วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2562

1.ครูอาสาฯ ศศช. จะย้ายมาตำแหน่งครูอาสาฯพื้นที่ปกติ ได้ไหม, 2.การออกใบวุฒิกรณีสถานศึกษาค้นหาหลักฐานเดิมไม่พบ, 3.พนักงานราชการเกิด 7 ต.ค.03 เกษียณเมื่อไร, 4.พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรมออกใหม่ ปี 62 ผู้จบนักธรรมเอก สมัครเรียน ม.ปลายได้เลยไหม, 5.ชื่อภาษาอังกฤษของวิชาเลือก, 6.พนักงานราชการ เงินเดือนเต็มขั้นเท่าไร, 7.หลักฐานการลาออกจาก ปวช.มาถูกต้อง มาเรียน ม.ปลายจนจบไปแล้วจึงตรวจสอบวุฒิเดิมพบว่าไม่จบ ม.ต้น!?


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. คืนวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ตำแหน่ง พนักงานราชการ ครูอาสาสมัครฯ ประเภท ศศช. ถ้าจะย้ายมาทำตำแหน่งครูอาสาสมัคร พื้นที่ปกติในตำแหน่งที่ว่างลง สามารถย้ายได้ไหมคะ

             ผมตอบว่า   ไม่ได้ เพราะคนละตำแหน่งกัน
             โดยแนวปฏิบัติของระบบพนักงานราชการ กศน. ( ตามหนังสือ สนง.กศน.ที่ ศธ 0210.118/6651 ลว.12 ธ.ค.60 ) กำหนดในข้อ 4.3 ว่า ต้องตำแหน่งเดียวกัน






         2. วันที่ 28 พ.ย.62 มีท่านรอง ผอ.สนง.กศน.จ. โทร.มาถามผมว่า มี นศ.ที่เคยเรียนโรงเรียนผู้ใหญ่แต่ไม่เคยขอใบวุฒิ มาขอใบวุฒิโดยบอกว่าเรียนจบ แต่ค้นดูเอกสารหลักฐานเก่าขณะนี้คงเหลือเพียงเล่มเดียวซึ่งมีชื่อ นศ.รายนี้ แต่หลักฐานไม่ชัดเจนว่าเรียนจบ อย่างไรก็ตามหลักฐานเท่าที่เหลืออยู่คิดว่าเป็นไปได้ว่าเรียนจบ กรณีนี้ควรทำอย่างไร

             ผมตอบว่า   ถ้าเอกสารหลักฐานที่เหลืออยู่ ไม่สามารถออก “หลักฐานแสดงผลการเรียน” ได้ แต่ผู้เรียนยืนยันว่าเรียนจบ และเราคิดว่าเป็นไปได้ว่าเรียนจบ ให้ใช้ "ระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยเรื่องใบสุทธิของสถานศึกษาและหนังสือรับรองความรู้ของสถานศึกษา พ.ศ.2547" ซึ่งใช้กับการออก “หนังสือรับรองความรู้” ในกรณีไม่มีข้อมูลที่สามารถออกหลักฐานแสดงผลการเรียนได้
             เนื้อหาสาระของการออกหนังสือรับรองความรู้ตามระเบียบปี 47 คือ
             "การออกหนังสือรับรองความรู้ สถานศึกษาจะออกได้เฉพาะในกรณีที่สถานศึกษาไม่สามารถออกใบสุทธิ(หลักฐานแสดงผลการเรียน)ให้ หรือสำเนาต้นขั้วใบสุทธิให้ได้ ซึ่งอาจมีเหตุจากต้นขั้วใบสุทธิสูญหายหรือไม่ปรากฏหลักฐานการออกใบสุทธิหรือไม่ปรากฏหลักฐานอื่นใด เมื่อสถานศึกษาใดพบกรณีดังกล่าวนี้ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยใบสุทธิของสถานศึกษาและหนังสือรับรองความรู้ของสถานศึกษาพ.ศ.2547 ข้อ 6 มีขั้นตอนการปฏิบัติให้สถานศึกษาไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานก่อน
             กล่าวคือไต่สวนให้ได้ความจริงว่าบุคคลผู้มาขอหนังสือรับรองความรู้จบการศึกษาในสถานศึกษานั้นจริงหรือไม่ อาจสอบสวนหาพยานหลักฐานเอกสารก่อน หากไม่ปรากฏร่องรอยจากพยานเอกสารเลย ก็จำเป็นต้องหาพยานหลักฐานจากพยานบุคคล สถานศึกษาต้องไต่สวนจนกระทั่งได้หลักฐานเพียงพอว่าบุคคลนั้นจบการศึกษาจริง แล้วรายงานผลการไต่สวนให้หน่วยงานต้นสังกัดเหนือสถานศึกษาชั้นหนึ่งพิจารณาว่าเห็นควรให้ออกหนังสือรับรองความรู้ให้หรือไม่ หากเห็นว่าพยานหลักฐานเชื่อถือได้ก็อนุญาตให้สถานศึกษาออกหนังสือรับรองความรู้ให้ “สถานศึกษา” ไม่มีอำนาจพิจารณาเอง "
             การออกหนังสือรับรองความรู้กรณีนี้ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมไม่เกิน 100 บาท ( รับรองโดยไม่ต้องระบุคะแนนหรือระดับผลการเรียนแต่ละวิชา )
             มีระเบียบนี้ และแบบฟอร์ม "หนังสือรับรองความรู้" อยู่ในคู่มือดำเนินงานหลักสูตร กศน.ขั้นพื้นฐาน 51 ฉบับปรับปรุง 55 ปกสีเลือดหมู หน้า 135-137

