วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2562

1.คำสั่งย้ายข้าราชการ กศน.จะออกช่วงไหน, 2.บทบาทหน้าที่ครูอาสาฯ, 3.การบริหารจัดการ กศ.ขั้นพื้นฐาน, 4.วิธีที่ข้าราชการสังกัดอื่น จะโอนย้ายมา กศน., 5.ประชุมเชิงปฏิบัติการ เบิกเบี้ยเลี้ยงได้เต็มไหม, 6.เป็นเรื่องดี หรือเป็นปัญหาใหญ่ของ กศน., 7.ระเบียบเรื่องใบสมัครเป็นนักศึกษา กศน.


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. เย็นวันที่ 4 เม.ย.62 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กผม ว่า  คำสั่งย้ายข้าราชการกศน.จะออกช่วงไหนค่ะ

             ผมตอบว่า   คำสั่งย้ายจะออกเมื่อไร ไม่แน่ ปกติการยื่นขอย้ายในช่วง 1-15 ก.พ. ถ้าได้ย้าย คำสั่งย้ายจะออกประมาณ เม.ย.-พ.ค., ถ้าขอย้ายในช่วง 1-15 ส.ค. คำสั่งย้ายจะออกประมาณ ต.ค.-พ.ย.
             คำร้องขอย้ายใช้ได้รอบเดียว ถ้าไม่ได้ย้ายตามคำขอ เมื่อถึงช่วงขอย้ายใหม่ต้องยื่นคำร้องใหม่

         2. คืนวันอาทิตย์ที่ 7 เม.ย.62 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ครูอาสาหน้าที่อะไร บังคับ ครูกศน.ตำบล ศรช.จ้างเหมาได้ไหม สามารถนิเทศจัดการเรียนการสอนครูตำบลได้ไหม ไม่มีได้ไหมครูอาสา ชี้เป็นชี้ตายครูกศนตำบลจริงหรือในการประเมิน ตรูอาสาตรวจเอกสารเบิกงบประมาณอำเภอตำบลไดัไหม การทำใหเอกวารล้าช้ารึไม่สามารถยืมเงินรึล้างหนี้ล้าช้าครูอาสาตรวจมีความผิดไหม

             ผมตอบว่า
             - มีหนังสือแจ้งบทบาทหน้าที่ครูอาสาฯไว้ชัดเจน เช่นครูอาสาฯต้องสอนด้วย ถ้าครูอาสาฯไม่ต้องสอนแล้ว กพร.รู้อาจให้เลิก/ไม่ต้องมีตำแหน่งครูอาสาฯ
             - ประเด็นสำคัญขึ้นอยู่กับผู้บริหารแต่ละท่าน จะมอบหมายให้ครูอาสาฯมีหน้าที่อื่นด้วยก็ได้ มอบหมายให้เป็นผู้นิเทศการจัดการเรียนการสอนของครู กศน.ตำบล/ครู ศรช. ก็ได้ มอบหมายให้ตรวจเอกสารการเบิกเงินงบประมาณก็ได้
             - ถ้าทำให้เอกสารล่าช้า จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย ก็ต้องดูในรายละเอียดว่าเป็นความผิดของใคร

         3. แน่มาก..! กศน.ขอนแก่น ข้อ 2-7 แต่ละข้อไม่ธรรมดาเลย !
             ตามภาพประกอบ






         4. วันที่ 9 เม.ย.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  กรณี พนักงานราชการตำแหน่งครูอาสาสมัครฯ ได้สอบบรรจุเข้ารับราชการในสังกัดอื่น ต้องการจะกลับมาเป็นข้าราชการครู กศน.มีวิธีใดบ้างคะ

