วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

1.ช่วงเวลาอยู่เวร กี่โมงถึงกี่โมง, 2.เทียบวุฒิเปรียญธรรม 3 ประโยค, 3.ออกใบ รบ.ภาษาอังกฤษได้ฉบับเดียวหรือ?, 4.เด็กวัยเรียน จะจบ ม.ต้น กศน.ต้องอายุ 16 ปีหรือฯ, 5.จะเอาข้อมูล GPAX 5 ตรงไหน, 6.การใช้ประกาศนียบัตรสมัครเรียน-การขอจบ, 7.คุณสมบัติกรรมการคุมสอบ

 สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

 

         1. วันที่ 4 พ.ย.64 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  อยากทราบว่า ช่วงเวลา การอยู่เวร-ยาม สถานที่ราชการ  กลางวัน 06.00 - 18.00 น. หรือ 08.30 - 16.30 น.  กลางคืน 18.00 - 06.00 น. หรือ 16.30 - 08.30 น.

ผมตอบว่า   ตาม หลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์ ไม่ได้กำหนดเวลาไว้ แต่กำหนดว่า “ตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน” ฉะนั้น ในความรับผิดชอบของผู้บริหาร กรณีที่หน่วยงานไม่มีหน่วยรักษาความปลอดภัย  ผู้บริหารต้อง “ออกคำสั่ง” ให้มีผู้อยูเวรรักษาการณ์รวมทุกผลัดแล้วให้ตลอด 24 ชั่วโมง

ถ้ามี 2 ผลัดคือผลัดกลางคืนกับผลัดกลางวัน เพื่อความยุติธรรมอาจกำหนดผลัดละ 12 ชั่วโมงเท่ากัน ( เมื่อผลัดเวร จะ รับ-มอบ เวรกัน )

ถ้าแต่งตั้งไม่ตลอดเวลา แล้วเกิดปัญหาขึ้น ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ถือว่าผู้บริหารบกพร่อง

(ในทางปฏิบัติจริง อาจมีการยืดหยุ่นจาก “คำสั่ง” ที่สั่งเป็นลายลักษณ์อักษร หรือไม่ ก็เป็นความรับผิดชอบของแต่ละแห่งแต่ละราย)

         2. คืนวันที่ 11 พ.ย.64 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ของผมในเว็บบล็อก ว่า  เดิมทีสอบได้เปรียญธรรม3ประโยคเมื่อปีพ.ศ.2534จะสามารถขอใบเทียบวุฒิการศึกษาได้มั้ยครับ ติดต่อได้ที่ใหน

             ผมตอบว่า   ไม่ต้องขอใบเทียบวุฒิที่ไหน เปรียญธรรม 3 ประโยค ปกติเทียบเท่าวุฒิ ม.ต้น ใช้สมัครเข้าเรียน กศน.ระดับ ม.ปลายได้เลย
             แต่ถ้าจะนำไปใช้ที่อื่นที่เขาไม่รับ ก็ลองนำประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องเทียบความรู้เปรียญธรรม ลงวันที่ 22 ส.ค.2526 แนบไปให้เขาดูด้วย
             และถ้าจะเทียบเท่าวุฒิ ม.ปลาย ตาม พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรม 2561 ตอนเรียนเปรียญธรรมนั้น ต้องจบการศึกษาภาคบังคับที่ไม่ต่ำกว่า ป.6 แล้ว ( ถ้าตอนที่เรียนเปรียญธรรมนั้นภาคบังคับเป็น ม.ต้น ก็ต้องจบ ม.ต้น แล้ว ) ต้องแนบใบวุฒิการศึกษาภาคบังคับให้ดูปีที่จบเป็นหลักฐานว่า "ตอนที่เรียน" เปรียญธรรมนั้น จบการศึกษาภาคบังคับตามเกณฑ์แล้ว โดยถ้าจะนำไปใช้ในบางหน่วยงาน ให้แนบ พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรม 2561 ด้วย

             หมายเหตุ: ระดับการศึกษาภาคบังคับ

             การจะดูว่าผู้ใดจบการศึกษาภาคบังคับหรือไม่ ให้ดูจากปีที่จบการศึกษา ไม่ใช่ดูปีที่เกิด และบางช่วงต้องดูว่าจบในท้องที่ใดด้วย ดูรายละเอียดในข้อ 10 ที่
             http://nfeph.blogspot.com/2013/10/blog-post_8783.html