         3. เดิมมีพนักงานราชการ จ.สกลนคร ที่เป็นพนักงานราชการ กศน.มาตั้งแต่เริ่มมีพนักงานราชการ ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า เกิดวันที่ 7 ต.ค.03 เหลือเวลาปฏิยัติหน้าที่ถึง 30 ก.ย.63 นี้ ถูกต้องมั้ย
             ผมตอบไปว่า  ไม่ใช่ครับ ปฏิบัติหน้าที่ได้ถึง 30 ก.ย.64 เพราะเกิดหลังวันที่ 1 ต.ค.03 ( ตามข้อกำหนดในภาพประกอบโพสต์นี้ )

             ต่อมา  วันหยุด 5 ธ.ค.62 ผู้ถามคนเดิม แจ้งว่า  ทาง จนท.จังหวัดยังคงแจ้งว่าต้องเกษียณ 30 ก.ย.63 นี้ เขาว่าถามสำนักแล้ว เลยทำให้ฉันสับสน เพราะฉันเปิดหาระเบียบพนักงานราชการก็เหมือน อจ.แนะนำ
             ผมตอบว่า  โทร.ปรึกษา กจ.กศน.ครับ 02-2822159 ถ้า กจ.บอกว่าสามารถต่อสัญญาได้ถึง 30 ก.ย.64 ก็ถามชื่อ จนท.กจ.คนนั้นไว้ แล้วมาบอก จนท.จังหวัด ถ้าเจ้าหน้าที่จังหวัดไม่เชื่อ ก็ขอให้เขาโทร.ถาม จนท.กจ.คนนั้น
             ( ผมถามท่านวรวิทย์ สุระโคตร ท่านก็บอกว่าต่อได้อีก 1 ปี และวันที่ 6 ธ.ค.62 ผมถามท่าน อ.ณัฐพนธ์ กจ.กศน. หลังจากคุยกันแล้วท่านก็สรุปว่าต่อได้อีก 1 ปีเช่นกัน )

             ต่อมา ผู้ถามแจ้งว่า  อจ.ณัฐพนธ์ แนะนำตามที่อจ.เอกชัย แนะนำมา ฉันได้อายุราชการอีกปี ก.ย.64 เกษียณ และฉันได้บันทึกเสียงขณะขอคำแนะนำจากกจ.ณัฐพนธ์ ด้วย






         4. พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรมออกใหม่ ปี 62 ผู้จบนักธรรมเอก สมัครเรียน ม.ปลายได้เลยไหม