             ผมตอบว่า   มีหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติในการรับโอนย้ายของ กศน.อยู่ แต่เขาต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของสังกัดนั้นด้วย เช่น ถ้าสังกัดนั้นกำหนดในประกาศรับสมัครสอบรรจุว่าต้องทำงานครบ 5 ปีจึงจะโอนย้ายได้ เขาก็ต้องรอให้ครบ 5 ปีก่อน เป็นต้น ต้องถามต้นสังกัดเอาเอง แม้แต่สังกัดเดียวกันแต่ละปีแต่ละรุ่นก็กำหนดในประกาศรับสมัครสอบบรรจุต่างกัน
             - ดูหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติการรับโอนย้าย ( หนังสือแจ้ง ) ได้ที่
                http://bit.ly/2WR0qKM
             - ดูหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติการรับโอนย้าย ( สรุปเป็นตาราง ) ได้ที่
                http://bit.ly/2D2NoCE
             ซึ่งแนวปฏิบัติข้อ 1 กำหนดให้ สำนักงาน กศน.ประกาศจำนวนตำแหน่งว่างของ หน่วยงาน/สถานศึกษา ที่มีความประสงค์จะรับโอน โดยกำหนดคุณสมบัติ แนวปฏิบัติ และรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทราบโดยทั่วกัน (อาจประกาศเป็นคราว ๆ ไป หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ก็ได้)   ดูตัวอย่างประกาศนี้ได้ที่
             http://bit.ly/2Vu35K5

         5. เย็นวันที่ 9 เม.ย.62 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องประชุมเชิงปฎิบัติการ ในกำหนดการมีเลี้ยงอาหารเที่ยง และเย็น แต่ก็มีการถกเถียงกันว่าถ้ามีคำว่าประชุมเชิงปฎิบัติการ สามารถเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้เต็ม 3 มื้อ คือ 240 บาท ค่าพาหนะในการเดินทางตามระยะทาง อยากทราบระเบียบเกี่ยวกับการประชุมนี้

             ผมตอบว่า   หมายถึงผู้เข้าประชุมปฏิบัติการจะเบิกจากต้นสังกัดเพราะหน่วยจัดประชุมฯจัดอาหารไม่ครบ 3 มื้อใช่ไหม
             แม้จะเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ ( ฝึกอบรม ) ก็เบิกได้ไม่เต็มเหมือนกัน คือถ้าเขาจัดอาหารให้ 2 มื้อ ก็เบิกจากต้นสังกัดได้แค่ 1 ใน 3 ( ดูในระเบียบข้อ 18 )
             ดูระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 และแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3 พ.ศ.2555 ได้ที่
             http://bit.ly/2uWJMNY
             ( ถ้าผู้ไปประชุมปฏิบัติการ เป็นผู้รับจ้างเหมาบริการ ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอก จะเบิกจากหน่วยงานต้นสังกัดไม่ได้ หน่วยงานที่จัดประชุมปฏิบัติการต้องจัดให้ครบ 3 มื้อ )

         6. วันที่ 17 เม.ย.62 มี ผอ.กศน.เขต ถามผมทางไลน์ ว่า  ถ้าครู กศน.ตำบล ปัจจุบันไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต้องทำอย่างไร ไม่เรียน ป.บัณฑิตทำอย่างไรดี

             เรื่องนี้  หลังจากที่ส่วนกลาง กศน.ทำหนังสือถึงคุรุสภา ขอให้คุรุสภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้ครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน แต่ระบุคุณสมบัติของผู้ที่เป็นครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน ว่า "จบ ป.ตรีที่ไม่จำเป็นต้อง ป.ตรีทางการศึกษา" ประกอบกับไม่ได้เน้นว่าครูผู้สอนเด็กเร่ร่อนต้องสอน กศ.ขั้นพื้นฐาน
             ปรากฏว่า คุรุสภาตอบกลับมาว่า ครู กศน.(ยกเว้นข้าราชการครู) สอนได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และต่อไปนี้ไม่ต้องมี/ไม่ต้องขอ "หนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" อีกแล้ว

             ประเด็นนี้มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือ ต่อไปนี้ครู กศน.สอนได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และไม่ต้องขอ "หนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู"
             ข้อเสียคือ เมื่อไม่มี "หนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" ก็ไม่มีสิทธิ์เรียน ป.บัณฑิต  ปัจจุบันถ้าไม่ได้เรียน ป.บัณฑิต และไม่ได้จบปริญญาทางการศึกษา ก็ไม่ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแล้ว
             ถ้าไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก็จะเป็นข้าราชการครู(ครูผู้ช่วย)ไม่ได้แล้ว
             สรุป ถ้าชีวิตนี้ไม่คิดจะสอบเป็นข้าราชการครู(ครูผู้ช่วย)กันแล้ว ก็ไม่มีปัญหา
             นอกจากข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือ คงส่งผลกระทบต่อคุณภาพครู กศน. เพราะต่อไปจะไม่ได้เรียน ป.บัณฑิตกันแล้ว
             ( เย็นวันที่ 17 เม.ย.62 คุณสรสิช ครู กศน.ตำบล กศน.อ.ชนแดน บอกผมทางไลน์ว่า “เมื่อต้นเดือน มี.ค.62 พาแฟนซึ่งเป็น ครู ศรช.ไปขอต่ออายุใบขออนุญาตสอนโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ที่คุรุสภา แต่ผลปรากฎว่าเจ้าหน้าที่คุรุสภา ยื่นสำเนาเอกสารที่ตอบเรื่องครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน และบอกว่า ครู กศน.ไม่ต้องขอแล้ว เพราะสอนได้ไม่ผิด”)