         3. คืนวันที่ 17 พ.ย.64 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ตามคู่มือการดำเนินงานหลักสูตร กศน.ขั้นพื้นฐาน ฉบับปรับปรุงปี 55 หน้า 78 ส่วนที่ระบุว่า หากรับหลักฐาน กศน.1-ป ไปแล้วเกิดสูญหายหรือเสียหายจนใช้การไม่ได้ ต้องขอรับฉบับใหม่ (โดยแจ้งความก่อน)  ใช้กับระเบียนฯ ฉบับภาษาอังกฤษด้วยไหมคะ ระเบียนฯ ฉบับภาษาอังกฤษ สามารถขอได้มากกว่า 1 ฉบับ (หรือขอฉบับรับรองสำเนาโดย กศน. มากกว่า 1 ฉบับ) ได้ไหมคะ เนื่องจากจะใช้สมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้ต้องส่ง ระเบียนฯ ภาษาอังกฤษ ออกโดย กศน. (ไม่อาจถ่ายสำเนาฉบับที่ครอบครองอยู่แล้วรับรองสำเนาเอง) น่ะค่ะ จะสมัคร 3 แห่งค่ะอาจารย์ ตามคู่มือดังกล่าว หน้า 80-81 ที่อธิบายถึงการออกหลักฐานระเบียนฯภาษาอังกฤษ ก็ไม่ได้กล่าวถึงว่าออกได้กี่ฉบับน่ะค่ะ
             พอดีสอบถามไปศูนย์ กศน.ที่เรียนจบมา อาจารย์ท่านบอกว่าออกให้ได้แค่ฉบับเดียวเพราะต้องมีเลขกำกับน่ะค่ะ
             เคยขอแต่ของระดับปริญญาตรี ทางมหาวิทยาลัยก็ออกให้หลายฉบับได้ สมมติ หาก กศน.มีระเบียบห้ามออกมากกว่า 1 ฉบับจริงๆ จะเท่ากับนักเรียนที่จบ กศน. มีโอกาสสมัครเรียนต่อต่างประเทศได้เพียงแห่งเดียว
             ไม่ทราบว่าพอจะมีระเบียบหรือกฎอะไรที่สามารถอ้างอิงเป็นคำแนะนำให้หนูได้ไหมคะอาจารย์
             หนูพยายามเรียนขอความกรุณาจากท่านอาจารย์ท่านนั้นว่า หากจะออกเป็นสำเนารับรองให้โดย กศน.ก็ได้ค่ะ ท่านบอกให้หนูเอาฉบับที่มีถ่ายสำเนาแล้วรับรองเองแบบสำเนาบัตรประชาชน แต่มหาวิทยาลัยที่ต่างประเทศระบุในเว็บไซต์ชัดเจนว่าเอกสารต้องออกโดยสถาบันการศึกษา หากหนูถ่ายสำเนาส่งไป มหาลัยย่อมไม่รับหนูเข้าศึกษาแน่นอนค่ะ เหตุผลที่หนูสมัครเรียนหลายแห่ง ก็เพราะสมัครเผื่อน่ะค่ะ (เหมือนคนสอบเอนทรานซ์ ก็คงต้องเลือกเผื่อไว้หลายแห่ง)

             ผมตอบว่า   ระเบียนฯฉบับภาษาอังกฤษ ไม่ได้ใช้แบบฟอร์มควบคุมบังคับแบบที่ซื้อจากองค์การค้าของ สกสค. แต่ใช้กระดาษเปล่า จึงออกได้หลายฉบับโดยไม่ต้องใช้ระเบียบเรื่องการสูญหาย/เสียหายแบบระเบียนฯฉบับภาษาไทย ( มีศักดิ์เป็นเพียง "เอกสารฉบับแปล" เท่านั้น เลขที่ต้องเหมือนกับฉบับภาษาไทย โดยแทนที่จะไปให้สถาบันแปล แปลให้ สถานศึกษาก็แปลและรับรองให้เอง จะแปลกี่ครั้งเลขที่ก็ต้องเหมือนต้นฉบับ ถ้าไม่เหมือนก็คือแปลผิด )
             การออกใบ รบ.ภาษาอังกฤษ ถ้ากรอกข้อมูลจนสามารถออกได้ 1 ใบ ก็ไม่ยากที่จะออกอีกหลายใบ เพราะข้อมูลเหมือนเดิม จะสั่งปริ้นท์กี่ใบก็ได้ ไม่มีระเบียบห้ามออกมากกว่า 1 ใบ ลองคุยกับเขาใหม่  ผู้ที่บอกว่าออกได้ใบเดียว เขาคงจะเข้าใจผิดว่าเหมือน รบ.ภาษาไทย ที่เป็นแบบฟอร์มควบคุมบังคับแบบที่ซื้อจากองค์การค้าของ สกสค. บอกเขาว่าใบ รบ.ภาษาอังกฤษใช้กระดาษเปล่า