             มีผู้ถามผมด้วยคำถามนี้ 3 หรือ 4 รายแล้ว
             วันที่ 11 ธ.ค.62 ผมได้รับคำตอบเรื่องนี้จาก อ.กิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. ว่า  ปฏิบัติตาม พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562 ได้เลย ส่วนกลางจะปรับเพิ่มในคู่มือการดำเนินงานตามมา แต่ ให้ดู พรบ.ใหม่นี้ให้ดี ( ดูได้ที่  http://bit.ly/2VBDl2L ) คือ มาตรา 21-22 ระบุว่า ให้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแก่สามเณรซึ่งเป็นเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับและมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่า ป.6 หรือเทียบเท่า
             ฉะนั้น ผู้เรียนจบนักธรรมเอกที่จะเทียบเท่า ม.ต้น ตาม พรบ.ใหม่นี้ จะต้องเป็นผู้เรียนที่พ้นการศึกษาภาคบังคับซึ่งได้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรม ส่วนผู้ที่เรียนชั้นนักธรรมเอกโดยไม่จบการศึกษาภาคบังคับที่ไม่ต่ำกว่า ป.6 หรือเทียบเท่า ( เรียนตาม พรบ.เดิม ) ก็ยังเทียบเท่าระดับประถมเหมือนเดิมนะ
             ( ถ้าเพิ่งจะเรียนนักธรรมเอกตอนนี้ จะต้องจบ ม.ต้นก่อน เพราะการศึกษาภาคบังคับตอนนี้คือ ม.ต้น แต่ถ้าเรียนนักธรรมเอกมานานแล้วตั้งแต่การศึกษาภาคบังคับยังเป็น ป.4 ตอนนั้นก็จะต้องจบ ป.6 แล้ว เพราะระบุว่าต้องไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ และ ไม่ต่ำกว่า ป.6 )

         5. วันที่ 11 ธ.ค.62 มีผู้ถามในไลน์โอเพนแช็ทกลุ่ม กศน. ว่า  รบกวนสอบถาม.. มีท่านใดเคยออกใบ รบ.ฉบับภาษาอังกฤษบ้างคะ.. จะรบกวนขอดูตัวอย่างค่ะ... ตอนนี้ที่ปริ้นมา ติดอยู่ 2 รายวิชาที่หาชื่อภาษาอังกฤษยังไม่ได้ค่ะ.. วิชาอาเซียน ศึกษาและวิชาการพัฒนาอาชีพค่ะ

             ผมตอบว่า   อาเซียนศึกษา = ASEAN Studies
             ปกติในหนังสือ "เอกสารการศึกษาฉบับภาษาอังกฤษ" ปกสีชมพู จะมีชื่อวิชาภาษาอังกฤษ ที่เป็นวิชาบังคับ และวิชาเลือกที่ส่วนกลางพัฒนาขึ้น ( ในโปรแกรม ITw รุ่นล่าสุด ก็ใส่ชื่อวิชาภาษาอังกฤษเหล่านี้ไว้แล้ว ) หนังสือนี้พิมพ์เมื่อปี 2554
             ส่วนชื่อวิชาภาษาอังกฤษของวิชาเลือกที่ส่วนกลางพัฒนาขึ้นหลังหนังสือเล่มนี้ บางวิชาจะมีอยู่ใน “ระบบการออกรหัสวิชาเลือก” เช่นวิชาอาเซียนศึกษา ถ้าไม่มี รวมทั้งวิชาเลือกที่สถานศึกษาพัฒนาขึ้น ให้ถามกลุ่มพัฒนา กศน.หรือสถานศึกษาที่เป็นผู้พัฒนาวิชานั้น ถ้าสถานศึกษาผู้พัฒนาตอบไม่ได้ ให้ถาม อ.ชาลินี กลุ่มพัฒนา กศน. 02-382-1895

         6. เย็นวันที่ 12 ธ.ค.62 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เงินเดือนขั้นเติมของพนักงานราชการกลุ่มงานบริการเท่าไหร่คะ ถ้าเติมขั้นแล้วสามารถปรับฐานเงินเดือนเพิ่มได้อีกหรือไม่คะ..