         7. วันที่ 18 เม.ย.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  มีระเบียบเรื่องแบบฟอร์มใบสมัคร นศ กศน. กับ. สีของใบสมัครหรือไม่ เพราะบางอำเภอยึกตามคู่มือ ปี 55คือมีหน้าเดียว. บางอำเภอเอามาจาก กศน เขตพญาไท. ที่มีสองหน้า. บางอำเภอใช้สีฟ้ากระดาษสำหรับปริ้นใบสมัคร มปลาย เปิดดูในคู่มือปี 55ก็ไม่เห็นมีว่าเขาบังคับสีของใบสมัคร

             ผมตอบว่า   ใบสมัครขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐานใช่ไหม
             ไม่มีระเบียบกำหนดบังคับหรอก ไม่ใช่เอกสารหลักฐานการศึกษาควบคุมและบังคับแบบ มีแต่ตัวอย่าง
             ( ควรมีข้อมูลครบถ้วน และ เรียงตามลำดับ ที่จะคีย์ข้อมูลประวัตินักศึกษาในโปรแกรม ITw เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการคีย์ข้อมูล ถ้ายังคีย์ด้วยมือ )


วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562

1.ผอ.กศน.อำเภอ ไล่นักศึกษาไม่ใส่เครื่องแบบ ออกจากห้องสอบ (ระเบียบเครื่องแบบนักศึกษา กศน.), 2.ผอ.ใหม่ ซื้อโทรศัพท์ใหม่ ได้ไหม, 3.ครู ศรช.ย้ายได้ไหม, 4.มหาวิทยาลัยไม่รับผู้ผ่านเทียบระดับ กศน., 5.ถามเรื่องกิจกรรมพัฒนาสังคม, 6.ถามเรื่องผู้ตรวจสอบภายใน ทักท้วงศูนย์ฝึกอาชีพ, 7.นักศึกษารหัส 531 เพิ่งส่งชื่อสอบ E-Exam จะจบได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. เช้าวันเสาร์ที่ 30 มี.ค.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  ระเบียบเกี่ยวกับชุดนักศึกษา กศน. มีหรือเปล่าว่าจะต้อง กางเกงหรือกระโปรงสีดำ เสื้อเชิตสีขาว เข็มขัดหนัง หัวเข็มขัดโลโก้ กศน. ถุงเท้าสีขาว รองเท้าคัทชู หุ้มส้นสีดำ ซึ่งฉันคิดว่าไม่มีแบบ ขอให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพ ก็เพียงพอแล้ว   ฉันสงสัย เพราะการสอบที่ผ่านมา ได้มี ผอ.กศน.อำเภอบางที่ ได้ไล่นักศึกษาออกจากห้องสอบ เพราะไม่ใส่เครื่องแบบนักศึกษา ซึ่งฉันไม่ทราบว่ามีระเบียบจากกระทรวง กฏเกณฑ์ต่างๆ หรือประกาศจากกระทรวง หรือจาก สนง.กศน.ส่วนกลาง อะไรบ้าง เกี่ยวกับชุดการแต่งกายของนักศึกษา กศน.