         4. คืนวันที่ 26 พ.ย.64 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ตอนนี้หนูเรียนกศน.(เทียบโอนเมื่อปีที่แล้วมาเรียนกศน.ม.3) หนูอายุ14ค่ะและหนูจะเรียนจบม.3ที่กศนปีนี้ หนูเทียบโอนจากโรงเรียนปกติมาเมื่อต้นปี คุณครูที่หนูไปสมัครด้วยแจ้งว่าสามารถเรียนปีเดียวแล้วหลังจากนั้นเอาวุฒิไปสมัครโรงเรียนปกติได้เลย แต่พอหนูสมัครเรียนเรียนจนจะจบแล้วเค้ากลับบอกหนูว่าหนูต้องอายุ 16 ก่อนถึงจะได้วุฒิมอสามและเรียนต่อมอปลายไม่ได้ด้วยเพราะยังไม่ได้วุฒิ หนูถามเขาว่าแล้วหนูเรียนมอปลายต่อที่กศน.เลยได้ไหม เค้าก็ไม่รับเพราะไม่มีวุฒิ ขอใบรับรองจบก็ไม่ได้ค่ะต้องอายุ16 เท่ากับว่าหนูต้องเรียนช้ากว่าเพื่อนเพื่อนไปสองปีเลยค่ะ หนูขอคําแนะนําหน่อยนะคะ ครูเค้าบอกว่าเป็นกฎใหม่เพิ่งออกมาเมื่อตุลาหลังจากหนูสมัครแล้ว หนูเลยอยากขอคําแนะนําว่าแบบนี้หนูทําอะไรได้บ้างมั้ยคะ เค้าพูดกับหนูตอนสมัคร แต่ตอนนี้หนูลาออกจากโรงเรียนมาเรียนจนจะจบแล้วเค้ามาบอกกับหนูแบบนี้ พอดีว่าหนูไปโทถามหัวหน้ากศน. เขตลาดกระบัง เค้าบอกว่าเป็นกฎตามกระทรวงการศึกษาทำอะไรไม่ได้

             ผมตอบว่า   อายุ 15 ปีบริบูรณ์ ก็จบ ม.ต้น กศน.ได้แล้วนะ ขอดูระเบียบจากเขาซิว่าทำไมต้องอายุ 16 ปี
             ระเบียบคือ “กรณีเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับหรืออายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ เข้าเรียนสถานศึกษา กศน. ... ต้องใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่าเด็กและเยาวชนในวัยเดียวกันที่เรียนอยู่ในโรงเรียนปกติ”
             คำว่า “ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่าเด็กและเยาวชนในวัยเดียวกันที่เรียนอยู่ในโรงเรียนปกติ” นี้ มีการตีความกันใหม่ตั้งแต่ปี 2557 แล้วว่า ให้ยึดอายุเป็นหลัก เช่นจะจบ ม.ต้น ต้องอายุ 15 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ สถานศึกษาต้องจัดแผนการเรียนให้เขาทยอยเรียนทยอยทำ กพช.ให้ครบเมื่ออายุ 15 ปี ไม่ใช่รีบเรียนจนจบก่อนอายุ 15 ปี แล้วให้รออยู่เฉยๆ เมื่อมีการฟ้องร้อง ศาลปกครองขอดูเงื่อนไขการจบหลักสูตร ซึ่งเงื่อนไขไม่มีเรื่องอายุ ศาลจะให้สถานศึกษา กศน.แพ้คดี เพราะนักเรียนในระบบบางคนก็จบ ม.3 ก่อนอายุ 15 ปีได้
             บอกให้ครูเขาโทร.ถามกลุ่มพัฒนา กศน. ได้เลยนะ และนำหนังสือตามภาพประกอบนี้ไปให้ครู และ ผอ. ดู


 

         5. คืนวันที่ 21 ม.ค.65 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  การสมัครสอบทีแคส ของนักศึกษา กศน.ระดับม.ปลาย ซึ่งน้องนักศึกษา กำลังจะจบในภาคเรียนที่ 2/2564. โดยในระบบการสมัครสอบเปิดรับสมัครถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์. 2565.นั้น. หนูมีเรื่องสอบถามการกรอกข้อมูล GPAX 5 เราจะเอาข้อมูลตรงไหนกรอก. พอดีหนูไม่ค่อยเข้าใจระบบ ทีแคส. นะคะ