             ผมตอบว่า   ค่าตอบแทนพนักงานราชการกลุ่มงานบริการ ขั้นสูง ( เต็มขั้น ) ปัจจุบัน = 20,210  พนักงานราชการทุกสังกัดทุกกระทรวงใช้ระเบียบเดียวกัน  ถ้าตำแหน่งครู กศน.ตำบล จะอยู่ในกลุ่มงานบริหารทั่วไป กลุ่มนี้อัตราปัจจุบันปี 2562 ตันที่ 34,700
             จะเลื่อนค่าตอบแทนเกินขั้นสูงไม่ได้
             แต่ประมาณทุก 4-5 ปี รัฐบาลก็มักจะปรับเพิ่มขยายเพดานขั้นสูงขึ้นไปเป็นระยะ ๆ ( ข้าราชการก็มีเพดานเงินเดือนเช่นกัน )






         7. เย็นวันที่ 17 ธ.ค.62 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  มีปัญหาเรื่องการออกใบ รบ. ให้นักศึกษา คือ ได้อนุมัติจบแล้วให้ใบ รบ.ม.ปลาย กับนักศึกษาไป เนื่องจากผลการตรวจสอบวุฒิปวช ที่ลาออกมาเทียบโอน ผลตรวจกลับมาว่าถูกต้องเป็นวุฒิจริง (มาเรียน ม.ปลาย 3 เทอมจบ) แต่ผลตรวจสอบวุฒิ ม.ต้น ที่โรงเรียนเดิม ตรวจสอบกลับมาแจ้งว่าเป็นวุฒิปลอม นศ.ส่งวุฒิม.3 หลังจากที่เรียน ม.ปลายกับเราแล้ว และผลตรวจสอบก็กลับมาช้า

กรณีนี้ฉันทำบันทึกรายงานให้ผู้อำนวยการทราบและจะดำเนินการประกาศยกเลิกใบรบ.ต่อไป ขั้นตอนนี้ถูกต้องแล้วใช่ไหม

             ผมตอบว่า   ใช่ครับ
             1)  เพิกถอนวุฒิการศึกษา โดย
                  - ในโปรแกรม IT ให้ใช้เมนู 1-1-5 ( 1.ขั้นตอนการดำเนินงาน - 1.บันทึกประวัตินักศึกษา - 5.แก้ไขข้อมูลการจบออก  โดยเลือกสาเหตุที่จบ/ออก เป็น “4.พ้นสภาพ”)
             - ในเอกสารทะเบียนต่าง ๆ รวมทั้งในคู่ฉบับใบ รบ.ให้เขียนว่า “เพิกถอนสภาพการเป็นนักศึกษาเพราะวุฒิการศึกษาเดิมไม่ถูกต้อง”
             - ถ้ารายงาน GPA แล้ว ให้ทำหนังสือราชการแจ้งข้อมูลแก้ไขไปพร้อมรายงาน GPA ชุดใหม่
             2)  ประกาศยกเลิก ใบ รบ.
                  แต่ในส่วนการประกาศยกเลิกใบ รบ.นี้ มีหลายแห่ง สถานศึกษายังประกาศยกเลิกเอง แต่กรณีเป็นหลักสูตร 51 ถ้าดูในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป 104/2553 เรื่องการใช้ระเบียนแสดงผลการเรียนฯ ข้อ 5.2.1-5.2.3 ( ดูในคู่มือการดำเนินงานหลักสูตร 51 ฉบับปรับปรุง 55 ปกสีเลือดหมู หน้า 158 ) จะเห็นว่าหลักสูตร 51 ให้สำนักงาน กศน.ประกาศยกเลิก

                   ข้อ 5.2.1 กับ 5.2.2 ใช้คำว่า “รายงาน” ส่วน 5.2.3 ใช้คำว่า “ประกาศยกเลิก”  ของ สพฐ.เขาก็ไม่ได้ให้โรงเรียนประกาศ แต่เป็นประกาศเขตพื้นที่





วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

1.ใบ รบ.จะใช้ชื่อบิดามารดาจริง หรือบิดามารดาบุญธรรม, 2.ขอเอกสารการเปลี่ยนชื่อ ศบอ.เป็น กศน.อ., 3.คำถามจากครูผู้สอนคนพิการใน กทม. ยาวจัง, 4.ผอ.วิตกว่าต้องตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือเรียน, 5.ไม่จำกัดอายุผลการเรียนแล้วใช่ไหม, 6.กิจกรรมจิตอาสา เบิกค่าอาหารได้ไหม, 7.คนเดียวกัน เซ็นทั้งเป็นนายทะเบียนและผู้บริหาร


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. วันที่ 8 พ.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  อยากได้ระเบียบ การรับรองบุตรบุญธรรม กรณีืั้นักศึกษามายื่นเอกสารสมัครเรียนและจบ การออกใบรบ.ต้องใส่ชื่อบิดามารดาจริงหรือบิดามารดาที่นักศึกษาแนบหลักฐานการรับรองบุตรบุญธรรมค่ะ

             ผมตอบว่า   ให้ใช้ชื่อบิดามารดาตามใน “ทะเบียนบ้าน” ที่เป็นปัจจุบันก่อนจบ ( ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงชื่อเหล่านี้หลังจบ เราก็ไม่ต้องเปลี่ยนตาม )

         2. วันเดียวกัน (8 พ.ย.) มีผู้ถามในไลน์โอเพนแช็ทกลุ่ม กศน. ว่า  ขอคำแนะนำเกี่ยวกับ คำสั่ง หรือ เอกสารที่จัดตั้ง กศน.อำเภอ......จากศูนย์บริการการศึกษา.....มาเป็น..ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ.......... (จะนำไปแนบเรื่องยื่นขอติดตั้งมิเตอร์น้ำประปา)

             ผมตอบว่า   เอกสารคือ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องบัญชีรายชื่อสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนฯ พ.ศ.2551
             ดาวโหลดได้ที่  http://bit.ly/2NUxONW

         3. วันอาทิตย์ที่ 10 พ.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เป็นครูสอนคนพิการ กศน เขต....... มีเรื่องสอบถามใน3ประเด็น
             ประเด็นที่1 ขอสอบถามว่า เด็กพิการที่มีความประสงค์จะเรียน กับ กศน แต่ไม่มีบัตรผู้พิการ สามารถเรียนได้หรือไม่ เนื่องด้วยทาง ผู้อำนวยการ กศน เขต....... ได้ให้ความช่วยเหลือ ศูนย์การเรียนรู้เด็กพิเศษแห่งหนึ่ง ที่เข้ามาติดต่อ กับทาง กศน เขต....... ทางท่าน ผอ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือกับทางศูนย์การเรียนเด็กพิเศษแห่งนั้น โดยการส่งครูเข้าไปจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาในสถานที่นั้นเพื่อเป็นการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่พลาดโอกาส แต่เนื่องด้วยผู้เรียนบางรายในสถานที่นั้น บางรายก็มีบัตรผู้พิการ บางรายมีแค่ใบรับรองเเพทย์ว่ามีอาการของโรคประจำตัว และในบางรายมีความผิดปกติบางอย่างไม่เหมือนนักศึกษาปกติแต่ผู้ปกครองไม่พาไปทำบัตรผู้พิการ จึงสอบถามว่า สามารถนำผู้เรียนในลักษณะนี้เข้าเรียนในกลุ่มนักศึกษากลุ่มเป้าหมายพิเศษได้หรือไม่หรือต้องเรียนกับกลุ่มนักศึกษาปกติหากไม่มีบัตรผู้พิการ เนื่องด้วยหลายๆปัจจัยของผู้ปกครองและจากสภาพเเวดล้อมหลายปัจจัย ในด้านสังคมหลายเหตุผลของสถานที่พบกลุ่มเเห่งนั้น ที่ฉันเข้าไปสอน.
             ฉันสามารถ รับสมัครนักศึกษากลุ่มนี้เข้ารับการศึกษาของ กศน กลุ่มเป้าหมายพิเศษ ได้หรือไม่ หรือว่า ในรายที่ไม่มีบัตรผู้พิการจะต้องให้ไปเรียนกับนักศึกษาปกติหรือเปล่า.
             ประเด็นที่2 กรรมการสถานศึกษาของ กศน ทุกแห่งมีบทบาทหน้าที่ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช่มั้ย แต่ไม่ได้มีหน้าที่ควบคุมการวัดผลสัมฤทธิ์ ทางการศึกษาของ นักศึกษา กศน และ ไม่ได้มีหน้าที่รับสมัครนักศึกษาและคัดเลือกคุณสมบัติของนักศึกษาในเเต่ละรายของนักศึกษากลุ่มเป้าหมายพิเศษในการตรวจเอกสารในการรับสมัครนักศึกษาเข้าเรียน กศน ในเเต่ละเทอมใช่หรือไม่.
             หน้าที่การตรวจเอกสารและการรับสมัครฉันจำได้ว่าเป็นหน้าที่ของครูประจำกลุ่มและนายทะเบียนส่วนกรรมการสถานศึกษาไม่มีหน้าที่ตรงนี้ใช่มั้ย.
             ประเด็นที่3 ในขณะนี้ฉันทำงานใน กศน เขต....... แต่ผู้เรียนกลุ่มเป้าหมายพิเศษของฉัน อาศัยอยู่เขตพื้นที่อื่น หรือ มีภูมิลำเนาอยู่เขตพื้นที่อื่น แต่ผู้เรียนมีความประสงค์ที่จะเรียน กศน เขต ที่ฉันทำงานอยู่ สามารถเรียนได้ใช่มั้ย และฉันสามารถขับรถไปสอนนักศึกษากลุ่มเป้าหมายพิเศษในเขตอื่นๆ ที่เป็นนักศึกษาของเขตที่ฉันทำงานอยู่ ได้ใช่มั้ย เพราะฉันได้ค่าเดินทางไปสอนนักศึกษาจากกรมทุกเดือน ประเด็นนี้ไม่ผิดระเบียบใช่มั้ย และการปฎิบัติของฉันถือว่าเป๋นการบริการผู้เรียนใช่มั่ย.