             ผมตอบว่า   ตอนต้นปี 2555 กศน.มีการประกวดออกแบบอุปกรณ์เครื่องแบบนักศึกษา กศน. เพื่อจะจดลิขสิทธิ์/ออกเป็นระเบียบเครื่องแบบนักศึกษา กศน. แต่.. ในที่สุดเรื่องนี้ก็ยกเลิกไป ถ้าจำไม่ผิดเป็นเพราะมี นักศึกษา/ผู้ปกครอง ร้องเรียนเรื่องเครื่องแบบเนื่องจากสิ้นเปลื้องด้วย และไม่สอดคล้องกับหลักการ กศน. โดยมี กศน.อำเภอ/เขต บางแห่งเก็บเงิน นศ.เพื่อการจัดทำ/จัดซื้ออุปกรณ์ประกอบเครื่องแบบเหล่านี้ ซึ่งไม่ถูกต้อง
             ปัจจุบันส่วนกลางจึงไม่ได้กำหนดเครื่องแบบนักศึกษา กศน.
             สถานศึกษาสามารถกำหนดเองได้ นศ.จะใช้แบบที่เอกชนเขาทำขายกันเองก็ได้ แต่จะบังคับหรือกำหนดให้ นศ.ซื้อไม่ได้ ถ้าเครื่องแบบที่กำหนดนั้นมีค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองกว่าปกติทั่วไป ก็จะบังคับให้ นศ.แต่งเครื่องแบบนั้นไม่ได้นะ เพราะจะเป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

         2. คืนวันที่ 29 มี.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ผอ.กศน.อำเภอป้ายแดง พบว่าเครื่องโทรศัพท์มือถือราชการของ ผอ.กศน.อำเภอนั้น เสีย ปิดการใช้งานไว้ จึงจะซื้อเครื่องใหม่ จะได้หรือไม่ มีวิธีดำเนินการอย่างไร

             เรื่องนี้  ผมนำไปถามต่อในกลุ่มไลน์สแควร์ กศน. มี ผอ.กศน.อำเภอ 2 ท่าน ช่วยตอบว่า  โทรศัพท์มือถือเป็นครุภัณฑ์ จึงซื้อด้วยเงินงบประมาณไม่ได้ ต้องซื้อด้วยเงินรายได้สถานศึกษา ตามระเบียบพัสดุ ( ถ้าย้าย ไม่สามารถนำเครื่องติดตัวไปได้ เพราะเป็นทรัพย์สินของสถานศึกษา ) โดยถ้าเครื่องเดิมซื้อด้วยเงินรายได้สถานศึกษาก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนจำหน่ายเครื่องเดิมออกจากทะเบียนพัสดุก่อน
             อนึ่ง ผอ.กศน.อำเภอ ส่วนหนึ่ง ใช้เงินส่วนตัวซื้อเครื่อง แต่เบอร์ใช้สิทธิของทางราชการ ( เบอร์ที่จดทะเบียนในนาม กศน. ตามโครงการสานสายใย กศน.) เมื่อหมดสัญญาเครื่องจะเป็นของผู้ซื้อ ถ้าย้ายก็นำติดตัวไปได้

         3. วันที่ 2 เม.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  อยากทราบว่าครู ศรช. ย้าย อำเภอปฏิบัติงานได้ไหมคะ

             ผมตอบว่า   ปัจจุบัน ครู ศรช.เป็นผู้รับจ้างเหมาบริการ  ผู้จ้างคือ ผอ.สนง.กศน.จังหวัด ( ในสัญญาจ้างข้อ 1 ระบุอำเภอที่ปฏิบัติงานไว้ด้วย )  ฉะนั้น ตามหลักการจึงย้ายไม่ได้ แต่ถ้าเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย (พอใจทั้ง ผอ.จังหวัด+ผอ.อำเภอทั้งสองแห่ง+ผู้รับจ้าง) ก็ย้ายได้  วิธีการในแต่ละจังหวัดอาจแตกต่างกัน เช่น รอให้หมดสัญญาก่อน เมื่อทำสัญญา/จ้างใหม่จึงเปลี่ยนอำเภอที่ปฏิบัติงาน

         4. เช้าวันที่ 1 เม.ย.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  นักศึกษาที่จบแบบเทียบระดับการศึกษา ไปสมัครเรียนที่ ม.ศรีปทุม เขาไม่รับค่ะ เขาอยากได้ใบเกรดและเกรดเฉลี่ย หนูจะมีแนวทางไหนที่จะออกเอกสารหลักฐาน หรือใช้ระเบียบอันไหนค่ะ ที่จะสามารถอ้างอิงได้ค่ะ

