ลงวันที่ 11 ธ.ค.51 ระบุว่า กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ เข้าเรียนภาคบังคับในสถานศึกษา กศน. ให้ สนง.เขตพื้นที่การศึกษา ส่งมา และต้องมาใช้เวลาเรียน กศน.ไม่น้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่เรียนอยู่ในโรงเรียนปกติ
             ( - คำว่า “ต้องมาใช้เวลาเรียน กศน.ไม่น้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกัน” นั้น ให้ยึดอายุเป็นหลัก ไม่ยึดจำนวนปีที่เรียน
                - ถ้าเป็นเด็กไร้สัญชาติ เด็กเร่ร่อน ที่ไม่มีทะเบียนบ้าน มาเรียน กศน.ได้โดยไม่ต้องผ่าน สพฐ. เพราะเขตพื้นที่ สพฐ.ดูแลเฉพาะเด็กตามทะเบียนบ้านในเขตเขา )
             ส่วนที่ว่า “รับสมัครเลย แล้วติดต่อเขตพื้นที่ให้ภายหลัง” นั้น เป็นหลักเกณฑ์เก่า เลิกใช้แล้ว

         7. ท่านนายกรัฐมนตรี พูดกับชาว กศน.เมื่อ 23 ก.ค.61 ว่า “กศน.เหรอ ฝึกอาชีพให้ชาวบ้าน ต้องให้เขาเป็นนะ”
             หมายความว่า ฝึกอาชีพให้ชาวบ้านต้องฝึกให้เขาสามารถนำไปประกอบอาชีพได้

             ระยะหลัง ๆ ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา การจัด กศน.เราเปลี่ยนไป จนมีคำพูดว่า “จัดแบบโปรยหว่าน” เน้น “ปริมาณ” ให้ได้กลุ่มเป้าหมายตามเป้า แล้วก็ “รายงานผลการดำเนินงานถ่ายภาพประกอบสวยงาม”
             เป็นอย่างนี้ทั้ง กศ.ขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง การศึกษาตามอัธยาศัย
             รายงานผลว่า ดี แต่ผลที่เกิดขึ้นจริง
             - คุณภาพของผู้จบ กศ.ขั้นพื้นฐาน เป็นอย่างไร
             - ฝึกอาชีพแล้ว มีผู้นำไปประกอบอาชีพถึง 20 % ไหม
             - ประชาชน รักการอ่าน อ่านหนังสือเพิ่มขึ้น แค่ไหน

             ปัญหาที่สำคัญมี 2 ประการ คือ
             1)  ประชาชนคนไทยปัจจุบัน ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านี้แล้ว มาเรียน/มาร่วมกิจกรรมเพราะถูกขอร้อง ต่างจากสมัยก่อนที่มาเรียนแม้ไม่ได้เรียนฟรี
                  ท่าน ผอ.สนง.กศน.จ.อุบลฯ ไป สปป.ลาวมา นำถุงยังชีพแซบอีหลีเด้อ และสิ่งของบริจาค ไปมอบผ่านรองเจ้าเมืองเซกอง และท่าน ผอ.ได้ไปเยี่ยมห้องเรียนวิชาชีพของ กศน.ลาวด้วย ( ภาพประกอบนี้ เป็นภาพที่ท่าน ผอ.เพิ่งนำมาโพสต์ ) ท่านบอกว่า
                  “กศน.ลาวปัจจุบัน เหมือน กศน.ไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว วันนี้มีเรียนหลักสูตรอาชีพระยะสั้น 3 เดือน นศ.เสียเงินเรียนคนละ 1,100 บาท เรียนวันละ 6 ชม.”
             เมื่อก่อน กศน.จังหวัดของไทย เปิดหลักสูตรอาชีพ ก็เป็นหลักสูตร 100-300 ชั่วโมง มีห้องเรียนมีอุปกรณ์ครุภัณฑ์พร้อม ผู้เรียนต้องชำระเงินค่าเรียน บางวิชามีผู้สนใจสมัครเรียนเกินโควตาต้องคอยคิวเรียนรุ่นต่อ ๆ ไป
             แต่สภาพสังคมไทยปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่อ่านหนังสือน้อยลง คนต้องการเรียน กศ.ขั้นพื้นฐานน้อยลง ต้องการฝึกอาชีพน้อยลง แม้แต่รัฐบาลจะบอกว่าคนยากจนที่ถือบัตรคนจน ถ้ายอมเข้าโครงการฝึกอาชีพจะได้เงินเข้าบัตรคนจนรายเดือนเพิ่มขึ้น ก็มีคนจนจำนวนไม่น้อยไม่ต้องการเข้าโครงการฝึกอาชีพ !?
             2)  เราเน้นปริมาณ ชัดเจนกว่าเน้นคุณภาพ มีการให้สำรวจและติดตามทวงรายงานผลการดำเนินงานเชิงปริมาณอย่างชัดเจน รวมทั้งกำหนดเกณฑ์ให้บุคลากรแต่ละประเภทต้องมีกลุ่มเป้าหมาย ( ปริมาณ ) เท่านั้นเท่านี้
                  วิธีที่จะเพิ่มปริมาณในงบประมาณเท่าเดิม ได้งบแล้วต้องจัดให้หมด เช่น
                  - จากหลักสูตร 100 ชั่วโมง แบ่งเป็น 3 หลักสูตร ๆ ละ 30-40 ชม. เพื่อนับปริมาณผู้เรียนรวม 3 รอบ ( แม้แบ่งเป็นหลักสูตรสั้น ๆ แล้วก็ยังเรียนจริงไม่ครบ ผู้เรียนมาครบในวันแรก ๆ ยากที่จะนำไปประกอบอาชีพได้ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องใช้ทักษะมาก )
                  - นศ.ลงทะเบียนเรียนรายวิชาต่าง ๆ ในภาคเรียนเดียวกันซ้ำซ้อน 2 สถานศึกษา เพื่อให้ครูแต่ละสถานศึกษามี นศ.ในภาคเรียนนั้นครบตามที่ผู้บริหารกำหนด
                  - ฯลฯ

             เราจึงพอใจที่
             - ผู้เรียนนำผลการเรียนวิชาชีพไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ก็ดีแล้ว จะให้นำไปประกอบอาชีพจริงมันยาก.. ต้องมีอีกหลายปัจจัย
             - ผู้เรียน กศน.เขามีอาชีพมีประสบการณ์ชีวิตมากแล้ว เป็นเจ้าของกิจการแล้ว ควรให้วุฒิ ม.ปลาย ป.ตรี ตั้งแต่วันสมัครเรียนแล้ว
             - ประชาสัมพันธ์/จัดกิจกรรม ให้มาก ๆ ถ่ายรูปรายงานผล ..
             จะแก้ปัญหา 2 ประการนี้กันได้ไหม ..


NFElaw-thaiB.jpg