             ผมตอบดังนี้
             ตอบประเด็นที่ 1
             ผมไม่เห็นระเบียบหลักเกณฑ์ของ กศน.ที่ระบุว่า นักศึกษาพิการต้องมีบัตรผู้พิการ ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีบัตรผู้พิการก็เข้าเป็นนักศึกษากลุ่มเป้าหมายพิเศษได้ แต่ ต้องพิการจริง มิฉะนั้นอาจมีปัญหาภายหลังถ้ามีการร้องกัน
             อย่างไรก็ตาม เขาก็ควรทำบัตรผู้พิการนะ มันทำยากนักหรือถ้าพิการจริง ทำแล้วจะได้เบี้ยยังชีพคนพิการอีกด้วยนะ
             ในส่วนของการเรียนร่วมกับนักศึกษาปกตินั้น เป็นอีกส่วนหนึ่ง นักษาพิการไม่ว่าจะมีบัตรผู้พิการหรือไม่ ก็สามารถจัดให้เรียนร่วมในกลุ่มนักศึกษาปกติ หรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละราย
             ตอบประเด็นที่ 2
             กรรมการสถานศึกษาของ กศน. กับของ สพฐ. ใช้ระเบียบคนละฉบับนะ ไม่เหมือนกัน แต่บทบาทหน้าที่ตามที่ถามมานั้น ก็ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของกรรมการสถานศึกษา อย่างไรก็ตอบ ผอ.สถานศึกษาอาจขอให้เขาร่วมทำได้เป็นรายกรณีไป
             ตอบประเด็นที่ 3
             นักศึกษา กศน.มีสิทธิเลือกสมัครเรียนที่อำเภอ/เขตไหนก็ได้ ตามที่เขาสะดวก ไม่จำเป็นต้องเรียนตามทะเบียนบ้าน แต่ไม่ใช่ว่าครูขอให้เขามาลงในกลุ่มตนโดยเขาไม่ได้สะดวกจะมาเรียนที่กลุ่มตนจริง
             อย่างไรก็ตาม กศน.อำเภอ/เขตมีหน้าที่จัดการศึกษาภายในอำเภอ/เขต การข้ามเขตจะเป็นการก้าวก่ายกันวุ่นวาย ถ้าเขาสะดวกจะเรียนในเขตไหนเขาก็ต้องเรียนในเขตนั้น ไม่ใช่ให้ครูไปสอนข้ามเขต