            ผมตอบว่า   GPAX ต่างจาก GPA โดย GPA อาจจะหมายถึง เกรดเฉลี่ยของทุกรายวิชาในแต่ละภาคเรียน ( เฉลี่ยภาคเรียนเดียว ) ก็ได้ แต่ GPAX หมายถึง เกรดเฉลี่ยสะสมของทุกรายวิชาตลอดการเรียนในระดับชั้นนั้น ( เฉลี่ยรวมทุกภาคเรียน )
            ซึ่ง “ระดับผลการเรียนเฉลี่ย” ที่มุมซ้ายล่างในใบ รบ. ( ระเบียนแสดงผลการเรียน ) ของ กศน. ก็คือ GPAX อยู่แล้วนะ
            ต้องดูด้วยว่ามหาวิทยาลัยนั้น ๆ รับเด็กที่จบ กศน. ( เขาเรียกว่านักเรียนเทียบเท่า ) หรือไม่ และถ้ายังไม่จบ กำลังเรียนภาคเรียนที่ 4 เป็นภาคเรียนสุดท้าย จะใช้ GPAX 3 ภาคเรียนได้หรือไม่ หรือต้องรอให้จบก่อน ( ถ้าจบแล้ว ใช้เกรดเฉลี่ยเป็น GPAX 5 ได้แน่ )

            โรงเรียนในระบบเรียกว่า ใบ ปพ. ส่วน กศน.เรียกใบนี้ว่าใบ รบ. การออกใบ รบ.ในขณะที่ยังเรียนไม่จบและไม่ได้ลาออก ให้ออกเป็น “ใบแสดงผลการเรียน” โดย
            ถ้าเราเข้าโปรแกรม ITw โดยเปลี่ยนปีการศึกษาในโปรแกรมให้เป็นภาคเรียนที่ผ่านการเรียนมีผลการเรียน 3 ภาคแล้ว เพื่อดูใบแสดงผลการเรียนของนักศึกษาแต่ละราย จากเมนู 1-A-1-6 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน-รายงาน-รายงานผลการเรียน-พิมพ์ใบแสดงผลการเรียน ) ก็จะเห็น GPAX 3 ภาค ที่มุมซ้ายล่างของใบแสดงผลการเรียน
            อนึ่ง การสมัคร TCAS ของเด็กที่เรียนมากกว่า 5 ภาค หรือจบแล้ว และเด็กซิ่ว ( เด็กที่เรียนมหาวิทยาลัยไปบ้างแล้ว ต้องการสมัครเริ่มต้นเรียนใหม่เพื่อเปลี่ยนสาขา-มหาวิทยาลัย ) บางมหาวิทยาลัยใช้ GPAX ในใบแสดงผลการเรียนที่เรียนมาแล้วมากกว่า 5 ภาค หรือเรียนจบแล้ว แทน GPAX 5 ภาค ก็ได้
            ( TCAS หรือ Thai University Center Admission System คือระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งนำมาใช้แทนระบบเดิมที่เรียกว่าแอดมิชชัน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 )

         6. เย็นวันที่ 10 ก.พ.65 มีผู้ถามในเฟซบุ๊กกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ใบประกาศใช้ขอจบเพื่อออกวุฒิการศึกษาได้ไหมค่ะ!!พอดีเจ้าหน้าที่ทะเบียนเขาไม่ให้ค่ะ...เขาต้องการระเบียนแสดงผลการเรียนค่ะ

            ผมตอบว่า  หมายถึงใช้ประกาศนียบัตรเป็น "ใบวุฒิเดิม" เพื่อมาสมัครเรียนใช่ไหม
            1)  ในคู่มือฯฉบับปรับปรุง ปกสีเลือดหมู หน้า 65 ระบุ หลักฐานการสมัคร ไว้ว่า
                 "5) สำเนาหนังสือสำคัญแสดงวุฒิการศึกษา จำนวน 2 ฉบับ เช่น ประกาศนียบัตร ระเบียนแสดงผลการเรียน พร้อมฉบับจริงไปแสดง"
                 ฉะนั้น ใช้ประกาศนียบัตร สมัครได้ แต่หลักฐานต้องมีฉบับจริงมาแสดงด้วย ( ฉบับถ่ายเอกสาร ปลอมง่ายมาก )
            2)  เราจะปล่อยให้เขาเรียนมาจนใกล้จบแล้ว จึงค่อยมาตรวจหลักฐานที่ต้องใช้ตอนสมัครเรียนแบบนี้ไม่ถูกต้อง ต้องตรวจหลักฐานตั้งแต่ตอนมาสมัครเรียน ถ้าตรวจตอนนี้พบว่าหลักฐานเขาไม่มีสิทธิเรียน แล้วเราจะไม่ให้เขาจบ เขาฟ้องร้องศาลปกครองได้ เพราะถือว่าเราทำผิดขั้นตอนทำให้เขาเสียเวลา เสียหายต่างๆ
            จริงๆแล้ว ตอนขอจบไม่ต้องขอใบวุฒิเดิมอีก ( ไม่มีระเบียบกำหนดว่าการขอจบต้องยื่นใบวุฒิเดิมอีก ) เพราะใบวุฒิเดิมนั้นนายทะเบียนต้องมีเก็บไว้อยู่แล้วตั้งแต่ตอนสมัครเรียน ซึ่งใบวุฒิเดิมจะไม่เปลี่ยนแปลง ต่างจากรูปถ่ายที่ต้องยื่นใหม่เพราะต้องใช้รูปถ่ายที่ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน คนที่ใช้เวลาเรียนเกิน 6 เดือน รูปตอนสมัครกับรูปตอนจบจะถ่ายคนละครั้งกัน