             ผมตอบว่า   เรื่องนี้ผมโพสต์บ่อยมากแล้ว เช่นในข้อ 1 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/03/  ว่า
             ใบวุฒิเทียบระดับไม่มีเกรด จึงเรียนต่อได้เฉพาะสถานศึกษาที่ไม่ดูเกรด เช่น ปวช. ปวส. นายสิบตำรวจทหาร มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยเปิด ม.ราชภัฏเฉพาะสาขาการพัฒนาชุมชน
             ปกติมหาวิทยาลัยเอกชนจะไม่ดูเกรด ถ้ามหาวิทยาลัย/สถานศึกษาใด ยืนยันว่า สาขาวิชานั้นเขาต้องดูเกรด เราก็สมัครเรียนที่นั่นไม่ได้  (ควรบอกข้อมูลนี้ให้ผู้มาสมัครเทียบระดับฯรู้ตั้งแต่วันที่เขามาสมัคร)

         5. คืนวันที่ 2 เม.ย.62 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์สแควร์ กศน. ว่า  ใครมีกรอบแนวทางการจัดกิจกรรมพัฒนาสังคม กศน.บ้างคะรบกวนขอหน่อยนะคะ

             ผมร่วมตอบว่า   ถ้าเรา ใช้คำ/ตัดคำ ตามใจเรา ก็จะทำให้มีคนเข้าใจน้อยลง เข้าใจไม่ตรงกัน/เข้าใจผิด ต้องเสียเวลาซักถาม
             คำนี้ควรใช้ว่า “การศึกษาต่อเนื่อง กิจกรรมพัฒนาสังคมและชุมชน”
             ผมไม่แน่ใจว่า “กรอบแนวทางการจัด” ที่ต้องการถาม หมายถึงอย่างไรแน่ ( ใช้กรอบแนวทางการจัดการศึกษาต่อเนื่อง )
             การศึกษาต่อเนื่อง กิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน เป็นการศึกษาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและการพัฒนาชุมชนและสังคม โดยยึด ปรัชญาคิดเป็น/ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักคิด ( งบดำเนินงาน หัวละ 400 บาท ) ให้จัดในรูปแบบฝึกอบรมประชาชน ( ต้องทำโครงการ มีหลักสูตร ไม่ต้องลงทะเบียนเป็นนักศึกษา กศน. ) เช่น
             1)  กิจกรรมพัฒนาสังคมและชุมชนชน เรื่อง ขยะ สิ่งแวดล้อม สุขภาวะสุขอนามัย การอนุรักษ์ทรัพยากร ประชาธิปไตย วัฒนธรรมประเพณี พลังงาน วิสาหกิจชุมชน การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การเสริมสร้างอุดมการณ์รักชาติ-ศาส-กษัตริย์ การคุ้มครองผู้บริโภค การป้องกันการทุจริต เศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งการสร้างกระบวนการจิตสาธารณะ เป็นต้น
             2)  เรียนรู้ศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท
             ถ้ายังไม่มีผู้ตอบตรงตามที่ต้องการ ลองถามอีกครั้ง แล้วคอยคนที่เข้าใจคำของคุณ มาตอบนะครับ

         6. เย็นวันที่ 2 เม.ย.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  มีระเบียบเกี่ยวกับการจัดศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนที่ระบุให้จัดภายในพื้นที่ตำบลนั้นๆ. ไหม เพราะตอนนี้หน่วยสอบภายในตรวจสอบการจัดกิจกรรมศูนย์ฝึก ว่าจัดนอกพื้นที่ตำบล. (ปล หลายอำเภอเอางบมาพัฒนาอาคารสถานที่โดยงบศูนย์ฝึกในรูปช่างพื้นฐาน) ฉันว่าถ้ามาตรวจสอบแบบนี้ผิดทั่วประเทศเลยนะ ผอ.อนุมัติการจัด จว.เซ็นการเบิกจ่าย”

             ผมตอบว่า   หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. หรือ สตง. แน่.. เข้าใจว่าเขามีเหตุผลสำคัญอื่นในการทักท้วงมากกว่า  ถ้าฟังต่อมาจากคนนั้นคนนี้ ไม่ได้ฟังชัดๆจากผู้ตรวจสอบฯ อาจเข้าใจกันผิด เพราะแต่ละคนก็พูด ตัด/ต่อ เข้าข้างพวกเดียวกัน