         4. วันที่ 11 พ.ย.62 มี ผอ.ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  พี่เอกคะ พี่มีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ไหม ที่ออกมาตอนท่านกฤษชัย เป็นเลขาค่ะ เรื่องที่ว่าหนังสือซื้อ กศน.อำเภอต้องตรวจเนื้อหาเอง ค่ะ ถ้ามี อยากได้ค่ะพี่ส่งให้ในเฟสฯก็ได้ค่ะ  ผอ.อำเภอ ที่สั่งซื้อหนังสือเรียน ไม่จ้างพิมพ์ วิตกว่าต้องตรวจสอบความถูกต้องเองค่ะ

             ผมตอบว่า   เขาไม่ได้หมายถึงตรวจละเอียด เพราะหนังสือของเอกชนก็ต้องผ่านการตรวจ มีหลักฐานการตรวจจากส่วนกลางหรือศูนย์ภาคก่อน
             แต่ที่ให้สถานศึกษาตรวจกรณีนี้หมายถึง หนังสือที่เคยผ่านการตรวจก่อนการเปลี่ยนรัชกาลแล้ว ก็ยังต้องปรับแก้คำหรือข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์/ประวัติศาสตร์อีก
             คือให้สถานศึกษาตรวจว่าหนังสือนั้นปรับแก้ข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัติย์/ประวัติศาสตร์แล้วหรือไม่ ไม่ใช่ตรวจละเอียดทั้งเล่ม
             ( แต่เพื่อความสะดวกและมาตรฐาน จะใช้วิธีจ้างพิมพ์ตามต้นฉบับของเรา ก็มีเหตุผลครับ )

         5. วันที่ 13 พ.ย.62 มี ผอ.ถามผมทางไลน์ ว่า  ขอสอบถามอายุของผลการเรียนที่เรียนกับ กศน.ค่ะ อันนี้ครูเอกชัยเคยตอบไว้ ( ผู้ถามลงภาพเอกสารมา 3 ภาพ ) ไม่จำกัดอายุผลการเรียนแล้วใช่ไหมคะ

             ผมตอบว่า   นำภาพเอกสารมา 3 ภาพ จนผมไม่รู้ว่าจะเจาะจงถามประเด็นไหน
             ประเด็นต่าง ๆ ยังเหมือนเดิมคือ ถ้าหมายถึงผลการเรียนสายสามัญที่จัดเป็นชั้นเรียน ( ไม่ใช่ผลการเรียนการศึกษาต่อเนื่อง ) จะนับอายุผลการเรียนรายวิชา เฉพาะในช่วงที่กำลังเรียนยังไม่จบยังไม่ลาออก แต่ถ้ารายวิชาเหล่านั้นไปปรากฏในใบ รบ.แล้ว ( เรียนจบหรือลาออก ) รายวิชาที่อยู่ในใบ รบ./ใบระเบียน ไม่ว่าจะเรียนมาจากสังกัดไหน จะไม่จำกัดอายุผลการเรียน เช่นลาออกจาก ป.5 มาตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ก็ยังเทียบโอนได้

         6. วันที่ 18 พ.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ถ้าจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ด้านจิตอาสาสามารถเบิกค่าอาหารได้ไหม

             ผมตอบว่า   ถ้าจัดในลักษณะ การเข้าค่าย ฝึกอบรม ก็มีอัตรากำหนดให้เบิกได้ ( ตามข้อ 1.1-1.2 ในตารางแนบท้ายคำสั่ง สป.ศธ.ที่ 669/61 ลว.20 มี.ค.61 )

         7. วันที่ 21 พ.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ที่อำเภอตอนนี้ไม่มีผอ.กศน.เพราะเกษียณไปแล้ว แต่มีข้าราชการตำแหน่งนายทะเบียน และรักษาการในตำแหน่งผอ.กศน.(คนเดียวกัน) ถ้าออกใบระเบียนการศึกษา นี่สามารถเซ็นได้ทั้งสองที่เลยไหมคะ

             ผมตอบว่า   ใช่ครับ