            แต่นายทะเบียนบางแห่งอาจขี้เกียจค้นหาหลักฐานเดิมมาแนบ จึงขอใหม่หมด

            จากนั้น มีผู้โพสต์ต่อ ว่า ขึ้นกับนายทะเบียนและผอ.ว่าจะให้ไหมขอเป็นตัวจริงนะคะ
            ผมตอบว่า  คู่มือการดำเนินงานฯ เป็นเอกสารแนบประกาศ สป.ศธ.ทั้งเล่ม จึงเป็นระเบียบหลักเกณฑ์สำหรับถือปฏิบัติ เมื่อระเบียบหลักเกณฑ์ สป.ศธ.นี้ให้ใช้ใบประกาศนียบัตรได้ นายทะเบียนและ ผอ.จะมีอำนาจแย้ง สป.ศธ.ได้หรือ
            เรื่องขอตรวจทานจากฉบับจริงนั้น ที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นประกาศนียบัตรหรือใบ รบ./ใบ ปพ.ก็ต้องขอตรวจทานจากฉบับจริงแล้วเก็บฉบับสำเนาไว้ คืนฉบับจริงไป
            และต้องขอ+ตรวจตั้งแต่ตอนสมัครเรียน หลักฐานเหล่านี้นายทะเบียนต้องเก็บไว้ที่ กศน.อำเภอ ไม่ใช่ให้ครูประจำกลุ่มเก็บไว้ที่ กศน.ตำบล เพราะ กศน.ตำบลยังไม่ใช่สถานศึกษาเอกเทศ
            และไม่ขอใหม่เรื่อยๆ แม้แต่สำเนาบัตรประชาชนตอนนี้รัฐก็ไม่ให้ขอ ถ้าสถานศึกษาไม่มีเครื่องอ่านบัตรที่จะดึงขอมูลจากบัตรเข้าโปรแกรมได้ สถานศึกษาต้องเป็นผู้ถ่ายเอกสารไว้เอง

         7. วันที่ 14 ก.พ.65 มีผู้ถามทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กผม ว่า  อาจารย์มีระเบียบ หรือหนังสือ/นโยบาย เรื่อง กรรมการควบคุมห้องสอบ ต้องมีคูณสมบัติอย่างไร เป็นข้าราชการปลดเกษียณ หรือลูกจ้างชั่วคราว(ครูอัตราจ้าง)ของสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้รึป่าว

            ผมตอบว่า  ผมโพสต์เรื่องนี้บ่อยแล้วนะ เช่นใน
            - ข้อ 6 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2017/08/
            - ข้อ 6 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2020/02/pws.html
            - ข้อ 4 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2018/03/kuk.html
            คือ กรรมการดำเนินการสอบปลายภาคต้องเป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำ หรือพนักงานราชการ ที่ยังไม่เกษียณ ( สังกัดอื่นก็อนุโลมได้ ) ถ้าไม่ได้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำหรือพนักงานราชการ ต้องเป็น “ครู” ที่สังกัด กศน. ( ครู ศรช. ครู ปวช. ครูสอนคนพิการ-เด็กเร่ร่อน ฯลฯ ที่ชื่อตำแหน่งมีคำว่าครู ) แต่นโยบายเรา ไม่ให้ครู กศน.คุมสอบ นศ.“กลุ่มของตนเอง” นะ
            อนึ่ง ถ้าครู กศน.คุมสอบใน "วันราชการของเขา" ก็เบิกไม่ได้