         7. วันที่ 5 เม.ย.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  นักศึกษารหัส 531 จบ 552 นักศีกษาไม่เข้าสอบ n-net หรือ e exam ในภาคเรียนสุดท้ายทีจะจบ จนกระทั้งนึกขึ้นได้ว่าจะใช้วุฒิ เลยให้ครูส่งชื่อเข้าสอบ e exam เมื่อกุมภาพันธ์ 62 ที่ผ่านมา (เมื่อเช็คจากระบบ ITW ของอำเภอปรากฎว่าผลการเรียนยังอยู่ และจนท ทะเบียนกำลังจะอัพข้อมูล e -exam เข้าระบบ ITW51) ถามว่า กรณีนีั้สามารถอนุมัติการจบให้นักศึกษาได้หรือไม่ เพราะผลการเรียนเกิน 10 ภาคเรียน (แต่เป็นผลการเรียนที่จบหลักสูตรแล้ว)

และขอถามอีกว่า เมื่อมีผู้รียนได้ผลการเรียนได้ครบทุกรายวิชาตามหลักสูตรแล้ว แต่ไม่ประสงค์จะเข้าสอบ n-net หรือ e-exam สถานศึกษาจำเป็นต้องรักษาสภาพนักศึกษาให้หรือไม่

         ผมตอบว่า   ถ้าวิชาแรกที่เรียนผ่าน ยังไม่เกิน 10 ภาคเรียน และไม่ขาดการรักษาสภาพเกิน 6 ภาคเรียน ก็อนุมัติให้นักศึกษาจบได้ แต่ที่บอกว่านักศึกษารหัส 531 นั้น วิชาแรกที่เรียนผ่านคงเกิน 10 ภาคเรียนนานแล้วนะ ถ้ายังไม่สอบ N-NET หรือ E-Exam ก็ยังไม่จบ ยังต้องนับจำนวนภาคเรียนต่อเรื่อย ๆ จะบอกว่าผลการเรียนจบหลักสูตรแล้วไม่ได้
         ส่วนการรักษาสภาพ ไม่ว่ากรณีใด สถานศึกษาจะรักษาสภาพให้นักศึกษาไม่ได้ ถ้านักศึกษาไม่รักษาสภาพด้วยตนเอง ขาดการติดต่อเกิน 6 ภาคเรียน ก็พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา (ถ้ายังไม่สอบ N-NET หรือ E-Exam ก็คือยังไม่จบ ยังต้องรักษาสภาพ)
         เรื่องเหล่านี้ โปรแกรม ITw มันรู้ระเบียบ วิชาที่เกิน 10 ภาคเรียน จะเปลี่ยนเป็นตัวสีจาง และถ้าขาดการรักษาภาพเกิน 6 ภาคเรียน มันก็ไม่ยอมให้ออกหลักฐานใด ๆ หรอก

         ผู้ถาม ถามต่ออีก ว่า  แล้วจะเทียบโอนให้แก่ได้ไหมคะ(เทียบใหม่-ให้แก่ลาออก)
         ผมตอบว่า  หมายถึงจะให้ลาออกย้อนหลังใช่ไหม  ถ้าเข้าโปรแกรมไปลาออกในเทอมนี้ ตอนที่พ้นสภาพแล้ว จะลาออกไม่ได้แล้ว ถ้าพ้นสภาพแล้วโปรแกรมจะไม่ยอมให้ทำอะไรทั้งนั้น
         แต่ถ้าเข้าโปรแกรมโดยเปลี่ยนเป็นภาคเรียนย้อนหลังไปยังภาคเรียนที่ยังไม่พ้นสภาพ ก็ลาออกได้ ได้ใบ รบ.จากการลาออก แต่นายทะเบียนและ ผอ.ที่จะเซ็นชื่อในใบ รบ.ต้องเป็นคนเก่า ณ วันย้อนหลังนะ ถ้าตอนนี้เปลี่ยนนายทะเบียนและ ผอ.เป็นคนใหม่แล้วจะมีปัญหา
         ในวันลาออก เฉพาะวิชาที่ยังไม่หมดอายุจึงจะปรากฏในใบ รบ.ที่ลาออก สามารถนำมาโอนได้เฉพาะวิชาที่ปรากฏในใบ รบ.ที่ลาออก